ทีดีอาร์ไอวิจัย "กองทุนหมู่บ้าน": ข้อดี-ข้อควรปรับ สำหรับสินเชื่อเพื่อ "คนจน"

"กองทุนหมู่บ้าน" หนึ่งในโครงการ "ประชานิยม" ของรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ที่ผ่านมาได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในหลายประเด็น แต่ดูเหมือนงานวิจัยของทีดีอาร์ไอในปี 2550 นี้จะชี้ว่าแม้ยังฟันธงไม่ได้ว่ามันแก้ความยากจนได้ไหม แต่ก็เป็นโครงการที่มีแววรุ่ง ทำให้คนจนที่สุดเข้าถึงแหล่งทุน แต่ต้องปรับปรุง-เพิ่มเติมส่วนอื่นๆ อีกหลายประการ

 

 

การสัมมนาวิชาการประจำปี 2550 ของมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) มีการสัมมนาย่อยว่าด้วย "การใช้สินเชื่อเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจของคนจน" ซึ่งมีการนำเสนองานวิจัย 3 ชิ้นที่น่าสนใจ

 

งานวิจัยของ "กอบศักดิ์ ภูตระกูล" ผู้บริหารสถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และผู้บริหารส่วน สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหาหนี้สินของคนจนว่า ครัวเรือนกลุ่มคนจนที่สุดนั้นมีความเปราะบางด้านการเงิน มีสัดส่วนหนี้สินต่อรายได้ในสัดส่วนที่สูง โดยมีภาระหนี้ต่อรายได้ประมาณร้อยละ 38 ของเงินเดือน บางครัวเรือนมีภาระหนี้ถึงร้อยละ 50 ของเงินเดือน ซึ่งช่องทางการกู้ยืมเงินของคนจนนั้น โดยมากจะใช้กองทุนหมู่บ้านและสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เช่น ธกส. เพราะเข้าไม่ถึงเงินกู้จากธนาคารพาณิชย์ ซึ่งงานวิจัยพบว่าการกู้ยืมดังกล่าวทำให้คนจนมีหนี้มากกว่าความสามารถในการชำระคืนหนี้ ดังนั้น ในช่วงต่อไปภาครัฐจึงจำเป็นต้องระมัดระวังและมีวินัยในการปล่อยสินเชื่อกับกลุ่มคนจนมากขึ้น

 

ส่วนงานวิจัยของ  "ชัยสิทธิ์ อนุชิตวรวงศ์" ผู้เชี่ยวชาญ ฝ่ายการวิจัยแผนงานเศรษฐกิจรายสาขา ทีดีอาร์ไอ ระบุถึงโอกาสในการเข้าถึงแหล่งสินเชื่อกับการลดปัญหาความยากจนว่า หลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 รัฐได้อาศัยสถาบันการเงินเฉพาะกิจเป็นกลไกสำคัญเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและแก้ปัญหาความยากจน  โดยมีมาตรการต่างๆ เพื่อสนับสนุนสินเชื่อแก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม แม้ว่าโครงการให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนและสินเชื่อไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่รัฐบาลพรรคไทยรักไทยได้ดำเนินการต่างไปจากเดิมมาก มีการหว่านเงินจำนวนมากสู่ระดับฐานรากอย่างกว้างขวางผ่านโครงการสนับสนุนด้านสินเชื่อแก่ประชาชนคนยากจนซึ่งขาดโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยมุ่งลดปัญหาความยากจนบนความเข้าใจว่า การขาดแคลนเงินทุนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนจนไม่มีโอกาสในการลงทุน แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือ ความรู้ ความสามารถในการเพิ่มประสิทธิภาพ การใช้เทคโนโลยี และการหาตลาดรองรับ

 

งานวิจัยของชัยสิทธิ์พบว่า โครงการเชิงประชานิยมเช่นนี้ของรัฐบาลที่ผ่านมาที่มุ่งเป้าเพื่อคนจนนั้น ปรากฏว่าคนได้รับประโยชน์ส่วนใหญ่เป็นคนที่ไม่จน และความช่วยเหลือของรัฐเช่นนี้กลับทำให้การกระจายรายได้แย่ลงหรือมีความเหลื่อมล้ำมากขึ้น อย่างไรก็ตาม โครงการกองทุนหมู่บ้านและพักชำระหนี้แก่เกษตรการรายย่อย มีประโยชน์ในการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่คนจน ซึ่งยังน่ามีจุดน่าเป็นห่วงว่า พฤติกรรมการก่อนหนี้ซ้ำซ้อนและต่อเนื่องนั้นนำเงินทุนไปลงทุนในกิจการที่เป็นประโยชน์จริงหรือไม่

 

"การกู้ยืมกองทุนหมู่บ้านอาจช่วยเกื้อหนุนคนจนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หรือมีรายได้สูงขึ้นและสามารถใช้จ่ายมากขึ้นเพื่อตอบสนองกับความจำเป็นขึ้นพื้นฐานได้ แต่เป็นที่น่าเสียดายเนื่องจากข้อจำกัดด้านข้อมูล จึงไม่ได้สามารถวิเคราะห์ต่อไปได้ว่าคนจนเหล่านี้แท้จริงแล้วได้นำเงินที่ได้จากกองทุนฯ ไปใช้อย่างไรเพื่อก่อผลตอบแทนกลับคืนมา อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่า การกู้ยืมกองทุนหมู่บ้านช่วยลดภาระดอกเบี้ยลงมากเมื่อเทียบกับการกู้ยืมนอกระบบ แต่ก็ยังน่าเป็นห่วงเพราะสมาชิกบางส่วนก็ต้องกู้ยืมเงินจากนอกระบบเพิ่มขึ้นทีหลังเพื่อนำมาคืนหนี้กองทุนฯ"

 

ทั้งนี้ เพื่อให้โครงการเหล่านี้สร้างโอกาสให้คนจนหลุดพ้นจากความยากจนได้จริง ควรมีการปรับปรุงรูปแบบและแนวทางปฏิบัติงานที่ชัดเจนขึ้น เพื่อให้เข้าถึงคนยากจนได้อย่างแท้จริงและทั่วถึงยิ่งขึ้น มิใช่ถูกกีดกันออกจากระบบเช่นเดิมแม้จะเป็นโครงการกองทุนหมู่บ้านก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐควรจะสนใจการเพิ่มขีดความสามารถในการลงทุนของคนกลุ่มนี้ให้ได้ผลดีขึ้น และรัฐต้องเปลี่ยนแนวคิดจากเดิมที่ใช้เงินจำนวนมากอุดหนุนโครงการประชานิยม เพียงหวังคะแนนเสียงต่อไป ซึ่งอาจทำให้ประชาชนขาดวินัยทางการเงิน มิได้ปรับปรุงตนเอง มาพัฒนาขีดความสามารถดังที่กล่าวไปแล้ว เพราะหากโครงการเหล่านี้ไม่มีประสิทธิภาพอาจสร้างภาระผูกพันทางการคลังของรัฐบาลในอนาคตได้ อีกทั้งปัญหาความยากจนก็เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ไม่สามารถแก้ไขด้วยวิธีหนึ่งวิธีใดเท่านั้น ต้องมาจากหลายๆ มิติ

 

ชิ้นสุดท้ายคือ งานวิจัยของ "บวรพรรณ อัชกุล" นักวิจัยฝ่ายทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาสังคม ทีดีอาร์ไอ และ "วรรวรรณ ชาญด้วยวิทย์" ผู้อำนวยการวิจัยด้านหลักประกันสังคม ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ ทีดีอาร์ไอ ศึกษาถึงการประเมินผลกระทบของกองทุนหมู่บ้านต่อความยากจน ระบุว่า ปัจจุบันโครงการกองทุนหมู่บ้านดำเนินการมาแล้ว 7 ปี แต่มีการประเมินโครงการอย่างจริงจังเพียงไม่กี่ครั้ง นอกจากนี้การประเมินที่ผ่านมาก็มีปัญหาความถูกต้องแม่นยำของผลกระทบ โดยเฉพาะยังไม่มีงานวิจัยใดทำการศึกษาผลกระทบของกองทุนหมู่บ้านต่อความยากจนของประเทศ

 

โดยสรุปแล้วผลการประเมินโครงการกองทุนหมู่บ้านในงานชิ้นนี้ซึ่งพยายามขจัดความเอนเอียงให้มากที่สุด พบว่า การกู้เงินจากกองทุนฯ ส่งผลให้ผู้กู้มีรายได้จากการประกอบกิจการในภาคเกษตรเพิ่มขึ้น แต่รายได้ดังกล่าวยังไม่เพียงพอให้รายได้รวมของครัวเรือนเพิ่มขึ้น

 

ส่วนการแก้ปัญหาความยากจนนั้นพบว่า การกู้เงินกองทุนฯ ส่งผลให้สัดส่วนความยากจนด้านรายจ่ายเพื่อการบริโภคนั้นลดลงในช่วงเริ่มแรก แต่ในระยะยาว ไม่สามารถสรุปได้ว่า การกู้ยืมจากกองทุนมีส่วนในการบรรเทาปัญหาความยากจน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท