Skip to main content
sharethis

 



 


ภาพวาดโดย: ด.ช.พิพัฒน์พล มูลคำ ชั้น ป.6 โรงเรียนวรนคร อ.บัว จ.น่าน


 


คณะทำงานพัฒนาสมัชชาป่าชุมชนแห่งประเทศไทย ร่วมกับศูนย์ฝึกอบรมวนศาสตร์ชุมชนแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เครือข่ายองค์กรภาคีป่าชุมชนและองค์กรเครือข่ายกว่า 40 องค์กร ร่วมกันจัดงาน "มหกรรมสมัชชาป่าชุมชนแห่งประเทศไทย" และการสัมมนาระดับชาติ "ป่าชุมชน: ความมั่นคงแห่งชาติและ ความเปลี่ยนแปลงและภาวะโลกร้อน" หอประชุมมหิศร ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ ในระหว่างวันที่ 21-22 ต.ค. ที่ผ่านมา


 


โดยกิจกรรมมุ่งหวังให้ภาคีเครือข่ายการจัดการป่าจากชุมชนทั่วประเทศ ภาคการศึกษา ภาคประชาสังคม ภาคราชการ ภาคเอกชน ได้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนทิศทางการดำเนินงานด้านป่าชุมชน รับมือภาวะโลกร้อนและพืชพลังงานทดแทน โดยเน้นการนำเสนอรูปธรรมความสำเร็จ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อสร้างความเข้มแข็ง และการสร้างความร่วมมือระหว่างชุมชน ภาครัฐ และภาคธุรกิจ ในการจัดการป่าเพื่ออนาคต


 


ในวันสุดท้ายของการจัดงาน มีการจัดอภิปราย "ป่าชุมชน พืชพลังงาน และความมั่นคงทางอาหารจะไปในทิศทางไหนของสังคมไทย" เพื่อพูดคุยถึงอนาคตของการจัดการป่าชุมชนที่เกี่ยวพันธ์กับพืชพลังงาน และความมั่นคงทางอาหาร โดยนายเจริญ คัมภีรภาพ นักวิชาการ มหาวิทยาลัยศิลปกรทำหน้าที่ผู้ดำเนินรายการ


 


ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล เลขาธิการโครงการพัฒนาดอยตุง มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์โลกกำลังกลายเป็นวิกฤติที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกคนไม่ช้าก็เร็ว ดังนั้นนอกเหนือจากการพูดถึงเรื่องป่าชุมชนในวันนี้จึงอยากให้มองทะลุไปจากที่พูดคุยกัน โดยกล่าวถึงต้นเหตุของปัญหาใหญ่ๆ คือ ข้อแรกจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากประชากร 6,500 ล้านคนในปัจจุบันอีก 40 กว่าปีจะเพิ่มจำนวนเป็นกว่า 9,000 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ที่ดินทำกินมีจำนวนลดลงกว่า 13 เปอร์เซ็นต์


 


สองปัญหาทรัพยากรน้ำ โดยปริมาณน้ำจืดที่สามารถบริโภคได้กลับมีเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ของน้ำบนโลกทั้งหมด ทำให้มีนโยบายของรัฐในการที่คนไทยต้องซื้อน้ำจากต่างประเทศมาใช้ในอนาคต โดยการให้เหตุผลถึงการขาดแคลนน้ำของพื้นที่ภาคอีสาน ซึ่ง ม.ร.ว.ดิศนัดดา ไม่เห็นด้วย โดยมองว่าปัญหาในภาคอีสานที่ประสบทั้งภาวะน้ำท้วม และฝนแล้งนั้นเป็นเพราะยังไม่มีการจัดการทรัพยากรน้ำที่ดี และในส่วนของการจัดการงบประมาณช่วยเหลือของรัฐก็ทำได้ไม่ทั่วถึง ดังนั้นแต่ละชุมชนควรหาวิธีบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่ทำได้เอง โดยไม่ต้องรอความช่วยเหลือจากภาครัฐ


 


ในประเทศไทยที่ภาคอีสานมีปริมาณน้ำฝนตกแต่ละปีประมาณ 2.2 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ชาวบ้านและรัฐสามารถกักเก็บน้ำไว้ได้เพียง 2.7 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น โจทย์ใหญ่ก็คือว่าทำอย่างไรให้ชาวบ้านหรือภาคครัวเรือน สามารถกักเก็บน้ำใช้ไว้ใต้ดิน และชะลอน้ำให้ค่อยๆ ไหลออกมาเมื่อต้องการใช้น้ำได้ และทำอย่างไรให้น้ำจากแม่น้ำโขงอยู่ในประเทศไทยให้ได้นานที่สุด ทั้งนี้รวมถึงแม่น้ำปิง วัง ยม และน่านด้วยที่ต้องหามาตรการชะลอการไหลของน้ำให้ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาให้ช้าที่สุด เพื่อให้ชาวบ้านในบริเวณภาคเหนือและภาคกลางได้รับประโยชน์จากการใช้น้ำมากที่สุด เพราะอนาคตเขื่อนขนาดใหญ่น่าจะเกิดขึ้นได้ยาก


 


สามเรื่องอาหาร ม.ร.ว.ดิศนัดดามองว่าเรื่องอาหารที่ประกอบมาจากการใช้ทรัพยากรดินและน้ำ จะมารถสร้างความเป็นมหาอำนาจให้ประเทศไทยได้ในอนาคต โดยกล่าวว่า พื้นที่ประเทศในวันนี้ 320 ล้านไร่ เป็นพื้นที่เพาะปลูก 170 ล้านไร่ ซึ่งใช้ปลูกข้าว 60 ล้านไร่ แต่ในส่วนนี้เป็นพื้นที่ที่มีน้ำถึงเพียง 28 ล้านไร่ ดังนั้นพื้นที่ 60 ล้านไร่ที่ปลูกข้าวมันไม่จริง และสมควรนำมาปลูกพืชอย่างอื่น ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องขบคิดเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด


 


ส่วนท้ายสุดคือเรื่องพลังงาน ซึ่งทั้งวิกฤตอาหารและวิกฤตพลังงานคือหนทางการเป็นมหาอำนาจของไทยในอนาคต ที่จะต้องพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ดังนั้นจึงต้องมีการบริหารที่ดินและน้ำให้ดี ทั้งนี้การที่จะเป็นมหาอำนาจได้จะไม่ใช่เพียงประเทศไทยประเทศเดียว แต่ต้องมีการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน คิด และร่วมมือกันทำเป็นกลุ่มประเทศในภูมิภาคที่ไม่มีเขตแดน


 


นายบุญส่ง เกิดกลาง รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กล่าวว่าพลังงานที่ใช้กันหลักๆ ในประเทศไทยคือ น้ำมัน ไฟฟ้า ถ่านหิน และก๊าซ แต่พลังงานที่จะนำมาเสริมคือพืชพลังงาน เพื่อความมันคงหากเกิดวิกฤตน้ำมันดิบหรือก๊าซธรรมชาติ ซึ่งหากทดแทนได้ก็จะลดปริมาณการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ ในส่วนสินค้าเกษตรที่เหลือทิ้งจะมีการเน่าเสียก็จะมีการนำมาใช้ทำให้สินค้าเกษตรมีราคาสูงขึ้น นอกจากนี้กระบวนการผลิตยังเป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อม


 


ทั้งนี้หลักของการนำพืชมาใช้เป็นพลังงาน คือ 1.พืชที่จะนำมาใช้เป็นพลังงานได้มีอะไรบ้าง 2.เหลือจากการบริโภคของคนและสัตว์หรือไม่ 3.มีเทคโนโลยีและผู้ลงทุนในการผลิตหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันปัจจัยเหล่านี้ครบถ้วนแล้ว และพืชในประเทศไทยที่พบว่าสามารถจะนำมาผลิตพลังงานได้ตามปัจจัยดังกล่าวคือ อ้อย มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน


 


ส่วนมาตรการต่างๆ ที่รัฐได้ลงไปสนับสนุน คือ การสร้างความมั่นใจให้กับผู้ผลิตและผู้บริโภคพลังงานด้วยการโฆษณาประชาสัมพันธ์ กำหนดโครงสร้างราคาของน้ำมันจากพืชพลังงานให้ต่ำกว่าน้ำมันดิบทั้งที่ความเป็นจริงมีราคาสูงกว่า โดยลดเม็ดเงินที่จะเก็บเข้ากองทุนลง อีกทั้งยังมีการส่งเสริมผู้ค้าโดยให้มีกำไรจากส่วนต่างราคาสูงขึ้น นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมการผลิต โดยคาดหวังว่าจะมีการเพิ่มสัดส่วนน้ำมันจากพืชมากขึ้นเรื่อยๆ ในน้ำมันที่ใช้กันอยู่ปัจจุบัน ทั้งนี้กระทรวงฯ พยายามส่งเสริมการใช้พลังงานจากพืชเพื่อการบริโภคในประเทศ


 


ส่วนนางลัดดาวัล คำภา สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่าเมื่อพูดถึงทรัพยากรสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาคนส่วนใหญ่จึงรู้สึกว่ายิ่งพัฒนาทรัพยากรยิ่งถูกทำลาย ซึ่งก็ยอมรับว่าที่ผ่านมามีการใช้ทรัพยากรมาเป็นปัจจัยในการพัฒนามาโดยตลอด อย่างไรก็ตามในเชิงนโยบายของทางพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เองก็มีความประสงค์ให้มีความสมดุลในการใช้และอนุรักษ์ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด แต่ด้วยปัจจัยการเปลี่ยนแปลงของโลกในหลายๆ เรื่องได้ส่งผลกระทบต่อการพัฒนารวมทั้งชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ไม่ว่าการเปลี่ยนแปลงในเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจ สังคมผู้สูงอายุ และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม


 


แรงกระตุ้นจากภายนอกในด้านเศรษฐกิจ ความต้องการสร้างรายได้จากการส่งออก รวมทั้งความตองการใช้พลังงาน ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยต้องใช้เงินกว่าล้านล้านบาทในการนำเข้าพลังงานในแต่ละปี เหล่านี้คือสภาวการณ์ที่ประเทศกำลังประสบอยู่ ดังนั้นทางเลือกของการดำเนินนโยบายพัฒนาที่จะเดินหน้าต่อไป ต้องคำนึงถึงเรื่องเหล่านี้ด้วย


 


ในส่วนของป่าไม้ นางลัดดาวัลกล่าวว่า ป่าเป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญมาก และในส่วนของป่าชุมชนเองนับวันก็ยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ชุมชนที่ได้รับสิทธิในการดูแลป่าก็เหมือนได้ดูแลทรัพย์สมบัติอันยิ่งใหญ่ เพราะป่าเปรียบเสมือนเป็นตู้กับข้าว เป็นทุกอย่างที่ช่วยให้มีอาหาร มีพลังงาน มีความหลากหลายทางทรัพยากรอันเป็นคุณประโยชน์ อีกทั้งเป็นแหล่งต้นน้ำที่หล่อเลี้ยงผู้คน ซึ่งตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจละสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 นอกจากจะมุ่งเน้นการรักษาฐานทรัพยากรแล้ว ยังเล็งเห็นถึงความหลายหลายทางชีวภาพซึ่งสามารถจะนำไปผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่า เป็นสมุนไพร หรือวัสดุใช้สอยต่างๆ ในชุมชน ในตลาด ตลอดจนสามารถส่งออกได้


ตรงนี้อยากให้เห็นว่า การจัดการป่าถ้าชุมชนเข้มแข็ง มีการดูแลจัดการที่ดีก็จะได้ประโยชน์มหาศาล ทั้งนี้ควรต้องคำนึงถึงความสำคัญของการเก็บข้อมูลของฐานทรัพยากรที่หลากหลายในป่า เพื่อการนำมาใช้ประโยชน์เชื่อมโยงกับภูมิปัญญาท้องถิ่นต่างๆ ซึ่งคงไม่มีใครรู้ดีไปกว่าผู้จัดการป่าชุมชนเอง


 


ด้วยความเข้มแข็งของชุมชน น่าจะสามารถดูแลป่าเองได้ดีกว่าเจ้าหน้าที่ภาครัฐ และหากชุมชนสามารถจัดการเรื่องอาหารได้เองแล้ว เรื่องพลังงานก็ยิ่งไม่น่าเป็นห่วงเท่าไร และในส่วนการก้าวไปสู่การเป็นมหาอำนาจของไทยนั้นเห็นด้วยว่ามีความเป็นไปได้ถ้ามีการจัดการน้ำ ดิน และมีการวิจัยพัฒนาที่ดี แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องคิดอยู่ในใจคิดความสมดุลในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำ และที่ดินที่มีอยู่


 


ด้าน ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ (สป.) กล่าวว่าทั้งรัฐและชุมชนไม่ควรเอาป่าชุมชนไปแก้ไขปัญหาพลังงานทดแทน เพราะที่ผ่านมาพบว่าป่าหายไปจำนวนมาก ภายหลังที่รัฐมีนโยบายปลูกพืชพลังงาน ทางแก้ปัญหาพลังงานคือ รัฐจะต้องปรับโครงสร้างการใช้พลังใหม่ โดยลดการใช้พลังงานที่สิ้นเปลือง โดยเฉพาะคนที่อยู่ในเขตเมือง


 


สำหรับกรณีป่าชุมชนนั้นเป็นปัญหาค้างคาอยู่ในระดับนโยบายระดับสูงของรัฐมานานกว่า 20 ปี และยังไม่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้ แต่อย่างไรก็ ตามนโยบายระดับชุมชนในการดูแลรักษาก็ยังคงดำเนินต่อไปท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชุมชน ซึ่งอุปสรรคของการออกกฎหมายป่าชุมชนในระดับท้องถิ่นก็มีปัญหาเช่นกัน เนื่องจากนักการเมืองท้องถิ่นและข้าราชการไม่ไว้ใจชาวบ้านกลัวจะทำลายป่า


  


"ภาคประชาชนเองก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้นโยบายระดับชาติล่าช้าและอ่อนแอ เพราะแม้ว่าชุมชนจะมีความรู้ ภูมิปัญญา มีความเข้มแข็ง แต่เป็นความสามารถที่อยู่เฉพาะในชุมชนเท่านั้น แต่เมื่อเข้าไปสู่เวทีระดับชาติ ชุมชนกลับไม่สามารถหักล้างด้วยเหตุผลเพื่อสร้างความเข้าใจต่อบุคคลที่อยู่ฝ่ายตรงข้าม และเพื่อให้เกิดความเข้าใจร่วมกันจนเป็นมติของที่ประชุมได้" ดร.เพิ่มศักดิ์กล่าว


 


ดร.เพิ่มศักดิ์กล่าวตามาว่า ทางออกที่ป่าชุมชนจะต้องดำเนินการคือ 1.ยกเลิกร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชนทุกฉบับรวมทั้งฉบับภาคประชาชนเพราะล้าสมัย ในขณะที่ความเข้าใจเรื่องป่าชุมชนของชาวบ้านมีมากกว่าการเก็บเห็ด เก็บหน่อไม้ แต่มีมิติมากกว่า เช่นเรื่อง ชีวภาพ จุลินทรีย์ สัตว์ป่า จิตวิญญาณ ดิน หิน ไม้ ฯลฯ 2.ต้องผลักดันการดูแลรักษาป่าโดยชุมชนทุกรูปแบบ 3.ยึดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 โดยเฉพาะสิทธิชุมชนในท้องถิ่นในการบริหารจัดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสิ่งแวดล้อม และเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 4.ใช้ความรู้และภูมิปัญญาชาวบ้านในการขับเคลื่อนการดูแลรักษาป่าทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม


 



เปิดตัวคณะกรรมการพัฒนาสมัชชาป่าชุมชนฯ


 


ในช่วงบ่ายของงานสัมมนา หลังจากได้มีการได้มีการระดมสมองในห้องย่อยเรื่อง "ความร่วมมือและทิศทางการพัฒนาด้านป่าชุมชนในประเทศไทย" ทั้งในส่วนองค์กรภาคีป่าชุมชน องค์กรสนับสนุน และภาคธุรกิจเพื่อสังคม ได้มีข้อสรุปว่าจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาสมัชชาป่าชุมชนแห่งประเทศไทยโดยได้รับเสียงสนับสนุนอย่างท่วมท้น และได้มีการเปิดตัวคณะกรรมการฯ ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนคนอยู่กับป่าจากภาคต่างๆ ของประเทศ เพื่อร่วมกันทำงานขับเคลื่อนประเด็นป่าชุมชน อาทิ นายพัฒน์ ขันสลี จากภาคเหนือ นายประดิษฐ์ สืบสี และนายสะอาด กุลชาติ จากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ


 


นายอำพร แพทย์ศาสตร์ และนายบุญเฮียง บุตรจันทรา จากภาคตะวันออก นางสมพร ปานโต และนายเกรียงไกร ชีช่วง จากภาคตะวันตก นายลิขิต ดิษยนาม นายยินดี สุวรรณโชติ และนายประวีณ จุลภักดี จากภาคใต้ ส่วนภาคกลาง คือนางสายชล พวงพิกุล และนายสายรุ้ง ฤทธิ์ทัพ


 


จากนั้นนายอนันต์ ดวงแก้วเรือน กำนัน ต.แม่ทา อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ ที่ปรึกษาเครือข่ายป่าชุมชนภาคเหนือ กล่าวในฐานะผู้ที่ดำเนินงานเกี่ยวกับป่าชุมชนมาเป็นเวลานานว่า อยากให้คณะกรรมการพัฒนาสมัชชาป่าชุมชนฯ ที่จัดตั้งขึ้นนี้นำเอาประสบการณ์ของการต่อสู่เรื่องป่าชุมชนนับตั้งแต่ปี 2542 ซึ่งระยะเวลาที่ผ่านมาการผลักดันกฎหมายติดขัดจากนโยบายของรัฐและแนวคิดของนักการเมือง มาใช้เป็นบทเรียนในการทำงานต่อไป


 


นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอว่า การขับเคลื่อนต่อไปไม่จำเป็นต้องเอากฎหมายป่าชุมชนฉบับเล็กฉบับน้อยมาใช้เป็นตัวตั้ง เพราะแต่เดิมกฎหมายป่าชุมชนได้ถูกตั้งคำถามถึงการแก้ปัญหาป่าชุมชนในเขตป่าอนุรักษ์ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นปัญหาเฉพาะกลุ่มของพี่น้องป่าชุมชนในภาคเหนือเท่านั้น ไม่ได้เป็นปัญหาร่วมกันของทุกกลุ่ม ในส่วนนี้น่าจะมีการร่วมกันทำกฎหมายที่ใหม่ที่ครอบคลุมไปถึงทรัพยากรธรรมชาติทั้งหมด


 


ให้มีการร่วมกันทำกฎหมายใหญ่ เป็น "กฎหมายทรัพยากรภาคประชาชน" โดยมีการแบ่งหมวดย่อยว่าด้วยการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งดิน น้ำ ป่า ฯลฯ แยกไป ซึ่งในส่วนนี้ถือเป็นความท้าทายของคณะทำงาน และต้องต้องขอฝากคนทำงานรุ่นต่อๆ ไปดูแลเรื่องทรัพยากรทั้งหลายเหล่านี้ด้วย


 


ในส่วนของการจัดมหกรรมสมัชชาป่าชุมชนฯ ในครั้งนี้นายอนันต์แสดงความเห็นว่า รู้สึกยินดีที่มีเด็กๆ รุ่นลูกรุ่นหลานเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ทั้งนี้การทำงานขับเคลื่อนต่อไปตนเองขอทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาซึ่งจะคอยดูและให้ความช่วยเหลืออยู่เบื้องหลัง โดยเชื่อมั่นว่าในอนาคตประเทศไทยต้องหลุดพ้นจากความไม่เข้าใจเรื่องป่าชุมชน และป่าชุมชนนีเองจะเป็นทางเลือกที่เป้นทางรอดของสังคมต่อไป


 


ข้อเสนอเชิงนโยบายป่าชุมชนเพื่อความมั่นคงแห่งชีวิต


 


ในส่วนการสรุปผลการสัมมนา และข้อเสนอเชิงนโยบายต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนั้น นายลิขิต ดิษยนาม รองประธานคณะกรรมการพัฒนาสมัชชาป่าชุมชนแห่งชาติ กล่าวถึงผลการสัมมนาว่า วิกฤติพลังงานน้ำมัน ซึ่งเป็นเหตุปัจจัยหลักที่สำคัญที่ทำเศรษฐกิจผันผวนทั้งในระดับโลกที่เชื่อมโยงทุกประเทศ และระดับท้องถิ่น และพบว่ามีแนวโน้มจะรุนแรงภายใต้สภาวะโลกร้อนและเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันและในอนาคต มีผลต่อความมั่นคงทางอาหาร ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งมีผลกระทบแบบลูกโซ่ต่อ "ความมั่นคงของชีวิต" ทั้งวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ รวมทั้งวัฒนธรรมท้องถิ่นโดยเฉพาะชุมชนชนบท คนยาก คนจนที่ยังจำเป็นในการพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติเพื่อปาก เพื่อท้อง


 


ดังนั้นสมัชชาป่าชุมชนแห่งประเทศไทย จึงมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับนโยบายป่าชุมชน ความมั่นคงทางอาหาร และพลังงานทั้งนโยบายระดับชาติ ระดับท้องถิ่น และสาธารณะ 12 ประการดังนี้ 1.นโยบายการจัดการทรัพยากรของประเทศต้องให้ความสำคัญเรื่อง "ความมั่นคงทางอาหาร" ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อความอยู่เย็นเป็นสุขตามแผนฯ ๑๐ เช่น นโยบายคุ้มครองพื้นที่แหล่งอาหารทั้งในป่าธรรมชาติ พื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่ชุ่มน้ำ ป่าหัวไร่ปลายนา ป่าชายเลน พื้นที่ชายฝั่ง ไร่หมุนเวียน และพื้นที่อื่นๆ ที่มีความสำคัญด้านอาหารของคนไทย


2.ต้องออก พ..บ.ป่าชุมชนที่เหมาะสมกับวิถีท้องถิ่นไทยที่หลากหลายพร้อมทั้งปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพท้องถิ่น เสริมสร้างอธิปไตยทางอาหาร และธำรงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ของวัฒนธรรมไทย 3.รัฐต้องมีนโยบายให้สิทธิชุมชนในการปกป้องคุ้มครองพันธุกรรมพืชอาหารท้องถิ่นทั้งในพื้นที่เกษตรกรรม ป่าชุมชน ไร่หมุนเวียน 4.ทั้งรัฐและชุมชนต้องร่วมกันในการวางแผนการใช้ที่ดินที่เหมาะสมในการปลูกพืชพลังงาน ยางพารา ปาล์มน้ำมันที่ไม่คุกคามฐานทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพ และความมั่นคงทางอาหารของชุมชนท้องถิ่น



5.
สร้างข้อบัญญัติท้องถิ่นที่หลากหลายและเหมาะสมเพื่อให้สิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรท้องถิ่นและสร้างปฏิบัติการท้องถิ่นในการสร้างความมั่นคงทางอาหาร อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ธำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมท้องถิ่น 6.สนับสนุนการวิจัยและฟื้นฟูอย่างมีส่วนร่วมของหลายภาคส่วนโดยบูรณาการสหวิทยาการโดยผสมผสานองค์ความรู้ท้องถิ่น และวิชาการ เพื่อนำไปสู่การจัดการความหลากหลายทางชีวภาพและความมั่นคงอาหารท้องถิ่น


 


7.ชุมชนต้องการจัดการผลผลิตจากป่าชุมชนอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพสูงสุดทั้งการเพิ่มผลผลิตในพื้นที่จำกัดและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยใช้ผสมผสานวิทยาการและเทคโนโลยีที่เหมาะสม โดยทำงานร่วมกับภาคีทั้งสถาบันวิชาการ ภาครัฐท้องถิ่นต่างๆ 8.รณรงค์ ส่งเสริมการบริโภคอาหารและจัดการตลาดอาหารในท้องถิ่นแก่สาธารณะ โดยอาหารไม่ควรเดินทางไกลสูญเสียพลังงาน ทำให้โลกร้อน เป็นความสูญเสียด้านเศรษฐกิจ 9.สร้างเครือข่ายผู้บริโภคอาหารที่ลดการทำลายสิ่งแวดล้อม อาหารปลอดภัยทั้งชุมชนเมือง ชุมชนชนบท


 


10.สร้างเครือข่ายความมั่นคงทางอาหารในแต่ละท้องถิ่น มีระบบแลกเปลี่ยนอาหารยามมีภาวะวิกฤต หรือภัยพิบัติ รวมทั้งมีระบบติดตาม เตือนภัยความมั่นคงทางอาหาร 11.ส่งเสริมกระจายอำนาจการจัดการพลังงานสู่ท้องถิ่นชุมชนและชุมชนต้องจัดการพลังงานอย่างเป็นรูปธรรมบนฐานทรัพยากรท้องถิ่น พลังงานธรรมชาติท้องถิ่น และ12.ถึงแม้จะไม่มีกฎหมายใดมารับรองสิทธิชุมชน ชุมชนเองต้องขยายผลสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญไทยในภาคปฏิบัติการทั้งสิทธิในทุกเรื่องที่เกี่ยวกับความมั่นคงของชีวิตตนเองทั้งการจัดการทรัพยากร เศรษฐกิจและการเมือง


 


รมว.กระทรวงทรัพย์ฯ ส่งที่ปรึกษารับหน้า


ต่อจากนั้น ดร.ไพศาล จันทรภักดี ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นกระทรวงที่มีบทบาทในการดูแลรักษาป่าตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีการน้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินินาถมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานให้คนอยู่กับป่า โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วม เพื่อให้เกิดการดูแลรักษาป่าอย่างทั่วถึงและยั่งยืน


 


ในส่วนของนางอนงค์วรรณ เทพสุทิน รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรฯ เองนั้นก็ได้เห็นความสำคัญเกี่ยวกับการจัดการป่าโดยชุมชน และการที่จะให้คนอยู่ร่วมกับป่า โดยที่ผ่านมาได้มีการนำเนินนโยบายเกี่ยวกับป่าชุมชนหลายอย่าง และได้มีการมอบหมายให้ที่ปรึกษาและคณะทำงานเร่งแก้ไขปัญหาแก่ประชาชนอยู่เสมอ ในส่วนของข้อเสนอในเชิงนโยบายในวันนี้จะขอรับไปเพื่อนำไปเสนอต่อรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรฯ ต่อไป


ในช่วงสุดท้ายของการจัดงาน พัฒน์ ขันสลี และคณะกรรมการพัฒนาสมัชชาป่าชุมชนฯ นำผู้เข้าร่วมประชุมประกาศปฏิญญาของสมัชชาป่าชุมชนว่า ท่ามกลางวิกฤติน้ำมัน ข้าวยากหมากแพง และปัญหาโลกร้อนได้ส่งผลกระทบต่อชุมชนท้องถิ่นถึงระดับโลก และชุมชนท้องถิ่นเองมีบทบาทที่สำคัญยิ่งในการร่วมแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทั้งนี้ ปัจจุบันป่าชุมชนกว่าหมื่นแห่งที่กระจายทั่วแผ่นดินไทยจึงทำหน้าที่เป็นหลักประกันด้านความมั่นคงทางอาหาร แหล่งรักษาพันธุกรรมพืชท้องถิ่น


 


สมัชชาป่าชุมชนแห่งประเทศไทย ร่วมกับเครือข่ายองค์กรพันธมิตร และองค์กรสนับสนุนภาคส่วนต่างๆ ประกาศร่วมกันว่า จะมีการผลักดันกฎหมายที่รับรองสิทธิของชุมชนในการเข้าถึงการใช้ประโยชน์และการจัดการทรัพยากร การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติ และการมีส่วนร่วมในแผนพัฒนาของรัฐ รวมทั้งสร้างเครือข่ายการจัดการทรัพยากรในทุกภูมินิเวศน์ เป็นเครือข่ายป่าชุมชน เครือข่ายลุ่มน้ำ หรือเครือข่ายประมง เพื่อเชื่อมประสานให้เกิดหลังทางสังคมที่เข้มแข็ง และจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน


 


  


 


 


คำประกาศสมัชชาป่าชุมชนแห่งประเทศไทย


 


ท่ามกลางวิกฤติน้ำมัน ข้าวยากหมากแพง และปัญหาโลกร้อนได้ส่งผลกระทบต่อชุมชนท้องถิ่นถึงระดับโลก การแก้ไขปัญหาดังกล่าวนั้นมีความสลับซับซ้อนเชื่อมโยงหลายประเด็นรวมทั้งนโยบายต่างๆ เช่น นโยบายการปลูกพืชพลังงานทดแทนส่งผลคุกคามต่อพื้นที่ป่าธรรมชาติ ป่าชุมชน ป่าหัวไร่ปลายนา พื้นที่ชุ่มน้ำ จึงเป็นประเด็นท้าทายทั้งในระดับนโยบายและระดับท้องถิ่นอย่างยิ่งในอนาคต ชุมชนท้องถิ่นนั้นมีบทบาทที่สำคัญยิ่งในการร่วมแก้ไขปัญหาดังกล่าว หลายแห่งมีการฟื้นฟูป่าชุมชน การนำไม้ป่ามาปลูก ในพื้นที่บริเวณบ้าน เป็นทั้งแหล่งอาหารและเก็บกักคาร์บอนได้อีกทางหนึ่ง ประเทศไทยมีชุมชนกว่า 7 หมื่นชุมชนที่มีโอกาสสร้างหย่อมป่าได้จำนวนมาก ป่าชุมชน ป่าครอบครัวหลายแห่งที่มีการจัดการที่ดียังเป็นฐานคุณภาพชีวิตและหลักประกันความมั่นคงของชีวิตได้เป็นอย่างดี สามารถพัฒนาไปสู่การยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ และสวัสดิการชุมชน แนวทางการพัฒนานี้สอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 10 ที่มุ่งเน้นการพัฒนาบนฐานทรัพยากรชีวภาพท้องถิ่น ซึ่งถือว่าเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการพัฒนาโดยเฉพาะชุมชนชนบทเพื่อให้สามารถยืนหยัดอยู่ได้ท่ามกลางวิกฤตพลังงานและอาหารของโลก ซึ่งปัจจุบันป่าชุมชนกว่าหมื่นแห่งที่กระจายทั่วแผ่นดินไทยจึงทำหน้าที่เป็นหลักประกันด้านความมั่นคงทางอาหาร แหล่งรักษาพันธุกรรมพืชท้องถิ่น



เรา สมัชชาป่าชุมชนแห่งประเทศไทย ร่วมกับเครือข่ายองค์กรพันธมิตร และองค์กรสนับสนุนภาคส่วนต่างๆ ขอประกาศร่วมกันว่า



-เราจะผลักดันกฎหมายที่รับรองสิทธิของชุมชนในการเข้าถึงการใช้ประโยชน์และการจัดการทรัพยากร การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติ และการมีส่วนร่วมในแผนพัฒนาของรัฐ



-
เราจะสร้างเครือข่ายการจัดการทรัพยากรในทุกภูมินิเวศน์ เป็นเครือข่ายป่าชุมชน เครือข่ายลุ่มน้ำ หรือเครือข่ายประมง เพื่อเชื่อมประสานให้เกิดหลังทางสังคมที่เข้มแข็ง และจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน


 


ประกาศ ณ วันที่ 22 ตุลาคม 2551


 


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net