Skip to main content
sharethis


จิรนันท์ หาญธำรงวิทย์


 


 


เป็นอันว่า สถานีโทรทัศน์ทีวีไทย ทีวีสาธารณะ หรือ "ไทยพีบีเอส" สรรหาผู้อำนวยการองค์กรได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยได้ เทพชัย หย่อง อดีตบรรณาธิการเครือบริษัท เนชั่นมัลติมีเดียกรุ๊ป จำกัด ที่ก่อนหน้านี้ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น 1 ใน 5 กรรมการนโยบาย และต่อมาได้รับเลือกให้นั่งรักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการมาก่อนแล้ว ซึ่งเกริกเกียรติ พิพัฒน์เสรีธรรม ประธานคณะกรรมการนโยบายไทยพีบีเอส ได้ให้เหตุผลของคะแนนเอกฉันท์ทั้ง 9 เสียงของกรรมการนโยบายฯ ว่า เนื่องจากไทยพีบีเอส เป็นองค์กรใหม่ ที่ต้องเร่งทำงาน รวมถึงไม่มีเวลาสำหรับการฝึกงาน กรรมการจึงตัดสินใจเลือกเทพชัย ที่พร้อมจะทำงานได้ทันที


 


วันเดียวกับที่มีการประกาศชื่อผู้อำนวยการก็เป็นวันปิดรับการเสนอชื่อสมาชิกสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการ ซึ่งหลังจากนี้ คณะกรรมการนโยบายจะแต่งตั้งจากตัวแทนของประชาชนในภูมิภาค และกลุ่มต่าง ๆ ไม่เกิน 50 คน เพื่อรับฟังความคิดเห็นและคำแนะนำจากประชาชนในวงกว้างต่อการผลิตรายการขององค์การ โดยจะมีการประชุมกันอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง


 


อย่างไรก็ตาม ในฐานะผู้เฝ้าดูจังหวะก้าวของ "ไทยพีบีเอส" มาอย่างต่อเนื่อง กิตติพงษ์ สุ่นประเสริฐ อดีตเจ้าหน้าที่บีบีซีภาคภาษาไทย ประจำกรุงลอนดอน ซึ่งถือเป็นองค์กรต้นแบบหนึ่งของทีวีสาธารณะไทยพีบีเอส มองว่า ไทยพีบีเอสยังไปไม่ถึงฝั่งฝัน


 


กิตติพงษ์ เคยมีบทบาทในไทยพีบีเอสด้วยการเข้าไปช่วยร่างข้อบังคับด้านจริยธรรมของวิชาชีพเกี่ยวกับการผลิตและการเผยแพร่รายการ ตามมาตรา 42 จากประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา เขาได้ให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับโครงสร้างและบทบาทของไทยพีบีเอสไว้ว่า คนมอง "ไทยพีบีเอส" เป็นฝันที่สวยงาม แต่ในความเป็นจริง กลับเป็นความจริงที่ไม่ถึงฝั่งฝัน เพราะ 2 สิ่งซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่จะทำให้ไทยพีบีเอสเป็นสื่อสาธารณะและต่างจากสื่ออื่นยังไม่เกิดขึ้น


 


สองสิ่งที่ว่านั้น หนึ่ง คือ ข้อกำหนดจริยธรรมของวิชาชีพ ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 42 ว่าต้องให้กรรมการนโยบายจัดทำ โดยครอบคลุมเนื้อหาเรื่องความเที่ยงตรง หรือความเป็นอิสระของวิชาชีพ กิตติพงษ์ บอกว่าได้รับมอบหมายจากเทพชัยให้นำเสนอเรื่องนี้ แต่ตอนนี้ เป็นเวลาเกือบ 10 เดือนแล้ว เรื่องกลับเงียบหายไป ทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญ


 


อีกเรื่องที่สำคัญและทำได้ทันที กิตติพงษ์ คือเรื่องของการตั้งคณะกรรมการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียน ตามมาตรา 46 ซึ่งกำหนดให้มีพนักงานรับเรื่องร้องทุกข์จากประชาชน ในกรณีที่ผู้ผลิตรายการ พนักงานลูกจ้างกระทำขัดต่อข้อบังคับจริยธรรมวิชาชีพ แต่ผ่านไปเกือบ 10 เดือนแล้วเช่นกัน ทั้งสองเรื่องนี้ยังคงไม่มีความคืบหน้าใดๆ


 


เมื่อถามว่า ประชาชนจะสามารถใช้ช่องทางอื่นได้หรือไม่ เช่น การร้องเรียนผ่านทางสมาคมวิชาชีพสื่อต่างๆ กิตติพงษ์ บอกว่า องค์กรเหล่านั้นไม่มีหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนโดยตรง รับแล้วก็จะส่งต่อ ไม่ได้บังคับใช้ ถ้าเป็นสื่อสิ่งพิมพ์จะมีสภาการหนังสือพิมพ์ แต่ไทยพีบีเอสทำตามแบบบีบีซี คือมีสภาผู้ชม ซึ่งตรงนี้บีบีซีทำอย่างเข้มแข็งมาก


 


ต่อคำถามว่า การดำเนินการของไทยพีบีเอสนั้นเป็นไปตามปรัชญาการก่อตั้งหรือยัง กิตติพงษ์ บอกว่า ยังมีสิ่งที่ต้องทำอีกมาก ทั้งนี้ มี 2 กรณีที่เขาแปลกใจ คือ กรณีแรก รายการสนทนาตอบโจทย์ ซึ่งได้เชิญนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ผู้สมัครผู้ว่า กทม. มาสัมภาษณ์ในวันที่เขาไปชกนายวิศาล ดิลกวณิชย์ ผู้สื่อข่าวช่อง 3 ซึ่งเป็นเรื่องที่ก็โอเค แต่ปรากฎว่า นักวิชาการที่รายการเชิญมา คือ ปาริชาติ สถาปิตานนท์ (อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ) ซึ่งเป็นที่ปรึกษาทีมงานของนายเกรียงศักดิ์ เจริญวงศักดิ์ ผู้สมัครผู้ว่า กทม. เบอร์ 2 หรือ

อีกเรื่องหนึ่ง เมื่อเร็วๆ นี้ รายการตอบโจทย์ได้เชิญนักสิทธิมนุษยชนมาคุยกับตำรวจ นักสิทธิมนุษยชนคนนั้นคือนายสมชาย หอมลออ ปัญหาคือ นายสมชายเป็นสามีของกรรมการนโยบายไทยพีบีเอส หรือนางมัทนา หอมลออ แต่ผู้ดำเนินรายการไม่ได้แจ้งผู้ชม

 


"มันไม่แฟร์ เพราะถือว่า มีผลประโยชน์ทับซ้อน" กิตติพงษ์กล่าว


 


"ไม่ได้บอกว่า ห้ามเชิญมาเลย ถ้าเป็นผู้เชี่ยวชาญจริงๆ มากๆ ก็ต้องเชิญ แต่ก็ต้องบอกผู้ชมด้วยว่ามีความเกี่ยวพันกันอย่างไร อย่างหนังสือพิมพ์ต่างชาติ เวลาเขาเขียนถึงสื่อหรือหนังสือของเขา ก็ต้องบอกว่าหนังสือนี้พิมพ์โดยบริษัทในเครือของสื่อเรา เป็นต้น คุณสมชาย หอมลออ ไม่ได้บอกว่าแกไม่รู้เรื่องนี้ แต่ก็ต้องเป็นธรรมกับผู้ชมว่า เป็นสามีของกรรมการนโยบาย หรือ อ.ปาริชาติก็เป็นคนจากเบอร์สอง เป็นต้น"


 


อีกตัวอย่างที่กิตติพงษ์ ยกขึ้นมาคือ เทปที่เชิญ กิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และชัยชนะ อิงคะวัต อาจารย์จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ออกมาวิจารณ์รัฐบาลแบบเนื้อๆ โดยผู้ดำเนินรายการไม่ได้ซักแบบสมดุล ซักค้านหรือซักแย้งเท่าที่ควรจะเป็น


 


ในด้านเทคนิค อดีตเจ้าหน้าที่บีบีซีภาคภาษาไทย ประจำกรุงลอนดอน วิจารณ์ว่า เมื่อเทียบกับศักยภาพของทีมงานแล้ว น่าจะทำได้ดีกว่านี้ แต่ที่ปรากฎคือยังไม่สามารถทำข่าวที่ทันเกมทันการได้ มีหลายช่วงหากถ้าได้ดูรายการของไทยพีบีเอสในช่วงนี้จะพบว่า ไม่มีการตัดเข้ารายการสด และต้องไปเชื่อมสัญญาณจากช่องอื่นมา ทั้งที่ปรัชญาการก่อตั้งระบุชัดเจนว่า ต้องเป็นผู้นำในการผลิตและสร้างสรรค์รายการข่าวสารคุณภาพสูง ที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะและส่วนรวม เมื่อเทียบในช่วงเกิดเหตุการณ์จึงเรียกว่า "ไปไม่ถึง"


 


อย่างไรก็ตาม ต่อจุดยืนหนึ่งที่เห็นได้ชัดในการนำเสนอข่าวของไทยทีวี ที่เน้นไปที่การตีกัน "ความรุนแรง" กิตติพงษ์ มองเป็นสองด้านว่า ส่วนหนึ่งก็ดีแต่อีกส่วนหนึ่ง ก็ต้องพูดถึงการใช้ความรุนแรงของทั้งสองฝ่ายด้วย ช่วงนี้ไทยพีบีเอสพยายามเชิญตำรวจมา แต่ในฐานะสื่อก็ต้องมีการสอบสวน ไปเปิดเผยภาพของความรุนแรงจากฝ่ายพันธมิตรฯ ต้องไล่ถามผู้นำพันธมิตรฯ ด้วย


 


"ผมไม่ค่อยเห็นการถามผู้นำพันธมิตรฯ เท่าไหร่ ได้ดูช่วงตอบโจทย์บ้าง หรือนักข่าวที่ไปทำข่าวผู้นำพันธมิตรฯ ที่แถลงข่าวทุกวันๆ ที่ทำเนียบ เคยทำสกู๊ปเรื่องความรุนแรงของพันธมิตรฯ ไหม อาวุธมาจากไหน ไม้กอล์ฟมาจากไหน"  


 


เมื่อถามว่า การมีสภาผู้ชมฯ จะช่วยแก้ปัญหาได้หรือไม่ อดีตบรรณาธิการสำนักข่าวบีบีซีภาคภาษาไทย มองว่า สภาผู้ชมฯ ไม่ใช่ผู้รับเรื่องร้องเรียน แต่เป็นองค์กรที่ออกไปรับฟังความคิดเห็นและคำแนะนำจากประชาชนผู้ชมในวงกว้างในการผลิตรายการ โดยมีประชุมอย่างน้อยปีละครั้ง เนื่องจากจำนวนสมาชิกที่มีได้มากที่สุด 50 คน จะประชุมทุกวันหรือทุกเดือนคงเป็นไปไม่ได้ สภาผู้ชมฯ จะเป็นผู้เสนอไอเดียให้กับกรรมการนโยบาย เป็นการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างในระยะยาว แต่รายการโทรทัศน์ออกอากาศทุกวัน


 


"ขณะนี้เองพนักงานก็ต้องการคู่มือ หรือแนวทางที่ชัดเจนในการทำงานวันต่อวัน จึงต้องมีข้อบังคับจริยธรรมฯ และการรับเรื่องราวร้องทุกข์ ซึ่งก็น่าแปลกใจที่สิ่งเหล่านี้ได้เตรียมทำไว้ ตั้งแต่บอร์ดชุดก่อนแล้ว แต่มันก็หายไป" เขาย้ำไปที่จุดสำคัญอีกครั้ง


 


นอกจากการไม่ถูกแทรกแซงจากรัฐและทุนแล้ว อดีตบรรณาธิการสำนักข่าวบีบีซีภาคภาษาไทยมองว่า ยังต้องระวังกลุ่มผลประโยชน์อื่นๆ ซึ่งอาจกลายเป็นกลุ่มที่เข้ามาชี้นำทางความคิดด้วย


 


เมื่อเทียบกับช่องอื่นที่มีอยู่ตอนนี้ กิตติพงษ์มองว่า โครงสร้างและที่มาที่ไปของไทยพีบีเอสนั้นดีอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ในส่วนการได้มาของกรรมการ ในอนาคต อาจต้องแก้กฎหมายให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมมากกว่านี้


 


สำหรับผลงานนั้น เขามองว่ายังไม่ออกมาอย่างที่คาดหวัง นั่นคือข่าวและรายการซึ่งเป็นสาระที่แตกต่าง


 


"ก็ดูเทียบหลายช่องนะ อย่าง "ความจริงวันนี้" ก็มีประเด็นไม่ใช่ไม่มีประเด็น เปิดประเด็นที่น่าสนใจ ทำไมไทยพีบีเอสไม่เข้าไปตรวจสอบธุรกิจการเมืองทุกกลุ่ม เขามีรายการสืบสวนสอบสวนเหมือนกันกับรายการเปิดปมแต่เป็นสีสันมากกว่า ทำไมไม่ตรวจสอบทุกกลุ่มทั้งรัฐบาลเก่า รัฐบาลใหม่ หรือแม้แต่พันธมิตรฯ มันดูเท่าๆ กับที่อื่นไป หรือไทยพีบีเอสมีบุคลากรที่เก่งๆ เรื่องต่างประเทศเยอะ แต่ไม่รู้ทำไมไม่มีข่าวด้านต่างประเทศที่มันล้ำหน้าออกมา โดยเฉพาะข่าวรอบบ้านของไทย หรือแม้แต่ช่วงข่าวที่จะให้คนใช้ภาษามือให้ผู้พิการเข้าใจได้ ก็ไม่ยอมทำ ในกฎหมายก็เขียนไว้"


 


กิตติพงษ์ วิพากษ์ว่า ตัวกฎหมายเขียนไว้แล้ว มีแนวทางเดินให้แล้ว แต่หายไปจึงเกิดการตั้งคำถามว่า หรือเพราะกรรมการชุดใหม่ไม่พอใจร่างเก่าจึงจะร่างใหม่อีก ทำให้ยังไม่บังคับใช้


 


"ไทยพีบีเอส ต้องไม่คาดการณ์ว่าตัวเองปลอดจากกระแสการเข้ามาตรวจสอบ อย่าคิดว่า การเปลี่ยนกฎหมายเป็นไปไม่ได้ กฎหมายอาจโดนปรับปรุง ถ้าไม่ตรวจสอบการทำงานของตัวเองอย่างจริงจัง และรวดเร็ว ผู้สนับสนุนยุคก่อตั้งกฎหมายก็ดูอยู่ ถึงจุดหนึ่ง หากไม่ปฎิรูปปรับปรุง พันธมิตรจะเสียไป"


 


สุดท้าย อดีตเจ้าหน้าที่บีบีซีภาคภาษาไทย ประจำกรุงลอนดอน พูดถึงประเด็นเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยมองว่ายังเป็นการมีส่วนร่วมจากประชาชนเพียงบางกลุ่มเท่านั้น


 


"ประชาชนยังไม่ค่อยทราบเรื่องการเลือกผู้อำนวยการไทยพีบีเอส หรือวิสัยทัศน์ของผู้อำนวยการผ่านสื่อของไทยพีบีเอสเลยว่าเป็นอย่างไร" เขากล่าวทิ้งท้าย


 


 


 


อ่านประกอบ


พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net