สัมภาษณ์สุดท้าย "สมบัติ" ก่อนสู่เรือนจำ : ว่าด้วย เกมปาเป้ากับกฎอัยการศึก


สัมภาษณ์โดย  จีรนุช เปรมชัยพร, มุทิตา เชื้อชั่ง และพงษ์พันธุ์ ชุ่มใจ

25 สิงหาคม 2550

 

 

ชื่อ "สมบัติ บุญงามอนงค์" หรือ "หนูหริ่ง" เป็นที่คุ้นหูมานานในวงการเอ็นจีโอ-อาสาสมัคร ขณะที่ "บก.ลายจุด" ก็เป็นที่รับทราบกันดีว่าคือนามแฝงของเขาในโลกไซเบอร์ แต่จากบทบาทคนทำงานพัฒนาผู้ก่อตั้งมูลนิธิกระจกเงา ซึ่งทำงานเกี่ยวกับเด็ก ชุมชนชาวเขา คนชายขอบ การต่อต้านการค้ามนุษย์ ไปจนถึงโครงการอาสาสมัครต่างๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ประสบภัยพิบัติ หลังวันที่ 19 กันยายน 2549 เราอาจนิยามเพิ่มเติมได้อีกว่า เขาได้กลายเป็นนักต้านรัฐประหารเต็มตัว

 

หนูหริ่งต่อต้านการยึดอำนาจโดยรถถังร่วมกับคนไม่กี่คนเป็นกลุ่มแรกๆ แทบจะทันที อาจเพราะมีประสบการณ์อันเจ็บปวดในการเผชิญหน้าและต่อสู้กับคณะรัฐประหารรุ่นพี่อย่าง รสช. (คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ) มาแล้ว

 

หลังจากนั้นเขาก็ได้จัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ "เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร" ก่อนจะแยกออกมาเป็น "กลุ่มพลเมืองภิวัตน์" ในภายหลัง และเป็นแนวร่วมเคลื่อนไหวกับ นปก. ที่สนามหลวง

 

บทบาทของเขาเน้นการรณรงค์และการปราศรัยที่ค่อนข้างมีคุณภาพ ให้ข้อมูลความรู้และสุภาพตามแบบฉบับคนชั้นกลาง หลายครั้งที่เราเห็นเขายกขบวน (เล็กๆ) ไปทำกิจกรรมรณรงค์สร้างสรรค์ในที่ต่างๆ เพื่อต้านรัฐประหาร โดยเฉพาะที่เป็นการต่อสู้เชิงวัฒนธรรม

   

"เกมปาเป้า" เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่จัดขึ้นตอนที่ นปก. ยังตั้งเวทีต้านเผด็จการที่สนามหลวงในช่วงปลายเดือนมิถุนายน แต่ใครจะรู้ว่าเกมงานวัดแบบนี้ได้ก่อเกิดความขัดแย้งที่ไม่ใช่แค่ระดับมวยวัด 

 

จากเกมนี้ พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษหนูหริ่งในคดีหมิ่นประมาท และภายหลัง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธาน คมช. ได้เข้าเป็นโจทก์ร่วมด้วย เนื่องจาก "เป้า" ล้อเลียนที่เปิดให้ประชาชนเอาลูกดอกไปปานั้น มีทั้ง พล.อ.สพรั่ง, พล.อ.สนธิ, พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ และสนธิ ลิ้มทองกุล

 

ต่อมาศาลได้ออกหมายจับหลังจากมีหมายเรียก 2 ครั้ง โดยหนูหริ่งยืนยันว่าได้รับหมายเรียกเพียงครั้งเดียว กระนั้น ตำรวจก็ได้ขอฝากขังและศาลอนุมัติฝากขังไปแล้วตามกระบวนการ

 

เรื่องราวน่าจะจบตรงที่หนูหริ่งยื่นขอประกันตัวออกมาสู้คดีตามปกติ แต่เขากลับยืนยันจะไม่ประกันตัว ทั้งยังขอเป็นทนายให้ตัวเองด้วยความหวังว่าอาจจะได้พบเจอและซักถาม พล.อ.สพรั่ง (ซึ่งเขาเรียกว่า พล.ท.สพรั่ง- (อ่าน - จดหมายเปิดผนึก "บก.ลายจุด" ถึง "พลโทสพรั่ง กัลยาณมิตร") ในชั้นศาล แม้ว่าในวันควบคุมตัวเจ้าหน้าที่ศาล และบุคคลที่เกี่ยวข้องต่างก็เกลี้ยกล่อมให้เขาประกันตัวด้วยนานาเหตุผล 

 

หนูหริ่งยืนยันเช่นนั้นด้วยเหตุผลส่วนตัวที่เขาได้อธิบายไว้ในบทสัมภาษณ์นี้ หลังจากรู้ตัวว่าจะโดนออกหมายจับ หรือก่อนเข้าไป "พักร้อน" ในเรือนจำประมาณ 1 สัปดาห์ และฝากให้ "ประชาไท" เผยแพร่ภายหลังเข้าสู่เรือนจำแล้ว

 

พร้อมกันนั้นเขาได้เชื่อมโยงการถูกจำกัดเสรีภาพของเขากับการถูกจำกัดเสรีภาพของประชาชน 35 จังหวัดด้วยกฎอัยการศึก และเรียกร้องให้ยกเลิกมันเสียที น่าเสียดายที่ข่าวคราวของเขาได้รับความสนใจน้อยมากจากสื่อมวลชน แม้จะมีคนรับช่วงต่อในการเรียกร้องให้ยกเลิกกฎอัยการศึกอยู่ไม่น้อย

 

ต่อไปนี้คือการเปิด "หัวใจ" ของ "สมบัติ บุญงามอนงค์" ทั้งในฐานะของประชาชนผู้ต้านรัฐประหาร ตลอดจนในฐานะพ่อของลูกสาวคนหนึ่ง 

 

 

0 0 0 0

 

 

ประชาไท - กิจกรรมปาเป้าที่โดนฟ้องหมิ่นประมาทเป็นมายังไง?

สมบัติ - กิจกรรมนี้เริ่มตั้งแต่สนามหลวงที่มีเวที นปก. (แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (ปราบกบฏ)) และเริ่มจัดตั้งอาสาสมัครสนามหลวง เราพูดคุยกันในกลุ่มว่า บรรยากาศในสนามหลวงมันจืดชืด มีแต่การปราศรัย แต่ประชาชนขาดกิจกรรม เราจึงอยากสร้างสีสัน จึงเริ่มมีบอร์ดให้ความรู้ นิทรรศการ และมีอาสาสมัครเสนอกิจกรรมสาวน้อยตกน้ำ ปาเป้า เราก็คิดว่า เออ ดีเหมือนกัน

 

ปาเป้าของเราคือ เราเอารูปคนที่เราคิดว่าเป็นหัวโจกทำรัฐประหารไปวาดเป็นการ์ตูนล้อเลียน และมีลูกดอกให้ปา ประชาชนส่วนใหญ่เป็นรากหญ้าก็สนุก ผ่อนคลายกันมากเลย การ์ตูนมี 4 คน-สนธิ บุญยรัตกลิน, สนธิ ลิ้มทองกุล, สพรั่ง กัลยาณมิตร, และป๋า (พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์) แต่คนฟ้องคือ สพรั่ง (ภายหลังพล.อ.สนธิ เป็นผู้เสียหายร่วมแจ้งความกล่าวโทษร่วมกับ พล.อ.สพรั่ง ด้วย-ประชาไท)

 

ที่จริงไม่คิดว่ากลายเป็นประเด็นได้ แต่ไม่มีปัญหานะ ผมพูดตั้งแต่ครั้งแรกที่รู้เรื่องแล้ว แต่เรื่องที่ผมรู้สึกซีเรียสขึ้นมาก็คือเมื่ออาสาสมัครของเราคนหนึ่งเป็นผู้หญิงชื่อโสภา เขาเป็นคนดูแลอยู่ซุ้มปาเป้า ปรากฏว่าเขาถูกติดตามอยู่ 3 วันจากสนามหลวงไปที่หอพัก พอวันที่ 4 ก็ถูกผู้ชายสองคนจับแขนสองข้าง หลังจากนั้นพูดบอกว่า มึงอย่าไปสนามหลวงกับโรงแรมรัตนโกสินทร์ที่เราทำเป็นวอร์รูมไว้อีก ถ้ามึงไม่อยากตาย พูดจบก็ต่อยเข้าที่ท้องเต็มแรง เขาก็สลบไปตื่นอีกทีที่โรงพยาบาล นอน 2 วัน มีหลักฐานการรักษาพยาบาลด้วย เรามีการเช็คข้อเท็จจริง

 

หลังจากออกจากโรงพยาบาลเขาไม่กล้าบอกใคร มีอยู่วันหนึ่งมันตามอีก พอลงจากรถมันยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามชี้หน้า น้องเขาต้องรีบนั่งแท็กซี่กลับ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นประมาณกลางเดือนที่แล้ว ไล่เลี่ยกับตอนที่โอเล่คนขับรถจักรภพถูกล็อกไปซ้อม

 

รู้ว่าเขาถูกซ้อมจากที่ไหน ?

เขาไม่เล่า แต่มาร้องไห้ให้อาสาสมัครอีกคนหนึ่งฟังแล้วความก็แตก หลังจากนั้นผมก็ยุติกิจกรรมปาเป้า แล้วโทรไปหาพี่ประสาร (มฤคพิทักษ์) ผมไม่ถึงกับคุ้นเคยกับเขา แต่ตอนที่ทำงานอาสาสมัครสึนามิคุ้นเคยอยู่ระดับหนึ่ง โทรไปเพื่อบอกว่า พี่ มีเรื่องแบบนี้นะ ผมเชื่อว่าพี่ประสารคงไม่ได้เกี่ยวข้องอะไร แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่วอล์รูมจะต้องรู้ โดยเฉพาะพวกที่มาจากแอคติวิสต์ควรได้รับทราบว่ามีเหตุการณ์แบบนี้

 

แล้วมารู้ว่าเป็นคดีกับ พล.อ.สพรั่ง เมื่อไร ?

ผมมารู้ตัวอีกทีต้นเดือนสิงหา มีหมายเรียกครั้งที่หนึ่งส่งไปที่บ้านที่เชียงราย ระบุว่า พล.อ.สพรั่ง ฟ้องหมิ่นประมาท ผมได้สอบถามกับทางตำรวจก็ได้รู้ว่าเป็นเรื่องเกมปาเป้า เขาเรียกให้เราไปวันที่ 7 สิงหา แต่ผมไม่ได้ไปแล้วรอดูหมายเรียกอันที่สอง ปกติมันจะใช้เวลาประมาณ 15 วัน เป็นธรรมเนียมที่จะยื้อกัน แต่ปรากฏว่ามันไม่มา ผมไม่เจอหมายเรียกครั้งที่สอง แต่เจอหมายศาลเลย ผมก็โทรไปคุยกับตำรวจเจ้าของคดี เขาก็ถามว่าจะเอายังไง เสียงแข็งเลย ผมก็โวยว่าผมยังไม่ได้หมายเรียกครั้งที่สองเลย เขาบอกออกไปแล้ว คุณไม่มาวันที่ 7 ผมก็ออกไปเลยทันที โอเค ไม่เป็นไร กรณีนี้มันเหมือนกับที่สุชาติ (นาคบางไทร-กลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ) โดน ไม่เห็นหมายเรียกครั้งที่สอง เจอหมายจับเลย

 

รู้ได้อย่างไรว่ามีหมายจับแล้ว ? (ขณะให้สัมภาษณ์ยังไม่ได้ไปรับทราบข้อกล่าวหา และไม่มีการร้องขอฝากขัง)

มีตำรวจที่ไม่เกี่ยวข้องกับคดีนี้โทรมาบอกว่าระวังนะอาจจะโดนรวบ เราก็คิดอยู่ว่าจะเอาอย่างไรดี นั่งคิดนอนคิด แต่จะว่าไปผมกับสพรั่งนี่ก็หลายรอบ ตอนที่ทำเอ็มวี ผมเป็นพิธีกรดำเนินรายการ ปรากฏว่าเจ้าของรายการถูกเรียกไปพบสพรั่ง เขาเห็นผมอยู่ในช่อง ผมมีคดีกับกองทัพอยู่ ตอนที่เชียงราย และยังไปแหย่เขาที่พิษณุโลกด้วย

 

คิดว่าเป็นการแจ้งข้อหาที่เป็นธรรมไหม ?

มองมุมหนึ่งมันก็เป็นเรื่องการคุ้มครองสิทธิของตนเองที่จะไม่ถูกหมิ่นประมาท เขาก็ใช้ช่องทางในกระบวนการยุติธรรม ส่วนไอ้ก่อนหน้านี้ ผมก็ไม่รู้ใครที่ไปซ้อมอาสาสมัครผู้หญิง ผมคิดว่านั่นไม่ยุติธรรม ผู้หญิงคนนั้นไปแจ้งความด้วย แต่ตำรวจก็อิดออด ต้องไปเอาหลักฐานอะไรไม่รู้วุ่นวายมาก 

 

สำหรับคดีนี้ในชั้นศาลก็ว่ากันไป ตอนที่บริษัทชินคอร์ป ใช้สิทธิในการปกป้องบริษัท เราก็รู้สึกว่า ในทางกฎหมายชอบธรรม เขาสามารถใช้สิทธินี้ได้ แต่ว่าถึงที่สุด มันต้องดูว่าบทบาทของสุภิญญา (กลางณรงค์-คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.)) ในตอนนั้นเขาทำหน้าที่อะไร ในที่สุดศาลก็ยกฟ้อง แต่สุภิญญาต้องต่อสู้กับคุณขนาดไหน โชคดีที่สุภิญญาเขาหัวใจใหญ่ ไม่ฟ้องคืน ผมเห็นว่านี่เป็นรูปธรรมที่ดีระหว่าง แจ็คกับยักษ์

 

อย่างไรก็ตาม ผมให้เครดิตสพรั่งนะว่า ได้ใช้กระบวนการยุติธรรมในการเรียกร้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์  คำนี้สำคัญมาก ช่วงหลังมานี่ผมรู้สึกอินกับคำว่า "ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์" มาก ก่อนหน้านี้ที่ทำงานชาวเขาก็รู้สึกส่วนหนึ่ง แต่วันนี้มันโดนเอง โห มัน...สุดยอดเลย คำนี้มันดีมาก

 

คำว่าละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สำหรับหนูหริ่งมันหมายความแค่ไหน ?

คือ มนุษย์ไม่ได้มีแค่ลมหายใจและมีชีวิตรอด ความเป็นมนุษย์มันมากกว่าเรื่องปัจจัยสี่ มันหมายถึงสิทธิ และเสรีภาพด้วย เขามีเสรีภาพที่จะดำเนินชีวิตภายใต้ระบบวัฒนธรรม วิธีคิด ความเชื่อของเขา และมีสิทธิที่จะปกป้องเสรีภาพของตนเอง เสรีภาพทางการเมืองก็ไปเชื่อมโยงกับเสรีภาพการมีชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี ตั้งแต่มีรัฐประหาร ผมรู้สึกถูกหมิ่นศักดิ์ศรีมาก นี่เป็นความรู้สึกแรกๆ เลย

 

ช่วยขยายความหน่อย

ผมมีเสรีภาพ แต่ผมยอมที่จะอยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ผมเคารพ ยอมก้มหัวให้ระบอบประชาธิปไตย แต่การที่เขามาเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยวิธีแบบนี้ เอาสิ่งที่เรายอมก้มหัวให้แล้วเอาอย่างอื่นแทน บังคับให้ยอมอยู่อย่างนั้น มันรับไม่ได้

 

ผมใช้ชีวิตอย่างที่ผมอยากจะมีชีวิต และพร้อมจะดีเบตกับคนอื่น ในระบอบประชาธิปไตยเราสามารถเชื่อในจุดยืนทางความคิดหรือการดำรงชีวิตของเรา

 

ชีวิตหลังรัฐประหารเป็นยังไง มันก็ไม่ได้ขัดขวางอะไรในชีวิตหนูหริ่งไม่ใช่หรือ ?

มันเป็นเรื่องการปกครอง มันต้องเป็นการปกครองที่เคารพกัน เราอยากมีผู้ปกครองโดยมีนายกรัฐมนตรี อยากมีสภาที่ออกกฎหมายโดยผ่านกระบวนการเห็นชอบ อยากเสนอนโยบายหรืออะไรทั้งหลายแล้วแต่ ทั้งหมดนี้เราไม่มีพื้นที่จะทำได้มากนัก เขาไม่ใช่ตัวแทนของเรา แล้วการวิพากษ์วิจารณ์ การแสดงออก ก็ทำไม่ได้ การชุมนุมทางการเมืองเราถูกขัดขวางตลอดตั้งแต่คืนแรก พื้นที่ในไซเบอร์ก็ถูกขัดขวาง เราจะพูดจะอะไร ถูกจำกัดไปหมด จากเดิมที่เคยมี มันอยู่ในบรรยากาศของความหวาดกลัวตลอด และครอบงำคนทั้งประเทศ

 

ถ้ามีคนแย้งว่า ในนามของระบอบประชาธิปไตยภายใต้ทักษิณ มันก็อยู่ในบรรยากาศความกลัวแบบหนึ่ง ?

ผมกลับไม่เห็นว่ามันเป็นความกลัว มันเป็นความไม่พอใจ ยังแสดงออกได้ คุณต่อต้านได้เต็มที่ ไม่ถูกคุกคามแบบนี้ที่แม้แต่ประชาชนตัวเล็กๆ ก็ยังถูกคุกคามโดยกฎอัยการศึกทั้งหมด มันไม่ชอบธรรม ในระบอบทักษิณมันยังมีคนที่เลือกทักษิณเข้าไป มันยังมีจุดเกาะเกี่ยว แล้วที่สำคัญมันก็กำลังจะมีการเลือกตั้งซึ่งมันชอบธรรมกว่ามากมาย แม้มันจะมีปัญหาอยู่ การเมืองไม่มีทางหมดจากปัญหา ถือเป็นเรื่องปกติ แต่มันคนละเรื่องกับรัฐบาลรัฐประหาร ภายใต้บรรยากาศอย่างนี้รู้สึกศักดิ์ศรีเราถูกลดทอน และเราจะปกป้องศักดิ์ศรีของเราได้ก็ต่อเมื่อเราสามารถรักษาการแสดงออก ผมใช้คำพูดว่า "ผมจะต้องมีชีวิตแบบปกติที่สุดแบบที่เคยมี"

 

สิ่งที่ไม่ปกติที่เกิดขึ้นกับชีวิตหลังจากเกิดรัฐประหารมีอะไรบ้าง ?

ผมรู้สึกว่าผมถูกเฝ้าตาม ผมถูกสังคมวิพากษ์อยู่หลายชั้น ถ้าเป็นฝ่ายผู้มีอำนาจก็จะบอกว่าผมเป็นพวกต่อต้าน คำนี้ยังดูดีไป บ้างก็ว่าผมเป็นไข่แม้วมั่ง เป็นลิ่วล้ออำนาจเก่ามั่ง สิ่งเหล่านี้ผมคิดว่าผมถูกตราให้เป็นสิ่งนั้น

 

ที่ว่าถูกติดตามนั้น ในระดับไหน ?

มีกิจกรรมทุกครั้งผมก็ถูกติดตาม ทหารไปเยี่ยมบ้านผมที่เชียงราย ไปเยี่ยมลูกผม ไปปรากฏตัวที่ตึกทำงานของสัปดาห์แรกก็ใส่ชุดทหารถือปืนเข้ามาที่ตึกเลย มีการโทรถามว่าผมอยู่ไหน แต่ไม่ได้โทรถามผม แปลก ผมไม่เคยได้รับการติดต่อจากคนเหล่านี้ เขาไปถามเมียผม ถามลูกผม "คุณสมบัติอยู่ไหน" "รู้ไหมคุณสมบัติอยู่พิษณุโลก" "ได้ข่าวคุณสมบัติจะขึ้นมาเชียงราย" เขาอาจจะเช็คข่าวให้นาย แต่การปรากฏตัวของเขาเป็นการคุกคามอย่างไม่ต้องสงสัย

 

มันส่งผลยังไงกับลูกและภรรยา พวกเขากลัวไหม ?

อาจจะไม่ถึงกับกลัว แต่เขารู้สึกว่าถูกคุกคาม มันสัมผัสได้ มันก็อาจไม่มีอะไร แต่ขอโทษนะ ถ้าผมโทรไปถามภรรยาหรือคนในครอบครัว พล.อ.สนธิว่า "คุณรู้มั้ย ตอนนี้ พล.อ.สนธิ อยู่ไหน ผม นปก.คนที่สนามหลวง" "คุณรู้ไหมว่าลูกชายหรือสามีคุณตอนนี้อยู่ที่ไหน ไม่มีอะไร โทรมาถามเฉยๆ" จะรู้สึกยังไง

 

กับภรรยาน่าจะผ่านการต่อสู้อะไรมาพอสมควร แล้วกับลูกสาวเป็นยังไง ?

ผมคิดว่าเขายังไม่รู้ว่ามันซับซ้อนขนาดไหน แต่เขาตื่นเต้น "พ่อ วันนี้มีทหารมาด้วย พ่อรู้มั้ย" แต่ช่วงเวลาที่ต่อสู้ ถ้ามีโอกาสผมก็จะพาลูกมาสนามหลวง หรือไปเชียงราย ตอนผมขึ้นไฮปาร์ก เขาก็ขอมาดูด้วย ผมก็ให้เขายืนอยู่ห่างที่สุด แล้วก็ให้ดูว่ากิจกรรมที่เราทำนั้นเป็นยังไง

 

เขาก็เห็นตอนที่หนูหริ่งโดนชาร์จ ?

เห็น

 

แล้วเขารู้สึกยังไง ?

ก่อนขึ้นพูด ตอนเย็นเรานัดกินข้าวกับเขาก่อน บอกว่าเดี๋ยวพ่อจะต้องขึ้นพูดที่ บขส. และมันอาจจะมีเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น ไม่ต้องกังวล เดี๋ยวเขาจะพาเราไปที่ค่ายทหาร จะมีอย่างนี้ อย่างนี้ แล้วก็จะปล่อยตัว เราเตรียมลูกไว้ก่อนเลย แต่เราก็ไม่รู้นะว่าตอนนั้นเขาเป็นยังไง ไม่ได้ถามเขา แต่เขาไปยืนเฝ้าตลอด

 

ถ้าได้เจอ พล.อ.สพรั่ง แบบเผชิญหน้าตัวต่อตัว จะพูดอะไรกับเขา ?

ผมคงเหมือนกับตอนที่ถูก ผอ.กองข่าวมาซักผม ก่อนซักเขากล่าวหาผมก่อนว่าเป็นศัตรูของชาติ คำนี้ดีนะ มันทำให้ผมเข้าใจสพรั่งเลยที่บอกว่า พวกสนามหลวงจะถือเป็นศัตรูของเขาตลอดไป มันทำให้ผมเข้าใจวิธีคิดของทหารมากขึ้น มันต้องแบ่งให้ชัดเจน กำหนดให้ชัดว่าใครคือศัตรู แล้วสำหรับศัตรู "เราจะไม่ปราณี" วิธีคิดเดียวกันเลย ผอ.กองข่าวก็บอกว่า จะถือว่าคุณเป็นศัตรูของชาติ ฉะนั้น ผมจะดำเนินการทุกอย่างโดยไม่ปราณี ภาษามันเหมือนกันหมดทุกอย่างเลย แต่ผมคิดว่าผมได้รับการปราณีจากสพรั่ง สำหรับข้อหาหมิ่นประมาท นี่อาจเบาที่สุดแล้ว ถ้าเขาไม่ทำอะไรเลยเขาอาจรู้สึกไม่ดี ผมคิดว่าเขาต้องทำอะไรบางอย่างให้เขารู้สึกว่าได้กระทำบ้าง เพื่อเคารพศักดิ์ศรีตัวเอง

 

ผมมีความหวังว่าเมื่อคดีไปถึงชั้นศาล ผมจะยินดีมากเลย ถ้า พล.อ.สพรั่ง ไปให้การโดยไม่ผ่านตัวแทน

 

เขามีสิทธิที่จะปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเขา แล้วหนูหริ่งจะใช้ข้อโต้แย้งแบบไหนที่จะบอกว่า มีสิทธิจะทำเกมปาเป้าแบบนี้ ?

มันไม่ใช่อยู่ดีๆ แล้วเราไปล้อเลียนเขา ระดับของเขาควรมากกว่าการถูกล้อเลียน ถ้าเขาบอกว่าผมไปละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเขา ผมต้องบอกว่าเขาละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผมนับครั้งไม่ถ้วนนับตั้งแต่ทำรัฐประหาร นับตั้งแต่บอกว่าจะเอาปืนกลไปยิงหมา และการกระทำทุกอย่างที่ป้ายสีการต่อสู้ของเราที่ผ่านมา แต่พอเราไปฟ้อง ความแอคทีฟของตำรวจ หรือระบบราชการก็ไม่มี เราเคยฟ้องสนธิ บุญยรัตกลิน ที่บอกว่าพวกป้าๆ ที่ยืนจับมือกันข้างหน้าขบวนนั้นได้ 3,000 บาท หมอเหวงเป็นคนรวบรวมไปฟ้อง ตอนี้ไม่รู้คดีไปถึงไหน

 

การหมิ่นประมาท มันคาบเกี่ยวกันกับการวิพากษ์วิจารณ์ การแสดงออก เราคิดว่าเรามีสิทธิในการแสดงออกว่าไม่พอใจ การแสดงออกโดยการปาเป้าผมคิดว่ายังน้อยกว่าการพูดจาของผมเองบนเวที ซึ่งผมหมิ่นว่าเขาหัวหดไม่ไปที่ภาคใต้ นั่งกุมแต่รัฐวิสาหกิจในเมือง และผมเชื่อว่าเขาไม่มีความสามารถจะไปกุมได้ขนาดนั้นและมันไม่เหมาะสม

 

ผมแสดงออก ผมยอมรับว่าผมหมิ่น ทุกคนมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์แม้แต่ฝ่ายตรงข้าม แต่ผมหมิ่นเขา เพราะรู้สึกว่าเขาเป็นคนที่ไม่ได้เรื่อง เขาได้กระทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องคือ ทำรัฐประหาร หลังจากนั้นก็คุกคามประชาชนตลอดเวลา

 

มันจะมีเส้นแบ่งยังไง ระหว่างการแสดงออกกับการแสดงออกที่ก้าวข้ามไปเป็นการหมิ่นประมาท ?

เราใช้กฎหมายในการดูแล อะไรจะถือว่าเป็นการหมิ่นหรือไม่ต้องพิสูจน์กัน เพราะผมแสดงออกอย่างบริสุทธิ์ใจ และเขาเป็นบุคคลสาธารณะที่กระทำการบางอย่าง จะให้ทำยังไง รัฐประหารเสร็จแล้วต้องให้เราเงียบๆ โวยวายไม่ได้หรือ

 

จะประกันตัวไหม ?

ไม่ ถ้าประกันตัวเขาก็ไม่รู้สึกอะไร คนก็คงไม่ไปรายงานเขาว่า "พี่ ที่ให้ไปฟ้องหมิ่นประมาทไอ้สมบัติ มันประกันตัวแล้ว" เขาคงไม่สนใจ แต่ถ้าผมไม่ประกันตัว เขาจะได้ฉุกคิดว่าเขาได้กระทำกับผมอีกครั้งหนึ่ง "พี่ ที่ให้ไปฟ้องไอ้สมบัติ มันไม่ประกันตัว ติดคุกแล้วพี่" ผมอยากรู้ว่าเขาจะดีใจหรือเปล่า

 

ที่ทำแบบนี้ต้องการจะสื่อสารกับความรู้สึกนึกคิดของ พล.อ.สพรั่ง หรือจะสื่อสารกับสังคม ?

ต้องการสื่อสารทั้งหมด

 

มั่นใจหรือว่ามันจะเป็นข่าว ?

ไม่รู้…. และสำหรับสพรั่งมันอาจเป็นไปไม่ได้ที่จะรู้ แต่ผมยังอยากรู้อยู่ดีว่าเขาดีใจไหมที่เขาทำสำเร็จ ผมอยากรู้จิตใต้สำนึกเขา อยากทำงานกับจิตใต้สำนึกเขา วิธีการนี้น่าจะเป็นวิธีการที่เราจะสื่อสารในระดับจิตใต้สำนึก และมันจะถึงกันเลยทันที เป็นข้อความที่ไม่เป็นคำพูด หลังจากที่ไปทำเรื่องสึนามิเรารู้ว่ามันจะมีวิธีการสื่อสารของมนุษย์ประเภทหนึ่ง เป็นเซ้นส์พิเศษ จะเกิดขึ้นในบางสภาวะและบางเงื่อนไข สื่อสารกันแบบไวมาก แล้วลงลึกถึงจิตใต้สำนึก

 

ผมเห็นว่าในความเป็นมนุษย์ สพรั่งเป็นมนุษย์คนหนึ่ง แต่บทบาทที่ผ่านมามันได้หล่อหลอมให้เขาสูญเสียความเป็นมนุษย์ที่หลากหลายไป และเขาสร้างกรอบขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อสร้างบุคลิกภาพ นี่ตามทฤษฎีการละครเลยนะ

 

เราจะเรียกว่านี่คือเกมปาเป้าของจริง โดยหนูหริ่งเอาตัวเองเป็นลูกดอก ?

ไม่รู้ ... ผมอาจจะคาดหวังสูงไป จริงๆ แล้วสิ่งที่ผมสนใจคือเรื่องภายในของคน อย่างวันที่ 22 กรกฎา การปะทะเป็นเรื่องหนึ่งนะ แต่ผมสนใจความรู้สึกของคนแต่ละคนตอนนั้น ซึ่งมันสลับซับซ้อนมาก มันจะเกิดความขัดแย้งในบุคลิกภาพและระบบเหตุผล ต้องสร้างตรรกะขึ้นมาปกป้องตนเอง ทุกคนเป็นหมด ไม่ว่า นปก. เสรี (พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ เตมียะเวส) หรือแม้ตำรวจที่พยายามไม่ตี หลบๆๆๆ เขาได้รับมอบหมายให้ตีแต่ไม่ตี มีตำรวจเยอะมากนะที่ไม่ตี ถ้าตีหมดล่ะชิบหายเลย หรือไอ้คนใส่เสื้อเหลืองยืนอยู่ข้างหน้าแล้วชี้อย่างเอาเป็นเอาตาย ตี! บุก! ลุย! ครั้งที่หนึ่ง สอง สาม สี่ โอ้โห เขี้ยวมันออกจนไม่รู้จะว่ายังไง มันคิดอะไรในขณะที่ตี มันเห็นเก้าอี้ลอยมาเลยไหม เห็นตำแหน่งสายบังคับบัญชาเลยไหม

 

สำหรับตัวหนูหริ่งเอง ในช่วง 11 เดือนหลังรัฐประหาร มีภาวะความสลับซับซ้อน ภาวะความขัดแย้งในใจ ภาวะความสับสนที่เกิดขึ้นบ้างไหม ?

เราว่าเราก็สู้ยิบตาเหมือนที่เราเคยสู้ เพียงแต่ตอนนั้นเราเด็กอายุ 20 กว่าเอง แต่สิ่งที่ต่างไปมากคือ เรารู้สึกว่าเราให้อภัยคนได้มากขึ้น แต่เราก็ผิดหวังเยอะนะ และเวลาผิดหวังเราจะทำ 2 อย่าง สิ่งแรกต้องทำความเข้าใจ หาชุดอธิบายว่าทำไมมันเป็นเช่นนั้น อันที่สอง ถ้าอธิบายแล้วมันไม่พอใจก็ต้องให้อภัย "ไม่เป็นไร" มันเป็นอีกมิติหนึ่งของคนไทย เราวางมันลงได้บ้างแม้จะเป็นแค่ช่วงหนึ่ง ถ้ามัวแต่อธิบายและไม่วางมันลงเลย มันก็จะเคียดแค้น ความเคียดแค้นเราก็มี แต่เราไม่ให้มันกัดกร่อนตัวเอง

 

สู้ยิบตาด้วย อภัยด้วย ปล่อยวางด้วย มันไม่น่าไปด้วยกันได้

อภัย แปลว่าไม่เป็นภัย สมมติว่ามีพี่คนหนึ่งที่ผมไม่เห็นด้วย อยู่อีกฝ่าย แต่รับประกันได้เลยว่าผมไม่เป็นภัยกับเขา แต่ถ้าเราโกรธและเกลียด เราก็จะทำลายอีกฝ่ายหนึ่ง

 

โจทย์ของการต่อสู้รอบนี้มันยากกว่าช่วงพฤษภาคม 2535 มันน่าจะมีความขัดแย้งในใจ หรือความขัดแย้งในความสัมพันธ์ของผู้คนที่รายล้อม

เราโดนเกือบจะทุกวัน เพื่อนบ้าง คนที่อ้างว่าเป็นเพื่อนบ้าง อดีตอาสาสมัครที่เคยทำงานด้วยกัน แม้แต่คนข้างในออฟฟิศ น้องที่เคยทำงานด้วยแล้วก็ลาออกไป หรือแม้แต่คนที่ใกล้ตัวมาก แต่เราก็ต่อสู้ เรากลับไปหาพ่อ พ่อเปิด ASTV ใส่หน้า แต่เราเข้าใจพ่อ

 

มีเต็มไปหมดเลย มีเจ้าหน้าที่ในออฟฟิศไม่กล้าถาม แต่ไปเขียนกระทู้ "ผมไม่อยากจะเชื่อเลยว่าวันนี้พี่จะทำเพื่อทักษิณ" ... ก็ไม่รู้จะทำไง

 

จะอธิบายมันว่ายังไง ?

เขาไม่เข้าใจส่วนหนึ่ง แล้วก็ความเกลียด ความกลัว ผสมไปหมด ตอนแรกที่ออฟฟิศเขากลัวจะถูกสลาย คนมันเยอะ ได้รับผลกระทบเยอะ ตอนนี้ผมใช้ชีวิตสบายขึ้นเยอะ เมื่อก่อนจะมีจดหมายเชิญประชุมไม่ได้หยุดชนิดที่วันๆ หนึ่งใช้ชีวิตบนโต๊ะประชุมได้เลย แต่ตอนนี้เชื่อไหมไม่มีจดหมายเชิญแล้ว น้อยมาก

 

กับทีมงานกระจกเงาที่มีจำนวนมากและหลากหลาย เขาเข้าใจสิ่งที่หนูหริ่งทำไหม ?

โดยส่วนใหญ่คนที่อยู่กับเราเกินหนึ่งปีจะเข้าใจ แต่น้องใหม่ๆ อาจจะงงๆ นิดหน่อย โดยเฉพาะกระจกเงาจะเป็นพวกโรแมนติก ไม่เคยผ่านกระบวนการต่อสู้มา จริงๆ เราก็ไม่ค่อยอยากจะยุ่งเรื่องการเมืองนะ เราออกไปตั้งนานแล้ว แต่พอมาถึงบรรยากาศนี้เราไม่ได้ต่อสู้ในนามกระจกเงา เราก็ต้องตัดให้ขาด เรารู้ว่าน้องๆ เพื่อนๆ หลายคนไม่พร้อมที่จะต่อสู้ภายใต้ความแหลมคม ตอนแรกเราไม่รู้ ระยะหนึ่งเรารู้เลย มันไม่เหมือนตอนพฤษภา มันซับซ้อนมาก วันที่เราออกไปสยามเซ็นเตอร์ที่ไปนั่งปิดปาก ใส่เสื้อดำประท้วงวันแรกๆ หลังรัฐประหาร มีคนด่าตามมาเป็นฝูงเลย เอ็นจีโอรุ่นใหญ่ๆ ทั้งนั้น ทั้งที่เรานี่โคตรโรแมนติก กะว่าจะไปเจอเพื่อนเต็มไปหมด ตอนห้าโมงเย็นตอนเตรียมการ เจอเพื่อนพี่ลิโด้เป็นฝูงเลย เราก็คิดว่าเดี๋ยวมันต้องไปนั่งกับกูแน่ตอนห้าโมง "พี่ เดี๋ยวผมดูหนังต่อ" โอ ผมทำหน้าไม่ถูกเลย หลังจากนั้นก็มีเสียง อย่าบอกว่าใครเลย เขาตามมาด่า

 

ถ้าจะคิดในมุมที่เคารพคนที่ยอมรับการรัฐประหารว่า มันอาจจะดีกว่าอยู่ภายใต้ทักษิณ ?

ผมมีสิทธิคัดค้านไหม คุณพูดมาเลยว่าคุณยอมรับ ช่วยแหกปากมาสักคน เอ็นจีโอคนไหนก็ได้ แต่ส่วนใหญ่มุดอยู่ภายใต้กรอบที่ว่าเราก็ไม่ยอมรับหรอก แต่... มันไม่มีใครพูดชัดๆ ซักคน แต่เราพิสูจน์ว่าเราต้านรัฐประหาร ถามว่ามันไม่มีพื้นที่ตรงนี้เลยใช่ไหม คุณอาจจะคลางแคลงกับพวกนักการเมือง พวกพีทีวีที่ออกมาเคลื่อน แต่คุณอย่าคลางแคลงใจหมอเหวง (โตจิราการ) มันไม่ใช่หรอก เพราะว่าคุณพยายามที่จะหาความชอบธรรมในการทำลายคนที่คุณก็รู้ว่าเขาไม่ได้ทำเพื่อทักษิณ มันเหมือนกับมือปืนที่จะหาความชอบธรรมเวลาจะยิงใครซักคน ถ้าจ้องตาก็จะเห็นความเป็นมนุษย์

 

ผมว่าเอ็นจีโอก็มีความเหี้ยมเกรียม ที่เคยพูดเรื่องการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์แม้แต่คนคุก คนที่เคยต่อสู้เรื่องสิทธิมนุษยชนของคนทุกคน ต่อสู้เรื่องการยกเลิกการประหารชีวิต ตกลงสิ่งเหล่านี้มันคืออะไร ความเหี้ยมเกรียมของผู้หลักผู้ใหญ่ คนระดับปราชญ์ที่เขาแสดงออก เราไม่เคยคิดเลยว่าเขาจะเหี้ยม เขาให้สัมภาษณ์ได้อย่างน่าตกใจ คนที่เขาเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของเรา ทั้งที่เขามีเมตตามาก แต่บางจังหวะผมก็สัมผัสได้ถึงความเหี้ยมเกรียม ผมพยายามอธิบายว่าทำไมมันเป็นเช่นนั้น ชุดคำอธิบายของผมก็คือว่า แม้แต่ปราชญ์ เมื่อความเคียดแค้นเกาะกุมจิตใจคุณ ปัญญาคุณดับ แต่มันก็ไม่ได้เป็นภาวะตลอดนะ ไม่ได้เกิดบ่อย

 

แต่คนมักจะบอกว่าเขาเหล่านั้นรู้แจ้งเห็นจริง เราต่างหากที่อ่อนด้อยทางปัญญา อ่อนต่อเกม อ่อนต่อโลก

เป็นไปได้ มันเป็นคำอธิบายคนละชุดกัน ถ้าเขาอธิบายเราได้อย่างนั้น เรายินดี ช่วงแรกๆ เราก็สงสัย เราทบทวนตัวเองตลอดเวลา มีอะไรที่มึงอ่านไม่ออก คนระดับนี้ทำไมเขาไม่เห็นด้วยกับมึง ไม่ยืนกับมึงสักคน แล้วอธิบายแตกต่างกับมึงอย่างสิ้นเชิง มีอะไรที่มันซับซ้อนเกินกว่าที่เราเข้าใจ มีข้อมูลชุดไหนที่เราไม่มี เราพยายามทบทวนสิ่งเหล่านี้ตลอดเวลา แต่เราไม่เจอ ถึงอย่างนั้นก็ไม่ใช่ว่าเราจะไม่เข้าใจความจำเป็นของฝ่ายตรงข้ามที่เขาต้องกระทำเลยนะ เราพยายามจะหาชุดที่ดีที่สุดบอกว่าทำไมเขาต้องทำอย่างนั้น โชคดีหมอเหวงบอกว่าให้เราต่อสู้ด้วยความเบิกบาน แต่ไม่รู้แกเบิกบานหรือเปล่า (หัวเราะ) ช่วงแรกๆ แกเบิกบานมาก ผมเครียดมาก แต่ช่วงหลังแกเครียดมาก ช่วงตั้งแต่ นปตร. มาเป็น นปก.  มันตึงเครียด

 

เพราะว่าอะไร ?

อาจจะเจ็บกว่าเรา เพราะเขาเคยต่อสู้ถึงขั้นจับปืนได้ สำหรับเรา เพื่อนเราหายไปมันก็แค่ไปเป็นพวกที่เรียกตัวเองว่า "คนสีเทา" เป็นพวกคนกลางๆ แต่เพื่อนหมอเหวงเป็นใคร อยู่ฝั่งนู้นเลย ทิ่มแทงเขาตลอดเวลา หมอเหวงนี่ตอนออกจากคุก มีเพื่อนเก่ามาหานั่งด่าแก 3 ชั่วโมงแกยังนั่งฟังเลยนะ บ้ามาก

 

อะไรที่มันทำให้คนคิดต่างเห็นต่าง แล้วสามารถโกรธแค้น เกลียดชังกันได้ ?

มันขาดโอกาสในการสื่อสาร สงครามมันเกิดจากความล้มเหลวของการสื่อสาร  นี่ไม่ใช่ความเข้าใจผิดนะครับ มันเป็นระดับสงครามทางการเมืองแล้ว แต่มันยังไม่รุนแรงถึงระดับการมายิงกันข้างถนนเท่านั้น มันเป็นภาวะสงครามแบบหนึ่งแล้ว มันเกิดจากความล้มเหลวในการสื่อสาร ไม่ต้องอะไรมาก คนที่เกลียด  นปก.มากๆ เพราะนพรุจ (แกนนำกลุ่มพิราบขาว) ขับรถชนตำรวจ เราพูดตั้งแต่วันแรกๆ แล้วว่านพรุจไม่ได้ขับรถชนตำรวจ จนเจ้าตัวออกมาจากคุกได้ก็เพิ่งไปฟ้องเสรีพิศุทธิ์ที่กล่าวหาเขาอย่างนั้น ผมพยายามบอกจอมขวัญ (หลาวเพ็ชร) วันที่ผมไปออกเนชั่นทีวีบอกว่า สิ่งที่คุณเอามาฉาย ที่คุณพูดเมื่อสักครู่นี้ แม้แต่ในเว็บไซต์ของเนชั่นชาแนล ไม่เป็นความจริง จอมขวัญบอกว่าเราพร้อมจะนำภาพมาปรากฏ กรอเทปดูกันเลย เหมือนกับตอนที่เทพชัย หย่อง ไปดีเบตกับพวกสมัชชารากหญ้า คาราวานคนจนในรายการถึงลูกถึงคน แล้วก็มีพวกที่มาเอาไม้ไล่ตี เป็นกระบอง แต่มันเป็นธงชาติ จอมขวัญก็ขู่เราเหมือนกับที่เทพชัย หย่อง ขู่แท็กซี่ ชินวัตร ในรายการว่าจะรีเพลย์ให้ดู ก็ดูกัน ปรากฏมันเป็นธงชาติ ไม่มีไม้เตรียมมาไล่ตี กรณีนี้ก็เหมือนกันนพรุจไม่ได้ขับรถ ตำรวจที่ขาหักนี่ผมก็ยังงงอยู่เลย ผมอยากรู้จริงๆ ว่ารถที่วิ่งออกไปนั้นมันชนคนขาหักจริงไหม มันได้ชนใครหรือเปล่า มันมีตำรวจที่ล้มแล้วเหยียบกันชิบหายวายป่วง แต่เราก็เผื่อไว้ว่าว่าอาจเป็นไปได้ที่จะถูกรถคันนั้นชน แต่มันมีอะไรที่เป็นวิทยาศาสตร์กว่านี้ไหม เราอาจมีอคติ แต่เราอยากรู้ความจริง ข้อเท็จจริง ผมพูดบนเวทีขอโทษตำรวจ ภาพที่เกิดขึ้นมันมี 2 ภาพ จะเอาภาพที่ตำรวจตีเราอย่างเดียวมันก็ไม่ยุติธรรม มันต้องเอา 2 ภาพมาประกอบกัน แล้วก็ยังไม่พอ ต้องลำดับเหตุการณ์ด้วยว่าเป็นมายังไง แต่กระบวนการแบบนี้มันไม่มี

 

เห็นว่ากรรมการสิทธิ์ก็เริ่มตรวจสอบกรณี 22 ก.ค. 2550 แล้ว

ก็ดี ผมเห็นชื่อนักวิชาการแล้วก็วางใจ ช้าหน่อยแต่ก็ยังดี นึกถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา (6 ตุลาคม 2519) ว่ามันตั้งกี่ปีมาแล้ว

 

ตอนเหตุการณ์ 6 ตุลาเกิดขึ้นตอนผมเป็นเด็ก ผมจำได้เลยว่าผมยืนดูทีวีถ่ายทอดสด แล้วก็เห็นตำรวจกำลังยิงปืนเข้าไปข้างใน ผู้ก่อการร้ายอยู่ข้างในธรรมศาสตร์ ผมตื่นเต้นมาก เชียร์ตำรวจ หลังจากนั้นก็เข้าป่ากัน ผมพออ่านหนังสือพิมพ์ออกแล้ว มีข่าวว่ามีการกวาดล้างคอมมิวนิสต์ในหมู่บ้าน ตายกัน 300-400 คน จำตัวเลขแน่ชัดไม่ได้ ผมจำได้ตัวเลขมันหลักร้อย ผมโคตรดีใจ พวกนี้แหละที่ทำลายประเทศชาติ แล้วผมก็ร้องเพลงตอนยืนเข้าแถวร้องเพลงก่อนเข้าห้อง "หนักแผ่นดิน คนเช่นนี้เป็นคนหนักแผ่นดิน" เพลงนี้สนุกมากร้องกันทั้งโรงเรียน ... แล้วกว่าเราจะล้างไอ้สิ่งเหล่านั้นหมดออกไปจากเรา โอ้โห... แล้วสุดท้ายโจทย์มันดันพลิก นิรโทษกรรม นี่มันเรื่องอะไร นี่มันละครเรื่องเดียวกันหรือเปล่า

เราก็คิดว่า คนที่ดูโทรทัศน์ตอนนี้ คิดว่าเหตุการณ์ (22 ก.ค. 50) เป็นแบบนี้ๆ ก็คงเหมือนที่ตอนนั้น (6 ต.ค.19) ที่คิดว่านักศึกษาในธรมศาสตร์มียาคุม ถุงยางอนามัย และก็ปืนเต็มไปหมด เป็นพวกไอ้แกว สมัยนี้มันก็สะใจแบบนี้ สะใจเหมือนที่ผมเคยสะใจตอนเด็กๆ แต่ตอนนั้นผมยังไม่มีความสามารถที่จะซับซ้อน อย่างมากก็ได้เท่าการ์ตูนญี่ปุ่นที่มีฝ่ายผู้ร้าย ยอดมนุษย์ ผมยอมรับไม่ได้ว่าพระเอกจะกลายเป็นผู้ร้ายได้

 

แปลว่าหนูหริ่งบอกว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับสังคมไทยตอนนี้ สาเหตุหลักมันมาจากกลไก กระบวนการสื่อสารที่มันไม่ทำงาน ?

มันมีการสื่อสาร แต่มันเป็นการสื่อสารที่ล้มเหลว ความจริงไม่ปรากฏ

 

หรือมันไม่ล้มเหลว เพราะทำให้คนจำนวนมากยินดีกับการรัฐประหารได้ ?

นั่นไม่ใช่การสื่อสาร มันเป็นการโปรแกรม เป็นโฆษณาชวนเชื่อเพื่อการทำลายล้าง มันไม่ใช่การสื่อสารที่เรียกว่าการเรียนรู้ การสื่อสารมันเป็นแค่กระบวนการ แต่เป้าหมายคือการเรียนรู้ เราต้องทำความเข้าใจสิ่งนั้น

 

ถ้าเราเรียกว่ามันคือการโฆษณาชวนเชื่อ อาจจะด้วยความเต็มใจของสื่อสารมวลชนด้วยก็ตาม สิ่งที่ นปก. พยายามสื่อสารมันพ้น หรือหลุดไปจากกรอบแบบเดียวกันนี้ไหม ?

ต่อสู้แล้วก็ติดกับ เขาก็ต้องวางกับดักไว้ แต่ไม่สู้ก็ไม่ได้ นี่เป็นสิ่งที่ นปก. ทำได้ดีที่สุดตามสภาพการณ์ที่เป็นอยู่ แต่ติดกับเรียบร้อยแล้ว

 

ติดกับยังไง ?

ติดกับ "ทักษิณ" ทักษิณเป็นทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน ทางนู้นถือเป็นจุดอ่อนก็ทำกับดักไว้เรียบร้อย อย่างที่สองคือความรุนแรง มันไปถึงจุดนั้นจริงๆ การเผชิญหน้า จะไม่เคลื่อนก็ไม่ได้ ไม่เดินขบวนก็ไม่ได้ ไม่ทำอะไรเลยก็ไม่ได้ ถ้าเราจะไม่เข้าสู่กับดักก็ต้องทำให้สนามหลวงมันว่างแล้วเข้าไปสัมมนาในโรงแรม

 

อาจารย์เกษียร (เตชะพีระ) ยืนยันว่าต้องมีนวัตกรรมของทางเลือก ทางออก มนุษย์น่าจะไปพ้นจากกับดัก

เราเห็นด้วย แต่ว่า ... ไม่รู้จะบ่นยังไง เราเข้าไปไม่ทัน แต่ถ้าเราเข้าไปทันตอนแรกๆ เราก็อาจมองไม่เห็นสิ่งนี้ โดยสไตล์เรามันไม่ใช่แบบนี้ แต่เราต้องการเวลาที่จะมอง และกว่าเราจะมองเห็นก็ติดกับดักไปเรียบร้อย กระนั้นก็ยังลากกับดัก ลากเลือดกันเดินเข้าไปเลย เอาออกที่ไหนล่ะ "ทักษิณ" กับการเคลื่อนไหว

 

คำถามนี้อาจดูไม่ให้เกียรติแต่จำเป็นต้องถาม เพราะมีการพูดกันว่าหนูหริ่งทำงานรับใช้ระบอบทักษิณ ทำงานบนฐานของความรู้สึกสำนึกในบุญคุณของทักษิณ และนี่คือการตอบแทนบุญคุณ

ผมยอมรับว่าผมประทับใจทักษิณในหลายเรื่อง ผมอธิบายกับตัวผมเองว่า ผมไม่ใช่พวกที่รักทักษิณและไม่ได้เกลียดทักษิณ แปลว่าผมประทับใจในวิธีการทำงานของทักษิณหลายเรื่อง การที่ผมบอกว่าไม่ได้รัก ก็เพราะที่ผ่านมาผมได้วิพากษ์วิจารณ์เขามาก เป็นเรื่องธรรมดา ผมกับชวนก็เหมือนกัน ดังนั้น คราวนี้มันอาจมีส่วนเกี่ยวกับทักษิณ แต่ไม่ใช่เพราะว่าบุญคุณ มันต้องแยกส่วนนะ เวลาผมชมทักษิณมันก็จะกลายเป็นรัก แต่ไม่มีอีกส่วนหนึ่ง หรือเวลาวิพากษ์ทักษิณ ก็กลายเป็นว่าผมเป็นพันธมิตรหรือเกลียดทักษิณ

 

ผมจะบอกยังไงดี คือผมมีสิทธิที่จะบอกว่าผมชอบทักษิณในประเด็นนี้ และไม่ชอบในประเด็นนี้ แต่ผมยืนยันว่าผมซื่อสัตย์กับตัวเองมากพอที่จะบอกว่าการต่อสู้ของผม ไม่ใช่เป็นการตอบสนองบุญคุณทักษิณ ดูได้จากประวัติที่ผ่านมา จุดยืนที่ผ่านมา หรือกระทั่งผลประโยชน์ เราไม่ได้เคยได้ประโยชน์ในเชิงบุคคลหรือโครงการเลย ไม่เคยรับเงินทักษิณ

 

ประเด็นก็คือ เราจะยอมรับไหมที่จะเห็นใครสักคนที่เปื้อนน้อยกว่าเรา

 

หลังจากนี้จะสู้ยังไงต่อ ?

การต่อสู้อาจจะยาวมาก เราก็ขยายฐานมวลชนเท่าที่จะร่วมกับเราได้ตรงนี้ แต่อย่าหวังว่าจะได้มวลชนทั้งหมด มันเป็นไปไม่ได้ภายใต้สภาวการณ์นี้ ภายใต้การนำที่เรียกว่า "นปก." แบรนด์มันเน่าไปแล้ว ให้เปลี่ยนชื่อยังไงก็ไปไม่รอด มันทำได้อีกแบบหนึ่งแต่จะชนะใจคนทั้งหมดไม่ได้ เรารอดูว่าอะไรคือสิ่งที่เป็นนวัตกรรมที่จะพาประชาชนออกจาก นปก. แล้วไปสู่สิ่งใหม่

 

ถ้ามีภาคประชาชนที่อาจจะเริ่มหลุดออกจากมายาคติบางเรื่อง แล้วจะมีโอกาสมาร่วมกันไหม เพราะจากที่ไปสังเกตการณ์ที่มาบุญครอง มันค่อนข้างหนักและโดดเดี่ยว

ถ้าพวกนั้นอยู่ผมแทบไม่มีสิทธิ์มาทำแบบนี้เพราะเขาจะทำหมดแล้วเขาจะสามารถจัดการ เราเถียงกันหลายทีแล้วว่า ปัญญาของเราคือการจัดการภายใน เราไม่ยกระดับองค์กรหรือมวลชนเป็นผู้ปฏิบัติงาน หรือจัดรูปองค์กร เราจดจ่ออยู่กับเป้าหมายภายนอก เป้าหมายจริงๆ ไม่ได้อยู่ที่ภายนอกเท่านั้น มันอยู่ที่การยกระดับคนภายใน มวลชนต่างหากคือเป้าหมาย เมื่อปริมาณของมวลชนถึงจุดหนึ่ง แล้วคุณภาพถึงจุดหนึ่ง เป้าหมายที่จะล้ม โค่น รัฐประหารมันจะเกิดขึ้นเอง

 

ตอนที่เรามาทำอาสาสมัคร นปก. เพราะเราทนไม่ได้ เรารังเกียจการนำที่เห็นคนเป็นตัวเลข ปริมาณอาจมีความหมายส่วนหนึ่ง แต่มันไม่ใช่สิ่งที่ควรจดจ่อ คนที่มาเขาทำได้มากกว่าการมานั่งกลางสายฝน เขาสามารถปฏิบัติงานได้ เราแค่วางระบบนิดหน่อยและเรียนรู้ไปด้วยกัน

 

มีอยู่วันหนึ่ง ผมนั่งอยู่ข้างล่างไม่ได้ขึ้นเวที มีผู้ชายคนหนึ่งมาคุยด้วย คนที่สนามหลวงชอบมาแลกเปลี่ยนพูดคุยกันอยู่แล้ว เขาบอกว่ามาตั้งนานแล้ว มาคนเดียวขี่มอเตอร์ไซด์มา แล้วเขาก็เก็บเอกสารที่คนทิ้งในสนามหลวง เลอะๆ เทอะๆ เอาไปแจกต่อ เขาเห็นคุณค่าสิ่งที่มันตก เรารู้สึก....โอ้โห ทำไมเขาเห็น

 

ที่ผ่านมาเราถูกถากถางตลอดเวลาว่า เราเป็นแค่เบี้ยตัวหนึ่งให้เขาเล่น "หนูหริ่ง รู้ว่าหนูหริ่งบริสุทธิ์ใจนะ แต่เกมนี้มันเป็นเกมของขุน ของผู้มีอำนาจนะ" มีวันหนึ่งฟิวส์ขาดเลย เมล์มาแบบนี้เลยตอบยาวเหยียด "เบี้ยนี่แหละจะไล่เตะไอ้พวกขุนให้ดู" แพ้ก็ไม่เป็นไร เราเรียนรู้จักความพ่ายแพ้มา ชีวิตเราก็แพ้มาหลายเรื่อง แพ้ไม่เป็นไรแต่การได้สู้มันสำคัญกว่า

 

ทำไมการชุมนุมที่สนามหลวงครั้งนี้ พวกไวท์คอล่าถึงไม่ค่อยมาร่วม ?

มันยืดเยื้อไป ไม่มีม็อบไหนบ้าขนาดนี้ เขาพร้อมมาแต่ต้องมีการรวบรวมๆ แล้ว ปัง! ให้คนมีเวลาไปให้การศึกษากัน ไม่ใช่ชุมนุมเหนื่อยเสร็จ ตีหนึ่งกลับไปนอน เช้ามาไปทำงานเบลอๆ แต่ว่ามันก็มีส่วนหนึ่งที่จะมาร่วมทุกครั้งที่จะเดินขบวน

 

อาทิตย์หน้าอาจไม่มีโอกาสมาสูดหายใจข้างนอกแบบนี้

อยู่นี่มันก็ไม่ดีเท่าไหร่ เราเคลิ้มนะฟังสุรชัย แซ่ด่าน พูดหลายรอบ

 

โรแมนติกไปหรือเปล่า ?

ก็คิดอยู่ โอเค อันดับแรกคงไม่สวยงาม แต่เราอยากสู้ นี่ก็เป็นความรุนแรงประเภทหนึ่ง เราก็เป็นคนรุนแรง หัวรุนแรง แต่เรายืนยันว่าอยากจะทำแบบนี้ ทั้งที่ก็ไม่รู้จะอยู่ได้นานเท่าไร เอาเข้าจริงเราจะอดทนได้ขนาดไหน ระยะเวลาของการอดทนสำคัญมาก สิ่งที่กลัวไม่ได้กลัวคนอื่นแต่กลัวตัวเอง กลัวมันอยู่ไม่ได้ เรายังไม่เคยเจอสภาพแบบนั้น

 

แล้วหนึ่งคืนในค่ายทหารที่เชียงรายนั้นเป็นยังไง ?

แทบไม่มีความกลัวเลย แต่มันต่างกัน จริงๆ คืนนั้นถ้าเราถูกพาไปพิษณุโลกถึงจะท้าทายและน่าสนใจ แต่ตอนอยู่ที่เชียงรายไม่รู้สึก เพราะกว่าเราจะเจอคนที่ขู่เราจริงๆ มันก็วันรุ่งขึ้นแล้ว ถึงแม้เราจะดูเหมือนคุณหนูแต่เราก็อยู่ได้กับสภาพแวดล้อมที่แย่มากๆ ตอนสึนามิเราก็อยู่กับศพ ตอนนั้นก็รู้สึกว่านั่นก็สุดยอดแล้ว เป็นสภาพการทำงานที่เลวร้ายที่สุดแบบหนึ่ง ใครมาบอกคุณต้องนอนกับผู้ต้องหารวมกัน 40-50 คนรวมกัน แออัด แล้วมานึกถึงตอนที่จะเข้าไปในศาลาที่วัดบางม่วง แล้วสนามทั้งสนามมีแต่ศพนอนอืด แล้วผมต้องเข้าไปให้ได้เพื่อไปทำงาน วันแรกเข้าไม่ได้ อ้วก 3 ครั้ง เคยหมดลมหายใจแล้วต้องอยู่ให้ได้ไหม หมดแล้วๆ สภาพนั้นมันอนาถจนถึงสภาวะปลง

 

แต่มันไม่มีกรงอะไรที่จะขังหนูหริ่งไว้

เสรีภาพอยู่ที่ใจ ไม่ใช่ว่าเสรีภาพทางกายภาพไม่มีความหมาย ก็มีความหมาย แต่ในช่วงเวลาหนึ่งเราสามารถจะสร้างพื้นที่ทางเสรีภาพแบบ unlimited ได้จากสภาพภายในของเราเอง เหมือนที่เราโดนขังไว้ที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ 17 นิ้ว เราขยับน้อยกว่าในคุกอีก วันหนึ่งไม่รู้กี่ชั่วโมง เล่นจนข้อมือปวดไปหมด เรายังอยู่ได้เลย

 

มีเงื่อนไขอะไรบ้างที่จะยอมออกจากคุก ?

เราจะอยู่ให้นานที่สุด แต่มันมี 4 ช้อยส์ที่จะทำให้เราออกมาได้ 1.เราเข้มแข็งไม่พอ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ ต้องยอมประกันตัวเองออกมา 2.ศาลเห็นว่าเป็นคดีที่มันไม่มีเหตุแล้วปล่อยตัว 3.สพรั่งถอนฟ้อง ด้วยความกรุณาจากท่านนายพล เลยได้รับอิสรภาพ 4. เราจะใช้เงื่อนไขนี้ในการกดดันให้ยกเลิกกฎอัยการศึก

 

หลังจากนี้จะยังไงต่อ

จริงๆ เราไม่ได้จดจ่อกับเรื่องจะเข้าคุกนะ เราต้องการรณรงค์เรื่อง "วันอาทิตย์สีแดง" เป็นการรณรงค์ทางวัฒนธรรม ใช้รูปแบบทางวัฒนธรรมในการต่อสู้ทางการเมือง

 

เข้าคุกไปใครจะทำเรื่องรณรงค์ต่อ

ในทัศนะผมเป็นเรื่องดีเที่ยวนี้ เราอยากจะรณรงค์เรื่องนี้ นี่เป็นโอกาส ขอบคุณที่ให้เกียรติผมทำให้มีโอกาสรณรงค์เรื่องนี้ไป คนก็จะนึกถึงผม แล้วนึกถึง "แดงไม่รับ" และ "วันอาทิตย์สีแดง" สิ่งที่ผมจะเสนอต่อไปก็คือ "ยกเลิกกฎอัยการศึก" นี่คือสิ่งที่ผมพยายามจะผูกไปให้ได้ จะหาว่าผมใช้สิ่งนี้เป็นเงื่อนไขก็ไม่เป็นไร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท