รู้จักองค์การการประชุมอิสลาม(โอไอซี)

ในประวัติศาสตร์ของการฟื้นฟูอิสลามในการเมืองโลก เริ่มมีมาตั้งแต่สมัยลัทธิล่าอาณานิคม นับตั้งแต่ช่วงปี 1970 คลื่นแห่งการฟื้นตัวของอิสลามได้เริ่มเห็นชัดขึ้นตั้งแต่การปฏิวัติอิสลามในอิหร่าน, การยึดมัสญิดอัล-ฮะรอมในมักก๊ะฮโดยกลุ่มผู้เคร่งครัดศาสนา, การต่อต้านการยึดครองของอิสราเอลโดยชาวปาเลสไตน์และการนำกฎหมายอิสลามมาใช้ในประเทศมุสลิมหลายประเทศ

 

หนึ่งในคลื่นการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวก็คือ การก่อกำเนิดองค์การการประชุมอิสลามหรือโอไอซี ซึ่งเป็นองค์การระหว่างประเทศของชาติมุสลิม มีสมาชิกรวม 56 ประเทศ ประชากรรวมกว่า 1.2 พันล้านคน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระดมสรรพกำลัง ปกป้องผลประโยชน์ของชาติสมาชิก รวมถึงการพูดเป็นเสียงเดียวกันในเรื่องสำคัญๆ ในเวทีสากล

 

โอไอซีก่อตั้งเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2512 หรือเมื่อ 36 ปีก่อน โดยการประชุมระดับผู้นำฯ ครั้งแรกเกิดขึ้นที่เมืองราบัต ประเทศโมรอคโก หลังมัสยิดศักดิ์สิทธิ์อันเลื่องลือ  Al-Aqsa ที่กรุงเยรูซาเล็ม ประเทศอิสราเอล ถูกเผาทำลาย

 

ในเดือนมีนาคม ปีถัดมา ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศชาติอิสลามครั้งแรก(จัดขึ้นทุกปี)  ที่กรุงเจดาห์ มีการตั้งสำนัก งานเลขาธิการถาวร เพื่อเป็นองค์กรประสานงานระหว่างประเทศสมาชิกโอไอซี โดยในที่ประชุมครั้งนั้นได้เลือกบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งเลขาธิการฯ และเลือกกรุงเจดาห์ เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของโอไอซี

 

สองปีครึ่งหลังจากนั้น(เดือนกุมภาพันธ์ 2515) ในการประชุมระดับรัฐมนตรีโอไอซี มีการปรับปรุงและยกบัญญัติขององค์กรโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความแข็งแกร่ง เป็นน้ำหนึ่งใจเดียว และความร่วมมือระหว่างกลุ่มสมาชิก ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์และภาคสังคม

 

ภายใต้บทบัญญัติดังกล่าว องค์กรมีเป้าหมายที่จะ 1) ความแข็งแกร่ง โดย ความเป็นหนึ่งเดียวของสมาชิก ความร่วมมือในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและวิทยาศาสตร์ รวมถึงพยายามอย่างเต็มที่เพื่อให้คนมุสลิมได้รับการปกป้องศักดิ์ศรีของตน มีความเป็นอิสระและมีสิทธิในความเป็นชาติ

 

2) ปฎิบัติการความร่วมมือที่จะนำไปสู่ การปกป้องสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของมุสลิม รวมถึงการสนับสนุนการต่อสู้ของชาวปาเลสไตน์ ซึ่งครอบคลุมถึงสิทธิและเสรีภาพจากการคุกคามของการก่อการร้าย

 

3) ทำงานเพื่อกำจัดการแบ่งแยกชาติพันธุ์และรูปแบบทั้งหมดของลัทธิอาณานิคม ทั้งพยายามสร้างสรรค์บรรยากาศเพื่อสนับสนุนความร่วมมือและความเข้าใจระหว่างสมาชิกโอไอซีกับชาติอื่นๆ

 

โอไอซีมีการประชุมในระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศทุกปี ส่วนการประชุมระดับผู้นำจะจัดขึ้นในทุก 3 ปี โดยแวะเวียนเปลี่ยนสถานที่ไปตามประเทศสมาชิก รวมถึงผลัดเปลี่ยนให้ผู้นำชาติโอไอซีขึ้นเป็นประธานที่ประชุมฯ ด้วย

 

ล่าสุดิโอไอซีตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากประเทศอิสลามรวม 18 คน เพื่อเตรียมทำยุทธศาสตร์และแผนปฎิบัติการ ให้กลุ่มประเทศโลกอิสลามสามารถเผชิญกับสิ่งท้าทายกับโลกศตวรรษที่ 21 ได้อย่างมีประสิทธิ ภาพเสนอนโยบาย แผน โครงการในการส่งเสริมอิสลามสายกลางสมัยใหม่ ภายในสังคมอิสลาม และเสนอ แนะการปฎิรูปและปรับโครงสร้างของโอไอซี

 

โอไอซีเริ่มเข้ามามีบทบาทในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างชัดเจน ภายหลังการเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ โดยมีการส่งตัวแทนลงสังเกตการเก็บข้อมูลในพื้นที่ รวมทั้งประเทศไทยเคยส่งตัวแทนไปชี้แจงข้อเท็จจริงในเวทีการประชุมของโอไอซีมาแล้ว เมื่อไม่นานมานี้

 

ปัจจุบัน นายกรัฐมนตรีอับดุลเลาะห์ อาหมัด บาดาวี ของมาเลเซีย ดำรงตำแหน่งในฐานะประธานหมุนเวียนที่ประชุมโอไอซี

 

เรียบเรียงข้อมูลบางส่วนจาก www.oic-oci.org

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท