Skip to main content
sharethis


บทความ : ปฏิรูปสังคม
โดย :  นิธิ เอียวศรีวงศ์

ที่มา :  หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 22 กันยายน 2551


 


 


น่ายินดีที่ฝ่ายพันธมิตรออกมาปฏิเสธว่า การเมืองใหม่ 70/30 ไม่ใช่เงื่อนไขตายตัว เป็นเพียงข้อเสนอเชิงตุ๊กตาเพื่อการถกเถียงอภิปรายกันเท่านั้น จึงเท่ากับการเปิดประตูให้กว้างขวางแก่ทุกฝ่าย ที่จะเข้ามาช่วยกันคิดและเสนอ เพราะจริงอย่างที่ฝ่ายพันธมิตรกล่าว ขณะนี้สังคมจำเป็นต้องร่วมกัน "ปฏิรูป" อีกครั้งหนึ่ง ต่อจากช่วง 2535-40

อย่างไรก็ตาม บรรยากาศที่เอื้ออำนวยต่อการ "ปฏิรูป" แบบเปิดกว้าง ไม่อาจเกิดขึ้นได้จากการกดดันของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ต้องเป็นบรรยากาศที่ทุกกลุ่มทุกฝ่าย รู้สึกปลอดภัยและอิสระเสรีในการเข้าไปมีส่วนร่วม อันไม่ใช่บรรยากาศของกลางฝูงชนที่กำลังประท้วง (ด้วยเรื่องอะไรกันแน่...ไม่มีใครทราบ)

สภาพการณ์ที่จำเป็น ผมคิดว่ามีอย่างน้อย 3 ประการ

1/ ขออย่ามีกลุ่มใดอ้างว่า เป็นตัวแทนของ "ประชาชน" เลย ผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งหรือได้รับอาณัติจากสังคม ขอให้เข้าใจด้วยว่า อาณัตินั้นไม่ได้เด็ดขาดในทุกเรื่อง แต่จำกัดเฉพาะนิติบัญญัติ อีกทั้งต้องใช้กระบวนการที่ประชาชนอาจมีส่วนร่วมได้ตลอดเวลาด้วย ส่วนกลุ่มผู้ชุมนุม, จัดสัมมนา-เสวนา, แถลงการณ์ของสหภาพหรือนักวิชาการ ฯลฯ ก็ล้วนเป็นความเห็นของผู้ลงนามเท่านั้น เสนอขึ้นเพื่อให้สังคมได้รับไปพิจารณา

ไม่ควรที่กลุ่มใดจะไฮแจ๊คความปกติสุขของสังคม, หรือไฮแจ๊คทำเนียบรัฐบาล, รัฐสภา, ท้องถนนอย่างถาวร ฯลฯ เพื่อเป็นเครื่องมือต่อรองให้รับความเห็นของตน มิฉะนั้นก็จะไม่คืนตัวประกัน

2/ ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะพูดว่าให้คนดีปกครองบ้านเมือง ไม่ใช่เพราะคำพูดนี้ผิด แต่เป็นภูมิปัญญาที่ไม่ต้องใช้ปัญญาอะไร พูดเมื่อไรก็ถูกเมื่อนั้น แต่เอาไปใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ เพราะไม่มีทางที่ใครจะรู้แน่ว่าใครคือคนดี แม้แต่ที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าดี ก็อาจผันแปรเป็นไม่ดีไปได้เมื่อเงื่อนไขชีวิตเปลี่ยนไป เช่นมีอำนาจและลูกน้องที่จะต้องเลี้ยงดู หรือถึงจะเป็นคนดีแต่ไม่มีฝีมือในการบริหาร ก็ไม่ทำให้เกิดผลดีแก่ส่วนรวม

ที่ต้องใช้ปัญญาอย่างแท้จริงคือ กระบวนการอะไรจึงทำให้คนดีและมีฝีมือ ได้ปกครองบ้านเมือง และดำรงความดีกับฝีมือของตนไว้ได้ตลอดไป คำตอบของนักปราชญ์ฝ่ายประชาธิปไตยก็คือ ต้องเปิดให้แก่การตรวจสอบของสาธารณชนอย่างกว้างขวาง ทั้งในระบบ (รัฐสภา, องค์กรอิสระ, คณะกรรมการประเภทต่างๆ, อำนาจที่คานกันเองได้ทั้งในระนาบเดียวกันและต่างระนาบ ฯลฯ) และนอกระบบ (การประท้วง, สื่อ, ความเคลื่อนไหวทางการเมือง, เศรษฐกิจและสังคมที่อิสรเสรี, การแสดงออกทางวัฒนธรรม ฯลฯ)

หากที่ผ่านมา เราไม่อาจขจัดคอร์รัปชั่น, ความไร้สมรรถภาพ, เผด็จการทางรัฐสภา ฯลฯ ได้ ก็ควรหันมาทบทวนกลไกการตรวจสอบ และสร้างกลไกและหลักประกันในการตรวจสอบให้เป็นจริง

ร้ายยิ่งไปกว่านั้น การใช้หลักการที่ไร้เดียงสาเช่นนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการ "ปฏิรูป" ยังอาจนำไปสู่การแสวงหาคนดีที่หลุดไปจากการตรวจสอบอย่างเคร่งครัดของสาธารณชนด้วย เช่นข้อเสนอให้แต่งตั้ง ส.ส.หรือบุคคลสาธารณะ หรือการยกอำนาจทั้งหมดให้แก่คณะบุคคลที่ประชาชนไม่อาจตรวจสอบได้เลย (เช่นกองทัพ, องคมนตรี, ตุลาการ, นายกฯคนนอก ฯลฯ) ในการเลือกสรรคนดีเข้ามาดำรงตำแหน่ง

น่าประหลาดที่เขาเรียกการรอนอำนาจประชาชนเช่นนี้ว่า "ประชาภิวัฒน์"

ไม่แต่เพียงเรื่องนี้เท่านั้น ข้อเสนอประเภทภูมิปัญญาที่ไม่ต้องใช้ปัญญาเช่นนี้ยังมาจากทุกฝ่าย เช่น รัฐบาลแห่งชาติ (ประหนึ่งคำว่าแห่งชาติคำเดียวจะทำให้ทุกอย่างดีเอง), สุมหัวกันแก้รัฐธรรมนูญในหมู่นักเลือกตั้ง (ประหนึ่งว่านักเลือกตั้งมีคุณสมบัติในการร่างรัฐธรรมนูญดีกว่านักรับแต่งตั้ง), งดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ฯลฯ

อันที่จริง ในการ "ปฏิรูป" ใครจะเสนออะไรที่ไร้เดียงสาหรือเห็นแก่ตัวเท่าไรก็ได้ทั้งนั้น หากมีบรรยากาศที่เปิดกว้าง ปราศจากการไฮแจ๊ค ไม่ว่าจะเป็นไฮแจ๊คทำเนียบ หรือไฮแจ๊ครัฐสภา ดังเช่นข้อเสนอปฏิรูปการเมืองของฝ่ายพันธมิตร หากเป็นข้อเสนอในบรรยากาศปกติธรรมดา สังคมไม่ถูกบังคับขู่เข็ญ ก็จะถูกตีตกไปในเวลาอันรวดเร็ว และไม่มีใครใส่ใจจริงจังอีกเลย

3/ ไม่ควรเริ่มต้นด้วยการจำกัดการ "ปฏิรูป" ให้เหลือเพียงการ "ปฏิรูปการเมือง" เพราะไม่มีการ "ปฏิรูปการเมือง" ใดๆ จะเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ หากไม่คิดว่า "การเมือง" เป็นเพียงมิติเดียวของสังคม ยังมีส่วนของวัฒนธรรมและเศรษฐกิจที่กำกับความเป็นไปของการเมืองอยู่เสมอ และผมขอเสนอให้เรียกว่า "ปฏิรูปสังคม" เราควรคิดถึงการปฏิรูปที่ดิน, การปฏิรูประบบภาษี, การปฏิรูปการศึกษา, การปฏิรูประบอบปกครอง ฯลฯ ไปพร้อมกัน เพราะความล้มเหลวของการเมืองไทยหลายประการ มาจากเศรษฐกิจ, วัฒนธรรม และสังคม ไม่ใช่เรื่องการเมืองและนักการเมืองล้วนๆ

ฝ่ายพันธมิตรกำลังเผชิญการท้าทายยิ่งกว่าหมายจับของเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียอีก หากฝ่ายพันธมิตรเชื่อจริงในเรื่อง "การเมืองใหม่" หรือการ "ปฏิรูป" เพราะฝ่ายพันธมิตรเป็นฝ่ายหนึ่ง ซ้ำเป็นฝ่ายสำคัญด้วย ที่จะนำเอาบรรยากาศปกติกลับคืนมาแก่สังคม การสนับสนุนของประชาชนส่วนที่ได้รับอยู่เวลานี้ ต้องแสวงหาและรักษาไว้ด้วยมาตรการอื่น ไม่ใช่การประท้วงด้วยท่าที "สงครามครั้งสุดท้าย" เพียงอย่างเดียว เพราะท่าทีนี้ไม่ใช่การเปิดกว้างแก่การ "ปฏิรูป" แต่เป็นการประกาศคำสั่งเด็ดขาดเท่านั้น

พันธมิตรมีความกล้าที่จะยุติการประท้วงด้วยท่าทีนี้หรือไม่ แน่นอนว่าฝ่ายแกนนำต้องเผชิญกับคดีตามกระบวนการยุติธรรม ท่านเหล่านั้นล้วนอ้างว่าไม่ได้ทำผิด และอ้างความเสียสละกล้าหาญมาโดยตลอด ถึงเวลาที่ท่านต้องพิสูจน์คำพูดด้วยการกระทำเสียที

นอกจากนี้ การกลับคืนสู่ภาวะปกติ ย่อมหมายถึงการ "รณรงค์" ในลักษณะอื่นที่ไม่ใช่ "สงครามครั้งสุดท้าย" ด้วย เช่นการอภิปรายโต้แย้งกันบนเวทีที่ทุกความเห็นไม่ถูกคุกคาม คำถามคือท่านเหล่านั้นมี "กึ๋น" จะทำได้หรือไม่ หรือเหลือ "กึ๋น" ที่จะทำได้หรือไม่

หากฝ่ายพันธมิตรไม่อาจทำได้ทั้งสองอย่างนี้ การ "ปฏิรูป" ก็ไม่มีทางเกิดขึ้น หรือไม่เกิดขึ้นตามแนวทางที่ฝ่ายแกนนำเป็นผู้เสนอ สิ่งที่น่าเสียดายไม่ใช่ข้อเสนอของแกนนำ แต่สิ่งที่น่าเสียดายก็คือแรงหนุนที่ผู้คนจำนวนมากให้แก่พันธมิตร ไม่ได้ถูกแปรไปใช้ในทางที่จะนำประเทศให้หลุดออกจาก "ระบอบทักษิณ" จริง แม้คนที่ชื่อทักษิณอาจไม่มีทางกลับมาสู่การเมืองไทยตลอดไปก็ตาม ("ระบอบทักษิณ" อาจมีนายกฯชื่อ สมชาย, ชวน, อภิสิทธิ์, สุรพงษ์, จำลอง, สนธิ, หรือสุรยุทธ์, อนุพงษ์ ฯลฯ ก็ได้)

และเมื่อมองสภาพกว้างกว่าฝ่ายพันธมิตรก็เป็นไปได้ด้วยว่า ไม่มีแรงหนุน "การปฏิรูปสังคม" อย่างจริงจังในสังคมไทยในช่วงนี้ ซึ่งแปลว่าเราต้องเผชิญการเมืองน้ำเน่าเช่นนี้ต่อไป จนกว่าจะเกิดอะไรร้ายแรงเสียก่อน สังคมไทยโดยรวมจึงจะเห็นความจำเป็น

เวลาที่ต้องเสียไปนี้ก็ตาม ความเลวร้ายที่จะเกิดขึ้นก็ตาม ล้วนเป็นสิ่งน่าเสียดายทั้งนั้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net