"ผมไม่ได้หนี"

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

นิสิตปริญญาเอก คณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ, กลุ่มประกายไฟ

 

การปาฐกถาของอภิสิทธิ์ เวชชชีวะที่มหาวิทยาลัยออกฟอร์ดในหัวข้อ "การจัดการความท้าทายในการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย" และการปะคารมกับ รศ.ใจ อึ๊งภากรณ์ เป็นที่กล่าวขานในสังคมไทยอยู่ไม่น้อย แต่ทั้งนี้ข่าวโดยมากถูกเสนออคติโดยสื่อกระแสหลัก และทำให้บทสนทนาระหว่างทั้งคู่กลายเป็นเรื่องตลก ซึ่งนายกรัฐมนตรีไทยคนนี้ก็ได้รับฉายาดังกล่าวจากสื่อต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับ ภาพลักษณ์ของ ใจ อึ๊งภากรณ์ที่ถูกสร้างโดยสื่อกระแสหลักของไทย เกี่ยวกับบทสนทนาว่าด้วยเรื่อง หนี ไม่หนี กลายเป็นเรื่องตลกจากต่างแดนในช่วงข่าวภาคค่ำ

 

กระนั้นเอง ภายใต้ตลกและการเล่นลิ้นของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีประเด็นสำคัญที่ถูกกลบไว้ ว่าด้วยความเป็นธรรมของรัฐไทย การทำความเข้าใจประเด็นดังกล่าวจะทำให้เรา ได้คำตอบที่แท้จริงว่า "ไม่หนีแล้วมา อยู่นี่ได้อย่างไร"

 

ก่อนหน้าการบรรยายของ อภิสิทธิ์ ได้มีการต่อต้านจากคณาจารย์และนักวิจัย จากมหาวิทยาลัยออกฟอร์ด อยู่ไม่น้อย หนึ่งในนั้น คือนักวิจัยประจำมหาวิทยาลัยออกฟอร์ด ซึ่งเป็นศิษย์เก่ามหาวิทยาลัย ออกฟอร์ดเช่นเดียวกัน ได้แสดงทรรศนะว่า เป็นเรื่องน่าภูมิใจที่ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยออกฟอร์ดได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่การเชิญ นายกรัฐมนตรีผู้ที่ขึ้นสู่ตำแหน่งด้วย ความเกี่ยวข้องกับการทำรัฐประหาร รวมถึงม็อบที่ปฏิเสธการเลือกตั้งและเรียกร้องให้การทำปฏิวัติโดยทหาร มาบรรยายเรื่อง ประชาธิปไตย ดูจะเป็นการไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง

 

กระนั้นเองเมื่อเริ่มทำการบรรยาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยังคงแสดงจุดยืน ถึงการไม่ไว้ใจ้คะแนนเสียงของชนชั้นล่างโดยประกาศว่า "ตนไม่ยอมให้ เสียงข้างมาก มาทำลายความชอบธรรมของการปกครอง"....สิ่งเหล่านี้ยังคงวางอยู่บนฐานความคิดเดียวกับเหล่าชนชั้นปกครองในไทย และนักรัฐศาสตร์กระแสหลักที่รับใช้ชนชั้นปกครอง ซึ่งมองว่า ประชาชนคือฝูงชนผู้บ้าคลั่งและโง่เขลา เสียงข้างมากของเหล่าคนบ้าที่โง่งมรังแต่จะพาประเทศสู่ความล่มจม

 

คำบรรยายดังกล่าวของอภิสิทธิ์เป็นการยืนยัน วิธีคิดแบบนชนชั้นสูงของเขา คนเหล่านี้มองว่าประชาชนโง่ไม่รู้ประโยชน์ตัวเอง และถูกชักนำได้ อันนำสู่ผลเสียส่วนรวม ....แน่นอนที่สุดคนเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องสนใจประชาชน เพราะพวกเขาสามารถได้อำนาจหรือจัดตั้งรัฐบาลโดยอำนาจนอกระบบ...หรือการสนับสนุน จากม็อบชนชั้นกลาง ซึ่งสำส่อนทางอุดมการณ์ และคิดว่าตัวเองวิเศษกว่าชนชั้นล่างที่สร้างประเทศนี้ขึ้นมา

 

นอกเหนือจากกรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่จะพิจารณาในส่วนถัดไป อภิสิทธิ์ ยังคงเล่นตลกระดับโลก ในกรณีเจ้าหน้าที่ไทยละเมิดสิทธิมนุษยชนกับชาวโรฮิงญา ซึ่งเขาปฏิเสธว่าเรื่องเหล่านี้ไม่เคยเกิดขึ้น ในประเทศไทย ขัดกับก่อนหน้านั้น ซึ่งเขายืนยันว่า "สิทธิมนุษยชนต้องมีขอบเขต" ก่อนหน้านั้นเขาแสดงทรรศนะไร้เดียงสาว่าชาวโรฮิงญาเป็นภัยต่อความมั่นคงไทย ทั้งๆ ที่ชาวโรฮิงญาโดยมากเป็นทั้งผู้ลี้ภัยการเมือง และทำงานที่คนไทยไม่ทำ เป็นเรื่องตลกที่นายกรัฐมนตรีผู้สำเร็จการศึกษาจากโลกตะวันตก กลับแสดงจุดยืนว่า หลักการสิทธิมนุษยชนไม่ใช่หลักการพื้นฐานสากล และต้องอยู่ใต้เงื่อนไขความมั่นคงของประเทศ (และของรัฐบาล)

 

เรื่องตลกกว่านั้นคือ เขายืนยันในการบรรยายว่า เรื่องเหล่านี้ไม่เคยเกิดขึ้นทั้งๆ ที่เขาเคยแสดงจุดยืนต่อเรื่องดังกล่าวไปแล้ว

 

ในคำถามของใจ อึ๊งภากรณ์ อภิสิทธิ์ ได้ออกตัวว่าตนเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกที่ใส่ใจเรื่องกฎหมายหมิ่นฯอย่างเป็นรูปธรรม และชี้ให้เห็นว่า กษัตริย์จำเป็นต้องมีกลไกที่ปกป้องอย่างเป็นรูปธรรม เขาแกล้งไม่รู้ หรือไม่รู้จริงๆ ก็มิอาจทราบได้ว่า กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มีกระบวนการพิจารณา ไต่สวนคดี และบทลงโทษ ต่างจากกฎหมายหมิ่นประมาททั่วไป กฏหมายดังกล่าวจึงไม่ใช่การปกป้องกษัตริย์ในฐานะมนุษย์หนึ่งคน หากแต่ปกป้องสถาบันนี้ในฐานะที่พึ่งสุดท้ายของระบบทุนนิยม การห้ามตั้งคำถามกับความเป็นไปของระบอบการปกครอง ความอยุติธรรมทั่วไป รวมถึงความเหลื่อมล้ำในสังคม

 

เรื่องตลกอีกเรื่องคือ เขายืนยันว่าคดีหมิ่นฯ ก่อนหน้านี้ได้มีการยกเลิกไปแล้ว... อภิสิทธิ์ พยายามทำเรื่องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นเพียงเรื่องเล็กๆ มีความเฉพาะในลักษณะจารีตประเพณี โดยยืนยันว่าไม่ขัดกับหลักประชาธิปไตย ทั้งๆ กฎหมายนี้ถูกใช้เป็นข้ออ้างของผู้ประกอบการในการทำลายขบวนการแรงงาน มีผู้นำแรงงานถูกเลิกจ้างด้วยคดีดังกล่าว ในคดีของ ใจ กฎหมายหมิ่นถูกใช้ในฐานะเครื่องมือการทำลายเสรีภาพทางวิชาการ และล่าสุดกรณีสำนักข่าวประชาไท เราก็จะเห็นว่าสาระหาได้อยู่เพียงแค่ "ตัวบทกฎหมายเท่านั้น" วิธีคิดแบบกษัตริย์นิยม สอดแทรกอยู่ทุกตัวบทกฎหมายและการบังคับใช้ ดังตัวอย่างว่าด้วยกฎหมายอาญาเกี่ยวกับเรื่องสื่ออินเตอร์เนตและคอมพิวเตอร์

 

บทสรุปสุดท้ายมาตกลงที่การออกตัวของนายกรัฐมนตรีที่ว่า ตนเองก็เคยโดนคดีดังกล่าวและไม่ได้หนีไปไหน..ซึ่ง ใจ อึ๊งภากรณ์ ตอบสวนว่า ตนก็ไม่ได้หนีไปไหน....และอภิสิทธิ์ก็ตอกกลับมาว่า ถ้าไม่หนีเหตุใดจึงมาอยู่ที่นี่....ท่ามกลางเสียงปรบมือของเหล่าสมุนสถานทูต และนักวิชาการหอคอยงาช้าง.... น่าเสียดายที่ อ.ใจ ไม่ได้มีคำตอบที่ขยายความอะไรมากกว่านี้ กระนั้นเองบทสนทนาสั้นๆ นี้กลับทิ้งอะไรมากกว่าที่เราคาดไว้

 

ใจ อึ๊งภากรณ์ เป็นมนุษย์คนหนึ่ง เขามีอารมณ์ ความคับแค้น ความไม่พอใจ บ่อยครั้งนำสู่ ความวู่วาม การเล่นสำนวนของเขาย่อมไม่สามารถสู้กับนักการเมืองอาชีพที่ถนัดพูดเรื่องนามธรรมที่ไร้ความหมายอย่างอภิสิทธิ์ได้ แม้บ่อยครั้งภาพของใจ ช่วงหลังดูยิ่งใหญ่จนเป็นตัวแทน ของอุดมการณ์การต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมทุกเรื่องในสังคมไทย แต่การที่เขายุติการตอบโต้เพียงแค่นี้ ก็มิใช่หมายความว่าข้อเท็จจริง หรือประวัติศาสตร์ของการต่อสู้จะจบ ลงที่ คำว่าหนี หรือไม่หนี....คำตอบที่ ใจไม่ได้ตอบจะแสดงในส่วนถัดไปนี้

 

ใจ อึ๊งภากรณ์ไม่ใช่คนไทยคนแรกที่ลี้ภัยทางการเมืองด้วยเหตุผลที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์...

 

ปรีดี พนมยงค์ ภายใต้เงื่อนไขใกล้เคียงกัน ในกรณีสวรรณคตของกษัตริย์รัชกาลก่อน ขณะนั้นปรีดี ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เขาตกเป็นผู้ต้องหาคดีดังกล่าว กระแสข่าวถูกโหมกระพือด้วยการว่าจ้างคนไปตะโกนในโรงภาพยนตร์ของพรรคประชาธิปัตย์ ควบคู่กับการลงข่าวหนังสือพิมพ์แนวอนุรักษ์นิยมอย่างสยามรัฐของคึกฤทธิ์ ปราโมทย์ ไม่กี่เดือนถัดมาการทำรัฐประหารของ พลเอก ผิณ ชุนหวรรณ โดยมี ร้อยเอกชาติชาย ชุณหวรรณ (ยศขณะนั้น) ขับรถถังตะลุยเข้าไปในบ้านพัก ของ ปรีดี พนมยงค์ ....คงเป็นเหตุผลว่า ขณะนั้นหากมีการดำเนินคดีปรีดี พนมยงค์ ในเงื่อนไขสถานการณ์ดังกล่าว สามสิบปีถัดมาคงไม่ได้มีบทสรุปถึงความบริสุทธ์ของปรีดี และการลงข่าวขอโทษของหนังสือพิมพ์สยามรัฐโดยปัญญาชนฝ่ายนิยมเจ้าอย่างคึกฤทธิ์ ปราโมทย์

 

ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ก็เช่นเดียวกัน ด้วยข้อกล่าวหาว่าด้วยปลุกปั่นทำลายความมั่นคง แม้จะไม่ได้ต้องข้อหาโดยตรง แต่ขณะเดินทางออกนอกประเทศ ได้มีการปลุกปั่น ของวิทยุยานเกราะ และ พันโท สล้าง บุนนาค(ยศขณะนั้น)ให้เหล่าลูกเสือชาวบ้าน มาประชาทัณฑ์ ดร.ป๋วย เงื่อนไขดังกล่าวเราจะเห็นว่ารัฐไทยนอกจากจะไม่ได้เป็นกลางแล้วยังเป็นเครื่องมือทางชนชั้นในการกำราบ คนที่คิดต่างหรือตั้งคำถามกับระบอบการเมืองการปกครอง

 

คำตอบสำคัญ คงไม่เกี่ยวกับเรื่องหนีไม่หนี แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นคำตอบไปในตัวอยู่แล้ว ว่ารัฐไทยนั้น ไม่มีที่ยืนสำหรับผู้ที่เห็นต่าง หรือการที่ตั้งคำถามกับระบอบการเมืองทั่วไป รวมถึงระบบการพิจารณาคดีของศาลไทย ที่ใช้อำนาจชี้ขาดโดยผู้พิพากษาซึ่งผ่านการกล่อมเกลาของระบบวิธีคิดแบบกษัตริย์นิยมเรื่อยมา บริบทเหล่านี้สะท้อนความล้าหลังของสังคมไทย อภิสิทธิ์ ยังคงแสดงความกล้าหาญแบบเพ้อเจ้อที่ว่าเขาเองไม่เคยหนีไปไหน และสู้ทุกคดีที่ถูกกล่าวหา คงไม่จำเป็นต้องพูดถึงว่าความกล้าหาญต่อสู้คดี แบบอภิสิทธิ์ บนศาลอภิชนและชนชั้นสูงทั้งหลาย ไม่ได้อยู่ในบริบทเดียวกับ ปรีดี พนมยงค์, ป๋วย อึ๊งภากรณ์ หรือ รศ.ใจ อึ๊งภากรณ์ อย่างแน่นอน

 

เราคงทิ้งท้าย ไว้ที่เรื่องตลกร้ายที่สุดในข่าวภาคค่ำ เมื่อหนึ่งในคำบรรยายของนายกรัฐมนตรีไทยได้ประกาศว่า ประชาธิปไตยตะวันตกยังต้องใช้เวลาเป็นศตวรรษในการพัฒนา....ประเทศไทยก็คงใช้เวลาประมาณนั้นเช่นเดียวกัน เขาพูดเป็นกลายๆ ว่าพรรคประชาธิปัตย์ขอเวลาอยู่อีกศตวรรษ เพื่อสร้างประชาธิปไตยที่สมบูรณ์... ประหนึ่งว่าการต่อสู้ที่มีมาตลอดประวัติศาสตร์ไทย การต่อสู้ระหว่างคนยากจนและคนรวย สามัญชนกับกษัตริย์ นายทุนกับกรรมกร ที่มีมาเป็นสิ่งไร้ค่า

 

...ขอให้ทุกคนเปิดใจรับประชาธิปไตยแบบอภิสิทธิ์ ที่ขอเวลาไม่กี่ร้อยปีในการสร้างประเทศนี้ให้เป็นประชาธิปไตยแบบอภิสิทธิ์ชนเต็มขั้น......

 

 

 

 


หมายเหตุกองบรรณาธิการ

โปรดอ่านข้อท้วงติงประกอบ "คุณภาพ" ของสื่อไทยกรณีอภิสิทธิ์ที่ Oxford โดยสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล

ประชาไทขออภัยและขอบคุณในข้อท้วงติงดังกล่าว

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท