Skip to main content
sharethis



 


วานนี้ (15 ก.ย.) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กลุ่มบุคคลราว 10 คน ภายใต้ชื่อ "กลุ่มคนรักษ์อุทยานฯ" รวมตัวกันเข้ายื่นหนังสือ "คัดค้านการเปิดให้เอกชนเข้าหาประโยชน์ในอุทยานแห่งชาติ" พร้อมรายชื่อผู้ร่วมคัดค้านอีกกว่า 4,000 รายชื่อ เพื่อมอบให้นางอนงค์วรรณ เทพสุทิน รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่ถูกปฏิเสธร่วมพูดคุยและรับเรื่องโดยอ้างว่าติดภารกิจ แต่ได้ให้ ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้รับเรื่องและชี้แจงกับกลุ่มคนรักษ์อุทยานฯ แทน


 


สืบเนื่องจากกรณีที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) มีนโยบายจะเปิดให้เอกชนเช่าอุทยานแห่งชาติ เพื่อลงทุนก่อสร้างที่พักรีสอร์ทเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว โดยประกาศเปิดอุทยานแห่งชาติ 10 แห่ง นำร่องให้เอกชนเข้ามาบริหารพื้นที่จัดบริการ และมีแผนการเปิดให้เอกชนเข้าเช่าพื้นที่บริหารจัดการ ในโซนบริการนักท่องเที่ยวแบบครบวงจร โดยมีอายุสัมปทาน 30 ปี


 


โดยอุทานแห่งชาติทั้ง 10 แห่ง ประกอบด้วย อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ อุทยานแห่งชาติภูกระดึง อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติเอราวัณ อุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก


 


ภายหลังการเสนอข่าวดังกล่าว ได้มีการตั้งกระทู้เพื่อรวบรวมความคิดเห็นและลงชื่อเพื่อยื่นหนังสือขอคัดค้านแผนนำเอกชนเข้ามาบริหารพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ในเวบไซต์พันทิพดอทคอม ห้องบลูพลาเนต ตั้งแต่วันที่ 24ส.ค.ที่ผ่านมา โดยมีการร่วมลงชื่อและสำเนาบัตรประชาชนผ่านทางอีเมล นอกจากนี้ยังมีการเปิดบูทในงานส่งเสริมการท่องเที่ยว "ไทยเที่ยวไทย" เพื่อเปิดให้มีการร่วมลงชื่อ ทั้งนี้ ข้อมูลจากเวบไซต์พันทิพระบุว่ารายชื่อที่รวบรวมยื่นหนังสือมีทั้งหมดกว่า 4,451 รายชื่อ 


 


การพูดคุยในเบื้องต้น ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ได้ชี้แจงกับกลุ่มคนรักษ์อุทยานฯ ในหลายประเด็น โดยไม่ได้ปฏิเสธว่ามีแนวคิดนี้เกิดขึ้นจริง แต่กล่าวว่าอยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น และยืนยันยังไม่ได้ตอบตกลงแต่อย่างใดกับแนวคิดนี้ อีกทั้งยังมีต้องมีอีกหลายกระบวนการ หลายการประชุม และต้องผ่านท่านด้วยแน่นอน นอกจากนี้ทางดร.ศักดิ์สิทธิ์ ได้ขอเบอร์ตัวแทนของกลุ่มคนรักษ์อุทยานไว้ด้วยเพื่อทำการติดต่อในภายหลัง


 


ทั้งนี้ ภายในหนังสือคัดค้านการเปิดให้เอกชนเข้าหาประโยชน์ในอุทยานแห่งชาติระบุว่า การที่กรมอุทยานฯ จะเปิดให้เอกชนเข้ารับสัมปทานในเขตอุทยานแห่งชาติเพื่อดำเนินการด้านโรงแรม ที่พักและให้บริการท่องเที่ยว ตามที่มีการนำเสนอข่าวนั้น เป็นสิ่งไม่ถูกต้องและมีความเป็นไปได้สูงที่จะสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศน์และสภาพแวดล้อมของอุทยานแห่งชาติและของประเทศ รวมทั้งจะเกิดผลกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชนโดยรอบอุทยาน


 


นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอแนะให้มีการทำประชาพิจารณ์จากประชาชนทั่วไปเพื่อร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว และควรจัดทำ EIA เพื่อศึกษาผลดี ผลเสียอย่างรอบคอบและเที่ยงตรง ทั้งนี้ควรให้เอกชนทำธุรกิจที่พักรอบนอกพื้นที่ของอุทยานฯ แทนที่จะเป็นในพื้นที่อุทยานฯ ซึ่งเป็นการกระจายนักท่องเที่ยว กระจายรายได้ และกระจายโอกาสทำธุรกิจออกไป และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ


 


ในส่วนของภาครัฐ มีข้อเสนอให้มีการเน้นการฝึกอบรมให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่ในอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ เพื่อพัฒนาความสามารถในงานบริหารจัดการการท่องเที่ยว มากกว่าที่จะยกพื้นที่ให้เอกชนจัดการ เพราะเชื่อว่ารัฐมีศักยภาพที่ดีที่จะพัฒนาได้


 


ส่วนการแก้ไขปัญหานักท่องเที่ยวมากเกินขีดการรองรับได้ของอุทยานฯ รัฐควรเข้มงวดกับ "มาตรการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว" ที่ได้ประกาศใช้ไปก่อนหน้านี้ เพราะการแก้ปัญหาโดยการเปิดให้เอกชนเช่าพื้นที่ทำที่พักในเขตอุทยานแห่งชาติ แม้จะแก้ปัญหาที่พักให้นักท่องเที่ยวได้ แต่ก็เพิ่มปัญหาให้กับระบบนิเวศน์จากการที่มีนักท่องเที่ยวมากเกินไป



อย่างไรก็ตาม ทุกภาคส่วนควรยึดถือเจตนารมณ์ของการอนุรักษ์และคุ้มครองทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันอย่างเคร่งครัด

"เมื่อเราไปเที่ยวธรรมชาติ พวกเราควรต้องเคารพเจ้าบ้านซึ่งก็คือธรรมชาติ ไม่ใช่จะเข้าไปเปลี่ยนแปลงพื้นที่ สร้างความสะดวกสบาย เพื่อเราจะเข้าไปชื่นชมได้ตามอำเภอใจ" หนังสือของกลุ่มคนรักษ์อุทยานฯ ระบุ


 

คลิก รายละเอียดการเคลื่อนไหวบางส่วน


 


รายละเอียดในหนังสือที่ยื่นคัดค้าน


 



เรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี
 ท่านผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา
 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
 คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ
 อธิบดีกรมอุทยาน สัตว์ป่าและพันธุ์พืช
 สื่อมวลชน

จาก กลุ่มคนรักษ์อุทยานฯ
เรื่อง คัดค้านการเปิดให้เอกชนเข้าหาประโยชน์ในอุทยานแห่งชาติ

สืบเนื่องจาก กรมอุทยานฯ ได้มีนโยบายเปิดสัมปทานให้เอกชนเข้ามาดำเนินการโรงแรมและที่พักในเขตอุทยานแห่งชาติเป็นระยะเวลา 30 ปี รวมทั้งให้บริการท่องเที่ยว โดยอ้างว่าต้องการมืออาชีพมาบริหาร

ตามคำให้สัมภาษณ์ของนางอนงค์วรรณ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ นายวิชิต พัฒนโกศัย รองอธิบดีกรมอุทยานกรมอุทยานฯ ที่ปรากฏตามสื่อมวลชนโดยทั่วไปนั้น

"กลุ่มคนรักษ์อุทยานฯ" เป็นการรวมตัวของคนที่ได้ทราบข่าวสารในเรื่องนี้จากเว็บบอร์ดต่างๆ บนอินเตอร์เน็ต รวมทั้งประชาชนทั่วไป และเป็นผู้ที่รักการท่องเที่ยวตามอุทยานแห่งชาติตามที่ต่างๆ มีความเห็นว่า
 
การที่กรมอุทยานฯ เปิดให้เอกชนเข้ารับสัมปทานในเขตอุทยานแห่งชาติเพื่อดำเนินการด้านโรงแรม ที่พักและให้บริการท่องเที่ยว ตามที่เป็นข่าว (ตามเอกสารที่แนบมา) นั้น เป็นสิ่งไม่ถูกต้อง และมีความเป็นไปได้สูงที่จะสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศน์และสภาพแวดล้อมของอุทยานแห่งชาติและของประเทศ และผลกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชนโดยรอบอุทยาน ตามเหตุผลและข้อสังเกต ดังต่อไปนี้

1. เนื่องจากอุทยานแห่งชาติเป็นทรัพย์สมบัติของประเทศชาติและประชาชนชาวไทยทุกคน โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีหน้าที่สงวน อนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งรวมไปถึงการดูแล ปกปักษ์รักษาป่าไม้ สัตว์ป่าและพืชพันธุ์ หาใช่เป็นเจ้าของ ผู้ที่จะนำมาจัดสรร เปิดสัมปทาน เพื่อสร้างผลประโยชน์ได้ การนำอุทยานแห่งชาติ มาให้เอกชนเช่าโดยไม่ขอประชามติจากประชาชนชาวไทยจึงเป็นเรื่องที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง

2. จุดประสงค์หลักของการจัดการอุทยานฯ คือการคุ้มครองรักษาระบบนิเวศให้คงอยู่ เพื่อให้คนรุ่นหลังมีโอกาสได้ใช้อย่างยั่งยืน แต่ก็อนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในด้านการศึกษา ด้านนันทนาการ รวมถึงการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ได้
แต่การนำการท่องเที่ยวมาเป็นเป้าหมายหลัก อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อการดำรงอยู่ของระบบนิเวศ และเป็นการผิดต่อจุดประสงค์หลักของการจัดตั้งอุทยานฯ

3. มาตรการในการจัดจ้างและจัดการดูแลพื้นที่ที่ไม่ชัดเจน ซึ่งทางสมาชิกของกลุ่มยังมีคำถามในประเด็นต่างๆ ดังนี้

3.1 รัฐมีวิธีการและมาตรฐานในการคัดเลือก ควบคุมดูแลผู้ประกอบการที่จะเข้ามาสัมปทานพื้นที่อย่างไร มีการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือไม่ และมีวิธีการควบคุมการประกอบกิจการของกลุ่มธุรกิจเหล่านี้ได้อย่างจริงจังและต่อเนื่องหรือไม่

3.2 "การลงทุนทางธุรกิจ" ย่อมต้องการผลประโยชน์ตอบแทนสูงสุด รัฐจะมีมาตรการอย่างไร เพื่อป้องกันไม่ให้กลุ่มนักธุรกิจที่เข้ามารับสัมปทานเหล่านั้นมองเห็นประโยชน์ของตนมากกว่าของชาติ และเมื่อเข้าดำเนินการแล้ว ไม่ "ละเมิด" และสร้างความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติ ดังเช่นที่เคยเป็นมาในอดีตจนถึงต้องฟ้องร้องในชั้นศาล

3.3 หากมีการจัดสรรพื้นที่ใหม่เพิ่มเติมในอุทยานฯ เพื่อให้เอกชนเหลานี้เปิดให้บริการ จะมีความมั่นใจอย่างไรว่าการเพิ่มพื้นที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของอุทยานฯ
 
ด้วยในแต่ละอุทยานฯ ล้วนมีเขตที่มีความเปราะบางในเชิงระบบนิเวศ หลายแห่งเป็นป่าต้นน้ำที่อุดมสมบูรณ์ หรืออาจเป็นแหล่งหากินและอยู่อาศัยของสัตว์ป่าหายาก การเพิ่มพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวจะกระทบต่อความสมดุลของระบบนิเวศน์ของอุทยานฯ

3.4 รัฐมีมาตรการดูแล ควบคุมปริมาณนักท่องเที่ยวในแต่ละอุทยานอย่างไร เพื่อไม่ให้จำนวนนักท่องเที่ยวมากเกินไปจนเกิดผลเสียต่อธรรมชาติ ในเมื่อผู้ได้สัมปทานย่อมต้องการให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่สุด เพื่อผลกำไรสูงสุด

3.5 อุทยานฯ เป็นเขตหวงห้ามที่รัฐต้องดูแลรักษา หากเปิดให้เอกชนได้บริหารพื้นที่ผูกขาดเป็นเวลานานถึง 30 ปี อาจเป็นช่องทางง่ายๆ ให้เข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ในรูปแบบอื่น
โดยเฉพาะธุรกิจการลักลอบค้าสัตว์และสินค้าจากป่าเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้เป็นอันดับต้นๆ ในตลาดค้าขายของผิดกฎหมาย รัฐมีนโยบายการป้องกันปัญหาเหล่านี้อย่างไร

4. การเปิดสัมปทานดังกล่าว ไม่เป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชนรอบๆ ผู้ค้าขายท้องถิ่นจะไม่สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการรายใหญ่ทั้งในการเข้ามาประมูล และการค้าขายในท้องถิ่น

และตามคำให้สัมภาษณ์ของนางอนงค์วรรณ เทพสุทิน ได้กล่าวว่า "เอกชนที่จะเข้ามาดำเนินการจะต้องเป็นเป็นกลุ่มที่มีประสบการณ์และมีความเป็นมืออาชีพสูง มิฉะนั้นอาจไม่สามารถบริหารงานได้ตามที่กระทรวง ฯ คาดหวังไว้ เพราะถ้าบริการไม่เต็มที่และทำให้สิ่งแวดล้อมเสียหายมากขึ้นก็จะเกิดปัญหา"


จากแนวคิดดังกล่าว ยิ่งทำให้ชุมชนในพื้นที่จะไม่ได้รับโอกาสให้เข้าไปมีส่วนร่วม เนื่องมาจากระดับความเป็นมืออาชีพที่ไม่เพียงพอ

5. ไม่ควรจัดสรรพื้นที่ให้บริการตามระดับกำลังซื้อของนักท่องเที่ยว เพราะนโยบายการจัดสรรพื้นที่ให้บริการตามระดับกำลังซื้อของนักท่องเที่ยว จะทำให้นักท่องเที่ยวมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น ซึ่งคนในพื้นที่หรือผู้มีรายได้น้อยจะไม่สามารถท่องเที่ยวได้ แต่ผู้มีกำลังซื้อมากจะได้รับการบริการที่ดีกว่าเพราะให้ผลตอบแทนมากกว่า

นับเป็นนโยบายที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง เพราะคนไทยทุกคนมีสิทธิใช้พื้นที่อุทยานแห่งชาติเท่าเทียมกัน การบริหารจัดการพื้นที่ธรรมชาติของกลุ่มธุรกิจในประเทศไทย มีตัวอย่างของความไม่เท่าเทียมและความเสื่อมโทรมมากมาย อาทิ อ่าวกิ่ว ที่วันนี้มีแต่คนที่มีกำลังซื้อเท่านั้นจะเข้าใช้พื้นที่ได้, เกาะสมุย ที่แทบหาทางลงหาดสาธารณะไม่ได้ เพราะถูกจับจองโดยเอกชนหมดแล้ว และเกาะช้าง ที่ความเจริญมาพร้อมกับความเสื่อมโทรมของธรรมชาติ



ข้อเสนอแนะ

1. ควรเปิดให้มีการทำประชาพิจารณ์จากประชาชนชาวไทยก่อน ว่ามีความคิดเห็นกับเรื่องนี้อย่างไร

2. ควรจัดทำ EIA เพื่อศึกษาผลดี ผลเสียอย่างรอบคอบและเที่ยงตรง



3. ควรให้เอกชนทำธุรกิจที่พักรอบนอกพื้นที่ของอุทยานฯ แทนที่จะเป็นในพื้นที่อุทยานฯ

ซึ่งเป็นการกระจายนักท่องเที่ยว กระจายรายได้ และกระจายโอกาสทำธุรกิจออกไป และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ

4. รัฐควรเน้นการฝึกอบรมให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่ในอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ เพื่อพัฒนาความสามารถในงานบริหารจัดการการท่องเที่ยว มากกว่าที่จะยกพื้นที่ให้เอกชนจัดการ เพราะรัฐมีศักยภาพที่ดีที่จะพัฒนาได้ ดังตัวอย่างอุทยานฯ ที่ติดอันดับต้นๆ นั้น ล้วนแล้วแต่มีการบริหาร จัดการที่ดี

5. ในการแก้ไขปัญหานักท่องเที่ยวมากเกินขีดการรองรับได้ของอุทยานฯ รัฐควรเข้มงวดกับ "มาตรการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว" ที่ได้ประกาศใช้ไปก่อนหน้านี้ แทนการแก้ปัญหาโดยการเปิดให้เอกชนเช่าพื้นที่ทำที่พักในเขตอุทยานแห่งชาติ ซึ่งแม้จะแก้ปัญหาที่พักให้นักท่องเที่ยวได้ แต่ก็เพิ่มปัญหาให้กับระบบนิเวศน์จากการที่มีนักท่องเที่ยวมากเกินไป



6. ควรยึดถือเจตนารมณ์ของการอนุรักษ์และคุ้มครองทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันอย่างเคร่งครัด


 


เมื่อเราไปเที่ยวธรรมชาติ พวกเราควรต้องเคารพเจ้าบ้านซึ่งก็คือธรรมชาติ ไม่ใช่จะเข้าไปเปลี่ยนแปลงพื้นที่ สร้างความสะดวกสบาย เพื่อเราจะเข้าไปชื่นชมได้ตามอำเภอใจ

ดังนั้น "กลุ่มรักษ์อุทยานฯ" จึงเชื่อว่าการที่ได้ท่องเที่ยวตามอุทยาน ป่าเขา หรือทะเล คือการที่จะได้สัมผัสธรรมชาติจริงๆ ได้เห็นความสวยงามที่ธรรมชาติสร้างขึ้น เราไม่ได้ต้องการสิ่งอำนวยความสะดวกสบายที่เกินจำเป็น แต่ต้องเสี่ยงกับการทำร้ายทรัพยากรธรรมชาติ

ดังนั้น เราจึงมองไม่เห็นความจำเป็นที่รัฐจะต้องให้สัมปทานเอกชนเข้ามาหาผลประโยชน์บนทรัพยากรธรรมชาติของเรา เพราะเราเชื่อว่ารัฐทำเองได้ และในบางแห่งก็ทำได้ดีด้วย

เราจึงขอคัดค้านการเปิดให้เอกชนเข้าหาประโยชน์ในอุทยานแห่งชาติ


 


จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา


กลุ่มคนรักษ์อุทยานฯ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net