Skip to main content
sharethis

สมัชชาป่าชุมชนแห่งประเทสไทยร่วมกับภาคี 40 องค์กรจัดงานสัมมนาแห่งชาติ "ป่าชุมชน: ความมั่นคงแห่งชีวิต ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงและภาวะโลกร้อนจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-22 ตุลาคม 2551 ณ ห้องประชุมมหิศร ธนาคารไทยพาณิชย์สำนักงานใหญ่ โดยภาคีเครือข่ายการจัดการป่าจากชุมชนทั่วประเทศ ภาคการศึกษา ภาคประชาสังคม ภาคราชการ ภาคเอกชน เข้าร่วมแลกเปลี่ยนทิศทางการดำเนินงานด้านป่าชุมชน รับมือภาวะโลกร้อนและพืชพลังงานทดแทน เน้นการนำเสนอรูปธรรมความสำเร็จ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อสร้างความเข้มแข็ง และการสร้างความร่วมมือระหว่างชุมชน ภาครัฐ และภาคธุรกิจ ในการจัดการป่าเพื่ออนาคต รวมกว่า 200 ชุมชน หน่วยงาน/องค์กร และผู้เข้าร่วมกว่า 700 คน


 


ข้อเสนอเชิงนโยบายป่าชุมชนเพื่อความมั่นคงแห่งชีวิต
ผลการสัมมนา พบว่าวิกฤติพลังงานน้ำมัน ซึ่งเป็นเหตุปัจจัยหลักที่สำคัญที่ทำเศรษฐกิจผันผวนทั้งในระดับโลกที่เชื่อมโยงทุกประเทศ และระดับท้องถิ่น และพบว่ามีแนวโน้มจะรุนแรงภายใต้สภาวะโลกร้อนและเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันและในอนาคตมีผลต่อความมั่นคงทางอาหาร ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งมีผลกระทบแบบลูกโซ่ต่อ
"ความมั่นคงของชีวิต" ทั้งวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ รวมทั้งวัฒนธรรมท้องถิ่นโดยเฉพาะชุมชนชนบท คนยาก คนจนที่ยังจำเป็นในการพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติเพื่อปาก เพื่อท้อง ดังนั้น สมัชชาป่าชุมชนแห่งประเทศไทย จึงมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับนโยบายป่าชุมชน ความมั่นคงทางอาหาร และพลังงานทั้งนโยบายระดับชาติ ระดับท้องถิ่น และสาธารณะ 12 ประการดังนี้


 


1.นโยบายการจัดการทรัพยากรของประเทศต้องให้ความสำคัญเรื่อง "ความมั่นคงทางอาหารภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อความอยู่เย็นเป็นสุขตามแผนฯ 10 เช่น นโยบายคุ้มครองพื้นที่แหล่งอาหารทั้งในป่าธรรมชาติ พื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่ชุ่มน้ำ ป่าหัวไร่ปลายนา ป่าชายเลน พื้นที่ชายฝั่ง ไร่หมุนเวียน และพื้นที่อื่นๆ ที่มีความสำคัญด้านอาหารของคนไทย


2. ต้องออก พรบ. ป่าชุมชนที่เหมาะสมกับวิถีท้องถิ่นไทยที่หลากหลายพร้อมทั้งปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพท้องถิ่น เสริมสร้างอธิปไตยทางอาหาร และธำรงไว้ซึ่งเอกลักษ์ อัตลักษณ์ของวัฒนธรรมไทย


3. รัฐต้องมีนโยบายให้สิทธิชุมชนในการปกป้องคุ้มครองพันธุกรรมพืชอาหารท้องถิ่นทั้งในพื้นที่เกษตรกรรม ป่าชุมชน ไร่หมุนเวียน 


4. ทั้งรัฐและชุมชนต้องร่วมกันในการวางแผนการใช้ที่ดินที่เหมาะสมในการปลูกพืชพลังงาน ยางพารา ปาล์มน้ำมันที่ไม่คุกคามฐานทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพ และความมั่นคงทางอาหารของชุมชนท้องถิ่น

5. สร้างข้อบัญญัติท้องถิ่นที่หลากหลายและเหมาะสมเพื่อให้สิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรท้องถิ่นและสร้างปฏิบัติการท้องถิ่นในการสร้างความมั่นคงทางอาหาร อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ธำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมท้องถิ่น 


6. สนับสนุนการวิจัยและฟื้นฟูอย่างมีส่วนร่วมของหลายภาคส่วนโดยบูรณาการสหวิทยาการโดยผสมผสานองค์ความรู้ท้องถิ่น และวิชาการ เพื่อนำไปสู่การจัดการความหลากหลายทางชีวภาพและความมั่นคงอาหารท้องถิ่น


7. ชุมชนต้องการจัดการผลผลิตจากป่าชุมชนอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพสูงสุดทั้งการเพิ่มผลผลิตในพื้นที่จำกัดและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยใช้ผสมผสานวิทยาการและเทคโนโลยีที่เหมาะสม โดยทำงานร่วมกับภาคีทั้งสถาบันวิชาการ ภาครัฐท้องถิ่นต่างๆ


8. รณรงค์ ส่งเสริมการบริโภคอาหารและจัดการตลาดอาหารในท้องถิ่นแก่สาธารณะ (อาหารไม่ควรเดินทางไกลสูญเสียพลังงาน ทำให้โลกร้อน สูญเสียด้านเศรษฐกิจ) 


9. สร้างเครือข่ายผู้บริโภคอาหารที่ลดการทำลายสิ่งแวดล้อม อาหารปลอดภัยทั้งชุมชนเมือง ชุมชนชนบท


10. สร้างเครือข่ายความมั่นคงทางอาหารในแต่ละท้องถิ่น มีระบบแลกเปลี่ยนอาหารยามมีภาวะวิกฤต หรือภัยพิบัติ รวมทั้งมีระบบติดตาม เตือนภัยความมั่นคงทางอาหาร


11. ส่งเสริมกระจายอำนาจการจัดการพลังงานสู่ท้องถิ่นชุมชนและชุมชนต้องจัดการพลังงานอย่างเป็นรูปธรรมบนฐานทรัพยากรท้องถิ่น พลังงานธรรมชาติท้องถิ่น


12. ถึงแม้จะไม่มีกฎหมายใดมารับรองสิทธิชุมชน ชุมชนเองต้องขยายผลสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญไทยในภาคปฏิบัติการทั้งสิทธิในทุกเรื่องที่เกี่ยวกับความมั่นคงของชีวิตตนเองทั้งการจัดการทรัพยากร เศรษฐกิจและการเมือง


 


จับมือเครือข่าย ร่วมดัน กม.รับรองสิทธิชุมนุม


นอกจากนี้ ภายในงาน สมัชชาป่าชุมชนแห่งประเทศไทย ได้อ่านคำประกาศ โดยระบุว่า สมัชชาป่าชุมชนแห่งประเทศไทย ร่วมกับเครือข่ายองค์กรพันธมิตร และองค์กรสนับสนุนภาคส่วนต่างๆ จะร่วมกันผลักดันกฎหมายที่รับรองสิทธิของชุมชนในการเข้าถึงการใช้ประโยชน์และการจัดการทรัพยากร การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติ และการมีส่วนร่วมในแผนพัฒนาของรัฐ และสร้างเครือข่ายการจัดการทรัพยากรในทุกภูมินิเวศน์ เป็นเครือข่ายป่าชุมชน เครือข่ายลุ่มน้ำ หรือเครือข่ายประมง เพื่อเชื่อมประสานให้เกิดพลังทางสังคมที่เข้มแข็ง และจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืนด้วย



 
 


คำประกาศสมัชชาป่าชุมชนแห่งประเทศไทย



ท่ามกลางวิกฤติน้ำมัน ข้าวยากหมากแพง และปัญหาโลกร้อนได้ส่งผลกระทบต่อชุมชนท้องถิ่นถึงระดับโลก การแก้ไขปัญหาดังกล่าวนั้นมีความสลับซับซ้อนเชื่อมโยงหลายประเด็นรวมทั้งนโยบายต่างๆ เช่น นโยบายการปลูกพืชพลังงานทดแทนส่งผลคุกคามต่อพื้นที่ป่าธรรมชาติ ป่าชุมชน ป่าหัวไร่ปลายนา พื้นที่ชุ่มน้ำ จึงเป็นประเด็นท้าทายทั้งในระดับนโยบายและระดับท้องถิ่นอย่างยิ่งในอนาคต ชุมชนท้องถิ่นนั้นมีบทบาทที่สำคัญยิ่งในการร่วมแก้ไขปัญหาดังกล่าว หลายแห่งมีการฟื้นฟูป่าชุมชน การนำไม้ป่ามาปลูก ในพื้นที่บริเวณบ้าน เป็นทั้งแหล่งอาหารและเก็บกักคาร์บอนได้อีกทางหนึ่ง ประเทศไทยมีชุมชนกว่า ๗ หมื่นชุมชนที่มีโอกาสสร้างหย่อมป่าได้จำนวนมาก ป่าชุมชน ป่าครอบครัวหลายแห่งที่มีการจัดการที่ดียังเป็นฐานคุณภาพชีวิตและหลักประกันความมั่นคงของชีวิตได้เป็นอย่างดี สามารถพัฒนาไปสู่การยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ และสวัสดิการชุมชน แนวทางการพัฒนานี้สอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 10 ที่มุ่งเน้นการพัฒนาบนฐานทรัพยากรชีวภาพท้องถิ่น ซึ่งถือว่าเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการพัฒนาโดยเฉพาะชุมชนชนบทเพื่อให้สามารถยืนหยัดอยู่ได้ท่ามกลางวิกฤตพลังงานและอาหารของโลก ซึ่งปัจจุบันป่าชุมชนกว่าหมื่นแห่งที่กระจายทั่วแผ่นดินไทยจึงทำหน้าที่เป็นหลักประกันด้านความมั่นคงทางอาหาร แหล่งรักษาพันธุกรรมพืชท้องถิ่น



เรา สมัชชาป่าชุมชนแห่งประเทศไทย ร่วมกับเครือข่ายองค์กรพันธมิตร และองค์กรสนับสนุนภาคส่วนต่างๆ ขอประกาศร่วมกันว่า



-
เราจะผลักดันกฎหมายที่รับรองสิทธิของชุมชนในการเข้าถึงการใช้ประโยชน์และการจัดการทรัพยากร การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติ และการมีส่วนร่วมในแผนพัฒนาของรัฐ



-
เราจะสร้างเครือข่ายการจัดการทรัพยากรในทุกภูมินิเวศน์ เป็นเครือข่ายป่าชุมชน เครือข่ายลุ่มน้ำ หรือเครือข่ายประมง เพื่อเชื่อมประสานให้เกิดพลังทางสังคมที่เข้มแข็ง และจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน


ประกาศ ณ วันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๕๑


 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


"มหกรรมสมัชชาป่าชุมชนฯ " หวัง "ชุมชน" ช่วยแก้วิกฤติชาติ


"ป่าชุมชน" การมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อแก้ปัญหาสังคมในสถานการณ์ปัจจุบัน 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net