Skip to main content
sharethis


10 ส.ค. 51 - การแข่งขันยกน้ำหนักในวันที่ 2 จอมพลังสาวไทยมีโอกาสลุ้นเหรียญอีกครั้ง จากรุ่น 53 กก. หญิง โดย "น้องเก๋" ประภาวดี เจริญรัตนธารากูล หรือชื่อเดิม จันทร์พิมพ์ กันทะเตียน สาวน้อยจากจังหวัดนครสวรรค์วัย 24 ปี ที่เพิ่งประเดิมสนามเป็นรายการแรก หลังประสบอุบัติเหตุข้อศอกหลุดระหว่างการแข่งขันยกน้ำหนักชิงชนะเลิศแห่งโลก เมื่อปีที่แล้ว ที่ จ.เชียงใหม่ โดยรุ่นนี้มีนักกีฬาลงแข่งขันรวม 9 คนเท่านั้น


 


ออกสตาร์ทในท่าสแนชท์ "น้องเก๋" เรียกน้ำหนักครั้งแรกที่ 92 กก. และยกผ่านได้แบบสบาย ๆ ครั้งต่อไปเพิ่มน้ำหนักเป็น 95 กก. เท่ากับสถิติที่ "น้องอร" อุดมพร พลศักดิ์ ทำไว้ในการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ 2004 ที่ประเทศกรีซ และก็ยกผ่านได้อีกครั้ง แต่ในครั้งสุดท้ายจอมพลังสาวไทยเพิ่มน้ำหนักไปที่ 97 กก. แต่พลาดเหล็กตกหลัง ทำให้สถิติหยุดแค่ 95 กก. เท่ากับคู่แข่งจากเบลารุส นาสตาสเซีย โนวิคาวา แต่น้ำหนักตัวนักกีฬาไทยน้อยกว่า จึงขึ้นนำเป็นอันดับ 1 ตามด้วยอันดับ 3 ยุน จินฮี จากเกาหลีใต้ ที่ยกผ่านครั้งแรกครั้งเดียวที่ 94 กก.


 


จากนั้นเป็นการการแข่งขันในท่าคลีนแอนด์เจิร์ก "น้องเก๋" เรียกน้ำหนักมากที่สุดที่ 120 กก. จากสถิติเดิมที่เธอเคยทำได้ดีที่สุดที่ 122 กก. เท่านั้น และการยกครั้งแรกก็ผ่านไปได้อย่างง่ายดาย จากนั้นในการยกครั้งที่ 2 จอมพลังสาวไทยเพิ่มน้ำหนักเป็น 126 กก. เพื่อทำลายสถิติโอลิมปิกเดิมที่ หยาง เซียะ นักกีฬาจีนทำไว้ในซิดนีย์เกมส์ ที่ 195 กก. และทำได้สำเร็จ ก่อนที่การยกครั้งสุดท้าย ประภาวดีจะเรียกน้ำหนักเพิ่มเป็น 130 กก. หวังทำลายสถิติโลกของ หลี่ ผิง นักกีฬาจีน ที่ทำไว้เมื่อปีที่แล้ว ที่ 129 กก. แต่ก็พลาด ทำให้สถิติดีที่สุดในท่านี้ของ "น้องเก๋" อยู่ที่ 126 กก. น้ำหนักรวม 221 กก. คว้าเหรียญทองไปครอง ทิ้งห่างอันดับ 2 ยุน จินฮี (เกาหลีใต้) ที่ยกได้ 119 กก. น้ำหนักรวม 213 กก. และที่ 3 นาสตาสเซีย โนวิคาวา (เบลารุส) ยกได้ 118 กก. น้ำหนักรวม 213 กก. เท่ากับนักกีฬาเกาหลีใต้ แต่น้ำหนักตัวมากกว่า 0.25 กก.


 


สำหรับประวัติของ "น้องเก๋" ประภาวดีนั้น แต่เดิมมีชื่อว่า จันทร์พิมพ์ กันทะเตียน ต่อมาได้มีโอกาสไปฝึกสมาธิกับ แม่ชีดวงมณี ที่ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ และแม่ชีทักว่าควรจะเปลี่ยนชื่อเพื่อความสิริมงคล ทำให้ "น้องเก๋" ตัดสินใจเปลี่ยนชื่อตั้งแต่ต้นปี 2550 โดยเปลี่ยนทั้งชื่อ และนามสกุลพร้อมกันทีเดียว และพร้อมกับนักกีฬายกน้ำหนักอีก 2 คนในทีมคือ เปรมศิริ บุญพิทักษ์ ที่ชื่อเดิมคือ ทองยิ้ม บุญพิทักษ์ และเพ็ญศิริ เหล่าศิริกุล ที่เปลี่ยนแค่นามสกุล จากเดิมที่ใช้ แซ่เล้า


 


"น้องเก๋" เกิดเมื่อวันที่ 29 พ.ค. ปี 2527 เป็นชาวอำเภอปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ เป็นบุตรสาวคนโตในจำนวนพี่น้อง 4 คน ของ นายจันทร์แก้ว และ นางภาวลี ในจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งพื้นฐานแล้วครอบครัวมีฐานะยากจน โดย นายจันทร์แก้ว นั้นยึดอาชีพเป็นกรรมกรก่อสร้างมานาน ทว่า หลังจากที่ เก๋ เมื่อวัย 11 ปี มุ่งหน้าเข้าสู่การฝึกซ้อมกีฬายกน้ำหนักอย่างจริงจัง ทำให้ฐานะครอบครัวแต่เดิมที่เคยลำบากนั้นเริ่มดีขึ้น โดยเด็กสาวรายนี้ถือเป็นกำลังหลักของครอบครัว


 


ซึ่งจากน้ำพักน้ำแรงของจอมพลังสาววัย 24 ปี รายนี้ ปัจจุบัน คุณพ่อจันทร์แก้ว ไม่จำเป็นต้องหาเลี้ยงชีพด้วยอาชีพกรรมกรอีกแล้ว โดยหันไปยึดอาชีพขายไอศกรีมทอดแทน นอกจากนี้ "น้องเก๋" ยังเก็บหอมรอมริบเงินรางวัลจากการแข่งขันเพื่อนำเงินมาปลูกบ้านให้กับพ่อแม่ที่จังหวัดนครสวรรค์ได้อีกด้วย แม้ว่าจะยังไม่เสร็จสมบูรณ์ก็ตาม


 


"น้องเก๋" ติดทีมชาติครั้งแรก ในการแข่งขันยกน้ำหนักชิงแชมป์เอเชีย ที่ประเทศจีน เมื่อปี 2544 เคยคว้าแชมป์เยาวชนโลก แชมป์เอเชีย ปี 2006 และแชมป์ซีเกมส์ ครั้งที่ 23 ที่ฟิลิปปินส์ ก่อนหน้านี้เคยลงแข่งในรุ่น 58 กก. และคว้าเหรียญทองซีเกมส์ ครั้งที่ 22 ที่เวียดนาม รวมถึง 3 เหรียญเงิน ชิงแชมป์เอเชีย ที่คาซัคสถาน ล่าสุดเป็นเจ้าของเหรียญเงินเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 15 ที่โดฮา ประเทศกาตาร์


 



อุปนิสัย เป็นจอมพลังสาววัย 24 ปี ที่ขี้ใจน้อย เคยหนีออกจากแคมป์เก็บตัวทีมชาติยกน้ำหนัก ในช่วงการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ 2004 ที่ประเทศกรีซ เนื่องจากน้อยใจที่สมาคมยกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทย เลือก "น้องอร" อุดมพร พลศักดิ์ ไปแข่งขันแทนที่จะเลือกตนเอง ทั้งที่สถิติการยกทำได้เท่ากัน แต่ต่อมา นายจิตรนรา นวรัตน์ กรรมการบริหารสมาคมฯ ได้ไปเกลี้ยกล่อมให้กลับเข้ามาเล่นกีฬายกน้ำหนักอีกครั้ง และในการแข่งขันยกน้ำหนักชิงแชมป์โลก ปีที่แล้ว ที่ จ.เชียงใหม่ "น้องเก๋" ประสบอุบัติเหตุระหว่างการแข่งขัน ข้อศอกซ้ายหลุด ทำให้ต้องพักการแข่งขันไปหลายเดือน ก่อนจะกลับมาลงแข่งในรายการนี้เป็นรายการแรก และก็สามารถคว้าเหรียญทอง พร้อมทำลายสถิติโอลิมปิกลงได้สำเร็จ


 


ที่มา: เว็บไซต์เดลินิวส์, สำนักข่าวไทย, ผู้จัดการออนไลน์


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net