Skip to main content
sharethis




13 ม.ค.52  ที่ทำเนียบรัฐบาล เวลาประมาณ 9.00 น. ตัวแทนจากเครือข่ายพลเมืองเน็ต คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส) เครือข่ายเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์ประเทศไทย (FACT) เข้าพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อยื่นหนังสือเกี่ยวกับนโยบายการกำกับดูแลสื่ออินเตอร์เน็ตและวิทยุชุมชน สืบเนื่องจากนโยบายของรัฐบาลที่จะให้มีการปิดกั้นปราบปรามสื่ออินเทอร์เน็ต และวิทยุชุมชน ด้วยข้อกล่าวหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และอ้างเหตุผลเรื่องความมั่นคงของชาติจนมีการแสดงท่าทีที่จะนำ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร มาใช้ในการควบคุมและปราบปรามวิทยุชุมชนนั้น



หนังสือของเครือข่ายพลเมืองเน็ต ระบุว่า แนวทางที่รัฐบาลประกาศจะจัดตั้งวอร์รูม (War room) หรือการประกาศสงครามกับสื่ออินเทอร์เน็ตและวิทยุชุมชนนั้น จะไม่นำไปสู่การแก้ปัญหาความมั่นคงของชาติหรือช่วยปกป้องสถาบันพระมหา กษัตริย์แต่อย่างใด ในทางกลับกันจะยิ่งก่อให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้น และละเมิดพันธะที่รัฐบาลได้ประกาศไว้ในนโยบายว่าด้วยสื่อและการรับรู้ข้อมูล ข่าวสาร


นอกจากนี้เครือข่ายพลเมืองเน็ตยังเรียกร้องให้  1. ขอให้รัฐบาลหยุดการจัดตั้งวอร์รูมดังกล่าว และเข้าร่วมกับภาคประชาสังคมเพื่อวางหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนร่วมกัน 2. ขอให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวกับ สื่อ ได้ดำเนินการโดยโปร่งใส เปิดเผยข้อมูลการดำเนินการ การใช้งบประมาณต่างๆ  3. การปรับแก้กฎหมายที่กระทบกับสื่อ ต้องเปิดให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง เป็นระยะเวลาที่เพียงพอ ทั้งการแก้ไข พ.ร.บ.จัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์  4. ขอให้รัฐส่งเสริม ปกป้อง สิทธิพลเมือง ทั้งในและนอกอินเทอร์เน็ต และ เสรีภาพของสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ทั้งสื่อออนไลน์และวิทยุชุมชน  (รายละเอียดในล้อมกรอบด้านล่าง)


จาการเข้าหารือกับนายอภิสิทธิ์ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ประมาณ 10 นาที นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า รัฐบาลยืนยันว่าจะคำนึงถึงเสรีภาพของประชาชนทั่วไป และจากการคุยกับรมว.ไอซีที ก็จะเป็นการดำเนินการในลักษณะเจรจากับเจ้าของเว็บไซต์ต่างๆ ว่าขอให้จัดให้มีการ log in และ register ก่อนโพสต์ข้อความหรือข้อมูลใด รวมทั้งทำความเข้าใจเกี่ยวกับหลักเกณฑ์หรือมาตรฐานในการควบคุมดูแล ซึ่งแนวทางนี้น่าจะช่วยทำให้ไม่มีกรณีไปปิดเว็บไซต์ได้


"พูดตามตรงก็คือว่าที่เป็นปัญหาอยู่ตอนนี้ คนที่สร้างปัญหามีไม่เยอะ แต่ว่าทำซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ และเราก็ไม่อยากจะไปปิดทั้งเว็บ ถ้ามันไม่มีวิธีใดที่จะรับผิดชอบ เจ้าของเว็บก็อาจจะปิดตาข้างหนึ่งแล้วปล่อยให้มันเป็นอย่างนี้ "


"ที่ผมห่วงขณะนี้คือเว็บที่โพสต์ข้อความ ซึ่งมันไม่ได้รับการจัดการ บางเว็บถ้าจะจัดการก็จัดการได้อยู่แล้ว เพราะเวลาฝ่ายผมมีคนโพสต์ความเห็นไป เขาก็บล็อกไม่ให้ขึ้น แล้วก็บล็อกไอพีด้วย ทำไมเขาทำกับพวกผมได้ ทำไมเขาทำกับพวกคนทำผิดกฎหมายไม่ได้"นายอภิสิทธิ์กล่าวพร้อมระบุว่าในเรื่องการเสนอกฎหมายต่างๆ ของ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์นั้นสามารถทำได้โดยไม่ต้องผ่านหัวหน้าพรรคซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ


ด้านนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย กล่าวถึงข่าวที่รัฐบาลจะใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงจัดการกับวิทยุชุมชนว่า ไม่ได้มีแนวคิดเช่นนั้น เวลาพูดก็พูดรวมว่าเป็นเรื่องความมั่นคง ซึ่งคำว่าความมั่นคงก็ตีความได้ค่อนข้างมาก ปัญหาของวิทยุชุมชนก็คือ มันไปไกลกว่าที่คิดเยอะ แต่ไม่ใช่หน้าที่รัฐบาล รัฐบาลไม่มีอำนาจเพราะเป็นอำนาจของ กทช.


"ในต่างจังหวัด แถวลำพูน ลำปางที่ท่านชวน (หลีกภัย) ไปก็หนักมาก ปลุกระดมกันตลอดเวลา แล้วใช้ภาษาที่หยาบคาย และผิดไปจากความจริงโดยสิ้นเชิง "พวกมันมากันแล้ว เอาให้หนักๆ เลยพี่น้อง" อย่างนี้ไม่ได้ มันเกินเลยจากจุดที่เขาจะรับผิดชอบต่อสังคมแล้ว แต่เราเองเราก็ยึดกฎหมายแต่ละข้อเคร่งครัด ส่วนที่หนักไป ตำรวจก็ต้องเข้าไปจัดการด้วยกฎหมายอาญา" สาทิตย์กล่าว


 


 







 


เครือข่ายพลเมืองเน็ต


409 ซ.รัชดา 14 ห้วยขวาง กรุงเทพ 10330


13 มกราคม พ.ศ. 2552


 


 


เรียน       นายกรัฐมนตรี


สำเนาถึง  รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่งคง  รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีด้านสื่อ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง  เทคโนโลยีการสื่อสารและสารสนเทศ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงวัฒนธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ คณะอนุกรรมาธิการกำกับติดตามการป้องกันและปราบปรามเว็บไซต์และการกระทำหมิ่น พระบรมเดชานุภาพ คณะกรรมาธิการทหาร สภาผู้แทนราษฎร


 


เรื่อง       ข้อเสนอเกี่ยวกับนโยบายการกำกับดูแลสื่ออินเทอร์เน็ตและวิทยุชุมชน


 


                 สืบเนื่องจากนโยบายของรัฐบาลที่จะให้มีการปิดกั้นปราบปรามสื่ออินเทอร์เน็ต และวิทยุชุมชน ด้วยข้อกล่าวหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และอ้างเหตุผลเรื่องความมั่นคงของชาติจนมีการแสดงท่าทีที่จะนำ พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 มาใช้ในการควบคุมและปราบปรามวิทยุชุมชนนั้น องค์กรที่มีรายชื่อดังนี้คือ เครือข่ายพลเมืองเน็ต คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส) และเครือข่ายเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์ประเทศไทย (FACT) มีความเห็นว่าวิธีการและนโยบายดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อสิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง ทั้งยังไม่ได้ช่วยรักษาความมั่นคงของชาติและปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ได้ อย่างมีประสิทธิภาพแต่อย่างใด


 


 


                 การกำกับดูแลสื่อใหม่เช่นอินเทอร์เน็ตและวิทยุชุมชนมีความละเอียดอ่อน ต้องมีมาตรการที่ชัดเจน สอดคล้องกับความเป็นจริงและสามารถนำไปปฏิบัติให้เกิดผลโดยแท้จริง ในขณะที่ต้องคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของพลเมือง โดยพลเมือง และเพื่อพลเมืองเป็นสำคัญ ซึ่งหลักการสิทธิเสรีภาพเป็นหลักพื้นฐานและมีกติกาอันเป็นที่ยอมรับโดยสากล จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐไทยจักต้องธำรงมาตรฐานอันสอดคล้องกับกติกาสากล เพื่อธำรงความเป็นประชาธิปไตย และ ความเสมอภาคเท่าเทียมกันในสังคม


 


องค์กรข้างต้นมีจุดยืนร่วมกันว่า แนวทางที่รัฐบาลประกาศจะจัดตั้งวอร์รูม (War room) หรือการประกาศสงครามกับสื่ออินเทอร์เน็ตและวิทยุชุมชนนั้น จะไม่นำไปสู่การแก้ปัญหาความมั่นคงของชาติหรือช่วยปกป้องสถาบันพระมหา กษัตริย์แต่อย่างใด ในทางกลับกันจะยิ่งก่อให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้น และละเมิดพันธะที่รัฐบาลได้ประกาศไว้ในนโยบายว่าด้วยสื่อและการรับรู้ข้อมูล ข่าวสารในข้อ 8 ซึ่งมีหลักการสำคัญที่เกี่ยวข้องดังนี้


 


8.3.1  ส่งเสริมให้ประชาชนมีโอกาสได้รับรู้ และเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสาธารณะจากทางราชการ และสื่อสาธารณะอื่นได้อย่างกว้างขวาง เป็นธรรม และรวดเร็ว รวมทั้งให้กลไกภาครัฐเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในทุกมิติตามบทบัญญัติ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย


8.3.4 จัดให้มีกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้ประกอบวิชาชีพสื่อเพื่อให้สื่อมีเสรี ปราศจากการแทรกแซง และมีความรับผิดชอบต่อสังคม รวมทั้งยกเลิกและปรับปรุงกฎหมายที่ขัดต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน และสื่อมวลชนตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย


 


ด้วยเหตุนี้ เครือข่ายพลเมืองเน็ต คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส) และ เครือข่ายเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์ประเทศไทย (FACT) จึงขอเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรี และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังนี้


 


1. ขอให้รัฐบาลหยุดการจัดตั้งวอร์รูมดังกล่าว และเข้าร่วมกับภาคประชาสังคมเพื่อวางหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนร่วมกัน โดยเฉพาะเรื่องความมั่นคงและกรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพื่อสนับสนุนการกำกับดูแลกันเองของทั้งวิทยุชุมชนและกลุ่มประชาชนผู้ใช้อิน เทอร์เน็ต


 


2. ขอให้รัฐบาลทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวกับ สื่อ ได้ดำเนินการโดยโปร่งใส เปิดเผยข้อมูลการดำเนินการ การใช้งบประมาณต่างๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบและมีส่วนร่วมในการตรวจสอบข้อมูล การดำเนินการเพื่อปิดกั้นเนื้อหาในเว็บไซต์ต่างๆ ทั้งที่มีและไม่มีคำสั่งศาล ให้มีการเปิดเผยข้อมูลรวมทั้งชี้แจงกระบวนการในการดำเนินงานให้ประชาชน ผู้ให้บริการเว็บไซต์ และผู้ประกอบการอินเทอร์เน็ตได้รับรู้และเข้าใจในหลักปฏิบัติดังกล่าว เพื่อที่จะปฏิบัติตามโดยมั่นใจว่าจะได้รับความคุ้มครองจากการปฏิบัติงานตาม กระบวนการยุติธรรมโดยเคร่งครัด


 


3. การปรับแก้กฎหมายที่กระทบกับสื่อ ต้องเปิดให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง เป็นระยะเวลาที่เพียงพอ ทั้งการแก้ไข พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับดูกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2543 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และกฎหรือระเบียบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายและระเบียบปฏิบัติที่เกี่ยวกับการหมิ่นประมาทและการหมิ่นพระบรมเดชานุ ภาพ เพื่อให้รับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ตามรัฐธรรมนูญ


 


4. ขอให้รัฐส่งเสริม ปกป้อง สิทธิพลเมือง ทั้งในและนอกอินเทอร์เน็ต และ เสรีภาพของสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ทั้งสื่อออนไลน์และวิทยุชุมชน อีกทั้งปรับปรุงกติกาและกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับบทบัญญัติแห่ง สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยตามมาตรา 45, 46, 47 รวมทั้งปฏิญญาสากลระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ (Universal Declaration of Human Rights) และ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights) ในมาตรา 19 (Article 19) ที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีโดยการภาคยานุวัตติ (Accession) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540


 


                                     จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา


 


ขอแสดงความนับถือ


 


เครือข่ายพลเมืองเน็ต


คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส)


เครือข่ายเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์ประเทศไทย (FACT) 


 


 


(นายกานต์ ยืนยง)


 


(นายไกลก้อง ไวทยาการ)


 


(นางสาวจีรนุช เปรมชัยพร)


 


(นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล)


 


(นายสุเทพ วิไลเลิศ)


 


(นายสุนิตย์ เชรษฐา)


 


(นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์)

(นายอาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล)


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net