Skip to main content
sharethis

ภาคประชาชนกทม.กว่า 40 องค์กร คลอด "เครือข่ายพลเมืองเปลี่ยนกรุงเทพ" ประกาศขอมีส่วนร่วม พร้อมเสนอ 7 ยุทธศาสตร์ เพื่อแก้ปัญหากทม. ตั้งเป้าหมายติดตามตรวจสอบการทำงานของผู้ว่าฯ และเป็นพื้นที่สาธารณะระดมปัญญาของเมือง พร้อมตั้งศูนย์ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเปลี่ยนกรุงเทพฯ" เพื่อเป็นกลไกลทำงานร่วมกับภาคประชาชนทุกองค์กร


 


บ่ายวันนี้ (27 ก.ย. 2551) ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชนกรุงเทพมหานครกว่า 40 องค์กรได้รวมตัวกัน เพื่อประกาศ "เปลี่ยนกรุงเทพฯ ด้วยพลังพลเมือง" โดยนายชวน ชูจันทร์ ตัวแทนเครือข่ายฯ ได้แถลงว่า กรุงเทพมหานครเป็นความหวังของต้นแบบการปฏิรูปสังคมไทย เพียงแต่พลเมืองกรุงเทพฯ จะต้องแสดงเจตจำนงเป็นหุ้นส่วนของเมือง ร่วมขับเคลื่อนผลักดันนโยบายสาธารณะภาคพลเมืองด้วย โดยเฉพาะในวาระการสรรหาผู้บริหารกรุงเทพมหานครคนใหม่


 


"เครือข่ายพลเมืองเปลี่ยนกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นการรวมตัวของกลุ่ม องค์กร ชุมชน สื่อมวลชนและภาคประชาชน มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะของภาคประชาชนร่วมกับทุกภาคส่วน รวมถึงทำหน้าที่ติดตาม ตรวจสอบ สะท้อนการดำเนินนโยบายของรัฐบาลและฝ่ายบริหารกรุงเทพมหานครเป็นระยะๆ ว่า การดำเนินการหรือไม่ดำเนินการนโยบายนั้นๆ สร้างผลกระทบต่อคุณภาพและวิถีชีวิตชุมชนให้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร" นายชวน กล่าวและว่า


 


นายชวน เปิดเผยว่า ข้อเสนออันเป็นยุทธศาสตร์หลักของภาคประชาชนมี 7 ข้อ ได้แก่ การจัดการสิ่งแวดล้อมและป้องกันภัยพิบัติ, การฟื้นฟูและพัฒนาวิถีท้องถิ่นที่มีชีวิตในเขตเมือง, การปฏิรูปโครงสร้างที่เอื้อต่อการมีส่วนร่วมของกลุ่มคนที่หลากหลาย, การพัฒนาจิตสำนึกต่อส่วนร่วมของสังคมเมือง, การพัฒนาเศรษฐกิจและระบบสวัสดิการที่เอื้อต่อความมั่นคงของชีวิตคนเมือง, การพัฒนาระบบจราจรและขนส่งที่เหมาะสมในพื้นที่เมือง, และการศึกษาและการพัฒนาเด็ก เยาวชน


 


ทั้งนี้ นายชวน บอกว่า ตัวแทนเครือข่ายจะนำเสนอยุทธศาสตร์เหล่านี้ต่อผู้สมัครผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพฯ และสาธารณชน ผ่านพื้นที่สาธารณะ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคพลเมืองเพื่อร่วมขับเคลื่อนเปลี่ยนกรุงเทพฯ อย่างเป็นรูปธรรม ขณะเดียวกันเครือข่ายฯ จะทำหน้าที่เป็นพื้นที่สาธารณะเพื่อระดมปัญญาของเมืองโดยการมีส่วนร่วมของภาคพลเมืองที่ตื่นตัว เป็นการพัฒนาการเมืองภาคพลเมืองอันเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมอีกชั้นหนึ่ง


 


ด้านนายณัชพล เกิดเกษม ประธานสภาองค์กรชุมชน เขตลาดกระบัง กทม. กล่าวว่า ในส่วนของกลไกหรือโครงสร้างที่จะมารองรับการทำงานร่วมกันของเครือข่ายพลเมืองเปลี่ยนกรุงเทพฯ และอีกหลายเครือข่ายภาคประชาชนนั้น จริงๆ แล้วทั่วกรุงเทพมหานครมีตัวแทนประชาชนในระดับพื้นที่ และระดับเขต ทำงานกันอยู่แล้ว ส่วนในระดับกรุงเทพมหานครนั้น เครือข่ายฯ ได้จัดตั้ง "ศูนย์ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเปลี่ยนกรุงเทพฯ" ขึ้น เพื่อเป็นพื้นที่รองรับภาคพลเมืองจากต่างพื้นที่ที่มาอยู่ในกรุงเทพฯ ด้วย เพราะจริงๆ แล้ว กรุงเทพฯ นั้นไม่ได้มีเพียงคนที่มีทะเบียนบ้านในกรุงเทพฯ อาศัยอยู่เท่านั้น หากยังมีคนอีกมากมายที่เข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาขับเคลื่อนเมือง.


 


 


 






 


คำประกาศ  : เปลี่ยนกรุงเทพฯ ด้วยพลังพลเมือง


กรุงเทพมหานคร เมืองใหญ่ที่สะท้อนปัญหาความเป็นประเทศไทย  ขณะเดียวกันก็เป็นความหวังของต้นแบบการปฏิรูปสังคมไทยสู่วิถีของความหลากหลายแต่ธำรงไว้ซึ่งความเท่าเทียมและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพียงแต่พลเมืองกรุงเทพฯ จะต้องแสดงเจตจำนงเป็นหุ้น ส่วนของเมือง  ร่วมขับเคลื่อนผลักดันนโยบายสาธารณะภาคพลเมืองเพื่อเปลี่ยนกรุงเทพฯ โดยเฉพาะในวาระการสรรหาผู้บริหารกรุงเทพมหานครคนใหม่


เครือข่ายพลเมืองเปลี่ยนกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นการรวมตัวของกลุ่ม องค์กร ชุมชน สื่อมวลชนและภาคประชาชน ที่มีรายชื่อท้ายคำประกาศฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อทำหน้าที่ขับ เคลื่อนนโยบายสาธารณะของภาคประชาชนร่วมกับทุกภาคส่วน รวมถึงทำหน้าที่ติดตาม ตรวจสอบ สะท้อนการดำเนินนโยบายของรัฐบาลและฝ่ายบริหารกรุงเทพมหานครเป็นระยะๆ  ว่า การดำเนินการหรือไม่ดำเนินการนโยบายนั้นๆ สร้างผลกระทบต่อคุณภาพและวิถีชีวิตชุมชนให้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร


ทั้งนี้ภายใต้ 7 ข้อเสนออันเป็นยุทธศาสตร์หลักของภาคประชาชน อันได้แก่


1.       การจัดการสิ่งแวดล้อมและป้องกันภัยพิบัติ


2.       การฟื้นฟูและพัฒนาวิถีท้องถิ่นที่มีชีวิตในเขตเมือง


3.       การปฏิรูปโครงสร้างที่เอื้อต่อการมีส่วนร่วมของกลุ่มคนที่หลากหลาย


4.       การพัฒนาจิตสำนึกต่อส่วนร่วมของสังคมเมือง


5.       การพัฒนาเศรษฐกิจและรบบสวัสดิการที่เอื้อต่อความมั่นคงของชีวิตคนเมือง


6.       การพัฒนาระบบจราจรและขนส่งที่เหมาะสมในพื้นที่เมือง และ


7.       การศึกษาและการพัฒนาเด็ก เยาวชน


ซึ่งตัวแทนเครือข่ายจะได้นำเสนอต่อผู้สมัครผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพฯ และสาธารณชน ผ่านพื้นที่สาธารณะ เป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคพลเมืองเพื่อร่วมขับเคลื่อนเปลี่ยนกรุงเทพฯ อย่างเป็นรูปธรรม


ขณะเดียวกันเครือข่ายฯ จะทำหน้าที่เป็นพื้นที่สาธารณะเพื่อระดมปัญญาของเมือง(Think Tank) โดยการมีส่วนร่วมของภาคพลเมืองที่ตื่นตัว   เป็นการพัฒนาการเมืองภาคพลเมืองอันเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมอีกชั้นหนึ่ง


 


                                                            เครือข่ายพลเมืองเปลี่ยนกรุงเทพฯ


                                                                                  27 กันยายน 2551


รายชื่อเครือข่ายพลเมืองเปลี่ยนกรุงเทพฯ


สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา / มูลนิธิชุมชนไท / สถาบันการเรียนรู้และพัฒนาประชาสังคม / ประชาคมรางขนส่งมวลชน กรุงเทพฯ / ประชาคมเขตห้วยขวาง / เครือข่ายเยาวชน YIY / สมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม / ชมรมรักถิ่นเขตทวีวัฒนา / ชมรมฟ้าใส / เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย  /  กลุ่ม SIU / กลุ่ม BLACK BOX / เครือข่ายสิ่งแวดล้อมกรุงเทพฯ / เครือข่ายแรงงานนอกระบบ / สำนักข่าวชาวบ้าน / เครือข่ายชุมชนเมืองเก่าเขตพระนคร / ชมรมสยามทัศน์ / ชมรมหรี่เสียงกรุงเทพฯ / ชมรมกรุงไทยอาสา / สภาองค์กรชุมชนกรุงเทพฯ / เครือข่ายชุมชนตลาดน้ำคลองลัดมะยม / เครือข่ายสลัมสี่ภาค / MEDIA by FRIEND / สมัชชาสุขภาพลดผลกระทบจากเสียงเครื่องบิน / สภาเยาวชนกรุงเทพฯ / กลุ่มนักศึกษาใส่ใจไทย / เครือข่ายเคหะหัวหมาก / HAPPY MEDIA / มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ / เครือข่ายภัยพิบัติกรุงเทพฯ / สหพันธ์ชมรมผู้สูงอายุกรุงเทพมหานคร / มูลนิธิกองทุนไทย / เครือข่ายอนุรักษ์ทะเลกรุงเทพและสิ่งแวดล้อม / สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ / สถาบันพัฒนาการสาธารณสุขอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล / สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย / สำนักข่าวเด็กและเยาวชน / กองทุนสงเคราะห์ซึ่งกันและกัน แขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน / ชมรมเกื้อไทย กู้ไทย / Change Fusion / เครือข่ายจิตอาสา / มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค / เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคในกรุงเทพฯ / กลุ่มเพื่อนพนักงานบริการ (SWING) / เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.) / คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ / สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ / ทีวีไทย ทีวีสาธารณะ / บางกอกฟอรั่ม และโครงการสนับสนุนการก่อตั้งกองทุนสุขภาวะกรุงเทพฯ


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net