Skip to main content
sharethis

การสัมมนาวิชาการประจำปี 2550 เรื่อง "จะแก้ปัญหาความยากจนกันอย่างไร: แข่งขัน แจกจ่าย หรือสวัสดิการ" ร่วมจัดโดยมูลนิธิชัยพัฒนา สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เมื่อวันที่ 10 พ.ย. ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ ซิตี้ จอมเทียน


 


อัมมาร สยามวาลา รักษาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวในการนำเสนอบทความเรื่อง "แนวทางการแก้ปัญหาความยากจน: แข่งขัน แจกจ่าย หรือสวัสดิการ" ว่า นโยบายเสรีนิยม ประชานิยม และรัฐสวัสดิการนั้นมีที่มา และผลกระทบที่ต่างกัน โดยหากเปรียบเทียบในด้านนโยบายต่อความยากจนจะพบว่า ขณะที่แนวคิดเสรีนิยมไม่มีผลดีหรือผลเสียต่อความยากจน ส่วนประชานิยม ก็อ้างว่า ช่วยเหลือคนจนอย่างชัดเจน แต่รัฐสวัสดิการ มีผลกระทบต่อคนจนชัดเจน เพราะรัฐสวัสดิการมีแนวโน้มให้น้ำหนักกับสิทธิของคนทุกคนในสังคม เช่น นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า


 


อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทย หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ากลับกลายเป็นนโยบายสำหรับคนจน เพราะเรามีสองมาตรฐาน คือสำหรับคนรวยและคนจน ไม่ได้เป็นนโยบายที่ให้ประกันสุขภาพอย่างดีและถ้วนหน้าจริงๆ


 


ด้านภาระต่องบประมาณ อัมมาร กล่าวว่า นโยบายเสรีนิยม เป็นภาระต่องบประมาณค่อนข้างน้อย เพราะไม่ต้องมุ่งแก้ปัญหาความยากจน ปล่อยให้เป็นไปตามอัตโนมัติ ส่วนประชานิยมนั้น เป็นภาระต่องบประมาณอย่างมากและไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับอารมณ์ของผู้นำหรือช่วงเวลาหาเสียง แต่รัฐสวัสดิการนั้น เป็นภาระต่องบประมาณอย่างมาก แน่นอนและมากอย่างถาวร ซึ่งหมายความว่า เมื่อมีภาระต่องบประมาณแล้ว ถ้าต้องการรักษาวินัยการคลังก็จำเป็นต้องคำนึงถึงด้านภาษีอย่างละเอียด


 


สำหรับผลเชื่อมโยงกับปัญหาการกระจายรายได้ เสรีนิยมไม่มีความเชื่อมโยงกับปัญหาการกระจายรายได้เลย เนื่องจากไม่ได้เป็นนโยบายที่มีเป้าหมายหลักว่าจะต้องกระจายรายได้


 


ขณะที่ ประชานิยมนั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ ส่วนรัฐสวัสดิการนั้น เป็นนโยบายที่มีส่วนแก้ปัญหาการกระจายรายได้ในตัวเองได้ดี โดยการคลังที่จะสนับสนุนรัฐสวัสดิการนั้น ไม่เป็นภาระต่อคนจน ขณะที่คนที่เสียหายมากที่สุดจากรัฐสวัสดิการและประชานิยมนั้นมักจะเป็นคนชั้นกลาง


 


ทั้งนี้ อัมมาร กล่าวถึงแนวโน้มในอนาคตว่า ความยากจนจะลดลง แต่ลดในอัตราที่ช้าลง ส่วนความไม่เป็นธรรมยังคงดำรงอยู่ รวมทั้งเรากำลังเข้าสู่สังคมคนชรา สัดส่วนคนวัยทำงานที่จะเข้ามาทำหน้าที่แทนคนที่แก่ขึ้นจะน้อยลง เพราะฉะนั้น ภาระในการดูแลคนชราที่ไม่มีขีดความสามารถในการหารายได้ หรือมีขีดความสามารถน้อยกว่านั้น ไม่ว่ารัฐหรือลูกหลานจะดูแล ที่สุดแล้วเป็นภาระสำหรับสังคม จึงต้องคำนึงถึงการบริหารจัดการที่ดี  


 


ด้านภาคเศรษฐกิจนอกระบบ แรงงานนอกระบบจะค่อยๆ ลดลง ซึ่งอัมมารอธิบายว่า รัฐสวัสดิการทำงานได้ดีเมื่อคนทำงานนอกระบบน้อยลง เพราะการมีภาคเศรษฐกิจนอกระบบจำนวนมากจะทำให้เรียกเก็บเงินสมทบ หรือเงินที่จะนำมาจัดระบบสวัสดิการได้ยาก แต่หากแรงงานในระบบจะจัดการได้ดีกว่า


 


ทั้งนี้ อัมมารได้แสดงความเห็นว่า หากจะแก้ปัญหาความยากจนนั้น รัฐสวัสดิการเป็นวิธีการที่แก้จนได้ดีที่สุด แต่ต้องใช้จ่ายเงินมากที่สุดด้วย ส่วนการรั่วไหลไปสู่คนไม่จนนั้น มี แต่เกิดจากสิทธิที่ให้อย่างถ้วนหน้า ภาระภาษีจึงมาก


 


กลุ่มคนที่สำคัญต่อรัฐสวัสดิการ คือชนชั้นกลาง เพราะได้ประโยชน์จากรัฐสวัสดิการต่ำ และต้องรับภาระภาษีด้วย ดังนั้นหากต้องการทำรัฐสวัสดิการให้ไม่มีปัญหามาก ต้องควบคู่กับการทำให้เศรษฐกิจขยายตัวดีด้วย เพื่อที่ความจำเป็นที่จะเก็บภาษีจะน้อยลง


 


ส่วนนโยบายประชานิยม อัมมาร เห็นว่า แก้ไขความยากจนได้ไม่ถาวร ไม่ยั่งยืน แต่ขายดีมากทางการเมือง การรั่วไหลสู่คนไม่จน มี แต่เกิดจากเส้นสายทางการเมือง โดยเห็นได้ชัด เช่น ในอดีต มี สกร. ให้คนจน แต่ให้กำนันผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้เลือกคนจน เช่นเดียวกัน เงินที่ให้คนชรา ก็มีโควต้าในแต่ละหมู่บ้าน เพราะฉะนั้นคนที่ได้จะเป็นใครขึ้นกับการตัดสินใจ โดยไม่มีหลักฐานข้อมูลเชิงประจักษ์ที่ชัดเจน


 


อัมมาร สรุปว่า การจะแก้ปัญหาความยากจน ต้องใช้นโยบายประชานิยมบางส่วน หรือรัฐสวัสดิการบางส่วน โดยอยากให้รัฐสวัสดิการมีสัดส่วนมากขึ้น แต่ไม่ว่าเลือกนโยบายใดก็ต้องใช้งบประมาณสูง การแก้ปัญหาความยากจนแบบฟรีๆ แบบที่เคยทำก่อนปี 40 หมดไปแล้ว ถ้าขึ้นภาษีก็จะถูกแรงต้านทานสูง เพราะฉะนั้นจำเป็นต้องมีอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจที่สูง จึงต้องนำเสรีนิยมกลับเข้ามาบ้าง เพื่อสนับสนุนการใช้จ่ายตามแนวทางนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net