Skip to main content
sharethis

วันที่ 11 มีนาคม 2552 เวลา 16.00 น. เครือข่ายพลเมืองเน็ต (Thai Netizen Network) เข้าพบนายกรัฐมนตรีที่อาคารรัฐสภา 1 เพื่อหารือเรื่องนโยบายการปราบปรามและดูแลเว็บไซต์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550


โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เหตุการณ์จับกุมผู้ดูแลเว็บไซต์ประชาไทไม่ใช่นโยบายของรัฐบาล และเป็นเรื่องที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับฝ่ายใดเลย พร้อมทั้งสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว และรายละเอียดการจับกุม น.ส. จีรนุช เปรมชัยพร


ทั้งกล่าวเพิ่มเติมว่า การปราบปรามเว็บไซต์ที่ทางกระทรวงกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที)ประกาศจำนวนเว็บไซต์ที่ถูกปิดเป็นระยะๆ นั้น เป็นปัญหาต่อภาพลักษณ์ของประเทศในสายตาต่างชาติพอสมควร และถือเป็นปัญหาที่น่าหนักใจ ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าปัญหาของการปิดเว็บไซต์และการจับกุมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมา ไม่ใช่ปัญหาจากตัวบทบัญญัติของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แต่สิ่งที่เป็นปัญหาคือ ระเบียบปฏิบัติ ซึ่งหากจะแก้ไขก็ควรแก้ไขจากระเบียบวิธีปฏิบัติมากกว่าการแก้ไขกฎหมายอาญามาตราดังกล่าว ทั้งนี้นายอภิสิทธิ์ย้ำว่า มาตรา 112 ไม่ใช่กฎหมายพิเศษ หากแต่เป็นความผิดที่ว่าด้วยการหมิ่นพระมหากษัตริย์ ซึ่งคนธรรมดาก็ต้องได้รับความคุ้มครองจากการถูกหมิ่นประมาทเช่นกัน


นายอภิสิทธิ์กล่าวว่าหลังจากเดินทางกลับจากประเทศอังกฤษ จะทบทวนเรื่องระเบียบวิธีและกระบวนการดำเนินคดีที่เป็นความผิดตาม พรบ. คอมพ์ฯ ให้เกิดความรัดกุม และเหมาะสมต่อไป และได้หารือเครือข่ายพลเมืองเน็ตถึงความเป็นไปได้ในการตั้งคณะกรรมการพิเศษซึ่งมีความรู้ความเข้าใจด้านเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต โดยเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงไอซีที เจ้าหน้าที่ตำรวจ และนักวิชาการที่มีความรู้เฉพาะทาง ซึ่งอาจจะช่วยให้การดำเนินการป้องปรามเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมเป็นไปอย่างรัดกุม และมีประสิทธิภาพ


ด้าน น.ส. สฤนี อาชวานันกุล เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้ให้นโยบายเรื่องผู้ดูแลเว็บไซต์และผู้เล่นอินเทอร์เน็ตต้องดูแลกันเอง ส่วนจุดยืนของทางเครือข่ายพลเมืองเน็ต ก็คือ ต้องการให้เกิดความชัดเจนทางนโยบายและการปฏิบัติของฝ่ายการเมืองว่าต้องแยกให้ชัดเจนระหว่างขบวนการทำลายล้างสถาบันกับคนธรรมดาที่ต้องการแสดงความคิดเห็น


ทั้งนี้ ภายหลังจากที่หารือกับนายกรัฐมนตรีแล้ว เครือข่ายพลเมืองเน็ตได้ยื่นหนังสือถึงนายรัฐมนตรี  เสนอให้รัฐยุตินโยบายการคุกคามสื่อออนไลน์และจัดระบบและโครงสร้างในการทำงานเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องในการกำกับดูแลสื่อและชุมชนออนไลน์


 


000


 


 


เรียน      นายกรัฐมนตรี


เรื่อง      การคุกคามสื่อออนไลน์


สืบเนื่องจากกรณี พนักงานสอบสวนกองปราบปรามได้เข้าจับกุม นางสาวจีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท (www.prachatai.com) เมื่อวันศุกร์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2552 โดยได้สอบสวน พร้อมทำสำเนาข้อมูลฮาร์ดดิสก์คอมพิวเตอร์ส่วนตัว  และแจ้งข้อกล่าวหาเป็นผู้ให้บริการจงใจสนับสนุนหรือยินยอมมีการกระทำผิด นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ซึ่งอาจเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ข้อมูลอันเป็นเท็จ โดยที่จะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงประเทศ และเผยแพร่ หรือส่งต่อ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) (3) (5) และ15


เครือข่ายพลเมืองเน็ต คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ(คปส)  เครือข่ายเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์ประเทศไทย (FACT) เห็นว่าแม้รัฐอ้างว่าการดำเนินการดังกล่าวจะเป็นไปภายใต้อำนาจตามที่กฏหมายบัญญัติ ทว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเข้าข่ายการใช้อำนาจทางกฏหมายในการข่มขู่ คุกคาม สิทธิเสรีภาพสื่อออนไลน์   ทั้งนี้เว็บไซต์ข่าวประชาไทถือเป็นหนังสือพิมพ์ออนไลน์ที่ทำงานบนกรอบของจรรยาบรรณสื่อออนไลน์ที่เปิดพื้นที่ให้กับประชาชนผู้อ่านแสดงความคิดเห็น ประกอบกับการดำเนินการเว็บไซต์มีมาตรฐานที่เข้มงวดตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งการเก็บข้อมูลการจราจรทางคอมพิวเตอร์ และการลบข้อความที่มีเนื้อหาหมิ่นเหม่ และมีการประสานงานและให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐมาโดยตลอด


ดังนั้นรัฐจำเป็นต้องใช้ความยืดหยุ่นในการกำกับดูแลสื่อออนไลน์ที่มีธรรมชาติทางเทคโนโลยีแตกต่างจากสื่อทั่วไป อีกทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐควรยึดแนวทางการเจรจาประนีประนอมและใช้มาตรการที่ละมุนละม่อมไม่ใช่การปราบปราม


ประกอบกับองค์กรข้างต้นได้เข้าหารือและยื่นหนังสือคัดค้านการใช้นโยบายประกาศสงครามกับสื่ออินเทอร์เน็ต (War Room) ให้กับนายกรัฐมนตรีโดยตรงเมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2552 ซึ่งในครั้งนั้นนายกรัฐมนตรีได้รับปากที่จะใช้แนวทางการเจรจาร่วมกัน โดยมีรูปธรรมในการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อให้ตัวแทนพลเมืองผู้ใช้อินเทอร์เน็ตได้พูดคุยเจรจากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รวมถึงตำรวจที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงาน เพื่อแสวงหาแนวทางการปฏิบัติที่ควรจะเป็นร่วมกัน บนพื้นฐานของความเคารพในสิทธิเสรีภาพสื่อและพลเมืองตามหลักการสิทธิมนุษยชนสากล


จากกรณีที่เกิดขึ้นนี้ ทาง  3 องค์กรมีข้อเรียกร้องต่อรัฐดังต่อไปนี้


1.ขอให้รัฐยุตินโยบายการคุกคามสื่อออนไลน์ และ ไม่ใช้แนวทางการประกาศสงครามกับสื่ออินเทอร์เน็ต แต่เน้นการเจรจาและแสวงหาความร่วมมือบนพื้นฐานความเคารพต่อสิทธิเสรีภาพและเข้าใจธรรมชาติที่เป็นจริงของสื่อใหม่เช่นอินเทอร์เน็ต


2.ขอให้รัฐบาลจัดเวทีและสร้างกลไกสำหรับการแลกเปลี่ยนให้ตัวแทนผู้ใช้สื่ออินเทอร์เน็ตและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจและกระทรวงไอซีทีฯ เพื่อนำไปสู่การสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องร่วมกันในการกำกับดูแลสื่อและชุมชนออนไลน์


3.ขอให้รัฐยุติการผลิตซ้ำ ตอกย้ำทัศนคติเชิงลบ อันนำไปสู่ความบาดหมาง ตึงเครียดและสร้างรอยร้าวลึกขึ้นในสังคม โดยเฉพาะวิธีใส่ร้ายสื่อออนไลน์เช่นประชาไทว่าเป็น "เว็บหมิ่นฯหรือเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ" "เป็นขบวนการทำลายล้าง" "มีคนหนุนหลัง" เป็นต้น  เนื่องเพราะการใส่ร้ายดังกล่าวไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงแต่อย่างใด อีกทั้งสะท้อนถึงวุฒิภาวะในการบริหารประเทศของรัฐบาลประชาธิปไตย ซึ่งขัดต่อแนวทางการสร้างความเชื่อมั่นทั้งต่อพลเมืองไทยและประชาคมโลก


เครือข่ายพลเมืองเน็ต ณะกรรมการรณรงค์เพื่อปฏิรูปสื่อ และเครือข่ายเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์ประเทศไทย มีความปรารถนาดีต่อรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐในการที่จะประสานความร่วมมือเรื่องสื่อออนไลน์อย่างสร้างสรรค์บนการสร้างสมดุลย์ระหว่างการกำกับดูแลกับสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน ซึ่งรัฐมีหน้าที่โดยตรงที่ต้องธำรงพันธกิจอันสำคัญนี้


 


จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา


ขอแสดงความนับถือ


 


เครือข่ายพลเมืองเน็ต


คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส)


เครือข่ายเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์ประเทศไทย (FACT)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net