เปิดตัว "ครีเอทีฟคอมมอนส์" ขยับสู่ "วัฒนธรรมเสรี"

 


บรรยากาศการเปิดตัว "ครีเอทีฟคอมมอนส์"

 

 

เมื่อเวลา 13.30 น. เครือข่ายครีเอทีฟคอมมอนส์ประเทศไทย เปิดตัว "สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์สำหรับประเทศไทย" ที่ห้องประชุม ชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร โดยพิชัย พืชมงคล จากสำนักกฏหมายธรรมนิติ ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า เครือข่ายฯ ได้ปรับแก้สัญญาอนุญาตฉบับทั่วไปของครีเอทีฟคอมมอนส์ ให้สอดคล้องกับกฎหมายไทยเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยสัญญาอนุญาตสำหรับประเทศไทยจะทำให้ผู้สร้างสรรค์ชาวไทย สามารถแบ่งปันงานสร้างสรรค์ได้ง่ายขึ้น โดยการลดค่าใช้จ่ายและอุปสรรคทางกฎหมายในการเผยแพร่งานสร้างสรรค์

 

 

 

พิชัย พืชมงคล

 

 

พิชัยกล่าวว่า เดิมงานสร้างสรรค์ในไทย มีค่า default อยู่แล้ว คือ สงวนสิทธิ์ทั้งหมด (all right reserved) เราอยากให้มีพื้นที่ตรงกลาง ซึ่งก็คือ สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ที่เป็นการสงวนสิทธิ์บางอย่าง (some right reserved) ซึ่งน่าจะสอดคล้องกับวัฒนธรรมของไทยที่มีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แบ่งปันกัน 

 

 

พิชัย อธิบายเพิ่มเติมว่า การใช้สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ไม่ใช่การสละลิขสิทธิ์ที่มีในงานของตนเองหรือการอุทิศงานเป็นของสาธารณสมบัติ เพราะเจ้าของงานยังคงเป็นผู้ถือครองลิขสิทธิ์ เพียงแต่ได้มอบสิทธิบางประการแก่บุคคลอื่น ให้สามารถนำไปใช้ได้ ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ โดยหากมีการนำผลงานไปใช้แบบผิดเงื่อนไข เจ้าของงานก็สามารถฟ้องร้องและบังคับผู้ที่ทำผิดเงื่อนไขได้ตามที่กฏหมายลิขสิทธิ์คุ้มครอง

 

เขากล่าวว่า สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์หรือ CC จะทำให้สาธารณะแลกเปลี่ยน สร้างงานได้โดยสะดวกและแทบไม่มีค่าใช้จ่าย รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาต่อยอดเพื่อสร้างงานใหม่ๆ ทำให้งานที่ใช้อนุสัญญาดังกล่าว สามารถไหลเวียนไปในสังคมได้อย่างเสรี ทั้งยังส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาของเยาวชนและประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงข้อมูลของกลุ่มที่ด้อยโอกาส ตัวอย่างเช่น การใช้ CC กับแบบเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ หรืองานวิจัยต่างๆ นอกจากนี้แล้ว การใช้ CC น่าจะช่วยลดการละเมิดลิขสิทธิ์ลงได้ด้วย

 

ทั้งนี้ การใช้สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ หรือ CC ทำได้โดยการนำสัญลักษณ์ไปติดในเว็บ หรือบล็อกเพื่ออนุญาตให้คนอื่นนำงานไปใช้ได้ โดยมีเงื่อนไข อาทิ แสดงที่มา ไม่ให้เอาไปใช้เพื่อการค้า ห้ามดัดแปลง หรือต้องเผยแพร่งานโดยอนุญาตให้ใช้ในแบบเดียวกัน โดยที่ผู้ใช้สามารถจะติดเครื่องหมายเดียวกันทั้งเว็บไซต์ หรือเลือกอนุญาตบางเงื่อนไขกับเฉพาะบางหน้าได้  

 

 

 

 

โลโก้ของชุดเงื่อนไข

(คำอธิบายจากซ้ายไปขวา)

Attribution (ตัวย่อ by) ผู้ที่นำไปใช้ต้องอ้างอิงว่านำมาจากไหน

Non-Commercial (ตัวย่อ nc) ห้ามนำไปใช้เพื่อการค้า

No Derivative (ตัวย่อ nd) ห้ามแก้ไขดัดแปลง

Share Alike (ตัวย่อ sa) ผู้ที่นำผลงานไปใช้ จะต้องเผยแพร่งานด้วยเงื่อนไขแบบเดียวกัน

 

 

ต่อคำถามว่า หลังจากมีฉบับประเทศไทยแล้ว ผู้ที่เคยใช้สัญญาอนุญาตฉบับประเทศอื่น ต้องเปลี่ยนมาใช้ฉบับประเทศไทยหรือไม่ พิชัย อธิบายว่า สัญญาอนุญาตฉบับนี้ ไม่ใช่เพียงแต่เป็นภาษาไทย แต่ทีมงานได้ปรับให้เข้ากับกฏหมายไทยด้วย ตัวอย่างเช่น หากผู้ใช้ใช้สัญญาอนุญาตประเทศเยอรมนี หากเกิดข้อพิพาท ก็ต้องแปลสัญญาอนุญาตที่เป็นภาษาเยอรมันเป็นภาษาไทย รวมถึงต้องมีผู้เชี่ยวชาญกฏหมายเยอรมันด้วย

 

พิชัย กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ข้อตกลงว่าตามกฏหมายเยอรมันก็ต้องอ้างตามกฏหมายเยอรมัน ซึ่งบางอย่างศาลไทยอาจไม่รับรอง เช่น moral right หรือมีผู้แปลว่า จริยสิทธิ์ หมายถึง เมื่อมอบงานให้ใช้หรือนำไปดัดแปลงได้ แล้วมีผู้ทำให้งานออกมาน่าเกลียด หรือเกิดความเสื่อมเสีย ตามกฏหมายของยุโรปแล้ว ให้เจ้าของงานมีสิทธิฟ้องศาลบังคับได้ว่าต้องดัดแปลงให้ดี ไม่ใช่ให้ไม่น่าเกลียด

 

กฏหมายไทยไม่ได้บอกว่าเรามีจริยสิทธิ์ แต่ทีมงานได้นำข้อตกลงจากอนุสัญญากรุงเบิร์น มาบัญญัติไว้ ดังนั้น เจ้าของงานหรือผู้สร้างสรรค์จะสามารถอ้างได้ตลอดเวลาว่าคือเจ้าของงาน และงานที่ดัดแปลงแล้วต้องไม่ทำให้ผู้สร้างงานถูกดูหมิ่น

 

อัลบั้ม Bangkok Thrash Compilation Vol.1 (2009)

รวบรวมเพลงโดย Underground Thrash Project
งานเพลงชิ้นแรก ๆ ที่ใช้ CC ฉบับประเทศไทย
โดยใช้สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์แบบแสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง
3.0 ประเทศไทย

ดาวน์โหลดได้ที่ myspace.com/thrashprojects

 

 

เนื้อหาดิจิทัลเพื่อส่งเสริม "วัฒนธรรมเสรี"

ต่อมา มีการเสวนา เรื่อง การเผยแพร่เนื้อหาดิจิทัลเพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมเสรี ดำเนินรายการโดย วิริยะ สว่างโชติ จากศูนย์วัฒนธรรมศึกษา วัฒนศาลา โดยปราบดา หยุ่น ศิลปินและนักเขียน กล่าวว่า ทุกวันนี้ นักเขียนก็รู้สึกว่าเขียนโดยไม่ผ่านสำนักพิมพ์ เขียนลงในอินเทอร์เน็ตก็ได้ แต่ที่ยังต้องผ่านสำนักพิมพ์อยู่ เพราะมีรายได้จากยอดขาย อย่างไรก็ตาม มองว่าหากให้หนังสือเป็น CC ก็คงไม่ได้มีผลกับยอดพิมพ์ เพราะยังมีกลุ่มคนที่ชอบจับหนังสือ ขณะที่ก็มีคนที่สะดวกกว่าที่จะอ่านในเน็ตและใช้ฟรี

 

ทั้งนี้ บางครั้ง สำหรับหนังสือบางเล่มก็คล้ายเป็นเรื่องมารยาทกับสำนักพิมพ์ หรือนิตยสารที่เขาให้เขียน ซึ่งคงไม่ใช่การตัดสินใจคนเดียว หากเป็นกรณีที่หมดสัญญาแล้ว หรือมีการเขียนเพิ่ม เขาก็เห็นว่า ให้ได้โดยไม่ต้องถามสำนักพิมพ์ เรื่องสั้นของเขาก็มีหลายคนติดต่อมาเพื่อขออนุญาตนำไปทำหนังสั้น ซึ่งเขาก็อนุญาต

 

ปราบดากล่าวต่อว่า เขารู้สึกว่า CC เป็นสิ่งที่มีขึ้นสำหรับคนสร้างสรรค์งานที่ใจดีอยู่แล้ว หลายครั้ง ตัวเองทำงานขึ้นมา ถ้าทำโดยอยากสื่อสารเอง หรือไม่ได้ทำเพื่อรายได้ ก็ไม่ค่อยรู้สึกอะไรกับการที่คนอื่นจะนำงานของเขาไปใช้ แต่ปัญหาที่สงสัยคือ ข้อมูลที่ควรจะฟรีจริงๆ หลายครั้งไม่ได้อยู่ในมือของบุคคลใจดี แต่อยู่ในมือของคนที่คิดแต่เรื่องผลประโยชน์เป็นใหญ่ เขาตั้งคำถามว่า CC จะเป็นแค่สัญลักษณ์สำหรับคนที่พร้อมใช้ประโยชน์อยู่แล้วหรือไม่ แต่ในระดับที่กว้างขึ้น คนที่คิดแต่เรื่องผลประโยชน์จะยังคงมีอยู่เป็นจำนวนเท่าเดิมหรือไม่ CC จะโน้มน้าวให้คนเหล่านั้นคิดถึงวัฒนธรรมเสรีว่าจะเป็นประโยชน์กับสังคมได้เพียงใด

 

ด้านสุภาพ หริมเทพาธิป จากเครือข่ายสื่อใหม่สร้างสรรค์ มองว่า ต่อไปหากค่ายหนัง หรือค่ายเพลงรู้จักว่ามี CC เขาจะรู้เองว่าจะทำมาหากินกับมันอย่างไร

 

เขาเล่าว่า ในแวดวงหนังสั้น เมื่อก่อน คนที่อยากทำหนังจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่พอมีดิจิตอลเข้ามา มันง่ายขึ้น ขณะเดียวกัน สิ่งที่พบคือ พอง่ายขึ้น คนก็มักจะลืม เอาของเขามาใช้เฉยๆ โดยไม่ได้บอก ตอนนี้เรามี CC แล้วก็ควรสร้างวัฒนธรรมการใช้ของของคนอื่น มาเป็นแรงบันดาลใจ เพื่อนำไปต่อยอด ไม่ใช่ว่า เอาของคนอื่นมาแล้วก็อ้างว่าเป็นงานของตัวเอง

 

สำหรับ http://fuse.in.th ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่เปิดให้นำเสนอผลงานสร้างสรรค์ อาทิ เพลง หนังสั้น ฯลฯ โดยใช้สัญญาอนุญาตครีเอทัฟคอมมอนส์นั้น สุภาพ เล่าว่ายังมีความไม่เข้าใจอยู่เยอะว่าครีเอทีฟคอมมอนส์คืออะไร แต่ส่วนใหญ่ก็จะเป็นไปตามประสาคนใช้คอมพิวเตอร์หรืออินเทอร์เน็ตทั่วๆ ไปคือ กดๆ ไป ดังนั้น คงต้องใช้เวลาในการผลักดัน CC ้ให้เป็นเรื่องการสร้างวัฒนธรรมใหม่ อย่างไรก็ตาม เมื่อวัฒนธรรมเกิด มองว่าโมเดลธุรกิจก็จะเกิดตามอีกเยอะ ที่สุดแล้ว อยากให้การใช้ CC นำไปสู่การให้เกียรติ มีมารยาทและรับผิดชอบต่องานของตัวเอง ซึ่งระบบลิขสิทธิไม่ตอบโจทย์เหล่านี้

 

ด้านผู้ก่อตั้งเว็บไซต์พันทิป http://pantip.com วันฉัตร ผดุงรัตน์ เริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามว่า คอมพิวเตอร์ในสำนักงานของหลายๆ คน ตอนนี้ใช้ระบบปฏิบัติการอะไร ลินุกซ์หรือวินโดว์

 

เขาขยายความว่า ขณะที่วินโดว์นั้นเป็นตัวแทนของลิขสิทธิ์ ลินุกซ์เป็นตัวแทนของโอเพ่นซอร์ส เพราะฉะนั้น ตอนนี้จึงยังไม่มีคำตอบว่าถ้าแข่งขันใครจะชนะ เพราะเรายังอยู่ในช่วงต้นของการแข่งขัน ขึ้นอยู่กับว่าสุดท้ายใครจะพัฒนาได้ดีกว่ากัน ระหว่างวินโดว์ที่เป็นตัวแทนของลิขสิทธิ์ ซึ่งมีการควบคุมมาตรฐานในการผลิตและการบริหารจัดการ กับลินุกซ์ที่บริหารจัดการน้อยกว่า แต่เปิดกว้างกว่า ดังนั้น ใครจะชนะนั้นยังเร็วไปที่จะบอก

 

อย่างไรก็ตาม วันฉัตรมองว่า โลกของ CC จะเกิดได้ต้องไปอีกไกล เพราะผู้ใช้งาน ณ ตอนนี้ยังไม่เข้าใจ แม้แต่คำว่า "ลิขสิทธิ์" โดยยกตัวอย่างกรณีผู้ใช้งานของพันทิปซึ่งเขียนงานเผยแพร่ในเว็บบอร์ด และต่อมา อยากจะเปิดเว็บของตัวเอง ก็มาขออนุญาตกับตนเองว่าจะเอางานที่เคยเขียนไปใช้ ทั้งที่นี่เป็นสิทธิของเขาอยู่แล้ว

 

ดังนั้นแล้ว การให้ความเข้าใจกับสาธารณะจึงเป็นเรื่องสำคัญ ที่สุดแล้วเชื่อว่า ในระยะยาวสิ่งที่เกิดขึ้นคือโลกของเนื้อหาจะเป็นสองโลกคู่ขนาน ทั้งวินโดว์และลินุกซ์ มีการบริหาร จุดดี-จุดแข่งที่ต่างกัน ขณะเดียวกัน คนที่ทำ CC หรือโอเพ่นซอร์ส ก็ต้องมีแผนธุรกิจเข้ามาด้วย

 

วันฉัตร เล่าว่า กำลังพยายามสร้างโครงการคล้ายๆ กับการ "เปิดหมวก" ใน "บล็อกแก๊งค์" (http://bloggang.com) ซึ่งเป็นพื้นที่ให้บริการบล็อกฟรีของพันทิป โดยจะเป็นในลักษณะให้เพื่อเป็นการตอบแทน เพราะพอใจในผลงาน เพื่อสนับสนุนให้เกิดงานสร้างสรรค์ต่อไปได้

 

 

เกี่ยวกับสำนักกฎหมายธรรมนิติ

สำนักกฎหมายธรรมนิติ ก่อตั้งในปี 2490 โดยคุณประดิษฐ์ เปรมโยธิน จนเมื่อปี 2521 คุณบุศย์ ขันธวิทย์ ได้นำสำนักกฎหมายธรรมนิติ สู่การเป็นสำนักกฎหมายที่ได้รับความเชื่อถือมากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย สำนักกฎหมายธรรมนิติ ให้บริการทางกฎหมายที่มีคุณภาพแก่ลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ แบบครบวงจร ด้วยทีมงานมากกว่า 100 คน รวมถึงนักกฎหมายที่มีความสามารถมากกว่า 50 คน

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสำนักกฎหมายธรรมนิติ เข้าชมได้ที่ http://www.dlo.co.th/ (ภาษาไทย) และ http://www.thailandlawoffice.com/ (ภาษาอังกฤษ)

 

เกี่ยวกับครีเอทีฟคอมมอนส์

ครีเอทีฟคอมมอนส์ (Creative Commons) เป็นองค์กรประเภทไม่แสวงหาผลกำไร ก่อตั้งเมื่อปี 2544 เพื่อส่งเสริมการนำงานด้านศิลปะและวิชาการ ทั้งที่มีลิขสิทธิ์และที่เป็นสาธารณสมบัติ มาใช้งานซ้ำอย่างสร้างสรรค์ ครีเอทีฟคอมมอนส์ เสนอให้นักเขียน ศิลปิน นักวิทยาศาสตร์และนักการศึกษา เลือกใช้สัญญาอนุญาตแบบต่าง ๆ ซึ่งมีลิขสิทธิ์และไม่มีค่าใช้จ่าย โดยยืดหยุ่นตามระดับความคุ้มครองและเสรีภาพที่เหมาะสม บนพื้นฐานของแนวคิด "สงวนสิทธิ์บางประการ" แทนที่การใช้สัญญาอนุญาตตามกฎหมายลิขสิทธิ์แบบดั้งเดิม ที่อยู่บนพื้นฐานของแนวคิด "สงวนลิขสิทธิ์ " ครีเอทีฟคอมมอนส์ ก่อตั้งและได้รับการสนับสนุนอย่างมาก จากหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ ศูนย์เพื่อสาธารณะสมบัติ (Center for the Public Domain), เครือข่ายโอมิดยา (Omidya Network), มูลนิธิรอคกี้เฟลเลอร์ (Rockefeller Foundation), มูลนิธิจอห์น ดี. และคาเธอรีน ที. แมคอาร์เธอร์ (The John D. and Catherine T. MacArthur Foundation), และมูลนิธิวิลเลียม และฟลอร่า ฮิวเล็ทท์ (The William and Flora Hewlett Foundation) รวมทั้งได้รับการสนับสนุนจากสาธารณะชนทั่วไป

 

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับครีเอทีฟคอมมอนส์ เช้าชมได้ที่ http://creativecommons.org

 

(ข้อมูลจาก http://cc.in.th/)

 

 

 

อ่านเพิ่มเติม

เว็บไซต์ของโครงการ ครีเอทีฟคอมมอนส์ ประเทศไทย   

Creative Commons ประเทศไทยเสร็จเรียบร้อยแล้ว จาก http://blognone.com

วิดีโอแนะนำครีเอทีฟคอมมอนส์ โดยทีมงานแบไต๋ ไฮเทค

การ์ตูนแนะนำครีเอทีฟคอมมอนส์ โดย ภูภู่ http://phuphu.exteen.com  

 

 

....................................

หมายเหตุ: แก้ไขล่าสุด เมื่อ 4 เม.ย.52 11.22น.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท