Skip to main content
sharethis

เรื่อง/ภาพ : ภู เชียงดาว


 


 


 



 


 


 






 


ฤดูฝน,2539


ค่ำวันหนึ่ง, บนดอยสูง


"น้ำบ่อใหม่" เป็นชุมชนเล็ก ๆ ของชนเผ่าลีซู ตั้งอยู่ในหุบเขา ซ่อนตัวอยู่กลางป่าลึก ไม่ไกลนักจากริมตะเข็บชายแดนไทย-พม่า ในเขตอำเภอเวียงแหง เชียงใหม่


 


ค่ำนั้น, ฝนยังคงโปรยปรายลงมาไม่ขาดสาย หลายวันมาแล้วที่ดวงตะวันไม่อาจสาดส่องถึง มีแต่เมฆหมอกและม่านฝน บรรยากาศในยามนี้ จึงดูซึมเซาและหงอยเหงาอย่างบอกไม่ถูก                                 


 


ขณะที่ผมกำลังนั่งทำกับข้าวในครัวไฟอยู่นั้น อะเลมะ เด็กลีซูคนหนึ่งวิ่งหน้าตาตื่นมาบอกผมว่า มีใครไม่รู้ไม่รู้จัก เดินเข้ามาในหมู่บ้านเยอะแยะเลย ….ผมรีบออกมายืนดูอยู่ตรงหน้าศูนย์การเรียน จดจ้องมองภาพความเคลื่อนไหวท่ามกลางสายฝนที่หล่นโปรย                   


 


ผู้คนประมาณสามสิบกว่าชีวิต กำลังดุ่มเดินเรียงราย ไต่ขึ้นมาตามทางดินที่เละลื่นด้วยโคลนแฉะชื้น ผู้ชายเดินนำหน้า ผู้หญิงก้าวตามหลังพร้อมเด็กหญิงเด็กชาย บางคนหอบกระเตงลูกน้อยไว้แนบแน่นแผ่นอก เสื้อผ้าที่สวมใส่แต่ละคนล้วนเปียกปอนโทรมกาย                        


 


พวกเขาหยุดอยู่ตรงประตูรั้วหน้าศูนย์การเรียนพักหนึ่ง ก่อนย่างเข้ามาหาผมช้าๆ ด้วยสีหน้าที่ยังหวั่นหวาดขลาดกลัว เด็กน้อยคนหนึ่งร้องไห้ลั่น เนื้อตัวสั่นเทาเพราะความหนาวเย็นของฝอยฝน ลูกน้อยกอดคอแม่ไว้ แม่พยายามปลอบ อือๆ ออๆ พร้อมกอดกระชับลูกไว้แนบอกแน่น                                    


 


"คู หมู่เฮาขอค้างนอนที่โฮงเฮียนนี้ซักคืนได้ก่อค่า…" ชายวัยกลางคนผู้มีใบหน้ากร้าน เอ่ยกับผมเบาๆ เหมือนจะเกรงใจ                                                                                               


 


ผมจ้องมองลึกลงไปในดวงตาของเขานั้นดูหม่นเศร้า                                      


 


ผมพยักหน้า พร้อมกับเรียกทุกคนเข้ามาข้างในห้องเรียน ซึ่งเป็นเพียงเพิงพักเก่าๆ ผมไม่ถามพูดไม่ถามอะไรมาก เพราะจากที่ฟังสำเนียงภาษาที่พวกเขาพูดกัน และดูจากการแต่งกาย ก็พอรู้แล้วว่า เป็นพี่น้องไต หรือชาวไทใหญ่ผู้พลัดถิ่นนั้นแน่นอน


 


0 0 0 0


 


ฟ้ามืด ฝนหยุดตก พายุคงใกล้สงบแล้ว


ผมค้นหาเสื้อผ้าเก่าๆ เอาให้เด็กๆ เปลี่ยนใส่กันหนาว เด็กๆ วิ่งเล่นภายในเพิงพักและเริ่มมีรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ แต่เมื่อหันไปมอง พ่อแม่ของเด็กๆ ไม่มีรอยยิ้ม ไม่มีเสียงหัวเราะ
มีเพียงใบหน้าหมองกับดวงตาที่ไร้หวัง                                                                                   


 


ในเตาไฟ พวกผู้หญิงกำลังง่วนอยู่กับการก่อกองไฟ หุงข้าว ตำน้ำพริก ผมจุดตะเกียงเจ้าพายุแขวนไว้กับเสากลาง เพียงครู่เดียวแสงไฟตะเกียงที่สว่างไสว ก็หลอกล่อให้เจ้าแมลงเม่าบินว่อนเข้ามาหาแสงไฟ พวกผู้ชายรีบเอาน้ำใส่ถังมาตั้งไว้ในใต้ดวงตะเกียง ปล่อยให้หมู่แมลงเม่าหล่นร่วงลงในถังน้ำใบใหญ่นั้น


 


เด็กๆ ตื่นเต้นกับแสงไฟ ช่วยกันจับแมลงเม่ากันยกใหญ่
อาหารของค่ำคืนนี้ จึงดูเอร็ดอร่อยเป็นพิเศษ…
น้ำพริกถั่วเน่ากับแมลงเม่าคั่ว

ดึกมากแล้ว…
เด็กๆ ล้มตัวลงนอนอยู่ในอ้อมกอดของแม่อย่างอ่อนเพลีย
ผมเข้าใจว่า ค่ำคืนนี้คงเป็นการพักผ่อนหลับนอนอย่างมีความสุขของพวกเขา


 


แต่ผมกับหนุ่มไทใหญ่สี่คนยังไม่ยอมนอน เรานั่งคุยกันตรงแคร่ไม้ไผ่ ริมหน้าต่าง ลมหลังฝนพัดผ่านเข้ามาเย็นยะเยียบ ผมหยิบเหล้าป่ารินให้พวกเขายกดื่มเพื่อเรียกความอบอุ่นให้กับร่างกาย


 


ลมป่ายังคงครวญคร่ำ  คล้ายดั่งลมแห่งชะตากรรม ที่โหมพัดใส่ชีวิตหลายชีวิตที่พลัดถิ่น  หมอกหนาวคลี่คลุมไปทั่ว เงยหน้ามองฟ้า  ดาวหมองอ่อนแสงล้า  มองออกไปเบื้องหน้า  เทือกเขาที่สลับทับซ้อนคล้ายซุกซ่อนความเศร้า หม่นมืดทะมึนอยู่รายรอบ


 


"เหตุการณ์ฝั่งโน้นเป็นไงบ้าง…"  ผมเอ่ยถามทำลายความเงียบ


 


"ยังเหมือนเดิม ทหารม่านมันร้าย บ้าน ยุ้งข้าวของเฮาถูกเผา คนโดนมันต้อนเหมือนงัวเหมือนควาย  ผู้ชายถูกจับไปเป็นลูกหาบ จนบ่าหลังนั้นเต็มไปด้วยแผลเน่าเฟะ  สงสารหมู่แม่หญิงและเด็กๆ  ต่างถูกพวกมันทำร้าย  บางครั้งพวกมันก็ลากเอาไปข่มขืนต่อหน้าต่อตาญาติพี่น้องของเรา…"  เขาบอกเล่าด้วยน้ำเสียงสั่น  กัดกรามแน่น…


 


บางอารมณ์ของความรันทดร้าวและโหยหาแผ่นดินที่จากมา  ชายไตคนหนึ่งร้องเพลง "ลิ่กห่มปางโหล๋ง" ด้วยน้ำเสียงสั่นเครือและเศร้าสะท้าน…


 


ในห้วงยามนั้น ผมมองเห็นน้ำใสๆในดวงตาของเขาหยาดหยดรดอาบแก้ม…


 


ขณะผมนั่งจมกับภาพเหตุการณ์เลวร้ายและรุนแรงอยู่นั้น หนุ่มไทยใหญ่ผมโล้นเกรียนที่นั่งอยู่ตรงหน้าผม ควักกระดาษสีขาวยับยู่ยี่แผ่นหนึ่งออกมาจากกระเป๋าเสื้อ เขาค่อยๆ คลี่ออกมา ก่อนยื่นให้ผมดู


 


เป็นเอกสารของเรือนจำกลางเชียงใหม่ ที่ระบุบอกว่า เขาเพิ่งพ้นโทษออกจากคุกมาหมาดๆ ด้วยข้อหาลักลอบเข้าเมือง และเพิ่งถูกทางการส่งตัวขับไล่ออกไปนอกประเทศ


 


ผมไม่จำเป็นต้องถามหรอกว่าทำไมถึงต้องหนีข้ามมาฝั่งไทยอีก...


 


"เฮาขอยอมเสี่ยง ยอมตายที่เมืองไทย ดีกว่าถูกพวกทหารม่านมันฆ่า..." เขาเอ่ยออกมาเบาๆ เหมือนพึมพำ ดวงตาคู่นั้นช่างไหวว้าง เลื่อนลอยและสิ้นหวัง


 


ลมภูเขายังคงพัดพาอายหนาวเข้ามายะเยือก เราแยกย้ายกันไปเข้านอน ผมลุกขึ้นจะเดินไปปิดไฟตะเกียง                                                                                                                        


แสงไฟตะเกียงสาดใบหน้าของเด็กๆ นอนซุกอยู่ใต้อ้อมกอดแม่



                                                            0 0 0 0


 


เช้ามืด, ผมงัวเงียออกห้องนอน


จุดตะเกียง ตั้งใจออกไปดูพี่น้องชาวไต แต่ว่าไม่พบใครแม้เพียงคนเดียว


เบื้องหน้านั้น, มีเพียงผ้าห่มเก่าๆ ที่พวกเขาพับเก็บไว้ให้เรียบร้อยอยู่ตรงมุมห้อง
จริงสิ, พวกเขาต้องรีบออกเดินทางแต่เช้ามืด ก่อนที่ทางการไทยจะเข้ามาพบเจอเสียก่อน


 


และผมก็ไม่รู้ว่า พวกเขากำลังจะเดินไปสู่หนไหน พวกเขาจะถูกเจ้าหน้าที่ไทยจับเข้าคุกหรือไม่ และถูกส่งข้ามฝั่งพม่าอีกหรือไม่ ผมไม่รู้ว่าเขาจะไปสิ้นสุดตรงที่ใด...


 


ผมรู้แต่เพียงว่า ชีวิตพวกเขาคือการเดินทางไกล…


 


 


o o o o


 


ผมหยิบบันทึกเก่าๆ เมื่อครั้งยังเป็นครูดอย ออกมาอ่านอีกครั้ง หลังจากนั่งอ่านหนังสือ "ก่อนตะวันจะฉาย"ฉาน" ที่พันเอกเจ้ายอดศึก,คุณนิพัทธ์พร เพ็งแก้ว และคุณนวลแก้ว บูรพวัฒน์ ร่วมกันเขียนขึ้น จบลง


 


นั่นทำให้ผมรับรู้ว่า ทำไมพี่น้องไทใหญ่ถึงต้องหนีข้ามฝั่งไทย และมาขออาศัยหลบฝน หลับนอนที่ศูนย์การเรียนฯ ในช่วงนั้น


 


ในหนังสือดังกล่าว มีการเรียบเรียงลำดับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์รัฐฉาน เอาไว้ว่า ในปี 2539 คือช่วงที่กองทัพ MTA ของขุนส่า ได้ยอมวางอาวุธกับรัฐบาลทหารพม่า ต่อมา กองทัพ SSA ภายใต้การนำของเจ้ายอดศึก ร่วมกันลุกขึ้นสู้ จนทำให้รัฐบาลพม่าได้ทำการปราบปรามอย่างรุนแรง หลังจากนั้น รัฐบาลทหารพม่าได้กวาดต้อนประชาชนในเขตรัฐฉานภาคกลางและภาคใต้ที่อยู่นอกตัวเมืองราว 3 แสนคน มีการบังคับให้ทิ้งบ้านเรือน ไร่นา สัตว์เลี้ยง


 


นอกจากนั้น ยังมีการประกาศให้พื้นที่เหล่านั้นเป็นเขต "ยิงอิสระ" จึงทำให้พี่น้องชาวไทยใหญ่ ต้องพากัน "หนีตาย" ทะลักข้ามมาฝั่งไทยอย่างต่อเนื่องในขณะนั้น


 


แน่นอน ภาพเหตุการณ์หลายฉากตอนนั้น เหมือนตั้งใจอยากย้อนให้ผมนั้นเดินเข้าไปค้นหา เรียนรู้เรื่องราวของพี่น้องไทยใหญ่ต่อไป


 


นั่น ทำให้ผมนึกไปถึงเธอ ผู้หญิงไทยใหญ่อีกคนหนึ่ง...


เด็กหญิงตัวเล็กๆ ที่พ่อแม่จำต้องพาเธอหนีตายระหกระเหิน เพียงเพื่อให้ชีวิตอยู่รอดปลอดภัย


 


อาจเป็นเพราะว่าโลกนี้ไม่มีความยุติธรรม สงครามการกวาดล้างเผ่าพันธุ์ทำให้เธอรู้จักความโหดร้ายและการกดขี่ข่มเหงตั้งแต่วัยเยาว์ จึงทำให้ชีวิตเธอต้องเพาะบ่มความแกร่งของจิตใจ เพียงเพื่อเรียกร้องหาสันติภาพ เสรีภาพ และความเป็นธรรมให้พี่น้องเชื้อชาติของเธอ


 


แน่นอน แม้ทุกวันนี้การต่อสู้ยังคงดำเนินต่อไป มีบ้างบางครั้งท่ามกลางการต่อสู้นั้นต้องตกอยู่ในห้วงของความมืดมน สิ้นหวัง หากเธอยังคงมุ่งมั่น ไม่ท้อ และเฝ้าฝึกฝนต่อเติมความหวังใหม่ให้กับผืนแผ่นดินไตที่มีชื่อว่า "ฉาน"


 


ใช่, ผมกำลังพูดถึงเธอ หญิงชาวไทใหญ่ที่ชื่อ "จ๋ามตอง"


 


0 0 0 0 0


 


 


"จ๋ามตอง เป็นชื่อภาษาไทใหญ่ หมายถึงดอกจำปาเงินค่ะ" เธอเอ่ยออกมาด้วยน้ำเสียงนุ่มนวล พูดจาภาษาไทยได้ชัดถ้อยชัดคำ จนหลายคนรู้สึกแปลกใจ


 


เธอบอกเล่าให้ฟังว่า เธอเกิดที่หมู่บ้านเล็ก ๆแห่งหนึ่ง บริเวณภาคกลางของรัฐฉาน ประเทศพม่า ท่ามกลางกระแสพายุสงครามความขัดแย้งในเรื่องชาติพันธุ์ ระหว่างทหารพม่ากับกองกำลังไทยใหญ่และกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ


 


เมื่อทหารรัฐบาลพม่าพยายามเข้ามากดดัน ก่อกวน ทำร้ายชาวบ้านอย่างต่อเนื่อง พอมีการสู้รบ ก็ต้องย้ายไปอยู่หมู่บ้านใหม่ จนทำให้พ่อแม่ของเธอต้องวางแผนพาเธอออกไปจากดงสงครามที่ปะทุคุกรุ่นอยู่ตลอดเวลา เพื่อชีวิตที่สุข สงบ และดีกว่าเป็นอยู่


 


จ๋ามตอง อายุเพียงหกขวบ กำลังเรียนหนังสืออยู่ชั้น ป.1 แต่ชีวิตเธอต้องระเหเร่ร่อนออกจากหมู่บ้าน ข้ามน้ำข้ามดอยมาอยู่ฝั่งไทย ว่ากันว่า แม่อุ้มเธอนั่งในตะกร้าใบใหญ่ซึ่งห้อยหาบคอนพาดบนหลังม้า หลบหนีทหารพม่า เข้ามาอาศัยอยู่ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในเขตชายแดนไทย-พม่า ก่อนที่พ่อแม่ของเธอจะหันหลังกลับไปสู่บ้านเกิดดังเดิม


 


นั่นคือจุดเปลี่ยนในห้วงชีวิตเธอ เมื่อเธอได้มาอาศัยอยู่ในบ้านเด็กกำพร้า


 


ที่นั่น มีเด็กๆ กำพร้าที่ร่วมชะตากรรมเดียวกับเธออีกกว่าสามสิบคน โดยมีครูแมรี่ คอยอบรมสั่งสอนอยู่ตลอดเวลา ในช่วงเก้าปีในบ้านเด็กกำพร้า เธอฝึกฝนขวนขวายหาวิชาความรู้อยู่อย่างต่อเนื่อง  ตื่นตั้งแต่ตีสี่ครึ่งเพื่อเรียนภาษาอังกฤษจากเจ้าของบ้านเด็กกำพร้า กลางวันเรียนภาษาไทยจากโรงเรียนไทย ตกเย็นจนถึงค่ำเรียนภาษาจีนจากโรงเรียนของคนจีนในหมู่บ้าน วันหยุดเรียนภาษาไทยใหญ่จากคนในหมู่บ้าน 


 


ชีวิตเธอในห้วงยามนั้นจึงอยู่กับการเรียนอย่างหนักหน่วง จนจบชั้น ม.3 ของโรงเรียนประจำหมู่บ้าน ท่ามกลางความสับสนและเฝ้าตั้งคำถามกับตัวเองไปมาอยู่อย่างนั้นว่า...ทำไมเธอต้องมาอยู่ห่างไกลบ้านเกิดเช่นนี้...ทำไมหมู่บ้านของเธอที่รัฐฉานถึงมีแต่ความขัดแย้ง ต้องรบราฆ่าฟันกันอยู่ตลอดเวลา


 


และเธอยังเฝ้าถามตัวเองว่า อีกนานไหมที่เธอจะได้หวนกลับไปอยู่กับครอบครัว บ้านเกิดในรัฐฉาน       


 


ในที่สุด เธอตัดสินใจเข้าฝึกงานในสำนักข่าวไทยใหญ่( S.H.A.N) และองค์กรสิทธิมนุษยชน แห่งรัฐฉาน (Shan Human Right Foundation : S.H.R.F) องค์กรไทยใหญ่ที่เข้าไปเก็บรวบรวมข้อมูลสถานการณ์ผู้ลี้ภัยชาวไทยใหญ่ ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนตามแนวชายแดน   หลังจากทำงานที่องค์กรสิทธิมนุษยชนแห่งรัฐฉานได้ไม่นาน เธอได้มีโอกาสไปอบรมกับเครือข่ายเพื่อทางเลือกใหม่ในการรณรงค์เรื่องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในพม่า(Alternative Asean Network on Burma) ที่กรุงเทพฯ  ซึ่งขณะนั้นพม่าเพิ่งได้เข้าเป็นสมาชิกอาเซียนได้เพียงหนึ่งปี (พ.ศ. 2540)                                       


 


นอกจากนั้น เธอยังได้มีโอกาสไปช่วยงานของมูลนิธิผู้หญิงอยู่บ่อยครั้งเพื่อเป็นล่ามให้กับหญิงชาวไทยใหญ่ที่ถูกจับกุมและกำลังถูกผลักดันให้กลับประเทศ


 


ต่อมา เธอได้เข้าเป็นสมาชิกเครือข่ายปฏิบัติงานสตรีไทใหญ่ (Shan Women's Action Network - SWAN) โดยร่วมกับมูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทใหญ่ ได้ร่วมกันจัดทำ "รายงานใบอนุญาตข่มขืน" ซึ่งถือว่าเป็นรายงานที่เปิดเผยการทารุณกรรมทางเพศที่ทหารพม่ากระทำต่อผู้หญิงไทใหญ่ ที่ได้ปลุกกระแสในเรื่องสิทธิมนุษยชนให้สั่นสะเทือนไปทั่ว และรับการเผยแพร่จนเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลก


 


ใช่ ในรายงานฉบับนั้น ได้เผยธาตุแท้ของรัฐบาลทหารเผด็จการพม่า ที่มีคำสั่งให้มีการ "ข่มขืนอย่างเป็นระบบ"


 


จ๋ามตอง บอกเล่าผ่านสื่อว่า การข่มขืนอย่างเป็นระบบของทหารพม่านั้น ถือเป็นอาวุธในการทำสงครามปราบปรามกลุ่มชาติพันธุ์ การข่มขืนจะกระทำโดยทหารชั้นผู้ใหญ่ และเหมือนเป็นการอนุญาตให้ทหารใต้บังคับบัญชาข่มขืนผู้หญิงได้ เพราะไม่มีการลงโทษผู้กระทำผิดแต่อย่างใด การข่มขืนโดยทหารพม่าเกิดขึ้นในทุกพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในพม่า และเกิดขึ้นมากในพื้นที่ของรัฐฉาน โดยเฉพาะภาคกลางที่มีการขับไล่ประชาชนออกจากหมู่บ้าน มีการกักขังผู้หญิงเป็นเวลายาวนานถึง 4 เดือน ผู้หญิงจะถูกข่มขืนซ้ำแล้วซ้ำเล่า ถูกบังคับใช้แรงงานตอนกลางวันและถูกข่มขืนตอนกลางคืนเหมือนเป็นทาส


 


"แม่และลูกสาวถูกข่มขืนในเวลาเดียวกัน แม้กระทั่งเด็กผู้หญิงหลายคนอายุเพียงแค่สี่ขวบก็ถูกรุมข่มขืนและทำร้าย ผู้หญิงท้อง 7 เดือนก็ยังถูกข่มขืน" เธอบอกเล่าความจริงผ่านสื่อไปทั่วโลก


 


นั่นคือสิ่งที่เธอต้องออกมาเรียกร้องและป่าวประกาศก้องให้โลกรู้ ว่ายังมีความเลวร้ายในแผ่นดินรัฐฉาน ในพม่าอยู่อย่างต่อเนื่องทุกปัจจุบันขณะ


 


 


 


 



จ๋ามตอง กำลังฉายภาพการกดขี่ในพม่าให้ผู้หญิงโนเบลรับรู้


ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่,21 กรกฎาคม 2551


 


 


แทบไม่น่าเชื่อว่า จ๋ามตอง ด้วยวัยเพียง 17 ปี ซึ่งถือว่าเป็นผู้หญิงอายุน้อยที่สุดในขณะนั้น เธอมีโอกาสขึ้นไปนำเสนอปัญหาของผู้หญิงไทยใหญ่ในเวทีประชุมปัญหาสิทธิมนุษยชนระดับโลก ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ 


 


ปี 2546 เธอได้รับรางวัล Women of the World จากนิตยสาร Marie Claire คือเป็น 1 ใน 10 ของผู้หญิงทั่วโลกที่ทำงานเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น


 


ปี 2548 เธอได้รับรางวัล Reebok Human Rights Award จากประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นรางวัลสำหรับนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนที่เป็นเยาวชนอายุไม่เกิน 30 ปี


 


เธอยังได้รับการยกย่องล่าสุดจากนิตยสารไทม์ให้เป็น 1 ใน 50 ฮีโร่แห่งเอเชีย


 


เธอยังได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ในผู้หญิง 1,000 คนที่ควรได้รับการเสนอชื่อเพื่อเข้าชิงรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ


 


นอกจากนั้น เธอยังได้รับเกียรติจาก "จอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช" ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาไปนั่งพูดคุยถึงในทำเนียบขาว นานกว่า 50 นาที


 


แน่นอน เชื่อว่าหลายคนคงนึกฉงน แปลกใจว่า ทำไมเธอต้องมาทำงานหนัก ยากและซับซ้อนเช่นนี้ เมื่อเทียบกับคนส่วนใหญ่ทั่วไปในวัยเดียวกัน


 


"อาจเป็นเพราะว่า ในพม่ามีความเครียดทุกรูปแบบ ทั้งถูกกดดัน ถูกกดขี่ จนเปรียบเทียบไม่ได้เลย การพัฒนาหรือโอกาสต่าง ๆ ของคนในเมืองอาจจะไม่ทุกข์ยากเหมือนคนที่อยู่ตามแนวชายแดนหรือชนบท แต่ในกลุ่มชาติพันธุ์จะถูกกดดันยิ่งไปกว่านั้น ทั้งทางสังคม ภาษาและวัฒนธรรมคือถูกกดขี่ข่มเหงทั้งหมด สิทธิพื้นฐานที่กลุ่มชาติพันธุ์ควรมีก็หายไป" เธอบอกเล่าถึงความจำเป็น


 


เธอบอกย้ำว่า สังคมในพม่าถูกกดขี่ข่มเหงเกือบทุกหลายระดับ เกือบทุกเสี้ยววินาทีของชีวิต ไม่ใช่ไม่กล้าที่จะออกมาต่อสู้ แต่ปัญหานั้นอยู่ที่ "วัฒนธรรมความกลัว" ที่รัฐบาลพม่าพยายามสร้างขึ้นมา ทำให้คนตกอยู่ในความกลัวตลอดเวลา ถ้ามีการขัดขืน เขาก็ทำจริง ๆ ฆ่าจริง ๆ 


 


"รัฐบาลทหารพม่าทำให้สังคมอยู่ในความกลัวตลอดเวลา เป็นสังคมที่ถูกความกลัวครอบงำ ทุกคนจะกลัวจนไม่รู้ว่า ถ้าพูดอะไรไป ใครจะเอาไปพูดอะไรต่อ ไม่รู้ว่าคนที่เราพูดด้วยเป็นใครด้วยซ้ำ" เธอเอ่ยออกมาด้วยน้ำเสียงเครียด


 


"แม้ความกลัวจะถูกฝังอยู่ในทุกระดับ และการต่อสู้ทำได้ยากมาก แต่ถามว่าประชาชนหมดหวังแล้วหรือ ตอบว่าไม่ใช่ มีขบวนการหลายอย่างที่หลายคนพยายามทำ สำหรับตัวจ๋ามตองเองแล้ว ประชาชนก็คือฮีโร่เหมือนกัน แม้เขาถูกกดขี่ข่มเหงทุกรูปแบบ แต่หลายสิบปีมานี้ เขาก็หาวิธีที่จะเอาตัวรอดมาได้ถึงขนาดนี้ เขาทำได้อย่างไรภายใต้อำนาจเผด็จการที่โหดมากๆ" เธอพูดด้วยน้ำเสียงจริงจัง


 


ใช่ เธอพยายามจะบอกว่าประชาชนในพม่าทุกคนล้วนคือฮีโร่ คือคนที่อดทนต่อสู้กับความโหดร้ายของเผด็จการทหารพม่ามาอย่างต่อเนื่อง


 


"ก็เพราะว่าเขาไม่มีช่องทาง ไม่มีโอกาส แต่ก็ยังพยายามที่จะมีชีวิตอยู่ เขาทำได้อย่างไร เขาต้องเก่ง และเขาต้องมีความอดทน มีความพยายามที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป หลายคนที่หนีมาไม่ใช่ถูกทหารพม่ามาทำร้ายครั้งหนึ่งแล้วเขาก็หนีเลย บางคนโดนหลายครั้ง บางคนโดนขับไล่ให้ไปอยู่อีกที่ พอย้ายไปก็โดนขับไล่อีก หรือพอเขาย้ายไปอยู่ในเขตเมืองก็ไม่มีงานทำ สุดท้ายก็ย้ายเข้าไปอยู่ในป่ากลายเป็นผู้พลัดถิ่นในป่า พอทหารพม่ามาเจอก็ฆ่าหรือข่มขืน แล้วก็หนีกันต่อไป"


 


พอฟังเธอบอกเล่าเรื่องราวที่ไหลหลั่งออกมาจากห้วงสำนึกเช่นนี้...


ทำให้ผมนึกไปถึงอีกหลายชีวิตที่อาศัยอยู่บนดอยไตแลง ขึ้นมาทันใด!!


 


(โปรดติดตามตอน 2)


 


 






 


 


 


ทำความรู้จักหนังสือ"ใบอนุญาตข่มขืน"


เมื่อผู้หญิงไทใหญ่ทำวิจัยเปิดโปงอาวุธอันชั่วร้ายของรัฐบาลทหารพม่า


 



 


เรื่องราวของการ "ข่มขืน" อย่างเป็นระบบของทหารพม่าต่อสตรีในรัฐฉานอย่างเป็นระบบ ถูกเปิดเผยในหนังสือ License to rape : the Burmese military regime's use of sexual violence in the ongoing war in Shan State, Burma ซึ่งได้รับการแปลมาเป็นภาษาไทยในชื่อ ใบอนุญาตข่มขืน : บันทึกการทารุณกรรมทางเพศในรัฐฉาน หนังสือดังกล่าวจัดทำโดยมูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทใหญ่ (Shan Human Rights Foundation) และเครือข่ายสตรีไทใหญ่ (Shan Women"s Action Network) เผยแพร่ในฉบับภาษาอังกฤษเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2545 และแปลเป็นภาษาไทยโดยการสนับสนุนของสภาเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาแห่งเอเชีย (Forum Asia) เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2545 โดยมีผู้แปลคือ "สุภัตรา ภูมิประภาสและเพ็ญนภา หงส์ทอง" สองหญิงไทยที่ได้ลงภาคสนามเพื่อเก็บข้อมูลสำหรับรายงานฉบับนี้ด้วย ซึ่งรายงานดังกล่าว เป็นการเก็บข้อมูลจากปากคำจริงของบรรดาผู้อพยพจากรัฐฉานที่ลี้ภัยอยู่ตามแนวชายแดนไทย-พม่า


 


หนังสือดังกล่าวรายงานถึงชะตากรรมของสตรีและเด็กซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในรัฐฉานทั้งสิ้น 173 เหตุการณ์ มีสตรีตกเป็นเหยื่อ 625 คน จำแนกเป็นเด็กผู้หญิง 92 คน และสตรี 527 คน ซึ่งถูกทารุณกรรมทางเพศโดยทหารพม่าทั้งระดับประทวนและชั้นสัญญาบัตรที่ถูกส่งเข้ามาประจำการในรัฐฉานระหว่างปี พ.ศ.2539-พ.ศ.2544


 


โดยสมาชิกและกองกำลังทหารพม่าได้ร่วมกันใช้ "การข่มขืน" ปราบปรามการต่อต้านของชาวไทยใหญ่ โดยผู้กระทำคือทหารพม่า 52 กองพัน โดย 83% ของคดีข่มขืน กระทำโดยนายทหารระดับสูงและผู้บังคับบัญชา บ่อยครั้งที่เหยื่อถูกทรมานด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การรัดคอ การทุบตีและการทำให้พิการ เหยื่อ 25% ของการถูกข่มขืนถูกทารุณจนเสียชีวิต 61% เป็นกรณีที่ผู้หญิงถูกรุมข่มขืนซ้ำแล้วซ้ำเล่านานถึง 4 เดือน


 


โดยสุภัตรา เคยให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์มติชนเมื่อปี พ.ศ.2545 ว่า หนักใจกับการแปลหนังสือเล่มนี้ เป็นเหมือนรายงานที่สมบูรณ์แบบ เป็นข้อมูลที่จับต้องได้ เพราะคนที่ถูกกระทำและเป็นผู้กระทำมีตัวตน มีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน เด็ก ผู้หญิงเหล่านี้น่าสงสาร ยิ่งไปกว่านั้นข้อมูลล่าสุดที่ได้รับเป็นข้อมูลจากโรงพยาบาล ซึ่งนำผลการรักษาของผู้หญิง 6 คนที่ถูกกระทำว่าเขาโดนเผาอวัยวะเพศ ซึ่งเป็นเรื่องที่เลวร้ายมาก โดยเพ็ญนภา เสริมว่า ตนยังจำภาพที่เดินเข้าไปพูดคุยกับชาวไทยใหญ่เหล่านี้ได้ แต่ละคนมีใบหน้าเศร้า หวาดกลัว สาเหตุที่ต้องลงไปในพื้นที่เพราะขณะที่แปลหนังสือเล่มนี้แล้วรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องจริงหรือ และคนเหล่านี้เขามีชีวิตอยู่กันยังไง


 


"มีเรื่องราวของผู้หญิงท้อง 7 เดือน แล้วโดนข่มขืน เรารู้สึกว่ามันแย่มาก แล้วเขาจะใช้ชีวิตอย่างไร พอไปเจอเขาน่าสงสารมาก ตอนนี้ลูกที่อยู่ในท้องตอนที่เขาถูกข่มขืนอายุ 7 เดือนแล้ว เขากลัวที่จะต้องกลับไปในรัฐฉานอีก ส่วนหนึ่งที่อยากแปลหนังสือเล่มนี้คือต้องการให้รัฐบาลไทยอ่านและสำนึกว่าเกิดอะไรขึ้น ถ้าเป็นไปได้อยากให้เปิดค่ายผู้ลี้ภัยให้กับชาวไทยใหญ่ อยากให้สังคมไทยเป็นที่พึ่งให้กับผู้หญิงและเด็กเหล่านี้" เพ็ญนภา กล่าวในที่สุด


 


ในรายงานดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าการข่มขืนได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการของทหารพม่าเสมือนเป็นอาวุธสงครามในการปราบปรามการต่อต้านของชาวไทใหญ่ ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าการข่มขืนนั้นกลายเป็นปฏิบัติปกติที่กระทำตั้งแต่ระดับนายทหารระดับถึงผู้บังคับบัญชา มีการกระทำอย่างเป็นระบบและโดยเจตนา อีกทั้งจำนวนของผู้หญิงไทใหญ่ที่ถูกข่มขืนนั้นเพิ่มขึ้นตามจำนวนของแผนปฏิบัติการทางทหารของสภาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ (The State Peace and Development Council-SPDC) ที่นำมาใช้ปราบปรามกองกำลังกู้ชาติของชาวไทใหญ่ในรัฐฉานด้วย


 


อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว จะทำให้เข้าใจว่าเพราะเหตุใดชาวไทยใหญ่จึงพากันหลบหนีจากการประหัตประหารของรัฐบาลทหารพม่าเข้ามาใช้ชีวิตเป็นพี่น้องแรงงานอพยพในประเทศไทย


 


 


ข้อมูลประกอบ


"จ๋ามตอง หญิงสาวผู้ปลูกต้นกล้าแห่งความหวังเพื่อชาวไทใหญ่" วันดี สันติวุฒิเมธี : สัมภาษณ์ ,นิตยสารสารคดี กันยายน 2548


บทสัมภาษณ์ "เอ็กซ์คลูซีฟ! สัมภาษณ์พิเศษ: "จ๋ามตอง" หญิงไทใหญ่ที่ "บุช" ขอพบ" www.prachatai.com , 21 พ.ย.2548


ทำความรู้จักหนังสือ"ใบอนุญาตข่มขืน", www.prachatai.com


ก่อนตะวันจะฉาย"ฉาน" พันเอกเจ้ายอดศึก,นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว,นวลแก้ว บูรพวัฒน์ สำนักพิมพ์โอเพ่นบุ้ค,ก.ย. 2550


 


 


หมายเหตุ : สารคดีเรื่องนี้ คือหนึ่งในงานเขียนอยู่ในหนังสือรวมเล่มชื่อ "ลมหายใจบนไหล่เขา" ที่ศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง (ศปส.) จัดพิมพ์ขึ้นในนาม "สำนักพิมพ์ชนเผ่า"พิมพ์ครั้งแรก สิงหาคม 2551 สุริยันต์ ทองหนูเอียด : บรรณาธิการ ซึ่งในหนังสือเล่มดังกล่าว มีรวมงานเขียนของ หญ้าน้ำ ทุ่งขุนหลวง, ชิ สุวิชาน, แพร จารุ,ภู เชียงดาว และ อานุภาพ นุ่นสง มีวางจำหน่ายแล้วในร้านหนังสือทั่วไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net