ยุติธรรมเพื่อสันติภาพ: คำวินิจฉัยศาลและคำสั่งกองทัพ "ห้ามกลับบ้าน" ของผู้ถูกอาชีพ 4 เดือน

แถลงการณ์

 

กรณีคำวินิจฉัยของศาลและคำสั่งกองทัพ "ห้ามกลับบ้าน"
ผู้ถูกฝึกอบรมในโครงการฝึกอาชีพ
4 เดือน

 

            สืบเนื่องจากการที่ญาติของผู้ถูกจับกุมและคุมขังตามกฎอัยการศึก และ พรก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ทีหลังจากพ้นกำหนดการคุมขังแล้วได้ถูกนำตัวไปฝึกอบรมอาชีพต่อไปในค่ายทหารและศูนย์ฝึกต่างๆในท้องที่ห่างไกลอีกเป็นเวลา 4 เดือน นั้น   ญาติของผู้ถูกฝึกอาชีพจำนวน 6 คน ที่ค่ายรัตนรังสรรค์ จังหวัดระนอง จำนวน 51 คน ที่ศูนย์ท่าแซะ ค่ายเขตอุดมศักดิ์ จังหวัดชุมพร และ 28 คนจากค่ายวิภาวดีรังสิต จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดในแต่ละท้องที่ ขอให้ใต่สวนว่าการฝึกอบรมอาชีพที่ดำเนินการโดยกองทัพภาคที่ 4 นั้น เป็นการคุมขังโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่   หลังจากที่ศาลจังหวัดระนอง  ศาลจังหวัดชุมพร และศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ไต่สวนพยานของผู้ร้อง ในวันที่ 5 ตุลาคม 2550  และต่อมาได้เรียกผู้บังคับการจังหวัดทหารบก และผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งได้สอบถามผู้ถูกฝึกอบรมอาชีพ แล้ว ในวันนี้ ศาลทั้งสามศาล ได้อ่านคำวินิจฉัยคดีดังกล่าว มีสระโดยสาระสำคัญคือ

 

"บุคคลผู้มีชื่อตามคำร้องของผู้ร้องยินยอมเข้ารับการฝึกอบรม กรณีนี้ไม่ถือว่าเป็นการคุมขังในคดีอาญาหรือในกรณีอื่นใดโดยมิชอบด้วยกฎหมาย แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่า ต่อมาผู้เข้ารับการฝึกอบรมแสดงเจตนาไม่ประสงค์รับการฝึกอบรมอีกต่อไป ข้อตกลงหรือความยินยอมสมัครใจรับการฝึกอบรมที่ได้ให้ไว้ย่อมสิ้นสุดลง ดังนั้น การฝึกอบรมโดยบุคคลผู้เข้ารับการฝึกอบรมไม่ยินยอมหรือไม่สมัครใจ ย่อมไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคลตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๓๒ วรรคห้า ศาลจึงมีคำสั่งให้ผู้คัดค้านระงับการฝึกอบรมเฉพาะบุคคลผู้มีชื่อตามคำร้องของผู้ร้อง..."

           

            แม้ว่าศาลจะไม่มีคำสั่งว่าโครงการฝึกอบรม 4 เดือน นั้น เป็นการควบคุมตัวโดยมิชอบด้วยกฎหมาย  แต่คำวินิจฉัยของศาลแสดงว่า เมื่อผู้ถูกฝึกอบรมอาชีพไม่สมัครใจเข้าร่วมการฝึกอบรม ก็สามารถยุติการถุกฝึกอบรมได้  โดยเจ้าหน้าที่ไม่มีอำนาจใดๆที่จะบังคับ หรือควบคุมตัวบุคคลเหล่านั้นให้อยู่ฝึกอบรมต่อไปได้

 

              อย่างไรก็ตาม แม้ศาลจะได้มีคำวินิจฉัยว่าผู้ถูกฝึกอบรมอาชีพเหล่านั้น สามารถยกเลิกการเข้าฝึกอบรมและออกจากค่ายทหาร หรือศูนย์ฝึกได้ แต่พวกเขาก็ไม่สามารถเดินทางกลับยังบ้านอันเป็นภูมิลำเนาของตนเองเนื่องจาก แม่ทัพภาคที่ 4  ได้ออกประกาศห้ามพวกเขา และบุคคลอื่นๆอีกหลายร้อยคนเข้าไปหรืออยู่อาศัยในเขตท้องที่จังหวัดยะลา จังหวัดปัตตานี จังหวัดนราธิวาส และจังหวัดสงขลา เป็นการชั่วคราว เป็นเวลา 6 เดือน โดยเป็นที่น่าสังเกตุว่า กองทัพภาคที่ 4  ได้ออกประกาศห้ามดังกล่าวตั้งแต่วันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๕๐ โดย พลโทวิโรจน์ บัวจรูญ แม่ทัพภาคที่สี่ แต่บุคคลที่ถูกห้าม ครอบครัว และเจ้าหน้าที่รัฐในท้องถิ่น ไม่มีโอกาสทราบประกาศดังกล่าวมาก่อนเลย ทั้งๆที่เป็นข้อห้ามที่ร้ายแรงและกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นอย่างยิ่ง ผลของคำสั่งดังกล่าวทำให้ผู้ที่เป็นอิสระจากการถูกฝึกอบรมอาชีพแล้วจำเป็นต้องหาที่อยู่อาศัยนอกพื้นที่สี่จังหวัดดังกล่าว โดยพวกเขาได้ไปอาศัยพักพิงเป็นการชั่วคราว ตามสุเหร่าต่างๆในจังหวัดสงขลา

           

            คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ (หรือ องค์กรสิทธิมนุษยชนตามรายนามท้ายเอกสาร) เห็นว่าการกระทำดังกล่าวถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอย่างร้ายแรง โดยเป็นการขัดกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๓๓ วรรคหนึ่ง มาตรา ๓๔  และมาตรา ๒๙ และ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 13  ที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันแล้ว

           

            การที่บุคคลดังกล่าวทั้งหมดไม่สามารถกลับภูมิลำเนาของตนเอง ภายใต้หลักการของสหประชาชาติถือว่าเป็น ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศของตนเอง (Internally Displaced Persons หรือ IDP) และในกรณี IDP นี้ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ได้รับมอบหมายจากสหประชาชาติให้เป็นผู้รับผิดชอบหลักในการดูแล เยียวยา รวมทั้งองค์กรกาชาดสากล ICRC ภายใต้หลักกฎหมาย มนุษยธรรมระหว่างประเทศ นอกจากนี้ หน่วยงานภายใต้สหประชาชาติ เช่น IOM, UNCEF, UNDP รวมทั้งหน่วยงานภาคเอกชนต่างๆ ยังต้องมีหน้าที่ในการให้ความช่วยเหลือดูแลด้วย

 

            ตัวแทนผู้ควบคุมตัวได้อ้างในศาลว่าบุคคลที่ถูกควบคุมตัวเหล่านี้ เป็นผู้มีพฤติการณ์ต้องสงสัยว่าจะเป็น "แนวร่วม" ที่เกี่ยวข้องหรือสนับสนุนการก่อความไม่สงบ และสามารถตั้งข้อหาตามมาตรา ๑๓๕/๒ นั้น จากการสัมภาษณ์ของภาคประชาชน ผู้ถูกควบคุมตัวหลายคนได้ปฏิเสธการกระทำดังกล่าว และยืนยันว่าตนเป็นผู้บริสุทธิ์ และจากการเฝ้าติดตามการทำงานของเจ้าหน้าที่ทหาร องค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งในประเทศและระดับสากลพบว่ามีการกวาดจับบุคคลจำนวนมากออกจากหมู่บ้าน โดยหลายกรณีมีผู้บริสุทธิ์ถูกควบคุมตัวติดมาด้วยเสมอ

           

            คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ (องค์กรสิทธิมนุษยชนตามรายงานแนบท้าย) มีความห่วงใยต่อผลของคำสั่งกองทัพภาคที่ 4  ที่ห้ามบุคคลดังกล่าวนับร้อยคนไม่ให้กลับไปอยู่กับครอบครัวของตน  ว่าจะเป็นการซ้ำเติมสถานการความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เลวร้ายยิ่งขึ้น และเป็นการออกคำสั่งดังกล่าวเป็นการขัดกับหลักสิทธิมนุษยชน และหลักนิติธรรมอย่างรุนแรง   จึงขอเรียกร้องให้กองทัพภาคที่ 4  ยกเลิกคำสั่งดังกล่าวโดยทันที  และขอให้รัฐบาลยึดถือและเคารพหลักนิติธรรมในการจัดการกับปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต ด้วย

 

******************

 

คำจำกัดความของ Internally Displaced Persons (IDPs)

internally displaced persons are persons or groups of persons who have been forced or obliged to flee or to leave their homes or places of habitual residence, in particular as a result of or in order to avoid the effects of armed conflict, situations of generalized violence, violations of human rights or natural or human-made disasters, and who have not crossed an internationally recognized State border. a United Nations report, Guiding principles on Internal Displacement.

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท