Skip to main content
sharethis


 


นายกษิต ภิรมย์ ผู้ที่ได้รับการคาดหมายว่าจะได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีที่ตนเองเคยขึ้นปราศรัยบนเวทีของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ผ่านมาว่า "พันธมิตรฯ ได้ทำผิดอะไรเหรอครับ หมายความว่าไม่ได้เป็นองค์การโจรหรืออะไรทำนองนั้น แต่เป็นการแสดงออกซึ่งการเป็นประชาธิปไตย เพราะเป็นประชาชนส่วนใหญ่ซึ่งมีแม่บ้านถึงหกสิบ-เจ็ดสิบเปอร์เซ็นต์ ที่ออกมาเรียกร้องความยุติธรรม เรียกร้องธรรมาภิบาลในสังคม ต่อต้านคอรัปชั่น มันก็เป็นเรื่องที่เขาออกมาเรียกร้อง ซึ่งหากเป็นกระบวนการก่อการร้ายไปทำลายอะไร ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง อย่างไรก็ตาม พันธมิตรฯ ก็มีเป้าหมายเหมือนกับคนไทยทั่วไป ต้องการความยุติธรรม ต้องการความใสสะอาดในนักการเมือง


 


เพราะฉะนั้นผมคิดว่าการที่จะไปข้องแวะกับพันธมิตรฯ ไม่ใช่เป็นเรื่องบาป และไม่ใช่มีแค่หนึ่งหรือสองคน แต่มีเป็นล้านๆ คน ในตรงนี้ และเราเผชิญกับอะไรในสงคมไทยตั้งแต่ต้น มันต้องกลับมาที่จุดเริ่มต้น ว่าการบริหารบ้านเมืองของรัฐบาลนั้น มีการคอรัปชั่นอย่างมากมายมหาศาล และประชาชนก็ได้ออกมา ผมก็เป็นข้าราชการประจำคนหนึ่งที่ไม่ชอบการคอรัปชั่น และก็ต่อต้าน มาตั้งแต่เป็นข้าราชการประจำ เพราะว่าอะไรที่รัฐบาลชุดนั้นทำไม่ดี ผมก็รายงานว่ามันไม่ถูกไม่ต้อง เมื่อผมเกษียณออกมาแล้วผมก็ยังเห็นว่า ถ้าเผื่อจะช่วยให้สังคมมันใสสะอาดมีธรรมาภิบาลได้ในฐานะประชาชนผมก็ทำไป เมื่อทำไปแล้ว เสร็จแล้วก็เสร็จกันไป"


 


นายกษิต กล่าวต่อไปว่า "ณ วันนี้ผมมาเป็นนักการเมือง ผมก็ทำหน้าที่ทางด้านการเมือง บางคนบอกว่าไม่ได้ทำอะไร ไปอยู่กับพันธมิตรฯ แล้วมันเป็นบาปหรืออย่างไร ผมไปทำอะไรชั่วร้าย พันธมิตรฯ ไปทำชั่วร้ายหรือประชาชน และพวกแม่บ้านที่ออกกันมาทำชั่วร้าย และ ณ วันนี้เรายังมีรัฐสภา มีการเปลี่ยนแปลงในรัฐสภา ความเป็นประชาธิปไตยยังมีอยู่ ประชาชนได้รู้มากยิ่งขึ้น ถึงข้อมูลมากขึ้น สังคมไทยมีทิศทางที่จะนำไปสู่ธรรมาภิบาล เราต้องมองดูว่าผลมันเป็นอย่างไร ความสำเร็จเป็นอย่างไร และก็ช่วยกันสร้างความเป็นประชาธิปไตย และผมจะเข้าไปอยู่ในรัฐบาล ผมก็ต้องทำในสิ่งที่ผมได้เชื่อมาตลอดเวลาและต่อสู้มาตลอดคือจะต้องไม่มีคอรัปชั่น ต้องมีธรรมาภิบาล ต้องโปร่งใสและต้องรับใช้ประชาชน


 


ณ วันนี้ ผมสวมหมวกใบเดียวคือการเป็นนักการเมือง ผมก็อยู่ในคณะรัฐบาลของคุณอภิสิทธิ์ ซึ่งได้พูดไว้ตั้งแต่แรกว่าเพื่อความปรองดอง สมานฉันท์ ความยุติธรรม เราจะเป็นรัฐบาลของประชาชน จะใส่เสื้อสีอะไร รัฐบาลเราก็รับใช้ และคุณอภิสิทธิ์ ก็ได้พูดชัดว่าถ้าหากุกคนไม่ได้เป็ศัตรูกับประเทศไทย ก็ไม่มีอะไรจะต้องห่วง ช่วยกันสร้างบ้านเมือง และสิ่งที่ผมพูดบนเวทีพันธมิตรฯ เป็นเรื่องเนื้อหาวิชาการ เป็นการให้ข้อมูล ไปถามตาสีตาสาทั่วประเทศไทย ได้ว่าสิ่งที่ผมพูดเป็นการให้ความรู้ให้สร้างสรรค์ และผมพยายามผลักดันความยุติธรรม ความชอบธรรม เพื่อสิ่งที่ผมต่อสู้คือการคอรัปชั่น และการใช้อำนาจที่ไม่ถูกต้อง ผู้ที่มีอำนาจอยู่ในเครื่องแบบหรือมีตำแหน่ง ถามว่าการต่อสู้เหล่านี้มันจะเป็นแผลบาปให้กับผมในการที่จะเข้ามารับใช้ประเทศชาติอีกต่อไปไม่ได้ในฐานะนักการเมืองไม่ได้หรือ ผมเป็นข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศมา 37 ปี ไม่มีความด่างพร้อย"


 


ถามว่าภาพบนเวทีพันธมิตรฯ จะส่งผลกระทบกับการบริหารงานหรือไม่ นายกษิต กล่าวว่า ไม่ เพราะไม่งั้นพรรคประชาธิปัตย์คงไม่เลือกตน และที่แสดงออกก็ไม่เพียงแต่บนเวทีพันธมิตรฯ เพราะมีทั้งในห้องประชุมวิชาการ การให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อ เพื่อให้ข้อมูล ข้อเท็จจริง ส่งเสริมประชาธิปไตย


 


ถามว่ากรณีนายวิทยา บูรณศิริ ส.ส.จ.พระนครศรีอยูทธยา พรรคเพื่อไทยวิพากษ์วิจารณ์ว่าได้ตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศเพราะนายสนธิลิ้ม ทองกุล แกนนำพันธมิตรฯ นายกษิต กล่าวว่า "คุณสนธิ ไม่ใช่พ่อผม และคุณสนธิก็ไม่ใช่พ่อพรรคประชาธิปัตย์ และผมคิดว่าเรามีความเคารพซึ่งกันและกัน และสิ่งที่พูดกันก็รู้ว่าใครเป็นใครอย่างไร อุดมการณ์อยู่ที่ไหน อุดมคติเป็นอย่างไร จุดยืนอยู่ที่ไหน ผมไม่ได้ปิดบัง ผมเปิดเผย ผมไม่ใช่ถูกแอบซ่อนมา หรือมาฉวยโอกาส หรือรอให้ราชรถมาเกย ผมสู้ในหลักการของผม เปิดเผย"


 


ถามว่า เชื่อว่าตนเองเป็นจุดอ่อนของภาพลักษณ์รัฐบาลชุดนี้หรือไม่ นายกษิต กล่าวว่า "ผมไม่เห็นว่าผมไปทำอะไรให้ภาพลักษณ์ของผมเสีย หรือรัฐบาลเสีย เพราะทุกอย่างพูดในที่เปิดเผย ผมไม่ได้ไปทำอะไรที่ใต้ดิน แต่ถ้าหากว่าคนจะตั้งประเด็นว่าเสียภาพลักษณ์ ผมจะไปเถียงได้ย่างไร เขาอาจจะตั้งประเด็นนี้ไปตลอดชีวิตผม หรืออีกพันปี ก็ขอให้ดูผลงาน"


 


ส่วนจะดำเนินการระหว่างประเทศ กรณี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หรือไม่ นายกษิต กล่าวว่า ไม่จัดการ เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณต้องกลับมาขึ้นศาล มีแค่นี้เอง เป็นหน้าที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องกลับมาขึ้นศาล ต้องเคารพกฎหมาย ไม่ใช่เรื่องที่ต้องขอความร่วมมือกับมิตรประเทศ แต่ต้องถามว่า ประเทศต่างๆ โดยมารยาท จะปล่อยให้ บุคคลคนหนึ่งใช้ประเทศของเขา เป็นเวทีโจมตีประเทศแม่ของตัวเองนั้น ถูกต้องหรือไม่ ประเทศเหล่านั้น ต้องดูว่าความเหมาะสมอยู่ตรงไหน เช่น การที่ประเทศอังกฤษ ไม่ให้คุณทักษิณกลับ ก็เพราะมีเหตุผลของเขา


 


ถามว่าเมื่อรับตำแหน่งแล้วจะกู้ภาพลักษณ์ประเทศอย่างไร นายกษิต กล่าวว่า เรื่องภาพลักษณ์เป็นผลของความขัดแย้งหรือการกระทำที่ชั่วร้าย ของรัฐบาลที่ชั่วร้าย จะต้องดูที่มาที่ไป ถือว่าการที่ประชาชนออกมาประท้วงก็เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการประชาธิปไตยและทำโดยสันติภาพเพื่อความเป็นประชาธิปไตยที่ดีขึ้น บ้านเมืองที่ใสสะอาดเท่านั้นเอง มันก็ต้องมีความขัดแย้งทุกสังคมมีความขัดแย้ง เช่น กรณียิงเด็กคนเดียวในประเทศกรีก ยังมีเหตุการณ์เผาเมืองกันไปหลายเมือง ถ้าบอกว่าประเทศกรีกเป็นต้นแบบของประชาธิปไตย ต้นแบบของความศิวิไลซ์ แล้วทำไมเขาถึงเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น แล้วทำไมเมืองไทยจะต้องไม่มีเหตุการณ์เกิดขึ้น ถ้าพูดว่าเมื่อประท้วงแล้วเป็นความขัดแย้งทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ ก็หมายความว่าไม่ต้องมีการประท้วงในประเทศกรีก ฝรั่งเศส อย่างนั้นหรือ อย่างไรก็ตาม ต้องถือว่านี่เป็นกระบวนการที่เราอยากจะสร้างสังคมขึ้นมา มันก็ต้องมีความเจ็บปวดในสังคม มีความขัดแย้ง มีการประท้วง แต่มันเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นประชาธิปไตย เราอยากจะได้เสถียรภาพ มีรัฐบาลเผด็จการ หรือรัฐบาลทหารมานั่งบีบพวกเราหรือ


 


ถามว่างานแรกที่จะเข้ามาดำเนินการเป็นเรื่องอะไร นายกษิต กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ได้พูดไว้ว่าจะเตรียมพร้อมในการจัดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน นี่เป็นเรื่องที่ต้องรีบดำเนินการเป็นลำดับแรก อันที่สองคงต้องไปดำเนินการปัญหาความสัมพันธ์กับประเทศกัมพูชาและประเทศพม่า และไปกระชับความสัมพันธ์กับมาเลเซีย ส่วนเนื้องานอาเซียน เราก็ต้องช่วยกันผลักดันเมื่อมีกฎบัตรอาเซียนแล้วต้องให้มีการปฏิบัติ ทั้งในเรื่องสังคม และความมั่นคง ทางการเมืองและเศรษฐกิจ ให้คืบหน้าและเราจะทำงานอย่างใกล้ชิดกับสำนักเลขาธิการอาเซียน และเลขาธิการอาเซียนคือ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เพื่อจะได้ช่วยกันขับเคลื่อนได้ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียนอีกปีกว่าๆ


 


ถามว่าการจัดประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนจะมีขึ้นในเดือนมกราคม หรือไม่ นายกษิต กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้บอกไว้แล้วว่าปลายเดือนมกราคมหรือครึ่งแรกของเดือนกุมภาพันธ์ โดยตนคิดว่ากระทรวงการต่างประเทศได้จัดเตรียมเนื้อหาไว้พร้อมแล้ว เพียงแต่ว่าเราจะเคาะระฆังวันไหน และดูว่าผู้นำประเทศต่างๆ ที่จะมาเข้าร่วมประชุม สะดวกหรือไม่ ตนคิดว่ากระทรวงการต่างประเทศกำลังหาวันที่ทุกคนพร้อมจะเข้ามา แต่ความพร้อมของเนื้อหามีอยู่แล้ว นายกฯ ก็พร้อม ตนเองก็เริ่มศึกษา ในที่สุดก็คงจะพร้อม ตนก็รู้เรื่องอาเซียนมาพอสมควร


 


ถามว่าจะมีปัญหาในการทำงาน ร่วมกับประเทศกัมพูชาหรือไม่ นายกษิต กล่าวว่า ในความสัมพันธ์มันก็มีปัญหา ประเทศอื่นที่อยู่ใกล้กันก็กระทบกระทั่งกัน เช่น ประเทศฝรั่งเศสกับประเทศเยอรมันนี เมื่อมีปัญหาก็เป็นหน้าที่ของเราที่เราจะแก้ปัญหา การแก้ปัญหาก็คืองาน และก็เป้าหมายคือ เสริมสร้างความสัมพันธ์ ระหว่างไทย-กัมพูชาให้มีความไว้เนื้อเชื่อใจกันได้สนิทชิดเชื้อทำมาค้าขาย กันได้ขจัดปัญหา ไม่ใช่แค่เรื่องเขตแดน แต่มีเรื่องค้ายาเสพติดลักลอบขนอาวุธ สินค้าหนีภาษี ค้ามนุษย์ รวมทั้งการกู้ทุ่นระเบิดตามแนวชายแดน


 


"เราก็ต้องเร่งเจรจาโดยเฉพาะผลประโยชน์ในทะเลที่ทับซ้อน ซึ่งถ้าหากตกลงกันได้ก็ร่ำรวยทั้ง 2 ประเทศ ถ้ามัวแต่ทะเลาะกันก็ไม่มีประโยชน์อะไร เลิกทะเลาะกันแล้วก็ทำอะไรที่สร้างสรรค์ด้วยกัน ผมก็ดีใจที่สมเด็จฮุนเซน มีสารแสดงความยินดีถึงนายอภิสิทธิ์ ที่เป็นนายกรัฐมนตรีหรือผู้นำรัฐบาล"


 


ถามว่า จุดที่ทำให้ปัญหาครุกรุ่นขึ้น เช่น กรณีปราสาทพระวิหาร รัฐบาลประชาธิปัตย์ จะแก้ปัญหาอย่างไร นายกษิต กล่าวว่า "ที่ผ่านมา บางทีเราพูดจาผ่านไมโครโฟน ผมคิดเราเป็นรัฐเพื่อนกัน เราฉันท์มิตรกันเรามานั่งจับเข่าคุยกัน หากได้รับตำแหน่ง ผมจะรีบบินไปกัมพูชาเป็นโอกาสแรก และนายกฯก็คงจะคิดเช่นนั้น เรามีกรอบอยู่แล้วที่จะพูดจากับกัมพูชา คิดว่าสมเด็จฮุนเซน และคุณอภิสิทธิ์ ตั้งเป้าจะสมานไมตรี ความสัมพันธ์ กลับมาสู่ปกติ ในวิสัยที่จะทำได้ ที่สำคัญคือไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างคุณอภิสิทธิ์ และสมเด็จฮุนเซน ไม่มีเรื่องส่วนตัว ไม่มีเรื่องทุจริตที่เข้ามา


 


เมื่อขจัดเรื่องนี้ไปได้ก็มีแต่งานที่จะทำให้กับประเทศทั้ง 2 เท่านั้น ไม่มีอย่างอื่น อันนี้สำคัญ เพราะจุดเริ่มต้นใสสะอาด กรอบกฎหมายมีแล้ว องค์กรที่จะให้มีการเจรจาโดยเฉพาะคณะกรรมาธิการร่วมเขตแดนไทย-กัมพูชา หรือเจบีซี มีแล้ว และระดับเจ้าหน้าที่ทั้งฝ่ายแผนที่ฝ่ายกฎหมายก็พบกันมาตลอด ปรับทุกสิ่งทุกอย่าง ให้เดินหน้าไปและฝ่ายการเมืองก็สนับสนุนทางฝ่ายเทคนิคกับฝ่ายประจำต่างๆ ให้คบหน้าไปและถ้าเผื่อผู้นำทางการเมืองเห็นพ้องกันมันก็ไปกันได้ และถ้าเผื่อมีปัญหา แทนที่จะด่าทอผ่านโทรทัศน์ ทีนี้เราก็จะไม่ทำจะมาพูดจากันเงียบๆ ผ่านช่องทางทางการทูต หรือบินไปหารือไปเช้าเย็นกลับ ไปนั่งคุยกันถ้ามีปัญหาอะไร แต่จะต้องไม่ด่าทอ ไม่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ในทางลบเพราะมันไม่ดี"


 


ถามว่า ประเด็นไหนในด้านการต่างประเทศที่หนักใจในขณะนี้ นายกษิต กล่าวว่า ผมคิดว่าที่เร่งด่วนมากคือ ภาพลักษณ์ ภาพพจน์ ของไทยที่เราจะต้องนำกลับมาให้ได้ และผมคิดว่าต่างชาติมั่นใจในประเทศไทยว่าต่อไปนี้ เราจะเป็นรัฐบาลที่บริหารประเทศได้ และมุ่งที่จะนำพาประเทศไทยให้เป็นเลิศ ไม่ใช่รัฐบาลที่ล้มเหลว หรือรัฐบาลที่หลีกเลี่ยงปัญหาไม่ทำงานอย่างจริงจัง และเราจะเริ่มพูดจากับทุกฝ่าย เช่นเดียวกับที่นายอภิสิทธิ์ ได้พูดกับ 3-4 กลุ่มทางด้านธุรกิจ และอะไรที่ทำได้ก็จะรีบทำ ภาพลักษณ์ต่างๆ ก็จะกลับมา


 


ส่วนการปิดสนามบินของกลุ่มพันธมิตรฯ นายกษิต กล่าวยอมรับว่าส่งผลกระทบ และกรณีที่หลายประเทศยื่นประท้วงนั้น ก็เป็นสิทธิของเขาที่จะยื่นประท้วง เช่น หากกรีกปิดสนามบิน เราก็ไปประท้วงเขาได้


 


ถามว่ากรณีต่างชาติต้องการความมั่นใจว่าจะไมเกิดเหตุการณ์ปิดสนามบิน นายกษิต กล่าวว่า ต้องย้อนดูว่ารัฐบาลชุดที่แล้วว่าเป็นรัฐบาลที่ทำงานหรือเปล่าในช่วง 7-8 เดือนที่ผ่านมา แต่รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลที่จะทำงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net