Skip to main content
sharethis

ศราวุฒิ ประทุมราช


 


กฎหมายความมั่นคงที่ว่านี้ หมายถึง ร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.ศ.... ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการเมื่อ 19 มิถุนายน 2550 และมอบให้คณะกรรมการกฤษฎีกา ทำการยกร่างให้เป็นกฎหมาย ก่อนนำเข้าสู่การพิจารณาในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม ที่ผ่านมา คณะกรรมการประสานงานรัฐบาลและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป รัฐบาล) ได้ประชุมหารือกันก่อนนำร่างกฎหมายฉบับนี้เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติ และมีมติให้นำร่างนี้กลับไปให้กฤษฎีกาพิจารณาอีกครั้ง เพราะไม่เห็นด้วยที่ ร่างฯ นี้ ให้อำนาจฝ่ายทหารกระทำตามอำนาจหน้าที่ ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองและกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง


 


เมื่ออ่านดูหลักการ เหตุผล และสาระสำคัญของร่างพรบ.ความมั่นคงฉบับนี้ แล้ว ได้เกิดคำถามขึ้นมาหลายประการ ดังนี้


 


1. เหตุผล และ ความจำเป็น ที่ต้องตรากฎหมายความมั่นคง รัฐบาลได้อ้างเหตุผลว่า ปัจจุบันปัญหาความมั่นคงเกิดจากบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่หลากหลาย มีความรุนแรง รวดเร็ว ขยายตัวได้อย่างกว้างขวาง จนกระทบต่อความสงบเรียบร้อยในประเทศ การมีกฎหมายความมั่นคงจะสามารถสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานราชการและประชาชนให้สามารถป้องกันและขจัดภัยต่อความมั่นคงตั้งแต่ในระดับท้องถิ่น ภูมิภาค จนถึงระดับประเทศได้ โดยจะต้องจัดให้มีหน่วยงานหลัก คือ กอ.รมน. ให้รับผิดชอบโดยตรง ต่อการจัดการความมั่นคงดังกล่าว


 


คำถามก็คือ ขณะนี้มีสถานการณ์อะไรที่กระทบต่อความมั่นคงในประเทศ จนถึงขนาดต้องมีการออกกฎหมายฉบับนี้ และกฎหมายที่มีอยู่แล้ว ไม่เพียงพอในการจัดการความมั่นคงหรือ กฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคงที่ใช้อยู่ในปัจจุบันได้แก่


 


1) ประมวลกฎหมายอาญา ในหมวดที่ว่าด้วย ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ซึ่งมีหมวดแยกย่อย ไปทั้งความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในและภายนอกราชอาณาจักร และมีหมวดเฉพาะที่ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย ในมาตรา 135/1 ถึง มาตรา 135/4 ที่บัญญัติไว้มีข้อความสรุปได้ว่า การใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการใด ที่เกิดอันตรายแก่ชีวิต ทรัพย์สินของบุคคลหรือของราชการ สิ่งแวดล้อม หรือน่าจะก่อความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างสำคัญ เป็นความผิดฐานก่อการร้าย การลอบวางระเบิด เข่นฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์ หรือทหาร ตำรวจ การฆ่ารายวัน ที่เกิดขึ้นภาคใต้ ย่อมอยู่ในความหมายของความผิดฐานก่อการร้าย ตามกฎหมายนี้ทั้งสิ้น


 


และแน่นอน ความผิดฐานล้มล้างรัฐธรรมนูญ ล้มอำนาจนิติบัญญัติ ตุลาการ ด้วยกำลังทหาร ก็เป็นความผิดในหมวดความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักรด้วย


 


2) พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 ที่ให้อำนาจฝ่ายทหาร โดยแม่ทัพภาค ประกาศเขตการใช้กฎอัยการศึกได้ทั่วประเทศหรือบางส่วนของประเทศ โดยฝ่ายทหารมีอำนาจประกาศห้ามออกนอกเคหสถาน ห้ามการชุมนุม ห้ามเดินทาง ห้ามขายสินค้าบางชนิด ฯลฯ ในจังหวัดชายแดนทั่วประเทศ ในบางอำเภอ ตำบล ก็ยังคงใช้กฎอัยการศึกอยู่


 


3) พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ประกาศให้กรณีใดเป็น "สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง" ในกรณีที่มีการก่อการร้าย การใช้กำลังประทุษร้ายต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน หรือมีเหตุอันควรเชื่อว่ามีการกระทำที่มีความรุนแรงกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยในชีวิตหรือทรัพย์สินของรัฐหรือบุคคลและมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งแก้ไขปัญหาให้ยุติได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที


 


เช่น สถานการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดเป็น "สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง" เพราะมีการก่อการร้าย มีการใช้กำลังประทุษร้ายต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน ซึ่งการจัดการกับสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวเป็นอำนาจหน้าที่ของกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กอ.สสส.จชต.)


 


ดังนั้น ขณะนี้มีกฎหมายรองรับการจัดการความมั่นคงพอสมควร มีหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านความมั่นคงตามกฎหมายอยู่แล้ว ได้แก่ เจ้าหน้าที่ตำรวจ และ ฝ่ายปกครอง ตามประมวลกฎหมายอาญา ฝ่ายทหาร ตามพรบ.กฎอัยการศึก และ กอ.สสส.จชต. ตามพรก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน


 


นอกจากนี้ ยังมี "สภาความมั่นคงแห่งชาติ" ที่มีกฎหมายต่างหากรองรับอีก หากจะต้องมีกฎหมายความมั่นคงให้อำนาจ กอ.รมน.อีกหน่วยงานหนึ่งแล้ว จะเพิ่มความซับซ้อนในการทำงานและงบประมาณแผ่นดินหรือไม่


 


2. คำถามต่อสาระสำคัญของร่างกฎหมายความมั่นคง เพราะมีบทบัญญัติที่กระทบสิทธิมนุษยชนและขัดต่อหลักนิติธรรม (The Rule of Law) หลายประการ เช่น จำกัดเสรีภาพในการเคลื่อนย้าย และเสรีภาพในการชุมนุม โดย ห้ามออกนอกเคหสถานภายในเวลาที่กำหนด ให้ยุติการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ในที่สาธารณะ ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ หรือกำหนดเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคม หรือการใช้ยานพาหนะ ห้ามเข้าหรือให้ออกจากบริเวณพื้นที่ อาคาร หรือ สถานที่ที่กำหนด เป็นต้น


 


แต่สิ่งที่สำคัญ ก็คือ การที่ กอ.รมน. ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายนี้ มีอำนาจเป็นพนักงานสอบสวน และสามารถส่งผู้กระทำผิดทุถูกจับกุมเข้ารับการฝึกอบรมแทนการถูกดำเนินคดีก็ได้


 


โดยหลักนิติธรรมนั้น เจ้าพนักงานในการจับกุมย่อมไม่มีอำนาจในการสอบสวน และเมื่อมีการกล่าวหาใครว่าเป็นผู้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อผู้นั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดแล้วไม่ได้ และผู้ต้องหาต้องได้รับการสันนิษฐานว่าไม่มีความผิด จนกว่าศาลจะพิพากษา


 


จากหลักการดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า มีการละเลยหลักนิติธรรม เพราะเจ้าหน้าที่ กอ.รมน.สามารถเป็นตำรวจ อัยการ ศาล ได้ในเวลาเดียวกัน เพราะสามารถจับกุม สอบสวน และทำหน้าที่อัยการและศาลด้วย โดยหากพบว่าผู้ถูกจับน่าจะหลงผิด ก็ไม่ส่งฟ้อง แตนำไปควบคุมเพื่อรับการอบรมได้ถึงหกเดือนแทนการดำเนินคดี


 


ประเด็นต่อมา ประกาศ คำสั่ง หรือการที่เจ้าหน้าที่กอ.รมน.ปฏิบัติตามกฎหมายนี้ ไม่อยู่ในบังคับของศาลปกครองก็เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง รวมถึงมีการ "นิรโทษกรรม" ล่วงหน้า ให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติตามกฎหมายนี้ ไม่ต้องรับผิดชอบทั้งทางแพ่ง อาญา หรือทางวินัย เมื่อก่อความเสียหายแก่ประชาชน ตรงกันข้ามกลับเขียนว่า ให้ผู้ได้รับความเสียหายไปฟ้องร้องเอาเองได้ ซึ่งขัดต่อหลักนิติธรรมอีกข้อหนึ่งด้วย


 


3. ประการสุดท้าย ทำไมต้องเร่งรัดในการจะต้องให้ร่างกฎหมายความมั่นคงรีบผ่านในรัฐบาลรักษาการนี้ อย่าลืมว่า รัฐบาลนี้มีที่มาจากการรัฐประหาร จึงไม่มีความชอบธรรมที่จะพิจารณากฎหมายที่กระทบกระเทือนสิทธิเสรีภาพของประชาชน


 


คำตอบหนึ่ง แม้อาจมองในแง่ร้ายไปหน่อย แต่ก็พอจะมีเหตุผลบ้าง ก็คือ ร่างกฎหมายนี้เตรียมไว้เพื่อการ สืบทอดอำนาจคณะรัฐประหารหรือไม่ และร่างกฎหมายนี้ก็เขียนขึ้นเพื่อเตรียมรื้อฟื้น กอ.รมน. เท่านั้น เพราะที่ผ่านมา กอ.รมน. ไม่มีกฎหมายรองรับ และถูกลดอำนาจลงในยุครัฐบาลทักษิณ การรื้อฟื้นคืนชีพ กอ.รมน.จึงเป็นการตั้งแท่นเพื่อขจัดอำนาจเก่าที่อาจ "เอาคืน" คณะรัฐประหาร ในโอกาสต่อไป


 


คำถามเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ประชาชนทุกคนต้องติดตาม และเฝ้าดูอย่ากระพริบตา เพราะฝ่ายที่ต้องการให้กฎหมายฉบับนี้ผ่านก็ออกมาสกัดกั้นการแสดงความคิดเห็นไว้ว่า ประชาชนผู้บริสุทธิ์ก็อย่าได้กลัวกฎหมายฉบับนี้เลย เพราะกฎหมายฉบับนี้ ใช้สำหรับโจร หรือผู้ไม่หวังดีต่อบ้านเมือง


 


จึงต้องขอบอกท่านผู้อ่านอีกครั้งว่า ก็นั่นน่ะซิ กฎหมายนั้น ควรใช้กับคนทุกคน ถ้าจะออกกฎหมายบังคับแก่คนเลวบางกลุ่มที่มีน้อยนิด มันคุ้มค่าแก่การลงทุนหรือไม่ เพราะคนบริสุทธิ์ก็จะถูกบังคับใช้โดยเจ้าพนักงานตามกฎหมายอยู่นั่นเอง


 


เจ้าหน้าที่ที่ลุแก่อำนาจย่อมมีอยู่เสมอๆ ในสังคมทุกสังคม เพราะฉะนั้น เลิกความคิดจะออกกฎหมายเพื่อความมั่นคงเสียที จะดีกว่าไหม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net