Skip to main content
sharethis

นพ.ประวิทย์  ลี่สถาพรวงศา  ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม(สบท.) กล่าวว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยมีผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือเกือบ 60 ล้านเลขหมาย และกว่า 90 %  เป็นระบบเรียกเก็บค่าบริการล่วงหน้า (Prepaid) หรือแบบเติมเงิน โดยสบท.พบว่า ปัญหาส่วนใหญ่ของผู้ใช้บริการบัตรเติมเงิน คือ วันหมดเงินไม่หมด หรือ มีเงินเหลืออยู่แต่โทรออกไม่ได้ และถ้าไม่เติมเงินก็จะถูกระงับการใช้งานทั้งที่มีเงินเหลืออยู่ เนื่องจากบริษัทได้กำหนดระยะเวลาใช้งานไว้ ซึ่งการกระทำดังกล่าวขัดต่อประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ  เรื่องมาตรฐานสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ข้อ 11 ที่กำหนดให้ผู้ประกอบการห้ามมีข้อกำหนดในลักษณะเป็นการบังคับให้ผู้ใช้บริการต้องใช้บริการภายในระยะเวลาที่กำหนด เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบ จากคณะกรรมการเป็นการล่วงหน้า 


 


"การกำหนดวันหมดอายุ  เป็นการกระตุ้นให้ผู้บริโภคใช้โทรศัพท์มากขึ้น เพราะมีเงินเหลือจากการที่ต้องคอยเติมเงินอยู่เรื่อยๆ ซึ่งจริงๆการใช้เงินผู้บริโภคควรเป็นคนกำหนด เหมือนการเติมน้ำมัน ถ้าน้ำมันไม่หมด ก็ไม่ต้องเติม " นพ.ประวิทย์กล่าว


 


ผู้อำนวยการ สบท.กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา สบท.ได้ประสานงานผู้ประกอบการจนได้ดำเนินการแก้ไขเยียวยาความเสียหายด้วยการเปิดให้ใช้บริการตามปกติและไม่มีกำหนดระยะเวลา แต่ดำเนินการเฉพาะผู้ใช้บริการที่ร้องเรียนเข้ามาเท่านั้น ดังนั้นเพื่อผลักดันให้มีผลบังคับใช้กับผู้ใช้บริการทุกราย และหารือเพื่อหาทางออกที่ถูกต้องเหมาะสม จึงได้นัดผู้ประกอบการเข้ามาเจรจาเพื่อหาทางออกกรณีดังกล่าวในวันพรุ่งนี้ (14 พ.ย.51)  ที่ สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ


 


สำหรับผู้ทีมีปัญหาในเรื่องการใช้โทรศัพท์มือถือในเรื่องอื่นๆ หรือมีปัญหาในการใช้โทรศัพท์บ้าน และอินเตอร์เน็ต สามารถร้องเรียนไปยังผู้ประกอบการโดยตรง เมื่อไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาสามารถร้องเรียนมาได้ที่ สบท.  โทรฟรีสายด่วนรับเรื่องร้องเรียน 1200 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net