Skip to main content
sharethis


 


สืบเนื่องจากกรณี ร.ต.(หญิง) ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (รมว.ไอซีที) เปิดเผยถึงมาตรการปิดกั้น (บล็อค) เว็บไซต์หมิ่นฯ ที่จะต้องใช้งบประมาณกว่า 80 ล้าน บาทและจะมีการเร่งแก้ข้อกฎหมายเพิ่มอำนาจเบ็ดเสร็จให้กับกระทรวงไอซีทีนั้น ทางสมาชิกเครือข่ายพลเมืองเน็ต มีข้อกังวลใจต่อนโยบายดังกล่าว พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัฐเปิดเวทีให้ทุกฝ่ายร่วมพูดคุย หาทางออก ไม่ควรใช้ท่าทีประกาศศึกให้เกิดบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวในชุมชนออนไลน์ ซึ่งอาจนำไปสู่ผลสะท้อนมุมกลับได้


 


สฤณี อาชวานันทกุล นักเขียนอิสระ และบล็อกเกอร์ (www.fringer.org) สมาชิกเครือข่ายพลเมืองเน็ตตั้งคำถามท้วงติงถึงมาตรการดังกล่าว โดยมองว่าแทนที่ภาครัฐจะมุ่งใช้มาตรการที่ลิดรอนเสรีภาพแบบขาว-ดำโดยไม่เคารพในวิจารณญาณของประชาชนและในทางที่ไม่โปร่งใส  รัฐควร หันไปเน้นเรื่องการสร้างบรรทัดฐาน ความชัดเจน และความโปร่งใสในการบังคับใช้ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ จะดีกว่า เช่น ปรึกษาหารือกับผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายเพื่อตกลงกันว่า นิยามของคำว่า "หมิ่นฯ"  ควร อยู่ที่ใด เว็บที่เข้าข่าย "เว็บหมิ่นฯ" มีลักษณะอย่างไร วิธีปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ควรเป็นเช่นไรในทางที่จะรับประกันได้ว่า สิทธิส่วนบุคคลของบุคคลอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องจะไม่ถูกละเมิด


 


"ในการปิดเว็บตนเองคิดว่าอย่างไรก็ควรต้องขอหมายศาลตามมาตรฐานสากล อีกทั้งรัฐควรตระหนักในความไร้ประสิทธิภาพและไร้ประสิทธิผลของมาตรการบล็อกที่สิ้นเปลืองทรัพยากรรัฐเพราะคนสามารถหลบไปใช้ proxy และ วิธีการหลบเลี่ยงการปิดกั้นอื่นๆ ได้ตลอดเวลา และอันที่จริง ความไร้ประสิทธิภาพนั้นเองก็แสดงให้เห็นว่า การพยายามเข้าถึงข้อมูลนั้นเป็น "ธรรมชาติ" ของคนท่องเน็ตที่ย่อมอยากมีเสรีภาพในการเข้าถึง ซึ่งรัฐไม่มีทางปิดกั้นได้สำเร็จ" สฤณีกล่าว


 


จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ข่าวประชาไท www.prachatai.com และสมาชิกเครือข่ายพลเมืองเน็ต แสดงความคิดเห็นต่อกรณี "เว็บหมิ่นฯ" ว่า


 


"เราต้องทำความเข้าใจใหม่กับคำว่าเว็บหมิ่น ที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพราะไม่อาจเรียกได้ว่าเว็บไหนที่เป็นเว็บหมิ่นจริงๆ หากจะพิจารณาจาก URL ที่ไอซีทีขอคำสั่งศาลปิดไป อาจจะเป็นว่าYouTube (ที่กระจายอยู่ในหลายประเทศ) คือเว็บที่มีเนื้อหาที่เจ้าหน้าที่ได้ขอคำสั่งศาลในการปิดกั้นมากที่สุด ฉะนั้นเราจะเรียก YouTube ว่าเป็นเว็บหมิ่นฯ ด้วยใช่หรือไม่


 


ฉะนั้นคงต้องเข้าใจว่าวิธีการที่จะสกัดเนื้อหาที่เป็นการหมิ่นจริงๆควรหาหน ทางแก้ไขไปที่สาเหตุมากกว่าที่จะมาใช้วิธีสร้างบรรยากาศความกลัวและความหวาด ระแวง เพราะการกระทำในลักษณะเช่นนี้ยิ่งสร้างบรรยากาศของความอึดอัด ในที่สุดน่าจะยิ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันมากกว่าที่จะเป็นการปกป้อง"


 


ในส่วนของนโยบายเร่งด่วนของภาครัฐ จีรนุช ในฐานะตัวแทนเครือข่ายพลเมืองเน็ต เสนอว่า


 


"ควรสร้างเวทีการสนทนาเพื่อให้เกิดความเข้าใจ มากกว่าภาครัฐจะมาใช้วิธีแบบข่มขู่หรือประกาศศึก ไอซีทีอาจจะต้องเป็นเจ้าภาพในการจัดเวทีการพูดคุย และนี่น่าจะเป็นหนทางที่สร้างสรรค์ในการแก้ปัญหามากกว่าจะ เร่งรีบใช้งบ 80 ล้านบาทไปกับเรื่อง war room"


 


สฤณี กล่าวเสริมว่าทางเครือข่ายมีแผนงานฯ ที่จะไปพูดคุยกับหน่วยงานรัฐ  เพราะช่วงนี้อาจจะเป็นจังหวะดีที่จะไปเริ่มคุยกับตำรวจ เรื่องระเบียบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน ตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์  เพื่อให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น


 


"การปิดเนื้อหาบนเว็บ 2,000 กว่าหน้า เป็นการปิดเฉพาะไม่ให้คนไทยได้เข้าถึงเท่านั้น ในขณะที่คนที่ อื่นทั่วโลกสามารถเข้าถึงได้ ซึ่งไม่ได้เป็นการปกป้องพระเกียรติได้แท้จริงแต่อย่างใด" จีรนุชกล่าวสรุป


 


เครือข่ายพลเมืองเน็ตจะมีการยื่นหนังสือและข้อเสนอต่อประเด็นดังกล่าวต่อนายกรัฐมนตรีและกระทรวงไอซีทีต่อไป โดยเฉพาะประเด็นการมีส่วนร่วมในการปรับแก้กฎหมายพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ภายในเร็วๆ นี้


 


 


ที่มา: เครือข่ายพลเมืองเน็ต www.thainetizen.org


8 มกราคม 2552

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net