Skip to main content
sharethis

อุไรวรรณเผยรอบ 8 เดือน ปี"51 เลิกจ้างแล้วเกือบ 1.3 แสนราย


นางอุไรวรรณ เทียนทอง รมว.แรงงาน กล่าวถึงสถานการณ์การเลิกจ้างภายหลังการประชุมผู้บริหารกระทรวงแรงงานวานนี้ (17 พ.ย.) ว่าจากข้อมูลของสำนักงานประกันสังคมในช่วงเดือนม.ค.-ส.ค.2551 พบว่ามีลูกจ้างทั่วประเทศถูกเลิกจ้างงานหมด 127,238 คน จากสถานประกอบการ 11,598 แห่ง หรือเฉลี่ยเดือนละ 15,905 คน ขณะที่ข้อมูลของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานมีแนวโน้มเลิกจ้างเพิ่มขึ้นอีก 15 แห่งจำนวนลูกจ้าง 5,338 คน


 


กระทรวงแรงงานมีแผนรับมือสถานการณ์เลิกจ้าง โดยการประชุมร่วมกับนาย โอฬาร ไชยประวัติ รองนายกรัฐมนตรี เสนอของบประมาณ 1,536 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาการเลิกจ้างทั้งระบบ คาดว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยเหลือลูกจ้างไม่ให้ตกงานได้อย่างน้อย 60,000 กว่าคน ในจำนวนนี้เป็นการจ้างงานตามโครงการบัณฑิตอาสาจำนวน 7,000 คน นอกจากนี้ยังมีการนำข้อเสนอขององค์กรแรงงานแห่งประเทศไทย ที่ขอตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ตกงานจำนวน 1,000 บาทเข้าที่ประชุมพิจารณาด้วย


 


"ขอให้ผู้ใช้แรงงานเบาใจได้ ได้มีการสั่งการให้เจ้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกจังหวัดติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ซึ่งงบประมาณที่ขอไปจำนวน 1,536 ล้านบาทนี้เป็นการช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานโดยตรง ซึ่งก็เป็นเงินไม่มากแค่เพียง 1.5% ของงบประมาณ 100,000 ล้านบาทเท่านั้น นอกจากนั้นยังได้มีการศึกษาความเป็นไปได้ในการขยายสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตน เพิ่มเงินสงเคราะห์บุตรบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ใช้แรงงานด้วย" นางอุไรวรรณ กล่าว


 


 


เปิด 10 โครงการรับมือตกงาน


ส่วนรายละเอียด 10 โครงการรับมือวิกฤติตกงาน ภายใต้กองทุนรับมือเลิกจ้าง งบประมาณ 1,536,042,800 บาทนั้น ประกอบด้วย 1.โครงการจ้างงานบัณฑิตอาสาสมัครในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา งบประมาณ 765,591,800 บาท 2.โครงการสร้างอาชีพใหม่ให้ผู้ถูกเลิกจ้างอันเนื่องจากผลกระทบจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 67,500,000 บาท 3.โครงการพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อบรรเทาปัญหาก่อนการเลิกจ้าง ใช้งบประมาณ 126,000,000 บาท


 


4.โครงการพัฒนาศักยภาพทักษะด้านภาษาเพื่อการทำงานต่างประเทศรองรับแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง 45,000,000 บาท 5.โครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการท่องเที่ยวและบริการต้านภัยเศรษฐกิจ 61,000,000 บาท 6.โครงการฝึกอาชีพแรงงานเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ 148,000,000 บาท 7.โครงการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างช่วยเหลือลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างเนื่องจากผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลก 270,000,000 บาท 8.โครงการพัฒนานักบริหารงานบุคคลเพื่อรับมือวิกฤติเศรษฐกิจ 19,600,000 บาท 9.โครงการพัฒนานักสหภาพแรงงานรองรับวิกฤติเศรษฐกิจ 5,400,000 บาท และ 10.โครงการความปลอดภัยของแรงงานภาคเกษตรเพื่อรองรับภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ ใช้งบประมาณ 27,951,000 บาท



 


โรงงานจิวเวลรี่ จ.ลำพูนปิดกิจการเลิกจ้างร่วมพัน โรงงานอิเล็กทรอนิกส์ปิดไลน์-ตัดโอที


นายมนัส เกียรติเจริญวัฒน์ ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.ลำพูน เปิดเผยว่า สถานการณ์การเลิกจ้างของสถานประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จ.ลำพูน เพราะผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้มีโรงงานจิวเวลรี่ปิดตัวไปแล้ว 2 แห่ง มีแรงงานถูกเลิกจ้างประมาณ 1,000 คน แต่โชคดีไม่มีปัญหา แรงงานส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างรายวันโรงงานได้จ่ายเงินชดเชยให้ตามกฎหมาย สาเหตุที่ปิดกิจการเพราะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจทำให้ออเดอร์ลดลง


 


ส่วนโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน พรินเตอร์ มีประมาณ 1-2 แห่ง เริ่มปิดไลน์ผลิตเพราะออเดอร์ที่ลดลง มีแรงงานราว 1,000 คน ได้รับผลกระทบถูกลดเวลาทำงานและโอที และมีแนวโน้มว่าจะมีโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์อีกหลายแห่งที่ได้รับผลกระทบ แต่จะเห็นผลชัดเจนในเดือนกุมภาพันธ์ 2552


 


นายนาคร มุกุระ แรงงาน จ.ลำพูน กล่าวว่า มีโรงงานอัญมณี จิวเวลรี่ และเจียระไนเพชรพลอย ในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จ.ลำพูน ราว 5 แห่งได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว เลิกจ้างแรงงานไปประมาณ 100 ราย ถือว่ายังมีจำนวนไม่มากนัก และไม่มีปัญหาเกิดขึ้นเพราะโรงงานจ่ายเงินชดเชยให้ตามกฎหมาย แรงงานทั้งหมดได้หมุนเวียนไปสมัครงานที่โรงงานอื่นแทนแล้ว แต่สำนักงานแรงงานฯไม่ได้นิ่งนอนใจ จ.ลำพูนได้ตั้งคณะอนุกรรมการติดตามปัญหาและเฝ้าระวังการเลิกจ้างแรงงานในพื้นที่อย่างใกล้ชิดแล้ว


 


 


โรงงานผลิตตุ๊กตา จ.ขอนแก่น เลิกจ้าง


นายบรรจบ อุนารัตน์ นักวิชาการแรงงาน สำนักงานแรงงานจังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่า สถานการณ์การจ้างแรงงานใน จ.ขอนแก่น จากการตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมนั้นพบว่า มีเพียง บริษัท อมรชัย ซิปแพ็ค จำกัด ที่แจ้งปิดกิจการเมื่อเดือนกันยายน ที่ผ่านมาและเลิกจ้างคนงานทั้งสิ้น 110 คน และล่าสุด บริษัท คาเดย์ จำกัด ซึ่งผลิตตุ๊กตาเซรามิคส่งออกไปลดพนักงานลง โดยเลิกจ้างแรงงาน 95 คน ซึ่งมีผลมาตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา ส่งผลให้ปัจจุบันโรงงานดังกล่าวมีแรงงานเหลือเพียง 825 คน จากเดิมที่มีอยู่ 900 กว่าคน


 


"สาเหตุที่บริษัท คาเดย์ ต้องปรับลดพนักงาน เนื่องจากตัวแทนที่สั่งซื้อจากประเทศเยอรมนีปรับลดออเดอร์ลง ซึ่งอาจจะเป็นผลพวงมาจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามกรรมการผู้จัดการต่างยืนยันว่าจะไม่ปิดกิจการและไม่มีนโยบายที่จะลดคนงานลงอีก โดยขณะนี้กำลังมองหาผลิตภัณฑ์ตัวใหม่อยู่"


 


 


ปากน้ำอ่วมวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐพ่นพิษ


นายประเทือง แสงสังข์ ประธานสภาองค์กรลูกจ้าง สภาแรงงานแห่งประเทศไทย เปิดเผย "กรุงเทพธุรกิจ" ว่าวิกฤติเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาที่เกิดขึ้นและปัจจัยขัดแย้งทางการเมือง ทำให้ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในจังหวัดสมุทรปราการปิดกิจการแล้วมากกว่า 10 แห่ง อีกทั้งมีแนวโน้มว่า จะมีอีกจำนวนหนึ่งจะประสบปัญหาแบบเดียวกัน และถึงขั้นปิดกิจการและเลิกจ้างแรงงาน


 


ทั้งนี้วิกฤติเศรษฐกิจในปีนี้ จะหนักกว่าที่เคยเกิดขึ้นในปี 2540 เพราะครั้งนั้น มีโรงงานบางประเภทเท่านั้นที่ปิดกิจการ แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้พบว่าครอบคลุมทุกสาขาการลงทุน "อุตสาหกรรมสิ่งทอ แค่รอบ 2 เดือนนี้ ปิดกิจการไปแล้ว 2 แห่ง คือบริษัท เพาเวอร์รัน และแฟรงค์ บราเธอร์ ทั้ง 2 แห่งมีลูกจ้างแห่งละประมาณ 800 คน ทั้งหมดได้รับการชดเชยขณะเดียวกันมีความเป็นไปได้ว่าในเดือนพฤศจิกายนนี้ จะมีกิจการที่ต้องเลิกจ้างคนงานอีก 400 คน "


 


เขากล่าวว่า วิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดในสหรัฐอเมริกา คงไม่สามารถจะหยุดยั้งผลกระทบที่จะเกิดกับอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ ของไทยได้ รัฐบาลโดยเฉพาะกระทรวงแรงงาน จะหามาตรการบรรเทาเยียวยาได้มากแค่ไหน และทันสถานการณ์หรือไม่" นายประเทืองกล่าว


 


นายหิน นววงษ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรปราการ เปิดเผย "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า


จะมีการประชุมหารือกับกรรมการสภาฯ เพื่อตรวจสอบว่า สถานการณ์ในขณะนี้สมาชิกได้รับผลกระทบหรือเดือดร้อนอย่างไร "ภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากจากวิกฤติเศรษฐกิจสหรัฐ คือการส่งออก โดยเฉพาะตลาดใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น โดยรับทราบข้อมูลเบื้องต้นแล้วว่า นอกจากจะไม่มีออเดอร์เพิ่มเติมแล้ว ยังให้ลดการผลิตลงอีกด้วย" นายหิน กล่าว


 


โคราชว่างงาน 20,000 ราย โรงงานปิด 1 แห่ง


นายแสงเงิน ขาวลิขิต จัดหางานจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า สำหรับสถานการณ์การว่างงานในจังหวัดนครราชสีมา ขณะนี้มีแรงงานที่ลงทะเบียนเป็นผู้ว่างงานจำนวนกว่า 20,000 ราย ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่เพิ่งจบการศึกษา ในระดับปริญญาตรี ส่วนผู้ว่างงานที่เคยลงทะเบียนไว้เป็นผู้ว่างงานตั้งแต่ปี 2550 ที่ผ่านมา และยังไม่มีงานทำ มีเพียง 400-500 คนเท่านั้น ซึ่งในจำนวนนี้ส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานที่มีวุฒิการศึกษาสูง คือระดับปริญญาตรี และปริญญาโท ต้องการงานที่ได้รับผลตอบแทนสูง แต่ไม่ค่อยมีตำแหน่งงานว่าง


 


ส่วนตำแหน่งงานว่างในระดับล่าง โดยเฉพาะงานฝ่ายผลิตตามโรงงานต่างๆ ยังคงมีตำแหน่งงานว่างอีกเป็นจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่ตำแหน่งงานเหล่านี้ไม่ค่อยได้รับความสนใจเท่าที่ควร เพราะแรงงานในจังหวัดจบการศึกษาค่อนข้างสูง ต้องการงานตามสาขาที่ตนเองถนัด "ขณะนี้ได้รับรายงานการปิดตัวของสถานประกอบการโรงงานในจังหวัดแล้วจำนวน 1 แห่ง คือ บริษัท ไทยไดม่อน จำกัด ซึ่งผลิตเครื่องประดับ ที่ อ.เมือง จ.นครราชสีมา มีคนงานที่ถูกเลิกจ้างจำนวน 124 คน "


 


เขากล่าวว่า ได้รับรายงานว่าจะมีการปิดตัวของ บริษัท ทานิทารุ จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานผลิตกระสอบ และผลิตภัณฑ์สำหรับบรรจุสิ่งของส่งออก มีพนักงานจำนวน 145 คน ซึ่งเป็นบริษัทของนายทุนชาวญี่ปุ่น ตั้งอยู่ภายในเขตอุตสาหกรรมสุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา ในวันที่ 25 พ.ย.นี้ แต่ขณะนี้ทางเจ้าของบริษัทฯ กำลังดำเนินการหาผู้ที่จะเข้ามาซื้อกิจการต่อ และจ้างพนักงานทุกคนที่ทำงานอยู่ภายในบริษัทแห่งนี้ต่อไป แต่หากไม่มีใครสนใจก็คงจะต้องปิดกิจการอย่างเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากต้องประสบกับปัญหาทางการเงิน


 


 


บริษัทเคมีญี่ปุ่นบุกไทย เล็งจ้างงานพันตำแหน่ง


ด้านนางอรรชกา สีบุญเรือง บริมเบิล เลขาธิการ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้พิจารณาส่งเสริมการลงทุนของบริษัท ซีบีซี อิงส์ (ประเทศไทย) จำกัด เงินลงทุนทั้งสิ้น 362 ล้านบาท ในการผลิตชิ้นส่วนพลาสติกสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ เครื่องใช้ไฟฟ้า และยานยนต์ กำลังผลิตปีละประมาณ 30.2ล้านชิ้น ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จ.ชลบุรี


 


ทั้งนี้เครือ ซีบีซี ที่ประเทศญี่ปุ่น มีโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์ที่ครอบคลุมในหลายอุตสาหกรรม เช่น เคมีภัณฑ์ เครื่องจักร พลาสติก และเลนส์สำหรับกล้องวงจรปิด โดยโครงการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอครั้งนี้ นับเป็นการเข้ามาลงทุนในประเทศไทยครั้งแรก ซึ่งคาดว่าจะมีการจ้างงานสูงถึง 1,000 คน และแรงงานส่วนใหญ่จะใช้ในการตรวจสอบชิ้นงาน


 


"โครงการนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการลงทุนต่างประเทศที่โอซาก้า ได้ใช้นโยบายเชิงรุกในการชักจูงให้บริษัทดังกล่าว ให้เข้ามาลงทุนดำเนินกิจการในประเทศไทย จนเป็นผลสำเร็จ ซึ่ง คาดว่าหลังจากนี้ จะมีโครงการลงทุนจากกลุ่มบริษัทใหญ่ ๆ เข้ามาได้อีกมาก" เลขาบีโอไอ กล่าว


 


ที่มา: เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจและแนวหน้า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net