Skip to main content
sharethis

"พี่ช่วยนาด้วย นาไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร” เสียงตื่นตระหนกของฐิติมา ท่าค้อ รัวผ่านสายโทรศัพท์มายังปลายสายอีกด้านในเช้าวันที่ 12 พฤษภาคม
“เกิดอะไรขึ้น”
“เมื่อ 5 วันที่แล้ว นุ้ยถูกย้ายไปอยู่แดน 7 แล้วผู้ต้องขังด้วยกันบังคับให้เขาสักลาย ในนั้นมีกันตั้ง 37 คน ในห้องๆ เดียว นุ้ยกลัวมาก เขาไม่ยอมสัก เขาบอกนาว่าถ้าเขาถูกสักเมื่อไหร่เขาจะฆ่าตัวตาย ให้ล้างบ้านรอไว้เลย” ฐิติมา เล่าอย่างร้อนรนถึงสถานการณ์ล่าสุดของสามี-สุวิชา ท่าค้อ จำเลยคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพซึ่งถูกศาลตัดสินจำคุกเป็นเวลา  10 ปี ด้วยความผิดจากการโพสต์ข้อความลงในอินเตอร์เน็ตผ่านนามแฝง 2 ชื่อ
000

การ เข้าเยี่ยมผู้ต้องหาที่ถูกพิพากษาแล้วมีกระบวนการรัดกุมกว่าเดิม สุวิชาย้ายจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นสถานที่กักขังผู้ต้องหาซึ่งยังไม่ถูกศาลตัดสิน มาอยู่ที่เรือนจำกลางคลองเปรม ซึ่งเป็นสถานที่คุมขังผู้ต้องโทษจากคำพิพากษา ญาติไม่สามารถนำสิ่งของติดตัวแม้แต่กระเป๋าเงิน เงินสด กระทั่งปากกาก็จะถูกดึงทิ้งลงตระกร้าทันทีที่ตรวจพบ มีบางกรณีที่ต่อรองได้บ้าง
ผ่าน เครื่องแสกนโลหะแล้ว ผู้คุมหญิงทำหน้าที่ใช้มือตบตามลำตัว หน้าอก และก้นของญาติซึ่งต้องยืนเข้าแถวรับการตรวจค้นดังกล่าวทั้งชายและหญิง

“ผม ถูกย้ายมาหลังจากที่มีคำพิพากษาสภาพความเป็นอยู่ดีขึ้น ตอนเช้าตื่นเจ็ดโมงครึ่ง มีเวลาออกมาเดินเล่นบ้าง มีงานที่ต้องทำคือขูดสีกำแพงคุก เพราะเขาจะทาสีใหม่ ห้องขังกว้างประมาณสามคูณสี่ มีนักโทษห้องละ 10 คน ห้องเดียวกับผม มีนักโทษฆ่าคนตาย 2 คน ที่เหลือเป็นเรื่องยาเสพติด แล้วก็ผม... ความเป็นอยู่ที่นี่ ทางกายภาพแล้วดีครับ ไม่มีปัญหาอะไร แต่สภาพจิตใจผมแย่มาก”
สุวิชาเล่าสภาพความเป็นอยู่ของเขาภายในแดน 6 หลายวันก่อนหน้าที่จะถูกย้ายไปยังแดน 7
“เขา ดูแลคุกดีแหละครับ ผมว่าเป็นเพราะคนต้องอยู่ในนี้ตั้งนาน แบบนี้ ทำให้คนพออยู่ได้ บางคนเขาดูสบายใจนะครับ เพราะสภาพความเป็นอยู่ดี ที่นี่ก็โอเคนะ มีที่ซุกหัวนอน มีอาหารให้กิน บางคนพูดแบบนี้ เพราะเขาเคยลำบากกว่านี้มาก่อน เพียงแต่ผมคิดถึงลูกเมียมาก” สุวิชาเล่าต่อ
สุวิชานิ่งขึ้น เหมือนเริ่มยอมรับชะตากรรมได้บางส่วน ถึงกระนั้นก็ตามเขายังคงไม่อนุญาตให้ภรรยาพาลูกๆ ทั้ง 3 คน มาพบเขา
“ถ้าเขาพามาเมื่อไหร่ ผมฆ่าตัวตายแน่นอน”
“สภาพ จิตใจของผมแย่มาก ยิ่งเวลาผ่านไปนานเท่าไหร่ก็ยิ่งแย่ลง ลำพังตัวผมเอง ในคุกไม่ลำบากอะไรเลย แต่ผมมีครอบครัวอยู่ ผมเป็นห่วงสภาพจิตใจลูกๆ เพราะพวกเขาคงจะกังวลเรื่องของผม ภรรยาผมก็ทำทุกอย่าง เพื่อช่วยผม เขาเป็นห่วงผม แต่มันก็สุดความสามารถของเขา ผมต้องอยู่ให้เรียบร้อยที่สุด”
“ตอน นี้ผมพยายามเข้าหาธรรมะโดยเฉพาะหลักเรื่องไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ผมพยายามค้นหาอิสรภาพเหมือนปลาที่ติดอยู่ในอวนแต่ยิ่งดิ้นมันก็ยิ่งรัดแน่น มองรอบๆ ตัวนักโทษคนอื่นๆ ยังมีรอยยิ้ม หัวเราะ หยอกล้อกัน แต่ผมยังรู้สึกทรมาน ภรรยาผมร้องไห้ ผมไม่รู้ว่าลูกๆ อยู่กันอย่างไรคิดถึงหน้าลูกเมื่อไหร่ ผมก็ร้องไห้ทุกที” สงสารลูกคนเล็กมากที่ยังไม่รู้ความจริงเพราะแม่เขาไม่บอก ไม่อยากให้ต้องปวดร้าวเหมือนพี่ๆ ของเขา”
“ทำไมต้องเกลียดผม ทั้งที่ผมก็เป็นคนไทยเหมือนกัน ผมเป็นแค่คนธรรมดา”
000
“แม่ อยากให้เป็นทหารหรือตำรวจ อยากให้ไปสอบนายร้อยตำรวจ แม่อยากให้รับราชการ เราไม่ต้องการเงิน เราต้องการความมั่นคง แต่พ่อเขาอยากปลูกฝังให้ค้าขาย เขาอยากให้ลูกค้าขาย แต่เราก็เถียงกันตลอดว่าลูกต้องเป็นลูกน้องก่อน ก่อนจะเป็นนายทุน”
ฐิติ มา ท่าค้อ เล่าถึงลูกๆ เธอยังคงอมทุกข์ และมีอาการเบลอในบางครั้ง เธอกล่าวว่าขณะนี้เธอเริ่มมีปัญหาทางการเงิน บ้านที่มีอยู่ในกรุงเทพฯ 2 หลังนั้น เธอขายต่อให้พี่สาวไปหลังหนึ่งแล้ว และต้องการจะขายอีกหลังหนึ่งที่เหลือ
“บ้าน ราคาล้านสอง แต่นาไม่สนใจว่าจะขายได้เท่าไหร่ แค่อยากให้หมดภาระเรื่องนี้ไปขายไม่ถึงล้านสองก็ได้ ตอนนี้หาคนซื้อยากมาก ขนาดร่มบินยังขายยากมาก” เธอเล่า
นอก เหนือจากบ้าน สุวิชาทิ้งร่มบินไว้หลายตัว เธอพยายามจัดการแปลงมันเป็นเงินทุนสำหรับเลี้ยงชีวิตเธอและลูกๆ จากเดิมที่มีร่มบินอยู่ทั้งหมด 10 ตัว ขณะนี้เหลือ 6 ตัว ฐิติมาฝากให้เพื่อนๆ นักร่มบินของสุวิชาช่วยขายให้ในนราคาตัวละ 60,000 บาท
ฐิติมา จัดการขนย้ายข้าวของกลับไปยังนครพนม และให้ลูกชายคนโต กัลป์ชัย ท่าค้อ วัย 16 ปี ย้ายจากโรงเรียนสองภาษาที่กรุงเทพฯ กลับไปเรียนที่โรงเรียนประจำจังหวัดนครพนม
“ผมอยากเรียนวิศวะ คอมพิวเตอร์” กัลป์ชัยตอบพร้อมยิ้มเจือเศร้า เขาเป็นพี่คนโตในจำนวนลูกทั้ง 3 คน กัญวัฒน์ ลูกสาวคนกลาง เรียนชั้น ม.2 และธีรัตน์วัย 7 ขวบ เรียนชั้น ป. 2
ฐิติ มาเล่าว่าต้องให้ลูกชายกลับไปอยู่พร้อมหน้ากันที่นครพนม เพื่อที่เธอจะได้ไม่ต้องพะวักพะวง และประหยัดค่าใช้จ่าย ขณะเดียวกัน กัลป์ชัยก็ทำหน้าที่ดูแลน้องๆ ได้ดี ปกติลูกๆ เรียนได้คะแนนดี กัลป์ชัยได้เกรดเฉลี่ย 3.00 ในเทอมที่ผ่านมา
“แต่ ช่วงที่ผ่านมาผมเรียนไม่ค่อยรู้เรื่อง ผมคิดถึงเรื่องของพ่อ” กัลป์ชัยกล่าว ในฐานะลูกชายคนโตเขาเข้าโครงการบวชเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลในช่วงวันที่ 28 มีนาคม-7 เมษายน และแม้จะจบโครงการแล้ว เขายังคงบวชต่อไปถึงวันที่ 20 เม.ย. เพื่อหวังว่าจะผ่อนคลายบาปกรรมที่พ่อต้องเผชิญอยู่ให้เบาบางลง
“เพื่อนๆ ส่วนใหญ่ไม่รู้ บางคนรู้บ้างก็มาถามๆ ว่าหนูเกี่ยวข้องกับคนที่ถูกจับหรือเปล่า แต่มีคนหนึ่งรู้ว่าหนูเป็นลูกพ่อ แล้วเขาก็แกล้งตะโกนถามหน้าโรงเรียนเลย....” กัญวัฒน์ กล่าวและเงียบไปพร้อมน้ำตาที่ไหลอาบแก้ม
ธีรั ตน์ ในวัยเจ็ดขวบ นั่งวาดการ์ตูนรูปเรือดำนำและเรือรบ พร้อมเหล่ามนุษย์แปลงร่างอยู่ข้างๆ ดูเหมือนว่าเขาไม่ได้สนใจฟังสิ่งที่พี่ๆ พูด เพียงแต่เอ่ยปากขอกระดาษเพิ่มเพื่อก้มหน้าก้มตาวาดรูปต่อไป ทุกๆ คนในบ้านยืนยันว่าเขาไม่รู้เรื่องที่เกิดขึ้นกับพ่อและครอบครัว.....
000
สุวิชาถูกตัดสินเมื่อวันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา ขณะนี้พ้นกำหนดเวลายื่นอุทธรณ์แล้ว ครอบครัวและทนายปรึกษากันว่าจะไม่ยื่นอุทธรณ์ แต่กำลังคิดเองหนทางขอพระราชทานอภัยโทษ ลูกๆ ทุกคนพร้อมด้วยภรรยาเขียนจดหมายด้วยลายมือของตัวเอง อย่างไรก็ตามยังไม่มีการดำเนินการยื่นหนังสือขอพระราชทานอภัยโทษ
ความหวังอีกประการของเขา ขณะนี้คือ การขอย้ายกลับไปถูกจำคุกต่อที่เรือนจำประจำจังหวัดนครพนมเนื่องจาก
“อย่าง น้อยก็ได้ไปอยู่ในที่ของเรา บ้านของเราเอง เรือนจำนครพนม ตั้งอยู่ที่ตำบลท่าค้อครับ มันอยู่ใกล้บ้านผม” สุวิชายังคงมีความหวัง แม้จะเป็นเพียงความหวังในฐานะผู้ต้องขังก็ตาม
 
ลำดับเหตุการณ์คดีสุวิชา ท่าค้อ
14 ม.ค. 2552 สุวิชา อายุ 34 ปี ทำงานตำแหน่งวิศวกรเครื่องจักร ของบริษัทขุดเจาะน้ำมันแห่งหนึ่ง ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัว หน้าร้านสุวรรณการช่าง อ.เมือง จ.นครพนม คำร้องของพนักงานสอบสวนระบุว่า เมื่อระหว่างวันที่ 27 เม.ย.-26 ธ.ค.2551 ผู้ต้องหากระทำผิดกฎหลายบท หลายกรรม ด้วยการเผยแพร่ข้อมูลรูปภาพ ซึ่งเป็นการกระทำดูหมิ่นองค์พระมหากษัตริย์และองค์รัชทายาท พนักงานสอบสวนติดตามจับกุมตัวผู้ต้องหาได้ตามหมายจับศาลอาญา ที่ 92/2552
16 ม.ค. 2552 สุวิชาถูกควบคุมตัวจาก นครพนมมายังศาลอาญา รัชดาภิเษกกรุงเทพฯ ด้วยสายการบินบางกอกแอร์เวย์ เจ้าพนักงานยื่นคำร้องขอฝากขังครั้งแรก 12 วัน ไปจนถึงวันที่ 27 มกราคม โดยระบุว่า ได้ควบคุมตัวผู้ต้องหามาจนครบกำหนดแล้ว แต่การสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ต้องรอสอบปากคำพยานอีก 15 ปาก รอผลการตรวจพิสูจน์หลักฐานทางคอมพิวเตอร์จำนวน 3 เครื่อง แผ่นซีดี และเอกสารอีกจำนวนหลายรายการ จึงขอฝากขังไว้ หลังจากนั้น ทนายความของสุวิชาได้ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งประกันตัว 2ครั้ง แต่ศาลยกคำร้อง
26 มี.ค. 2552 อัยการมีคำสั่งฟ้องคดีนายสุวิชา ท่าค้อ เป็นจำเลยฐานกระทำความผิดโดยร่วมกับพวกที่หลบหนี หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่า จะทำให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ และเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร, นำ เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ ที่ปรากฏภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่ตัดต่อ เติม หรือดัดแปลงด้วยวิธีการทางอิเล็กโทรนิกส์หรือวิธีการอื่นใดโดยประการที่น่า จะทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย อัยการขอให้ลงโทษตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 8, 9 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83,91 และ 112 และพระราชบัญญัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 3, 14 และ 16
30 มี.ค. 2552 จำเลยให้การรับสารภาพต่อศาลในระหว่างนัดชี้สองสถาน และศาลนัดฟังคำตัดสินในวันที่ 3 เม.ย. 2552 เวลา 9.00 น.
3 เม.ย.2552 เวลา 9.00 น. ที่ศาลอาญา ผู้พิพากษาอ่านคำตัดสินคดีที่พนักงานอัยการ โจทก์ ฟ้องนายสุวิชา ท่าค้อ เป็นจำเลยฐานกระทำความผิดโดยร่วมกับพวกที่หลบหนี หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่า จะทำให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ และเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร, นำ เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ ที่ปรากฏภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่ตัดต่อ เติม หรือดัดแปลงด้วยวิธีการทางอิเล็กโทรนิกส์หรือวิธีการอื่นใดโดยประการที่น่า จะทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย อัยการขอให้ลงโทษตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 8, 9 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83,91 และ 112 และพระราชบัญญัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 3, 14 และ 16
ตัดสินว่ามีความผิดตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 8, 9 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33(1), 83,91 และ 112 และพระราชบัญญัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14(2) และ 16(1) เนื่องจากเป็นความผิดหลายบท ให้ลงโทษตามมาตราที่มีโทษสูงสุด และความที่จำเลยกระทำความผิด 2 กระทง ให้ตัดสินให้ลงโทษ กระทงละ 10 ปี รวม 20 ปี แต่จำเลยให้การรับสารภาพ จึงลดโทษให้กระทงละ 5 ปี คงเหลือโทษจำคุก 10 ปี ไม่รอลงอาญา และให้ริบของกลาง
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net