เสวนา: "สลายการชุมนุมด้วยกำลัง : แก้ปัญหาหรือสร้างปัญหา"

 


เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2552 สถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตยจัดการอภิปรายสาธารณะเรื่อง "สลายการชุมนุมด้วยกำลัง : แก้ปัญหาหรือสร้างปัญหา" ห้องประชุม 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว

 

จาตุรนต์ ฉายแสง ประธานสถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย กล่าวว่า การชุมนุมและการสลายการชุมนุมที่ผ่านไปแล้วนั้น เรื่องพื้นฐานมากๆ ที่เป็นประเด็นที่ควรทำให้เกิดความกระจ่างคือ การสลายการชุมนุมที่เกิดขึ้นถูกต้อง เป็นที่ยอมรับได้ของสังคมไทยหรือไม่ เรื่องสำคัญคือ ถ้าเรายอมรับว่าการสลายการชุมนุมที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องถูกต้องแล้ว มีข้อบกพร่องเล็กน้อยก็แก้กันไป นั่นหมายความว่าต่อจากนี้ไปหากมีการชุมนุมเกิดขึ้น ก็หมายความว่ารัฐบาลมีความชอบธรรมในการจัดการสลายการชุมนุมดังที่เคยเกิดขึ้น

 

จาตุรนต์ กล่าวว่า สิ่งที่สังคมควรได้ข้อสรุปคือ การสลายด้วยวิธีแบบนี้นั้นรับได้ไหม จะยอมทำให้เกิดขึ้นได้ไหม ที่พูดแบบนี้เพราะเร็วๆ นี้ก็อาจจะมีการชุมนุมเกิดขึ้น ทั้งนี้เพราะการเมืองไทยไม่ได้มีจุดเปลี่ยนมาำกแบบที่จะต้องพักไปหลายๆ ปีดังเช่นในอดีต ครั้งนี้ยังไม่ทราบว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป ยังไม่มีการจับว่า ฝ่ายนี้เป็นฝ่ายทำลายชาติ หรือรัฐบาลทำผิด ดังนั้น การศึกษาเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นที่สังคมจะต้องหาคำตอบต่อไป

 

"ปลื้ม" ชี้เสื้อแดงถูก "ตีตรา" ว่าซื้อได้ เพิ่มความชอบธรรมในการปราบ

มล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล พิธีกรข่าว กล่าวว่า การชุมนุมที่มีการอารยะขัดขืนและถึงขั้นต้องละเมิดกฎหมายจะเกิดขึ้นเมื่อเป้าหมายของการชุมนุมนั้นจะไม่สามารถบรรลุได้ภายใต้กรอบของกฎหมายและรัฐธรรมนูญที่มีอยู่ ตัวอย่างที่เห็นได้ในต่างประเทศ คือ การชุมนุมเพื่อล้อมอำนาจของผู้นำเผด็จการ ดังที่เกิดขึ้นได้ใน ซิมบับเว เกาหลีเหนือ หรือคิวบา

สำหรับเมืองไทย เขาเห็นว่า ประเทศไทยไม่เคยมีมาตรฐานที่แท้จริงเกี่ยวกับความชอบธรรมในการชุมนุม เมื่อมีการสลายการชุมนุมแต่ละครั้ง จึงไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่า การที่รัฐบาลใช้กำลังบ้างเป็นสิ่งที่เหามะสมหรือไม่ การชุมนุมเมื่อสงกรานต์ที่ผ่านมา ผู้ชุมนุมต้องการประชาธิปไตยที่ปลอดจากการแทรกแซงของฝ่ายอำมาตย์ ซึ่งคือ องคมนตรี และทหาร แต่การชุมนุมก็ถูกลดความชอบธรรมลงโดยความร่วมมือของสื่อกระแสหลัก ด้วยการติดป้าย (label) ว่า ผู้ชุมนุมเป็นพวกของทักษิณ เป็นคนที่ซื้อได้ด้วยเงิน สิ่งเหล่านี้นำไปสู่การลดความชอบธรรมในการชุมนุม และสร้างความชอบธรรมในการสลายการชุมนุม

คนส่วนใหญ่ที่ติดตามสื่อกระแสหลักเริ่มเชื่อลึกๆ ว่า การใช้กำลังบ้างเล็กน้อย ไม่เป็นไร ดังนั้น ข่าวที่พบศพเสื้อแดงในแม่น้ำเจ้าพระยา ก็จะถูกมองเป็นประเด็นย่อยที่ไม่สำคัญ เพราะถูกมองว่ามาเรียกร้องเพื่อคนๆ เดียว  

ทั้งนี้ ปัญหาอีกอย่างหนึ่งคือ ประชาชนประมาณครึ่งประเทศไม่เชื่ออย่างแท้จริงว่า 3 สถาบันหลักของชาติ ได้แก่ ตุลาการ องคมนตรี ทหาร เป็นกลางทางการเมือง ทั้งที่สถาบันหลักของชาติเหล่านี้เป็นสถาบันที่ควรจะได้รับความเชื่อถือจากประชาชนอย่างน้อย 80% ขึ้นไป ทุกคนต้องมีศรัทธาต่้อสถาบันองคมนตรี กระบวนการยุติธรรม และควรเชื่อไ้ด้ว่า ทหารไม่เลือกข้าง เมื่อศรัทธาหมดไป ความชอบธรรมของการทำงานของทั้งสามสถาบันก็จะหมดไปตามศรัทธานั้นด้วย นี่เป็นสิ่งที่ต้องได้รับการแก้ไข จะให้ประชาชนแก้ไม่ได้

 

มล.ณัฏฐกรณ์ กล่าวว่า องคมนตรี ตุลาการ โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญและกองทัพบก มีหน้าที่ต้องพิสูจน์ตัวเองต่อประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศว่าไม่ได้แทรกแซงอย่างที่เขากล่าวหา ถ้าพิสูจน์ไม่ได้ ก็ไม่เป็นไร แต่ในอนาคตสิบปีข้างหน้า ต้องลดความเคลือบแคลงใจที่มี  เพื่อดึงศรัทธานั้นกลับมา

 

การสลายการชุมนุมคือ รัฐประหาร 19 ก.ย. รอบสอง

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า การชุมนุมของเสื้อแดงที่ผ่านมาไม่สามารถแยกออกจากเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ได้ โดยเมื่อย้อนกลับไป จะพบว่า เกิดสิ่งที่ อ.ทามาดะ นักวิชาการชาวญี่ปุ่นกล่าวว่า ชนชั้นนำทางการเมืองที่ปฏิเสธประชาธิปไตยพยายามใช้วิธีต่างๆ จนรัฐบาลอยู่ไม่ได้ มาโดยตลอด ทั้งการเผชิญหน้าทางการเมืองจนการเลือกตั้งเป็นโมฆะ การเลือกตั้งเป็นโมฆะจากการตั้งคูหาไม่ดี การกดดันให้นายกฯ ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ คือ ทักษิณ ประกาศว่าจะไม่รับตำแหน่งทางการเมืองใดๆ และมีการเลือกตั้งในเดือนตุลาคม 49 แต่ก่อนหน้านั้นสองสัปดาห์ก็เกิดรัฐประหาร  

 

และต่อมาเกิดการชุมนุมต้านรัฐประหาร เพื่อต่อต้านอำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และเกิดขึ้นอย่างเต็มที่นับแต่วันที่ 19 กันยาเป็นต้นมา จากนั้นเมื่อมีการเลือกตั้ง ฝ่ายเดิมก็ชนะอีก ทั้งที่ฉีกรัฐธรรมนูญก็แล้ว อะไรก็แล้ว มันแสดงให้เห็นว่าเราอยู่ในประเทศที่มีคนจำนวนหนึ่งยืนยันว่าเขาสนับสนุนฝ่ายนั้น ไม่ว่าจะมีการรีแบรนดิ้งพรรคอย่างไรก็ตาม

 

หลังจากมีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ก็มีการทำสถานการณ์ที่เหมือนสมัย 48-49 โดยใช้วาทกรรมหลักของชาติ ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นปี 50-51 ก็คือการทำซ้ำ และมีความพยายามทำให้รัฐบาลสมชายมีอันเป็นไป สิ่งที่เกิดขึ้นมาตลอดคือ คนจำนวนมากที่สนับสนุนอีกฝ่ายพบว่าไม่ว่าจะมีการเลือกตั้งกี่ครั้ง การรณรงค์ทางการเมืองกี่หน แต่นายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้งก็จะถูกอีกฝ่ายใช้พลังต่างๆ โค่นล้ม นี่เป็นสิ่งที่เราต้องมองการชุมนุม ว่าเป็นปฏิกิริยาของความไม่พอใจอำนาจเหล่านั้น

 

การชุมนุมของคนเสื้อแดงจึงเป็นกระบวนการต้านรัฐประหารอย่างแน่นอน เพราะสิ่งต่างๆ ที่คนเหล่านี้พูดเป็นการโจมตีอำนาจที่ตรวจสอบไม่ได้ อำนาจที่ไม่ได้มาจากประชาชน ดังนั้น ก่อนที่จะมองว่าการชุมนุมสร้างปัญหาหรือไม่ ก็ต้องมองก่อนว่าปัญหาการเมืองไทยเป็นอย่างไร

 

ดังนั้น การสลายการชุมนุมจึงเป็นเรื่องที่ไม่ได้แก้ปัญหา แต่สร้างปัญหา คือ ทำสิ่งที่เป็นการรัฐประหาร 19  กันยาขึ้นมาอีกครั้ง ทำให้พลังฝ่ายนี้มารวมในที่ชุมนุมแล้วจัดการให้สิ้นไป ทำให้ล้มละลายทางการเมืองไป เมื่อมองแบบนี้ การสลายการชุมนุมจึงเป็นปัญหาเพราะใช้กำลังทหารมายุติความขัดแย้งในชาติ เช่นเดียวกับสมัย 19  กันยาที่ใช้ข้ออ้างว่ามีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายมาจัดการปัญหาในชาติ

 

สอง การทำความเข้าใจว่าการควบคุมความสงบเรียบร้อยในชาติเป็นคนละเรื่องกับการกำราบคนในชาติ สิ่งที่เกิดขึ้นมีสองด้าน ด้านแรกคือการใช้กำลังทหารเข้าควบคุมสถานกาณณ์ ในด้านนี้การสลายการชุมนุมมีข้อบกพร่อง

 

นอกจากนี้ การสลายการชุมนุมยังมีด้านที่น่าจะถูกตั้งคำถามมากกว่านั้น คือการใช้การสลายการชุมนุมเป็นจังหวะ เป็นโอกาส ในการควบคุมความเคลื่อนไหวของฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล ในวันที่มีการสลายการชุมนุมมีสองส่วนใหญ่ หนึ่งคือส่วนที่กระจายไปตามจุดต่างๆ แต่ส่วนใหญ่ที่สุดของผู้ชุมนุมซึ่งเป็นผู้หญิงอยู่ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนั้นคือรัฐบาลใช้เหตุจากการไม่สามารถควบคุมกลุ่มย่อยต่างๆ มาส่งกำลังไปที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ปัญหาคือ คนที่ชุมนุมที่หน้าทำเนียบผิดอะไร ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ไม่มีอาวุธ และต้องกล่าวว่า การ์ด นปช. เรียกได้ว่าก๊องแก๊ง รัฐบาลใช้เหตุจากการมีกลุ่มย่อยเป็นข้ออ้างส่งทหารติดอาวุธมาที่หน้าทำเนียบ สองเรื่องนี้เป็นคนละเรื่อง แต่ใช้เป็นเหตุในการบีบให้ยุติการชุมนุม

 

การสลายนี้เป็นการรักษาความสงบเรียบร้อย หรือใช้ความไม่สงบมาสลายการชุมนุมของคนที่คิดตรงข้ามกับรัฐบาล หากเป็นเช่นนั้นนี่เป็นความผิดขั้นรุนแรง เพราะเราอยู่ในสังคมประชาธิปไตย

 

สาม เกี่ยวกับเรื่องความรุนแรงในการสลายการชุมนุม ตั้งแต่ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีนักวิชาการไม่น้อย สื่อไม่น้อย พยายามบอกกับคนในสังคมไทยว่า การสลายการชุมนุมที่ผ่านมาเป็นความสำเร็จเพราะไม่มีคนตาย จะมีคนตายหรือไม่นั้นเป็นเรื่องที่ต้องสืบสวนต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่มีคนตาย การสลายการชุมนุมก็เป็นการใช้ความรุนแรงอยู่ดี เพราะมันเท่ากับการบอกว่า ต่อไปในอนาคต รัฐบาลสามารถใช้อาวุธ ใช้กองกำลังทหาร ยุติการชุมนุมได้

 

ในแง่วิชาการ ปัญหาเรื่องความรุนแรงเป็นเรื่องสำคัญ รัฐบาลชุดนี้พยายามบอกว่ารุนแรงคือมีคนตาย แต่ก็มีนักวิชาการจำนวนไม่น้อยที่บอกว่า ความรุนแรงไม่จำเป็นต้องมีคนตาย ต่อให้ไม่มีความบาดเจ็บ แต่ถ้ามีการใช้กำลังคุกคามฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหยุดทำหยุดคิด นั่นก็คือความรุนแรง สถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นในวันนั้นคือ มีการใช้กองกำลังทหารหลายกองร้อย ข้อที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือมีการใช้อาวุธสงครามจริงๆ แม้จะบอกว่าใช้กระสุนปลอมก็ตาม ทั้งหมดนี้เป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ ในแง่วิชาการนี่คือความรุนแรงชนิดหนึ่งเพราะใช้อาวุธบังคับจิตใจให้คนยุติการกระทำ

 

หากบ้านท่านมีโจรเข้าบ้าน เอาปืนมาจ่อหัว แล้วบอกว่าเอาเงินมาให้หมด นั่นคือความรุนแรงหรือไม่ เมื่อวานนี้นายกฯ บอกว่ารถท่านถูกทุบ ว่าเป็นความรุนแรงจากผู้ชุมนุม แต่ที่หน้าทำเนียบ การสลายการชุมนุมที่ไม่มีคนตายนั้นไม่เป็นความรุนแรง ในแง่นี้คือการใช้สองมาตรฐานของตรรกะหรือเปล่า

 

ใครที่อยู่ในที่ชุมนุม ก็ล้วนรู้สึกถึงความหวาดกลัวว่าจะถูกปราบได้ตลอดเวลา ในวันสุดท้าย บริเวณผ่านฟ้า มีทหารติดอาวุธ ประชาชนไม่มีทางรู้ว่าใช้กระสุนจริงหรือปลอม มีรถฮัมวี่มาที่ผ่านฟ้า ผู้ชุมนุมก็มาถ่ายรูปรถ และท้ายที่สุดก็ปีนรถไป ในสถานการณ์แบบนั้น ท้ายที่สุดก็มีผู้ชุมนุมที่รู้สึกว่าไม่กลัวแล้ว ในแง่นี้ การตัดสินใจของรัฐบาลเรียกได้ว่า คิดผิด และมีผลต่อการตัดสินใจของรัฐที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต

 

สิ่งที่เกิดขึ้นหลังการสลายการชุมนุมมีสองแบบ แบบแรกคือ ฝ่ายรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ รู้สึกว่าเป็นความสำเร็จ แล้วฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารหมดพลังไปจริงหรือ

 

ผลจากการสลายการชุมนุม ได้แก่ หนึ่ง รัฐบาลชุดนี้ทำให้การเผชิญหน้าระหว่างมวลชนจำนวนมากในประเทศยกระดับมาเรื่อยๆ สิ่งที่รัฐบาลทำอย่างแน่นอนเมื่อสงกรานต์ที่ผ่านมา คือ รัฐบาลทำให้การเผชิญหน้าของสองฝั่งเป็นนโยบายรัฐ ด้วยการบอกว่ารัฐอยู่ฝ่ายไหนโดยใช้ทหารมาจัดการ รัฐบาลดึงทหารมาจัดการพลเรือน ขณะที่สิ่งที่เหตุการณ์พฤษภา 35 พยายามทำคือความพยายามกันทหารออกไปจากการเมือง การสลายการชุมนุมครั้งนี้เป็นการดึงกำลังทหารมาค้ำอำนาจของรัฐบาลพลเรือน

 

ในอดีต ทหารค้ำรัฐบาลหลายชุดจริง แต่การค้ำรัฐบาลโดยทหารในอดีต เกิดในเงื่อนไขที่นายกฯ ซึ่งก็เป็นทหาร ทหารค้ำทหารด้วยกัน แต่ในรอบนี้ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งพยายาามเอาทหารมาเป็นฐานในการค้ำอำนาจ ในประวัติศาสตร์โลกมีรัฐบาลพลเรือนที่ไหนบ้างที่เอาทหารมาค้ำอำนาจตัวเองแล้วไม่ถูกทหารขี่คอ

 

สอง การสลายการชุมนุมครั้งนี้ทำให้รัฐบาลประกาศตัวเองอย่างเปิดเผยว่าได้เข้ามาเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชนอีกฝ่ายอย่างเต็มที่ ถ้ามันมีการต่อสู้ทางความคิดแบ่งฝ่าย สิ่งที่รัฐบาลที่ดีคือหยุดความขัดแย้งนั้น หยุดเงื่อนไขความขัดแย้งทางการเมือง สิ่งที่รัฐบาลชุดนี้ทำ คือ แทนที่รัฐบาลจะเป็นองค์กรทางการเมืองเพื่อลดทอนความขัดแย้งในสังคม กลายเป็นว่ารัฐบาลดำเนินตัวเองเป็นคู่ขัดแย้งเสียเอง ไม่ว่ารัฐบาลจะมองการสลายชุมนุมไว้อย่างไรก็ตาม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในรปะวัติศาสตร์ โดยเฉพาะการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รัฐบาลได้เข้ามาในสนามความขัดแย้งโดยตรง ผลที่จะเกิดขึ้นคือ ความสมานฉันท์เกิดไม่ได้ง่ายๆ ทุกคนในที่ชุมนุมย่อมรู้ว่าทันทีที่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉินคือ รัฐบาลมองเราเป็นศัตรูถึงขั้นออกกฎหมายฉุกเฉินเพื่อให้ทหารใช้กำลังได้ คนจะยิ่งรู้สึกอย่างชัดเจนมากขึ้นว่ารัฐบาลเข้าสนามความขัดแย้งโดยตรง เป็นผู้เล่นโดยตรง ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนั้น ความเชื่อถือที่ประชาชนมีต่อรัฐบาลจะหมดไป ความขัดแย้งของคนในชาติจะเพิ่มขึ้น

 

ที่ผ่านมา ไม่ว่าคนในชาติจะขัดแย้งกันอย่างไร แต่ก็จะมีองค์กรที่เป็นกลาง แต่เมื่อรัฐบาลทำเช่นนี้แล้ว คนกลุ่มหนึ่งก็จะมองได้ว่ารัฐบาลทำกับฝั่งหนึ่งไว้แบบหนึ่ง แต่ทำอีกอย่างกับคนอีกฝั่ง ในแง่การเมืองในโลกที่สาม มันคงเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่รัฐบาลจะคุมทหารได้

 

สาม ความขัดแย้งระหว่างคนในสังคมสูงขึ้น ในการบรรจบกันของ 3 เงื่อนไขจากการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คือความรู้สึกว่า รัฐบาลไม่ใช่รัฐบาลของประชาชนอีกต่อไป เมื่อคนจำนวนมากเห็นนายกฯ ก็คงรู้สึกว่านี่ไม่ใช่นายกฯของเรา รัฐบาลชุดนี้เลือกวิธีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินทำให้เผชิญหน้ากับคนอีกฝ่าย ซึ่งไม่ควร รัฐบาลที่คิดถึงส่วนร่วม คิดถึงอนาคตชาติบ้านเมือง คือควรจะเป็นกันชนระหว่างคู่ขัดแย้งต่างๆ ไม่ใช่มาเล่นเอง สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือความสมานฉันท์จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ง่าย และเราอาจจะพูดได้ด้วยซ้ำว่า รัฐบาลชุดนี้ อาจจะไม่ได้อยู่ในสถานภาพที่จะสร้างความสมานฉันท์ได้ด้วยซ้ำเมื่อได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งโดยตรง โอกาสของการปรองดองก็มีน้อยลง

 

ศิโรตม์ กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดในวันสงกรานต์นั้น ไม่ว่ารัฐบาลจะมองว่าเป็นความสำเร็จอย่างไร แต่เมื่อเรามองการเมืองไทย เหตุการณ์วันสงกรานต์ที่ผ่านมาได้ดึงความขัดแย้งในสังคมไทย ยกระดับไปรุนแรงขึ้น อาจจะพูดว่าเป็น 19 กันยาภาคสอง ที่กำลังทหารเคยยุติการเลือกตั้ง มาเป็นทหารยุติการชุมนุม รัฐบาลซึ่งควรจะเป็นกันชนของทุกฝ่ายตัดสินใจใช้ความรุนแรง นี่ไม่ใช่จุดเริ่มต้นของสังคมประชาธิปไตยในการยุติํความรุนแรง

 

 

"อชิรวิทย์" แนะทุกคนกลับไปทำหน้าที่ของตัวเอง

ด้าน พล...อชิรวิทย์ สุพรรณเภสัช อดีตรองผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ในแง่ของผู้บังคับใช้กฏหมาย ซึ่งได้รับการศึกษาในวิชาการตำรวจทั้งในและต่างประเทศ ต้องตอบแบบฟันธงว่าการสลายการชุมนุมคราวนี้ไม่ใช่สันติวิธีเพราะไม่มีที่ไหนในโลกที่ใช้กำลังทหารและอาวุธสงคราม เนื่องจากการสลายการชุมนุมในโลกที่เจริญแล้วจะใช้ตำรวจที่ได้รัีบการฝึกปราบจราจลมาดำเนินการ

 

พล...อชิรวิทย์ กล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้ พล...อำนวย นิ่มมะโน รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล

ให้สัมภาษณ์ว่า การที่ตำรวจมีบทบาทอีกไม่ได้ เพราะการกล่าวโทษของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (...) ว่าการสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยโดยตำรวจเมื่อ 7 ..51 รุนแรง ซึ่งหาก ... ชี้มูลเมื่อไหร่ ผบ.ตร. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ หรือ สุชาติ เหมือนแก้ว อาจต้องติดคุกติดตาราง ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ รวมถึงอดีตนายกฯ สมชาย และ พล..ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกฯ อาจต้องติดร่างแหไปด้วย ทั้งนี้ ถ้าถูกชี้มูลเมื่อไหร่ เขาจะออกมาปลุกระดมตำรวจสองแสนคนทั่วประเทศ ให้ลาหยุดประจำปีพร้อมกัน แบบสหภาพรถไฟ และเพื่อให้เตรียมตัว จะให้ตำรวจแต่ละจังหวัดลาสลับกัน ซึ่งเมื่อถึงตาตำรวจใน กทม. สองหมื่นกว่าชีวิต คิดว่าจะดูไม่จืด

 

ทั้งนี้ เมื่อการสลายการชุมนุมของรัฐบาลอภิสิทธิ์ใช้กำลังทหารแทนกำลังตำรวจ จะพบว่า ทหารไม่ได้รับการฝึกในการสลายการชุมนุมจึงสลายแบบทหารด้วยเครื่องไม้เครื่องมือแบบทหาร ถามว่า ถ้าไม่ใช่รัฐบาลอภิสิทธิ์ แต่อาจเป็นรัฐบาลจาตุรนต์ในสองสามปีข้างนอกจะสั่งได้หรือไม่

 

เขาตั้งข้อสังเกตว่า การสลายการชุมนุมเช่นนี้ก็เพราะต้องการกำราบปราบปราม ไม่ให้หืออีก ทั้งยังมองว่าการสลายการชุมนุมคราวนี้มีสคริปต์หมด ทีวีทุกช่องพูดคำพูดเดียวกันหมด เหมือนออกมาจากบล็อกเดียวกัน จึง ตั้งคำถามว่า การรับสื่อด้านเดียวเช่นนี้ แน่ใจหรือว่าจะทำำให้คนเชื่อโดยปราศจากข้อสงสัย รัฐบาลกำลังใช้สื่อเพื่อให้ประชาชนเชื่อโดยปราศจากการสงสัยว่าการสลายเป็นความชอบธรรมของรัฐบาล สันติวิธี ไม่มีใครตาย ซึ่งไม่ได้แปลว่าไม่มีความรุนแรง

 

เขากล่าวว่า การสลายการชุมนุมต้องเริ่มด้วยจากเบาไปหาหนัก ตามที่ศาลปกครองได้ออกมา แล้วรัฐบาลสลายการชุมนุมจากหนักไปหาเบาหรืออย่างไร จึงไม่เป็นไปตามที่ศาลปกครองได้กำหนด และพยายามให้สื่อออกอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งตรงข้าม ขณะนี้การเผยแพร่รูปภาพการสลายการชุมุนม ทั้งเสียง ภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว ซึ่งแตกต่างจากที่รัฐบาลได้นำออกมาโฆษณานั้นได้ระบาดอย่างรวดเร็วไปในชุมชนต่างๆ ทั้งภาคอีสาน เหนือ กลาง ดังนั้น การปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นด้วยให้สื่อต่างๆ เดินไปตามร่องทางที่รัฐบาลขีดไว้จึงไม่ได้เป็นผลดีต่อรัฐบาลและประเทศชาติ ถ้่ารัฐบาลไม่เปิดให้การสื่อสารมีสองด้านสองมุม การสลายการชุมนุมที่ั่รัฐบาลพยายามทำนั้นก็ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง

 

เขากล่าวถึงการมอบตัวของแกนนำ นปช. ซึ่งเขาเองเป็นคนเชื่อมโยงระหว่างแกนนำกับตำรวจว่า เขาคิดว่า แกนนำจะได้รับความเป็นธรรมเช่นเดียวกับแกนนำ พธม. แต่ไม่ใช่ เพราะขณะที่แกนนำ พธม. ได้รับการปล่อยโดยไม่มีเงื่อนไข แต่แกนนำ นปช.กลับไม่ได้รับสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ไม่ได้รับการประกันตัวโดยเร็ว ทั้งที่อาชญากรทางการเมืองต้องได้รับการดูแลคุ้มครองอย่างดี นอกจากนี้ ญาติจะไปเยี่ยมก็ไม่ได้ นี่เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพ ที่รัฐบาลครอบงำตำรวจให้ทำ อย่างไรก็ตามยังไม่เห็นเลยว่า มีองค์กรสิทธิ ออกมาโวยวายเพื่อแกนนำเสื้อแดงบ้างหรือไม่ นี่ไม่ใช่สองมาตรฐานแต่เป็นสี่มาตรฐาน มันเป็นมาตรฐานของประชาธิปัตย์ ทหารตำรวจ และสื่อ สี่มาตรฐานนี้รวมเป็นสี่มาตรฐานใหญ่

 

สำหรับการแก้ปัญหาบ้านเมือง เขาเสนอว่าใครมีหน้าที่ั่อะไรให้ทำหน้าที่ของตัวเองให้ครบถ้วน อยากให้ผู้พิพากษากลับศาล ทหารกลับเข้ากรมกอง นักการเมืองต้องกลับสภา มีปัญหาอะไรให้แก้กันกลางสภา ไม่ใช่กลางถนน ตำรวจต้องกลับไปตรวจท้องที่ไม่ใช่เป็นเครื่องมือของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด อาจารย์ก็ต้องกลับไปสอนหนังสือ ทุกวันนี้สังคมการเมือง เศรษฐกิจของไทยที่วุ่นวายเพราะแต่ละคนไม่กลับไปทำหน้าที่ของตัวเองให้ครบถ้วน

 

เสื้อแดงคือใครและมีอุดมการณ์อย่างไร

ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ประเด็นที่ต้องทำความเข้าใจก่อนคือ ตกลงคนเสื้อแดงเป็นใคร และเขามีอุดมการณ์หรือเปล่า คนเสื้อแดงถูกตีตรา อาทิ ล้มสถาบัน คลั่งทักษิณ ผู้ก่อจราจล ฯลฯ แต่คนไม่เคยถามอย่างจริงจังเลยว่าคนเสื้อแดงเป็นใคร

 

ยุกติ กล่าวว่า การเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงเป็นการเรียกร้องที่จะเปลี่ยนวัฒนธรรมทางการเมือง  ไม่ใช่เรื่องชนชั้นเท่านั้น โดยจากการไปสังเกตการณ์ในที่ชุมนุม พบว่า คนที่มาร่วมชุมนุมมีอยู่สองส่วนใหญ่ คือ คนในต่่างจังหวัด และในกทม. ภาพที่เห็นว่ามีการเคลื่อนไหวใหญ่โตนับเรือนแสนนั้น เป็นไปได้ว่าน่าจะมาจากต่างจังหวัดเป็นจำนวนมาก แต่ประเด็นคือ วันที่ไม่ได้มีการระดมคนมาเยอะๆ นั้น ตอนกลางวันมีจำนวนหลักพัน ตอนกลางคืนมีหลักหมื่น นั่นแปลว่าก็ต้องเป็นคนกรุงเทพฯ ดังนั้นที่คนมักพูดว่า คนเสื้อแดงเป็นคนต่างจังหวัด เป็นคนรากหญ้า ซึ่งส่วนหนึ่งก็ใช่เพราะประเทศไทยมีปัญหาเชิงโครงสร้างมาโดยตลอด แต่ประเด็นคือการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จะพบว่ามีทั้งคนกรุงเทพฯ มีชนชั้นกลาง รวมถึงไฮโซเสื้อแดงอยู่ด้วย ดังนั้น การพูดเพียงเรื่องชนชั้นจึงเป็นการผลักให้เป็นปัญหาของชนบทกับเมือง

 

นอกจากนี้ อีกประเด็นที่คนมองข้ามไปคือเรื่องอุดมการณ์ หลายคนถามว่าคนเสื้อแดงมีอุดมการณ์ไหม สู้เพื่อทักษิณ รักทักษิณ เป็นภาษาอุดมการณ์ไหม ผมจะตอบว่าใช่ ทั้งนี้ เราต้องแยกระหว่างทักษิณที่เป็นตัวบุคคลกับทักษิณที่เป็นอุดมการณ์ทางการเมือง

 

ทักษิณที่เป็นตัวบุคคลเขาอาจเป็นคนคนหนึ่งที่ประสบความสำเร็จ แต่ถ้าเราถามไปว่าเรานิยมทักษิณ เรารักตรงไหนของทักษิณ สิ่งที่ต้องมองไปให้ไกลกว่านั้น คือต้องมองว่าเขารักอะไร เช่น ไปถามคนขับแท็กซี่ ก็อาจจะบอกว่ามีแท็กซี่ขับก็เพราะทักษิณ ไปถามคนที่มีงานทำแต่เจ็บป่วยก็อาจบอกว่าได้รักษาเพราะทักษิณ

 

ทักษิณเป็นตัวบุคคล แต่มันมีทักษิณที่เป็นอุดมการณ์ แล้วถามว่าถ้ามีทักษิณมาเดินตัวเปล่าๆ เอาไหม ไม่เอา ทักษิณมีชุมชนทางการเมืองที่นิยมชมชอบอุดมการณ์แบบทักษิณ สิ่งที่เราไม่เห็น สิ่งที่คนทั่วไปปรามาสมองไม่เห็น คือมองไม่เห็นทักษิณที่เป็นชุมชนทางการเมืองที่ยึดมั่นอุดมการณ์ของทักษิณ ชินวัตรได้

 

คนเสื้อแดงอาจจะรอแค่การส่งไม้ ถึงตรงนั้น ฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามกับเสื้อแดงคงหนาว งานเข้าแน่ คนเสื้อแดงไม่ได้มีแต่คนรากหญ้าแล้วผลักให้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างเดียว คนเสื้อแดงต้องการอะไร เขาต้องการสังคมใหม่ ต้องการรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรที่วางมาจากรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม

 

ยุกติ กล่าวว่า สิ่งที่เรียกว่าวัฒนธรรมทางการเมือง เป็นรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมมันเปลี่ยนไปมากแล้ว โดยหากกลับไปดูข้อค้นพบของ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่เคยสรุปไว้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทยเมื่อหลายสิบปีก่อน จะพบว่า โลกปัจจุบันกับโลกเมื่อสิบกว่าปีก่อนช่างแตกต่างกัน เช่น อ.นิธิเคยระบุว่า ในอุดมคติของคนไทย อำนาจตุลาการเป็นอำนาจที่บริสุทธิ์ที่สุด สะอาดบริสุทธิ์เพียงจุดเดียวในกระบวนการยุติธรรม ถามว่า ตั้งแต่หลังรัฐประหารเป็นต้นมา ยังทำให้คนเชื่อแบบนี้อยู่หรือเปล่า สอง เรื่องทหาร รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมของไทยระบุว่า เมื่อใดก็ตามที่ทหารจะเข้ามามีอำนาจประชาชนจะต่อต้าน ในทางตรงกันข้าำม เมื่อไม่ได้เข้ามามีอำนาจ ประชาชนจะยอมรับ ประเด็นคือ คนไทยยอมให้้ทหารเข้าๆ ออกๆ ทางการเมืองได้ ปัจจุบันยังมีแบบนี้อยู่อีกหรือ อีกประเด็นคือเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว คนไทยไม่คิดจะให้ ส.ส. มีอำนาจอะไรมากขึ้น หวังให้เป็นคนกระจอกอยู่อย่างนั้น แต่มีอิทธิพลมากๆ เพื่อคุ้มครองให้พ้นจากคนที่ราษฎรไม่ชอบ ปัจจุบัน คนคาดหวังหรืออยากให้ชุมชนทางวัฒนธรรมเป็นเช่นนั้นอยู่หรือไม่

 

ยุกติ กล่าวว่า การเมืืองและวัฒนธรรมทางการเมืองมันเปลี่ยนไปแล้ว ประสบการณ์ทางการเมืองของไทยเปลี่ยนไปอย่างฝังรากลึกแล้ว การบอกว่า การเชิดชูวัฒนธรรมทางการเมืองแบบนี้เป็นวัฒนธรรมทางการเมืองแบบฝรั่งรังแต่จะผลักผู้อื่นออกไปเป็นคนนอก และก่อให้เกิดการปราบปรามได้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท