ประวัติศาสตร์กับโอลิมปิก

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

มนวัธน์ พรหมรัตน์
นักศึกษาภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
                                          

 

การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในครั้งนี้ได้สะท้อนให้เห็นความหยุดนิ่งบางอย่างในสังคมไทยได้เป็นอย่างดี ความหยุดนิ่งเช่นนี้เองที่น่าจะเป็นเหตุผลสำคัญของความสำเร็จ "ที่ไม่สำเร็จ"อย่างแท้จริงของนักกีฬาไทยในการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติทุกครั้งเรื่อยมา

เชื่อว่าทุกๆ คนคงจะคุ้นหูกันเป็นอย่างดีสำหรับคำว่า "ทัพนักกีฬาไทย" หรือ "วีรบุรุษโอลิมปิก" คำเหล่านี้สะท้อนให้เห็นภาพของประวัติศาสตร์ชาตินิยมแบบเก่าๆ ที่ยังคงฝังอยู่ในความรู้สึกนึกคิดของคนไทยตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน การแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติถูกสร้างให้กลายเป็นสมรภูมิการต่อสู้เพื่อเกียรติยศไม่ต่างอะไรกับสมรภูมิรบที่ดอนเจดีย์เมื่อสี่ร้อยกว่าปีที่แล้ว ทีมนักกีฬาไทยที่เดินทางไปแข่งขันกีฬาอันมีจุดประสงค์เพื่อ "มิตรภาพ" และ "สันติภาพ" กลายเป็น "กองทัพ" นักกีฬาไทยที่เสมือนต้องออกไปเผชิญกับสงครามระดับประเทศ

ภาพเหล่านี้ถูกผลิตและเผยแพร่ออกไปทั้งทางสื่อโทรทัศน์ วิทยุ หรือแม้กระทั่วสิ่งพิมพ์ ไม่เว้นแต่ละวันตลอดช่วงระยะเวลาการแข่งขัน ปลุกเร้าให้ผู้ชม ผู้ฟัง ผู้อ่านเกิดความรู้สึกฮึกเหิม รักชาติไปตามๆ กัน จนแทบจะไม่ต่างไปจากความรู้สึกดุเดือดเลือดพุ่งหลังชมภาพยนตร์ตำนานสมเด็จพระนเรศวรฯ บ้านทุกหลังตั้งแต่คฤหาสน์กลางกรุงยันเพิงไม้ริมทุ่งต่างก็ใจจดใจจ่อร่วม "ชม" และร่วม "เชียร์" นักกีฬาไทยกันถ้วนหน้า

แต่ที่น่าแปลกคือชาวไทยที่รับชมและร่วมเชียร์อยู่ทางบ้านกลับไม่ได้ชมและเชียร์ "ทัพนักกีฬาไทย"ในทุกประเภทการแข่งขัน "ขุนพลเสื้อกล้ามไทย" และ "ทัพนักยกลูกเหล็กไทย" คือจุดมุ่งหมายของการชมและเชียร์ของคนไทยแทบจะทั้งประเทศ เกิดอะไรขึ้นกับนักกีฬาชนิดอื่นๆของไทย เหตุใดเขาเหล่านั้นจึงไม่ถูกสังกัดเป็นทัพนักกีฬาไทยในสายตาของคนไทยทั้งประเทศอย่างแท้จริง? ก่อนจะตอบคำถามนี้ได้ เราลองมองย้อนกลับมาดูอะไรบางอย่างที่เหมือนจะไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้กันก่อน นั่นคือเรื่องของ "ประวัติศาสตร์ชาติไทย" ที่เราเรียนกันมาตั้งแต่เด็กจนโต ในประวัติศาสตร์ชาติไทยที่เรารู้จักกันนี้เราถูกเลือกให้ "จำ" บางเรื่องและ "ลืม" บางเรื่องมาโดยตลอด เราจำ พม่าที่มาเผากรุงศรีได้ แต่เราลืมหรือเรียกได้ว่าถูกทำให้ลืม ไทยที่บุกไปทำลายเมืองพระนครของเขมรเสีย นี่แหละคือประวัติศาสตร์ของชาติไทยที่คนไทยรู้จัก ย้อนกลับมาดูที่การแข่งขันกีฬาที่เรากล่าวถึงนี้ เราก็ถูกเลือกให้ "จำ" บางอย่างและ "ลืม" บางอย่างเช่นเดียวกัน

กีฬามวยสากลสมัครเล่นและกีฬายกน้ำหนักเป็นสองชนิดกีฬาที่ประเทศไทยประสบความสำเร็จคว้าชัยเอาเหรียญทองมาให้คนไทยได้ชื่นชมกันทั้งประเทศ สถานะของทีมนักกีฬาทั้งสองชนิดจึงกลายเป็น "ขุนพล" หรือ "กองทัพ" นักกีฬาผู้เป็นกำลังหลักและเป็นความหวังของชาติไทยในสมรภูมิแห่งเกียรติยศ ศักดิ์ศรีในครั้งนี้ สถานะที่สูงกว่านักกีฬาประเภทอื่นๆ ของนักกีฬาทั้งสองชนิดนี้เป็นสิ่งที่ภาครัฐไทย อาจรวมไปถึงสื่อมวลชนไทยได้เลือกหยิบเอามาให้คนไทยได้ "จดจำ" และ "รับรู้" อยู่ตลอดเวลา ในขณะที่นักกีฬาประเภทอื่นๆ กลับถูกปัดทิ้งให้คนไทย "ลืม" ไปเสีย นี่คือผลพวงหนึ่งที่น่าจะตกทอดมาจากอุดมการณ์ของประวัติศาสตร์ชาตินิยม เช่นเดียวกับที่คนไทยรู้จักแต่ชาวบ้านบางระจันผู้ต่อสู้กับพม่าจนตัวตาย แต่กลับไม่รู้จักชาวบ้าน ไพร่พลอีกเป็นสิบเป็นร้อยหมู่บ้าน นับร้อยนับพันคนที่ล้มตายไปเพราะการต่อสู้กับพม่าเช่นกัน ดังนั้นในสำหรับคนไทยจึงมีเพียงแต่ชาวบ้านบางระจัน เช่นเดียวกับที่มีแต่นักมวยไทย นักยกน้ำหนักไทยเท่านั้น

หากมองเผินๆ แล้วหลายคนอาจคิดว่านี่ไม่ใช่ปัญหาและไม่เกี่ยวข้องอะไรกับความสำเร็จหรือความล้มเหลวของนักกีฬาไทยแต่ประการใด แต่ในความเป็นจริงแล้วเรื่องนี้เกี่ยวข้องอย่างมากและเป็นเหตุผลที่สำคัญอย่างยิ่งด้วย เพราะนี่แสดงให้เห็นว่าคนไทยเลือกที่จะมองหาแต่ "วีรบุรุษ" นับตั้งแต่ในประวัติศาสตร์ชาติไทยมาจนถึงการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติในปัจจุบัน เรายังคงจดจำ วิจารณ์ พลฤทธิ์ หรือ ปวีณา ทองสุข ได้เป็นอย่างดี แต่จะมีสักกี่คนที่จำ วิชัย ราชานนท์ หรือ เกษราภรณ์ สุตาได้ ทั้งๆ ที่เขาเหล่านี้ต่างก็ได้รับเหรียญรางวัลในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเช่นกัน เหตุใดจึงเป็นเช่นนี้? เหตุผลง่ายๆ ก็คือพื้นที่สำหรับวีรบุรุษ วีรสตรีโอลิมปิกจะมีให้เฉพาะผู้ที่ได้เหรียญทองเท่านั้น ดังนั้นจึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจเลยที่กีฬาชนิดอื่นๆของไทยที่ไม่เคยได้รับเหรียญรางวัลแทบจะไม่มีพื้นที่อยู่ในความคิด ความทรงจำของคนไทยเลย เพราะกีฬาเหล่านี้ไม่เคยสร้างวีรบุรุษ และเมื่อไม่มีวีรบุรุษจึงไม่มีความจำเป็นที่ภาครัฐของไทยจะเลือกให้เป็นสิ่งที่ต้อง "จดจำ" สำหรับคนไทย และยิ่งกว่านั้นยังไม่มีความจำเป็นที่จะทุ่มทุนสนับสนุนนักกีฬาเหล่านี้อย่างจริงจังเหมือนกับกีฬาชนิดอื่นๆ ที่มีวีรบุรุษอีกด้วย

สำหรับคนไทย ไม่มีที่ว่างให้กับนักกีฬาชนิดอื่นๆ อีกแล้ว ยกเว้นเสียแต่ว่านักกีฬาที่ถูกลืมเหล่านี้จะสามารถใช้ความมานะบุกบั่นของตนเข้าคว้าชัยในการแข่งขันมาให้ได้ กีฬาชนิดนั้นจึงจะสามารถแทรกตัวเข้ามามีพื้นที่ในความคิดของคนไทยได้ ตัวอย่างที่เด่นชัด คือในกรณีของโอลิมปิกเมื่อ 4 ปีที่แล้ว เมื่อน้องวิว เยาวภา บุรพลชัย ซึ่งไม่เคยอยู่ในสายตาคนไทยมาก่อนสามารถฝ่าฟันเอาชนะนักกีฬาประเทศอื่นๆ จนสามารถคว้าเอาเหรียญทองแดงในกีฬาเทควันโดกลับมาฝากชาวไทยเป็นครั้งแรกของวงการเทควันโดไทย น้องวิว จึงกลายเป็นฮีโร่สาวขวัญใจชาวไทยในชั่วพริบตา กีฬาเทควันโดกลายเป็นกระแสที่ตื่นตัวในคนไทยในช่วงเวลาหนึ่ง เด็กๆต่างใฝ่ฝันที่จะเป็นนักกีฬาเทควันโดทีมชาติเหมือนพี่วิว พ่อแม่ผู้ปกครองต่างก็แห่กันส่งบุตรหลานเข้าไปเรียนเทควันโดกันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง หวังจะให้ลูกได้เป็นวีรบุรุษของไทยในอนาคต ไม่ต่างกับกระแสมวยไทย หรือฟันดาบไทย หลังจากดูหนังองค์บาก หรือตำนานสมเด็จพระนเรศวร ที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่งคือ หลังจากที่เกิดฮีโรในกีฬาเทควันโดของไทย ปรากฏว่าคนไทยเริ่มรับเอากีฬาอีกประเภทหนึ่งเข้าไปในความรู้สึกนึกคิดเมื่อพูดถึงกีฬาโอลิมปิกแล้ว นั่นคือกีฬาเทควันโด

ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งนี้ก็เป็นที่น่าสังเกตว่านักกีฬาเทควันโดไทยสามารถบุกบั่นฟันฝ่าเข้าสู่รอบลึกๆด้วยกันถึงสองคน คนหนึ่งสามารถคว้าเอาเหรียญเงินมาได้ อีกคนหนึ่งปราชัยในการชิงเหรียญทองแดง แต่นี่สะท้อนให้เห็นว่ากีฬาที่ไทยมีความหวังในการชิงเหรียญรางวัลนั้นต้องเป็นกีฬาที่มีวีรบุรุษเกิดขึ้นมาก่อนแล้วทั้งสิ้น เพราะหากไม่มีวีรบุรุษทางภาครัฐหรือเอกชนย่อมไม่ยินดีที่จะทุ่มงบสนับสนุนไปอย่าง "ไร้ประโยชน์" เช่นนี้จึงเป็นที่น่าเสียใจสำหรับนักกีฬาประเภทอื่นๆที่ไม่เคยมีวีรบุรุษ วิลลี่ วีระเดช นักกีฬาฟันดาบไทยถือเป็นตัวอย่างที่ดีของเรื่องนี้ เนื่องด้วยความสามารถที่ค่อนข้างสูงทำให้เขาดูมีความหวังในการเข้าถึงรอบลึกๆของการแข่งขัน แต่เขาและทีมนักกีฬาฟันดาบกลับไม่มีโค้ชช่วยเหลือ แนะนำในการแข่งขันจริง ในทุกนัดการแข่งขันเขาต้องใช้สติปัญญาและกำลังกายของตนทั้งสิ้น เงินที่ภาครัฐให้กับเขาทั้งเงินเดือนและเบี้ยเลี้ยงต่างถูกนำไปใช้ในการซื้อ บำรุงรักษาอุปกรณ์ จ้างคู่ซ้อม หรือผู้ฝึกสอนจนแทบจะไม่เหลือเลยในแต่ละเดือน ในขณะที่กีฬามวยสากลสมัครเล่นไทยมีโอกาสได้ไปเก็บตัวในต่างประเทศ นี่คือความเหลื่อมล้ำของภาครัฐไทยในการปฏิบัติต่อผู้ที่ถูก "เลือก" และผู้ที่ "ไม่ถูกเลือก" ใช่หรือไม่? เช่นนี้ถ้าตราบใดที่กีฬาฟันดาบไทยไม่สามารถสร้างวีรบุรุษขึ้นมาได้ ภาครัฐของไทยก็จะไม่มีวันใส่ใจหรือทุ่มเทงบประมาณพร้อมทั้งยกย่องให้เขาเป็นผู้ถูก "จำ" เช่นนั้น หรือ?

การถูกเลือกให้จำ และ ลืม เป็นสิ่งร้ายกาจที่ครอบงำสังคมไทยมาตลอดระยะเวลาอันยาวนาน วีรบุรุษหรือวีรสตรีไทยกลายเป็นคนดังในพริบตาเมื่อกลับมาถึงเมืองไทย นอกจากเงินสนับสนุนทั้งจากภาครัฐและเอกชนเป็นเลขเจ็ดหลักแล้ว จะหยิบจะจับอะไรก็เป็นเงินเป็นทองไปหมด เช่น สมรักษ์ คำสิงห์ วีรบุรุษเหรียญทองโอลิมปิกคนแรกของไทย เมื่อกลับมาก็ถูกชักนำเข้าสู่วงการบันเทิง กลายเป็นพระเอกละครประวัติศาสตร์ชาตินิยมเรื่อง นายขนมต้ม เป็นนายแบบกางเกงในชายยี่ห้อดังยี่ห้อหนึ่ง กลายเป็นเจ้าของฉายาโม้อมตะที่ติดปากคนไทยโดยทั่วไป ไม่ว่าจะไปทางใดไม่มีใครไม่รู้จักสมรักษ์ คำสิงห์ นี่เป็นตัวอย่างที่ดีของการ "เลือก" ปฏิบัติต่อนักกีฬาไทยอย่างเห็นได้ชัด นักกีฬาคนอื่นๆที่ไม่สามารถคว้าเหรียญรางวัลกลับมาเมืองไทยไม่เคยมีชื่อปรากฏอยู่บนสื่อต่างๆ ไม่เคยถูกชักนำเข้าสู่วงการบันเทิง ไม่เคยได้รับการสนับสนุนทั้งจากภาครัฐและเอกชนดังเช่นวีรบุรุษ ผู้ปราชัยกลับมาคือนักรบผู้พ่ายแพ้ไม่มีค่าต่อการจดจำและถูกมองข้ามไปอย่างหมางเมินด้วยความจงใจ ทั้งๆที่เขาเหล่านี้ต่างก็พยายามจนสุดความสามารถของตนแล้ว เช่นนี้กำลังใจสำหรับการก้าวเดินต่อไปของผู้แพ้อยู่ที่ใดเล่า? และเขาจะกลับมายืนอย่างผงาดอีกเพื่อพร้อมสู้ศึกอีกครั้งได้อย่างไร?

ตราบใดที่คนไทยยังมุ่งที่จะแสวงหาแต่วีรบุรุษของชาติ โดยไม่เคยสนใจผู้ปราชัยคนอื่นๆเช่นนี้ จะมีประโยชน์อะไรเล่าที่จะต้องออกมาโฆษณาปลุกระดมชาวไทยทั้งชาติให้ร่วมส่งแรงใจไปเชียร์นักกีฬาไทยกันอย่างครึกโครม ในเมื่อคนไทยไม่เคยรู้จักนักกีฬาชนิดอื่นๆ ซึ่งภาครัฐของไทยเลือกที่จะลืมและละเลยเขาเหล่านั้นทิ้งไปเสีย เหตุแค่เพราะเขาสังกัดอยู่ในชนิดกีฬาที่ไม่เคยสร้าง "เกียรติภูมิแก่ชาติ" หรือ แค่เพราะเขาไม่มี "ความเป็นวีรบุรุษ" แบบประวัติศาสตร์ชาตินิยมของไทยอยู่ในตัวของเขาเท่านั้นหรือ? ถ้าสังคมไทยยังคงหยุดนิ่งอยู่กับวังวนของคำว่า "วีรบุรุษ" เช่นนี้ต่อไป ไม่ว่าจะสี่ปีข้างหน้า หรือสิบปีข้างหน้า ความสำเร็จของนักกีฬาไทยก็จะไม่มีทางก้าวหน้าไปไกลกว่านี้เลย เพราะความสำเร็จเป็นแค่ของวีรบุรุษนักกีฬาไทย ไม่ใช่ของทีมนักกีฬาไทยทั้งหมดอย่างแท้จริงนั่นเอง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท