บทวิเคราะห์ : "พม่า" เรื่องกลืนไม่เข้าคายไม่ออกของอาเซียน


(จากซ้าย) นายกรัฐมนตรีจากประเทศ 'มุ้งเล็กอาเซียน' นายโซ วิน จากพม่า นายฟาน วัน ข่าย จากเวียดนาม นายฮุน เซน จากกัมพูชา และนายบุนยัง วอละจิต จากลาว ถ่ายภาพร่วมกันในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 11 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ในขณะที่หัวข้อหลักของการประชุมปรึกษาหารือ ก็คือประเด็นเกี่ยวกับเหตุการณ์ภายในพม่า
(ภาพจาก www.manager.co.th)

การประชุมสุดยอมผู้นำอาเซียน หรือ ASEAN Summit ครั้งที่ 11 ที่ประเทศมาเลเซียระหว่างวันที่ 12-13 ธันวาคมนี้ เป็นการลัดคิวในการเป็นเจ้าภาพของมาเลเซียแทนที่ประเทศสหภาพพม่า เนื่องจากต้องการลดผลกระทบจากแรงกดดันที่จะเกิดขึ้นจากประชาคมโลก โดยที่ทางพม่าเองได้ออกมายินยอมประกาศตัวว่าขอสละตำแหน่งประธานในคราวนี้


 

มีเรื่องที่ชวนให้ติดตามต่อไปก็คือ แล้วพม่าจะมีโอกาสได้เป็นประธานอีกหรือไม่ และเมื่อไร และอาเซียนจะวางเงื่อนไขใดๆหรือไม่เพื่อที่จะทำให้ประเทศสมาชิกทุกประเทศยอมรับพม่าได้อย่างสนิทใจ หรืออย่างน้อยก็สามารถตอบคำถามกับนานาชาติได้ในกรณีว่า ทำไมอาเซียนถึงยอมรับพม่าเข้ามาเป็นสมาชิก หรือยอมให้เป็นประธานในกรณีที่รอบการการเป็นประธานเวียนมาถึง

 

อันเนื่องมาจากความกดดันจากภายนอกที่มีต่ออาเซียนในกรณีของพม่ามาตลอด และล่าสุดในการประชุมที่ลาวเมื่อกลางปีที่ผ่านมานี้ ทั้งสหรัฐฯอเมริกาและสหภาพยุโรปต่างก็ตั้งคำถามกับอาเซียนถึงความพยายามที่จะทำให้เกิดการปฎิรูประบอบประชาธิปไตยในพม่า รวมทั้งมีท่าทีที่จะบอยคอตอาเซียน หากยังคงให้โอกาสพม่าในการเป็นประธานจัดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่จะเกิดขึ้นในครั้งนี้

 

จนในที่สุดเพื่อช่วยบรรเทาความตึงเครียดของเหตุการณ์ และเพื่อตอบแทนที่อาเซียนได้รักษาให้กับพม่าโดยที่ไม่บีบพม่าตรงๆ พม่าจึงได้ออกมาประกาศถอนตัวจากการเป็นประธานการจัดการประชุมในครั้งนี้ดังกล่าว

 

เป็นที่น่าสังเกตอยู่ว่าในการประชุมคราวนี้ มีความพยายามที่จะทำให้เกิดความก้าวหน้าอยู่บ้างต่อกรณีของความพยายามในการปฎิรูปกระบวนสร้างสรรค์การประชาธิปไตยในพม่า โดยนายกรัฐมนตรี อับดุลเลาะห์ อาหมัด บัดดาวี ของมาเลเซียในฐานะของประธานได้ออกมาออกมาพูดต่อสาธารณะว่า "พม่าจะต้องเปิดใจยอมรับในทูตอาเซียนเข้าไปตรวจสอบกระบวนการสร้างประชาธิปไตยในพม่า" หรือมีการจัดทีมตัวแทนเข้าไปเจรจากับพม่าเรื่องการปล่อยตัวนางอองซาน ซูจี

 

การที่มาเลเซียได้แสดงเจตจำนงเรียกร้องออกมาเช่นนี้ นับเป็นครั้งแรกที่ตัวแทนอาเซียนกล้าร้องขอกับพม่าออกมาตรงๆ โดยมีเหตุผลสำคัญอยู่สองประการก็คือ ประการแรกเพื่อการที่จะตอบคำถามกับประชาคมโลกว่า เมื่อพม่ายอมที่จะไม่เป็นเจ้าภาพแล้ว จะมีอะไรเกิดขึ้นต่อไปหรือ?

 

คำตอบก็คือ อาเซียนจะขอส่งตัวแทนเข้าไปติดตามความคืบหน้ากระบวนการการปฏิรูปประชาธิปไตยในพม่า

 

ประการที่สอง มาเลเซียจำเป็นที่จะต้องแสดงบทนี้เพราะ เป็นผู้ที่ได้นำหรือสนับสนุนอย่างสุดตัวที่จะให้พม่าเข้ามาสู่ความสมาชิกอาเซียนและเป็นผู้รับรองมาตั้งแต่ต้น ดังนั้นจึงเป็นอีกวาระหนึ่งที่มาเลเซียจะได้แสดงกับสมาชิกว่า ไม่ได้นิ่งดูดายเมื่อปัญหาเกิดขึ้น และก็เป็นโอกาสการนำอาเซียนของมาเลเซีย

 

สิ่งที่ดูคืบหน้ามากขึ้นไปอีกในครั้งนี้ก็คือ การที่รัฐมนตรีต่างประเทศพม่าได้อกมาบอกว่า จะยินยอมให้ทูตอาเซียนเข้าไปติดตามการดำเนินการเรื่องประชาธิปไตยได้ ซึ่งย่อมคลายบรรยากาศการตึงเครียดของการประชุมลงไปได้มาก และจะช่วยให้การประชุมเรื่องอื่นๆ นั้นดำเนินการไปได้ดีขึ้น เพราะไม่ต้องคอยพะวักพะวงกับการตอบคำถามว่า เรื่องพม่าจะทำอย่างไร อย่างน้อยก็มีให้หนึ่งคำตอบแล้ว

 

อย่างไรก็ตาม แม้ยังจะยังไม่ได้ข้อสรุปว่า ที่สุดแล้วจะมีตัวเทนจากทุกประเทศไปกันเป็นกลุ่ม หรือจะเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซียซึ่งเป็นเจ้าภาพปัจจุบัน หรือจะเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศฟิลิปปินส์ที่จะเป็นเจ้าภาพครั้งต่อไป แต่ท่าทีของพม่านั้นดูจะส่งสัญญาณต้อนรับรัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซียมากที่สุด เพราะอย่างน้อยก็ดูน่าจะเข้าใจและมีท่าทีที่เป็นมิตรกับพม่ามากที่สุด

 

กระนั้น แม้จะมีการพูดคุยกรณีเรื่องพม่าทุกครั้ง และครั้งนี้อาจจะมีความก้าวหน้าอยู่บ้าง ทว่า อาเซียนยังไม่เคยที่จะมีความกล้าหาญที่จะนำเรื่องพม่ามาพูดคุยบนโต๊ะเจรจาเลย และสิ่งที่ตกลงกันได้นั้นล้วนแล้วแต่เป็นการคุยกันนอกรอบ หรือแบบไม่เป็นทางการทั้งสิ้น อย่างเช่น ในห้องน้ำ หรือบนโต๊ะอาหาร หรือช่วงพักผ่อน อย่างเช่น กรณีที่พม่า บอกถอนตัว ผู้ที่รู้เป็นคนแรกก็เป็นรัฐมนตรีสิงคโปร์ที่ห้องน้ำ

 

ในครั้งนี้เองก็เช่นกัน ที่การกล่าวยอมรับที่จะให้ตัวแทนจากกลุ่มประเทศอาเซียนเข้าไปติดตามการปฏิรูประบอบประชาธิปไตยในพม่าก็เกิดจากการพูดคุยนอกรอบเช่นกัน และยังมีการหาเวลาพิเศษจัดกลุ่มนายกรัฐมนตรีกลุ่มละ 3 ประเทศไปเจรจากับนายกรัฐมนตรีพม่า

 

ประเด็นพม่าไม่เคยได้ถูกบรรจุไว้ในวาระของการประชุมหรือการเจรจาอย่างเป็นทางการเลย และคาดว่าคงจะไม่มีการนำมาบรรจุเป็นวาระอย่างเป็นทางการอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ ทั้งนี้ เนื่องจากไม่เพียงแต่ที่กลุ่มอาเซียนอ้างว่าเป็นนโยบบาย ไม่ก้าวก่ายกิจการภายใน หรือ non -interference เท่านั้น แต่ยังเนื่องมาจาก ทางกลุ่มประเทศอาเซียนในแต่ละประเทศก็มีปัญหาของตนเอง และเกรงว่าอาจถูกตั้งคำถามกลับได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

 

มีเรื่องที่น่าติดตามอีกประเด็นหนึ่งในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนคราวนี้ก็คือ แนวคิดเรื่องการมีกฎบัตรหรือธรรมนูญอาเซียน ที่จะได้มีการให้ลงนามรับรองกันในหมู่สมาชิก โดยเน้นที่จะให้แต่ละประเทศพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศ และโดยกล่าวว่าหากประเทศสมาชิกละเมิดธรรมนูญแล้ว บทลงโทษอาจถึงขั้นขับออกจากการเป็นสมาชิกอาเซียน

 

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้จะเกิดขึ้นได้คงจะต้องใช้เวลาอีกนาน เพราะในชั้นข้อสรุปของการประชุมในครั้งนี้จะเป็นเพียงการลงนามเพื่อที่จะยอมรับให้มีคณะทำงานเท่านั้น และคณะดังกล่าวก็จะทำการศึกษา ซึ่งไม่แน่นักว่าจะใช้เวลายาวนานขนาดไหน ดังนั้น หากมีการมองว่า กฎบัตรนี้ จะเป็นเครื่องมือบีบพม่า ให้ต้องดำเนินการเพื่อปฎิรูประบอบประชาธิปไตยเร็วขึ้นนั้น ก็คงไม่แน่ หรืออาจต้องใช้เวลานานมาก

 

กลับมาประเด็นที่ว่า จะให้มีผู้แทนจากอาเซียนเข้าไปติดตามตรวจสอบการการดำเนินเพื่อปฏิรูประบอบประชาธิปไตยนั้น หากพบว่าพม่าไม่มีปฎิบัติการใดๆ ต่อเรื่องนี้เลย จะจัดการอย่างไรกับพม่า แต่ถ้าจะพูดถึงความก้าวหน้าแล้ว โอกาสที่จะเปิดให้กับพม่าเข้ามาเป็นประธานจะอยู่ที่ไหน

 

การปล่อยตัวอองซาน ซูจี จะพอหรือไม่ หรือการร่างรัฐธรรมนูญที่มีเฉพาะพรรคฝ่ายรัฐบาลโดยไม่มีฝ่ายค้านมาร่วมด้วยดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบันจะเป็นที่ยอมรับได้หรือไม่ และต่อให้พม่ามีการเลือกตั้งใหม่ แต่การเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญที่ร่างโดยฝ่ายรัฐบาลฝ่ายเดียวจะชอบธรรมหรือไม่

 

โดยธรรมเนียมปฎิบัติของอาเซียน ในเรื่องของ non-interference และ การพยายามรักษาหน้ากันตามวิธีที่อาเซียนเลือกใช้มาโดยตลอด คาดว่า สุดท้ายเรื่องของพม่าก็คงจะ ต้องเป็นประเด็นพูดคุยทุกครั้งของการประชุมอาเซียน และอาเซียนก็จะต้องคอยตอบคำถามกับชาวโลกในเรื่องของพม่า ซึ่งเป็นปัญหาที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกของอาเซียนต่อไปอีกนาน

 

อนึ่ง พม่าเข้าเป็นสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน ตั้งแต่ปี 1997 โดยเชื่อว่า การยอมรับพม่าเข้าเป็นสมาชิกนั้นจะสามารถช่วยให้พม่าหันมาปฎิรูประบอบประชาธิปไตยในประเทศได้เร็วขึ้น ทว่า นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาสถานการณ์ในประเทศพม่าก็ยังคงย่ำอยู่กับที่ และพม่าก็ไม่เคยแสดงให้เห็นว่ามีความพยายามใดๆ ที่จะที่จะทำให้เกิดประชาธิปไตยในประเทศที่แท้จริง เพียงอ้างอยู่ตลอดเวลาว่า กำลังอยู่ระหว่างการร่างรัฐธรรมนูญอยู่เท่านั้น โดยที่มีข่าวเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนออกมาอยู่ตลอดเวลา

 

 

กลับหน้าแรกประชาไท

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท