Skip to main content
sharethis

3 ก.ย.51  - เมื่อวันที่ 26 ส.ค.51 ที่ผ่านมา สำนักสิทธิบัตรบราซิล (INPI) ได้ปฏิเสธคำขอจดสิทธิบัตรยาทีนอฟโฟเวียร์ ไดโซพรอกซิล ฟูมาเรต (tenofovir disoproxil fumarate) โดย บริษัทกีลิแอด แลบอราตอรีส (Gilead Laboratories) บริษัทยาจากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นยาต้านไวรัสที่แนะนำให้ใช้ทั้งในยาสูตรพื้นฐานและสูตรสำรองสำหรับการรักษาผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ทั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกที่การยื่นคัดค้านก่อนที่จะมีการออกสิทธิบัตรหรือ pre-grant opposition สำหรับยาต้านไวรัส จากภาคประชาสังคมบราซิลและ ฟาร์มานคินฮอส (Farmanguinhos) ซึ่งเป็นองค์การเภสัชกรรมของบราซิลสามารถนำไปสู่การตัดสินปฏิเสธคำขอสิทธิบัตรได้ในที่สุด ซึ่งการนี้ได้สร้างบรรทัดฐานอันสำคัญยิ่งให้กับประเทศกำลังพัฒนาในการยื่นคัดค้านคำขอจดสิทธิบัตร อีกทั้งยังเป็นชัยชนะอีกก้าวของการเข้าถึงยาในประเทศบราซิล   


 


คำตัดสินนี้ยึดหลักการในข้อที่ว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวขาดขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นหนึ่งในสามคุณสมบัติสำคัญสำหรับการขอจดสิทธิบัตร ทั้งนี้องค์กรต่างๆ ที่ทำงานด้านเอดส์และสิทธิมนุษยชน ได้แก่ ABIA, GAPA RS, GESTOS, CONECTAS, GIV, PELA VIDDA SP e GAPA SP ฯลฯ ได้ยื่นคัดค้านคำขอจดสิทธิบัตรนี้เมื่อเดือนธันวาคม 2549 โดยยึดหลักเหตุผลทางด้านวิชาการและสาธารณสุขเป็นสำคัญ


 


ยาทีนอฟโฟเวียร์ในราคาที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้นั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งโดยเฉพาะในบราซิล ทั้งนี้มีประมาณการตัวเลขผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ราว 31,000 รายในประเทศที่จะได้รับยาดังกล่าวภายใต้โครงการด้านสาธารณสุขแห่งชาติภายในสิ้นปี 2551 นี้ ในเดือนเมษายน รัฐบาลบราซิลได้ประกาศให้ยาทีนอฟโฟเวียร์เป็น "ประโยชน์สาธารณะ" สำหรับการรักษาผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ในประเทศ เพื่อเร่งรัดให้มีการวิเคราะห์สิทธิบัตร ซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2543   


 


ในบราซิล บริษัทกีลิแอดตั้งราคาขายสำหรับทีโนโฟเวียร์ที่ 1,387 เหรียญสหรัฐต่อผู้ป่วยต่อคนต่อปี ในขณะที่ยาชื่อสามัญของยาดังกล่าวซึ่งผลิตในประเทศอินเดีย เสนอราคาถูกที่สุดที่ 158 เหรียญสหรัฐต่อผู้ป่วยต่อคนต่อปีเท่านั้น




การปฏิเสธคำขอจดสิทธิบัตรในครั้งนี้ได้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของมาตรการปกป้องที่บรรจุในกฎหมายสิทธิบัตรของบราซิล ตลอดจนพลังขับเคลื่อนจากภาคประชาสังคมที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวด เพื่อไม่ให้มีการอนุมัติสิทธิบัตรแก่คำขอที่ไม่สมควรและไม่พึงได้ ด้วยการกระทำดังกล่าวมีแต่จะเป็นอุปสรรคกีดขวางการแข่งขันในตลาด อันจะนำไปสู่การตั้งราคาสินค้าสูงๆ ในที่สุด


 


นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล เจ้าหน้าที่รณรงค์การเข้าถึงการรักษาขององค์การหมอไร้พรมแดน-เบลเยี่ยม (ประเทศไทย) กล่าวว่า การคัดค้านก่อนที่จะมีการออกสิทธิบัตรหรือ pre-grant opposition เป็นกลไกที่สำคัญมากในการสกัดสิทธิบัตรที่ด้อยคุณภาพ ซึ่งน่าเป็นห่วงที่ในประเทศไทย ร่างแก้ไขพระราชบัญญัติสิทธิบัตรที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ร่างขึ้น และพยายามนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีชุดที่แล้ว ได้ตัดกลไกนี้ออกไปโดยอ้างว่าปัจจุบันประเทศอื่นๆยกเลิกระบบนี้ไปแล้ว ซึ่งไม่เป็นความจริง


 


"น่าแปลกที่ความพยายามตัดกลไกนี้ออกไป ตรงกับข้อเรียกร้องของสหรัฐในการเจรจาเอฟทีเอกับไทย แม้แต่รายงานของคณะผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพย์สินทางปัญญาขององค์การอนามัยโลก, องค์การการค้าโลก, UNDP, UNCTAD ยังแนะนำให้ไทยรักษากลไกนี้ไว้ และต้องทำมากกว่านี้เพื่อทำให้การเข้าถึงการรักษาเป็นจริงได้อย่างยั่งยืน"


 


 


หมายเหตุ รายงานของคณะผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพย์สินทางปัญญาขององค์การอนามัยโลก, องค์การการค้าโลก, UNDP, UNCTAD http://www.pharm.chula.ac.th/thaihealth/pdf/pdf/who_thai.pdf


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net