Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 16 .. 52 ที่ผ่านมา สหภาพแรงงาน เจนเนอรัลมอเตอร์ส ประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์ถึงเพื่อนผู้ใช้แรงงาน, ประชาชนทั่วไป และสื่อมวลชน แจ้งกรณีที่ถูกนายจ้างละเมิดสิทธิ โดยมีรายละเอียดดังนี้






 


เรื่อง หนังสือร้องเรียนและขอความเป็นธรรมจากปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงาน


เรียน เพื่อนผู้ใช้แรงงาน / ประชาชนทั่วไป/ สื่อมวลชน ที่รักทุกท่าน


 


แถลงการณ์ วันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒


 


บริษัท เจนเนอรัลมอเตอร์สประเทศไทย จำกัด ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด เลขที่ ๑๑๑/๑ ม.๔ ต.ปลวกแดง อ.ปลวกแดง จ.ระยอง ประกอบกิจการผลิตรถยนต์ส่งออกต่างประเทศและขายในประเทศ ไทย ทุนจดทะเบียนแบ่งออกเป็น ๒๔๔,๐๙๐,๙๐๙ หุ้น มูลค่าหุ้นละ ๑๐๐ บาท เป็นเงิน ๒๔,๔๐๙,๐๙๐,๙๐๐ บาท จดทะเบียน วันที่ ๘มิถุนายน ๒๕๓๕ สำนักงานใหญ่เลขที่ ๕๕๕ อาคารรสาทาวเวอร์ ชั้น ๒๓ ถนน พหลโยธิน แขวง ลาดยาว เขต จตุจักร กรุงเทพมหานคร นายจ้างมีสัญชาติสหรัฐอเมริกา มีพนักงาน จำนวน ๒,๖๐๐ คน


 


ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๒ เดือน ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ สหภาพแรงงานได้ยื่นข้อเรียกร้องในนามสหภาพแรงงานฯ จำนวน ๒๙ ข้อ เพื่อขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง และมีการนัดการเจรจากันครั้งต่อไปเมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๕๑ หลังจากนั้นในวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๑ ได้มีการเจรจากันแต่การเจรจาตั้งแต่ครั้งแรกจนถึงครั้งที่ ๕ ทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้โดยที่ฝ่ายบริหารยังคงยืนยันที่จะไม่จัดสวัสดิการตามที่สหภาพแรงงานยื่นข้อเรียกร้องได้ จึงทำให้การเจาจายุติ


 


ในวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ สหภาพแรงงานได้แจ้งเป็นข้อพิพาทแรงงานต่อพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานจังหวัดระยอง และต่อมาพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานจังหวัดระยอง


ต่อมาวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ ได้มีการเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงานที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน โดยมีการเจรจากันตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐ น จนถึงเวลาประมาณ ๑๕.๐๐ น. แต่ก็ไม่สามารถตกลงกันได้และนัดเจรจากันอีกครั้งในวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ หลังจากนั้นในวันเดียวกันผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนสหภาพแรงงานได้กลับมาเจรจากันที่บริษัทฯ โดยบริษัทฯ ได้แจ้งให้สหภาพแรงงานทราบว่าจะมีประกาศเรื่องโครงการรับสมัครใจลาออกรอบสองในระดับพนักงาน จำนวน ๕๕๐ คน และระดับ ผู้บังคับบัญชาชั้นต้น จำนวน ๑๘๙ คน และระดับอื่นๆ ที่สูงขึ้นไปอีกจำนวน ๕๑ คน โดยในประกาศตอนท้ายได้ระบุว่า "หากมีผู้ลาออกน้อยกว่าเป้าหมายที่กำหนด บริษัทฯจะพิจารณาเกณฑ์เพื่อคัดเลือกพนักงานให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนด" โดยได้ออกประกาศในตอนเย็นหลังเลิกงานของวันเดียวกัน และในกะกลางคืนในวันเดียวกันนั้นได้มีการให้ผู้บังคับบัญชาระดับสูงบังคับข่มขู่ และหลอกลวงพนักงานว่ารายละเอียดในประกาศดังกล่าวได้มีการตกลงกับสหภาพแรงงานแล้วหากไม่สมัครใจเข้าโครงการลาออกบริษัทฯ จะมีการเลิกจ้างและไม่จ่ายค่าชดเชยใดๆ ทั้งสิ้น ทำให้พนักงานเกิดความสับสนและไม่เข้าใจ นำไปสู่การเซ็นต์ชื่อในการสมัครลาออกเป็นจำนวนมาก ในวันต่อมาผู้แทนสหภาพแรงงานได้คัดค้านโดยให้เหตุผลว่าประกาศของบริษัทฯ ดังกล่าวเป็นละเมิดสิทธิแรงงานทั้งกฎหมายของประเทศไทยและอนุสัญญา ไอแอลโอ ฉบับที่ ๘๗ และ ๙๘ เรื่องการรวมตัวกันเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานและการเจรจาต่อรองร่วม เนื่องจากผู้ที่ถูกเลิกจ้างที่เกิดขึ้นนั้นเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานเกือบทั้งหมด สหภาพฯจึงได้ทำหนังสือคัดค้านไปยังผู้บริหารของบริษัทฯ


 


ในวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๑ ได้เปิดให้มีการสมัครใจลาออก จำนวน ๒๕๘ คน และสหภาพแรงงานได้ทำหนังสือคัดค้านการออกประกาศดังกล่าวเนื่องจากว่าสหภาพแรงงานเห็นว่าอยู่ระหว่างการเจรจาข้อเรียกร้อง และเป็นการละเมิดกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ ๒๕๑๘ มาตรา ๓๑ และเป็นการกลั่นแกล้งและลดอำนาจในการต่อแรงของสหภาพแรงงาน แต่บริษัทฯ ได้เพิกเฉยในหนังสือคัดค้านของสหภาพแรงงาน และสหภาพแรงงานได้ขอเข้ารับฟังชี้แจงจากผู้บริหาร บริษัทฯ โดย นายสมนึก งามตระกูลชล ซึ่งเป็นรองประธานฝ่ายบริหารงานทรัพยากรมนุษย์ ได้ชี้แจงว่าบริษัทฯ จำเป็นต้องลดจำนวนพนักงานเนื่องจากกำลังการผลิตลดลง เพื่อลดค่าใช้จ่าย และสหภาพแรงงานได้เสนอมาตรการในการชะลอการเลิกจ้างในการลดต้นทุน เช่น การลดจำนวนวันทำงานต่อสัปดาห์ลง ๑ วัน หรือสลับวันทำงานในระยะยาวโดยเปิดให้มีการทำงานแค่ ๑ กะ แต่บริษัทฯไม่รับข้อเสนอ


 


ต่อมาวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ บริษัทฯ ได้ออกประกาศ เรื่อง "การให้พนักงานหยุดงานเป็นการชั่วคราวทั้งโรงงาน" ตั้งแต่วันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ ถึงวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๕๒ โดยจ่ายค่าจ้างให้ ๗๕% ส่วนของผู้บริหารและผู้บังคับบัญชาระดับสูงเงินเดือนสูงทุกคนยังคงมาทำงานกันตามปกติทั้งที่งานในขบวนการผลิตไม่มี วันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ บริษัทฯ ได้ดำเนินการตามประกาศสมัครใจลาออกโดยไม่สนใจเงื่อนไขหรือหลักเกณฑ์ใดๆ ใช้วิธีขู่บังคับพนักงานให้ลาออกเพื่อให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนด


 


วันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ เวลา ๐๙.๐๐ น. สหภาพแรงงานและผู้แทนบริษัทฯ ได้มีการเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงานที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดระยองอีกครั้ง และผู้แทนสหภาพแรงงานได้เสนอทางออกให้กับบริษัทฯ เพื่อมิให้มีการเลิกจ้างพนักงาน โดยวิธีการลดจำนวนวันทำงานต่อสัปดาห์ลงมา และแผนลดค่าใช้จ่ายของบริษัทฯ โดยผู้แทนของบริษัทฯ อ้างว่าขอดูจำนวนผู้ที่สมัครใจลาออกแล้วจะนำตัวเลขดังกล่าวเสนอผู้บริหารระดับสูงเพื่อพิจารณา และในประเด็นอื่นไม่สามารถตกลงกันได้ จึงได้มีการนัดเจรจากันอีกครั้งในวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๕๒หลังจากนั้นในวันเดียวกันบริษัทฯ ได้ออกประกาศยืดระยะเวลาการสมัครใจลาออกถึงวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ เวลา ๑๖.๓๐ น. แต่สหภาพแรงงานไม่ยินยอมผู้แทนฝ่ายนายจ้างยังคงยืนยันที่จะปฏิบัติตามประกาศของบริษัทฯ และไม่ได้ยึดระยะเวลาตามที่ประกาศไว้


 


วันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ ผู้แทนสหภาพแรงงานได้ยื่นหนังสือเพื่อเรียกร้องขอความเป็นธรรมต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อขอความเป็นธรรมในการแก้ไขปัญหาการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมที่มีการเลิกจ้างสมาชิกสหภาพแรงงานในระหว่างยื่นข้อเรียกร้องและอยู่ระหว่างการพิพาทแรงงาน และขณะเดียวกันผู้อำนวยการกองแรงงานสัมพันธ์ได้ยืนยันว่าบริษัทฯ ไม่สามารถที่จะเลิกจ้างสมาชิกสหภาพแรงงานในระหว่างการยื่นข้อเรียกร้องได้ และต่อมาเวลาสหภาพแรงงานได้แจ้งต่อเจ้าหน้าที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดว่านายจ้างจะเลิกจ้างพนักงานที่ไม่สมัครใจลาออก


 


วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ เวลาประมาณ ๑๔.๐๐ น. บริษัทฯ ได้มีการเลิกจ้างพนักงานที่สมัครใจลาออกในกะเช้าและกะกลางคืนจำนวน ประมาณ ๗๓๐ คน และเลิกจ้างพนักงานที่ไม่สมัครใจลาออกประมาณ ๗๐ คน ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายอย่างชัดเจน


           


ดังนั้น สหภาพแรงงานเจนเนอรัลมอเตอร์ส ประเทศไทย จึงขอร้องเรียนมายังท่านให้เร่งดำเนินการให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมาย และแก้ไขปัญหา ดังนี้


 


๑. ให้นายจ้างรับพนักงานที่ถูกเลิกจ้างโดยไม่สมัครใจกลับเข้าทำงานในหน้าที่และสภาพการจ้างงานเดิมโดยไม่มีเงื่อนไข


๒. ให้ดำเนินคดีกับนายจ้างให้ถึงที่สุดกรณีที่นายจ้างไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือมีการละเมิดกฎหมายโดยเจตนาในกรณีเลิกจ้างสมาชิกสหภาพแรงงานและกรรมการลูกจ้าง


๓. ให้เรียกผู้บริหารสูงสุดที่มีอำนาจในการตัดสินใจมาเจรจากับลูกจ้างเพื่อหาข้อยุติในประเด็นปัญหาการพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้


๔. ให้นายจ้างจัดให้มีการส่งเสริมระบบแรงงานสัมพันธ์แบบทวิภาคีในสถานประกอบการโดยให้การยอมรับการมีสหภาพแรงงานในสถานประกอบการ


๕. ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างเต็มจำนวนในระหว่างที่นายจ้างประกาศให้ลูกจ้างหยุดงานชั่วคราวเนื่องจากผลประโยชน์ของนายจ้าง หรือเนื่องจาการประกาศใช้มาตรา ๗๕ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ฉบับที่ ๒ โดยมิชอบ


 


จากประเด็นที่กล่าวมาข้างต้น สหภาพแรงงานฯ จึงขอความอนุเคราะห์มายังท่านเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับผู้ใช้รงงานเพื่อหาข้อยุติในข้อเรียกร้องต่อไป


 


ด้วยจิตคารวะสหภาพแรงงานเจนเนอรัลมอเตอร์ส ประเทศไทย


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net