เสียง ความทรงจำกับอำนาจ: เสียงโฟนอินของทักษิณในสนามกีฬา

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

อรรคพล สาตุ้ม

 

 

เสียง: ความทรงจำกับอำนาจ ภาพสะท้อนการเมืองไทยและทักษิณ

ผมนำแนวคิดเรื่องเสียง มาเป็นประเด็นในการวิเคราะห์อำนาจ และความทรงจำต่อทักษิณ ซึ่งน่าจะเกิดความแตกต่างอย่างสร้างสรรค์ จากแนวทางของธงชัย วินิจจะกูล ในการศึกษา "ความทรงจำ ภาพสะท้อนและความเงียบในหมู่ฝ่ายขวาหลังการสังหารหมู่ 6 ตุลา" (1) เสียง เป็นความทรงจำกับอำนาจได้ ทั้งเสียงที่ผ่านการรับรู้จากสงคราม (2) เพราะว่า เสียงย่อมเข้ากับจังหวะบทเพลง ซึ่งสอดคล้ององค์ประกอบของความรู้สึก เช่น เพลงพระราชนิพนธ์ "เราสู้" โดย สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ทำการศึกษา "เราสู้:เพลงพระราชนิพนธ์การเมืองกับการเมืองปี 2518-2519" (3) และเนื้อเพลง คือ "บรรพบุรุษของไทยแต่โบราณ ปกบ้านป้องเมืองคุ้มเหย้า เสียเลือดเสียเนื้อมิใช่เบา หน้าที่เรารักษาสืบไป ลูกหลานเหลนโหลนภายหน้า จะได้มีพสุธาอาศัย อนาคตจะต้องมีประเทศไทย มิยอมให้ผู้ใดมาทำลาย ถึงขู่ฆ่าล้างโคตรก็ไม่หวั่น จะสู้กันไม่หลบหนีหาย สู้ตรงนี้สู้ที่นี่สู้จนตาย ถึงเป็นคนสุดท้ายก็ลองดู บ้านเมืองเราเราต้องรักษา อยากทำลายเชิญมาเราสู้ เกียรติศักดิ์ของเราเราเชิดชู เราสู้ไม่ถอยจนก้าวเดียว" (4)

 

ในทัศนะของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เพลง "เราสู้" (5) ได้รับการ "ใช้งาน" อย่างแพร่หลายในช่วงไม่กี่ปีแรกของทศวรรษ 2520 แต่พร้อมๆกับการเสื่อมถอยและสิ้นสุดของขบวนการปฏิวัติฝ่ายซ้ายในประเทศและต่างประเทศในกลางทศวรรษนั้น การ "ใช้งาน" ดังกล่าว ก็เริ่มลดน้อยและสิ้นสุดลงตามไปด้วย (เช่นเดียวกับเพลงปลุกใจของฝ่ายขวาอื่นๆ เช่น หนักแผ่นดิน) หนังสือ ที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพเจ้าหน้าที่ผู้เสียชีวิตเนื่องจากปฏิบัติหน้าที่ราชการในการรักษาความมั่นคงภายใน เลิกตีพิมพ์บทเพลงนี้ไปในปี 2529 สืบต่อมาด้วยการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ หรือ รัฐธรรมนูญครึ่งใบ สะท้อนการเปลี่ยนแปลง ก่อนจะเป็นถอนรากประชาธิปไตยครึ่งใบออกไปโดยรัฐธรรมนูญฉบับรสช. และแล้วสภาพสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ ก็คล้ายกับสถานการณ์การเมืองในยุคพฤษภา 2535 (6)

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อเรารับรู้ความทรงจำ ผ่านประวัติศาสตร์ บทเพลง เสียงปืน ระเบิด ที่มีความเจ็บปวดมาก่อน ตั้งแต่ 6 ตุลา จนถึงพฤษภา 35 เราประสบรับรู้หลังรัฐประหาร 2549 และวันที่ 31 ธันวาคม 2549 มีเหตุการณ์เกิดระเบิดที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และสถานที่ต่างๆ ในความทรงจำสดๆ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ความวุ่นวาย ก่อนช่วงวันปีใหม่ และต่อมาการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย หลังรัฐประหาร ในวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 ตุลาการรัฐธรรมนูญตัดสินให้ยุบพรรคไทยรักไทย ต่อมาเสียงการต่อต้าน ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ปี2550 และการกลับมาของพรรคพลังประชาชน ได้ชนะเสียงจากการเลือกตั้ง และกลุ่มพันธมิตรฯ และด้วยความนิยมข้ามบริบทของกาลเวลาของเพลงพระราชนิพนธ์ "เราสู้" ในกลุ่มพันธมิตรฯ และขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมือง และพรรคประชาธิปัตย์ กับปราสาทเขาพระวิหาร ที่รัฐบาลถูกอภิปรายในรัฐสภาวันที่ 24-26 มิถุนายน 2551 จากนายกรัฐมนตรีสมัคร-สมชาย จนถึงคดียุบพรรคพลังประชาชน ฯลฯ และกระแสการย้ายพรรค กลุ่มเนวิน และการต่อต้านของกลุ่ม "เสื้อแดง"พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเกี่ยวพันกลุ่มพันธมิตรฯ (ผมเขียนบทความในช่วงวันที่ 11 ธันวาคม 2551)

 

ก่อนเสียงโฟนอินทักษิณ และภาพของอดีตนายกรัฐมนตรีของไทย ซึ่งถูกเปรียบเทียบกับปรีดี พนมยงค์ ว่าอาจจะต้องใช้ชีวิตอยู่ต่างแดน และเมื่อเสียงนั้นจะมาข้ามประเทศ "คำล่องลอย" สะท้อนเสียงเป็นอำนาจทางการเมืองอย่างสำคัญต่อกระแสการเมืองในการจัดตั้งรัฐบาล (7) เสียงเป็นสิ่งแยกไม่ออกจากประวัติศาสตร์และความทรงจำของการพูดต่อประชาชน มันจึงมี "ความหมาย" และกลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ สะท้อนถึงอำนาจทางการเมือง ดังนั้น เสียงของทักษิณ คือ สิ่งทีสะท้อนอำนาจ และความทรงจำ ทำให้ไม่เกิดความเงียบในหมู่ประชาชนเสื้อแดง

 

 

ย้อนอดีต ที่มาของเสียงโฟนอินทักษิณ ในรายการความจริงวันนี้

รายการความจริงวันนี้ เกิดขึ้นจากดำริของ นายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งกล่าวในรายการ "สนทนาประสาสมัคร" เมื่อวันอาทิตย์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 ว่า จะมอบหมายให้กลุ่มโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผลิตรายการโทรทัศน์ ในทุกวันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 22.15-23.00 น. เพื่อตอบโต้ข้อกล่าวหา ที่ผู้บริหารองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ, จรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ, คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ปฏิบัติราชการแทนคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ว่าการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เป็นต้น ตลอดจนกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นำมาโจมตีรัฐบาล ผ่านสื่อในเครือผู้จัดการ โดยเฉพาะสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม เอเอสทีวี ช่อง นิวส์วัน

 

แต่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น แถลงว่ากลุ่มโฆษกรัฐบาลไม่สามารถผลิตรายการดังกล่าวได้ เนื่องจากเป็นช่วงเวลาของรายการ "ข่าวหน้าสี่" ซึ่งมี บริษัท นิวไทม์ เทเลวิชั่น จำกัด เป็นผู้ผลิตอยู่แต่เดิมแล้ว ทางรัฐบาลจึงทาบทามให้ บริษัท เพื่อนพ้องน้องพี่ จำกัด ผู้ดำเนินกิจการสถานีโทรทัศน์พีทีวี เมื่อปี พ.ศ. 2550 และผู้ผลิตรายการ "เพื่อนพ้องน้องพี่" และ "มหาประชาชน" ทางสถานีโทรทัศน์เอ็มวีทีวี ช่อง 5 มาผลิตรายการร่วมกับ สถานีโทรทัศน์เอ็นบีที โดยมี นายวีระ มุสิกพงศ์ ประธานกรรมการ บจก.เพื่อนพ้องน้องพี่ เป็นผู้ดำเนินรายการหลัก พร้อมทั้งเชิญ นายจตุพร พรหมพันธุ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระบบสัดส่วน กลุ่มที่ 6 พรรคพลังประชาชน และนายณัฐวุฒิ มาเป็นผู้ร่วมดำเนินรายการ

 

ทั้งนี้ รายการดังกล่าวมีชื่อตั้งต้นว่า ชาวสนามหลวง แต่เมื่อถึงเวลาออกอากาศครั้งแรก เมื่อวันจันทร์ที่ 21 กรกฎาคม รายการก็เปลี่ยนมาใช้ชื่อ ความจริงวันนี้ และในสัปดาห์แรกนั้นเอง ก็ได้รับเวลาออกอากาศเพิ่มในวันอาทิตย์ เวลา 22.00-23.00 น. ต่อมา ในราวกลางเดือนกันยายน รัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ได้มอบหมายให้นายณัฐวุฒิ เข้าดำรงตำแหน่งโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายก่อแก้ว พิกุลทอง จึงเข้ามาแทนที่นายณัฐวุฒิ ซึ่งก่อนหน้านี้ นายก่อแก้ว ก็เข้ามาเป็นพิธีกรแทนนายจักรภพ เพ็ญแข ในรายการเพื่อนพ้องน้องพี่ และมหาประชาชนมาแล้ว

 

เมื่อจัดรายการมาได้ระยะหนึ่ง กลุ่มพิธีกรของรายการ จึงมีดำริในการจัดงานพบปะระหว่างพิธีกรกับผู้ชมรายการ เพื่อย้อนรำลึกถึงบรรยากาศในการชุมนุมต่อต้านเผด็จการทหาร ของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อปี พ.ศ. 2550 โดยใช้ชื่อว่า งานครอบครัวความจริงวันนี้สัญจร (8)

 

 

ครอบครัวความจริงวันนี้สัญจร ครั้งที่ 1

งานครอบครัวความจริงวันนี้สัญจร ครั้งที่ 1 จัดขึ้นที่อาคารธันเดอร์โดม ภายในเมืองทองธานี "เมื่อวันเสาร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2551 เพื่อรำลึกถึงวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540" ระหว่างเวลา 12.00-18.00 น. โดยมีกลุ่มพิธีกร และ นปช.ขึ้นปราศรัยหลายคน ตามลำดับดังนี้ นายมานิตย์ จิตต์จันทร์กลับ อดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา และอดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา, นายก่อแก้ว พิกุลทอง, นายจตุพร พรหมพันธุ์, นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, นายวีระ มุสิกพงศ์, นายจักรภพ เพ็ญแข, นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย, นายอดิศร เพียงเกษ อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย และนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา ประธานมูลนิธิ 111 ไทยรักไทย โดยมีผู้เข้าร่วมงานประมาณ 30,000-50,000 คน ภายในงานมีการจำหน่ายเสื้อโปโล และเสื้อยืดสีแดง ที่มีสัญลักษณ์ของรายการฯ ในราคาย่อมเยา นอกจากนี้ นายสมบัติ บุญงามอนงค์ แกนนำศูนย์เฝ้าระวังการรัฐประหารแห่งชาติ ยังได้นำสติกเกอร์ เบื่อม็อบพันธมิตร มาแจกจ่ายภายในงานด้วย

 

 

ครอบครัวความจริงวันนี้สัญจร ครั้งที่ 2

งานครอบครัวความจริงวันนี้สัญจร ครั้งที่ 2 ภายใต้หัวข้อ "ความจริงวันนี้ ต้านรัฐประหาร" จัดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 ระหว่างเวลา 17.00-23.00 น. ที่ราชมังคลากีฬาสถาน ภายในสนามกีฬาหัวหมาก การกีฬาแห่งประเทศไทย ถ.รามคำแหง (ประตูเปิดประมาณ 15.00 น.) มีผู้ร่วมงานประมาณ 100,000 คน ก่อนเริ่มงาน ในเวลาประมาณ 13.00 น. มีการประกอบพิธีทางศาสนาพราหมณ์ โดยมีผู้จัดรายการ และ นปช.ขึ้นปราศรัย ตามลำดับดังนี้ นายมานิตย์ จิตต์จันทร์กลับ, นายก่อแก้ว พิกุลทอง, นายจตุพร พรหมพันธุ์, นายจาตุรนต์ ฉายแสง, นายวีระ มุสิกพงศ์, นายจักรภพ เพ็ญแข, นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา และนายอดิศร เพียงเกษ

 

เนื้อหาในการปราศรัย ได้กล่าวถึงการบริหารประเทศที่ประสบความสำเร็จ ในสมัยที่ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี, การต่อต้านรัฐประหาร, โจมตีการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ และพรรคประชาธิปัตย์ และให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ดูแลความสงบเรียบร้อยในประเทศ ทั้งนี้ ในช่วงท้าย เวลา 22.45 น. นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ได้ขึ้นร้องเพลง "รักสาวเสื้อแดง" ที่เขาแต่งเนื้อร้องด้วยตนเอง โดยดัดแปลงจากเพลงเดิม ให้มีเนื้อหาเข้ากับกิจกรรมของงานด้วย จากนั้น ผู้ปราศรัยขึ้นขอบคุณประชาชน ก่อนปิดงาน ภายในงานมีการจำหน่ายเสื้อสีแดง, ตีนตบ, หนังสือ และมีการแจกวีซีดี พันธมิตรฆ่าประชาชน ด้วย

 

โดยช่วงสำคัญของงานครั้งนี้ อยู่ที่การปราศรัยทางโทรศัพท์ ของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร โดยมีนายวีระ เป็นผู้สัมภาษณ์บนเวที โดย พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ได้กล่าวถึง การสร้างความสามัคคี ว่าเป็นสิ่งที่ทุกคนควรปฏิบัติ

 

 

ผลสะท้อนผ่านสื่อผู้จัดการ จากเสียงของทักษิณ ในความจริงวันนี้ครั้งที่ 2

 

สื่อผู้จัดการนำถ้อยคำของทักษิณมาถอดรหัส ดังนี้

 

"แน่นอน ไม่มีใครเอาผมกลับประเทศไทยได้ นอกจากพระบารมีที่ทรงเมตตา"

คุณทักษิณ ชินวัตรต่อสายมาปราศรัยเรียกน้ำตาจากผู้สนับสนุนเมื่อค่ำวันเสาร์ที่ 1 พฤศจิกายน 2551 มีประเด็นที่ผมอยากจะแสดงความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนเชิงโต้แย้งผ่านคำ 2 คำที่แสดงออกมา

 

- "ความยุติธรรม" หรือที่ถูกแปลงใหม่ว่า "กระบวนการยุติความเป็นธรรม"

 

- "พระบารมี" ...ที่ทรงเมตตา ไม่ว่าคดีไหน ยากนักที่ผู้ถูกลงโทษจะพึงพอใจ มิพักต้องพูดถึงคดีที่คุณทักษิณ ชินวัตร และครอบครัว เจอะเจอ ที่ไม่ใช่คดีแพ่งหรือคดีอาญาปกติทั่วไป แต่เป็นคดีที่ว่าด้วยธรรมาภิบาลและการป้องกันการทุจริต ทำให้มีบทบัญญัติว่าด้วยความผิดฐานขัดกันซึ่งผลประโยชน์ ซึ่งเป็นของใหม่สำหรับประเทศไทย….

 

โดยการเขียนของสื่อผู้จัดการ ยังเขียนต่อเป็นตอน 2 เรื่อง "ราชประชาสมาสัย"

 

"แน่นอน ไม่มีใครเอาผมกลับประเทศไทยได้ นอกจากพระบารมีที่จะทรงเมตตา หรือพลังของพี่น้องประชาชนเท่านั้น" ซึ่งมีการอธิบาย คำว่า "ราชประชาสมาสัย" หรือ "ลัทธิราชประชาสมาสัย" ไม่ได้มีความหมายแค่มุ่งหวังอาศัยพระบารมีขอพระราชทานอภัยโทษ ซึ่งเป็นสิทธิโดยชอบธรรมของนักโทษทุกคนที่จะทำได้หลังศาลยุติธรรมมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักโทษประหาร ส่วนจะได้รับพระเมตตาหรือไม่ก็เป็นพระราชอำนาจโดยสมบูรณ์ของพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับ ฉบับ 2550 ปัจจุบันอยู่ที่มาตรา 191 ไม่ใช่เรื่องที่คนอื่นจะมาเข้าชื่อกันทำแทนตามที่ส.ส.พรรคพลังประชาชนกำลังคิดกันอยู่

 

การพูดประโยคข้างต้นของคุณทักษิณ ชินวัตร โปรดสังเกตคำว่า "หรือ" ที่ผม (คำนูญ สิทธิสมาน) จงใจขีดเส้นใต้ไว้ และผมมิบังอาจตีความ แต่เชื่อว่าคงใจเดียวกันกับพี่น้องผู้อ่านทั้งหลาย นี่ไม่ใช่ราชประชาสมาสัย! ราชประชาสมาสัยมีรากฐานทางปรัชญาเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของประเทศไทย คนที่ใช้คำนี้เป็นคนแรกก็คือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ในคอลัมน์ "ปัญหาประจำวัน" ในนสพ.สยามรัฐ ประจำวันที่ 11 ธันวาคม 2514 และมาขยายความอีกครั้งในบทสนทนา "การเมืองไทย" กับเสน่ห์ จามริก และดร.เกษม ศิริสัมพันธ์ (บันทึกอยู่ในวารสารธรรมศาสตร์ ปีที่ 1 ฉบับที่ 3 เดือนเมษายน 2515 หน้า 39 - 45)

 

"การปกครองแบบราชประชาสมาสัย คือให้พระมหากษัตริย์กับประชาชนร่วมกันปกครองแผ่นดิน ให้พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจในการปกครองมากขึ้นกว่าในระบอบประชาธิปไตย และให้ประชาชนมีอำนาจในการปกครองมากขึ้นกว่าในระบอบประชาธิปไตยของไทยที่แล้วมา พระมหากษัตริย์กับประชาชนในเมืองไทยนั้นไม่เป็นภัยต่อกัน มีแต่ความรักต่อกัน และมีความอนุเคราะห์เกื้อกูลต่อกันและกันมาโดยตลอด ถ้าหากว่าพระมหากษัตริย์กับประชาชนของพระองค์ได้ร่วมกันปกครองแผ่นดินด้วยความรัก และอนุเคราะห์เกื้อกูลกัน ดังที่ได้มีมาแล้วโดยตลอดนั้น ผู้เขียนก็มีความหวังว่าแผ่นดินไทยของเรานี้จะเป็นแผ่นดินแห่งความสันติและความเจริญในทุกทางดังที่คนทั่วไปปรารถนา" (ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช / 11 ธันวาคม 2514)

 

ชัยอนันต์ สมุทวณิช นำมาประยุกต์เป็นข้อเสนอการออกแบบโครงสร้างของวุฒิสภาขณะเตรียมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2517(ทำให้มีเหตุเขียนหนังสือโต้ท่านปรีดี ที่เขียนวิจารณ์ร่างฉบับดังกล่าว) เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2516 ในบทความที่ตีพิมพ์ในนสพ.สยามรัฐ คุณสนธิ ลิ้มทองกุลกล่าวนำประชาชนถวายสัตย์ปฏิญาณต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ว่าจะร่วมสร้างการเมืองใหม่ตามแนวทางนี้ ภายใต้เข็มมุ่ง "ถวายคืนพระราชอำนาจฯ" เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2548 สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยร่วมกับสภาทนายความแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์เสนอให้มีการแก้วิกฤตการเมืองตามแนวทางนี้เช่นเดียวกัน (เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2519) "ปราโมทย์ นาครทรรพ" ก็ได้เสนอแนะทางออกแห่งวิกฤตในยุคปัจจุบันด้วยแนวทางนี้ตลอดทั้งปี 2550 - 2551 ในข้อเขียนที่ตีพิมพ์ในนสพ.ผู้จัดการรายวันและเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์

 

นอกจากจะไม่ได้รับการขานรับจากคุณทักษิณ ชินวัตร พรรคพลังประชาชน นักวิชาการกลุ่มที่เสนอความเห็น "ระบอบประชาธิปไตยของปวงมหาประชาชน" และมวลชนคนเสื้อแดงแล้ว ยังคัดค้านโจมตีอย่างหนักหน่วงว่าเป็นการถอยหลังลงคลอง! มาวันนี้ กลับได้ยินคำนี้หลุดออกจากปากของวีระ มุสิกพงศ์ผู้โดนศาลอนุมัติหมายจับข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และเคยถูกศาลพิพากษาจำคุกในข้อหาเดียวกันนี้มาแล้วเมื่อกว่า 10 ปีก่อน ไม่อยากกล่าวหาใคร ณ ที่นี้ว่าไม่จริงใจหรือมีวาระซ่อนเร้นอันร้ายกาจหรอก

(9) และอย่าลืมว่า แนวคิดของชัยอนันต์ สมุทวณิช มีแนวทางข้อเสนอ "ระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ" (10) และผนวกด้วยการสนับสนุนตั้งพรรคให้แก่พันธมิตรฯ และที่ปรึกษาของสนธิด้วย

 

ข้อเสนอของชัยอนันต์ ดังกล่าวนั้น และแนวทางของกรณีทักษิณ ส่งเสียงกับประชาชน สะท้อนภาพในสถานการณ์เสียงปราศรัยถึงเรื่อง "ราชประชาสมาสัย" และการถูกถอดรหัสประโยคที่ทักษิณ กล่าวว่า "แน่นอน ไม่มีใครเอาผมกลับประเทศไทยได้ นอกจากพระบารมีที่ทรงเมตตา และ(หรือ) พลังของประชาชนเท่านั้น" โดยสื่อผู้จัดการ เสนอคำว่า หรือ "แทน" คำว่า "และ" ตีความคำว่า "หรือ" ต่างๆ นานาดังกล่าว โดยการวิเคราะห์เสียง ผ่านตรรกะและถ้อยคำของทักษิณ ซึ่ง "แนวความคิดราชประชาสมาสัย" อาจจะไม่ต่างกับของกลุ่มพันธมิตรฯ ก็ตาม และแล้ว เราก็มาอยู่ในยุคที่ "คำล่องลอยข้ามแดน" โดยเสียง ความทรงจำ และอำนาจ ของทักษิณ กำลังจะถูกพิสูจน์พลังทางการเมืองอย่างแน่นอน

 

 

ครอบครัวความจริงวันนี้สัญจร ครั้งที่ 3

งานครอบครัวความจริงวันนี้สัญจร ครั้งที่ 3 คณะผู้จัดรายการฯ ได้รับความอนุเคราะห์จาก พระราชธรรมนิเทศ (พระพยอม กัลยาโณ) ให้จัดขึ้นที่วัดสวนแก้ว จังหวัดนนทบุรี เมื่อวันอาทิตย์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 ตั้งแต่เวลา 13.00-17.00 น. โดยนอกจากผู้ดำเนินรายการทั้งสามแล้ว ยังมีวิทยากรขึ้นปราศรัยหลายราย ได้แก่ นายมานิตย์ จิตต์จันทร์กลับ นายอดิศร เพียงเกษ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา นายก่อแก้ว พิกุลทอง และนายจักรภพ เพ็ญแข โดยพระราชธรรมนิเทศได้ให้ข้อกำหนดของรายการครั้งนี้ว่า ต้องไม่มีการปราศรัยเพื่อปลุกระดมทางการเมือง ไม่มีการโทรศัพท์ข้ามประเทศของอดีตนายกรัฐมนตรี และไม่อนุญาตให้นำเท้าตบเข้ามาในวัด หากฝ่าฝืน พระพะยอม มีสิทธิ์ยุติรายการครั้งนี้ได้ทันที

 

งานเริ่มต้นด้วยการทอดผ้าป่าสามัคคีเมื่อเวลา 12.30 น. จากนั้น พระพยอมได้ขึ้นเวทีเพื่อเทศน์เตือนสติกลุ่มการเมืองทั้งสองฝ่าย จากนั้นเป็นการเสวนาของผู้ดำเนินรายการและพระพยอม ต่อด้วยการปราศรัยของวิทยากร และพระพยอม กัลยาโณได้ขึ้นเวทีเพื่อเทศน์ให้เหล่าประชาชนได้รับฟังอีกครั้ง ก่อนงานจะสิ้นสุดเมื่อเวลาประมาณ 17.00 น. (จบลง ว่าด้วยกรณีถวายฎีกาให้ทักษิณ)

 

ทั้งนี้ ไม่มีการโทรศัพท์ข้ามประเทศ (โฟนอิน) ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรีแต่อย่างใด ราวกับรอคอยกลายเป็นความเงียบไร้เสียงของทักษิณไปด้วย

 

 

"เสียงกองเชียร์ในสนามกีฬา" สะท้อนภาพการเมืองไทย

เมื่อเราผ่านประสบการณ์จากสนามกีฬา คือ ราชมังคลากีฬาสถาน รับรู้ เสียง ความทรงจำ และอำนาจของการมองเห็น-ฟังเสียงของทักษิณ และภาพบรรยากาศ เสียงกองเชียร์ ในราชมังคลากีฬาสถาน ท่ามกลางสีเขียวของสนามหญ้า และการนำเสนอให้เห็นแผนที่ประเทศไทย ในสนามกีฬา สะท้อนภาพเป็นความเป็นจริงกับประสบการณ์ในอดีต ความทรงจำ อำนาจของประชาชน และเสียงกองเชียร์ ต่อทักษิณ และต่อจากนั้น วิเคราะห์การเมือง ให้เราจะก้าวพ้นประชาธิปไตยครึ่งใบ โดยการเปลี่ยนแปลง โดยเราจะสู้เพื่อประชาธิปไตยเต็มใบในอุดมคติ และเสียงประชาชน โดยการสร้างรัฐธรรมนูญของประชาชน

 

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของทักษิณ ตกอยู่ภายใต้กำลังของเสียงข้างน้อยลดพลังลง โดยสมมติ"เราสู้ไม่ถอย" ทุกวิธีของสันติวิธี นำสู่การเพื่อบรรลุเป้าหมายประชาธิปไตย และหลักการประชาธิปไตย ในจิตสำนึกเราลุกขึ้นสู้ไม่ยอมแพ้ ซึ่งเราจะต่อสู้สามารถจะทำให้ประชาธิปไตยเต็มใบเบ่งบาน และรอฟังเสียงโฟนอินของทักษิณ จะให้เราต่อสู้ต่อไปเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งสมมติสถานการณ์แข่งขันฟุตบอล และเกมส์บอลตกเป็นรองอย่างมาก แล้วกองเชียร์ จะต้องแสดงออกด้วยการเชียร์ๆ และรอฟังเสียงโฟนอินของทักษิณ จะให้เราต่อสู้ต่อไปเพื่อประชาธิปไตย ในงานครอบครัวความจริงวันนี้สัญจร ครั้งที่ 4 จะจัดขึ้นที่สนามศุภชลาศัย(สถาปัตยกรรม มีชื่อของคนในกลุ่มคณะราษฎร)ในวันเสาร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2551 จินตนาการเสียงโฟนอินของทักษิณ ในสนามศุภชลาศัยกรีฑา ก็เตรียมวิ่งไปสู่เส้นชัย และเสียงชัยชนะหรือไม่ (11) และโฟนอิน ถ้อยคำจะเป็นอย่างไร ? ในขณะที่อนาคตกำลังไล่เรามาทุกทีๆ เพราะว่า นั่นคือ เสียง ความทรงจำ กับอำนาจ ต่อประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ที่มีเวลาเดินเร็ว ทำให้ทุกอย่างกลายเป็นอดีต และปัจจุบัน จะไปสู่อนาคต โดย เสียงแห่งประชาชน ทุกคน สามัคคี ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

 

 

อ้างอิง

(1) ธงชัย วินิจจะกูล "ความทรงจำ ภาพสะท้อนและความเงียบในหมู่ฝ่ายขวาหลังการสังหารหมู่ 6 ตุลา" http://www.prachatai.com/05web/th/home/10331

(2) โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ เสียง ความทรงจำกับอำนาจ http://review.semsikkha.org/content/view/554/146/

(3) สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล "เราสู้: เพลงพระราชนิพนธ์การเมืองกับการเมืองปี 2518-2519" http://www.2519.net/autopage/show_page.php?t=10&s_id=12&d_id=20เราสู้

(4) เราสู้ วิกิพีเดีย

(5) สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล "เราสู้" หลัง 6 ตุลา http://somsakfootnotes.blogspot.com/2006/10/6-5-10.html

(6) อรรคพล สาตุ้ม "24มิถุนา,28กรกฏา,4ธันวา,10ธันวา"และYoungPADผ่านประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมไทย

http://www.prachatai.com/05web/th/home/14788

(7) ไพ่สุดท้ายของ"นายใหญ่" ปาฏิหาริย์เดียว"เพื่อไทย"

http://matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01pol01111251&sectionid=0133&day=2008-12-11  (วันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11233 มติชนรายวัน) และ"เสื้อแดง" เหนือ-อีสาน ผุดเวทีระดมคนต้าน ปชป.ตั้งรัฐบาล-ขู่เคลื่อนพลยึดสภาสกัด "มาร์ค" นั่งนายกฯ

http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9510000146011

(8) ความจริงวันนี้, วิกิพีเดีย

(9) ทักษิณ ชินวัตร ความยุติธรรม, พระบารมี และ...ราชประชาสมาสัย! (ตอนที่ 2)  

http://manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9510000130228 และความเป็นมาของไอเดีย "ราชประชาสมาสัย" http://somsakcouppostings.blogspot.com/2007/07/blog-post.html (12 กุมภาพันธ์ 2550)

(10) ชัยอนันต์ สมุทวณิช "ระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ"

http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.as...D=9510000049004 (27 เมษายน 2551)

(11) เสียง มีความสัมพันธ์กับสถาปัตยกรรม เช่น พัฒนปกรณ์ ลีลาพฤทธิ์ นำเสนอความคิดดนตรี กับสถาปัตยกรรม "ดนตรีรังสรรค์ในสถาปัตยกรรม"

http://www.graduate.su.ac.th/proceeding/data/01.pdf

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท