Skip to main content
sharethis

เสวนา "การเมืองซ่อนอะไร? สังคมหาอะไร?" ที่ ม.เชียงใหม่ ยศ สันตะสมบัติ ชวนตั้งคำถามเรื่องประชาธิปไตยที่ไกลกว่าการเลือกตั้ง เตือนนักกฎหมายอย่าอ้างให้ยึด "นิติรัฐ" เพราะไม่เคยปรากฏจริงในสังคมไทย ชาวบ้านถูก "คำสั่งของรัฐ" เบียดขับตลอดมา ตั้งคำถามสังคมไทยจะมีวัฒนธรรมการเมืองใหม่ ซึ่งอดทนอดกลั้นต่อความแตกต่าง และไม่ใช้ความรุนแรงได้หรือไม่


 


 


เมื่อเวลา 16.00 น. วานนี้ (11 ก.ย.) ที่ห้องประชุมชั้น 2 ศูนย์สตรีศึกษา มีการเสวนาเรื่อง "การเมืองซ่อนอะไร? สังคมหาอะไร?" โดยมี ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการประวัติศาสตร์ และ ศ.ดร.ยศ สันตสมบัติ ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ ม.เชียงใหม่ เป็นวิทยากร ดำเนินรายการโดย อ.ดร.วรรณภา ลีระศิริ


 


000


 


 


วิทยากรท่านแรกคือ ศ.ดร.ยศ สันตสมบัติ กล่าวว่า ขอยืมคำพูด อ.อานันท์ (กาญจนพันธุ์) มาบอกคุณว่า "ผมไม่มีคำตอบ" แต่จะมาชวนตั้งคำถาม และกล่าวว่าวิกฤติการณ์ทางการเมืองในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาเป็นกระบวนการแย่งชิงการต่อสู้เพื่อนิยามความหมาย ภาษาสังคมศาสตร์จะเรียกว่าเป็นการช่วงชิงความหมาย ปัญหาคือว่ามันเป็นความหมายของอะไร


 


เช่น ความหมายของประชาธิปไตย ความชอบธรรมคืออะไร ความดีคืออะไร สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่มีปัญหาทั้งสิ้นในสังคมไทย เรามักจะถูกบอกว่าประชาธิปไตยคือการเลือกตั้ง หน้าที่คือไปเลือกตั้ง เลือกคนดีเข้าสภา ปัญหามีอยู่ว่าคนดีหน้าตาเป็นอย่างไร จมูกชมพู่ดีหรือเปล่า เราจะวัดคนจากหน้าตาได้ไหม มหาจำลองดีหรือเปล่า ลองฉายภาพเปรียบเทียบกันดูเราจะพบว่าคำถามไม่ลงตัว แต่เราจะถูกยัดเยียดข้อมูลตลอดเวลา แล้วผมไม่แปลกใจที่นักศึกษารุ่นหลังจะงง เพราะเราห่างเกินจากกระบวนการตั้งคำถามมานาน


 


รัฐสภา อันนี้เป็นคำถามของพวกนักรัฐศาสตร์ รัฐสภาเป็นเวทีการเมืองเพียงเวทีเดียวหรือเปล่า ที่นั่งหน้าสลอนอยู่ในสภามักจะบอกแบบนี้เลย ตั้งแต่คุณชวนหลังพฤษภา 2535 คุณชวนก็พูดอยู่คำเดียวว่าผมมาจากการเลือกตั้ง ทักษิณก็เป็นคนเอาคำนี้มาใช้ต่อ ตอนหลังคุณสมัครก็เอาคำนี้มาใช้ ดังนั้นอย่าโทษคุณสมัครว่า Establish ระบอบเลือกตั้ง มันมีมานมนาน


 


ตามความเข้าใจของผม ประชาธิปไตยเป็นอะไรที่มากกว่าการเลือกตั้ง แต่เป็นการปกครองที่เชื่อว่าอำนาจเป็นของประชาชน แล้วรัฐทำหน้าที่สร้างหลักประกันของสิทธิและเสรีภาพให้กับประชาชน รัฐไม่มีหน้าที่ประกาศภาวะฉุกเฉิน คำถามก็คือว่ารัฐสภาเป็นเวทีการเมืองแบบเดียวหรือเปล่า เราเห็นมาโดยตลอดว่ามันไม่ใช่ แต่นักกาเรมืองไทยมักจะยืนหยัด ยืนยันตลอดเวลาว่ามีอะไรต้องไปคุยในรัฐสภา เพราะฉะนั้นเขาผูกขาดเวทีตรงนั้นไว้ สำหรับผู้ที่มีความชอบธรรมคือผ่านกระบวนการเลือกตั้งมาเท่านั้น


 


มันมีเวทีการเมืองอีกตั้งหลายแบบที่เกิดในสังคมไทย ปากมูน ประท้วงบนสันเขื่อน 10 ปี เพื่อจะบอกว่า "เฮ้ย เรามีปัญหานะ" แต่สังคมไทยไม่ฟังเขาเลย คนที่มาจากการเลือกตั้งก็ไม่ฟังเขา เริ่มตั้งแต่สมัยประชาธิปัตย์หลัง คุณอานันท์ (ปันยารชุน) ปากมูนก็เริ่มประท้วงแล้ว จนคุณมด (วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน) ตายปากมูนก็ไม่ได้รับการแก้ไข


 


ผมตั้งคำถามว่า มันเป็นไปได้ไหมว่า เราละเลยการเมืองบนท้องถนน การเมืองในระดับรากหญ้ามานานมาก แล้วเราไปหลงเชื่อว่ารัฐสภาเป็นกลไกอันเดียวที่จะแก้ปัญหา แล้วเราพบความจริงอันเจ็บปวดว่ารัฐสภาเป็นกลไกที่ไม่มีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาเลย


 


เพราะฉะนั้นเป็นไปได้ไหมว่า ขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยบนท้องถนนที่เกิดขึ้นบนท้องถนนในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เกิดจากความล้มเหลวของรัฐสภาที่จะฟังความทุกข์ ความเห็นต่างของประชาชน อันนี้เป็นคำถามข้อแรกของผม


 


โยงกับคำถามข้อนี้ มันยังมีการช่วงชิงความหมายกันอีกหลายเรื่อง ตัวอย่างที่เห็นง่ายที่สุดก็คือ สังคมไทยยึดถือ ทฤฎีมหาสตรี มหาบุรุษมาเป็นเวลานาน เราอยู่ในกรอบคิดแบบผู้มีบุญมานาน จนกระทั่งเราเห็นว่าคอนเซ็ปต์เรื่องสิทธิเสรีภาพไม่ได้ซึมลึกเข้าไปในวิธีคิดของเราหรือเปล่า เราเชื่อในกฎแห่งกรรมหรือเปล่า ผมคิดว่าหลักการพวกนี้มันอยู่ร่วมกันก็จริง แต่บางเวลามันลักลั่นขัดแย้งกัน


 


สังคมไทยมักจะสับสนเวลาพูดถึงวิธีคิดแบบนี้ และการเมืองของเราจึงพึ่งพาโหราศาสตร์ มันเป็นเรื่องของดวงน่ะคุณเอ๋ย ใครจะขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีพรุ่งนี้ ก็วิ่งไปถามโหร คมช. เขาไม่มาถามอาจารย์ธเนศวร์ (รศ.ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง ซึ่งร่วมฟังเสวนาด้วย) หรอก


 


อีกประเด็นที่ผมจะตั้งคำถามว่า สังคมไทยจะบอกว่าบ้านเมืองมันวุ่นวาย แต่ผมก็ไม่เห็นจะวุ่นวายตรงไหน เป็นไปได้ไหมว่า เป็นเพราะว่าเราไม่ได้คิดว่าความขัดแย้งเป็นบรรทัดกฐาน เราเลยมองว่ามันวุ่นวาย รู้สึกทุรนทุราย ทนไม่ได้ เราพยายามจะกลับไปหาความสุขสงบของอดีต โหยหายอดีต แต่ถามว่า ใน 4-5 ปีนี้สุขสงบจริงหรือเปล่า หรือเป็นความสุขสงบของใคร คนปากมูนสงบไหม คนสะเอียบสงบไหม คนตัวเล็กตัวน้อยเขาสงบจริงหรือเปล่า หรือที่เป็นขณะนี้เป็นความรำคาญของชนชั้นกลางเท่านั้น อันนี้เป็นคำถาม


สังคมไทยจะพัฒนาวัฒนธรรมการเมืองใหม่ที่อดทนอดกลั้นต่อความวุ่นวายได้ไหม สังคมไทยจะพัฒนาวัฒนธรรมการเมืองไทยที่สร้างกลไกยุติความขัดแย้งขึ้นมาได้ไหม เดี๋ยวนี้หลายมหาวิทยาลัยก็มีหลักสูตร Conflict of resolution แต่ก็ไม่เห็นออกมาทำอะไรเลย เวลาเกิดเรื่องพวกนี้ นั่งหน้าเจี๋ยมเจี้ยมกันอยู่ในคณะ แล้วกูจะเก็บไว้เป็น Case study


 


อะไรเป็นความหมายของอาระขัดขืน นี่ผมเอาหนังสือต้นฉบับมาให้ดู (ชูหนังสืออารยะขัดขืน ของชัยวัฒน์ สถาอานันท์) คุณอยากหาคำตอบไปอ่านเอา เอามาให้ดูหนังสือของชัยวัฒน์ สถาอานันท์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


 


แต่ละคนก็บอกว่า "กูอาระขัดขืน" แต่ถือมีด มันอารยะขัดขืนหรือเปล่า


 


"สันติภาพศึกษา" ในสังคมไทยไม่เคยสนใจเลย มีนักศึกษาไปเรียนปีหนึ่ง 2-3 คน ถึงเวลาวุ่นวายฉิบเป๋งเลย เราไม่ใส่ใจมันน่ะ แต่ถึงเวลาเราเรียกร้องว่าต้องมีสันติภาพ


 


คำถามที่ผมอยากจะตั้งอีกข้อคือ ในช่วงเวลานี้ ดูเหมือนว่าเป็นการต่อสู้กันระหว่างคนสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งคือพวก "เสรีนิยมใหม่" เชื่อในทุนนิยม เชื่อในการจัดระเบียบ เชื่อในกลไกของตลาด


 


กับอีกกลุ่มหนึ่งเป็นกลุ่ม "อนุรักษ์นิยมใหม่" พวกนี้ก็มีคนที่อยู่ในทุนเหมือนกัน แต่เดี๋ยวนี้ก็จะบอกว่าเป็นทุนนิยมมันสามานย์ ทั้งที่ตัวเองก็เป็นนายทุนใหญ่ในสังคมไทย แต่คำแบบนี้ ความหมายแบบนี้จะพรั่งพรูออกมาจากปากหลายครั้ง "ทุนนิยมสามานย์" เวลาเขาพูดถึงทักษิณ


 


การต่อสู้ของสองกลุ่มนี้ทำให้เกิดคลื่นหรือแรงกระเพื่อมที่มากมายมหาศาลในสังคมไทย และเป็นการต่อสู้กันแบบ "เล่นการเมือง"


 


คือบ้านเราคิดว่าการเมืองคือการเล่น เล่นเพื่อเอาชนะ แพ้ไม่เป็น แพ้ไม่ได้


 


เพราะฉะนั้นจะใช้อะไรก็ได้ จะปลุกผีชาตินิยมก็ได้ ถ้าต้องการ หรือ ถ้าเห็นว่าจะนำไปสู่ชัยชนะ โดยที่ไม่ได้หยุดคิดเลยว่า เฮ้ย ชาตินิยม ถ้าปลุกขึ้นมาแล้ว มันไม่หลับนะ มันเป็นคนแก่น่ะ นอนยาก ไม่ค่อยนอน แล้วก็เกิดไปทะเลาะกับเพื่อนบ้านมากมายมหาศาล จนกระทั่งหวิดจะเกิดสงคราม


 


คำถามที่สังคมไทยต้องถาม และผมว่าจะมาถาม อ.นิธิ (เอียวศรีวงศ์) ว่า สังคมไทยเรียนประวัติศาสตร์กันประสาอะไร หรือเป็นความผิดของครูประวัติศาสตร์ อาจารย์ที่สอนสังคมศาสตร์ หรือครูบาอาจารย์ทั้งหมด ที่สังคมไทยมันโง่เหลือเกิน


 


เมื่อปีที่แล้ว คนไทยยังไม่รู้เลยว่าเราเคยไปตีเขมร จนกระทั่งมีเรื่องกันแล้วถึงได้มาคุยกัน แล้วมาบอกว่าเราไปตีเขา 2 ครั้งน่ะ แล้วยังจะมาทวงดินแดนเขาอีก หน้าด้านฉิบเป๋งเลยคนไทยเนี่ย


 


นอกจากไม่รู้ และไม่มีข้อมูลแล้วยังไม่มีสติอีกต่างหาก การศึกษาตั้งแต่อนุบาลจนถึงมหาวิทยาลัยล้มเหลวสิ้นเชิง ไม่เคยคิดเลยว่า คำถามง่ายๆ ว่า จะอยู่กับเพื่อนบ้านอย่างสันติ แล้วได้ประโยชน์ร่วมกันอย่างไร พวกผู้นำจะบอกว่าเอาใจมันหน่อย เราลงทุนไปเยอะ แต่ไม่เคยมองคนอื่นอย่างเท่าเทียม แบบคนที่มีศักดิ์ศรีเท่ากัน


 


ผมคิดว่า เราเป็นอารยะไม่ได้ จะขัดขืนหรือเปล่าไม่รู้ แต่คำแรกก็ล้มเหลวแล้ว เราเป็นอนารยะตั้งแต่ต้น เพราะเราไม่มองคนอื่นว่าเป็นมนุษย์เหมือนเรา แล้วปัญหาพื้นฐานของสังคมก็คือเป็นสังคมที่เหยียดผิว รังเกียจคนอื่น ไม่รักเพื่อนบ้าน ผมไม่แปลกใจเลย ทำไมลาวไม่ค่อยชอบหน้าเรา คนลาวพูดเสมอว่าคนไทยคือลาวที่ลืมตัว พอเจริญหน่อยก็ลืมตัว


 


คนเมือง (คนเหนือ) ก็เหมือนกัน เวลาเจอคนดอยก็เรียกว่าพวกแมง ผมฟังมาตั้งแต่ 20 ปีที่แล้ว และมันติดปาก คนก็ใช้ แล้วระบบการศึกษาก็ไม่ถอดถอนความรู้สึกแบบนี้เลย


 


เราก็ยังมองเขมรว่าต่ำต้อย เราเคยเหยียบมัน เราเคยเผามัน เวียงจันทน์เราก็ไปเผามาแล้ว แต่ถ้าพม่าก็เกรงๆ นิดหน่อย


 


เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าถึงเวลาที่สังคมไทยต้องตั้งคำถามกลับว่า ลัทธิชาตินิยมที่มาใช้ตั้งแต่สมัยจอมพล ป. โดยคณะราษฎรนี้ มีส่วนดีหรือส่วนเสียอย่างไร พอคนพูดถึงคำว่าเสียดินแดน มันต้องบุกไปถึงเขาพระวิหาร พระเพรอะไปหมด ไม่รู้เลยว่าไม่ใช่กิจของสงฆ์


 


นอกจากนี้ก็ยังใช้สถาบันอีก แต่ละคนอ้างสถาบันกันจังเลย


 


คุณสมัครคำสองคำก็บอกว่าจะบินไปเข้าเฝ้าเจ้านาย ตอนแจกธงนั่นแหละ ผมต้องบินไปเข้าเฝ้าเจ้านาย


 


พันธมิตรนี่พูดถึงสถาบันทุกวัน รักจังเลย


 


แต่จะพาชาติไปสู่สงครามนี้ไม่คิด จะปลุกเร้าให้คนเกลียดนักการเมืองคู่ตรงข้ามเท่านั้น ผมไม่เคยเห็นการประท้วงที่ไหนปิดสนามบิน โลกเขาไม่ทำกัน ผมเคยเห็นเขาปิดสนามบินครั้งเดียว เพราะเขาเกรงจะไม่ปลอดภัยสำหรับเครื่องบิน แต่ปิดสนามบินด้วยเหตุผลการเมือง ผมคิดว่าเป็นวิธีคิดที่ใช้ไม่ได้


 


แต่วิธีคิดที่ใช้ไม่ได้ที่สุด ในกระบวนการข้อถกเถียงที่ผมพูดมาคือนักวิชาการ อาทิตย์ที่ผ่านมา จะเห็นจากข่าวเลย นักวิชาการออกมาเสนอว่ามีทางออกง่ายๆ ดังมาจากวิสคอนซิน ซีแอตเติล แล้วธรรมศาสตร์ก็ขานรับ บอกว่า ผู้นำพันธมิตรควรจะมอบตัวซะ ผมฟังแล้วก็นั่งเกาหัว เฮ้ยมันพูดอะไรวะ เขากำลังกบฎต่อรัฐ มึงเสือกไปให้เขามอบตัว มันแปลว่าอะไร แล้วเขาพูดต่อไปว่าเราอยู่ภายใต้นิติรัฐ


 


อาจารย์นิติศาสตร์บอกผมทีเถอะอะไรคือนิติรัฐ ผมก็สงสัยมานาน ประเด็นคือทางออกคือให้พันธมิตรมอบตัวสู้คดี ศาลเขายังสั่งบรรเทาหมายจับเลย แต่นักวิชาการไม่รู้จะพูดอะไร บอกว่าทางออกคือพันธมิตรมอบตัว ออกจากทำเนียบ แล้วก็ชุมนุมต่อไป สำหรับเรื่องออกจากทำเนียบผมเห็นด้วย เพราะรู้สึกว่ามันเหม็น เมื่อวานผ่านไป มันเริ่มส่งกลิ่น


 


แต่ผมไม่รู้สึกว่าการให้ผู้นำพันมิตรมอบตัวเป็นทางออกเลย ยิ่งพูดถึงนิติรัฐ ยิ่งไปกันใหญ่ ผมคิดว่านักวิชาการเพ้อฝันและทำให้นักศึกษางงไปหมด คำถามที่ผมจะถามนักเรียนนิติศาสตร์คือกฎหมายคืออะไร (หันไปถามนักศึกษาที่ร่วมเสวนา)


 


กฎหมายนะครับ คือคำสั่งของรัฐ ใช่ไหม บิดาแห่งกฎหมายไทย ปู่ อ.อคิน นี่แหละ กฎหมายคือคำสั่งของรัฐ แล้วผมก็เห็นด้วยในทางปฏิบัติว่าเป็นอย่างนั้นจริงๆ เข้าไปดูนะครับ กฎหมายไม่ว่าเราจะทำวิจัยเรื่องอะไร กฎหมายคือคำสั่งของรัฐทั้งนั้น ผมทำวิจัยเรื่องป่าชุมชน ก็เจอ พรบ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2484 พ.ศ.2507 กางแผนที่แล้วขีดวง "นี่เป็นป่าสงวน" แล้วชาวบ้านเขาอยู่ในนั้น เขาคืออะไรครับ ผู้ละเมิดกฎหมายว่ะ นี่ล่ะครับคือกฎหมายไทย


 


คำว่านิติรัฐใช้ไม่ได้ในสังคม เพราะสังคมไทยกฎหมายยังห่วยแตก


 


เวลาพูดถึงนิติรัฐมันคือ Ideal type คืออุดมคติ นักวิชาการที่อ้างทำอะไรหรือเปล่าที่จะให้นิติรัฐเป็นจริง นี่คือคำถามอีกอันหนึ่ง


 


ในบ้านเรา กฎหมายไม่ใช่ตัวสร้างหลักประกันความยุติธรรม แต่กฎหมายคือเครื่องมือทางชนชั้น ชนชั้นไหนเขียนกฎหมายก็เพื่อชนชั้นนั้น ประเด็นนี้ควรจะบรรจุในหลักสูตรนิติศาสตร์เพราะมันคือความเป็นจริง


 


เพราะฉะนั้นเวลาคุณพูดนิติรัฐขึ้นมาลอยๆ มันไม่เข้าท่า เมื่อ 20 ปีที่แล้วผมยังสอนที่ธรรมศาสตร์ทำวิจัยในสลัม 3-4 แห่งในกรุงเทพฯ ไปนั่งคุยกับชาวบ้าน คุยกับคนเฒ่าคนแก่ ผมไปถามว่ามาอยู่ที่นี่ตั้งแต่เมื่อไหร่ 9 ใน 10 คนที่ผมคุย ถูกถีบมาจากบ้านป่า คือ ที่ตั้งของเขื่อนครับ สร้างในช่วงนั้นล่ะ เขาบอกว่า จนถึงเวลานี้ยังไม่ได้รับเงินชดเชยเลย เลยต้องมาอยู่ในชุมชนแออัดที่คลองเตย


 


นี่ละครับคือนิติรัฐของไทย และประเด็นนี้พูด 3 วัน 4 วัน ไม่จบ ความเฮงซวยของรัฐไทย


 


แต่นักวิชาการอ้าปากพูดเรื่องนิติรัฐ ไม่รู้ว่าพูดออกมาได้อย่างไร เพราะพูดแบบลอยๆ มากๆ เพราะไม่มีความเป็นจริงทางสังคมที่จะมา Back Up (สนับสนุน) เลย ในความเป็นจริงก็คือว่า ที่เขาเรียกว่านิติรัฐ ไม่ว่าจะเป็น นักการเมือง องค์กร หน่วยงานของรัฐ มักจะอ้างคนหมู่มากเพื่อมาเบียดขับคนส่วนน้อย


 


นี่คือประชาธิปไตยหรือ


 


นี่ประโยชน์ของคนส่วนมาก คุณต้องไป นี่คือข้ออ้างของการสร้างเขื่อนปากมูน จะทำทางด่วนเมื่อ 10 ปีที่แล้ว บอกคนบ้านครัว กูจะสร้างทางลง รื้อกระดูกโคตรเหง้าออกไป เกะกะ ความเป็นมนุษย์มีค่าแค่นั้นหรือครับโดยนิติรัฐ


 


ปัญหามันต้องสร้างนิติรัฐขึ้นมา ด้วยการกดดัน การต่อสู้ เพราะการเปลี่ยนแปลงทุกครั้งในสังคมไทย ไม่ได้เกิดเพราะรัฐสภา มันเกิดเพราะ 14 ตุลา มันเกิดเพราะพฤษภา รัฐธรรมนูญ 40 ต้องโบกธงเขียวไสวทั้งเมือง ไม่งั้นมันก็ไม่รับ และตอนนี้ก็ตบหน้าศาลรัฐธรรมนูญอีก นี่ละครับนิติรัฐ ศาลยังไม่ฟัง แต่นักวิชาการเรียกตรงนี้ว่านิติรัฐ ศาลตัดสินแล้ว เป็นศาลฎีกาทั้ง 9 คนนะครับ อดีตศาลฎีกาทั้ง 9 คน ลงมติเอกฉันท์ว่าคุณสมัครผิด แต่ผู้ยึดกุมอำนาจรัฐบอกว่ากูจะเอา มึงจะทำไม นักวิชาการก็บอกว่า "พวกม็อบต้องมอบตัว" มันฟังขึ้นไหม นี่คือคำถาม


 


ศ.ดร.ยศ ยังกล่าวถึงชนชั้นกลางว่า คนชั้นกลางดูถูกกระทั่งคนไทยด้วยกัน บอกตลอดเวลาว่า คนชนบทงี่เง่าเลือกพวกกเฬวรากเข้ามาในสภาเต็มไปหมด มีอะไรปุ๊บโทษคนชนบท พันธมิตรด่าคนชนบทตลอด แล้วก็ยึดติดกับทฤษฎีสองนครา คือชนบทตั้งรัฐบาลเมืองล้มรัฐบาล แล้วกล่าวโทษคนชนบท แต่ผมมองไม่เห็นเลยว่าเขาผิดอย่างไร ที่เขาชอบคุณทักษิณ


 


คุณทักษิณมาพร้อมกับ หลักประกันสุขภาพ ผมก็ชอบ มาพร้อมกับกองทุนหมู่บ้าน ผิดหรือที่จะชอบเขา รัฐบาลอื่นไม่เห็นให้แบบนี้เลย รัฐบาลทุกชุดกินเหมือนกันหมด แต่นี่กินแล้วแบ่งน่ะ ผมผิดไหมที่จะชอบเขา แต่คุณมีสิทธิหรือเปล่าที่จะด่าผมว่าโง่ น่าคิดนะครับ ว่าคุณเหยียดหยามกระทั่งคนไทยด้วยกันเอง


 


สำหรับผม ระบอบทักษิณไม่มีอะไรเสียหายเลย ระบอบทักษิณก็คือ ระบอบพาณิชย์นิยมทั่วไป คือธนกิจการเมืองทั่วไป คือการเมืองของเงินตราทั่วไป เพียงแต่ทักษิณโลภมากเท่านั้นเอง ไม่ยอมหยุด บางคนบอกเมียไม่ยอมหยุด โทษผู้หญิงนะ


 


ศ.ดร.ยศ ทิ้งท้ายไว้ว่า "สิ่งที่เราหวังว่าทำได้ตอนนี้คือ วัฒนธรรมการเมืองใหม่ ซึ่งอดทนอดกลั้นต่อความแตกต่าง และไม่ใช้ความรุนแรง หยิบเล่มนี้ขึ้นมา (อารยะขัดขืน โดย ชัยวัฒน์ สถาอานันท์) ไม่ใช่แบบที่พันธมิตรว่านะครับ การปลุกระดมลัทธิชาตินิยมที่พันธมิตรถนัดไม่ใช่อารยะขัดขืน มันเป็นการสร้างความรุนแรง"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net