Skip to main content
sharethis

 


"นายทหารเรือบางคนบอกไม่อยากให้ฝ่ายไหนชนะ เพราะฝ่ายไหนชนะก็จะเหลิง ผมเห็นด้วยนะ อยากพูดอย่างนี้ตั้งนานแล้ว ใจผมไม่ต้องการให้ฝ่ายไหนชนะสักฝ่าย


 


เพราะฝ่ายไหนที่ชนะมันจะบดขยี้ไม่เพียงฝ่ายตรงข้าม แต่จะบดขยี้สิ่งสำคัญต่อเมืองไทย ทักษิณชนะเขาไม่บดขยี้แค่พันธมิตรฯ หรือกลุ่มที่พันธมิตรฯ เป็นตัวแทน แต่จะบดขยี้สิทธิเสรีภาพ ขณะที่พันธมิตรฯ ชนะก็ไม่เพียงแต่บดขยี้สมัคร-ทักษิณ แต่จะบดขยี้ประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยเป็นเครื่องมือที่ทักษิณใช้เข้าสู่อำนาจ สิทธิเสรีภาพเป็นเครื่องมือที่พันธมิตรฯ ใช้ในการต่อสู้"


 


"ต้องทำสองอย่าง คือต้องถอนกำลังความมั่นคงแยกห่างจากม็อบ ตำรวจกับม็อบ อย่าเอาไว้ใกล้กัน ถ้าม็อบตามมาก็ไม่รู้ทำอย่างไร แต่ต้องหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า อันที่สอง เก้าคนควรไปมอบตัวแล้วสู้คดี ถ้าทำสองอย่างนี้ อาจจะหลีกเลี่ยงการเผาบ้านเผาเมืองคนไทยฆ่ากันเองได้"


 


นักวิชาการฝ่ายประชาธิปไตยไม่เอา ผู้บัญญัติคำว่า "ระบอบทักษิณ" แต่กลับถูกเพื่อนพ้องในพันธมิตรฯ โจมตีอย่างรุนแรงเมื่อวิพากษ์วิจารณ์พันธมิตรฯ บ้าง


 


เกษียรบอกว่าบทสนทนาครั้งนี้เป็น "การวิเคราะห์อย่างเลือดเย็น" ต่อพันธมิตรฯ ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบ เห็นด้วยหรือเห็นต่าง นี่คือปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ


 


พรรคการเมืองต้านระบบ


"พันธมิตรฯ เป็นพรรคฝ่ายค้านนอกระบบตัวจริง พรรคประชาธิปัตย์เป็นแค่ตัวประกอบ มีใครจำได้บ้างว่าพรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้าน"


 


"ฝ่ายค้านตัวจริงคือพันธมิตรฯ เป็นพรรคฝ่ายค้านนอกระบบที่ถืออุดมการณ์ราชาชาตินิยม เป็นพรรคราชาชาตินิยม แต่ทำไมไม่ลงเลือกตั้งในระบบเพราะลงก็แพ้ ทุนไม่หนาเท่าพรรคการเมือง พรรคฝ่ายค้านตัวจริงก็จำเป็นต้องอยู่นอกระบบ"


 


"ในเมื่อไม่สามารถเข้าไปในระบบได้ ถ้าอยากได้อำนาจอยากชนะต้องทำอย่างไร ก็ดู 3 ปีย้อนหลัง คือ ใช้วิธีชุมนุม นำไปสู่รัฐประหาร และวิธีที่ใช้อยู่ทุกวันนี้ที่อาจารย์ปราโมทย์ (นาครทรรพ) เขียนว่าเป็น General Uprising ลุกฮือขึ้นสู้ทั่วไป คล้าย 14 ตุลา พฤษภาทมิฬ เพราะเลือกตั้งก็แพ้ ก็ชุมนุมประท้วงนำไปสู่การรัฐประหาร เมื่อรัฐประหารใช้ไม่ได้ก็หันไปใช้วิธีนอกระบบ ลุกฮือขึ้นสู้ทั่วไป"


 


"พรรคประชาธิปัตย์โดยสถานะเป็นฝ่ายค้านในระบบ Opposition Party แต่พันธมิตรฯ ไม่ใช่แค่ Opposition Party เขาเป็น Resistance เกินกว่า Opposition ซึ่งอยู่ในระบบรอวันขึ้นมา แต่ Resistance ต่อต้านทั้งระบบ ต้องการเปลี่ยนระบบ โค่นระบบเก่าสร้างระบบใหม่"


 


"จุดที่เขาเลือกตอนนี้ คือเป็น Resistance ไม่ได้เลือกเป็นแค่ Opposition พรรคประชาธิปัตย์ก็รู้ตัว แต่หวังว่า Resistance ไป Opposition ไป เผื่อกูจะได้ขึ้นมั่ง (หัวเราะ) แต่พันธมิตรฯ ไม่ได้คิดเปลี่ยนรัฐบาล ผมคิดว่าเขาถึงขั้นต่อต้านตัวระบบ เขาคิดจะเปลี่ยนระบบ"


 


"และเพราะเหตุนั้น สถานการณ์ตอนนี้ที่ลูกผีลูกคน ใครเพลี่ยงพล้ำในรอบนี้ก็ไม่ใช่รอบสุดท้าย ไม่ใช่จบแค่ยกนี้ยกหน้า เรากำลังพูดถึงอะไรที่ต่อเนื่องไปหลายปี เขายังอยู่ต่อไป การดำรงอยู่ของเขาเนื่องจากวางจุดยืนตัวเองต่อต้านทั้งระบบและไม่มีลู่ทางชนะในการเลือกตั้ง จึงต้องประท้วง นำไปสู่รัฐประหาร หรือ General Uprising"


 


"การดำรงอยู่ของเขาจะเป็นปัจจัยสร้างความไม่มีเสถียรภาพให้ระบบไปเรื่อยๆ อย่าเพิ่งบอกว่าเห็นด้วยไม่เห็นด้วย นี่วิเคราะห์อย่างเลือดเย็น การดำรงอยู่ของเขาไม่ว่าชอบธรรมหรือไม่ เห็นด้วยหรือไม่ จะเป็นปัจจัยทำให้เสถียรภาพสั่นคลอนอยู่ต่อไป ถ้าไม่สั่นคลอนเขาก็ต้องเปลี่ยนตัวเองลงเลือกตั้ง แต่เขาจะเปลี่ยนทำไม ลงก็แพ้ เขารอเปลี่ยนระบบ"


 


"มันมีส่วนคล้ายพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย มีส่วนคล้ายในความหมายที่ พคท.ก็ต้องการต่อต้าน ต้องการเปลี่ยนระบบการเมือง คล้ายเฉพาะในส่วนนี้ แต่อุดมการณ์กลับเป็นราชาชาตินิยม"


 


"คนไม่เห็นด้วยกับระบบก็จะรู้สึกว่าระบบนี้ป่วย ระบบนี้มันก็ป่วยจริง ระบบประชาธิปไตยรัฐสภาจากการเลือกตั้งแบบที่เรามีอยู่ ระบบนี้ป่วยจริง มีปัญหาของมัน พูดตรงไปตรงมา 100 กว่าวันที่ผ่านมารัฐบาลและรัฐสภาตั้งลูกยิงประเด็นให้พันธมิตรฯ ไม่หยุดหย่อน เดี๋ยวก็ทำเรื่องนั้นเรื่องนี้ให้พันธมิตรฯ ด่า เปิดโปง ทำไมทำแบบนั้น เพราะรัฐบาลรวบอำนาจผูกขาดประชาธิปไตย การกระจายอำนาจในแบบที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมตรวจสอบถ่วงดุลจริงจังไม่ค่อยเกิด ไล่ประเด็นดู แก้รัฐธรรมนูญรวบรัดรีบร้อนไม่ให้คนอื่นเข้าร่วมเท่าไหร่ เรื่องปราสาทพระวิหารเห็นด้วยไม่เห็นด้วย แต่รัฐบาลก็ทำพลาด เมกะโปรเจ็กต์ การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับการทำคดีทักษิณ  มีเรื่องก่อปัญหาไม่หยุด และการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับควบคุม ธปท. ตลท. การย้ายรัฐสภาก็ไปเบียดที่นักเรียน"


 


"ระบบบ้านี่มีแผลไม่มีแผลมันก็สร้างปัญหา เพราะไม่มีกลไกรับฟังประชาชน ตรวจสอบถ่วงดุลอย่างได้ประสิทธิผล จึงสร้างประเด็นให้พันธมิตรฯ เล่นตลอด ตราบใดที่ระบบเป็นแบบนี้ ยังไม่มีการแก้ไขปฏิรูป พันธมิตรฯ ก็มีเงื่อนไขที่จะอยู่ เป็นเหมือนระบบป่วยกูก็อยู่ได้เพราะมันป่วย คนทั้งหลายอาจไม่เห็นด้วยไม่ชอบที่พันธมิตรฯ ทำ แต่คิดว่ามีก็ดีเหมือนกัน ระบบป่วย มีพันธมิตรฯ จะได้เช็กตรวจสอบ มันเลยรู้สึกที่จะทน รัฐบาลจะปราบก็คัดค้านไม่ให้ปราบ"


 


"ม็อบพันธมิตรฯ ดำรงอยู่เพราะความบกพร่องของระบบการเมือง ไม่ว่าชอบไม่ชอบ ผมก็ไม่ค่อยชอบ ไม่เห็นด้วย แต่ทำไมคนจำนวนมากเห็นด้วยกับเขา อดทนอดออมให้เขาอยู่ต่อ เราต้องเข้าใจแม้เราไม่เห็นด้วย เหตุอะไรทำให้เขาดำรงอยู่ได้ ไม่เช่นนั้นเราจะเกลียดชังกันจนไม่เข้าใจ คิดผิด โง่ หลงพันธมิตรฯ  ฯลฯ  เราต้องคิดว่าเหตุผลคืออะไร ถ้าเราไม่ต้องการให้พันธมิตรฯ ดำรงอยู่ต่อไป ก็ต้องตีโจทย์ที่เงื่อนไข ขบให้แตก ปรับระบบการเมืองให้กลุ่มแบบนี้น้อยลง"


 


 


2 ปมอันตราย


ในแง่กลับกัน พันธมิตรฯ ก็ไม่ใช่ไม่มีปัญหา แม้เกษียรเห็นว่าเงื่อนไขที่ทำให้เกิดพันธมิตรฯ มาจากความป่วยของระบบ


 


"มีปัญหาใหญ่ 2 เรื่องที่ผมห่วงที่สุด"


 


"หนึ่งคือ พันธมิตรฯ เข้าใจบทบาทตัวเองอย่างไร ผมรู้สึกวิตก ผมฟังแกนนำพูดก่อนยึดทำเนียบฯ พันธมิตรฯ เข้าใจตัวเองว่าเป็นเครื่องมือการเมืองมวลชน ในการไปบรรลุสิ่งที่พวกเขาเข้าใจเอาเอง-ว่าเป็นพระราชประสงค์ขององค์พระประมุข เช่น เมื่อมีพระราชดำรัส เขาตีความเลย เห็นไหมพระองค์ท่านพูดแบบนี้เราเคลื่อนมวลชนเพื่อพระประมุข"


 


"มีการแปลทันทีโดยตรง จากพระราชดำรัสเขาตีความและผลักดันผ่านม็อบ โดยกระโดดข้ามหัวสถาบันการเมืองทางการที่มีอยู่ทั้งหมด ไม่ผ่านรัฐสภา รัฐบาล หรือพรรคการเมือง มันเป็นการตีความเจตนารมณ์ขององค์พระประมุข แปรเป็นการเมืองของมวลชน เคลื่อนโดยไม่ดูสถาบันการเมืองที่มีหน้าที่ เคลื่อนม็อบทันที แปลตรงหรือไม่ตรงเรายังไม่พูดกัน แต่ถ้าแปลถูกทำไมไม่ผ่านสถาบันการเมืองก่อน เคลื่อนไหวให้บรรลุทันที อันนี้อันตรายมาก เหมือนการทำ Short Circuit ไฟฟ้าลัดวงจร"


 


"ระบบการเมืองก็เหมือนแผงไฟมีจุดเริ่มจุดออก input output โดยหลักการของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข องค์พระประมุขมีบทบาทในการให้คำเตือนให้คำปรึกษาแนะนำกับรัฐบาลและสถาบันการเมืองที่มีอยู่ แต่ที่เกิดขึ้นมันกระโดดข้ามผ่านหมดเลย แทนที่นายกรัฐมนตรีหรือรัฐสภาจะเป็นผู้ฟังคำแนะนำตักเตือนแล้วไปตัดสินใจ นี่เป็นการ Short  Circuit ตีความพระราชดำรัสแล้วไปแปลเป็นปฏิบัติการการเมืองมวลชน ข้ามหัวสถาบันการเมืองทั้งหมดในระบบ"


 


"มันอันตรายมาก ทำให้ระบบที่คุณเรียกเองอยากได้เองว่า ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดำเนินงานไม่ได้ ลัดวงจรหมดเลย"


 


"สถานการณ์ที่คล้ายกันบางแง่ที่ทำให้ยุ่งยากคล้ายๆ อย่างนี้เคยเกิดในเมืองจีน สมัยปฏิวัติวัฒนธรรม เยาวชนเรดการ์ดตีความประธานเหมา มีคติพจน์มีคำชี้แนะเช่นนี้ อาศัยความเข้าใจตัวเองไปเคลื่อนทำลายองค์กรของรัฐของพรรคทั้งหมด ประเทศจีนอยู่ในภาวะปกครองไม่ได้นานมากเป็นสิบปี"


 


"อันนี้อันแรก เข้าใจบทบาทตัวเองแค่ไหน ในเมื่อพันธมิตรฯ เชื่อในอุดมการณ์ราชาชาตินิยม ไม่แปลกที่เชื่อ แต่ในภาคปฏิบัติเข้าใจไหมว่าต้องทำอย่างไร"


 


"เรื่องที่สอง พันธมิตรฯ มีปัญหาเรื่องจริยธรรมว่าด้วยวิธีการ แกนนำเขาและคนที่แวดล้อมแกนนำ เชื่อว่า the end justifies the means เป้าหมายถ้าถูกต้องดีงาม วิธีการเลวร้ายอย่างไรก็ได้ เป้าหมายเพื่อชาติ  วิธีการสกปรกอย่างไรก็เอาใช้วิธีการโดยไม่เลือก นี่เป็นบุคลิกท่วงทำนองในปรัชญาการดำเนินงานของเขา"


 


"เหตุผลที่เขาอ้างมีสองข้อ อันที่หนึ่ง คนที่คุณสู้อยู่ด้วยมันเป็นคนชั่วคนเลว ทักษิณสมัครก็แล้วแต่ สู้คนเลวไม่ต้องเลือกวิธีการ เพราะคนเลวเวลาทำกับคุณมันไม่เลือกวิธีการ ดังนั้นคุณก็ต้องไม่เลือกวิธีการเพราะไม่งั้นมัดมือตัวเองจะแพ้คนเลว ตกเป็นเหยื่อคนเลว"


 


"เช่น NBT มันเลวเป็นสื่อของรัฐเทกไซด์มันผิดมันเลวยึดมันเลย เพราะมึงเลวกูก็ทำเลวกับมึงได้"


 


"สองคือ คิดว่าเป้าหมายการต่อสู้ของตัวเองถูกต้องสำคัญสุดยอด อันนี้ก็แล้วแต่จะตีความว่าเขาสู้เพื่ออะไร แต่ถูกต้องสำคัญสุดยอดจนกระทั่งหลักเกณฑ์หลักการอื่นๆ ในทางศีลธรรมก็ดี ในทางการเมืองก็ดี มันไม่สำคัญเท่าไหร่ เพื่อปกป้องเป้าหมายต้องทำลายหลักการทางการเมืองบางอย่างลงไปบ้างก็ไม่เป็นไรเท่าไหร่"


 


"นี่ผมดูจากคำปราศรัยแกนนำทั้งหลายและคำอธิบายในการปฏิบัติการ หนึ่งสู้คนเลวมึงไม่ต้องเลือกวิธีการ ถ้าเสือกเป็นคนหน่อมแน้มก็โดนคนเลวกระทืบเอา สอง เป้าหมายเราสำคัญสูงส่งสุดยอด จะต้องทำลายละเมิดหลักเกณฑ์หลักการขั้นต่ำลงไปบ้าง ก็โอเค"


 


พันธมิตรฯ จึงพร้อมจะหยิบฉวยประเด็นต่างๆ  เช่นข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ปลุกความคลั่งชาติเรื่องดินแดน มาเป็นยุทธวิธีปลุกคนให้ต่อต้านรัฐบาล


 


เกษียรเห็นว่าการใช้วิธีการเช่นนี้จะมีปัญหาทางจริยธรรม สุ่มเสี่ยงที่จะปลุกพลังรุนแรงที่อาจควบคุมไม่อยู่จนไปทำลายคนที่ไม่เกี่ยวข้องหรือเกินกว่าเหตุ


 


"โดยเฉพาะการใช้คนอื่นเป็นเครื่องมือไปบรรลุเป้าหมาย ไม่เลือกวิธีการก็ต้องทำร้ายทำลายคนอื่นบ้าง"


 


"เรื่องอื่นๆ เช่นที่เขาว่าคนเขาด่าสาดเสียเทเสีย แต่งเรื่องโกหก ฯลฯ โอเค มันก็มี เกมการเมืองสกปรกแบบนี้ผมเข้าใจได้ แต่สองเรื่องนี้ผมห่วงมาก เข้าใจบทบาททางการเมืองของตัวเองอย่างไรและคิดอย่างไรกับวิธีการที่จะบรรลุเป้าหมาย"


 


 


การต่อสู้ที่ต้องไม่มีใครชนะ


แล้วอะไรคือเป้าหมายทางอุดมการณ์ของพันธมิตรฯ เพราะต่อให้สมัครลาออก หรือยุบสภา เขาก็คงไม่เลิกม็อบ ?


"เป้าหมายรูปธรรมของเขาพลิกไปเรื่อยๆ ผมลองเดาดู อาจผิดก็ได้ถูกก็ได้ ผมคิดว่าเขาต้องการดัดแปลงระบบการเมืองให้มีเสถียรภาพและความปลอดภัย ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลวทางเศรษฐกิจสังคมที่ควบคุมไม่ได้"


 


"ยกระดับในเชิงนามธรรม พลังของเขามุ่งหวังปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบบการเมืองให้เป็นหลักประกันเสถียรภาพความปลอดภัยให้กับอะไรต่ออะไรที่เขาคิดว่าสำคัญต่อบ้านเมือง ถ้าเราไปดูเขาเน้นอะไร ความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์ สถาบันชาติ หลักศีลธรรมจริยธรรม ระบบราชการ อำนาจที่กอปรด้วยคุณธรรมของระบบราชการ"


 


มันจะเป็นไปได้เพียงไรในความเปลี่ยนแปลงของโลก อย่างน้อยมันก็เป็นแบบเดิมไม่ได้ทั้งหมด ?


"โลกมันเปลี่ยน   เกิดสิ่งใหม่ทางเศรษฐกิจสังคมเยอะแยะ  และเริ่มเข้ามาในระบบการเมือง คุกคามปัจจัยทั้งหลายที่ให้ความมั่นคงกับ  "ประเทศไทย"  ของเขา  "ชาติไทย" ที่เขาเข้าใจและหวงแหน  ทำอย่างไรที่จะดัดแปลงระบบการเมืองสร้างความมั่นคงปลอดภัยให้พวกเขาได้"


 


"เริ่มจากนี้ค่อยแปลเป็น 70-30 หรืออันอื่น ทำอย่างไรให้ประเทศไทยที่เขาเข้าใจ รักหวงแหน มั่นคงอยู่ได้"


 


"พลังของเขาท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสังคมมุ่งหวังอะไร เฉพาะหน้าที่แสดงออกมาคือเขาห่วงอำนาจของกลุ่มทุนที่เข้ามาทางการเมืองมันจะทำลายอำนาจของกลุ่มพลังทางการเมืองเศรษฐกิจที่ดำรงอยู่ มันเป็นความต้องการที่เข้าใจได้ ไม่แปลก ในโลกนี้มีคนรู้สึกแบบนี้ ในความเปลี่ยนแปลง ปัญหาคือคุณจะผสานความต้องการนี้กับความจริงอีกครึ่งหนึ่งของประเทศอย่างไร ความจริงที่ว่าเศรษฐกิจมันเปลี่ยนสังคมเปลี่ยน คนรุ่นใหม่กลุ่มพลังใหม่มันเปลี่ยนไปแล้ว คุณตัดความจริงไปครึ่งหนึ่ง ปฏิเสธมัน อยากโยนลงทะเลไป ทำไม่ได้ คุณต้องปรับ ต้องอยู่กันให้ได้"


 


เกษียรเห็นว่ากระบวนการที่ต้องเกิดขึ้นคือการหาจุดลงตัวของพันธมิตรฯ และฝ่ายตรงข้าม


 


"มีนายทหารเรือบางคนให้สัมภาษณ์ว่าไม่อยากให้ฝ่ายไหนชนะ เพราะฝ่ายไหนชนะก็จะเหลิง ผมเห็นด้วยนะ อยากพูดอย่างนี้ตั้งนานแล้ว ใจผมไม่ต้องการให้ฝ่ายไหนชนะสักฝ่าย เพราะฝ่ายไหนที่ชนะมันจะบดขยี้ไม่เพียงฝ่ายตรงข้าม  แต่จะบดขยี้สิ่งสำคัญต่อเมืองไทย พูดตรงไปตรงมา ทักษิณชนะเขาไม่เพียงบดขยี้พันธมิตรฯ และกลุ่มที่พันธมิตรฯ เป็นตัวแทน แต่จะบดขยี้สิทธิเสรีภาพ ขณะที่พันธมิตรฯ ชนะก็ไม่เพียงบดขยี้สมัคร-ทักษิณ แต่จะบดขยี้ประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยเป็นเครื่องมือที่ทักษิณใช้เข้าสู่อำนาจ สิทธิเสรีภาพเป็นเครื่องมือที่พันธมิตรฯ ใช้ในการต่อสู้"


 


"ผมไม่ต้องการให้ใครชนะทั้งสองฝ่าย ฝ่ายไหนชนะมันจะทำลายของดี ผมต้องการให้ตรึงกันแล้วค่อยๆ หาจุดที่ลงตัวได้ ปรับข้อเรียกร้องสองฝ่ายหาจุดที่อยู่กันได้"


 


สังคมต้องมีสติ


"กระบวนการนี้จะยาวนาน เต็มไปด้วยอุบัติเหตุและความโน้มเอียงที่อันตราย รูปการแสดงออกของสมัคร-ทักษิณคือรวบหมด พันธมิตรฯ คือสุดโต่งไปอีกทาง สังคมไทยต้องสติดีมากๆ เราต้องประคองความเป็นจริงที่ว่าในสังคมเรามีพลังสองฝ่ายอยู่ด้วยกัน กำลังต่อสู้เพื่อหาทางประนีประนอม หาข้อตกลงที่จะอยู่กันได้ ในเส้นทางนี้อุบัติเหตุเกิดได้ ความโน้มเอียงเกิดขึ้นได้ ต้องประคับประคอง อย่าสวิงสุดโต่งตาม ไม่เช่นนั้นเราจะทำลายของดีของบ้านเมืองไป"


 


"ถ้าพันธมิตรฯ เดินไปสู่เป้าหมายตัวเองเต็มที่ มันก็จะทำให้เกิดซากปรักหักพังในสังคมมากเกินไป ถ้าเป็นไปอย่างที่ทักษิณต้องการก็จะเสียหายมากเกินไป"


 


"เฉพาะหน้าที่ขัดแย้งกันเราก็คงเห็น มันปริ่มๆ จะเกิดการลุกขึ้นสู้ทั่วไปแล้ว General Uprising มันปริ่มแล้ว เพราะฝ่ายหนึ่งพลาดคิดว่าจะชนะด้วยมาตรการเด็ดขาด บุกไปยึดทำเนียบฯ ยึดทีวี ยึดไม่สำเร็จตกเป็นฝ่ายตั้งรับทางการเมืองเสียความชอบธรรม อีกฝ่ายดีใจเอาตำรวจไปลุยนิดๆ - พลาด! ผู้คนโกรธแค้น มวลชนเขาก็มา"


 


"โอกาสจากการผิดพลาดทางยุทธวิธีเล็กๆ น้อยๆ ในท่ามกลางการแบ่งขั้ว อุบัติเหตุเกิดง่ายมาก ตอนนี้ปริ่มจะเกิดแล้วถ้ากุมสติไม่อยู่ไม่ว่าฝ่ายตำรวจหรือม็อบที่มา ที่ผ่านมาก็เห็นว่ากุมกันไม่อยู่ ถ้าไปเผาตรงนั้นตรงนี้ เราก็คิดฉากต่อไปได้ ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ประกาศเคอร์ฟิว ทหารออกมา"


 


"ต้องเบรก ถ้าเบรกไม่อยู่ไปอย่างนี้ก็ฉิบหายแน่ ต้องพูดแบบในหลวงเมื่อตอนพฤษภา ไม่มีใครชนะ บ้านเมืองฉิบหาย"


 


"ต้องทำสองอย่าง คือต้องถอนกำลังความมั่นคงแยกห่างจากม็อบ ตำรวจกับม็อบ อย่าเอาไว้ใกล้กัน ถ้าม็อบตามมาก็ไม่รู้ทำอย่างไร แต่ต้องหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า อันที่สอง เก้าคนควรไปมอบตัวแล้วสู้คดี ถ้าทำสองอย่างนี้ อาจจะหลีกเลี่ยงการเผาบ้านเผาเมืองคนไทยฆ่ากันเองได้ ถ้าทำสองอย่างนี้ กระบวนการทางกฎหมายและการเมืองก็ดำเนินงานกันต่อ คุณก็ไปพิสูจน์ในศาลว่ากบฏหรือเปล่า กระบวนการทางการเมืองเดินต่อไป ความขัดแย้งไม่หายไป ยังมีอยู่ สู้ตามกติกา ผลักไปสู่ช่องทางตามระบบสถาบัน ไม่ใช่ความขัดแย้งลามออกมาข้างนอกไม่มีกติกาอะไรเหลือ"


 


พันธมิตรฯ ก็ยังม็อบต่อ?


"พันธมิตรฯ ยังม็อบก็ม็อบไป คุณม็อบที่ไหนก็เรื่องของคุณ คนก็ดูทั้งประเทศถ้าม็อบไม่เข้าท่าเรตติ้งก็ตก (หัวเราะ) คุณดำเนินงานไป"


 


ผลโพลล์ที่ออกมาจะทำให้พันธมิตรฯ เสียความชอบธรรมไหม ?


"มันเป็นตัวละครที่เสียความชอบธรรมท่ามกลางระบบที่เสียความชอบธรรม มันมีฟังก์ชันในระบบที่ป่วย พอระบบที่ป่วยทำอะไรพลาดเขาก็ฟื้นขึ้นมา แต่ไม่ใช่ถาวร คนส่งน้ำเลี้ยงคือรัฐบาลและระบบการเมืองที่ชงลูกให้เขาไม่หยุด คุณรักษาระบบกลัวเสียอำนาจ โปรเจ็กท์ใหญ่ตัดสินใจผัวะๆ บีบชาวบ้าน"


 


แล้วคนดูคนส่วนใหญ่ที่นั่งตาปริบๆ ดูเขาอยู่นี้ควรทำอย่างไร คนส่วนใหญ่เบื่อหมดแล้ว ?


"ต้องบอกคนดูว่าถ้ารักตัวละครต้องติชม ผมคิดว่าทั้งสมัครและพันธมิตรฯ ทิ้งการวิจารณ์วิจารณ์ตัวเอง คนที่จะช่วยวิจารณ์ได้ดีที่สุดคือประชาชนคนดู ทั้งสองฝ่ายมีปัญหาบกพร่องทั้งคู่ พันธมิตรฯ สุ่มเสี่ยง ด่าไปทั่ว ทำลายแนวร่วม ผมไม่เข้าใจ ด่าเขาไปแปดทิศ ผมก็งง  มันบกพร่องผิดพลาด อยู่ดีๆ ตัดสินใจบุก NBT พวกเดียวกันไม่รู้ ให้สัมภาษณ์ตัดหางปล่อยวัด แสดงว่าข้างในมีปัญหาเยอะ คนดูที่รักพันธมิตรฯ ต้องช่วยติชม ทำไมปล่อยให้เกิดเรื่องสุ่มเสี่ยงแบบนี้ ข้างในโปร่งใสมีเอกภาพแค่ไหน เรื่องความโปร่งใสไม่ใช่คิดว่าโกงแต่เป็นประชาธิปไตยน้อยไปหรือเปล่า คนจำนวนมากมายเอาชีวิตฝากไว้กับแกนนำ แกนนำรับผิดชอบชีวิตเขาพอหรือเปล่า คนที่รักเขาต้องติชมเขา"


 


"รัฐบาลก็พลาดไม่เป็นกระบวน ตัดสินใจแต่ละเรื่อง คุณเผชิญศึกมัฆวานฯ ดันไปหาเรื่องกับเด็กโยธินบูรณะ (หัวเราะ) ใครรักสมัครรักทักษิณต้องติเขา วิจารณ์ด้วยความรักให้ทั้งสองฝ่ายอยู่ในกรอบ ทำการเมืองให้ฉลาด เป็นคุณต่อบ้านเมือง เดินในร่องรอย ไม่ทำลายบ้านเมืองระหว่างที่ทะเลาะกัน รักพันธมิตรฯ ต้องวิจารณ์พันธมิตรฯ รักสมัครทักษิณต้องวิจารณ์ อย่าให้ทั้งสองฝ่ายทำลายสิทธิเสรีภาพ ประชาธิปไตย ทำลายเศรษฐกิจ ของสำคัญของบ้านเมือง อย่าเผาบ้านเพื่อฆ่าหนูตัวเดียว"


 


เราบอกว่ามันเลือกข้างแล้วไม่วิจารณ์ ?


"คุณจำ พคท.ได้ไหม พคท.บอกว่ามีอะไรสหายพูดในพรรคอย่าวิจารณ์ข้างนอก สุดท้ายในพรรคไม่ให้วิจารณ์-แพ้หมด ฉิบหายเลย (หัวเราะ) อย่าเดินตาม พคท. ต้องให้มีการวิจารณ์วิจารณ์ตัวเอง อย่าคิดว่าตัวเองถูกคนเดียว พคท.ยิ่งใหญ่มีเกียรติถูกต้อง พูดจบไม่ต้องวิจารณ์เลย เพราะเท่ากับเราตัวเล็กนิดเดียว ไม่มีเกียรติ ไม่ถูกต้อง (หัวเราะ) นี่พันธมิตรฯ ก็พูดคล้าย พคท. เรามาสร้างประวัติศาสตร์ยิ่งใหญ่ที่สุดเป็นสงครามครั้งสุดท้าย คนฟังตัวเล็กนิดเดียววิจารณ์ไม่ได้เลย"


 


"ผมว่าต้องเสริมการเปิดโปงวิพากษ์วิจารณ์กัน เบื่อได้ ผมก็เบื่อนะ แต่รักเขาต้องด่าเขา ถ้ารักแล้วไม่ด่า ของที่คุณรักฉิบหาย ไม่ใช่รักแล้วหลง รักดอกจึงวิจารณ์"


 


หาคำตอบโดยไม่ฆ่ากัน


 


เริ่มมีกระแสข่าวนายกฯ คนกลาง จะเป็นแนวทางแก้ปัญหาไหม ?


"ก็แค่ถ่วงเวลาออกไป ผมไม่แคร์หรอก ไม่ว่านายกฯ คนกลางคืออะไร คำถามคือนี่เป็นวิธีตอบโจทย์ใหญ่ของบ้านเมืองหรือเปล่า"


 


"โจทย์ใหญ่คือความเปลี่ยนแปลง พลังของคนที่แบ่งข้างด้วยจุดยืนท่าทีต่อความเปลี่ยนแปลง ด้วยผลประโยชน์ต่างกัน มันแบ่งข้างเป็นพลังสองฝ่ายต่อสู้กัน นี่คือความจริง ต้องหาทางประคองให้มันอยู่กันต่อไปได้ ให้ทะเลาะกันในระบบการเมือง ไม่ต้องเข่นฆ่ากัน"


 


"นายกฯ คนกลางตอบสิ่งเหล่านี้ได้ไหม ถ้าตอบได้ผมยินดี แต่ถ้าหยุดทะเลาะกันชั่วคราวไม่แก้อะไรเลยแค่ถ่วงเวลาก็กลับไปอีก"


 


เราคุยกันครั้งก่อนเรื่องการต่อสู้ทางชนชั้น มันยังเป็นสภาพเช่นนั้นอยู่ไหมคือคนชั้นกลางในเมืองกับคนชั้นล่างในชนบท ?


 


เกษียรบอกว่าเขากำลังสนใจบทวิเคราะห์ของ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ "อ.นิธิกำลังวิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงของชนชั้นกลางในชนบทกับในเมือง มันมีความเปลี่ยนแปลง เกิดคนชั้นกลางรุ่นใหม่ในชนบทที่เป็นฐานของไทยรักไทย ขณะที่ความเปลี่ยนแปลงของคนชั้นกลางในเมืองคือฐานพันธมิตรฯ มันเริ่มมีคนคิดถึงอย่างละเอียดว่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหน้าตาเป็นอย่างไร"


 


ตอนนี้เราเห็นแต่พลังคนชั้นกลางในเมือง แต่พลังของคนชั้นล่างมันไม่สามารถออกมาเคลื่อนไหวได้ มันจะไปตามแนวโน้มความต้องการของคนในเมืองเท่านั้นไหม ?


 


"การเมืองมันล็อกในระบบที่มีการเลือกตั้ง เราค้าขายกับโลกก็ต้องมีการเลือกตั้ง ถ้าไม่มีแบบพม่าก็ฉิบหาย ในที่สุดเนื่องจากเราเปิดรับโลกาภิวัตน์เราต้องมีการเลือกตั้ง คนชนบทกำลังทางเศรษฐกิจน้อยแต่ฐานเสียงใหญ่  เขาเลือกพรรคไหนก็ชนะ  พันธมิตรฯ ก็เจอความจริงแบบนี้ พอเจอก็อยากให้เลือกตั้งน้อยลง"


 


"แต่อย่างไรก็ต้องกลับไปสู่การเลือกตั้ง กลับไปสู่เกมกติกา กลับไปสู้ปัญหาเดิมอีก อยู่ในวัฏจักรอุบาทว์ ตราบใดที่ไม่มีการนำและแนวทางที่ดีกว่าพันธมิตรฯ"


 


"อะไรคือการนำและแนวทางที่ดีกว่า คือสร้างหลักนโยบายรองรับผลประโยชน์ร่วมของคนเมืองและคนชนบทได้ ให้เขาโหวตให้พรรคที่เกิดใหม่ ให้มีกลุ่มก้อนการเมืองที่รองรับผลประโยชน์ทั้งคนชนบทคนเมืองได้"


 


"มันต้อง compromise  รองรับผลประโยชน์ทั้งคนเมืองคนชนบทด้วยกัน มีการผ่อนสั้นผ่อนยาวเสียสละบ้าง ไม่เช่นนั้นเราก็จะวนในวัฏจักรอุบาทว์ การนำและแนวทางพันธมิตรฯ ที่ไปไม่พ้นเหวของการเลือกตั้งเจอเหวทีไรถอยทุกที จะกระโดดข้ามได้ไหม ต้องสร้างแนวทางและการนำที่ดีกว่าพันธมิตรฯ หรือพันธมิตรฯ ปรับตัวให้ดีกว่านี้ นำเสนอนโยบายผลประโยชน์ที่สอดคล้องทั้งคนเมืองคนชนบทก็ดึงเสียงเขาได้ กระโดดข้ามเหวได้ พาประเทศพ้นการแบ่งข้างได้"


 


เป็นไปได้เพียงไรที่จะปรับประชาธิปไตยในระบบให้รองรับความต้องการของพันธมิตรฯ ?


"พลังส่วนหนึ่งที่ไปร่วมพันธมิตรฯ ชาวบ้าน เอ็นจีโอ คงอยากได้การเมืองที่เปิดช่องทางให้มีส่วนร่วมมากขึ้นเช่นอำนาจตัดสินใจในเรื่องสำคัญของชีวิต ไม่ใช่รวมศูนย์ผูกขาดที่กลไกการเมืองสถาบันการเมืองต่างๆ ทั้งหมด เราต้องพูดถึงการกระจายอำนาจระดับท้องถิ่น ทรัพยากร ชีวิตของเขาอย่างจริงจัง ไม่ใช่ตัดสินในกรุงเทพฯ ในมือนายกฯ รัฐมนตรี หรือ ส.ส.กลุ่มหนึ่ง ถ้าไม่แก้ก็ยังมีโจทย์ความทุกข์จากระบบการเมืองที่เป็นอย่างนี้"


 


ทำอย่างไรจะให้พันธมิตรฯ เชื่อว่าการเมืองในระบบยังปรับปรุงได้ ?


"ผมไม่สามารถเปลี่ยนใจให้เขาเชื่อได้ มันเป็นภาระของนักการเมืองจากการเลือกตั้ง ถ้าแก้ไม่ได้ ก็เข้าใจได้ว่าทำไมเขาเลือกไปอยู่กับการนำที่ปฏิเสธพวกคุณ ก็น่าคิดเหมือนกันว่าระบบเลือกตั้งรัฐสภาแบบที่เรามีอยู่มีปัญหา มีการกระจายอำนาจหรือไม่มี ถ้าไม่มี ระบบ 70-30 จะกระจายอำนาจได้ดีกว่าหรือเปล่า ถ้าจริงก็น่าคิด แสดงว่าประชาธิปไตยที่เราทำอยู่กระจอกมาก และแก้โจทย์บางเรื่องไม่ได้"


 


"แต่ถ้าถามใจผม ผมหนักใจ ระแวง ไม่มั่นใจมากกว่า" เกษียรกล่าวถึงประชาธิปไตยโควตาอ้อย ว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ มีบทเรียนประสบการณ์กันมาเยอะแล้ว


 


"เขาเรียกว่าแบบบรรษัทนิยม Corporatism มีทั้งแบบเผด็จการและประชาธิปไตย คือไม่เชื่อประชาธิปไตยรัฐสภาไม่เชื่อการเลือกตั้ง เอาตัวแทนกลุ่มอาชีพ พรรคไม่ต้องมี ไม่ใช่ไอเดียใหม่ เก่ามากแล้ว มีปัญหาตลอดมา ตั้งแต่สมัยพรรคฟาสซิสต์ของอิตาลี ก่อนฟาสซิสต์เสียอีก มาจากโป๊ปองค์หนึ่ง บอกว่าเพื่อต่อสู้คอมมิวนิสต์เราต้องมีระบบ Corporatism จัดตั้งตัวแทนกลุ่มอาชีพขึ้นมาเป็นองค์กรของเรา ซินดิเคตของกรรมกร ชาวนา นายทุน ข้าราชการ ทหาร เลือกตัวแทน"


 


"ฟาสซิสต์เอาไปทำ แต่ไม่ใช่เฉพาะฟาสซิสต์ บางกลไกระบอบประชาธิปไตยก็ใช้เสริมตัวแทนจากการเลือกตั้ง ให้มีอีกช่องทางหนึ่งเพื่อสะท้อนทัศนะ เอามาประกอบกันโดยจัดสรรอำนาจบางส่วนให้ แต่ไม่ใช่อำนาจอธิปไตยที่เป็นพื้นฐานก็ดำรงอยู่ได้ ใช้ตัดสินวิธีการบางปัญหาที่มีผลประโยชน์เฉพาะเจาะจง เหมือนที่เรามีสภาที่ปรึกษา หรือแก้ปัญหาค่าแรงด้วยตัวแทน 3 ฝ่าย"


 


"แต่ไอเดียพันธมิตรฯ คือทำลายการเลือกตั้ง ใช้ระบบตัวแทนที่กลั่นกรองแล้ว ไม่มีฝ่ายค้าน ควบคุมง่าย ซึ่งเมืองไทยเป็นไปได้ยากมาก ตอนสนธิเสนอคงมีใครบอกเสนอไอเดียบรรเจิด แต่หลังจากโดนถล่มทั่วด้าน แม้แต่ชัยอนันต์ก็ถอยไป"


 


"ความคิดนี้เกิดจากการบีบคั้นของการแพ้เกมเลือกตั้งที่ถูกครอบงำโดยกลุ่มทุนโดยนักเลือกตั้ง นั่นก็เป็นความจริงอีกด้านหนึ่ง ซีกของนักการเมืองก็ต้องปฏิรูป ปรับปรุงแก้ไข ถ้ายังรักการเป็นประชาธิปไตยต่อไปว่ามันต้องไม่เป็นขี้ข้านายทุนเป็นกลุ่มผลประโยชน์ที่ไม่ตอบสนองใครเลย ต้องกระจายอำนาจให้ชาวบ้าน เขาจะหายใจยังไงเอาโรงไฟฟ้าถ่านหินไปตั้ง กินน้ำยังไงเอาเหมืองคลิตี้ไปตั้ง ตัดสินกันที่ส่วนกลาง บางเรื่องมันไม่ควรให้ส่วนกลางตัดสินทุกเรื่อง บางเรื่องต้องคิดสร้างสรรค์กลไกให้ชาวบ้านที่มีผลได้เสียมีส่วนร่วม เป็นไปได้ไหมต้องออกแบบระบบให้ชาวบ้านเห็นชอบก่อนที่ผ่านมาไม่มี


 


ชาวบ้าน suffer ตลอด การตัดสินใจเกิดสมัยไหน ในการเลือกตั้งระบบรัฐสภาใช่ไหม มันก็มีบางอย่างผิดในระบบ ต้องแก้ แม้ผมจะหวาดเสียวน้อยกว่าระบบที่ผมไม่รู้จักก็ตาม แต่ระบบคุณมีปัญหา ก็ต้องพยายามแก้ไม่งั้นก็เป็นวัวสันหลังหวะต่อไป"


 


เกษียรทิ้งท้ายว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในวันนี้ ต้องแก้ด้วยความอดทนมากกว่าที่จะเอาชนะ หรือทำให้เกิดการเสียเลือดเนื้อ


 


"คนตายคนเดียวก็ไม่คุ้มเพราะตายก็แก้ไม่ได้ ได้แต่วีรชน ไม่ได้ solution ปัญหาในที่สุดยังดำรงอยู่ ความขัดแย้งยังดำรงอยู่".


 


 


 


-------------------------


ที่มา : ไทยโพสต์ แทบลอยด์ ฉบับวันที่ 31 สิงหาคม 2551

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net