Skip to main content
sharethis

ชาวสิงหลในกรุงโคลัมโบออกมาฉลองชัยชนะหลังรัฐบาลประกาศชัยเหนือกลุ่มกบฏพยัคฆ์ทมิฬ

ภาพจาก www.bbc.co.uk และ www.timesonline.co.uk

 

ผู้สนับสนุนกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬ (LTTE) ถูกตำรวจตั้งแนวสกัด ระหว่างพวกเขาเดินขบวนประท้วงรัฐบาลศรีลังกาไปยังรัฐสภาอังกฤษ กรุงลอนดอน เมื่อ 18 พ.ค. (ที่มา: AP/Daylife.com)

 

ผู้ประท้วงชาวทมิฬตะโกนคำขวัญต่อต้านรัฐบาลศรีลังกาภายนอกทำเนียบขาว กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา เมื่อ 18 พ.ค. โดยผู้ประท้วงยังไม่เชื่อตามที่รัฐบาลศรีลังกาประกาศว่านายเวฬุพิลไล ประภาการัน ผู้นำกลุ่ม LTTE ถูกสังหาร โดยผู้ประท้วงยังคงเชื่อว่าเป็นการ โฆษณาชวนเชื่อ (ที่มา: AP/Daylife.com)

 

วัน อาทิตย์ที่ผ่านมา ข่าวที่ถูกนำเสนอตามสื่อต่างๆ เกี่ยวกับศรีลังกาคือภาพประชาชนชาวสิงหลออกมาโห่ร้องแสดงความยินดีที่การ ต่อสู้ระหว่างรัฐบาลและกลุ่มกลุ่มกบฏพยัคฆ์ทมิฬอีแลมยุติลงแล้ว และชัยชนะเป็นของรัฐบาลศรีลังกา

 “นี่ คือชัยชนะของประธานาธิบดีของเรา” บันฑุลา คนขับรถชาวสิงหลผู้อาศัยอยู่ในเมืองหลวง โคลัมโบกล่าวกับไทมส์ออนไลน์ “สงครามสิ้นสุด เราสามารถมองไปข้างหน้าสำหรับชีวิตที่ดีกว่า ความมั่นคงที่ดีขึ้น และเศรษฐกิจที่พัฒนาขึ้น”

อย่างไรก็ตาม บางคนก็ไม่ได้มั่นใจเช่นนั้น มาริสาสาวออฟฟิศ วัย 27 ปี กล่าวกับไทม์ว่า”เพื่อนของฉันบางคนก็เชื่อว่ามันแย่มากที่ทำการบดขยี้กลุ่ม ผู้ก่อการร้ายเช่นนั้น และฉันไม่รู้สึกดีใจในเมื่อเกิดการนองเลือดอย่างมากมาย”

การ ต่อสู้อันยืดเยื้อยาวนานจะสิ้นสุดลงได้จริงหรือไม่ ยังไม่มีใครยืนยันได้ และภายใต้ความสงบราบคาบที่น่ายินดีปรีดาของฝ่ายรัฐบาลนั้น มีความตายของประชาชนชาวทมิฬจำนวนราว 25,000 คน เป็นค่าใช้จ่าย ยังไม่นับชาวทมิฬที่ไร้ที่อยู่อาศัยอีกจำนวนนับแสนคน

มูลเหตุแห่งความขัดแย้ง สงครามที่ยืดเยื้อ

ชาว สิงหลจากอินเดียตอนใต้เข้ามาตั้งรกรากที่ประเทศศรีลังกา ในปลายศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสตกาล ส่วนศาสนาพุทธได้เริ่มเผยแผ่ในศรีลังกาเมื่อกลางศตวรรษที่ 3 ก่อนคริสตกาล สำหรับอารยธรรมในดินแดนนี้ได้ถือกำเนิดเป็นเมือง (เมื่อราว 200 ปีก่อนคริสตกาล ถึงคริสตศักราชที่ 1000) และเมื่อคริสตศตวรรษที่ 14 ราชวงศ์หนึ่งทางอินเดียตอนใต้ได้ยึดอำนาจในบริเวณตอนเหนือของเกาะ และได้ก่อตั้งราชอาณาจักรทมิฬ ต่อมาศรีลังกาถูกยึดครองโดยโปรตุเกสในคริสตศตวรรษที่ 16 และถูกยึดครองโดยดัตช์ในคริสตศตวรรษที่ 17 ในที่สุดก็ตกอยู่ภายใต้อำนาจของอังกฤษอย่างสิ้นเชิงในปี ค.ศ.1815 ศรีลังกาได้รับเอกราชเมื่อปี ค.ศ.1948 และได้เปลี่ยนชื่อจาก Ceylon เป็นศรีลังกาเมื่อปี ค.ศ.1972

ความ ขัดแย้งระหว่างชาวสิงหลซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่กับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนชาวทมิฬได้ ปะทุขึ้นเป็นสงครามเมื่อปี ค.ศ.1983 เนื่องจากชาวทมิฬต้องการปกครองตนเอง ทำให้ประชาชนหลายพันคนเสียชีวิต เนื่องมาจากการปะทะกันระหว่างสองกลุ่มนี้ การต่อสู้ได้ดำเนินมาถึง 2 ทศวรรษ ต่อมารัฐบาลและกบฎพยัคฆ์ทมิฬอีแลม (Liberation Tigers of Tamil Eelam, LTTE) ได้บรรลุข้อตกลงหยุดยิงในเดือนกุมภาพันธ์ ปี ค.ศ.2002 โดยนอร์เวย์เป็นตัวกลางในการเจรจา

ศรี ลังกามีปัญหาความขัดแย้งทางเชื้อชาติระหว่างชาวสิงหลและชาวทมิฬมาเป็นเวลา นับศตวรรษ โดยชาวทมิฬต้องการที่จะแยกดินแดนทางภาคเหนือและตะวันออกของประเทศตั้งเป็น มาตุภูมิทมิฬ จึงได้ก่อตั้งกลุ่ม LTTE เพื่อ เป็นกองกำลังในการต่อสู้กับรัฐบาล โดยใช้วิธีการก่อการร้าย ระเบิดพลีชีพ และการลอบสังหาร โดยพุ่งเป้าไปที่หน่วยทหาร ผู้นำทางการเมือง และเจ้าหน้าที่ทางการท้องถิ่นชาวสิงหล ได้มีการลงนามความตกลงหยุดยิงเมื่อปี ๒๕๔๕ โดยนอร์เวย์เป็นผู้ไกล่เกลี่ย และได้เจรจาสันติภาพมาแล้ว ๘ ครั้ง (ครั้งที่ ๘ จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๒๘ - ๒๙ ตุลาคม ๒๕๔๙ ที่นครเจนีวา โดยไม่ปรากฏผลที่สำคัญใดๆ) การเจรจาจัดขึ้นที่ไทย ๓ ครั้ง (กันยายน/ตุลาคม ๒๕๔๕ และมกราคม ๒๕๔๖) อย่างไรก็ตาม การเจรจาไม่มีความก้าวหน้า หยุดชะงักเป็นช่วงๆ อุปสรรคสำคัญของการเจรจา คือ ขาดความไว้วางใจซึ่งกันและกัน และความจริงใจที่จะยุติปัญหาอย่างถาวร

ประธานาธิบดี Rajapaksa ได้จัดตั้งคณะกรรมการ All Party Representative Committee (APRC) ประกอบด้วย สมาชิกจากพรรคการเมืองจำนวน ๑๔ พรรค เพื่อพิจารณารูปแบบการจัดสรรอำนาจบางส่วนแก่กลุ่ม LTTE โดยล่าสุด เมื่อเดือนมกราคม ๒๕๕๑ รัฐบาลศรีลังกาเผยแพร่ข้อเสนอแนะของ APRC ต่อ ประธานาธิบดีเกี่ยวกับมาตรการกระจายอำนาจสู่การปกครองท้องถิ่น โดยเฉพาะในทางภาคเหนือและภาคตะวันออก (ซึ่งทั้งสองภาคเป็นพื้นที่ควบคุมของ LTTE) มาตรการการส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของชาวทมิฬ (การส่งเสริมการใช้ภาษาทมิฬในระบบราชการ) เป็นต้น ซึ่งรัฐบาลได้เริ่มมีการนำไปปฏิบัติแล้ว

สถานการณ์ ความขัดแย้งได้ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นภายหลังรัฐบาลศรีลังกาประกาศยกเลิก ข้อตกลงหยุดยิงเมื่อวันที่ ๒ มกราคม ๒๕๕๑ เช่น กลุ่ม LTTE ลอบสังหารเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาล อาทิการสังหารนาย D.M. Dassanayake รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการสร้างชาติ เมื่อวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๕๑ และนาย J. Fernandopulle รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงทางหลวงและการพัฒนาถนน เมื่อวันที่ ๖ เมษายน ๒๕๕๑ การวางระเบิดในบริเวณชุมชนใจกลางกรุงโคลัมโบบ่อยครั้งขึ้น ทั้งที่สถานีรถไฟ สวนสัตว์ รถประจำทาง และห้างสรรพสินค้า

เมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๐ รัฐบาลสามารถยึดเมือง Thoppigala (ห่างจากกรุงโคลัมโบประมาณ ๓๒๐ กม ทางทิศตะวันออก) ซึ่งเป็นฐานที่มั่นสุดท้ายของ LTTE ใน เขตภาคตะวันออกของประเทศได้ และเมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๕๑ รัฐบาลสามารถจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นในภาคตะวันออกของประเทศได้สำเร็จ โดย United People’s Freedom Alliance (UPFA) ซึ่งเป็นกลุ่มพรรครัฐบาลผสมภายใต้การนำของพรรค SLFP ของประธานาธิบดีได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้น โดยได้รับ ๒๐ ที่นั่งจากทั้งหมด ๓๗ ที่นั่ง และรัฐบาลพยายามช่วงชิงโอกาสที่กลุ่ม LTTE กำลังอยู่ในสถานะเสียเปรียบ ใช้กำลังเข้าปราบปราม LTTE ให้ราบคาบในเขตภาคเหนือ หลังจากสามารถยึดภาคตะวันออกคืนได้สำเร็จแล้ว

หมายเหตุ

ข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศ http://www.mfa.go.th/web/2386.php?id=233

 

 

สภาพประชาชนชาวทมิฬภายหลังจากโจมตีของทางการเมื่อวันที่ 12 พ.ค. โดยสถานที่ที่ถูกโจมตีคือโรงพยาบาลซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับโรงเรียน การโจมตีครั้งนั้นส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 47 คน

ชาวทมิฬบางส่วนหลบอยู่ในหลุมหลบภัย

สภาพผู้บาดเจ็บเสียชีวิตจากเหตุการณ์โจมตีโรงพยาบาลโดยทหารฝ่ายรัฐบาลเมื่อวันที่ 12 พ.ค.
ภาพจาก www.lankasrinews.com

ความเป็นมนุษย์ที่ถูกพราก

ผล ของความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างกลุ่มกลุ่มกบฏ และรัฐบาล และการต่อสู้ที่ยาวนาน ทำให้ชาวทมิฬแปรสภาพเป็นผู้อพยพทั้งผู้อพยพภายในประเทศและผู้อพยพระหว่าง ประเทศซึ่งยังไม่สามารถยืนยันจำนวนได้

รายงานขององค์กร Human Rights Watch ระบุว่า ชาวทมิฬ กว่า 240,000 คน ต้องกลายเป็นผู้ไร้ที่อยู่อาศัย

อย่างไร ก็ตาม ไม่เพียงชาวทมิฬเท่านั้นที่เป็นเป้าหมายของทางการ หากแต่ชาวสิงหลที่เป็นนักสิทธิมนุษยชน นักกฎหมาย หรือสื่อมวลชน ก็เป็นเป้าหมายด้วย ทั้งในรูปแบบของการทำให้หายตัว ทำร้ายร่างการ หรือการจับกุมคุมขัง

ความ รุนแรงที่เกิดขึ้นได้ผลักดันให้ผู้ที่มีทางเลือกในการออกจากประเทศไปในฐานะ แรงงานข้ามชาติเดินทางออกไปยังต่างประเทศอีกเป็นจำนวนมาก รายงานประจำปี 2009 ขององค์กรสิทธิมนุษยชน Human Rights  Watch ระบุว่าผู้หญิงศรีลังกากว่า 710,000 คน เดินทางออกนอกประเทศในฐานะแรงงานข้ามชาติ กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ มีเป้าหมายอยู่ที่ตะวันออกกลาง ได้แก่ ซาอุดิ อาระเบีย คูเวต เลบานอน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ผู้หญิงหลายๆ คนที่ทำหน้าที่เป็นคนงานในบ้านต้องเผชิญกับการถูกละเมิด ประสบกับปัญหาชั่วโมงทำงานที่ยาวนาน ไม่มีวันหยุดและกักบริเวณ การล่วงละเมิดทางเพศและการละเมิดร่างกาย รวมถึงการละเมิดแรงงานในรูปแบบอื่นๆ

รูฟิโน แอล ซีวา ผู้จัดการโครงการ จากศูนย์ผู้อพยพกรุงเทพฯ (Bangkok Refugee Center – BRC) กล่าวว่า เท่าที่ทำงานมา 11 ปี พบว่ามีแนวโน้มว่าคนศรีลังกาจะเดินทางมาประเทศไทยมากขึ้นเรื่อยๆ

เพราะ ว่าการเดินทางมาประเทศไทยไม่ต้องการทำวีซ่า เพียงแค่ขอวีซ่านักท่องเที่ยวซึ่งดำเนินการได้ค่อนข้างง่ายเมื่อเทียบกับประ เทศอื่นๆ ขณะนี้มีผู้อพยพในสถานะผิดกฎหมายอยู่ราวๆ 3,000 คน

เริ่มต้นอย่างนักท่องเที่ยว และลงท้ายด้วยการอยู่อย่างผิดกฎหมาย มีเพียงส่วนน้อยที่ได้ทำงานกับนักธุรกิจชาวศรีลังกา  แต่ อีกจำนวนหนึ่งก็ไม่สามารถหางานได้ สำหรับชาวทมิฬที่เดินทางไปยัง กัวลาลัมโปร์ มาเลเซีย ซึ่งเป็นอีกเป้าหมายหนึ่งสำหรับลประเทศในเอเชียตะวันเฉียงใต้ซึ่ง ตั๋วเครื่องบินราคาถูก และง่ายต่อการขอวีซ่ากว่าตะวันออกกลางนั้น รูฟิโนกล่าวว่า ชาวทิฬจำนวนมากก็เผชิญกับการถูกเลือกปฏิบัติ บางส่วนเป็นผู้อพยพ บางส่วนก็เป็นแรงงาน

 

เสียงของผู้อพยพชาวทมิฬ “โปรดช่วยเหลือชาวทมิฬด้วย”

ตัวเลขจากกระทรวงการต่างประเทศเมื่อปี 2550 ระบุว่า มีนักท่องเที่ยวชาวศรีลังกาเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยจำนวน 44,239 คน ในจำนวนนี้ อย่างน้อย 2 คน เลือกที่จะไม่กลับไปอีก

ประชาไทได้พูดคุยกับผู้อพยพชาวทมิฬ ซึ่งเดินทางเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2550 (ขอสงวนชื่อจริงและภาพของเขาเพื่อความปลอดภัย) เขาเดินทางเข้าประเทศด้วยวีซ่านักท่องเที่ยว ซึ่งมีอายุไม่เกิน 6 เดือน ขณะนี้ สถานะของเขาคือผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย

เราได้พบกันในเช้าวันหนึ่ง รากาวัณ อายุ 30 ปี จบการศึกษาระดับวิทยาลัยทำงานในบริษัทด้านการแพทย์อยู่ราวๆ หกเดือน ก่อนที่จะตัดสินใจเดินทางมายังประเทศไทย

เขาอาศัยอยู่ในห้องพักในกรุงเทพฯ ซึ่ง BRC จัดการให้ เขาได้รับเงินช่วยเหลือเดือนละ 500 บาท จากองค์กรดังกล่าว ซึ่งแน่นอนว่านั่นไม่เพียงพอต่อการ เขาได้รับความช่วยเหลือทางการเงินเพิ่มเติมจากน้องสาวที่ลี้ภัยอยู่ในประเทศ แดนาดา...สิ่งนี้เกิดขึ้นเหมือนๆ กับชาวทมิฬอพยพคนอื่นๆ

ยัง มีความเหมือนกันของบรรดาชาวทมิฬผู้อพยพมาอย่างผิดกฎหมายคือ ได้รับความช่วยเหลือจากโบสถ์คริสต์ในประเทศ และเดินทางเข้าประเทศไทยโดยวีซ่านักท่องเที่ยว และเมื่อพ้น 6 เดือน ก็ไม่จำเป็นต้องทำอะไรอีก พวกเขาอยู่อย่างระมัดระวังตัว เพราะไม่อยากถูกจับได้ และแน่นอนว่าพวกเขาไม่ต้องการกลับไปยังประเทศศรีลังกาอีก

รากาวัณมีพี่สาว 3 คน พี่ชาย 1 คน และน้องชาย 1 คน พี่สาว 2 คนหลบหนีออกจากศรีลังกาและได้สถานะผู้อพยพในประเทศสวีเดน และคานาดา ก่อนหน้านี้ น้องสาวซึ่งแต่งงานและอาศัยอยู่ในสวีเดนสามารถส่งเงินเพื่อช่วยในการดำรง ชีวิตที่ปราศจากอาชีพในเมืองไทยได้ค่อนข้างสม่ำเสมอ แต่เมื่อปีที่ผ่านมาเธอหย่าร้างและเริ่มประสบปัญหาทางการเงินเช่นกัน จึงไม่สามารถส่งเงินมาช่วยเหลือได้มากอย่างแต่ก่อน

เขา เสียพี่ชายไปเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา เพราะถูกเจ้าหน้าที่ทหารของกองรัฐบาลศรีลังกาฆ่าตาย พ่อแม่ และน้องชาย ตัดสินใจลี้ภัยไปยังอินเดียหลังจากนั้น พวกเขาถูกคุกคามจากทางการเนื่องจากการจัดงานศพให้กับพี่ชายที่ตายไป

“ตำรวจ มาที่บ้านของเรา เพราะครอบครัวของผมจัดงานศพให้พี่ชาย ตำรวจมาสอบถาม และทำร้ายร่างกายน้องชายผม พวกเขาจึงหนีไปอินเดีย ผมไม่รู้ว่าพวกเขาอยู่ที่ไหนตอนนี้ ผมอยากติดต่อกับพวกเขา” เขาเอ่ยความปรารถนาแล้วก้มหน้าลงหลั่งน้ำตาเงียบๆ

“ผม เดินทางเข้ามาเมื่อสองปีก่อน ปีที่แล้วผมส่งจดหมายไปบอกให้แฟนของผมเดินทางตามมา เธอเป็นชาวทมิฬเหมือนกัน และเธอก็อยู่อย่างลำบากที่นั่น  เธอเดินทางตามมาในปีที่แล้ว เราแต่งงานกันที่นี่” การดำรงชีพของคนทั้งคู่พึ่งพิงเงินช่วยเหลือจากองค์กร 2 องค์กรคือ Jesuit Refugee ServiceJRS และ Bangkok Refugee Center - BRC นอกจากนี้ยังมีโบสถ์คาธอลิกแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ

ที่อยู่อาศัยซึ่งเขาพักพิงอยู่ขณะนี้เป็นห้องเช่าซึ่งทาง BRC เป็นผู้ติดต่อประสานให้ เขาเสียค่าเช่าห้องเดือนละ 1000 บ้าน และค่าน้ำค่าไฟอีกเล็กน้อย ในเดือนหนึ่งๆ เขามีค่าจ่ายเรื่องที่พักรวมแล้วราวๆ 1,200 บาท ในย่านเดียวกันนั้น มีชาวทมิฬอพยพในสถานะเช่นเดียวกับเขาอีกราว 7 ครอบครัว

ทำไมคุณถึงเลือกเดินทางมาเมืองไทย

ทันทีที่ผมตัดสินใจที่จะหนีออกจากศรีลังกา ผมก็ไปขอวีซ่าที่สถานทูตไทยในศรีลังกา

แต่ มันก็ยากที่จะดำรงชีวิตในประเทศไทย ทั้งเรื่องการหางาน และภาษา ทำไมคุณถึงไม่เลือกไปที่อื่นที่คุณอาจจะกลมกลืนได้มากกว่านี้ เช่นมาเลเซียที่มีชาวทมิฬอยู่ หรือประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษ

ขอวีซ่ามาประเทศไทยง่ายกว่า ไม่เช่นนั้นก็จะเสียเวลาในการของวีซ่านานมากสำหรับประเทศอื่นๆ

ตอนนี้เกิดอะไรขึ้นในศรีลังกา

ผม ไม่สามารถอธิบายสถานการณ์ เพราะว่ามันลำบากมากตอนนี้ ขณะนี้ในเขตต่อสู้ มีทมิฬจำนวนมากรวมถึงเด็กๆ ถูกฆ่าตายโดยกองทัพศรีลังกา พี่ชายของผมก็ถูกฆ่าตาย และอีกคนก็ไม่รู้อยู่ที่ไหน (ร้องไห้)

คุณติดต่อญาติได้ไหม

พี่ ชายของผมตายเพราะกองทัพศรีลังกา ผมไม่รู้ว่าพ่อผมอยู่ที่ไหนตอนนี้ แต่ผมอยากติดต่อเขาให้ได้ น้องชายของผมเดินทางมายังอินเดียพร้อมแม่และพ่อ แต่พี่ชายตายเพราะกองทัพศรีลังกา

เมื่อ พี่ชายของผมตาย เขามีการจัดพิธีศพ ทหารมาที่บ้านและมาถามรายละเอียด วันหนึ่ง เขามาถามรายละเอียดกับพี่ชายและต่อยเข้าที่ใบหน้า พวกเขารู้สึกถูกคุกคาม นั่นเป็นเหตุผลที่ครอบครัวอพยพไปอินเดีย เขารู้สึกไม่ปลอดภัย  เขาเพิ่งย้ายไปอินเดียกันเมื่อประมาณ 4 สัปดาห์ทีผ่านมา

คุณรู้ข่าวพวกเขาได้อย่างไร

ผ่าน พี่สาวที่อยู่แคนาดา ไม่สามารถติดต่อกันได้โดยตรง พี่สาวจะเป็นคนบอกข่าวทุกๆ อย่าง ตอนนี้น้องเขยคนหนึ่งก็ถูกฆ่าตายโดยกองทัพศรีลังกาเช่นกัน

แล้วพี่สาวล่ะ

อาศัยอยู่อีกที่หนึ่ง คือ พี่สาวคนหนึ่งอยู่ที่ศรีลังกา อีกคนหนึ่งอยู่สวีเดนและอีกคนอยู่แคนาดา

คุณหวังว่าวันหนึ่งจะกลับไปที่ศรีลังกาไหม หรือมีความหวังอย่างอื่นไหมเกี่ยวกับศรีลังกา

ผม ไม่ต้องการกลับไปที่ศรีลังกา เพราะตอนนี้ญาติๆ ของผมก็ออกจากที่นั้นซึ่งบางคนผมก็ไม่รู้ว่าไปอยู่ทีไหน ผมก็ถูกจับโดยกองทัพศรีลังกา 3 ครั้ง 2 ใน 3 ครั้งนั้นถูกขังคุกโดยไม่มีการแจ้งเหตุผล ผมถูกทำร้ายร่างกาย และไม่ให้อาหาร  เมื่อเอาเข้าคุก และผมถามเหตุผลที่ถูกจับกุม ก็ไม่ได้รับคำตอบ

คุณต้องการอะไรหรือหวังอะไรเกี่ยวกับศรีลังกาบ้างไหม เช่นอนาคตของศรีลังกา อยากเห็นมันเป็นอย่างไร

ผม อยากมีเสรีภาพในศรีลังกา ตั้งแต่ 1984 ครอบครัวผมอพยพไปถึงเขตที่เขาตั้งบ้านเรือน และมันก็เหมือนเดิม ขณะนี้ ผมคิดถึงญาติและทรัพย์สินที่มี ตอนนี้ชีวิตผมเป็นแบบนี้ คือ ไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับชีวิตของผม ผมเป็นคาธอลิก ทุกวันนี้ผมได้เงินจากโบสถ์คาธลิกแห่งหนึ่งให้เงินเดือนละห้าร้อยบาท รวมกับภรรยาอีกห้าร้อยบาทต่อเดือน

ตอน นี้ ทุกๆ สื่อ ที่นำเสนอข่าวเกี่ยวกับประเทศของเรารู้ และทุกคนรู้เป็นอย่างดีต่อปัญหาของพวกเรา แต่ผมไม่เข้าใจว่าทำไมพวกเขาจึงเงียบเฉย เวลานี้ เด็กๆ จำนวนมากตายเพราะระเบิด โดยเฉพาะในเดือนนี้ ผมไม่รู้ว่าทำไมพวกเขาจึงเงียบ คุณนึกออกไหม ผู้หญิงบางคนที่ตั้งท้อง ถูกระเบิดจนกระทั่งลูกไหลออกมา

คุณต้องการให้นานาชาติทำอะไรบ้าง

โปรดช่วยเหลือชาวทมิฬด้วย ตอนนี้ชาวทมิฬถูกฆ่าโดยชาวศรีลังกา สิ่งนี้ต้องถูกควบคุม

อยากบอกอะไรรัฐบาลไทยบ้าง

ผม อยากจะขอรัฐบาลไทยให้อนุญาตพวกเราได้อาศัยอยู่ที่นี่อย่างเปิดเผย (น้ำตาคลอทั้งคนพูดและคนแปล) ผมรู้สึกกลัวและเศร้ามาก เพราะผมไม่รู้วาญาติพี่น้องผมอยู่ที่ไหน พวกเขาไม่มีเสรีภาพและหวาดกลัว

BRC ช่วยอะไรอยู่บ้าง

ผมอยากได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นผู้อพยพแต่ผมก็ไม่รู้ว่า BRC ช่วยผมได้หรือเปล่า ก่อนหน้านี้ผมเคยขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้อพยพในศรีลังกา ซึ่งต้องขึ้นทะเบียนต่อUNHRC ผมถูกปฏิเสธการขึ้นทะเบียนมาแล้วครั้งหนึ่ง ผมส่งข้อมูลและเอกสารทั้งหมดแก่ UNHCR แล้ว แต่ไม่ได้รับการตอบรับในครั้งนั้น ผมก็ไม่เข้าใจว่าทำไม

ครั้ง สุดท้ายที่ถูกจับโดยกองทัพศรีลังกา และเอาตัวไปที่โบสถ์ และทหารศรีลังกาถามข้อมูลเกี่ยวกับผมจากหลวงพ่อประจำโบสถ์ แต่หลวงพ่อปฏิเสธว่าไม่รู้จักผม ที่สุดแล้ว ผมคิดว่า ชาวสิงหลต่างต้องการฆ่าคนทมิฬ

ตอนนี้คุณหวังจะได้สถานะผู้อพยพหรือ

ใช่ ถ้าเขาจะขึ้นทะเบียนผมเป็นผู้อพยพ ผมต้องการจะมีเสรีภาพ

คุณไม่มีลูกกับภรรยาหรือ

ไม่มี

แล้วอยากมีไหม

ไม่อยาก

ทำไม

ชีวิตผมเป็นอย่างนี้ ผมจะมีลูกได้อย่างไร

คาดหวังกับชีวิตต่อไปอย่างไร

ในชีวิตผม ผมหวังไปทีละขั้นๆ

มีปัญหาทางจิตใจอะไรบ้างไหม

ผมไม่รู้ผมมีปัญหาทางจิตใจไหม แต่ผมเศร้ามาก

ตลอด เวลาในการสัมภาษณ์รากาวัณ เราได้รับความช่วยเหลือจาก ทามิล ซึ่งรับหน้าที่เป็นล่ามแปลภาษาทมิฬเป็นภาษาอังกฤษ ทามิลเองก็อยู่ในสถานะผิดกฎหมายเช่นกัน เขาพูดภาษาอังกฤษในระดับสื่อสารได้ดี

ทามิล อายุ 33 ปีเดินทางมายังประเทศไทยในปี 2550 ทุกวันนี้เขาดำรงชีพด้วยการเป็นล่ามอิสระ รายได้ต่อเดือนไม่มากนัก แต่ก็ได้รับความช่วยเหลือจากญาติในคานาดา เขากล่าวว่า เมื่อศรีลังกาประกาศว่าควบคุมความขัดแย้งได้ สิ่งที่เกิดตามมาก็คือทมิฬไม่มีสิทธิ ไม่ได้รับสิทธิ และจากนั้นถูกฆ่าและใช้ความรุนแรง และรัฐบาลสิงหลไม่ต้องหารที่จะให้สิทธิอะไรกับชาวทมิฬ แม้แต่กับการศึกษา ถ้าอยากจะเรียนในมหาวิทยาลัย ชาวสิงหลสอบได้เพียงคะแนนแค่เจ็ดสิบเปอร์เซ็นต์ก็เข้ามหาวิทยาลัยได้ แต่ทมิฬต้องได้คะแนนแปดสิบเปอร์เซ็นต์จึงจะได้เรียน นี่ถูกต้องหรือเปล่า รัฐบาลสิงหลมอบแต่ความรุนแรงให้เรา และเลือกปฏิบัติ ทุกๆ วัน ชาวทมิฬถูกฆ่าตายโดยกองทัพศรีลังกา

“ผม อยากไปอยู่ประเทศที่สาม อย่างสวีเดน หรือแคนาดา ทุกวันนี้อยู่โดยมีญาติที่แคนาดาส่งเงินมาให้เมื่อเวลาที่มีปัญหาทางทางการ เงิน อยู่เมืองไทยผมรับจ้างเป็นล่ามอิสระ แต่รายได้ก็ไม่เพียงพอ อย่างไรก็ตามก็ต้องพยายามจัดการให้ได้”

อยู่เมืองไทยลำบากไหม

เมื่อเทียบกับศรีลังกาแล้ว อยู่ที่นี่สบายใจกว่า คุณคิดดูสิ ถ้าเกิดว่าคุณนั่งๆ อยู่แล้วคนที่คุณรู้จักก็ถูกระเบิดตายไปต่อหน้าต่อตา

ตอนนี้คุณมีความหวังอะไรบ้าง

ความ หวังตอนนี้อยากพบกับกษัตริย์ของไทย เชื่อว่ากษัตริย์ของไทยจะช่วยเหลือได้ เพราะกษัตริย์ไทยมีพระเมตตา และเคยอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง จำชื่อไม่ได้ระบุว่ากษัตริย์ไทยใจดี และคนไทยให้ความเคารพกษัตริย์มาก ผมคิดว่าประเทศไทยมีคนอยู่จำนวนมากแตกลับมีความสงบ ประเทศไทยจะดีแบบนี้ได้อย่างไรถ้ามีกษัตริย์ที่ไม่ดี

ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับประเทศศรีลังกาจากกระทรวงการต่างประเทศไทย

ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้ง เป็นเกาะในมหาสมุทรอินเดีย ห่างจากตอนใต้ของอินเดียประมาณ ๘๐ กิโลเมตร

พื้นที่ ๖๕,๖๑๐ ตารางกิโลเมตร

เมืองหลวง กรุงโคลัมโบ (Colombo)

ประชากร ๒๐.๙ ล้านคน (๒๕๕๐)

เชื้อชาติ ชาวสิงหล ร้อยละ ๗๔ ชาวทมิฬ ร้อยละ ๑๘ แขกมัวร์ (มุสลิมจากอินเดียและตะวันออกกลาง) ร้อยละ ๗ และอื่น ๆ ร้อยละ ๑

ภาษา ภาษาสิงหล (ภาษาราชการและภาษาประจำชาติ) ภาษาทมิฬ (เป็นภาษาประจำชาติเช่นกัน) และภาษาอังกฤษใช้ติดต่อสื่อสารทั่วไปในภาครัฐ

ศาสนา ศาสนาพุทธนิกายเถรวาท ร้อยละ ๗๐ ศาสนาฮินดู ร้อยละ ๑๕

ศาสนาคริสต์ ร้อยละ ๘ และศาสนาอิสลาม ร้อยละ ๗

หน่วยเงินตรา เงินรูปีศรีลังกา (Sri Lankan Rupee) อัตราแลกเปลี่ยน ๑ ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ ประมาณ ๑๐๘ รูปีศรีลังกา หรือ ๑ บาท ประมาณ ๓.๒ รูปีศรีลังกา

วันสำคัญ วันชาติ (Independence Day) วันที่ 4 กุมภาพันธ์

การศึกษา อัตราการรู้หนังสือโดยรวม ร้อยละ 92.3 (ปี2547) เพศชาย ร้อยละ 94.8 และเพศหญิง ร้อยละ 90

ประธานาธิบดี นายมาฮินดา ราชปักษา (Mahinda Rajapaksa) (๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ )

นายกรัฐมนตรี นายรัตนศิริ วิกรามานายากา (Ratanasiri Wickramanayaka)

รมว.กต. นายโรหิทา โบโกลลากามา (Hon. Rohitha Bogollagama)

http://www.mfa.go.th/web/2386.php?id=233

 

 

อ้างอิง

25,000 civilians injured to death while IC watches: Soosai

http://www.lankasrinews.com/view.php?2bIOoMe0dHlYo0ecBB4I3a4f5Ae4d3cYd3cc2AmT3d434OX3a030Mm2e

Human Rights Watch World Report 2009

http://www.hrw.org/en/node/79245

Sri Lanka army 'in final stage'

http://news.bbc.co.uk/2/hi/south_asia/8051206.stm

Sri Lanka rebel head 'surrounded'

http://news.bbc.co.uk/2/hi/south_asia/8054963.stm

Tamil Tigers admit defeat after battle reaches 'bitter end'

http://www.timesonline.co.uk/tol/news/world/asia/article6305401.ece

ข้อมูลกระทรวงการต่างประเทศ: สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา

http://www.mfa.go.th/web/2386.php?id=233

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net