Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย


อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ                                         


ชื่อบทความเดิม : ผ่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 12-13/2551 (กรณีการจัดรายการโทรทัศน์ของนายสมัคร สุนทรเวช)


 


 


 


 


1. ความเบื้องต้น


 


วันที่ 5 สิงหาคม 2551 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติให้รับคำร้องทั้ง 2 ที่ทางประธานวุฒิสภาได้มีหนังสือลงวันที่ 2 มิถุนายน 2551 และทางประธานกรรมการการเลือกตั้งได้มีหนังสือลงวันที่ 29 กรกฎาคม 2551 ตามลำดับไว้พิจารณา โดยศาลรัฐธรรมนูญได้ทำการตรวจพยานหลักฐานครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2551 และนัดไต่สวนทั้งสิ้น 4 นัด ได้แก่วันที่ 26, 27 สิงหาคม 4 และ 8 กันยายน พร้อมทั้งนัดฟังคำวินิจฉัยวันในรุ่งขึ้นคือ วันที่ 9 กันยายน 2551


 


จากการพิจารณาเอกสาร พยานหลักฐานอื่นๆ และคำเบิกความของพยานบุคคลแล้ว ในที่สุดแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญจึงได้มีคำวินิจฉัยด้วยมติเอกฉันท์ว่า นายสมัครได้ทำหน้าที่พิธีกรในรายการชิมไป บ่นไป หลังจากเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว อีกทั้งยังคงได้รับค่าตอบแทนที่มีลักษณะเป็นทรัพย์สินจากบริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด ดังนั้น จึงเป็นการรับจ้างทำงานตามความหมายของคำว่า "ลูกจ้าง" ตามนัยแห่งมาตรา 267 ของรัฐธรรมนูญ อันส่งผลให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายสมัครสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามมาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7) แห่งรัฐธรรมนูญนั่นเอง  


 


จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญข้างต้น ทำให้เกิดกระแสของการแสดงความคิดเห็นต่างๆ นาๆ ในหมู่ประชาชนทั่วไป วงการวิชาการภาคต่างๆ รวมทั้งในวงการนิติศาสตร์เอง ทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยดังกล่าว ดังนั้น ปรากฏการณ์นี้ จึงเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้เขียนได้เขียนบทวิเคราะห์นี้ขึ้นเพื่อแสดงความคิดเห็นส่วนตัวตามหลักวิชาการในฐานะของนักวิชาการทางด้านนิติศาสตร์คนหนึ่ง ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ทางด้านวิชาการไม่มากก็น้อยอันเป็นเสรีภาพที่ได้รับการรับรองและคุ้มครองภายใต้บทบัญญัติมาตรา 50 ของรัฐธรรมนูญ     


 


 


2. บทวิเคราะห์คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ


 


ในการทำคำวินิจฉัยนี้ ศาลรัฐธรรมนูญโดยคณะตุลาการทั้งหมดมุ่งพิจารณามาตรา 267 อันเป็นบทบัญญัติที่ผู้ร้องทั้งสอง (นายเรืองไกรและกลุ่มสมาชิกวุฒิสภาทั้งสิ้น 29 คนและคณะกรรมการการเลือกตั้ง) เห็นว่า การที่นายสมัคร สุนทรเวช เป็นพิธีกรในรายการชิมไป บ่นไป และรายการยกโขยง หกโมงเช้า ถือเป็นการกระทำอันขัดต่อมาตรา 267 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งบัญญัติว่า "ให้นำบทบัญญัติมาตรา 265 มาใช้บังคับกับนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีด้วย เว้นแต่เป็นการดำรงตำแหน่งหรือดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย และจะดำรงตำแหน่งใดในห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือองค์การที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหาผลกำไรหรือรายได้มาแบ่งปันกัน หรือเป็นลูกจ้างของบุคคลใดก็มิได้ด้วย" กล่าวคือ นายสมัครได้เป็นลูกจ้างของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหาผลกำไรหรือรายได้มาแบ่งปันกันในขณะที่ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีตามที่ได้ปรากฏอยู่ในคำร้องและเอกสารประกอบต่างๆ ของผู้ร้องทั้งสอง 


 


ภายหลังจากที่ผู้เขียนได้ศึกษาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนี้โดยละเอียดแล้ว ผู้เขียนเห็นว่า ในความเป็นจริง ประเด็นปัญหาหลักของคำวินิจฉัยคดีนี้มิได้เป็นเรื่องของการตีความเฉพาะแต่คำว่า "ลูกจ้าง" ที่กว้างเกินไป เพราะประเด็นดังกล่าวถือได้ว่าเป็นเพียงประเด็นปลีกย่อยเท่านั้น หากแต่ปัญหาหลักที่สะท้อนให้เห็นจากคำวินิจฉัยคดีนี้กลับเป็นตรรกะของการตีความรัฐธรรมนูญตามหลักนิติวิธี (Juristic Method) โดยรวมและความเข้าใจอย่างถ่องแท้กับความหมายของคำว่า "การกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์" ของศาลรัฐธรรมนูญที่ผิดพลาด ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์เป็นอย่างมากจนนำไปสู่ผลของคำวินิจฉัยอันแปลกประหลาดซึ่งกลายเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไปโดยปริยาย          


 


ประเด็นแรกที่ผู้เขียนใคร่ขอหยิบยกขึ้นเพื่อแสดงความคิดเห็นต่อคำวินิจฉัยนี้คือ วิธีการและแนวคิดที่ใช้ในการตีความรัฐธรรมนูญของศาลรัฐธรรมนูญที่วางหลักเกณฑ์ไว้ว่า


 


"...การทำให้เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญดังกล่าวบรรลุผลจึงมิใช่แปลคำว่า "ลูกจ้าง" ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 เพียงหมายถึงลูกจ้างตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน หรือตามกฎหมายภาษีอากร เท่านั้น...ทั้งกฎหมายดังกล่าวเป็นกฎหมายที่มีลำดับศักดิ์ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดที่ใช้ในการปกครองประเทศ และยังมีเจตนารมณ์เพื่อป้องกันการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์แตกต่างจากกฎหมายดังกล่าวอีกด้วย..."


 


ด้วยความเคารพต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญข้างต้น ผู้เขียนเห็นว่าบทอธิบายข้างต้นสะท้อนให้เห็นถึงความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องสำหรับการตีความรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ ศาลรัฐธรรมนูญมีมุมมองไปในทางที่ว่ามาตรา 267 แห่งรัฐธรรมนูญจะต้องเป็นการตีความที่ไม่อ้างอิงกับกฎหมายอื่นๆ ด้วยเหตุที่ว่า 1. กฎหมายอื่นมีเจตนารมณ์ที่ผิดแผกแตกต่างกันไปกับรัฐธรรมนูญ 2. กฎหมายอื่นๆ เป็นกฎหมายที่มีลำดับศักดิ์ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญ 3. กฎหมายอื่นมีเจตนารมณ์เพื่อป้องกันการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ที่แตกต่างจากรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นวิธีคิดและการตีความกฎหมายที่ไม่ถูกต้องเสียทีเดียว หากแต่เป็นการตีความกฎหมายที่ขัดกับหลักความเป็นเอกภาพของระบบกฎหมาย กล่าวคือ ไม่ว่ากฎหมายที่ศาลจะทำการตีความนั้นจะเป็นกฎหมายเอกชน หรือกฎหมายมหาชน ซึ่งข้อเท็จจริงดูราวกับว่าจะเป็นระบบที่แตกต่างกันและแยกออกจากกันอย่างเห็นได้ชัด แต่ก็มิได้หมายความว่ากฎหมายทั้งสองประเภทนี้จะดำรงอยู่ได้อย่างเป็นเอกเทศโดยไม่มีความเชื่อมโยงกันเลย แนวคิดของศาลรัฐธรรมนูญในการตีความรัฐธรรมนูญคดีนี้อยู่บนพื้นฐานความคิดที่ว่า "รัฐธรรมนูญเป็นเอกเทศจากตัวบทกฎหมายใดๆ" จึงไม่ถูกต้อง กลับกัน คณะตุลาการได้ยึดพจนานุกรมเป็นสรณะในการตีความรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญสามารถอธิบายได้หรือไม่ว่าลำพังเพียงพจนานุกรมที่ถูกใช้ในการตีความรัฐธรรมนูญ มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับตัวรัฐธรรมนูญมากเสียจนกระทั่งสามารถใช้ในการค้นหาเจตนารมณ์ของตัวรัฐธรรมนูญได้อย่างไร      


 


อีกทั้ง การกล่าวอ้างถึงลำดับศักดิ์ของกฎหมาย (Hierarchy of Laws) ที่มีการจัดลำดับให้รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ เพื่อเป็นเหตุผลในการตัดการรับพิจารณากฎหมายอื่นใดเพื่อช่วยในการตีความกฎหมาย หาใช่เหตุผลที่ถูกต้องในการอธิบายเพื่อเชื่อมโยงถึงการตีความรัฐธรรมนูญได้ กล่าวคือ ระบบลำดับศักดิ์ของกฎหมาย โดยทั่วไปมีจุดประสงค์หลักเกี่ยวกับการตรา บังคับใช้ตัวบทกฎหมายและการตรวจสอบความชอบของกฎหมาย (Judicial Review) ว่าขัดกับรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายที่มีลำดับศักดิ์ที่สูงกว่าหรือไม่ มิได้เกี่ยวข้องกับการตีความกฎหมายตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้กล่าวไว้ในคำวินิจฉัยเลยแม้แต่น้อย ศาลรัฐธรรมนูญในคดีนี้กำลังสร้างหลักการใหม่อันแปลกประหลาดในการตีความรัฐธรรมนูญ


 


นอกจากปัญหาเรื่องการตีความรัฐธรรมนูญที่ผิดพลาดแล้ว คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ตัดสินให้นายสมัคร สุนทรเวช ต้องพ้นจากการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเนื่องจากการเป็นลูกจ้างของบริษัทที่มุ่งแสวงหาผลกำไรหรือรายได้มาแบ่งปันกันอันเป็นการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์นั้น ก็เป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่าศาลรัฐธรรมนูญมิได้มีความเข้าใจอย่างถ่องแท้กับคำว่า "การกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์" เลย


 


ถึงแม้ว่าในคำวินิจฉัยจะได้มีการกล่าวถึงเรื่องของการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ไว้ แต่ก็มิได้มีการอรรถาธิบายไว้อย่างละเอียดว่าการกระทำของนายสมัครซึ่งไปดำเนินการเป็นพิธีกรในรายการทำอาหารนั้นเป็นการกระทำที่ถือได้ว่าเป็นการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์เช่นไร กล่าวคือ ศาลรัฐธรรมนูญเพียงแต่มีคำวินิจฉัยว่า "...ผู้ถูกร้องก็ได้รับค่าตอบแทนอย่างสมฐานะและภารกิจ เมื่อได้กระทำในระหว่างที่ผู้ถูกร้องดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีจึงเป็นการกระทำและนิติสัมพันธ์ที่อยู่ในขอบข่ายที่มาตรา 267 ประสงค์จะป้องปรามเพื่อมิให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อนกับภาคธุรกิจเอกชน..." ด้วยความเคารพต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่มีมติเอกฉันท์ว่านายสมัครกระทำการขัดต่อรัฐธรรมนูญ ผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยดังกล่าว ทั้งนี้ เนื่องจากผู้เขียนเห็นว่าแม้นายสมัครจะได้ผลประโยชน์ตอบแทนจริง แต่การกระทำดังกล่าวก็หาได้เป็นการกระทำอันเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์โดยแท้แต่อย่างใด


 


เพื่อให้เข้าใจได้โดยง่ายกับความคิดเห็นของผู้เขียน ณ ที่นี้ ผู้เขียนขออรรถาธิบายในเบื้องต้นเสียก่อนว่า "การกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์" ที่แท้จริงนั้นมีความหมายอย่างไร นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญทางด้านจริยธรรมอย่าง Dr. Michael McDonald แห่ง The University of British Columbia ได้นิยาม "การกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์" ว่า คือ "สถานการณ์ที่บุคคลใดๆ อาทิ เจ้าหน้าที่รัฐก็ดี ลูกจ้างก็ดี หรือนักวิชาชีพใดๆ ก็ดี มีผลประโยชน์ส่วนตัวหรือส่วนบุคคล (Private or Personal Interest) อย่างมากพอที่จะเห็นได้ว่าส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่อย่างภววิสัย (ตรงไปตรงมา) ของบุคคลดังกล่าว" กล่าวอีกนัยหนึ่ง บุคคลใดๆ ตัดสินใจกระทำการ หรืองดเว้นการกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งหน้าที่ของตนเองไป ทั้งนี้ เนื่องจากหากกระทำการ หรืองดเว้นการกระทำการดังกล่าวไปแล้วจะทำให้บุคคลนั้นๆ ได้ผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นการตอบแทน ซึ่งก็เป็นการสอดคล้องต้องกันกับศาสตราจารย์ทางกฎหมาย Kathleen Clark ผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายจริยธรรมแห่ง Washington University ซึ่งได้กล่าวไว้เกี่ยวกับการกระทำอันถือได้ว่าเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ว่า "เป็นการรับผลประโยชน์ตอบแทนอันส่งผลกระทบมากเพียงพอกับการตัดสินใจใดๆ ลงไปในตำแหน่งหน้าที่การงานของตนเองเพื่อตอบแทนผลประโยชน์ที่ได้รับมาดังกล่าว"


 


จากนิยามข้างต้น สามารถสรุปได้โดยง่ายว่า การใดๆ จะถือได้ว่าเป็นการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์อย่างแท้จริง (Actual Conflict of Interest) ได้ จะต้องมีปัจจัยสำคัญคือ ผลประโยชน์ที่ได้รับนั้นๆ มีอิทธิพลมากเพียงพอที่ทำให้ตัดสินใจกำหนดนโยบาย (Influence on policy-making) ซึ่งอยู่ในตำแหน่งหน้าที่ของตนเองขึ้นเพื่อเอื้อผลประโยชน์ส่วนตัวอันเป็นการกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมานั่นเอง


 


นอกจากหลักการว่าด้วยเรื่องของการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ที่ผู้เขียนได้นำอธิบายมาแล้ว ผู้เขียนใคร่ขอบรรยายถึงหลักการที่ใช้ในการตรวจสอบว่าในสถานการณ์ใดจะถือได้ว่าบุคคลนั้นๆ ได้มีการกระทำอันถือได้ว่าเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์หรือไม่แต่พอสังเขป กล่าวคือ หลักเกณฑ์ที่ใช้ในการกำหนดว่าบุคคลใดๆ อยู่ในสถานการณ์ที่ว่าด้วยการขัดกันแห่งผลประโยชน์หรือไม่ คือ ทฤษฎีว่าด้วยความน่าเชื่อถือ (Trust Test Theory) ซึ่งถือได้ว่าเป็นทฤษฎีที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางโดยการนำเสนอของ Dr. Michael McDonald ว่า การที่จะตรวจสอบว่าการที่บุคคลใดๆ ซึ่งได้รับผลประโยชน์มาจากบุคคลภายนอกนั้นเป็นกรณีของการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์อย่างแท้จริงหรือไม่ ให้พิจารณาว่าการที่บุคคลนั้นๆ ได้รับผลประโยชน์ใดๆ มา ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือในการตัดสินใจใดๆ ไปในตำแหน่งหน้าที่การงานของบุคคลดังกล่าวหรือไม่


 


ในความคิดเห็นของผู้เขียนแล้ว การค้นหาเจตนารมณ์ของมาตรา 267 และเข้าใจในความหมายของ "การกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์" หาใช่เพียงแค่การอ่านและตีความคำว่า "ลูกจ้าง" ซึ่งมีนิติสัมพันธ์กับบริษัทที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งแสวงหาผลกำไร หรือรายได้มาแบ่งปันดังที่ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญบนพื้นฐานความเข้าใจการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ที่ไม่ถูกต้องจนนำไปสู่การตีความที่กว้างมากเกินไปกว่าถ้อยคำและเจตนารมณ์ที่แท้จริง (Praeter Verba Legis) จนครอบคลุมไปเกือบทุกสถานการณ์ เพราะการพิจารณาเพียงแง่มุมนี้แง่มุมเดียวนั้น มิได้เป็นการมุ่งค้นหาเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริงเพื่อที่จะได้เข้าใจในความหมายของ "การกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์" หากแต่เป็นเพียงการตีความรัฐธรรมนูญที่ยึดติดกับลายลักษณ์อักษรที่ปรากฏอยู่ในมาตรา 267 เท่านั้น อันเป็นการขัดกับคำวินิจฉัยที่ศาลรัฐธรรมนูญที่ได้บรรยายไว้อย่างชัดเจน ฉะนั้น การตีความรัฐธรรมนูญที่ถูกต้องในคดีนี้ จึงจำเป็นที่จะต้องพิจารณาหลักกฎหมายมหาชน คำนึงถึงมาตรา 265 อันเป็นมาตราที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 267 โดยตรงพร้อมทั้งพิจารณามาตรา 266 ด้วย ทั้งนี้ เพื่อค้นหาเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญอันแท้จริงว่าต้องการกำหนดกฎเกณฑ์การป้องปรามการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์อย่างไร ยิ่งไปกว่านั้น ก็ต้องไม่ลืมที่จะได้ไปศึกษาในบันทึกเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญในขณะที่ยังอยู่ในรูปแบบของร่างกฎหมายซึ่งได้มีการถกเถียงกันในประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องการค้นหาเจตนารมณ์ รวมตลอดถึงการไปศึกษาในกฎหมายอื่น โดย ณ ที่นี้ผู้เขียนได้ศึกษาในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542  ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับรัฐธรรมนูญมากจนสามารถทำให้ผู้ที่ต้องการตีความสามารถรู้ถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญในบทบัญญัติว่าด้วยการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ได้เป็นอย่างดี        


      


หลังจากที่ผู้เขียนได้พินิจพิเคราะห์อย่างละเอียดบนพื้นฐานของหลักกฎหมายมหาชนก็ดี บันทึกเจตนารมณ์ในการร่างรัฐธรรมนูญก็ดี มาตรา 265 และ 266 ในรัฐธรรมนูญก็ดี พร้อมทั้งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมาตรา 100 ก็ดี ผู้เขียนสามารถสกัดหลักเกณฑ์ที่ถูกต้องตรงกัน (Common Point) อันถือได้ว่าเป็นเจตนารมณ์อันแท้จริงของรัฐธรรมนูญที่ต้องการวางหลักเกณฑ์ว่าด้วยเรื่อง "การกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์" ว่าจะต้องเป็นการรับผลประโยชน์จากบุคคลใดๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจที่จะกระทำการ หรือไม่กระทำการในตำแหน่งหน้าที่การงานของตนเอง อันเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าเป็นการใช้อำนาจรัฐไปโดยมิชอบ (Abuse of Powers) ซึ่งหลักเกณฑ์นี้ก็เป็นการถูกต้องตรงกันกับหลักการที่สากลยอมรับและผู้เชี่ยวชาญทางจริยธรรมได้กล่าวไว้แล้วในข้างต้น   


 


จากหลักเกณฑ์ที่ผู้เขียนได้หยิบยกมาจากการศึกษาข้างต้น หากนำมาปรับใช้เพื่อทำการวินิจฉัยการกระทำของนายสมัครในกรณีที่มีการรับผลประโยชน์จากบริษัท เฟซ มีเดีย จำกัดจะเห็นได้ว่า แม้นายสมัครจะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากบริษัทดังกล่าวจริงก็ตาม แต่การรับเงินตอบแทนจากการเป็นพิธีกรในรายการทำอาหาร มิได้ส่งผลให้นายสมัครต้องดำเนินการตัดสินใจเพื่อกำหนดนโยบายใดๆ อันเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อบริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด และไม่ได้รับความน่าเชื่อถือจากประชาชนซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นว่านายสมัครได้ใช้อำนาจรัฐในฐานะนายกรัฐมนตรีไปโดยมิชอบ


 


 


3. บทสรุป   


 


ด้วยความเคารพต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 12-13/ 2551 ผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับเหตุผลและวิธีการที่ศาลรัฐธรรมนูญได้นำมาใช้เพื่อตีความรัฐธรรมนูญอันนำไปสู่คำวินิจฉัยที่ผิดพลาดอย่างร้ายแรง คำวินิจฉัยนี้หาได้เป็นคำวินิจฉัยที่ดีพอที่จะเป็นบรรทัดฐานสำหรับกรณี "การกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์" ต่อไป เพราะเป็นการวินิจฉัยคดีที่มิได้เป็นไปตามหลักสากลว่าด้วยการตีความกฎหมายซึ่งจะต้องคำนึงถึงหลักนิติรัฐ (Rechtsstaat) และความเข้าใจในการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ที่แท้จริง แทนที่คำวินิจฉัยจะเป็นตัวกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ดีขึ้น แต่กลับกลายเป็นการทำลายระบบต่างๆ ในองค์รวมไป เพราะศาลรัฐธรรมนูญเลือกใช้การตีความอย่างกว้าง โดยหาได้ตระหนักว่าตนเองกำลังตีความรัฐธรรมนูญอันเกี่ยวข้องกับเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองคุ้มครองอยู่ด้วย กล่าวคือ ศาลรัฐธรรมนูญต้องไม่ลืมว่าการวินิจฉัยคดีนี้มีมิติที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการประกอบอาชีพอันปรากฏในมาตรา 43 ดังนั้น จึงต้องด้วยหลักการที่ว่าการตีความซึ่งเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลนั้น จำต้องตีความอย่างแคบโดยหลักการดังกล่าวนี้ได้รับการรับรองไว้ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2543 ซึ่งเชื่อมโยงกับรัฐธรรมนูญมาตรา 27 และหลักนิติรัฐในมาตรา 29 ว่าด้วย "หลักพอสมควรแก่เหตุ"


 


โดยสรุปแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญควรกลับมาพิจารณาคำวินิจฉัยคดีของนายสมัครว่ามีความผิดพลาดมากเพียงใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับหลักการตีความรัฐธรรมนูญ (Constitutional Interpretation) ทั้งนี้ เนื่องจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมครั้งนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ได้รับการยอมรับในหมู่ประชาชนและนักวิชาการอย่างกว้างขวาง ผู้เขียนเห็นว่า หากศาลรัฐธรรมนูญมีการตีความที่ถูกต้อง ไม่เล่นถ้อยคำภาษาจนเกินไปและกลับมาคำนึงถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญอันแท้จริง ความสมเหตุสมผล และตระหนักถึงความรู้สึกนึกคิดของคนโดยทั่วไปแล้ว การตีความอันนำไปสู่ผลที่แปลกประหลาดก็จะไม่เกิดขึ้น อีกทั้ง ภาวะความไม่เชื่อถือต่อองค์กรตุลาการทั้งภายในประเทศและในระดับระหว่างประเทศซึ่งจะทำให้พัฒนาการของกฎหมายมหาชนในประเทศไทยถูกบั่นทอนและส่งผลกระทบต่อประเทศไทยทั้งระบบในระยะยาวต่อไปก็จะไม่เกิดขึ้น         


 


 


 



หมายเหตุ          บทวิจารณ์คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นบทวิจารณ์ที่ผู้เขียนได้มีการตัดย่อมาแล้ว หากผู้อ่านสนใจบทวิจารณ์ดังกล่าว สามารถอ่าน "ผ่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 12-13/2551" ฉบับเต็มได้ที่เว็บไซท์เครือข่ายกฎหมายมหาชนไทย www.pub-law.net  


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net