สัมภาษณ์ ธเนศวร์ เจริญเมือง: "สังคมไทยยอมรับกติกา แต่ถ้ารัฐบาลผสมอ่อนแอ อะไรก็เกิดขึ้นได้"

ในช่วงเวลาที่ผลประชามติกำลังจะยุติลงในอีกไม่กี่ชั่วโมง "ประชาไท" ขอนำการคาดการณ์อนาคตสังคมไทยหลังจากนี้ผ่านมุมมองของ "ธเนศวร์ เจริญเมือง" นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มานำเสนอ

 

+ถ้าผลประชามติออกมาสูสี จะมีนัยยะอย่างไร

เป็นเวลาหลายเดือนในการลงประชามติครั้งนี้ที่ทางผู้มีอำนาจ กกต. หรือสสร.พยายามพูดถึงข้อดีของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 เพื่อให้คนมาลงประชามติเยอะๆ ทางราชการก็รณรงค์ให้คนมาลงประชามติ สื่อมวลชนก็ขานรับทำให้ประชาชนมีข้อจำกัดทางความรู้โดยแนวทางที่ใช้อาจเรียกได้ว่าเป็น "ชาตินิยม" เช่นบอกว่าเพื่อให้บ้านเมืองสงบเพื่อให้มีสันติ เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าได้ เพื่อยุติความแตกแยกต้องช่วยกัน

 

ในขณะที่คนไทยก็ไม่ชินกับความแตกต่างจึงรู้สึกว่าทำไมทะเลาะกันไม่จบเสียที จึงคิดว่ารับร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 แล้ว ปัญหาจะได้ยุติ ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าจะมติเห็นชอบชนะ

 

อย่างไรก็ตาม ส่วนที่เห็นด้วยกับไทยรักไทยมีมาก คือแม้ในภาคกลางอาจจะสนิทสนมกับพรรคชาติไทยหรือกลุ่มผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น ส่วนภาคใต้ก็พรรคประชาธิปัตย์ ความเป็นท้องถิ่นนิยมจึงสูง แต่ทางอีสานหรือภาคเหนือตอนบนกลับไม่เคยเจอนโยบายหลายอย่างกระทบใจแบบของไทยรักไทย รวมทั้งท่าทีของทักษิณบางอย่างก็อาจถูกใจ อาจมีเรื่องความเป็นลูกข้าวเหนียวด้วยกันด้วย ความผูกพันก็มีสูง ใน 2 พื้นที่นี้จึงมีเสียงไม่รับรัฐธรรมนูญสูง ทว่าที่น่าสังเกตในจังหวัดสุพรรณบุรีเองก็มีเสียงไม่รับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 จำนวนไม่น้อย จึงดูที่ผลแพ้ชนะไม่ได้ต้องดูที่คะแนนด้วย

 

ประเด็นก็คือในสถานการณ์ที่รัฐใช้เวลาหลายเดือนผ่านกลไกต่างๆ ทั้งราชการ สสร. หรือสื่อมวลชน มีแต่ข่าวสารว่าที่ผู้มีอำนาจบอกว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ดี ปัญหาความแตกแยกจะได้ยุติ และหลายคนก็ลงมติรับไปแม้จะอ่านรัฐธรรมนูญแล้วเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้างก็ตาม ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ผลก็ออกมาคู่คี่ คือรับประมาณ 51 % ไม่รับประมาณ 48 % ก็พออธิบายได้ว่านักศึกษาส่วนใหญ่ก็จะเรียนวิชาของตนเอง อย่างถอนฟัน ตอนไก่ ส่องกล้องตัดถนน ไม่ได้เรียนเรื่องการเมืองหรือกฎหมายกันทุกคนก็จะไม่รู้ข่าวสารนอกจากฟังจากวิทยุ โทรทัศน์และรับรู้ไม่ต่างจากที่ว่าปัญหาจะได้ยุติ การดีเบตเองก็เพิ่งมีเพียงไม่กี่วัน การคิดตัดสินใจจึงมีไปก่อนไปแล้ว ในส่วนที่สนใจถ้าอ่านก็จะเป็นอีกแบบ จึงเป็น 2 ข้าง ดังนั้นในคนที่ไม่รับต้องดูว่ามีเท่าไหร่ สามารถยืนได้อย่างไร ในบรรยากาศที่มีเสียงผู้นำ ข้าราชการ หรือสื่อเป็นแบบนี้

 

อย่างไรก็ตามคิดว่าไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไรคิดว่าสังคมไทยมีกติกาพอ หากไม่มีข่าวเรื่องการเลือกตั้งสกปรกออกมาบนหน้าสื่อวันพรุ่งนี้ คงยอมรับผลที่ออกมากัน เพียงแต่อาจต้องดูเหตุการณ์อย่างอื่นประกอบ เช่น ตอนนี้สื่อต่างๆ เวลารายงานข่าวก็เอาแต่ฝ่าย สสร.มาพูดฝั่งเดียว ทั้งที่จริงควรมี 2 ฝ่าย เพราะสามารถมองต่างกันได้ ไม่ใช่ตอกย้ำ เยาะเย้ย เสียดสีด้านเดียว ซึ่งอาจทำให้ฝ่ายไม่รับมองว่ามากพอแล้ว จะอะไรกันอีกนักหนา

 

+จากนั้นจะเป็นอย่างไรต่อไป

สำหรับสถานการณ์ที่จะดำเนินต่อไป ถ้าผลประชามติออกมาว่ารับร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ก็จะเดินไปสู่การเลือกตั้ง ต้องมาดูกันต่อว่ากติกาตามรัฐธรรมนูญที่ประชาชนยอมรับเป็นอย่างไร ตรงนี้จะเป็นตัวกำหนดการเมืองในเวลาต่อมา

 

กติกาตามรัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดเขตเลือกตั้งเขตละ 3 คน สิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นชัดก็คือจะมีรายการฮั้วกัน ในสังคมชนบทการประนีประนอมจะมีสูง แม้จะแข่งขันกันสูง คะแนนก็จะแบ่งกันไปเลือกคนนั้น คนนี้ ส่วนรัฐบาลก็จะเป็นรัฐบาลผสม 4-5 พรรค สิ่งที่ตามมาก็คือมีรัฐบาลที่ไม่เข้มแข็ง นายกรัฐมนตรีจะมีฐานะเป็นเพียงปลัดประเทศ แต่คุมนักการเมืองไม่ได้ การต่อรองกันจะเกิดขึ้นตลอดเวลา

 

ประการต่อมา ตอนนี้ในช่วงรัฐบาลสุรยุทธ์ ไม่คิดแก้ปัญหาอะไรนอกจากอยากจะกลับบ้านอย่างเดียว ปัญหาต่างๆ เมื่อไม่ได้แก้ก็จะเกิดการร้องเรียนให้รัฐบาลต่อไปแก้ไขอย่างต่อเนื่อง

 

อีกประการหนึ่ง ตามรัฐธรรมนูญนี้ข้าราชการจะมีอำนาจควบคุมหลายส่วน ทำให้การ ดำเนินงานของรัฐบาลไม่เข้มข้น และถูกจำกัดหลายอย่าง

 

ประการสุดท้าย สังคมไทยเชื่อมสัมพันธ์กับต่างประเทศอย่างใกล้ชิดมานานแล้ว ทั้งเรื่องเอฟทีเอ สิ่งแวดล้อม โลกร้อน ศูน์การค้าขนาดใหญ่ เงินบาทแข็งอ่อน หุ้น การโอนเงิน เศรษฐกิจที่พึ่งการนำเข้า ส่งออก และการท่องเที่ยว หลายอย่างเป็นปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้ เมื่อบวกกับสถานการณ์การเมือง เศรษฐกิจก็จะง่อนแง่น เพราะรัฐบาลอ่อนแอ

 

ผลของประชามติครั้งนี้ฝ่ายที่เห็นด้วยจะสบายใจ ส่วนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ถ้าเสียงขึ้นไปสูงถึงหลายล้านแสดงว่าพลังประชาธิปไตยไทยมีอนาคตที่เข้มแข็ง เพราะฝ่าความยากลำบากมาแสดงความคิดเห็นและผลักดันประชาธิปไตย และหลังการเลือกตั้งก็จะมีการผลักดันต่อไป

 

+แนวโน้มในอนาคตคนจะเรียกหารัฐบาลที่เข้มแข็งอีกครั้งหรือไม่

ร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ไม่เก็บข้อดีของรัฐธรรมนูญ 2540ไว้ คือเรื่องรัฐบาลเข้มแข็ง แต่รัฐธรรมนูญดังกล่าวมีปัญหาที่การควบคุมตรวจสอบทั้งเรื่องกลไกและตัวบุคคล ทว่ารัฐธรรมนูญ 2550 นอกจากทำให้รัฐบาลอ่อนแอแล้วกลไกตรวจสอบยังเข้มแข็งขึ้น แล้วเมื่อรัฐบาลไม่เข้มแข็งใครจะแก้ปัญหา

 

แล้วเมื่อมีปัญหาแต่รัฐบาลอ่อนแอประชาชนจะไม่คิดถึงกติกา จะคิดว่าทำไมรัฐบาลไม่แก้ไขปัญหา จะคิดถึงรูปธรรมก็จะไล่ให้ออกไปๆ ไม่สนใจกติกา ทางออกของปัญหาก็จะเป็น 2 ทาง

 

ทางแรกคือจะเกิดการต่อสู้ผลักดันให้รัฐบาลลาออกเพื่อเลือกตั้งใหม่คู่กับการแก้รัฐธรรมนูญ แต่รับรองว่าจะเกิดขึ้นในเวลาอันใกล้ เพราะคนจะคิดว่าเพิ่งร่างรัฐธรรมนูญกันมาจะมาแก้ไขอะไรกันอีก

 

ทางที่สองคือจะเกิดการเรียกร้องให้ข้าราชการและกองทัพเข้ามาแก้ปัญหา เหมือนที่รถถังเคยมีบทบาทมาแล้วเมื่อ ปี 2549 เมื่อเคยทำมาแล้ว หากรัฐบาลอ่อนแออะไรก็เกิดขึ้นได้

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท