Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

สิทธิพร จรดล


www.oknation.net/blog/emedicius


 


"นายณรงค์ศักดิ์ เรียนจบเพียงชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เท่านั้น จึงไม่มีงานมีการทำที่แน่นอน เร่ร่อนไปเรื่อยๆ ก่อนหน้านี้ ทราบว่าเคยทำงานก่อสร้าง และกลับไปบวชพระที่วัดในจังหวัดโคราช จากนั้นทราบว่าสึกออกมาแล้ว และไม่ได้ติดต่อกันอีกเลย จนกระทั่งทราบข่าวจากนักข่าวว่าเสียชีวิตแล้ว ส่วนตัวนายณรงค์ศักดิ์ ทราบเพียงว่าชอบร่วมชุมนุมทุกสถานการณ์"


 


ไสว กอบไธสง เป็นเพียงญาติห่างๆ ที่มีความสัมพันธ์เพียงแค่ให้ณรงค์ศักดิ์มาอาศัยชื่อในสำมะโนครัวย่านดินแดงพูดถึงเหยื่อจากเหตุปะทะระหว่างกลุ่มนปช.และกลุ่มพันธมิตรเมื่อคืนวันที่ 1 กันยายน 2551 ("ผู้เสียชีวิตสังเวยม็อบ ประวัติยังไม่ชัด" , กรุงเทพธุรกิจ , 3 กันยายน 2551)


 


"เท่าที่ทราบเป็นคนหลักลอย ไม่มีการงานทำเป็นหลักแหล่ง ใช้ชีวิตอยู่ตัวคนเดียว เนื่องจากพ่อแม่และญาติพี่น้องส่วนใหญ่เสียชีวิตไปหมดแล้ว เหลือตัวเขากับพี่สาวอีกคนที่อยู่ต่างประเทศ แต่ก็ไม่รู้ว่าอยู่ประเทศไหน" สมชาย พจน์ประเสริฐ เจ้าของบ้านที่ให้ณรงค์ศักดิ์มาอาศัยแวะเวียนมาครั้งคราวให้คำจำกัดความชีวิตของณรงค์ศักดิ์อย่างรวบรัด ("ณรงศักดิ์ กอบไธสง ศพแรกแห่งศึก...พธม.-นปช." , คมชัดลึก , 3 กันยายน 2551)


 


"การชอบร่วมชุมนุมทุกสถานการณ์" ของณรงค์ศักดิ์


 


สำหรับณรงค์ศักดิ์...เขาคงไม่เคยเข้ามาถกเถียงแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ระบายความอัดอั้นตันใจในชุมชนโลกไซเบอร์ตามความเชื่อ ความคิดเห็นของตน กระทั่งอาจไม่เคยอยู่วงล้อมร่วมชมการถกเถียงทางการเมืองอย่างดุเดือด ประหนึ่งว่าหากแต่ละคนโผล่หน้าออกมาจากจอคอมพิวเตอร์ได้ คงสาวหมัดใส่กัน หากมีไม้ในมือคงผลัดกันฟาดใส่ปากตามกำลังที่มี ถ้ามีอาวุธปืนอยู่ในมือคงถูกนำมาใช้ได้ไม่ยาก


 


เวทีการแสดงออกของณรงค์ศักดิ์ คงมีเพียงสองเท้า สองมือ สนับสนุนประชาธิปไตยที่ท้องสนามหลวง ลานกว้างและทางเดินตามท้องถนนเท่านั้น


 


เฉกเช่นเดียวกับอาม่า อาซ้อ อาเฮียและเหล่า "ลูกจีนรักชาติ" ที่ใช้ท้องถนน สถานที่ราชการชุมนุมอย่างเหนียวแน่นในเวลานี้...


 


"นายณรงค์ศักดิ์เข้ามาเป็นแนวร่วมของทางชมรมคนรักโคราช ซึ่งเป็นจังหวัดบ้านเกิดของเขานานเป็นเดือนแล้ว โดยมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ ต่อต้านพันธมิตร แต่เรื่องส่วนตัวของผู้ตายตนไม่ค่อยทราบเท่าใดนัก เนื่องจากเจอหน้ากันก็ทักทายกันตามปกติ และนายณรงค์ศักดิ์ก็ไม่ได้จับกลุ่มคุยกับใครเป็นพิเศษ จึงไม่มีใครสนิทสนมด้วย" สายชล สีทัน จากกลุ่มต่อต้านพันธมิตรพูดถึงณรงค์ศักดิ์


 


เวลา 23.00 น. ของวันที่ 1 กันยายน ที่แกนนำ นปช.ตัดสินใจเคลื่อนพลออกมาจากท้องสนามหลวงสู่บริเวณสะพานมัฆวาน ขณะเดียวกันสมศักดิ์ โกศัยสุข แกนนำกลุ่มพันธมิตรได้ขึ้นเวทีเวลา 00.33 น.พร้อมประกาศบนเวทีเพื่อแจ้งว่า


 


"ขณะนี้ นปก.มีการเคลื่อนตัวมาแล้วมีจำนวนประมาณ 15,000 คน ที่แจ้งไม่ต้องการให้ตกใจเพราะการชุมนุมของพันธมิตรเรามีการเตรียมความพร้อมหมดแล้ว อีกทั้งมีจำนวนผู้ชุมนุมปักหลักทั่วบริเวณจำนวนมาก นอกจากนี้ในที่ชุมนุมพันธมิตรยังมี จนท.ทหารมาร่วมชุมนุมจำนวนกว่า 600 คน"


 


ทั้ง 2 ฝ่ายปะทะกันเวลาประมาณ 01.30 น.ด้วยอาวุธทั้งปืน มีด ไม้ ฯลฯ ภาพจากสื่อมวลชนแสดงให้เห็นถึงการใช้กำลังอาวุธทำร้ายผู้ที่หมดทางสู้ ขว้างปาสิ่งของใส่กัน ได้ยินเสียงปืนเป็นระยะ เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถระงับเหตุการณ์ได้ทัน จนมีผู้บาดเจ็บ 40 กว่าคน ผู้เสียชีวิต 1 คน คือณรงค์ศักดิ์ กอบไธสง "คนไทยคนหนึ่ง"


 


ณรงค์ศักดิ์ กอบไธสง ถูกทำให้เป็น "คนไทย" ไม่สังกัดกลุ่มก๊วนไหน น้ำเสียงที่ฟังเหมือน "ดูดี" เช่นนี้ ทำราวกับว่าการเป็น "คนไทย" ของณรงค์ศักดิ์จะสามารถตายได้อย่างเสียสละและดูดดื่มด้วยความเป็น "คนไทย" โดยไม่ต้องหาฆาตกร (ที่ยังคงลอยนวลอยู่แถวนั้น) มาลงโทษ


 


ถ้าณรงค์ศักดิ์ยังไม่ตาย เขาก็คงยังไม่ใช่ "คนไทย" ตามที่สื่อมวลชนคนหนึ่งบอกกับสมัคร สุนทรเวชว่า "คนที่ตายเป็นคนไทย ไม่ได้แบ่งข้างหรือแบ่งแยก" ณรงค์ศักดิ์คงเป็นเพียงแค่ 1 ในผู้ชุมนุมของกลุ่ม นปก. นปช. ที่ถูกสื่อมวลชนบางสำนักตีตราหน้าว่าเป็น "ลิ่วล้อทักษิณ" , "ม็อบไข่แม้ว" , "ม็อบเถื่อน" , "ม็อบถ่อย" , "ม็อบอันธพาล" ฯลฯ


 


ถ้าเขายังไม่ตาย เขาคงยังเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม นปช. ที่ถูกประนามจากกลุ่มองค์กรทั่วทุกสารทิศทั้งจากองค์กรพัฒนาเอกชน อาจารย์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัย สื่อมวลชน ว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของต้นเหตุความรุนแรง


 


เขาคงไม่ใช่ส่วนหนึ่งของม็อบคุณธรรมที่ชุมนุมด้วย "ความสงบ - อหิสา - สันติ" สามารถพกพาอาวุธได้อย่างเสรี แม้ว่าจะใช้ความรุนแรงบุก (พัง) สถานีโทรทัศน์ สถานที่ราชการ ยึดทำเนียบ ทำร้ายสื่อมวลชน เสียงประนามจากองค์กรต่างๆ เหล่านี้คงมีไม่มากเท่า


 


ถ้าณรงค์ศักดิ์ไม่ตาย แต่หากคนตายเป็นฝั่งตรงกันข้ามกับเขา น้ำเสียงของกลุ่มองค์กรต่างๆ คงต่างไปจากนี้ บรรยากาศคงอึมครึม หม่นมัว หม่นหมอง สื่อมวลชนคงนำเสนอข่าวความตายนี้ทั้งวัน


 


ณรงค์ศักดิ์ และผู้ชุมนุมนปช.ก็คงยังไม่ใช่ "คนไทย" หากตอกย้ำความเป็นภาพความเป็นอันธพาล - ถ่อย - เถื่อน ให้มีมากขึ้น


 


ความตายของเขาช่วย (จำใจ) ลดทอน "ความเถื่อนอันธพาล" ของนปช. ให้ดูถ่อยน่ากลัวน้อยลง ความตายข้างถนนของเขาถูกลืมอย่างรวดเร็ว คงเป็นเพียงพาดหัวข่าวหน้าหนึ่งไม่กี่วัน ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป


 


ณรงค์ศักดิ์ไม่ได้รับการเอ่ยถึงใส่ใจจากแกนนำของ นปช.ที่มีส่วนร่วมพาเขาเดินไปสู่สุสาน หากเพียงแต่หันหลังเดินกลับมาเพื่อยอมทำตาม "พรก.ฉุกเฉิน" ของรัฐบาล


 


วินาทีที่ความตายมาพรากจากเขาด้วยความตั้งใจที่จะ "ต่อต้านพันธมิตร" อย่างน้อยเขาคือส่วนหนึ่งของพยายามหยุดยั้ง "การเดินถอยหลังลงคลอง" ของประชาธิปไตยไทยที่กระท่อนกระแท่นมากว่า 76 ปี


 


เขาต่อต้าน "การเมืองใหม่" แบบ 70:30 ที่ไม่เชื่อมั่นในศักยภาพของประชาชนที่สามารถจะคิดเองได้ว่าผู้แทนของเขาควรจะเป็นใคร ไม่ต้องรอให้ "เทวดา" มาชี้ว่าใครจะมาเป็นผู้แทนของเขา


 


เขาต่อต้าน "ความมักง่าย" ที่จะเรียกทหารให้ออกมาล้างไพ่ล้มระบอบประชาธิปไตย


 


เขารักษาสิทธิที่จะยืนหยัดสิทธิของตัวเองที่ผู้แทนของเขาจะต้องมาจากการเลือกตั้งอย่างสมบูรณ์


 


แด่...ณรงค์ศักดิ์ กอบไธสง


 


3 กันยายน 8.06 น.


 


ณ ตะเข็บชายแดนแห่งพื้นที่สถานการณ์ฉุกเฉิน


 


บางนา - บางพลี สมุทรปราการ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net