Skip to main content
sharethis

"เนื่องจากตรวจสอบประวัติแล้วพบว่าไม่ค่อยสมประกอบ แม่ พี่สาวกับญาติ ก็รับไปเลี้ยงดู ตอนนี้ก็อยู่ในความดูแลของครอบครัว" "ที่เอา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เพราะไม่อยากใช้กฎหมายที่ใหญ่กว่านี้"

"ที่เอา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เพราะไม่อยากใช้กฎหมายที่ใหญ่กว่านี้"

 

 

เจ้าของคำพูดเล็กๆ แต่ถ้อยคำกินใจความลึกซึ้งนี้ เป็นของคนที่รู้จักกันในวงการว่าเป็น "มือปราบไซเบอร์" พ.ต.อ.ญาณพล ยั่งยืน ผู้บัญชาการสำนักคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม (DSI) ซึ่งกล่าวขึ้นในงานสัมมนาเรื่อง "พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ และการคัดค้านของโลกไซเบอร์: จากตำราสู่การปฏิบัติจริง" เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 50

 

เนื่องจากนับตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค. 50 เป็นต้นมา ประเทศไทยได้มีกฎหมายเกี่ยวกับความผิดทางคอมพิวเตอร์มาใช้เป็นครั้งแรก โดยกฎหมายฉบับนี้ ไม่เพียงแต่เป็นหนึ่งในกฎหมายที่มีความเกีึ่่่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานใกล้ตัวทุกคนเท่านั้น แต่กฎหมายฉบับนี้ ยังถูกจารึกเอาไว้แล้วว่าเป็นกฎหมายฉบับแรกที่ผ่านการพิจารณาโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งมาจากการแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารที่เข้ามายึดอำนาจตั้งแต่กันยายน 2549 จนถึงปัจจุบัน

 

งานสัมมนาดังกล่าว จึงมีขึ้นโดยความร่วมมือของ ศูนย์รณรงค์นโยบายสื่อมวลชน, คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ศูนย์จริยธรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) โดยมุ่งประเด็นที่การวิเคราะห์วิพากษ์สถานการณ์และผลกระทบ ภายหลังจากมีการประกาศใช้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์แล้ว

 

พ.ต.อ.ญาณพล ยั่งยืน ผู้บัญชาการสำนักคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม (DSI) ซึ่งเป็นข้าราชการเพียงไม่กี่คนในประเทศไทยที่มีความรู้ลึกซึ้งทางด้านเทคโนโลยี และยังเชี่ยวชาญด้านกระบวนการยุติธรรมกับสารสนเทศ กล่าวว่า "ตามข่าวที่ว่ามีการบล็อกสองหมื่นกว่าเว็บ ก็อาจจะจริงก็ได้ แล้วผมก็เป็นคนแรกๆ ที่บล็อกเอง"

 

ที่ผ่านมา หลายฝ่ายที่มีส่วนร่วมในการร่างกฎหมายนั้น มักกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า กฎหมายฉบับนี้ถูกปรับแก้ไปมาก จากที่กังวลว่าอำนาจเจ้าหน้าที่จะสูงมากล้นหลามแล้ว ก็ถูกแก้เสียจนเป็นกฎหมายที่อำนาจเจ้าหน้าที่แทบจะำไม่เหลือ

 

พ.ต.อ.ญาณพล กล่าวย้ำเรื่องนี้ว่า กระบวนการร่างกฎหมายฉบับนี้เริ่มร่างมาตั้งแต่ 9 ปีที่แล้ว ร่างแต่เดิมเจ้าหน้าที่มีอำนาจมาก "ผมที่เคยคิดว่าจะมีดาบเซ็นเซอร์ ไว้จับผู้ร้ายทางเน็ตอย่างรวดเร็ว เดี๋ยวนี้ก็ไม่มีเสียแล้ว" เขากล่าวด้วยน้ำเสียงแสนเสียดาย

 

ที่เป็นเช่นนั้น เพราะเนื้อหาล่าสุด กำหนดเพิ่มกระบวนการสืบคดี ที่หลายๆ กรณี ต้องผ่านฝ่ายบริหารผ่านอำนาจศาลให้เห็นชอบเสียก่อน อันเป็นการเพิ่มภาระงานให้พนักงานเจ้าหน้าที่

 

"ถ้าจะบล็อคก็ต้องให้ฝ่ายบริหาร คือ รมต.ไอซีทีเห็นชอบก่อน แล้วส่งศาล" ตำรวจชั้นผู้ใหญ่จากดีเอสไอ ซึ่งขนานนามตัวเองว่าเป็นคนแรกๆ ที่บล็อกเว็บไซต์กล่าว พร้อมกับเสริมว่า สำหรับพลเมืองเล่นเน็ตทั่วไปแล้ว พ.ร.บ.นี้ให้อิสระไร้ขีดจำกัด ขณะที่พนักงานเจ้าหน้าที่ จะมีอำนาจเด็ดขาดก็เพียงในส่วนของการส่งหนังสือไปขอข้อมูลเท่านั้น

 

 

เรื่องที่ศาลมักจะให้ความเป็นพิเศษ เรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

หากยังจำกันได้ วันแรกหลังจากประกาศใช้กฎหมาย ก็เกิดอาการลองของ เมื่อใครสักคนบุกเข้าแฮ็กเว็บไซต์ของกระทรวงไอซีที นั่นอาจดูเหมือนจะเป็นกรณีแรกของความผิดหลังกฎหมายคอมพิวเตอร์ประกาศ

 

แต่กรณีที่คนเล่นเน็ตทั่วไป ลืมไม่ได้ หนีไม่พ้น กรณีจับเงียบ บุคคลที่เชื่อกันว่าใช้นามปากกาว่า พระยาพิชัย และ ท่้อนจัน

 

จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท กล่าวถึงกรณีการจับกุมเงียบนักเล่นบอร์ดทั้งสองว่า เรื่องราวเป็นที่รับรู้ครั้งแรก ผ่านการส่งข้อมูลกันในเว็บบอร์ด แต่ในขณะที่มีข่าวว่าถูกจับ ก็ยังพบว่า บุคคลในนามแฝงกลับยังออนไลน์ในระบบโปรแกรมแชท (IM- Instant Message)

 

จนภายหลัง เมื่อหนังสือพิมพ์ไฟแนนซ์เชียลไทม์ออกข่าวการถูกจับ นายสิทธิชัย โภไคยอุดม ซึ่งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงไอซีทีในขณะนั้นกลับตอบว่า ไม่ทราบเรื่องการถูกจับ พร้อมกับกล่าวว่า ถ้ามีการจับ ตนก็จะไม่ไ่ด้รับแจ้ง ซึ่งน่าสงสัยว่าในฐานะรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.นี้ แต่กลับไม่ได้รับแจ้งนั้น มันหมายความว่าอะไร

 

จนกระทั่งนายสมบัติ บุญงามอนงค์ แกนนำ นปก. ซึ่งถูกจับข้อหาหมิ่นประมาท พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธานคมช. และ พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร รองประธานคมช. แล้วต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ก็ได้เจอคนที่ถูกจับตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ตามที่เป็นข่าว จึงเป็นการยืนยันได้ว่ามีคนถูกจับจริงอย่างน้อยหนึ่งคน ซึ่งผู้นั้นไม่มีโอกาสติดต่อญาติ ท้ายที่สุด องค์กรด้านสิทธิจึงช่วยประสานานจนญาติทราบข่าว แล้วมาประกันตัว

 

ขณะที่อีกหนึ่งราย ได้ทราบเบาะแส เมื่อ นายจอน อึ๊งภากรณ์ ประธานกป.อพช. ได้รับโทรศัพท์จากคุณพ่อของคนที่ถูกจับ จึงทราบว่า ครอบครัวมีฐานะค่อนข้างลำบาก ไม่สามารถประกันตัวได้ ทางครอบครัวจึงติดต่อว่าพอมีทนายช่วยเหลือได้หรือไม่ ก็ประสานงาน เตรียมประกันตัวออกมา แต่ก็มีเรื่องสลับซับซ้อน เพราะสุดท้ายปรากฏว่าฝ่ายญาติมีเงินมาประกันตัว โดยญาติมากับเพื่อน ซึ่งไม่อาจยืนยันได้ว่า เป็นเพื่อนใคร หรือเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ถือเงินมาประกันตัวให้ เพราะไม่ต้องการให้องค์กรต่างประเทศเข้ามามีส่วนในเรีื่องนี้มากนัก

 

อย่างไรก็ดี ในช่วงที่บุคคลทั้งสองถูกจับ กลับพบว่า ในโลกของออนไลน์ เขายังมีตัวตน และยังออนไลน์ผ่านระบบ IM เมื่อลองทักถามไป อีกฝ่ายตอบกลับมาว่า ข่าวของการถูกจับไม่เป็นควา่มจริง

 

"แต่ตอนนี้ก็พบแล้วว่า มีการจับกุมจริง แล้วเรื่องการออนไลน์นั้น... ไม่มีคำตอบ" จีรนุชกล่าว

 

ในประเด็นดังกล่าว ก็เป็นข้อสงสัยที่ผู้เข้าร่วมเสวนาถามกับวิทยากรด้วยเช่นกัน ว่าหากพบว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ ปลอมแปลงตัวตนหรือขโมยตัวตนของผู้ใช้อินเตอร์เน็ต โดยหวังที่จะหาเบาะแส ข้อมูลที่ได้จะสามารถนำไปใช้การเป็นพยานหลักฐานในชั้นศาลได้หรือไม่

 

โดย ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย และกมธ.ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ตอบประเด็นดังกล่าวว่า ตามมาตรา 25 ศาลจะต้องดูที่ความสุจริตเป็นหลัก แต่การจะทำให้ศาลเชื่อในกรณีนี้ ก็ถือเป็นกรณีที่ทนายจะต้องมีความสามารถมาก

 

"ในมาตรา 25 ศาลต้องดูความสุจริตและดูฐานความผิดเป็นปกติ ต้องบอกพวกเราว่า มีฐานความผิดอันหนึ่ง ถ้าเกิดเป็นกรณีฐานความผิดนี้แล้ว จะให้ความพิเศษ ก็คือเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งไม่ว่าพยานหลักฐานเป็นอย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์ส่วนใหญ่แล้ว จะรับฟังหมด แต่ถ้าเป็นกรณีทั่วไปแล้ว ส่วนใหญ่จะไม่"

 

 

ใช้กฎหมายคอมพิวเตอร์็ดีแล้ว ดีกว่าใช้กฎหมายใหญ่กว่านี้

จีรนุชเล่าว่า ผู้ถูกจับทั้งสองคน ลำบากใจที่จะตอบหรือให้ข้อมูลใดๆ เนื่องจากได้รับการขอร้องว่าไม่ให้ข่าวกับสื่อมวลชน

 

"ทำไมกรณีแรกๆ ของคนที่ถูกจับโดยพ.ร.บ.คอม จึงลึกลับซับซ้อน ทำไมไม่เกิดขึ้นโดยเปิดเผย ลักษณะการถูกจับกุม ก็มีเจ้าหน้าที่บุกเข้าไปสิบกว่าคน โดยญาติไม่รับทราบ อีกกรณี ก็ถูกบุกขึ้นห้องนอน จับตัวไป พร้อมยึดคอมพิวเตอร์ กักตัวไว้ที่กองปราบ 7 วันก่อนไปเรือนจำ" จีรนุชกล่าว

 

ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไทกล่าวต่อว่า คำถามที่ตามมา คือเรานึกไม่ออกว่ามีเหตุผลอะไรที่เจ้าหน้าที่ต้องพยายามไม่ให้เรื่องนี้เป็นข่าวทางสาธารณะ ทั้งที่นี่เป็นเรื่องแรกที่ถูกจับตามพ.ร.บ.นี้ แต่ทุกอย่างถูกทำให้เงียบ จึงน่าสงสัยว่า มีความถูกต้องเป็นธรรมหรือเปล่า นี่เป็นความสงสัยโดยปกติที่เกิดขึ้น และบรรยากาศความกลัวของผู้คนที่สื่อสารทางเน็ต ก็รู้สึกเหมือนมีอำนาจมืดที่ถูกใช้ภายใต้พ.ร.บ.นี้

 

แม้รัฐมนตรีจะตอบแก่สาธารณะว่าไม่ทราบเรื่องคดี แม้เรื่องนี้จะถูกเรียกว่าเป็นคดี "จับเงียบ" นักเล่นเน็ต แม้ผู้ถูกจับจะติดต่อญาติไม่ได้ ทั้งหมดอาจจะเป็นความเข้าใจผิด เพราะตำรวจซึ่งใกล้ชิดระดับปฏิบัติงาน อย่าง พ.ต.อ. ญาณพล ยืนยันว่า ทั้งหมดผ่านกระบวนการที่ถูกต้อง

 

พ.ต.อ.ญาณพลกล่าวว่า ตามกฎหมายนี้ ไม่ใช่นึกจะจับก็จับ แต่ต้องมีการทำสำนวนส่งฟ้อง ทั้งหมดต้องผ่านกระบวนการ มิใช่มาตั้งคำถามเรื่องไม่มีข่าวหรือว่ามันผ่านกระบวนการยุติธรรมหรือไม่ ตามกฎหมายนี้มีกรณีเดียวที่จะจับได้คือเป็นการทำความผิดซึ่งหน้า แต่รายที่กล่าวมานี้ ศาลต้องเห็นว่าจับ ถึงจับได้ แต่เนื่องจากตรวจสอบประวัติแล้วพบว่าไม่ค่อยสมประกอบ จึงปล่อยตัวออกมา

 

"เนื่องจากตรวจสอบประวัติแล้วพบว่าไม่ค่อยสมประกอบ แม่ พี่สาวกับญาติ ก็รับไปเลี้ยงดู ตอนนี้ก็อยู่ในความดูแลของครอบครัว"

 

โดยพ.ต.อ.ญาณพลย้ำว่า กรณีนี้ มีกระบวนการชัดเจน ตั้งแต่ขั้นทำสำนวน ขอหมายศาล พร้อมทั้งสำทับว่า "ลองไปติดต่อเขาแล้วกันละครับ ตอนนี้เขาอยู่กับพี่สาว พี่สาวดูแลเขาอยู่"

 

และเมื่อผู้เข้าร่วมเสวนาถามว่า กรณีที่ถูกจับนี้ ถูกจับตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ใช่หรือไม่ เขาย้ำว่า ใช่ พร้อมกล่าวสำทับว่า

 

"ที่เอาพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เพราะไม่อยากเอาพ.ร.บ.ใหญ่กว่านี้"

 

 

 

ศูนย์รณรงค์นโยบายสื่อมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์จริยธรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) ร่วมกันจัดงานสัมมนาในหัวข้อ "พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฉบับใหม่และการคัดค้านของโลกไซเบอร์: จากตำราสู่การปฏิบัติจริง"

 

การสัมมนาแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ภาค "ทฤษฎี" และภาคปฏิบัติ โดยมีวิทยากรได้แก่ รศ.ดร.โสรัจจ์ พงศ์ลดารมภ์ ผอ.ศูนย์จริยธรมมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พ.ต.อ.ญาณพล ยั่งยืน ผู้บัญชาการสำนักคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม (DSI), คุณไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย และกมธ.ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550

 

ในส่วนของภาค "ปฏิบัติ" นั้น มีวิทยากร ได้แก่ คุณจีรนุช เปรมชัยพร เว็บไซต์ประชาไท, คุณสฤณี อาชวานันทกุล สื่อพลเมือง บล็อกเกอร์อิสระ, คุณไชยกร อภิวัฒโนกุล Chief Security Officer PTT ICT Solution

 

 

ข่าวก่อนหน้า:

สังคมไซเบอร์หลัง พ.ร.บ.คอม (2): แนวโน้ม "สื่อพลเมือง" กลัวและเกร็งภายใต้ความ มั่นคงของรัฐ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net