Skip to main content
sharethis



เมื่อวันที่ 27 ก.ย.51 ที่หอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถ.นิมมานเหมินท์ กลุ่ม Burma Media Production กลุ่มเพื่อสันติภาพในพม่า องค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ และองค์กรเครือข่าย ร่วมกันจัดงาน "บทบาทของศาสนธรรมกับสันติภาพในพม่า: Saffron Revolution, A Year Later" เพื่อรำลึกครบรอบ 1 ปี การปฏิวัติชายจีวรซึ่งจบลงที่การปราบปรามพระสงฆ์ของรัฐบาลทหารพม่า 



 


 


 



 


 


ชี้บทบาทสงฆ์พม่าสูง เพราะต้องเสียสละเพื่อประชาชนที่เลี้ยงดู


โดยในช่วงแรกเป็นการเสวนาเรื่อง "บทบาทของศาสนธรรมกับสันติภาพในพม่า" โดย พระมหาบุญช่วย สิรินธโร รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ กล่าวว่า พระสงฆ์พม่ามีคำสอนใจว่าที่มีชีวิตอยู่ได้เพราะชาวบ้านช่วยเหลือ ซึ่งพระสงฆ์ไทยก็เคยมีคำสอนนี้เช่นกันแต่ระยะหลังพูดถึงน้อยลง


 


สำหรับพระสงฆ์พม่านั้นเมื่อเชื่อว่ามีชีวิตได้เพราะชาวบ้านดังนั้นอะไรที่พอจะเสียสละให้ชาวบ้านได้ก็ต้องสละ เวลาพระสงฆ์พม่านั่งรถโดยสาร ถ้าญาติโยมไม่มีที่นั่งก็ต้องเสียสละลุกให้นั่งแล้วพระสงฆ์ก็ขึ้นไปนั่งบนหลังคา ซึ่งประสบการณ์นี้อาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ อาจารย์วิชาปรัชญาและศาสนาซึ่งเคยไปพม่าก็เคยประสบกับเหตุการณ์ทำนองนี้มาแล้ว ซึ่งอาจารย์ประมวลเคยเล่าให้ฟังว่าแม้แต่สามเณรพม่าตัวน้อยๆ ก็บอกว่าชีวิตนี้สละได้เพื่อคนที่เลี้ยงดูเรา


 


 


พระประท้วงราคาน้ำมันแพง เพื่อเป็นปากเสียงแทนชาวบ้าน


ดังนั้น ถ้าน้ำมันพม่าขึ้นราคา 200 เปอร์เซ็นต์ พระสงฆ์พม่าจึงออกมาประท้วง ถ้าเป็นเมืองไทยก็จะต้องมีคำถามว่าพระมายุ่งอะไรกับราคาน้ำมัน ทั้งนี้ 200 เปอร์เซ็นต์หมายความว่าค่ารถโดยสารของญาติโยมต้องเพิ่มขึ้น 2 เท่า เรียกว่าไม่สามารถทำงานให้คุ้มค่าเหนื่อยได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ พระสงฆ์ก็ต้องแสดงตัวว่ารัฐบาลพม่าไม่สามารถทำแบบนี้ได้ เรื่องนี้แม้ชาวบ้านไม่เรียกร้องเอง แ่ต่พระสงฆ์พม่าก็ต้องออกมาพูดแทนชาวบ้าน


 


พระมหาบุญช่วยยังกล่าวต่อว่าพระสงฆ์ที่ออกมาเดินขบวนที่เห็นใบหน้าในสื่อทุกรูป คนถือไมโครโฟน คนถือป้าย รัฐบาลเขาจำหน้าได้ หลังจากนั้นพระเขาอยู่ในพม่าไม่ได้ ที่ยังอยู่ในพม่าก็มีการนิมนต์ไปหลายรูปแล้วหายไปเลย จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่สูญเสียก็สูญเสียไป แค่อยากบอกพวกเราว่า 1 ปีที่ผ่านมานี้พวกเราไม่มีวันลืมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น


 


 


"เขา" บอกจะเปิดประเทศเมื่อพร้อม ต้องเตรียมคน แต่หลายปีผ่านมาไม่มีวี่แวว


ขอตั้งคำถามต่อผู้ฟังว่า ถ้าวันนี้พม่าได้ประชาธิปไตย มีอิสรภาพ พวกเราอยากให้มีการปกครองอย่างไร จะทำเหมือนไทย เหมือนจีน หรือสิงคโปร์ ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างที่เราพอมองเห็น ทุกวันนี้พม่าไม่ยอมเปิดประเทศ เขาบอกว่าไม่พร้อม ซึ่งในทีนี้คงไม่ต้องถามกันว่า "เขา" นั้นหมายถึงใคร พอถามว่าทำไมไม่เปิดประเทศ เขาบอกว่าไม่พร้อม ถามว่าทำไมไม่พร้อม เขาบอกว่าประชาชนไม่มีความรู้ ถามว่าทำไมไม่มีความรู้ เขาบอกว่าประชาชนไม่อยากเรียนหนังสือ ถามเขาว่าแล้วจะเปิดโรงเรียนไหม เขาบอกว่าจะเปิด เขาบอกว่าถ้าประชาชนรู้หนังสือ 100 เปอร์เซ็นต์จะเปิดประเทศ เขาบอกว่าคนต่างประเทศมองว่าพม่าด้อยกว่า และคอยแต่จะดูถูกพม่า คนต่างประเทศบอกว่าพม่ามีหน้าที่อย่างเดียวคือผู้รับใช้ ไม่มีโอกาสอยู่เท่าเทียมกันในสังคมโลก เขาจึงต้องเตรียมประชาชนให้พร้อม


 


ซึ่งการเตรียมคนให้พร้อมนั้น เขาก็ใช้เวลานานมาก นานเสียจนนางอองซาน ซูจีเกษียณคาบ้าน พม่านั้นอยากเปิดประเทศเมื่อไหร่ก็ได้ ป่าไม้ที่มีไม่เน่า เหมืองที่มีไม่เน่า


 


พระมหาบุญช่วยกล่าวต่อว่าที่คนทั้งหลายอยากให้พม่าเปิดประเทศ ไม่ใช่เพราะอยากให้พม่าได้ประชาธิปไตย แต่หวังทรัพยากร ส่วนเขาก็บอกว่าต้องเตรียมคนในพม่าหลายๆ ด้าน ต้องทำให้คนพม่าทัดเทียมต่างประเทศ แต่หลายปีผ่านมาก็ไม่มีการพัฒนาอย่างที่ "เขา" ว่าเลย


 


 


หวังพม่าจะยังเป็นมหานครทางศาสนา เชื่อถ้าเปิดประเทศแล้วรักษาวัฒนธรรมได้จะยิ่งใหญ่


พระมหาบุญช่วยกล่าวว่า พม่ายังคงเป็นมหานครแห่งศาสนา อยากให้สิ่งนี้เคียงคู่พม่าต่อไป เมื่อเปิดประเทศแล้ว นครแห่งศาสนาจะอยู่ต่อไปหรือไม่ คนพม่าจะไปวัดตอนเช้า สวดมนต์ตอนเย็น คนพม่าจะพาลูกหลานไปกวาดลานวัดหรือไม่ ถ้าเรารักษาความเป็นมหานครแห่งศาสนานี้ไว้ อาตมาเชื่อว่าการเปิดประเทศของพม่าน่าจะยิ่งใหญ่


 


"มีคำพูดว่า ไม่ว่าเราจะเปิดประเทศหรือไม่ ถ้ารักษาวัฒนธรรมไว้ได้เราจะยิ่งใหญ่ ถ้ารักษาวัฒนธรรมไว้ไม่ได้ ถึงจะเปิดประเทศเราก็แพ้" พระมหาุบุญช่วยกล่าว


 


พระมหาบุญช่วยยังกล่าวต่อว่า พระพุทธเจ้านำคนอินเดียประกาศอิสรภาพด้วยการล้มระบบวรรณะ ทำให้คนเป็นมนุษย์เท่ากัน มีโอกาสได้รับการศึกษา มีโอกาสพัฒนาชีวิตเท่ากัน ชีวิตไม่ต้องถูกกำหนดโดยพระเจ้าว่าต้องเกิดมาเป็นคนรับใช้ เป็นพ่อค้า เป็นนักบวชตลอดชีวิต ไม่ใช่ว่าคนนามสกุลเดียวเท่านั้นที่จะปกครองประเทศได้ ทุกๆ คนมีโอกาสเท่ากัน ขออย่างเดียวคือต้องศึกษา


 


 


มอบความปรารถนาดีต่อกัน อธิษฐานเพื่อสันติภาพในพม่า


ถ้าพวกเราชักนำคนทั่วโลกให้เห็นว่าเราทุกคนต่างเป็นมนุษย์เท่ากัน ทำให้เกิดเป็นหนึ่งความหวัง ร้อยความหวัง หมื่นความหวัง จนเป็นความปรารถนา ให้คนทั่วโลกได้อธิษฐานเพื่อพม่า แม้ความเปลี่ยนแปลงนั้นจะไม่เกิดผลในทันที แต่กระแสจิตนี้จะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพม่า


 


ในขณะนี้มหาอำนาจต่างส่อเค้าล่มสลาย แต่สิ่งที่ไม่มีวันล่มสลายคือจิตใจ ขอให้พวกเราใช้ความรักความปรารถนาดี นำความสูญเสียที่เกิดขึ้นมาทบทวนเพื่อทำให้ความสูญเสียนั้นไม่เกิดขึ้นมาอีก เราจะมอบความปรารถนาดีให้กัน ขออธิษฐานให้สันติภาพเกิดขึ้นในพม่าโดยเร็ววัน พระมหาบุญช่วยกล่าวทิ้งท้าย


 


 


ชาวพม่าชี้สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในพม่ายิ่งเลวร้าย


ต่อมานายหละ อ่อง (Hla Aung) จากสถาบันสิทธิมนุษยชนศึกษาในประเทศพม่า (Human Rights Education Institute in Burma - HREIB) อภิปรายเรื่อง "สถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศพม่า" กล่าวว่าแม้พม่าจะเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติทันทีที่ได้รับเอกราช โดยเป็นสมาชิกตั้งแต่ปี พ.ศ.2491 มีการลงนามในอนุสัญญาที่คุ้มครองสิทธิมนุษยชนบางฉบับ ได้แก่ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก และอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง อย่างไรก็ตามสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของพม่าก็ไม่ดีขึ้นเลยและยิ่งเลวร้ายลงหลังการรัฐบาลของ พล.อ.เนวิน ในปี พ.ศ.2505 คนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลก็กลายเป็นนักโทษการเมือง


 


นอกจากนี้บทบาทขององค์กรพัฒนาเอกชนในพม่าก็มีจำกัด ในพม่ามีองค์กรพัฒนาเอกชนบางองค์กรที่ทำงานได้ เช่น กาชาดสากล และสหประชาชาติ แต่ก็ทำอะไรได้ไม่มาก เช่น กรณีพายุไซโคลนนาร์กีส องค์กรเหล่านี้ก็ไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่ที่รัฐบาลทหารห้าม นอกจากนี้รัฐบาลทหารก็พยายามปกปิดข้อมูลที่เกิดขึ้นจริงในพม่า ไม่ต้องการให้คนภายนอกรับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในพม่า


 


 


ตัวแทนสันติบาตสตรีพม่าชี้มีนักโทษการเมืองเพิ่มทุกเดือน


ด้าน น.ส.ทิน ทิน โย (Tin Tin Nyo) จากสันนิบาตสตรีพม่า (Women"s League of Burma) อภิปรายหัวข้อ "สถานการณ์นักโทษทางการเมืองในพม่า" โดยเน้นไปที่สถานการณ์ของสตรีที่ปกป้องสิทธิมนุษยชนในพม่า โดยกล่าวว่า มีนักโทษการเมืองในพม่า 2,123 คน ในจำนวนนี้มี 208 รายที่สุขภาพไม่ดี และมีนักโทษการเมืองที่เป็นผู้หญิง 178 คน ในประเทศพม่าทุกเดือนมีนักกิจกรรมถูกจับ 20-100 คน ซึ่งถือว่ารัฐบาลทหารพม่ากำลังละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ขัดกับคำประกาศสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติตั้งแต่มาตรา 1


 


น.ส.ทิน ทิน โย ยังถ่ายทอดประสบการณ์การสลายการชุมนุมของผู้หญิงพม่าในเหตุการณ์ประท้วงเมื่อปีก่อน เช่น นางนิ มอ หล่ายง์ เล่าให้ฟังว่าจำไม่ได้ว่าถูกตำรวจทุบตีกี่ครั้ง แต่ได้ยินตำรวจพูดซ้ำๆ ว่า "ตีอีนังคนนี้ๆ" ซ้ำไปมา เสื้อผ้าของเธอฉีกขาด นาฬิกาข้อมือพัง และำตำรวจทำร่มและรองเท้าแตะของเธอหาย


 


 


เชื่อพม่าปล่อยนักโทษ 9 พันคน เพื่อล้างคุกรอขังนักประชาํิธิปไตยเพิ่ม


น.ส.ทิน ทิน โย ยังกล่าวว่า ในการสั่งปล่อยนักโทษ 9,002 คนของรัฐบาลทหารพม่าในอาทิตย์นี้ มีนักโทษการเมืองเพียง 7 คนเท่านั้นที่ได้รับการปล่อย จากนักโทษการเมืองทั้งหมด 2,123 คน และนักโทษการเมือง 7 คนนี้ มี 1 คนที่ถูกปล่อยตัวแล้ว มีการตามไปจับกุมอีกรอบคือนายวินแถ่น (U Win Thein) ทำให้มีนักโทษการเมืองที่ถูกปล่อยจริงๆ 6 คน


 


และใน 6 คนนี้ มีผู้หญิงคนเดียวที่ได้รับการปล่อยตัวคือนางเม วิน มินท์ (May Win Myint) จากสตรี 177 คนที่เป็นนักโทษการเมือง การปล่อยตัวนักโทษของรัฐบาลทหารพม่าจึงอาจเป็นการตบตาชาวโลก เพราะจะทำให้วางใจได้อย่างไรว่าที่ปล่อยนักโทษออกมาคราวละมากๆ เพื่อล้างคุกรอจับกุมนักโทษการเมืองเข้าไปขังเพิ่มอีก น.ส.ทิน ทิน โย ตั้งข้อสังเกต


 


น.ส.ทิน ทิน โย ยังกล่าวว่า ไม่เพียงแต่สตรีนักสิทธิมนุษยชนจะถูกละเมิดเสรีภาพเท่านั้น แต่ทหารพม่ายังละเมิดสิทธิสตรีทั่วไปในดินแดนพม่า ทั้งต่อสตรีพม่าและสตรีกลุ่มชาติพันธุ์ ทั้งการข่มขืน การฆาตกรรม การพรากเด็กจากครอบครัวเพื่อนำไปเป็นทหาร สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลทหารพม่ากระทำในสิ่งที่ต่อต้านประชาธิปไตยตลอด


 


 


หวังให้พม่าไปสู่ปลายทางคือประชาธิปไตยที่แท้จริง


น.ส.ทิน ทิน โย กล่าวว่า สันนิบาติสตรีพม่าขอเรียกร้องให้รัฐบาลทหารพม่าปฏิบัติตามมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่ 1325 ว่าด้วยเรื่องบทบาทของผู้หญิงในการแก้ไขความขัดแย้งทางอาวุธ และมติที่ 1825 ว่าด้วยการต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศทั้งก่อนและหลังวิกฤตความขัดแย้ง และเรียกร้องให้มีการนำตัวผู้นำรัฐบาลไปขึ้นศาลอาชญากรระหว่างประเทศ


 


ทั้งนี้การปฏิวัติชายจีวรเมื่อ 1 ปีที่ผ่านมา ถูกหมุดหมายเอาไว้ด้วยเืลือดและน้ำตาของพระสงฆ์ แม่ชี นักศึกษา และนักกิจกรรม แต่ขอให้พวกเราอย่าได้หยุดยั้งในกาีรต่อสู้เพื่อเป้าหมายปลายทางคือประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ความเสมอภาคทางเพศ สิทธิในการตัดสินใจใดๆ ของประชาชน ขอให้มีสันติภาพเกิดขึ้นในประเทศอันเป็นที่รักของเรา และทำให้สหภาพพม่าเป็นสหภาพพม่าแท้จริง


 


 


คณะ "ตีเลตี" ปิดท้าย เรียกเสียงปรบมือ


ในช่วงต่อมาเป็นการแผ่เมตตาถึงผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ประท้วงเมื่อปีที่แล้ว โดย น.ส.อวยพร ขวัญแก้วจาก กลุ่มผู้หญิงเพื่อสันติภาพและความยุติธรรม จากนั้นเป็นการนำเสนอละครวิทยุของกลุ่ม BMP Radio Drama และในช่วงท้ายของงานเป็นการแสดง "อะเญะปอย" หรือ การแสดงตลก โดยคณะตีเลตี (Thee Lay Thee)


 


โดยการแสดงของตีเลตีในวันนี้ นอกจากมุขตลกโปกฮาทั่วไปแล้ว ยังมีมุขตลกเสียดสีสังคมและการเมืองของพม่าหลายครั้ง โดยเฉพาะเหตุการณ์ประท้วงในเดือนกันยายนปีก่อน และการนโยบายรัฐบาลในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพาุยุนาร์ีกีส ซึ่งแต่ละมุขเรียกเสียงหัวเราะและปรบมือจากผู้ชมละครเป็นอย่างยิ่ง


 


สำหรับคณะตีเลตี เป็นการแสดงในรูปแบบ "อะเญะปอย" หรือ การแสดงตลก การแสดงมีทั้งเล่นมุขตลก สลับการร้องและรำแบบนาฏศิลป์พม่า บางครั้งก็มีการแสดงสมัยใหม่เ้ข้ามาประยุกต์ รูปแบบการแสดงจึงคล้ายกับคณะโปงลางสะออน และคณะตลกคาเฟ่ของไทย


 


ตีเลตี เริ่มก่อตั้งคณะในปี พ.ศ.2546 จากแนวคิดของซาร์กานา นักแสดงตลกอาวุโสชื่อดังในวงการบันเทิงพม่า เขาได้รวบรวมบรรดานักศึกษาไฟแรงจากวิทยาลัยนาฏศิลป์ย่างกุ้งมาสร้างคณะตลก โดยการควบคุมของหัวหน้าคณะที่มีชื่อในการแสดงว่า "ก๊อตซิล่า" อดีตเจ้าหน้าที่ในกระทรวงวัฒนธรรมของพม่าที่ผันตัวเองออกมาเป็นนักแสดงอิสระ


                  


สำหรับคำว่า "ตีเลตี" แปลว่าผลสี่ผล หมายถึงคณะที่มีนักแสดงนำชาย 4 คน ได้แก่ ซีตี คือพุทรา ปานตี คือแอบเปิล เส่งตี คือเพชร และเจตีหรือมะเฟือง นอกจากนี้ยังมี ชอซุเมียว และ เมียะซะแปโง่ง นางรำผู้หญิง เป็นสีสันให้กับการแสดงแต่ละครั้งอีกด้วย


 



 


อ่านเพิ่มเติม


บันเทิง : คณะตลกตีเลตี ผู้ซับน้ำตาเหยื่อนาร์กิสด้วยเสียงหัวเราะ, โดย นานาตี, นิตยสารสาละวิน ฉบับที่ 47 (16 พ.ค. - 30 มิ.ย. 51)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net