Skip to main content
sharethis


21 มี.ค.52  ที่ห้องจี๊ด เศรษฐบุตร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ การอภิปรายทางวิชาการ เรื่อง "หลากมิติกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" ซึ่งเป็นวันแรกสำหรับการถกเถียงทางวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และนิติศาสตร์ ก่อนจะขยายสู่มิติอื่นในวันพรุ่งนี้ (22 มี.ค.) มีผู้สนใจร่วมฟังประมาณ 200 คน ทั้งนี้ งานดังกล่าวจัดโดย โครงการประกาศนียบัตรกฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ร่วมกับคณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่, สำนักงานสิทธิมนุษยชนศึกษาและการพัฒนาสังคม ม.มหิดล และภาควิชาปกครอง รัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


ในช่วงเช้ามีการอภิปรายเรื่อง "สถาบันพระมหากษัตริย์ในสังคมประชาธิปไตย" ดำเนินรายการโดย ดร.พวงทอง ภวคร์พันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ


 


"ธงทอง" ยันกฎหมายไม่ใช่ปัญหา ไม่เห็นด้วยให้สำนักพระราชวังฟ้องคดี


ศ.ธงทอง จันทรางศุ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขว่า มีสองส่วนคือ พระราชอำนาจตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญและพระราชอำนาจโดยจารีตประเพณีที่ปฏิบัติกันมาในประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข


หนึ่ง พระราชอำนาจตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่ทรงใช้พระราชอำนาจนั้นไม่ได้ตามพระราชอัธยาศัย แต่เป็นไปตามที่มีผู้กราบบังคมทูลแนะนำ เช่น พระมหากษัตริย์มีิอำนาจที่จะทรงตราบทกฎหมาย แต่ที่จริงแล้ว ไม่ได้ทรงเขียนเอง เป็นที่คนอื่นเขาเขียนมาโดยตามคำแนะนำยินยอมของรัฐสภา ขณะที่พระราชอำนาจที่ทรงใช้ตามพระราชอัธยาศัยจริงๆ ในรัฐธรรมนูญจะมีค่อนข้างจะจำกัดมาก รัฐธรรมนูญรับรองไว้ในกลุ่มที่เป็นข้าราชการในพระองค์เ่ท่านั้น เช่น ข้าราชการในราชสำนัก และสมุหราชองครักษ์


อย่างไรก็ตาม มีกรณีที่น่าพิจารณาคือ ในปี 2517 หลังเหตุการณ์ 14 ต.ค.2516 สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ร่างรัฐธรรมนูญ โดยแบ่งสภาออกเป็นสองส่วน คือผู้แทนฯ ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง กับวุฒิสภาซึ่งให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการในการแต่งตั้ง ด้วยหวังว่า วุฒิสภาจะเป็นกลางทางการเมือง ร่างนี้ถูกถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ได้ทรงยังยั้งร่างรัฐธรรมนูญ เพราะขณะนั้นมีความคาดหวังว่าจะมีการเลือกตั้งในเร็ววัน แต่ได้มีพระราชบันทึกแนบไปด้วย ซึ่งนานๆ ทีจะมีพระราชกระแสต่อสาธารณะว่าทรงเห็นด้วยหรือไม่ในทางการเมือง ว่า เนื่องจากทรงแต่งตั้งประธานองคมนตรีตามพระราชอัธยาศัย ถ้าให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้ลงนามฯ แต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา สมาชิกวุฒิสภานั้นจะต้องทำความเห็นทางการเมือง มีบทบาททางการเมือง ซึ่งในทางการเมืองเป็นธรรมชาติที่มีคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย จากเหตุการณ์นี้ สุดท้ายสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนั้นให้นายกฯ เป็นผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการ


"พระราชอำนาจที่ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรในรัฐธรรมนูญทรงใช้อย่างระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง แล้วก็ท่านทั้งหลายที่อยู่ในแวดวงการเมืองก็ควรเข้าใจด้วยว่า พระราชอำนาจนั้นส่วนใดที่เป็นเรื่องของแบบแผนที่ผู้อื่นถวายคำแนะนำ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชอำนาจจำกัดมากในเรื่องนี้ เฉพาะบางส่วนที่เป็นไปตามพระราชอัธยาศัยเท่านั้นที่ทรงทำได้ตามลำพัง" ธงทองกล่าว


ธงทองกล่าวถึงส่วนที่สองว่า คือ พระราชอำนาจที่จะพระราชทานคำแนะนำตักเตือน ซึ่งรัฐบาลจะต้องปรึกษาหารือ ในส่วนนี้ ตำราทั้งหลายพูดตรงกันว่าเป็นพระราชอำนาจที่เป็นไปโดยประเพณีในระบอบประชาธิปไตยในบ้านเรา และเป็นสิ่งที่ในสากลเขาปฏิบัติกันอยู่ สิ่งที่ต้องระมัดระวังคือ รัฐบาลอยู่ในฐานะซึ่งอาจได้รับคำติชมจากประชาชนเป็นปกติวิสัย เพราะฉะนั้น การที่รัฐบาลกราบบังคมทูลขอคำปรึกษาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัฐบาลต้องถือเป็นการภายในระหว่างรัฐบาลกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเอง ทุกรัฐบาลไม่พึงกระทำหรือสื่อความหมายใดๆ ให้เข้าใจว่าการตัดสินใจทางการเมืองที่ล่อแหลมต่อการวิพากษ์วิจารณ์ทั้งหลายมีความเชื่อมโยงกับสถาบันฯ เพราะจะทำให้สถาบันฯ ถูกวิจารณ์เชื่อมโยงกับรัฐบาล


ในส่วนของกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ธงทองกล่าวว่า คำว่า กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เป็นภาษาพูด ทำให้ความเข้าใจเรื่องนี้พร่ามัวและไม่ตรงกับตัวบทกฎหมายที่มีอยู่จริง มีการตีความครอบจักรวาลเกินกว่าที่มีอยู่จริง ทั้งนี้ เขาเห็นว่า ตัวบทกฎหมายไม่ได้เป็นปัญหา เพราะถ้าเรารับมาตรา 326 ดูหมิ่นประมาทเจ้าพนักงาน-ราชทูตได้ ประเด็นก็ไม่ต่างกัน สิ่งที่ต่างและเป็นปัญหาคือภาคปฏิบัติของสังคมไทยที่ใช้ความเข้าใจซึ่งแตกต่างจากสิ่งที่มีอยู่ในกฎหมาย และเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อน ทำให้คนรู้สึกว่าต้องเอาตัวรอดก่อน เจ้าหน้าที่ก็เห็นเรื่องนี้เป็นเผือกร้อน โดยผลสะท้อนกลับคือความเดือดร้อนหรือผลกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เอง นอกจากนี้ธงทองยังไม่เห็นด้วยที่มีแนวความคิดเสนอให้ราชเลขา หรือเลขาธิการพระราชวังเป็นผู้ฟ้องคดีเท่านั้น เพราะจะทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ถือเป็นคู่คดีโดยตรง ซึ่งเป็นสิ่งที่อันตรายอย่างยิ่ง


"ผมเชื่อว่าคนไทยคงจะไม่มีผู้ใดมีความชอบธรรมพอที่จะกล่าวอ้างว่าใครจงรักภักดีมากน้อยกว่ากัน ขึ้นชื่อว่าเป็นคนไทยแล้ว ผมมีสมมติฐานในใจว่า มีความจงรักภักดีด้วยกันทั้งหมดทุกคน"


 


"นิธิ" ชี้ปัญหาเส้นแบ่งพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์กับพื้นที่สาธารณะไม่ลงตัว


ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า นับแต่วันที่ 24 มิ.ย.2475 เกิดความขัดแย้งทางกฎหมายเกี่ยวกับสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์แบ่งออกเป็น 2 แนวทางหลักที่ถกเถียงกัน ได้แก่ แนวคิดว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย สถาบันพระมหากษัตริย์ที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญนั้นเป็นสถาบันพระมหากษัตริย์ใหม่ที่ตัดขาดจากลักษณะในช่วงก่อนปี 2475 ถ้ารัฐธรรมนูญถูกฉีกก็เท่ากับทำลายฐานความชอบธรรมของสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย กับอีกแนวทางหนึ่งซึ่งตรงข้ามกับแนวคิดแรกคือ เห็นว่ารัชกาลที่ 7 ทรงลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญ ซึ่งต่อมาเรียกว่าเป็นการพระราชทานรัฐธรรมนูญ ดังนั้น อำนาจอธิปไตยเป็นของพระมหากษัตริย์มาก่อนแล้วแล้วจึงสละให้ประชาชน ความชอบธรรมของสถาบันพระมหากษัตริย์จึงไม่ได้อยู่ที่รัฐธรรมนูญเท่านั้น ถ้ารัฐธรรมนูญถูกฉีก อำนาจอธิปไตยก็ยังอยู่ที่สถาบันพระมหากษัตริย์ดังเดิม


ผู้นำการเปลี่ยนแปลงการปกครองหรือหลังจากนั้นก็ตามล้วนแล้วแต่ให้ความสำคัญกับพระมหากษัตริย์ในฐานะที่เป็นสถาบันที่สำคัญ และการเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเทศไทยไม่ว่าครั้งใด ระบอบสาธารณรัฐไม่เคยเป็นทางเลือกเลยสักครั้งเดียว แต่ถูกใช้ใส่ร้ายป้ายสีกันตลอดมา ปัญหาสำคัญอยู่ที่ว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบใหม่พึงมีสถานะอย่างไร เนื่องจากหลังวันที่ 24 มิ.ย. มีอำนาจอื่นที่เข้ามาคั่นกลางระหว่างกษัตริย์กับประชาชน ไม่ว่ากลุ่มนั้นจะได้มาจากการเลือกตั้งหรือปากกระบอกปืน ดังนั้น อะไรควรเป็นความสืบเนื่องและอะไรไม่ควรจะสืบเนื่องอยู่ในความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว


นิธิ กล่าวว่า โดยส่วนตัวมี 2 ประเด็นหลักที่ต้องพิจารณาซึ่งคาบเกี่ยวกันมากจนถือว่าเป็นเรื่องเดียวกันก็ได้ประเด็นที่ 1 หน้าที่และบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในทางการเมือง ซึ่งมีความขัดแย้งกันตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับวันที่ 10 ธ.ค.2475 เป็นคำถามว่าบทบาทและสถานะทางการเมืองของพระมหากษัตริย์ที่จะเข้ามากำกับฝ่ายบริหารพึงมีมากน้อยแค่ไหน เช่น ใครมีอำนาจแต่งตั้ง ส.ส. ประเภท 2 พฤฒิสภาหรือวุฒิสภาใครจะเป็นคนแต่งตั้ง  


ประเด็นที่ 2 พื้นที่ความศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งมีข้อกำหนดโททางกฎหมายชัดเจน หรือมีทัณฑ์ทางสังคมก็ตามแต่ และเป็นพื้นที่ที่ไม่เปิดให้คนอื่นเข้าไปร่วม เปลี่ยนแปลงแก้ไขไม่ได้ หากพื้นที่นี้มีมากเกินไปก็จะเบียดพื้นที่สาธารณะอื่นๆ อันที่จริงหลังรัชกาลที่ 5 ที่ประเทศไทยก้าวสู่ความทันสมัยก็มีผลทำให้พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์จำนวนมากคลายความศักดิ์สิทธิ์ลง หลังปี 2475 การจัดพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันพระมหากษัตริย์มีความขัดแย้งกันเกิดขึ้นคือ ถ้ามีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขก็ต้องรักษาพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ไว้ ขณะเดียวกันก็ต้องลดพื้นที่นี้ลงด้วยเพื่อเปิดพื้นที่ให้สาธารณะมีส่วนร่วม ปัญหาคือเส้นแบ่งอยู่ตรงไหน


ปี 2479-2489 มีความพยายามแบ่งพื้นที่ตรงนี้ให้ชัดเจนในทางกฎหมาย รัฐบาลมีการทบทวนแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มีการตั้งคณะกรรมการที่จะมาจัดการพื้นที่นี้ เช่น มีการเสนอจากคณะกรรมการชุดนี้ให้ยกเลิกคำว่า "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" เสียเพราะไม่เหมาะกับระบอบประชาธิปไตย เปลี่ยนคำว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเป็นคำว่า พระมหากษัตริย์ โดยมีเจตนาที่จะเน้นความเป็นสถาบันให้ชัดเจนขึ้น ตัดความคุ้มครองเจ้านายและพระบรมวงศานุวงศ์ นอกนจากนั้นแล้วมาตรา 112 ก็จัดอยู่ในความผิดที่กระทบต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร อย่างไรก็ตามแต่ พื้นที่ที่ว่าก็ยังมีปัญหาตลอดมา


นิธิกล่าวว่า โดยความเข้าใจส่วนตัวพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น มีความศักดิ์สิทธิ์ที่พระมหากษัตริย์เป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยตามระบอบประชาธิปไตย ตำแหน่งสูงๆ ที่ต้องมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งเพราะตำแหน่งสูงๆ นี้อาจจะไปกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย และอำนาจที่ใหญ่กว่าสิทธิเสนรีภาพของประชาชนก็คืออำนาจอธิปไตย จึงต้องมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งในฐานะที่เป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยในนามของปวงชนอีกที แต่หลังปี 2490 มีความพยายามขยายพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ไปเรื่อยๆ เช่น มีพระราชอำนาจในการกลั่นกรองกฎหมายมากขึ้น แม้แต่ในรัฐธรรมนูญเองก็มีการใช้ราชาศัพท์ที่ซับซ้อนขึ้น การกล่าวถึงพระมหากษัตริย์ก็ต้องมีความเคร่งครัดขึ้น ซับซ้อนขึ้นหนาแน่นขึ้น และการละเมิดก็มีโทษทางอาญา


แนวโน้มการขยายพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในนามของพระมหากษัตริย์ไม่ใช่มนทางกฎหมายอย่างเดียว แต่รวมถึงในทางสังคมและวัฒนธรรมด้วย และกระทบต่อตัวสถาบันพระมหากษัตริย์เอง เพราะพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์นี้ได้ผลักให้สถาบันต้องมารับผิดกับทุกอย่างที่เกิดขึ้นไม่ว่าในทางการเมือง เศรษฐกิจหรือวัฒนธรรม และต้องไม่ลืมว่าจะให้สถาบันมาตอบโต้ก็ไม่ได้ เพราะต้องรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันเอาไว้ จึงเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความลำบากแก่สถาบันพระมหากษัตริย์มาก


ที่น่าสังเกตคือที่ว่าเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในกฎหมายอาญาสมัยนั้นนับรวมถึงเสนาบดีที่ทำตามรพะบรมราชโองการด้วย เมื่อกฎหมายค่อนข้างคลุมเครือก็เปิดโอกาสให้เสนาบดีไปหลบอยู่หลังกฎหมายนั้นแทน แล้วปล่อยให้การโจมตีข้ามตนเองไปยังสถาบันแทน พูดง่ายๆ คือไปหลบอยู่เบื้องหลังราชบัลลังก์ ซึ่งก็เหมือนสมัยปัจจุบันเช่นกัน


 


"เกษียร" วิเคราะห์การสร้างขบวนการล้มเจ้า


รศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เมื่อมองเรื่องนี้ในมุมรัฐศาสตร์ สามารถแบ่งได้เป็น 6 ประเด็นคือ หลักการ,ประวัติศาสตร์,พรมแดน,กฎหมายหมิ่นฯ,ความคิด,ขบวนการ โดย 4 ประเด็นแรกปรากฏในบทสัมภาษณ์ในเว็บไซต์ประชาไทแล้ว


(อ่าน: 4 คำถามสัมภาษณ์ "เกษียร เตชะพีระ" เรื่องคดีหมิ่นพระมหากษัตริย์กับสังคมไทย)


1.หลักการ - ฐานคติของสถาบันกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยคือ เป็น popular consent หรือฉันทานุมัติ/การยินยอม ยอมรับโดยสมัครใจของประชาชนซึ่งจะเป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็กที่ปกปักรักษาสถาบันกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย และสร้างได้โดยอาศัยพระคุณ หากยิ่งใช้พระเดชมาก จะยิ่งทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์เดือดร้อน และจะเป็นการผลักระบอบการปกครองให้ไถลเลื่อนไปสู่ลักษณะของระบอบเผด็จการอำนาจนิยมในนามของสถาบันกษัตริย์โดยไม่รู้ตัว


2. ประวัติศาสตร์- ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเป็นการประนีประนอมระหว่างรัชกาลที่7และคณะราษฎรในฐานะตัวแทนปวงชนชาวไทย เป็นการบรรลุฉันทามติร่วมกันแล้วว่า จะไม่กลับไปสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และไม่เป็นสาธารณรัฐ ดังนั้น การเรียกร้องให้ถวายพระราชอำนาจคืน การยึดอำนาจ การเสนอระบอบสาธารณรัฐ ก็คือการพยายามรื้อความตกลงนั้นมาแก้ไขใหม่ ซึ่งส่งผลสะเทือนต่อสถานะของสถาบันกษัตริย์


 


3.พรมแดน- การธำรงไว้ ปฏิรูป หรือยกเลิกกฎหมายใดๆ ของไทยย่อมเป็นอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยที่กระทำได้ผ่านกระบวนการนิติบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ แต่ในฐานะที่อยู่ในสังคมโลก ควรรับฟัง แลกเปลี่ยนและพิจารณาข้อคิดเห็นของมิตรผู้ห่วงใยประเทศไทยที่อาจเห็นต่างไปจากเรา โดยอำนาจตัดสินใจย่อมยังอยู่กับประชาชนไทย


 


4.กฎหมายหมิ่นฯ - นายกฯ อภิสิทธิ์ และรองนายกฯ สุเทพก็เห็นว่ามีบางอย่างในการใช้กฎหมายหมิ่นฯ เป็นปัญหา ทำให้มันกลายเป็นเครื่องมือรังแกฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง กลายเป็นการดึงสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ลงมาในความขัดแย้งทางการเมืองและอยากปฏิรูปแก้ไขเกี่ยวกับการดำเนินคดี เช่นเดียวกันกับบรรดานักวิชาการที่เรียกร้อง ไม่มีใครมีวาระซ่อนเร้นในการเปลี่ยนไปสู่ระบอบสาธารณรัฐ


สำหรับประเด็นที่ 5 เรื่องความคิดนั้น เกษียรกล่าวว่า น่าสนใจว่าอะไรคือเงื่อนไขความคิดของฝ่ายต่างๆ ที่ดึงสถาบันพระมหากษัตริย์ลงมาในการเมือง ซึ่งวิเคราะห์แล้วเห็นความคิดพื้นฐาน 3 ประการคือ 1.สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามความหมายดั้งเดิมสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชาย์ 2. เส้นแบ่งแบบโลกสมัยใหม่ มีความชัดเจนในเรื่องการเมืองกับไม่การเมือง ศาสนจักรกับอาณาจักร โลกวิสัยกับธรรมวิสัย เจตนากับผลลัพธ์ ความคิดกับการกระทำ การบังคับทางกฎหมายกับการบังคับทางสังคม ฯลฯ หากมีความคิดว่าสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์แบบดั้งเดิมจะทำให้เส้นแบ่งเหล่านี้จางเลือน หรือไม่สำคัญ หรือควรก้าวข้าม 3.พวกเขาจึงอยากปฏิบัติเสมือนหนึ่งพระมหากษัตริย์เป็นศาสนาประจำชาติ


สำหรับมุมมองที่ต่างออกไปจากกลุ่มแรก เกษียรได้อ้างถึงข้อเขียนของ นพ.ประเวศ วะสี ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชนเร็วๆ นี้เรื่องความเป็นธรรมเรื่องใหญ่ที่สุดของประเทศไทยซึ่งระบุว่า คนมีหลากหลายความคิดจิตใจ นิยมกษัตริย์บ้าง ไม่นิยมบ้างเป็นธรรมดา ทำอย่างไรความแตกต่างหลากหลายในสังคมพหุลักษณ์จะอยู่ร่วมกันได้ คำตอบคือความเป็นธรรมจะทำให้อยู่ร่วมกันได้ คนไทยต้องร้อยเรียงความแตกต่างหลากหลายมาเป็นความสร้างสรรค์และความเป็นธรรมจะทำให้หาจุดลงตัวร่วมกันได้


ประเด็นที่ 6 เกษียรกล่าวถึงภาพขบวนการล้มเจ้าว่า แบ่งเป็นความพยายามทำความเข้าใจวิธีมองของคนที่เห็นขบวนการนี้ และความเห็นขอนตนเองต่อปรากฏการณ์นี้ โดยการเห็นขบวนการล้มเจ้าเกิดขึ้นในภาวะที่ชนชั้นนำและชนชั้นกลางของไทยอยู่กลางความขัดแย้งเปลี่ยนแปลงใน 2-3 ปีที่ผ่านมาทำให้เกิดความกลัว วิตกกังวลเป็นธรรมดา แต่ถ้าคุมไม่ดีอาจกลายเป็นความหวาดระแวงได้ และธรรมชาติของความหวาดระแวงนั้นต้องการหาวัตถุหรือเป้าหมายแห่งความหวาดระแวง และนอกจากนี้ยังเป็นความสัมพันธ์ระหว่าง double life netizen ซึ่งคือคนที่โพสต์ข้อความล่อแหลมต่างๆ โดยใช้ชื่อปลอมในอินเตอร์เน็ต แล้วกลับมาใช้ชีวิตจริงแบบปกติในสังคม เพราะสังคมปกติมีต้นทุนของการแสดงจุดยืนทางการเมืองที่ต้องจ่ายด้วย โดยเฉพาะสังคมที่ยังไม่เสรีจริงๆ คนที่แสดงจุดยืนทางการเมืองโดยไม่จ่ายต้นทุนทางสังคมนี้มีจอคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องอำพรางตนทำให้แสดงความเห็นอย่างสุดโต่ง และสุดท้ายจู่ๆ เจ้าหน้าที่ก็ตรวจสอบได้แล้วมีการจับกุมจริงๆ ซึ่งเกษียรได้ยกกรณีของสุวิชา ท่าค้อ ผู้ต้องหาคดีหมิ่นฯ จากการโพสต์ในอินเตอร์เน็ตที่ให้สัมภาษณ์ว่าด้วยความที่อยากถูกปล่อยตัวกลับบ้านจึงยอมรับทุกอย่าง และพูดในสิ่งที่เจ้าหน้าที่อยากได้ยินหรือที่แต่งเรื่องไปในทางที่เจ้าหน้าที่เชื่อเกี่ยวกับขบวนการ แต่สุดท้ายก็ยังถูกคุมตัวอยู่ในเรือนจำ ในที่สุดขบวนการล้มเจ้าก็เป็นตัวเป็นตน


เกษียรกล่าวต่อว่าสำหรับสิ่งที่ตนเห็นในปรากฏการณ์นี้คือ ภาพของคนที่ถูกเห็นเป็นขบวนการล้มเจ้ามีจุดร่วมอย่างเดียวคือ ต้องการให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมือง ไม่ให้ใช้สถาบันรังแกศัตรูทางการเมือง ถ้านี่คือจุดร่วม สมมติฐานก็คือต้องมีสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยเช่นกัน ประกอบกับมีบุคคลที่เป็นปัจเจกแล้วเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย โดยต้องมี 5 ส่วนสำคัญ คือ คน การจัดตั้ง สื่อ วาทกรรม และการเคลื่อนไหว ทีนี้คนที่ไม่สบายใจเมื่อเห็นการดึงสถาบันกษัตริย์มาสู่ความขัดแย้งทางการเมือง ถูกใช้เป็นเครื่องมือรังแกศัตรูทางการเมือง เขาก็เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายและแสดงจุดยืนผ่านการเคลื่อนไหวผ่านสื่อโดยมีความหลากหลายมาก อย่าเหมารวม และหากใครแสดงตัวถึงขั้นว่าไม่เอาเจ้าจริงๆ ก็จะหลุดออกไปจากวงการหมด เพราะการเคลื่อนไหวแบบนี้จุดร่วมก็คือ "มีสถาบันพระมหากษัตริย์"


 


"ทองใบ" ชี้ปัญหาการบังคับใช้ คดีพิเศษเจ้าหน้าที่ก็กลัว รีบผลักจนถึงศาล


นายทองใบ ทองเปาด์ ทนายความสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า มีการพูดว่ามีการใช้ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพโดยการแพร่ภาพทางเว็บไซต์ต่างๆ ก็ไม่ทราบว่ามีอย่างนั้นมากจริงหรือเปล่า แต่ในฐานะที่เป็นที่ปรึกษากรมราชทัณฑ์จึงขอข้อมูลไปว่าสถิติว่าผู้ต้องขังในข้อหานี้มีเท่าใด ทางอธิบดีบอกว่าไม่มีการเก็บสถิติไว้ แต่เชื่อว่ามีไม่มาก


เรื่องมาตรา 112 นั้น หากดูกฎหมายลักษณะอาญา รศ. 121 ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์จะอยู่ในมาตรา 98 ระบุว่า ผู้ใดทะนงองอาจแสดงความอาฆาตมาดร้าย หรือหมิ่นประมาทต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ดี พระมเหสีก็ดี ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ก็ดีจะถูกจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับอีก 5000 บาทด้วยอีกส่วนหนึ่ง


ปัญหาสำคัญของคดีนี้ในปัจจุบันคือ เมื่อมีคนแจ้งไปแล้ว ตำรวจหนักใจอย่างยิ่ง ต้องไปจับมา และ ไม่ว่าจะเห็นอย่างไรก็ไม่กล้าออกความเห็น ก็ต้องส่งไปอัยการ อัยการก็ไม่กล้าเช่นกัน ก็ส่งให้ศาลตัดสิน ผลักกันไปอย่างนี้จนถึงศาล และยังมีปัญหาที่ต้องมีคนติดคุกอยู่ระหว่างพิจารณาคดีด้วย ดังนั้น ประเด็นสำคัญของปัญหาจึงอยู่ที่การใช้กฎหมายนี้


รัฐธรรมนูญไทย 3 ฉบับคือ ฉบับปี 2511 2517 และ 2519 มีการกล่าวว่า ประเทศไทยเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข พระมหากษัตริย์อยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดไม่ได้ ส่วนฉบับอื่นๆ ไม่มีการระบุเรื่องผู้ใดจะละเมิดไม่ได้


แล้วจะแก้ไขไหม พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์นี้ หรืออีกนัยหนึ่งคือจำเป็นไหมที่จะต้องมีการระบุนี้ บางคนเห็นว่า ราษฎรธรรมดายังมีกฎหมายหมิ่นประมาท มาตรา 327 แม้แต่คนตายไปแล้วก็ยังได้รับการคุ้มครอง ลูกเมียเขาเสียหายก็ฟ้องได้ และยังสามารถฟ้องละเมิดตามกฎหมายแพ่งได้ด้วย  แล้วสถาบันพระมหากษัตริย์จะไม่มีกฎหมายคุ้มครองบ้างหรือ และหากไปดูในกฎหมายจะเห็นว่าเรามีการคุ้มครองประมุขที่มีสัมพันธไมตรีกับเราด้วย รวมถึงคุ้มครองตัวแทนรัฐต่างประเทศที่อยู่ในประเทศไทย รวมถึงสัญลักษณ์หรือธงด้วย


ดังนั้น หาก ม.112 จะเป็นปัญหาก็เป็นปัญหาเรื่องความไม่เด่นชัดของข้อความ เปิดช่องให้มีการตีความได้กว้างมาก เช่น "ดูหมิ่น" คืออย่างไร ผู้ใช้กฎหมายมีความจงรักภักดีเกินไปทำให้มีการขยายขอบเขตไปมาก และหากดูการบังคับใช้จะเห็นว่ามีหลายกรณีที่ทำให้ไม่สบายใจ  หากใช้กฎหมายโดยเคร่งครัด ตีความตรงไปตรงมา กล้าให้ความเห็นหรือตัดสินอย่างสมเหตุสมผล ตัวกฎหมายที่มีก็ไม่ใช่ปัญหา แต่หากขาดสิ่งเหล่านี้ต่อให้แก้กฎหมายลงรายละเอียดมากมายก็ยังมีปัญหา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net