รายงาน วัฒนเสวนา : เกษตรอินทรีย์ และธนาคารเมล็ดพันธุ์ "ของขวัญแห่งชีวิต"

 

โดย ฐาปนา พึ่งละออ

 

 

หลังการปฏิวัติเขียวเมื่อกว่าครึ่งศตวรรษก่อน การเข้ามาของเทคโนโลยีในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ได้เปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตเกษตรกร และวิถีชีวิตของผู้บริโภคทั้งประเทศอย่างรุนแรง  ปริมาณสารเคมีที่ใช้ในการเพิ่มผลผลิต ทำให้ผืนดินเสื่อมสภาพ การปลูกพืชเชิงเดี่ยวทำให้โรคและแมลงระบาดได้รวดเร็ว เกษตรกรติดอยู่ในกับดักของการผลิตแบบทุนนิยม หนี้สินทบทวี ไม่มีทางออก ทั้งผู้บริโภคเอง ก็ได้รับอาหารที่คุณค่าต่ำกว่าเดิมและยังปนเปื้อนไปด้วยสารเคมี ทว่า ผลผลิตเหล่านี้ กลับถูกผูกขาดโดยระบบตลาด และได้รับการโฆษณาให้เชื่อว่า มีคุณค่าทางอาหารสูง และปลอดภัย ผู้คนถูกทำให้ต้องเลือกในสิ่งที่ตลาดเป็นผู้กำหนดเท่านั้น

 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ยังมีอีกกระแสหนึ่งที่ต่อต้านวิธีคิดข้างต้น นั่นคือกระแสเกษตรธรรมชาติ ที่เน้นการผลิตเพื่อบริโภคเป็นอันดับแรก อันจะนำมาซึ่งกระบวนการที่เน้นสมดุลย์ของธรรมชาติ การพึ่งพาทางสังคม และมีเป้าหมายที่ความยั่งยืนที่แท้จริง

 

ด้วยความเชื่อในแนวทางดังกล่าว ภาคีคนฮักเจียงใหม่ จึงได้จัดงาน "วัฒนเสวนา ตอน เกษตรดั้งเดิม ของดีมีอยู่ และธนาคารเมล็ดพันธุ์ของขวัญแห่งชีวิต" ขึ้นเมื่อวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา ที่สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมเชียงใหม่ โดยมีวิทยากรได้แก่ แสงทิพย์ เข็มราช จากสถาบันชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืน,พงศธร กิจเวช จากโครงการมังสวัรัติเพื่อชีวิตใหม่ และ  โจน  จันได จากธนาคารเมล็ดพันธุ์แห่งประเทศไทย ดำเนินรายการโดย อาจารย์กนกวรรณ อุโฆษกิจ ผู้ประสานงานภาคีคนฮักเจียงใหม่

 

อาจารย์กนกวรรณ กล่าวว่า ปัจจุบันนี้ การปลูกพืชเชิงเดี่ยว หรือการปลูกพืชประเภทเดียวพวกแมลงจะชอบมาก เนื่องจากสามารถแพร่พันธุ์ได้ดี อันเป็นระบบความอยู่รอดตามธรรมชาติ ฉะนั้นในแปลงเกษตรอินทรีย์จะเน้นความหลากหลายซึ่งเป็นการป้องกันการแพร่ของโรงแมลง แม้ว่าจะมีแมลงกินบ้างก็ถือว่าแบ่งๆ กันไป นอกจากนี้ เกษตรอินทรีย์ ยังเป็นแนวทางที่พึ่งตนเอง ไม่พึ่งพาตลาดหรือระบบธุรกิจใหญ่ๆ แต่พวกเราผู้บริโภคก็ต้องเห็นความสำคัญและสนับสนุนด้วย เกษตรอินทรีย์จึงจะไปรอด

 

แสงทิพย์ เข็มราช กล่าวว่า หลักการของเกษตรอินทรีย์จะมีอยู่สิบข้อ แต่ข้อแรกก็คือ ปลูกเพื่อกิน เหลือกินถึงจะขาย เพราะฉะนั้นถ้าปลูกเพื่อกินเขาต้องปลูกให้ตัวเองกินของดี แล้วก็ให้คนอื่นได้กินของดีด้วย แต่ระบบเกษตรปัจจุบันคือปลูกเพื่อขายแล้วค่อยเอาเงินไปซื้อของมากิน ซึ่งแบบนี้ยังไงๆ ชาวบ้านก็อยู่ไม่รอด ถ้าไม่คิดถึงตัวเองก่อน

 

"...อย่างผู้บริโภคที่เดินตลาดเกษตรอินทรีย์ ไม่ใช่ไปซื้ออย่างเดียว การไปตลาดก็คือการไปให้กำลังใจชาวบ้านด้วย ไปบอกชาวบ้านว่า ปลูกผักพื้นบ้านเถอะ ฉันกินเป็น เพราะว่าถ้าพูดถึงคนเชียงใหม่สมัยก่อน เขากินผักพื้นบ้านกันเป็น แต่มาหลังๆ รุ่นพวกเรา ถ้าไม่ได้ทำงานด้านนี้ ผักพื้นบ้านก็กินไม่เป็นแล้ว ไม่รู้ว่าเอาไปทำอะไรกิน แต่ตลาดที่เราทำขึ้นมา จะเป็นตลาดที่ให้ชาวบ้านปลูกผักพื้นบ้านมาขายแล้วก็สอนให้คนในเมืองกินผักพื้นบ้านให้เป็น อันนี้ไม่ใช่ตลาดที่แค่ซื้อขายอย่างเดียว แต่เป็นตลาดที่เชื่อมความสัมพันธ์ของคนซื้อกับคนกิน ชาวบ้านกับคนที่อยู่ในเมือง เป็นระบบตลาดที่เป็นธรรม คือตลาดทั่วไป คนขายก็คาดหวังว่าจะต้องขายให้ได้กำไรเยอะๆ แล้วก็ไม่สนใจว่าคนที่ซื้อไปกินจะเป็นตายร้ายดียังไง แต่ว่าตลาดที่เราอยากเห็นคือตลาดที่ชาวบ้านเองก็ดูแลคนกิน คนกินก็เห็นใจคนปลูก พึ่งพากันอยู่กันได้ ทั้งการไม่ใช่สารเคมี ทั้งการไม่ตั้งราคาเกินความเป็นจริง..."

 

แสงทิพย์ กล่าวว่า ปัจจุบัน ตลาดที่ขายพืชผักเกษตรอินทรีย์ มีหลายแห่ง คือเช้าวันจันทร์ พุธ ศุกร์จะอยู่ที่โรงพยาบาลนครพิงค์ และบริเวณหลังราชภัฏเชียงใหม่ วันพุธ และวันเสาร์ตอนเช้าจะอยู่ที่ JJ hobby market หลังตลาดคำเที่ยง "...แล้วช่วงเปิดเทอมเราก็จะเปิดตลาดในโรงเรียน ก็จะมีที่โรงเรียนปรินซ์รอแยล กับที่โรงเรียนดาราวิทยาลัย ทุกวันศุกร์ เวลาบ่ายสามโมงจนถึงห้าโมงเย็น แล้วก็มีที่แลนด์แอนด์เฮาส์ด้วย ชาวบ้านบางกลุ่มก็พยายามเข้าไปขายในตลาดสด ก็จะมีที่ตลาดหนองหอย จะมีมุมของเกษตรอินทรีย์ สังเกตุสัญลักษณ์ง่ายๆ ของเรา คือ ผู้ค้าจะสวมหมวกขาว เอี๊ยมเขียวแล้วก็มีตราใบผักเสี้ยว ของกลุ่มเกษตรอินทรีย์..."

 

นอกจากนี้ แสงทิพย์ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มว่า การทำงานของกลุ่มเกษตรอินทรีย์นั้น ทำงานอยู่ภายใต้เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ซึ่งมีทั้งการแลกเปลี่ยนสินค้า และการแปรรูปผลิตผลทางการเกษตร ซึ่งทั้งหมดเป็นสินค้าที่ปราศจากสารเคมี

 

ด้าน พงศธร กิจเวช กล่าวว่า จริงๆ แล้วมนุษย์เราเป็นสัตว์กินพืชเพราะโดยโครงสร้างของฟันและระบบย่อยอาหารเราเป็นอย่างนั้น พวกลิงเอพ (ape) ซึ่งมีความใกล้เคียงกับมนุษย์เช่นชิมแปนซี อุรังอุตัง ก็เป็นสัตว์กินพืช จะกินเนื้อบ้างก็เป็นพวกแมลง แต่ปัจจุบันนี้ดูเหมือนว่า เราจะมีทางเลือกในการกินได้น้อยลง เพราะพืชหลายชนิดเริ่มสูญพันธุ์ไป เพราะกลไกของตลาดและการทำลายของมนุษย์

 

"...อย่างผมชอบกินฝรั่ง สมัยก่อนเรามีฝรั่งพื้นเมือง ลูกเล็กแข็งๆ หน่อย รสชาติเข้มข้น ต่อมาก็มีฝรั่งเวียดนาม ลูกใหญ่เนื้อนุ่ม พอฝรั่งเวียดนามขายได้เยอะ ฝรั่งพื้นเมืองก็หายไป พืชพันธุ์หลายๆ อย่างมันเริ่มหายไป ไปค้นคว้าดูก็เจอตัวเลขที่น่าตกใจ ผมได้อ่านรายงานขององค์กร IUCN หรือสหพันธุ์อนุรักษ์โลก เขาจะทำบัญชีรายชื่อ สิ่งมีชีวิตในโลกที่สูญพันธุ์ไปแล้วและใกล้จะสูญพันธุ์ รายงานล่าสุด เฉพาะพืช สูญพันธุ์ไปแล้ว 80 กว่าชนิด ใกล้สูญพันธุ์อีก 20 กว่าชนิด แล้วก็มีพืชอีกกว่าแปดพันกว่าชนิดที่เสี่ยงอันตราย และอัตราการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตในโลกเราสูงถึง 100-1,000 เท่าของอัตราธรรมชาติ นั่นก็แปลว่าอีกประมาณ 100 ปี จำนวนชนิดสิ่งมีชีวิตในโลกเราจะเหลืออยู่เพียงครึ่งหนึ่งของที่มีอยู่ทุกวันนี้..."

 

พงศธร กล่าวว่า โลกเรามีสิ่งมีชีวิตอยู่ 2 ประเภทที่แพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็วพร้อมกับทำลายสิ่งแวดล้อมที่ตัวเองอาศัยอยู่ไปพร้อมๆ กัน สิ่งมีชีวิตนั้นได้แก่ ไวรัส และมนุษย์ การดำรงอยู่ของมนุษย์เหมือนไวรัส คือค่อยๆ ทำลายโลกไปเรื่อยๆ ซึ่งหมายความว่า นอกจากจะทำให้สิ่งมีชีวิตอื่นๆ สูญพันธุ์ไปเรื่อยๆ แล้ว มนุษย์เองก็มีสิทธิ์จะสูญพันธุ์เช่นเดียวกัน หากเราไม่เปลี่ยนวิธีคิดหรือวิธีการดำเนินชีวิตที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

 

ด้าน โจน จันได กล่าวว่า การเก็บรวบรวมเมล็ดพันธุ์เป็นเรื่องจำเป็น เพราะในปัจจุบันงานด้านนี้มีคนรับผิดชอบเพียงภาคธุรกิจกับภาครัฐซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายต่างก็ทำโดยเอาตลาดเป็นตัวตั้ง ไม่ได้เอาคนเป็นตัวตั้ง ทำให้พันธุ์ที่มีอยู่แย่ลงไปเรื่อยๆ

 

"...ยกตัวอย่างง่ายๆ เลย อย่างไก่ ตอนแรกคนเอาไก่ฟาร์มมาขายในหมู่บ้านไม่มีใครซื้อเลย เพราะมันจืด รสชาติไม่อร่อยเลย แต่ว่าไก่บ้านรสชาติมันดีมาก ทำอะไรก็อร่อย จนถึงวันนี้ไก่บ้านกิโลกรัมละร้อยบาท แต่ว่าถ้าเป็นไก่ฟาร์มกิโลกรัมละ 20-30 บาท มันต่างกันมาก แม้ไก่ฟาร์มจะราคาถูกแต่มันหาง่าย ไปซื้อเมื่อไรก็ได้ คนก็บอกว่า ดีกว่ากินฟองน้ำเปล่าๆ ใส่ผงชูรสเยอะๆ มันก็อร่อยไปเอง พอกินไปเรื่อยๆ มันก็กลายเป็นความเคยชินเหมือนเพลงที่ไม่อยากฟัง พอเขาเปิดให้ฟังบ่อยๆ เราก็รู้สึกชอบไปเอง ทีนี้พอกินไปเรื่อยๆ คนรุ่นใหม่เติบโตขึ้นมากับการกินไก่แบบนี้ เขาก็คิดว่าไก่จะต้องมีรสชาติแบบนี้ ไม่รู้จักไก่ที่อร่อยกว่านี้ มันก็กลายเป็นว่า ตลาดเขาเสี้ยมสอนให้คนบริโภคเชื่อในสิ่งที่ตลาดอยากให้บริโภค

 

ฉะนั้น คนที่ออกแบบพืชพันธุ์อาหารต่างๆ จึงออกแบบมาเพื่อเอาใจตลาดมากกว่าผู้บริโภค แต่คำว่าตลาดกับผู้บริโภคในที่นี้ก็คนละอย่างกันนะ ตลาดในที่นี้หมายความว่า หนึ่ง ส่งไปขายในที่ไกลๆ คือเก็บไว้นานๆ ได้ อย่างมะเขือเทศพื้นบ้านจะอร่อย แต่ปัญหาคือน้ำเยอะ นิ่ม เก็บนานไม่ได้ส่งไปขายไกลไม่ได้ ฉะนั้น เขาจึงพัฒนาพันธุ์ใหม่ที่เหนียวขึ้น หยาบขึ้น สีแดงแต่ยังไม่สุก เหมือนมะละกอบางพันธุ์ สีเหลืองแต่ยังไม่สุก แต่เก็บได้นาน ส่งไปขายไกลๆ ได้ นี่คือเขาพัฒนาไปเพื่อตลาดอย่างเดียวอาจจะไม่ได้มองเรื่องรสชาติหรือคุณค่าด้วยซ้ำไป นักวิชาการที่มายืนยันคุณค่าทางอาหารก็ทำงานให้บริษัท ฉะนั้นเราก็เชื่อไม่ได้เลยว่า อาหารที่เรากินอยู่มีคุณค่ามากแค่ไหน ถ้าทุกอย่างดีจริง ทำไมเราถึงเจ็บป่วยกันมากขึ้น ทำไมคนรวยถึงเป็นโรคขาดสารอาหารได้ มันเกิดอะไรกันขึ้น เราสังเกตุเรื่องพวกนี้ได้ง่ายๆ ไม่ต้องใช้วิชาการไม่ต้องใช้เคมีอะไรมาทดสอบ..."

 

โจน กล่าวว่า ปัจจุบันพืชผักที่วางขายในซุปเปอร์มาเก็ตแม้จะขนาดใหญ่สีสันสวยงามแต่กลับมีรสจืด ขณะที่พืชผักพื้นบ้านแม้จะมีขนาดเล็ก แต่กลับมีรสจัดซึ่งรสชาติที่เข้มข้นก็เป็นตัวบอกถึงปริมาณสารอาหารด้วย แต่ไม่มีใครพูดถึงสิ่งเหล่านี้ เมื่อย้อนดูถึงพืชพันธุ์พื้นบ้าน ก็จะเห็นว่า นี่คือมรดกของบรรพบุรุษเราที่ได้คัดเลือกมาอย่างดีแล้ว ว่าแข็งแรงทนทานมีคุณค่าทางอาหารสูง ทว่า ปัจจุบันพวกเรากลับหลงลืม ละเลย ทำลายทิ้ง

 

"...ปัจจุบันนี้บริษัทและรัฐบาลทั้งหลายกำลังพัฒนาพันธุ์ที่แย่ลงๆ จนพันธุ์เหล่านี้อยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีปุ๋ยไม่มีสารเคมี แย่แค่ไหน ตอนนี้เรากำลังจะส่งมอบมรดกที่เลวทรามที่สุดสู่ลูกหลานของเรา เราเป็นมนุษย์ที่เนรคุณอย่างยิ่งเลย ในสมัยนี้ เพราะว่าเราไม่มีอะไรดีๆ ให้ลูกหลายเลย นอกจากพันธุ์ไม่ดีแล้วยังมีหนี้สินให้ลูกหลานอีกต่างหาก ไม่มีอะไรดีเลย แล้วเราจะเกิดมาทำไมกัน นี่เป็นเรื่องที่น่าคิดมาก ดูแล้วมีพันธุ์ไหนที่มันจะยั่งยืนมั่งในตลาด ไม่มีเลย  ผมคิดว่าชีวิตมนุษย์มันอยู่ในภาวะวิกฤติแล้ว เพราะว่าเราทำลายอาหารของเราเอง จนจะไม่มีอะไรเหลือแล้ว มันถึงเวลาที่เราควรจะลุกขึ้นมาแล้วก็ทำอะไรร่วมกันเพื่อให้มันอยู่รอด..."

 

อย่างไรก็ตาม โจนกล่าวว่า เราควรจะช่วยกันคิด ร่วมกันรับรู้ว่า สังคมกำลังอยู่ในภาวะวิกฤติ ภาวะที่คนกลายเป็นทาสของงานโดยไม่รู้สึกตัว ทั้งที่จริงๆ แล้วชีวิตคนเรามีเสรีภาพ มีความงดงามและมีความยิ่งใหญ่กว่าที่เราเห็นและเป็นอยู่มากมายนัก

 

 

จะใช้ชีวิตอย่างไรให้มีความสุข คือคำถามสำคัญของมนุษย์ทุกคน คนส่วนใหญ่ในสังคมมักจะให้ความสำคัญกับค่านิยมบางอย่าง และยึดติดว่านั่นคือความจริง มีเพียงส่วนน้อยที่มองเห็นและให้ความสำคัญกับ "อาหาร" ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานที่สุดของชีวิต

 

การตระหนักถึงอาหาร การได้มาซึ่งอาหารที่มีคุณค่าปราศจากสารพิษ ไปจนถึงการเสาะแสวงหา หรือการลงมือผลิตเอง อาจเป็นหนทางเดียวที่มนุษย์จะคืนกลับสู่จิตสำนึกดั้งเดิมที่ถูกหลงลืม การเปลี่ยนวิธีคิด ยอมรับและตระหนักรู้ถึงชีวิตที่ต้องพึ่งพาธรรมชาติตลอดไป ย่อมจะทำให้เราหันกลับมามองถึงคุณค่าที่แท้จริงของตัวเราและสรรพชีวิต

 

เพราะไม่ว่าจะเป็นปัจจุบันหรืออนาคต มนุษย์ย่อมเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ไม่มีทางแยกออกห่างได้ การดำเนินตามวิถีของธรรมชาติ ย่อมเป็นวิถีแห่งความอยู่รอดของมนุษย์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท