มูลบทว่าด้วยการหลอมละลายที่วอลล์สตรีท

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

วอลเดน เบลโล

 

ผู้คนที่วอลล์สตรีทรวมทั้งพวกเราทั้งหลายยังคงพยายามทำความเข้าใจกับที่มาที่ไปของเหตุการณ์สะเทือนขวัญในช่วง 10 กว่าวันที่ผ่านมา อยู่ดี ๆ สินทรัพย์การเงินจำนวนระหว่างหนึ่งถึงสิบล้านล้านดอลล่าร์ก็มลายหายไป และวาณิชธนกิจที่วอลล์สตรีทก็ถูกยึดเป็นของรัฐไป  ธนาคารกลาง (Federal Reserve) และกระทรวงการคลังของสหรัฐอเมริกาเข้ามาเป็นผู้ตัดสินใจเรื่องที่สำคัญ ๆ ในภาคการเงินเสียเอง  พอรัฐบาลเข้าอุ้มบริษัทอเมริกันอินเตอร์เนชั่นแนลกรุ๊ป (AIG) ก็เท่ากับว่ารัฐบาลสหรัฐอเมริกาตอนนี้เป็นผู้ดำเนินกิจการบริษัทประกันชีวิตที่ใหญ่ที่สุดในโลกด้วยตนเอง เงินงบประมาณ 700 พันล้านดอลล่าร์ที่จัดสรรมาช่วยกู้ภาคการเงินของโลก เป็นเงินก้อนใหญ่ที่สุดตั้งแต่สภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ครั้งที่แล้ว (ปี.พ.ศ.2472)

 

คำอธิบายปกติที่ใช้กันมาไม่พอเพียงอีกต่อไปแล้ว เหตุการณ์ที่ไม่ธรรมดาขนาดนี้ต้องการคำอธิบายที่ผิดจากธรรมดาด้วย ทว่าก่อนอื่น...

 

ช่วงเลวร้ายที่สุดผ่านพ้นไปหรือยัง?

 

ยังหรอก ถ้าดูจากการตัดสินใจของรัฐบาลสหรัฐฯในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หมายถึงการปล่อยให้บริษัทวาณิชธนกิจเลห์แมนบราเดอร์ส์ล้มไป แต่เข้าควบคุมกิจการของบริษัทประกันเอไอจี ในขณะที่ดึงธนาคารแห่งอเมริกาเข้ามาควบรวมกิจการของวานิชธนกิจเมอริลลินช์ จะเห็นได้ชัดเจนอย่างเดียวว่ารัฐบาลไม่มียุทธศาสตร์อะไรนอกจากการรับมือกับปัญหาเฉพาะหน้าเหมือนกับหน่วยดับเพลิงรับมือกับไฟกองใหญ่ที่กำลังลุกโหม

 

งบประมาณ 700 พันล้านดอลลาร์ที่จะนำไปซื้อหนี้เน่าของธนาคารที่ประกอบด้วยหลักทรัพย์สัญญาจำนองซื้อบ้าน เป็นความพยายามที่จะค้ำยันความมั่นใจในระบบการเงิน เพื่อป้องไม่ให้ความน่าเชื่อถือของธนาคารและวาณิชธนกิจอื่น ๆ เสื่อมถอยลงมากกว่านี้ และหลีกเลี่ยงไม่ให้ลูกค้าเงินฝากเกิดอาการตื่นตระหนกวิ่งถอนเงินออกจากธนาคาร ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นและนำไปสู่การถดถอยทางเศรษฐกิจครั้งยิ่งใหญ่ในปี ค.ศ. 1929 (พ.ศ. 2472)

 

ความโลภคือสาเหตุของการล่มสลายที่ศูนย์รวมประสาทของทุนนิยมโลกใช่หรือไม่?

 

แน่นอนว่าโลภจริตแบบดั้งเดิมมีบทบาทในที่นี้ นี่คือสิ่งที่เคลาส์ ชวับ ผู้จัดเวทีเศรษฐกิจโลกทุกปีที่รีสอร์ทในเทือกเขาแอลป์ของสวิตเซอร์แลนด์ พูดถึงเมื่อเขาให้สัมภาษณ์เมื่อต้นปีนี้ว่า "เราต้องจ่ายชดใช้บาปที่ทำไว้ในอดีต"

 

นี่เป็นกรณีที่วอลล์สตรีทแพ้เล่ห์เหลี่ยมของตัวเองหรือเปล่า?

 

แน่นอนเลย นักเก็งกำไรจากการเงินทั้งหลายแพ้เล่ห์กลของตนเองจากการสร้างสัญญาซื้อขายหลักทรัพย์การเงินที่ซับซ้อน เช่น อนุพันธ์ เพื่อหากำไรจากความเสี่ยงรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงการประกันการผิดนัดชำระหนี้สัญญาเงินกู้ที่เรียกว่า "เครดิต ดีฟอลท์ สวัพส์ (Credit Default Swaps)" ที่เปิดให้นักลงทุนเข้ามาพนันขันต่อกันว่าบริษัทลูกค้าเงินกู้ของธนาคารรายใดจะชำระคืนไม่ได้บ้าง! นี่คือการซื้อขายที่มีมูลค่าเป็นหลายล้านล้านดอลลาร์ที่ทำให้บริษัทเอไอจีซวนเซไปเลย

 

เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2548 องค์กรประเมินการเงินระหว่างประเทศ (International Financing Review) ประกาศมอบรางวัลประจำปีอันสูงเกียรติที่สุดรางวัลหนึ่งให้แก่บริษัทเลห์แมนบราเดอร์ส์ พร้อมกับแถลงเกียรติคุณว่า "(บริษัทนี้) มิใช่จะสามารถดำรงชื่อเสียงในตลาดโดยรวมเท่านั้น แต่ยังเป็นผู้นำกระแสในทิศทางที่ตลาดต้องการ... โดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ขึ้นมา และจัดทำธุรกรรมให้เข้ากับความต้องการของผู้กู้ยืมอีกด้วย... เลห์แมนบราเดอร์ส์เป็นผู้ประดิษฐ์นวัตกรรมในพื้นที่ที่ต้องการโดยกระทำสิ่งที่ไม่เคยมีใครที่อื่นทำ"

 

ไม่ขอออกความเห็น.

 

นี่เป็นเพราะขาดกฎระเบียบควบคุมใช่หรือไม่?

 

ใช่แล้ว  ทุกคนตระหนักแล้วบัดนี้ว่า ศักยภาพของวอลล์สตรีทที่จะประดิษฐ์สินค้าใหม่ ๆ และผลิตเครื่องมือทางการเงินที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ ออกมานั้น ล้ำหน้าเกินความสามารถที่รัฐบาลจะตามทัน ไม่ใช่เพราะรัฐบาลไม่สามารถควบคุมได้ แต่เป็นเพราะรัฐบาลถูกครอบงำด้วยแนวคิดเสรีนิยมใหม่และทัศนคติปล่อยเสรี ทำให้ไม่คิดที่จะวางกลไกควบคุมตลาด

 

แต่ว่า ยังมีอะไรเกิดขึ้นมากกว่านี้ใช่ไหม?

 

เรากำลังจะเห็นการก่อตัวของวิกฤตหรือความขัดแย้งหลักภายในระบบทุนนิยมโลก นั่นคือ วิกฤตของการผลิตล้นเกิน หรือที่รู้จักกันว่า การสั่งสมล้นเกิน หรือกำลังผลิตล้นเกิน อีกนัยหนึ่งคือ ทุนนิยมมีความโน้มเอียงที่จะสร้างกำลังในการผลิตขึ้นมามากเกินกว่าศักยภาพของประชากรที่จะบริโภคสิ่งที่ผลิตออกมา ทั้งนี้เนื่องจากความไม่เท่าเทียมทางสังคมเป็นอุปสรรคที่จำกัดอำนาจซื้อของประชากรส่วนใหญ่ เป็นผลให้ความสามารถในการทำกำไรลดลงเรื่อย ๆ

 

วิกฤตการผลิตล้นเกินเกี่ยวอย่างไรกับเหตุการณ์ปัจจุบัน?

 

เกี่ยวมากเลย แต่ถ้าจะเข้าใจความเกี่ยวพันนี้ เราต้องย้อนเวลากลับไปที่ยุคที่เรียกว่า ยุคทองของทุนนิยมร่วมสมัย คือระหว่าง ค.ศ. 1945-1975 (พ.ศ. 2488-2518)

 

ยุคนี้มีการเติบโตอย่างรวดเร็วในเศรษฐกิจศูนย์กลาง และเศรษฐกิจด้อยพัฒนา ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการลงทุนอย่างมหาศาลในการฟื้นฟูยุโรปและเอเชียตะวันออกหลังจากถูกถล่มทะลายในสงครามโลกครั้งที่ 2 อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีการจัดการเศรษฐกิจสังคมตามแนวเศรษฐศาสตร์สำนักเคนส์ ซึ่งมีหลักการสำคัญที่เน้นบทบาทของรัฐในการควบคุมกิจกรรมต่าง ๆ ในตลาด โดยการใช้นโยบายการเงินและการคลังที่เข้มงวด เพื่อป้องกันภาวะเงินเฟ้อและภาวะถดถอย พร้อมกับวางมาตรการให้ค่าแรงอยู่ในระดับที่สูงเพื่อกระตุ้นและดำรงอุปสงค์ในการบริโภค

 

แล้วไปพลาดที่ตรงไหน?

 

ยุคของการเติบโตสูงจบสิ้นลงในกลางทศวรรษ 1970 (ประมาณ พ.ศ. 2518) เพราะเศรษฐกิจศูนย์กลางทั้งหลายเกิดภาวะชะลอตัวควบคู่กับเงินเฟ้อ (Stagflation) ซึ่งหมายความถึงภาวะที่อัตราการเติบโตต่ำในขณะที่อัตราเงินเฟ้อสูงซึ่งตามตำราเศรษฐศาสตร์กระแสหลักไม่ควรที่จะเกิดขึ้นได้

 

ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวควบกับเงินเฟ้อ เป็นเพียงอาการหนึ่งของโรคร้ายที่อยู่ลึกลงไป นั่นคือ การที่เศรษฐกิจของเยอรมันและญี่ปุ่นฟื้นตัวขึ้นพร้อม ๆ กับการเติบโตอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจที่กำลังพัฒนาเป็นอุตสาหกรรม เช่น บราซิล ไต้หวัน เกาหลีใต้ ทำให้กำลังการผลิตในโลกขยายตัวขึ้นอย่างมาก และเกิดการแข่งขันกันขายมากขึ้น  ในขณะเดียวกัน ความเหลื่อมล้ำในสังคมภายในแต่ละประเทศและระหว่างประเทศทำให้ประชากรโลกไม่สามารถขยายอำนาจซื้อและอุปสงค์ได้ ทำให้ศักยภาพในการทำกำไรของผู้ผลิตลดถอยลง ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นอย่างมากทำให้แนวโน้มนี้เลวร้ายลงอีกด้วย

 

แล้วลัทธิทุนนิยมได้พยายามแก้วิกฤตการผลิตล้นเกินนี้อย่างไร?

 

ทุนได้ทดลองทางออก 3 ทาง เพื่อให้หลุดพ้นจากสภาพการผลิตล้นเกิน ได้แก่ การปรับโครงสร้างตามแนวเสรีนิยมใหม่ โลกาภิวัตน์ และการแปลงทุกอย่างเป็นการเงิน (financialization)

 

การปรับโครงสร้างตามแนวเสรีนิยมใหม่คืออะไร?

 

ลัทธิแรแกนและลัทธิแธตเชอร์ในซีกโลกเหนือนั่นแหละคือการปรับโครงสร้างตามแนวเสรีนิยมใหม่ ตามด้วยการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในซีกโลกใต้ ที่เป็นเงื่อนไขของเงินกู้จากธนาคารโลกและกองทุนไอเอ็มเอฟ เป้าหมายก็คือกระตุ้นฟื้นฟูการสั่งสมทุน โดยวิธีการ 1) ปลดเปลื้องข้อจำกัดในการเติบโตที่มาจากการควบคุมของรัฐเหนือการลงทุน การไหลเวียนของทุน และความมั่งคั่งของเจ้าของทุน และ 2) กระจายรายได้ใหม่จากคนจนและคนชั้นกลางกลับไปให้คนรวย โดยมีทฤษฎีสนับสนุนว่า คนรวยจะได้มีแรงจูงใจเพิ่มขึ้นที่จะลงทุนและกระตุ้นให้เศรษฐกิจเติบโตมากขึ้นอีก

 

สูตรเสรีนิยมใหม่นี้กระจายรายได้มาให้คนรวยในขณะที่รายได้ของคนจนและชนชั้นกลางมีแต่จะถดถอย ทำให้อุปสงค์หรือความต้องการบริโภคสินค้าและบริการลดลง ในขณะที่คนรวยอาจไม่ถูกจูงใจให้ลงทุนผลิตสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นอย่างที่คาด

 

ในความเป็นจริง การปรับโครงสร้างตามแนวเสรีนิยมใหม่ที่แพร่กระจายทั่วไปในซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้ในช่วงทศวรรษ 1980 และ 1990 (ช่วงปี พ.ศ. 2523-2543) ไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจเติบโตมากอย่างที่คาด โดยเฉลี่ยทั่วโลก อัตราการเติบโตในทศวรรษ 1980 เท่ากับ 1.4% และในทศวรรษ 1990 คือ 1.1% เมื่อเทียบกับก่อนหน้านี้คือ 3.5% ในทศวรรษ 1960 และ 2.4% ในทศวรรษ 1970 ซึ่งเป็นช่วงที่ภาครัฐมีบทบาทและนโยบายกำกับแทรกแซงเศรษฐกิจเป็นหลัก เท่ากับว่า การปรับโครงสร้างตามแนวเสรีนิยมใหม่ไม่สามารถปลดเปลื้องภาวะเศรษฐกิจซบเซาได้

 

โลกาภิวัตน์ช่วยแก้วิกฤตได้หรือไม่?

 

ทางออกที่สองของทุนโลกในการแก้ภาวะเศรษฐกิจซบเซาคือ "การขยายการสั่งสมทุนให้กว้างขวาง" (extensive accumulation) หรือโลกาภิวัตน์นั่นเอง หมายถึงการหลอมรวมเขตเศรษฐกิจกึ่งทุนนิยม และเศรษฐกิจที่ไม่ใช่ทุนนิยมหรือก่อนทุนนิยมทั้งหมดเข้ากับเศรษฐกิจตลาดโลก โรซา ลุกเซมเบิร์ก นักเศรษฐศาสตร์แนวปฏิวัติชาวเยอรมันที่มีชื่อเสียง มองเห็นตั้งนานมาแล้วว่า วิธีการนี้เป็นสิ่งที่จำเป็นถ้าต้องการจะค้ำยันอัตรากำไรในเศรษฐกิจนครหลวงให้สูงไว้ นั่นคือต้องหาแหล่งแรงงานราคาถูกมาเสริม หาตลาดใหม่ ๆ ถึงแม้จะมีขอบเขตจำกัดก็ตาม หาแหล่งทรัพยากรวัตถุดิบและผลิตผลการเกษตรใหม่ ๆ ที่ราคาถูก และสร้างพื้นที่ใหม่ ๆ สำหรับการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน การหลอมรวมเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นได้จากการเปิดเสรีทางการค้า การขจัดอุปสรรคที่จำกัดการเคลื่อนย้ายทุน และกฎระเบียบที่กีดขวางการลงทุนข้ามชาติ

 

ประเทศจีนเป็นกรณีตัวอย่างเด่นชัดของเศรษฐกิจที่ไม่ใช่ทุนนิยม ที่ถูกหลอมรวมเข้ากับเศรษฐกิจทุนนิยมโลกในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา

 

เพื่อตอบโต้สถานการณ์ที่กำไรของตนถดถอยลง บรรษัทขนาดใหญ่ที่สุดของโลก 500 บรรษัท ต่างย้ายบางส่วนของกิจการของตนไปตั้งฐานการผลิตในประเทศจีน เพื่อหาประโยชน์จากสิ่งที่เรียกกันว่า "ราคาแบบจีน" คือข้อได้เปรียบของจีนที่มีแรงงานราคาถูกจำนวนมาก พอถึงกลางทศวรรษแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 21 (ประมาณปีพ.ศ. 2548) ประมาณ 40-50% ของกำไรของบรรษัทในสหรัฐอเมริกาได้มาจากการดำเนินกิจการ และยอดขายในต่างแดน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศจีน

 

ทำไมโลกาภิวัตน์ จึงไม่ช่วยแก้วิกฤต?

 

ทางออกจากภาวะซบเซาผ่านกระบวนการโลกาภิวัตน์ยิ่งทำให้ปัญหาการผลิตล้นเกินเพิ่มความรุนแรงขึ้น ทั้งนี้เพราะโลกาภิวัตน์เป็นกระบวนการที่เพิ่มกำลังในการผลิตทั่วโลก ศักยภาพการผลิตในภาคหัตถอุตสาหกรรมของจีนขยายตัวอย่างมหาศาลในช่วง 25 ปี ที่ผ่านมา ผลลัพธ์คือการเพิ่มแรงกดให้ราคาตกลง อันเป็นผลให้กำไรลดลงมาเรื่อย ๆ จึงไม่น่าแปลกใจที่กำไรของบรรษัทสหรัฐอเมริกาหยุดโตมาตั้งแต่เมื่อประมาณปี 2540  ดัชนีตัวหนึ่งชี้ว่าอัตรากำไรของ 500 บรรษัทใหญ่ที่สุดของโลกลดลงจาก 7.15% ในช่วงปี พ.ศ. 2503-2512 เป็น 5.3% ในช่วงปี พ.ศ. 2523-2533 และลดลงอีกเป็นเพียง 1.32% ในช่วงปี พ.ศ. 2543-2545

 

แล้วการแปลงทุกอย่างเป็นการเงินล่ะ?

 

ในเมื่อทางออก 2 ทางแรกจากภาวะการผลิตล้นเกินที่บีบกดกำไรของบรรษัทบรรลุผลในวงจำกัด ทางออกที่สามจึงมีความสำคัญยิ่งยวดในอันที่จะช่วยพยุงและเพิ่มความสามารถในการทำกำไรของบรรษัท นั่นคือ การแปลงทุกอย่างเป็นการเงิน (financialization)

 

ในโลกแห่งอุดมคติของเศรษฐศาสตร์คลาสสิคใหม่ ระบบการเงินคือกลไกที่จะเชื่อมโยงบุคคลผู้ที่มีเงินออมหรือมีเงินเหลือใช้ เข้ากับผู้ประกอบธุรกิจที่ต้องการเงินทุนไปลงทุนทำการผลิต ทว่าในโลกแห่งความเป็นจริงของทุนนิยมระยะหลังนี้ การลงทุนในการผลิตภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรก่อผลกำไรในระดับต่ำ เนื่องจากมีการผลิตล้นเกินอยู่ ทุนส่วนเกินจำนวนมหาศาลในระบบจึงหมุนเวียนลงทุนซ้ำแล้วซ้ำเล่าอยู่ในภาคการเงินแทน เท่ากับภาคการเงินนี้หันมาหากำไรจากตัวของมันเอง

 

ผลลัพธ์คือการแบ่งแยกเศรษฐกิจเป็นสองส่วน ได้แก่เศรษฐกิจการเงินที่คึกคักจนเกินขนาด กับเศรษฐกิจแท้จริงที่ซบเซา ผู้จัดการกองทุนคนหนึ่งกล่าวว่า "มีการตัดขาดออกจากกันมากขึ้นทุกทีระหว่างเศรษฐกิจการเงินกับเศรษฐกิจที่แท้จริง ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจที่แท้จริงโตขึ้นก็จริง แต่โตไม่เท่ากับเศรษฐกิจการเงิน จนในที่สุดเศรษฐกิจการเงินก็ระเบิดยุบตัวลง (imploded)"

 

สิ่งที่ผู้สังเกตการณ์คนนี้ไม่ได้บอกเราก็คือ การตัดท่อแยกขาดจากกันระหว่างเศรษฐกิจการเงินกับเศรษฐกิจที่แท้จริงที่ว่านั้นไม่ใช่อุบัติเหตุ เศรษฐกิจการเงินระเบิดขึ้นเพราะจำเป็นต้องชดเชยให้กับภาวะซบเซาในเศรษฐกิจที่แท้จริงที่เป็นผลจากการผลิตล้นเกินนั่นเอง

 

ปัญหาของการแปลงทุกอย่างเป็นการเงินคืออะไร?

 

ปัญหาของการลงทุนในกิจการภาคการเงินอยู่ที่การบีบเค้นเอามูลค่าเพิ่มจากมูลค่าเก่าที่ถูกสร้างขึ้นมาแล้ว มันอาจจะทำกำไรให้ได้จริงอยู่ แต่มันไม่ใช่การสร้างมูลค่าขึ้นมาใหม่  ภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตร ภาคการค้าขาย และภาคบริการเท่านั้นจะสามารถสร้างมูลค่าใหม่ขึ้นมาได้ เนื่องจากกำไรในภาคการเงินไม่ได้อยู่บนฐานของมูลค่าที่สร้างขึ้นใหม่ การลงทุนในภาคนี้จึงมีความผันผวนมาก และราคาของหุ้น พันธบัตร และการลงทุนด้านการเงินรูปแบบอื่น ๆ สามารถจะตีห่างจากมูลค่าที่แท้จริงของมันไปไกลลิบ ตัวอย่างเช่น ในทศวรรษ 2530 ราคาหุ้นของบริษัทใหม่ ๆ ที่ดำเนินกิจการเกี่ยวกับอินเตอร์เนตพุ่งขึ้นยังกับจรวด เพียงเพราะมีการแข่งกันตีค่าเป็นเงินสูงเกินจริงขึ้นไปเรื่อย ๆ ตามความคาดหวังถึงศักยภาพในการทำกำไรในอนาคต ในที่สุดราคาหุ้นดังกล่าวก็ล่มสลายในปี 2543 และ 2544 เมื่อเกิดความตระหนักว่าราคามันเกินเลยจากความเป็นจริงไปมาก ดังนั้น กำไรที่จะได้รับในภาคการเงินจะขึ้นอยู่กับความสามารถในการฉกฉวยโอกาสซื้อตอนราคากำลังขึ้นและตีห่างจากมูลค่าที่แท้จริงของสินค้า และขายไปก่อนที่ราคาจะ "ถูกปรับแก้" ลงมาอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงความเป็นจริง การปรับแก้ที่แท้หมายถึงการคืนกลับมาที่ระดับที่เป็นจริงนั่นเอง การที่ราคาสินทรัพย์ขึ้นสูงเกินมูลค่าที่เชื่อถือได้ ส่งเสริมให้เกิดฟองสบู่ต่างๆขึ้นในภาคการเงิน

 

ทำไมกระบวนการแปลงทุกอย่างเป็นการเงินจึงผันผวนนัก?

 

ในเมื่อความสามารถที่จะทำกำไรขึ้นอยู่กับปฏิบัติการเก็งกำไรเป็นหลัก จึงไม่น่าแปลกใจที่ภาคการเงินผันผวนจากฟองสบู่หนึ่งไปอีกฟองสบู่หนึ่ง หรือจากการมะรุมมะตุ้มเก็งกำไรกันในที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งอย่างบ้าคลั่ง

 

และเนื่องจากภาคการเงินถูกขับเคลื่อนโดยความบ้าคลั่ง ระบบทุนนิยมที่ขับเคลื่อนด้วยภาคการเงินจึงประสบกับวิกฤตการเงินเป็นหลายสิบครั้งมาแล้ว ตั้งแต่มีการเปิดเสรีตลาดทุน ลดการควบคุมของรัฐในทศวรรษ 2520

 

ก่อนที่จะเกิดการหลอมละลายที่วอลล์สตรีทครั้งนี้ ได้เกิดวิกฤตการเงินครั้งใหญ่ที่สุดต่อเนื่องในตลาดเปิดใหม่ของประเทศกำลังพัฒนาหลายแห่ง จนถึงการที่ฟองสบู่ราคาหุ้นของบริษัทเทคโนโลยีสื่อสารแตกสลายในสหรัฐฯ ในปี 2543-44  วิกฤตการเงินที่เกิดขึ้นในตลาดเปิดใหม่รวมถึงที่เม็กซิโกปี 2537-38 วิกฤตของเอเชียปี 2540-41 ในรัสเซียปี 2541 และอาร์เจนตินาในปี 2544 และ 2545 แต่ประเทศอื่น ๆ ก็ซวนเซไปเช่นกัน รวมทั้งบราซิลและตุรกี

 

รัฐมนตรีคลังคนหนึ่งในสมัยของประธานาธิบดีคลินตัน คือ โรเบิร์ต รูบิน ซึ่งเป็นนักลงทุนที่วอลล์สตรีท พยากรณ์ไว้เมื่อ 5 ปีมาแล้วว่า "วิกฤตการเงินในอนาคตจะเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และอาจจะเลวร้ายยิ่งกว่าเดิม"

 

ฟองสบู่เกิดขึ้น โตขึ้นและแตกสลายได้อย่างไร?

 

ลองดูวิกฤตการเงินเอเชียในปี 2540-41 เป็นตัวอย่าง แรกเริ่มเลยมีการเปิดเสรีบัญชีทุน และเปิดเสรีด้านการเงินในประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ จากการเร่งรัดของกองทุนไอเอ็มเอฟ และกระทรวงการคลังของสหรัฐอเมริกา จากนั้นมีเงินลงทุนจากต่างชาติไหลเข้ามาหาผลตอบแทนสูงและในเวลารวดเร็ว หมายความว่า เป็นการลงทุนในตลาดอสังหาริมทรัพย์และตลาดหุ้น  การลงทุนล้นเกินทำให้ราคาของอสังหาริมทรัพย์และราคาหุ้นตกลง ก่อความตระหนกในหมู่นักลงทุนจึงพากันถอนทุนกลับคืนไป ในปี 2540 เงินทุน 100 พันล้านดอลล่าร์บินหนีออกจากเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์

 

การบินหนีของทุนทำให้ไอเอ็มเอฟต้องเข้ามาช่วยกอบกู้นักลงทุนเก็งกำไรจากต่างชาติ ผลลัพธ์คือการล่มสลายของเศรษฐกิจที่แท้จริง เกิดภาวะถดถอยทั่วทั้งเอเชียตะวันออกในปี 2541 แม้ระบบการเงินเสรีจะสร้างความสั่นคลอนอย่างมหาศาลเช่นนี้ สถาบันการเงินระหว่างประเทศ เช่น ไอเอ็มเอฟ ก็ยังคัดค้านมิให้มีการควบคุมการไหลเข้าออกของเงินทุนไม่ว่าในระดับชาติหรือระหว่างประเทศ เนื่องจากเป็นการผิดอุดมการณ์

 

ฟองสบู่ปัจจุบันนี้ล่ะ เกิดขึ้นได้อย่างไร?

 

การล่มสลายของภาคการเงินในวอลล์สตรีทมีรากฐานมาจากฟองสบู่ราคาหุ้นของบริษัทเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เมื่อปลายทศวรรษ 2530 เมื่อราคาหุ้นของบริษัทอินเตอร์เนตที่ตั้งขึ้นมาใหม่พุ่งสูงและล่มสลายในปี 2543 และ 2544 เป็นผลให้สินทรัพย์สูญไปถึง 7 ล้านล้านดอลล่าร์ และทำให้เศรษฐกิจอเมริกาถดถอยในปี 2544-45  นโยบายปล่อยเงินออกอย่างหละหลวมของนายอลัน กรีนสแปน เป็นสาเหตุของฟองสบู่ในภาคเทคโนโลยี เมื่อฟองสบู่แตกและเศรษฐกิจถดถอย กรีนสแปนพยายามที่จะป้องกันการถดถอยระยะยาว โดยการลดอัตราดอกเบี้ยลงจนต่ำที่สุดในระยะ 45 ปีที่ผ่านมา เหลือเพียง 1% เมื่อเดือนมิถุนายน 2546 และคงไว้ที่ระดับนี้กว่าหนึ่งปี การทำเช่นนี้เป็นการกระตุ้นให้มีการลงทุนเพิ่มขึ้นอีกจนเกิดฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์

 

ตั้งแต่ปี 2545 มาแล้ว มีนักเศรษฐศาสตร์ก้าวหน้าหลายคน เช่น ดีน เบเคอร์ แห่งศูนย์วิจัยนโยบายเศรษฐกิจ พยายามเตือนถึงภัยจากฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ และพยากรณ์ว่าจะล่มสลายอย่างรุนแรงในที่สุด แต่กระนั้น แม้ในปี 2548 ประธานของสภาที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจในตอนนั้น คือ เบน เบอร์นันคี ซึ่งปัจจุบันเป็นประธานของธนาคารกลางของสหรัฐฯ ก็ยังยืนยันว่าราคาบ้านในสหรัฐสูงขึ้นเพราะมี "รากฐานเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง" รองรับไม่ใช่เป็นผลจากการเก็งกำไร จึงไม่น่าแปลกใจที่วิกฤตการรับจำนองบ้านของผู้มีรายได้น้อย (Subprime mortgage crisis)ปะทุขึ้นในฤดูร้อนปี 2550 โดยที่เขาไม่ทันรู้เนื้อรู้ตัว

 

แล้วมันแผ่ขยายไปได้อย่างไร?

 

จากคำบอกเล่าของ จอร์จ โซรอส นักลงทุนผู้ใจบุญสุนทาน "สถาบันรับจำนองบ้านและที่ดิน พยายามจูงใจให้ผู้จำนองกู้เงินใหม่มาใช้หนี้เก่า (refinance) โดยใช้ประโยชน์จากราคาสินทรัพย์ (บ้าน) ของตนที่สูงขึ้น สถาบันเหล่านี้จะลดมาตรฐานการปล่อยกู้ลงและเสนอแนะผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ให้ลูกค้า เช่น สัญญาจำนองแบบปรับอัตราดอกเบี้ยตามตลาด (Adjustable-rate Mortgage) แบบที่จ่าย "เฉพาะดอกเบี้ย" และที่เสนออัตราดอกเบี้ยต่ำในช่วงโปรโมชั่น" สิ่งเหล่านี้กระตุ้นให้มีการเก็งกำไรในตลาดบ้านที่อยู่อาศัย ราคาบ้านเริ่มสูงขึ้นพรวด ๆ ในอัตราเลข 2 ตัว ยิ่งตอกย้ำให้มีการเก็งกำไรมากขึ้น และเมื่อราคาบ้านสูงขึ้น เจ้าของบ้านก็รู้สึกว่าตนรวยขึ้น ผลลัพธ์คือการใช้จ่ายบริโภคเพิ่มขึ้นอย่างบานเบิก ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ค้ำยันเศรษฐกิจในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

 

วิกฤตการรับจำนองบ้านของผู้มีรายได้น้อยครั้งนี้ มิได้มีสาเหตุจากมีอุปทานสูงเกินกว่าอุปสงค์ที่แท้จริง หากเป็นเพราะ "อุปสงค์" เป็นความต้องการจอมปลอมที่ถูกสร้างขึ้นมาจากความคลั่งเก็งกำไรของบริษัทก่อสร้าง และนักลงทุนที่อยู่เบื้องหลัง ซึ่งต้องการทำกำไรให้มากขึ้นจากเงินลงทุนต่างชาติที่ไหลเข้ามาในสหรัฐฯ อย่างท่วมท้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา สัญญาจำนองบ้านขนาดใหญ่โตถูกนำมาขายผ่อนส่งให้ผู้คนจำนวนล้าน ๆ คนที่ปกติแล้วไม่มีเงินพอที่จะซื้อได้ แต่ถูกล่อด้วยการเสนออัตราดอกเบี้ยต่ำในปีแรก ๆ ซึ่งจะปรับขึ้นในปีต่อไปเพื่อค้ำยันดอกเบี้ยอัตราต่ำที่ได้จากลูกค้ารายใหม่ ๆ

 

แต่ทำไมหนี้สินจากการจำนองบ้านจึงกลายเป็นปัญหาลุกลามใหญ่โต?

 

ก็เพราะว่าสินเชื่อเหล่านี้ถูกแปลงเป็น "หลักทรัพย์" (securitized) รวมกับสินทรัพย์อื่น ๆ กลายเป็นผลิตภัณฑ์อนุพันธ์ที่ซับซ้อนเรียกว่า "หลักทรัพย์ที่มีหลักประกัน" (collaterized debt obligations-CDOs) ผู้ที่รับจำนองรายแรกสมคบกับคนกลางหลายทอดทำให้สัญญากู้เงินที่ตนถืออยู่ดูมีความเสี่ยงน้อยกว่าความเป็นจริง แล้วนำไปขายต่อให้ธนาคารและนักลงทุน แล้วสถาบันเหล่านี้ก็นำหลักทรัพย์เหล่านี้ไปขายต่อให้ธนาคารอื่น และสถาบันการเงินต่างชาติอื่น ๆ ต่อไป

 

เมื่อถึงเวลาขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสัญญาจำนองของผู้มีรายได้น้อย และเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัยต่าง ๆ เกมนี้ก็จบลง จำนวนหนี้สินค้างชำระขึ้นถึง 6 ล้านราย และจอร์จ โซรอสประมาณว่า 40% ของจำนวนนี้จะไม่สามารถชำระคืนได้ภายใน 2 ปีข้างหน้า

 

นอกจากนี้ ลูกหนี้อีก 5 ล้านราย ที่ถือสัญญาแบบที่ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ย และสัญญา "เงินกู้แบบยืดหยุ่น" อื่น ๆ ก็คงจะทยอยหยุดชำระคืนในปีต่อ ๆ ไปข้างหน้า หลักทรัพย์เหล่านี้ ซึ่งมีมูลค่ารวมกันเป็นหลายล้านล้านดอลลาร์ ได้ถูกอัดฉีดเหมือนไวรัสเข้าไปอยู่ในระบบการเงินของโลกแล้ว

 

แต่ทำไมสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ที่วอลล์สตรีทจึงล้มเป็นระนาวยังกับบ้านที่ต่อด้วยไพ่?

 

สำหรับวาณิชธนกิจเช่น เลห์แมนบราเดอร์ส์ เมอริลล์ลินช์ แฟนนีเม เฟรดดี้แมค และแบร์ ชเตอร์น ภาวะขาดทุนจากการที่หลักทรัพย์กลายเป็นหนี้เน่ามันท่วมท้นเกินปริมาณทุนสำรองที่มีอยู่ จึงล้มละลาย ยังมีอีกหลายธนาคารที่จะล้มตามมาเมื่อถึงเวลาที่ต้องปิดบัญชี เพราะรายการหลักทรัพย์ที่ถือครองมักอยู่ "นอกงบดุล" เมื่อปรับงบดุลตามมูลค่าตลาดที่ถือครองที่แท้จริงจึงจะรู้ว่าขาดทุนเท่าไร

 

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายบริษัทที่อาจจะล้มตามไปอีก คือกิจการเก็งกำไรทั้งหลาย เช่น การประกันความเสี่ยงของเครดิตการ์ด และความเสี่ยงของสินเชื่ออื่น ๆ บริษัทอเมริกันอินเตอร์เนชั่นแนล (AIG) ล้มเพราะไปรับประกันกรณีผิดนัดชำระหนี้ (Credit Default Swap - CDS) เป็นมูลค่ามหาศาล ซึ่งเป็นอนุพันธ์ที่ช่วยให้นักลงทุนสามารถพนันขันต่อกันว่ามีความเป็นไปได้เพียงใดที่บริษัทต่าง ๆ จะผิดนัดชำระหนี้ จากคำบอกเล่าของจอร์จ โซรอส การพนันเรื่องการผิดนัดชำระหนี้นี้ ปัจจุบันมีมูลค่ารวมในตลาดถึง 45 ล้านล้านดอลล่าร์ และทั้งหมดนี้ไม่มีกฎระเบียบอะไรกำกับควบคุมเลย ซึ่งยอดนี้สูงกว่ามูลค่าตลาดพันธบัตรรัฐบาลถึง 5 เท่า  การที่สินทรัพย์ของบริษัทเอไอจีมูลค่ามหาศาลจะกลายเป็นหนี้เน่าหากบริษัทล้มละลายเป็นสาเหตุให้รัฐบาลสหรัฐฯ เปลี่ยนใจเข้าแทรกแซง หลังจากที่ปล่อยให้เลห์แมนบราเดอร์ส์ ล้มไปแล้วหนึ่งแห่ง

 

แล้วต่อจากนี้จะเกิดอะไรขึ้น?

 

จะมีการล้มละลายตามมาอีกหลายราย และรัฐบาลจะเข้าควบรวมกิจการอีกหลายราย การล่มสลายของสถาบันการเงินที่วอลล์สตรีทจะทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ถดถอยมากขึ้นและนานขึ้น ซึ่งเป็นการถดถอยที่จะส่งผ่านมาที่เศรษฐกิจในเอเชียด้วย เพราะในที่สุดแล้ว ตลาดส่งออกหลักของประเทศจีนคือสหรัฐอเมริกา และจีนเป็นผู้นำเข้าวัตถุดิบและสินค้าระดับกลางจากญี่ปุ่น เกาหลี และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มาใช้ทำการผลิตหรือแปรรูปเพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ โลกาภิวัตน์ทำให้ไม่สามารถแยกเศรษฐกิจขาดออกจากกันได้อีกแล้ว ทั้งสหรัฐอเมริกา จีน และเอเชียตะวันออก ทั้งหมดโดยรวมกลายเป็นแก๊งนักโทษ 3 คนที่ถูกล่ามโซ่ตรวนติดกัน ไปไหนก็ต้องไปด้วยกัน

 

โดยสรุป?

 

การหลอมละลายที่วอลล์สตรีทไม่ได้เกิดจากโลภจริต และการขาดการกำกับควบคุมภาคการเงินที่คึกคักเกินเลยเท่านั้น การล่มสลายครั้งนี้ เมื่อสืบสาวไปแล้ว เกิดจากวิกฤตการผลิตล้นเกินที่เป็นปัญหาเรื้อรังของระบบทุนนิยมโลกมาตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 2510

 

กิจกรรมการแปลงการลงทุนทุกอย่างเป็นการเงิน เป็นทางออกหนึ่งจากภาวะเศรษฐกิจซบเซา ทางออกอีก 2 ทาง คือ การปรับโครงสร้างตามแนวเสรีนิยมใหม่ และโลกาภิวัตน์ เมื่อการปรับโครงสร้างตามแนวเสรีนิยมใหม่และโลกาภิวัตน์ประสบผลในวงจำกัด การแปลงการลงทุนทุกอย่างเป็นการเงิน จึงมีเสน่ห์มากในฐานะกลไกที่จะค้ำยันความสามารถในการทำกำไร แต่การแปลงทุกอย่างเป็นการเงินได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเป็นทางที่อันตรายมาก นำไปสู่ฟองสบู่ของการเก็งกำไรต่าง ๆ ซึ่งแม้จะสร้างความมั่งคั่งให้แก่คนบางกลุ่ม แต่ในที่สุดแล้วก็จบลงด้วยการล้มละลายของธนาคารและบรรษัทการเงิน และภาวะถดถอยในเศรษฐกิจภาคที่แท้จริง    

 

คำถามหลักตอนนี้ก็คือ ภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะลงลึกและยาวนานเพียงใด?  เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาจำเป็นต้องสร้างฟองสบู่แห่งการเก็งกำไรขึ้นมาอีกหรือไม่ เพื่อลากตัวเองกลับออกมาจากภาวะถดถอย? และถ้าจำเป็นจะเป็นฟองสบู่ที่ไหน?  บางคนบอกว่า ความสัมพันธ์เกี่ยวโยงระหว่างภาคการทหารกับอุตสาหกรรม (military-industrial complex) หรือภาค "ทุนนิยมกับภัยพิบัติ" ที่เนโอมิ คลายน์ พูดถึง อาจจะเป็นฟองสบู่ฟองต่อไป แต่นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่งแล้ว

 

 





วอลเดน เบลโล เป็นอาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยแห่งฟิลิปปินส์ และเป็นนักวิเคราะห์อาวุโสของโครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา (โฟกัส) บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในวารสาร Foreign Policy in Focus วันที่ 26 กันยายน 2551

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท