Skip to main content
sharethis

รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์

ถ้าย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์การเมืองไทย จริงๆ แล้วมีรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับที่ได้ชื่อว่าเป็นประชาธิปไตยสูงมาก รัฐธรรมนูญ 2 ฉบับที่ผมได้อ้างถึงไปคือ รัฐธรรมนูญปี 2489 และ รัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งมันเปลี่ยนผ่านมาโดยไม่มี ‘การทำรัฐประหาร’ แต่เปลี่ยนผ่านมาโดย ‘กระบวนการแก้ไขอย่างสันติ’ รัฐธรรมนูญปี 2540 หลายฝ่ายได้มีส่วนร่วม แม้ว่าในทางเนื้อหาจะมีปัญหาอยู่บ้างก็ตาม

อีกฉบับหนึ่งนั้น คือรัฐธรรมนูญปี 2517 ซึ่งเกิดขึ้น เป็นผลพวงจากการลุกฮือขึ้นของบรรดานิสิต นักศึกษา ประชาชนในเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 เราจะพบว่ารัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยอย่างน้อยในบ้านเมืองเรา ถ้าผมหยิบยกมาอ้างสัก 3 ฉบับ ปี 2489 ปี 2540 และ ปี 2517 ไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับไหนที่เป็นผลพวงที่เกิดขึ้นจากการทำรัฐประหาร นี่เป็นบทสรุปในทางประวัติศาสตร์

คำถามมีอยู่ต่อไปว่า ถ้าอย่างนั้นการโหวตรับ หรือไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะมีความสำคัญกับชะตากรรมในทางการเมือง หรือโชคชะตา หรือวิถีชีวิตของพวกเราอย่างไรในวันข้างหน้า

ผมเรียนว่า การโหวตรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้เท่ากับยอมรับในทุกบทบัญญัติมาตราที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญ การโหวตให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ย่อมเท่ากับการชอบธรรมให้กับการกระทำที่ไม่ชอบ นี่คือปัญหาประการแรก

ทีนี้ถามว่า ถ้าเกิดโหวตไม่รับจะเกิดอะไรขึ้น ตอนนี้มีการพูดกันถึงเรื่องการจัดการเลือกตั้งว่า ถ้าโหวตไม่รับจะไม่มีการจัดการการเลือกตั้ง ผมเรียนว่า การเลือกตั้งอย่างไรเสียก็ต้องเกิดขึ้น ไม่ว่าจะมีการโหวตรับหรือโหวตไม่รับ ถ้าโหวตไม่รับผลที่เกิดตามมาคือ ครม. และ คมช. มีหน้าที่ ต้องไปหยิบเอารัฐธรรมนูญฉบับใด ฉบับหนึ่งที่ประกาศใช้ในอดีตมาแก้ไขปรับปรุงแล้วประกาศใช้ และจัดการการเลือกตั้ง มันมีการเลือกตั้งแน่

มีคนสงสัยว่า ถ้าโหวตไม่รับแล้ว จะได้รัฐธรรมนูญที่แย่ยิ่งกว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 ได้ไหม ผมเรียนว่าในทางปฏิบัติ ถ้าประชาชนโหวตไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ถามว่าคนที่มีอำนาจจะกล้าเอารัฐธรรมนูญฉบับที่มีเนื้อหาแย่ยิ่งกว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 มาประกาศใช้เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศไหม

ถ้าใช่ ผมก็คิดว่า ความขัดแย้งทางการเมืองจะดำรงอยู่ต่อไป

แต่ถ้าไม่ใช่ หมายความว่า คมช. และ ครม. เห็นแล้วว่า ขนาดรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งหลายส่วนก็เห็นข้อดีอย่างที่ผมได้กล่าวไป ประชาชนยังโหวตไม่รับ เพราะฉะนั้น ก็ต้องเอารัฐธรรมนูญที่ดีกว่ามาให้

ที่สำคัญ การโหวตไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะเป็นการยกระดับการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยในทางอุดมการณ์ ในทางคุณค่า ซึ่งจะเป็นรากฐานที่สำคัญอย่างยิ่ง ในการทำให้ประเทศไทยเดินไปในวิถีทางที่นานาอารยประเทศยอมรับ

ท่านไม่ต้องกังวล ว่าโหวตไม่รับแล้วจะได้รัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาที่แย่ลง

ข้อเสนอของทุกฝ่ายเท่าที่ผมได้ยินได้ฟังมา ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่าให้เอารัฐธรรมนูญปี 2540 มาใช้บังคับ มีคนบอกว่า ก็ 40 มีข้อบกพร่องอยู่จะเอามาใช้บังคับทำไม

คำตอบคือ เอามาใช้บังคับเพื่อจัดการเลือกตั้ง แล้วหลังจากที่มีการเลือกตั้งแล้ว วาระสำคัญในทางการเมืองอย่างนี้จะเป็นวาระระดับชาติ อำนาจในการกำหนดเนื้อหาของตัวรัฐธรรมนูญจะกลับมาอยู่ในมือประชาชน มีการต่อรองของกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ อย่างถูกต้อง อย่างครบถ้วน แล้วก็ใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งอย่างน้อยในแง่ของที่มาซึ่งมีความชอบธรรมอยู่เป็นฐานของการปฏิรูปการเมืองต่อไป อย่างน้อยที่สุดในวันข้างหน้าสังคมไทยเองจะไม่ต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องคุณค่าว่า ‘เรารับรัฐธรรรมนูญที่มีที่มาอันไม่ชอบ’ แต่ถ้าเราปฏิเสธ และกลับไปใช้รัฐธรรมนูญที่มีที่มาอันชอบ และมีการแก้ไขให้มันถูกต้อง เพราะอะไรที่เป็นข้อบกพร่องที่ได้พูดกันมาเยอะแล้วก็แก้ไขให้มันหมดสิ้นไป เช่นนั้นแล้วน่าจะดีกว่า

และเมื่อเอารัฐธรรมนูญปี 2540 กลับมาใช้แล้วการจัดการเลือกตั้งก็อาจทำได้รวดเร็วกว่าที่คิดด้วยซ้ำไป ทั้งนี้ ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับความจริงใจของเป็นองค์กรซึ่งเป็นองค์กรที่กุมอำนาจรัฐขณะนี้ ว่าจะมีความจริงใจว่าจะคืนอำนาจกลับมาให้ประชาชนมากน้อยเพียงใด

โดยส่วนตัวแล้ว และในนามของทั้ง 3 ท่านที่มาอภิปราย มาให้ความรู้ แล้วก็มาแสดงจุดยืนและทัศนะของเราที่มีต่อรัฐธรรมนูญปี 2550 นี้ ผมเห็นว่า

การโหวตไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะเป็นทางออกของสังคมไทย ไม่ให้เกิดความตีบตันในวันข้างหน้า เรียกร้องเอา 2540 กลับมาใช้ให้มีฐานของความชอบธรรม แล้วก็ปรับปรุงแก้ไขในส่วนที่มันบกพร่องต่อไป เพราะไม่ว่าอย่างไรๆ ก็ตาม แม้จะมีการรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็ต้องมีการแก้ไขแน่นอน และเมื่อมีการแก้ไขแล้ว ทำไมจึงไม่เอารัฐธรรมนูญปี 2540 มาใช้

ขอบคุณทุกท่านมากครับ

 

0 0 0

 

นายจรัญ ภักดีธนากุล

ผมก็ดีใจมาก ที่กิจกรรมนี้ได้ดำเนินมาอย่างราบรื่น จนถึงเวลาใกล้จะยุติลงได้ด้วยดี ขอเรียนว่าอย่างนี้ครับ ที่เราคุยกันมาทั้งหมด 3 ชั่วโมงนี้ ล้วนแต่เป็นความคิดเห็น และความเชื่อของแต่ละคนๆ ซึ่งมีภูมิหลังแตกต่างกัน มีประสบการณ์ความรู้แตกต่างกัน เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมพบว่าเป็นปัญหาจริงๆ อยู่ที่ความยึดมั่น ถือมั่นของพวกเรากันเองว่าจะรุนแรงเกินไปไหม ถ้าเราลดคลายทิฐิมานะลงบ้างทุกฝ่าย แล้วก็เริ่มต้นทำใจเป็นกลาง แล้วก็วิเคราะห์ปัญหานี้ซึ่งเป็นปัญหาของบ้านเมืองให้หาประโยชน์ให้ได้ว่า ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการก้าวต่อไปของเราในการลงประชามติ ‘รับ’ หรือ ‘ไม่รับ’ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นประโยชน์มากกว่าหรือน้อยกว่าแล้วเราก็ตัดสินใจอย่างนั้น อย่าได้ถูกชี้นำหรือชักนำไปตามความคิดความเห็นของวิทยากรที่นำเสนอในวันนี้ นะครับ

ผมเองในฐานะได้รับมอบหมาย จากคณะผู้เสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับให้สรุป ผมก็ต้องสรุปอย่างนี้ครับว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เรายอมรับว่าไม่ใช่รัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด สมบูรณ์ที่สุด แต่เรามองว่า มันเป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุดของการกลับคืนมาแห่งอำนาจของประชาชนอย่างราบรื่น ชัดเจน แน่นอน (ปรบมือ)

ผมเคารพและได้ฟังความคิดเห็นของท่านอาจารย์วรเจตน์ชัดเจนวันนี้ เมื่อสักครู่นี้ ว่าท่านเห็นทางสะดวกของท่านเหมือนกัน แต่ว่า ท่านครับ นั่นคือความเห็นและความเชื่อไม่ชัดเจนแน่นอน ราบรื่นเท่ากับการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญนี้

จุดที่สองครับ การที่เราลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญนี้ จะให้ผลดีคือ ‘ยุติระบบปฏิวัติรัฐประหารทันที’ คมช. สิ้นสภาพทันที ส่วนว่ารัฐธรรมนูญนี้ไม่ดี มีข้อบกพร่อง มีบางจุดหลายจุดที่ท่านนำเสนอมานี้ เราเริ่มกระบวนการแก้ไข การแก้ไขนี้ผมอยากจะให้ ‘เราทำแบบเมื่อปี 2540 เราเสนอแบบให้ 50,000 คนเท่านั้นครับ! แล้วก็ ส.ส.ในสภา 1 ใน 4 เท่านั้นครับ!’ (น้ำเสียงหนักแน่น) เสนอแก้ไขมาตราเดียวแบบที่เราเริ่มทำในปี 2540 แล้วให้กระบวนการนั้นจัดทำกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญของประชาชนขึ้นใหม่ เนี่ยครับ เราก็ว่าถ้าเราเดินอย่างนี้มันจะราบรื่นกว่าที่เราจะใช้วิธีการว่า เอาล่ะ! เราล้มร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แล้วคาดหวังว่า คมช. กับ ครม. จะหยิบร่างรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดในอดีต มาปรับปรุงให้ดีกว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ที่เรากำลังทำนี้

ท่านครับ ท่านไม่มีอะไรไปบังคับเขาได้นะครับ! ไม่มีเลย นี่เป็นความคาดหวังของเรา แล้วถ้าไม่เป็นไปตามที่เราคาดละครับ อะไรจะเกิดขึ้น นะฮะ แต่ถ้าเรารับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะดีจะเลว เราได้ระบอบประชาธิปไตยกลับคืนมาเป็นของประเทศ เราได้อำนาจอธิปไตยกลับคืนมาเป็นของประชาชน แล้วหลังจากนั้นครับ เราช่วยกันเถิดครับ ช่วยกันพาประเทศนี้เข้าสู่กระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นของประชาชน ที่เราทุกคนอยากได้อีกครั้งหนึ่งเถิดครับ

ส่วนร่างฯ มาตรา 309 ท่านครับ เจตนารมณ์ท่านอาจารย์ ดร.สมคิด เลิศไพทูรย์พูดชัดตรงกับเจตนารมย์ของเราว่า ต้องการคุ้มครองการกระทำที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น สิ่งที่ไม่ชอบไม่คุ้มครอง ท่านอย่าตีความไปอย่างอื่น เปิดช่องให้มีการเล็ดลอดออกไปอย่างนั้นครับ ผมคิดว่าจะเอาเจตนารมย์นี้ให้มั่น ณ วันนี้ว่า มาตรา 309 มีเจตนารมณ์มุ่งคุ้มครองการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย และชอบด้วยรัฐธรรมนูญเท่านั้น

ขอบคุณครับ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net