Skip to main content
sharethis

ศูนย์ข้อมูลข่าวสารด้านอาหารแห่งเอเชีย (AFIC)


 


คุณทราบไหมว่าอะไรคือสาเหตุหลักของการเสียชีวิตทั่วโลก? ไม่ใช่โรคเอดส์ ไข้หวัดนก ภาวะขาดสารอาหาร (ทุพโภชนาการ) หรือแม้แต่โรคมะเร็ง ฆาตกรอันดับหนึ่งของโลกคือโรคหัวใจ ในปีพ.ศ. 2548 ประชากรจำนวนถึง 17.5 ล้านคนเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจ ซึ่งเท่ากับหนึ่งในสามของจำนวนการเสียชีวิต และผู้ที่เสียชีวิตเกือบทั้งหมด (80%) อยู่ในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง


 


อย่างไรก็ตาม คนทั่วไปยังไม่ตระหนักถึงความเสี่ยงนี้ ดังนั้นศูนย์ข้อมูลข่าวสารด้านอาหารแห่งเอเชีย (AFIC) จึงร่วมสนับสนุนวันหัวใจโลกที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 28 กันยายนนี้ เป้าหมายของวันหัวใจโลกคือการช่วยประชากรให้มีอายุยืนยาวและมีสุขภาพดีขึ้นด้วยวิธีการขั้นตอนง่ายๆเพื่อช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจ โดยในปีนี้ได้เน้นย้ำความสำคัญในเรื่องความดันโลหิตสูง (Hypertension) ซึ่งเป็นปัจจัยความเสี่ยงหลักของโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูงทำให้หัวใจ, อวัยวะต่างๆ และหลอดเลือดทำงานหนักขึ้น


 


อัตราการเกิดโรคความดันโลหิตที่เพิ่มสูงขึ้นในเอเชียเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงวิถีการดำเนินชีวิตและการรับประทานอาหาร ในปี พ.ศ. 2545 ประเทศจีนมีการรายงานการสำรวจสถานภาพด้านโภชนาการและสุขภาพว่า 18.8 % ของชายและหญิงที่มีอายุมากกว่า 18 ปีมีความดันโลหิตสูง และในอินเดียพบว่าอัตรานี้สูงมากโดยผู้ใหญ่ถึง 1 ใน 2 มีความดันโลหิตสูง และความเสี่ยงนี้จะเพิ่มขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น ในประเทศไทย 1 ใน 3 ของผู้ใหญ่ที่อายุมากกว่า 35 ปีมีความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้น ยิ่งกว่านั้น ตัวเลขนี้เพิ่มสูงขึ้นอีกถึง 45 % เมื่ออายุเกิน 55 ปี


 


มูลนิธิหัวใจโลกคาดการณ์ว่าภายในปีพ.ศ. 2568 ประชากรในโลกมากถึง 1 ใน 3 คนจะเป็นโรคความดันโลหิตสูง ยิ่งกว่านั้นประชากรเกือบทั้งหมดไม่คาดคิดมาก่อนว่าตัวเองมีปัญหาความดันโลหิตสูงจนกว่าจะได้รับการตรวจ แพทย์ใช้เวลาเพียงแค่ 2-3 นาทีเท่านั้นในการวัดความดันโลหิตและการตัดสินใจนี้สามารถช่วยชีวิตคุณได้ ความดันโลหิตปกติควรจะอยู่ที่ระดับ 120/80 (ตัวเลขบนคือ ความดันโลหิตสูงสุดที่เกิดขึ้นหลังระยะการบีบตัวของห้องหัวใจ ขณะที่ตัวเลขล่างเป็นความดันเมื่อหัวใจคลายตัว) ความดันโลหิตสูงสามารถขึ้นและลงได้เมื่อเวลาผ่านไป ดังนั้นจึงเป็นความคิดที่ดีในการเข้ารับการตรวจความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ


 


เพื่อช่วยป้องกันโรคความดันโลหิตสูง มีขั้นตอนการดำเนินชีวิตง่ายๆ ที่คุณสามารถนำไปปฏิบัติได้


 


1.หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่


 


2.เฝ้าระวังน้ำหนัก - การอ้วนเกินไปจะเพิ่มความดันโลหิตให้สูงขึ้น ทำให้หัวใจและหลอดเลือดต้องทำงานหนักเพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงทั่วร่างกาย


 


3.หมั่นออกกำลังกาย - การทำร่างกายให้กระฉับกระเฉงนอกจากจะช่วยควบคุมน้ำหนักตัวแล้ว ยังมีความสำคัญมากในการลดความเสี่ยงต่อการกิดโรคหัวใจ การออกกำลังช่วยควบคุมความดันโลหิต ดังนั้นควรตั้งเป้าหมายการออกกำลังกายที่มีความหนักในระดับที่เหมาะสมให้ได้อย่างน้อย 30 นาที (เช่น การเดินเร็ว) ให้ได้เกือบทุกวัน


 


4.ระมัดระวังเกลือ - การบริโภครสเค็มมากๆเพิ่มความเสี่ยงของความดันโลหิตสูง เกลือทำให้ร่างกายเก็บกักน้ำไว้ในร่างกายมากกว่าปกติซึ่งเป็นการเพิ่มความดันหลอดเลือด เกลือที่มากเกินไปยังทำลายไตและทำให้ความสามารถในการขับของเสียออกจากร่างกายลดลง


 


นอกจากนี้ยังรวมถึงเกลือที่ใส่ตอนปรุงอาหารหรือเติมที่โต๊ะอาหารอีกด้วย ระวังเครื่องปรุงที่มีรสเค็ม เช่น ซอสถั่วเหลือง ซุปก้อนปรุงรส น้ำปลาและกะปิ เลือกการลดเกลือหรือลดอาหารและเครื่องปรุงรสที่มีเกลือต่ำ จำกัดการรับประทานของขบเคี้ยวรสเค็ม เช่น บ๊วยเค็ม, ถั่วทอดโรยเกลือและถั่วอบกรอบ รวมทั้ง อาหารกระป๋องบางประเภท เช่น ซุป สามารถอ่านฉลากอาหารเพื่อคำนวณหาปริมาณเกลือในอาหารได้ และควรตั้งเป้าการบริโภคเกลือให้น้อยกว่า 6 กรัมต่อวัน (เกลือประกอบด้วยโซเดียมและคลอไรด์และโดยปกติปรากฏบนฉลากอาหารว่า "โซเดียม" ให้คูณด้วย 2.5 เพื่อแปลงค่าเป็น เกลือ)


 


5.รับประทานทานผักและผลไม้มากๆ - การบริโภคผักและผลไม้มากๆมีความสัมพันธ์กับการลดลงของอัตราการเกิดโรคหัวใจ ผลไม้และผักส่วนมากอุดมด้วยโปตัสเซี่ยมซึ่งมีบทบาทเป็นที่ประจักษ์ว่าช่วยลดความดันโลหิต ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการแนะนำว่าควรรับประทานผักและผลไม้อย่างน้อย 5 หน่วยบริโภคต่อวัน (1 หน่วยบริโภคเท่ากับผลไม้ขนาดกลาง 1 ชิ้น หรือผักที่ปรุงสุกแล้ว 1/2 ถ้วย) คนส่วนมากไม่สามารถบริโภคได้ตามปริมาณนี้ จากรายงานการสำรวจทางโภชนาการและสุขภาพของจีนปี 2545 พบว่าปริมาณผลไม้โดยเฉลี่ยต่อวันที่ผู้ใหญ่เพศชายบริโภคคือ 46 กรัม (แอปเปิ้ลลูกเล็ก1/2 ผล) และผัก 275 กรัม (ประมาณ 2 หน่วยบริโภค) เท่านั้น


 


6.จำกัดหรือหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ - การดื่มแอลกอฮอล์นั้นเพิ่มความดันโลหิต หลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์หรือตั้งเป้าการดื่มไม่ให้เกิน 2 แก้วมาตรฐานต่อวัน (1 แก้วมาตรฐานเท่ากับเบียร์ 1 กระป๋อง, 1 หน่วยตวงของสุรากลั่นหรือ 1 แก้วไวน์เล็ก)


 


การปฏิบัติตามคำแนะนำสามารถนำท่านไปสู่หนทางแห่งการมีชีวิตยืนยาวและสุขภาพที่ดีกว่า เพียงจำไว้ว่าการทราบความเสี่ยงของตัวคุณเองเป็นสิ่งที่สมเหตุสมผล - คุณวัดความดันโลหิตครั้งสุดท้ายเมื่อไร?


 


 


 เอกสารอ้างอิง :


WHO World Health Report,www.who.int


World Heart Foundation, www.worldheart.org/


 


……………………………………………………………………………………………………………………………..


 


 


ข้อมูลเพิ่มเติม ที่เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลด้านอาหารแห่งเอเชีย www.afic.org


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net