Skip to main content
sharethis

"6 ปี ผ่านไป เราทั้งสองกลับมาอ่านบทสไลด์นี้อีกครั้งหนึ่ง เพื่อจะเขียนบทความรำลึกเหตุการณ์ดังกล่าวในวาระครบรอบ 20 ปี 8888 เรารู้เลยว่าไม่สามารถเขียนอะไรได้ดีไปกว่านี้อีกแล้ว เราเพียงปรับตัวเลขจาก 14 เป็น 20 เท่านั้น..." อดิศร เกิดมงคล และบุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ เจ้าของบทความ หมายเหตุเอาไว้ข้างท้ายของงานชิ้นนี้

หมายเหตุ: ข้อมูลชุดนี้ถูกเขียนขึ้นเมื่อ 6 ปีที่แล้ว เพื่อใช้ประกอบการฉายสไลด์วันที่ 8 สิงหาคม 2545 ในวาระครบรอบ 14 ปี 8888 จัดโดยคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า ร่วมกับองค์กรด้านพม่าในประเทศไทย ผู้เขียนคืออดิศร เกิดมงคล และบุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ ได้แรงบันดาลใจมาจากการสนทนากับชายหนุ่มคนหนึ่ง ซึ่งเป็นอดีตทหารอากาศของกองทัพพม่า ผู้ซึ่งไม่สามารถทนเห็นประชาชนถูกปราบปราบด้วยน้ำมือของรัฐบาลได้อีกต่อไป กระสุนลูกแล้วลูกเล่าที่สาดใส่ประชาชนในวันนั้น บอกเขาว่า "พอกันทีกับความรุนแรงที่รัฐบาลทหารพม่ากระทำต่อประชาชน" เขาตัดสินใจหนีออกจากกองทัพ มุ่งหน้าสู่ประเทศไทย จับปืนลุกขึ้นสู้กับขบวนการนักศึกษาพม่าในนามของ ABSDF หลายสิบปีผ่านไปเขารู้ว่าความรุนแรงไม่ใช่หนทางสร้างสันติและพลังให้เกิดขึ้นกับประชาชนในพม่า วันนี้สิ่งที่เขาและเพื่อนอีกจำนวนหนึ่งในฐานะคนรุ่นนั้นกำลังกระทำอยู่ทุกวี่วัน คือ การเลือกใช้ชีวิตอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ ในประเทศไทย และทำงานกับประชาชนจากพม่าในนามของ "แรงงานข้ามชาติ" เพื่อให้พวกเขาและเธอรู้สิทธิรู้เสียงรู้พลังในการเปลี่ยนแปลงสังคมพม่าด้วยตนเอง

 

แรงบันดาลใจอีกประการหนึ่ง คือ การได้มีโอกาสอ่านหนังสือเรื่อง "มุ่งหาแสงตะวัน" ซึ่งเขียนโดยพรสุข เกิดสว่าง เธอทำให้เราเห็นถึงความพยายามของมนุษย์ที่ไม่ยอมจำนนต่อโชคชะตาเพียงการขีดกั้นของเส้นพรมแดนไทย-พม่า ความรุนแรงจากไฟสงคราม ความทุกข์ยากจากระบบเศรษฐกิจ ความโหดร้ายทารุณจากการถูกปราบปราม ทำให้ประชาชนเหล่านี้ต้องมุ่งหน้ามายังประเทศไทย แม้พวกเขาจะรู้ดีว่านี้คือ "การหนีเสือปะจระเข้" ก็ตาม แต่ความหวัง กำลังใจ การมีชีวิตที่ดีกว่า ก็ไม่เคยถูกลบเลือนไปจากหัวใจของประชาชนเหล่านั้น

 

6 ปี ผ่านไป เราทั้งสองกลับมาอ่านบทสไลด์นี้อีกครั้งหนึ่ง เพื่อจะเขียนบทความรำลึกเหตุการณ์ดังกล่าวในวาระครบรอบ 20 ปี 8888 เรารู้เลยว่าไม่สามารถเขียนอะไรได้ดีไปกว่านี้อีกแล้ว เราเพียงปรับตัวเลขจาก 14 เป็น 20 เท่านั้น ภาพของชายหนุ่มทหารอากาศและหญิงสาวผู้เขียนหนังสือเล่มดังกล่าวปรากฏแจ่มชัดขึ้นในความทรงจำ ภาพที่เขาและเธอยังคงทำงานอยู่ในพื้นที่เล็กๆ พื้นที่ชายขอบของสังคมไทย พื้นที่ที่เขาและเธอเชื่อมั่นอย่างสุดจิตสุดใจว่า "มือเล็กๆ ของประชาชนจากพม่า ไม่ว่าจะถูกเรียกขานในนามใด สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมพม่า สามารถสร้างสังคมใหม่ที่ดีงามได้จริง" ดูจะเป็นคำตอบในวาระครบรอบ 20 ปี เหตุการณ์วันที่ 8 เดือน 8 ปี 88 อย่างดี

 

 

 

 

 

โดย อดิศร เกิดมงคล และบุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์

 

 

ถึงประชาชน คนงาน เพื่อนทหาร และนักศึกษา ที่รักทั้งหลาย

 

ถ้าหากเราได้ทบทวนสภาพความเป็นอยู่ในชีวิตของพวกเราแล้ว เราก็จะเห็นได้ดังนี้ว่า

            ในระหว่าง 26 ปีของการปกครองของฆาตกรในคราบเผด็จการทางทหารผู้กระหายเลือดในปัจจุบันนี้ สภาพเศรษฐกิจสังคม และการเมืองได้มาถึงจุดซึ่งตกต่ำอย่างถึงที่สุด ในขณะที่พวกเราประชาชนต่างต้องดิ้นรนต่อสู้กับปัญหาของชีวิต เผชิญกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นเรื่อยๆ พวกที่ครองอำนาจอยู่ในขณะนี้กลับชื่นชมร่มรื่นจากผลพวงของระบบสังคมนิยม ซึ่งคนพวกนี้ต่างป่าวประกาศยกย่องอย่างพึงพอใจ ประชาชนจำต้องเสียสละเลือดเนื้อและหยาดเหงื่อเพื่อประคับประคองระบบอันเลวร้ายของพวกเขาเอาไว้ให้เป็นระบบซึ่งมนุษย์ต่างเบียดเบียนข่มเหงมนุษย์ด้วยกันเอง

 

            เนวิน (นายพล) ได้ชื่อว่าเป็นมหาเศรษฐีคนหนึ่งของโลก ด้วยการมีเงินฝากธนาคารต่างประเทศถึง 400 ล้านเหรียญสหรัฐ เงินดอลลาร์ซึ่งเขาได้มาจากการปล้นประชาชนผู้ยากไร้และอดอยาก พม่าซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นประเทศที่ร่ำรวยที่สุดประเทศหนึ่งในเอเชียอาคเนย์ ในขณะนี้กลับเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดประเทศหนึ่งในโลกไปเสียแล้ว

 

            เพราะเหตุแห่งการเบียดเบียนของเผด็จการทหารอันชั่วร้ายนี้เอง จิตใจอันน่ายกย่องภาคภูมิของผู้ใช้แรงงานต้องตกต่ำลงอย่างใหญ่หลวง เพราะผู้ใช้แรงงานเหล่านี้ได้รับค่าจ้างเพียงเล็กน้อยแค่พอมีเงินไปวันๆ เท่านั้นเอง พวกที่มีอำนาจต่างเสวยสุขและโยนเศษความสุขส่งมาให้อย่างเสียไม่ได้ โรงงานและร้านค้าพากันตกอยู่ภายใต้การควบคุมของพวกเชลยฝ่ายทหาร ความรู้ความชำนาญของผู้ใช้แรงงานรวมทั้งผู้มีสติปัญญาต่างๆ ได้พากันหดหนีหายหมดสิ้น (เพราะเหตุที่ไม่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์แต่อย่างใด) องค์การของผู้ใช้แรงงานซึ่งจัดตั้งขึ้นมาโดยรัฐบาลฆาตกรคณะนี้ไม่ได้กระทำอะไรเลยสักอย่างเพื่อเพื่อนกรรมกรนานนักหนาแล้ว เพื่อนกรรมกรเหล่านี้ต้องสูญเสียสิทธิที่จะได้รับค่าจ้างแรงงานให้เหมาะสมกับความรู้ความสามารถของตน

 

            รัฐบาลซึ่งจะต้องรับผิดชอบกับความล้มเหลวทางเศรษฐกิจของประเทศนี้ยังได้หลอกลวงชาวนา ทั้งยังได้กระทำการอย่างรุนแรงต่อชาวนาอีกด้วย แต่ก่อนนี้ชาวนาเพียงแต่เสียค่าภาษีที่ดินในอัตรา 1 จ๊าตต่อที่ดิน 1 เอเคอร์ แต่เดี๋ยวนี้ชาวนาต้องเสียภาษีที่ดินเป็นข้าวในอัตรา 1 ถังตะกร้าต่อที่ดิน 1 เอเคอร์ ไม่ว่าราคาของข้าวเปลือกจะสูงหรือต่ำอย่างไรก็ต้องได้ราคาไม่ต่ำกว่า 15 จ๊าต หรือมากกว่านั้น นโยบายที่นำมาใช้ในขณะนี้จึงเป็นนโยบายเจ้าขุนมูลนายที่ดิน โดยให้ประชาชนเป็นผู้รับสนองและจ่ายให้เป็นความมั่งคั่งของเจ้าของที่ดินทั้งมวลไม่มีการเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น และไม่มีความแตกต่างอย่างใดภายใต้ภาวะทั้งมวลของชาวนาที่ตกอยู่ใต้การปกครองของเนวินกับการปกครองในระบอบอาณานิคม

 

            ท่านนายพลใหญ่อองซานได้เคยกล่าวไว้ว่า "กองทัพจะต้องมีความเข้มแข็งเป็นดั่งหนึ่งมหาดเล็กของมวลชน" แต่ในขณะนี้กองทัพซึ่งเกิดจากประชาชนได้กลายเป็นลูกกะโล่ของเนวินไปเสียแล้ว ภารกิจของทหารกลับกลายเป็นการรักษาอำนาจของอภิสิทธิ์ชนกลุ่มน้อยให้คงไว้สงครามกลางเมืองอันยืดเยื้อที่ยังคงดำรงอยู่ทำให้ทหารและประชาชนจำนวนมากต้องเสียสละชีวิตของตนเช่นเดียวกับเยาวชนของชาติ สัดส่วนใหญ่อันเป็นทรัพย์สมบัติของชาติได้เลื่อนไหลขยายไปสู่กองทัพของเนวิน จากสภาพอันเลวร้ายเช่นนี้เองจึงถึงเวลาแล้วที่พี่น้องคนงาน เพื่อน ทหาร ชาวนา และนักศึกษาทั้งหลายจะต้องร่วมกันก่อตัวเป็นพลังปฏิวัติขึ้นมา เพื่อจะให้ได้มาซึ่งรัฐบาลของประชาชนอย่างที่เราปรารถนา เราจะต้องร่วมกันต่อสู้ในทุกวิถีทาง ขอให้มาร่วมมือกับนักศึกษาซึ่งได้เริ่มการดิ้นรนต่อสู้ขึ้นมาแล้ว ปี 2531 นี้เองคือสัญญาณแห่งการดิ้นรนของเรา

 

ต่อสู้และต่อต้านรัฐบาลฟาสซิสต์

การกดขี่ต่อประชาชนก็เหมือนกับการแหย่ไฟใส่กระดาษนั่นเอง

สหภาพนักศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง

สหภาพนักศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยมัณฑะเล

26 มิถุนายน 2531

 

            หากมนุษย์ทุกคนต่างโหยหาและแสวงหาซึ่งสิทธิเสรีภาพ เหตุการณ์เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 1988 คือการสิ้นสุดความอดทนต่อการถูกจองจำเสรีภาพจากระบบเผด็จการทหารและคณาธิปไตยของรัฐบาลเนวินที่ดำรงอยู่มายาวนานนับ 26 ปี สองทศวรรษแห่งความกดดันทางการเมือง ความตกต่ำทางเศรษฐกิจ และความหวาดกลัวภายใต้อุ้งเท้าเผด็จการทหารและอาณาจักรของเนวิน

 

 

 

ภาค 1 ลุกขึ้นสู้

            ทศวรรษเริ่มต้นของศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด ทำให้โลกแคบลงและชาติต่างๆ ต้องพึ่งพากันในระดับนานาชาติมากยิ่งขึ้น การเดินทางไปมาหาสู่กันและการสื่อสารถึงกันในระยะไกลกลับกลายเป็นเรื่องง่ายดายอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน แต่กระนั้นก็ตาม ประชาชนชาวพม่าก็ยังต้องทนทุกข์ทรมานและถูกกดขี่มาต่อเนื่องอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

 

7 กรกฎาคม 1962         รัฐบาลทหารของเนวินได้สั่งกราดยิงนักศึกษาและระเบิดตึกกิจกรรมนักศึกษามหาวิทยาลัยย่างกุ้งจากเหตุการณ์ประท้วงต่อต้านรัฐบาลเนวิน หลังจากที่เนวินยึดอำนาจได้ไม่นาน และสั่งปิดมหาวิทยาลัย

 

28 มีนาคม 1964           มีการประกาศยุบพรรคการเมืองทุกพรรค ยกเว้น BSPP ซึ่งเป็นพรรคของรัฐบาล

           

17 พฤษภาคม 1964       รัฐบาลเนวินสั่งยกเลิกธนบัตรใบละ 100 จ๊าตและ 50 จ๊าต โดยไม่มีการคืนเงินให้

แก่ประชาชน

 

11 ธันวาคม 1974          รัฐบาลสั่งปราบปรามการชุมนุมประท้วงของนักศึกษา ประชาชน และพระสงฆ์ เนื่องจากกรณีการจัดทำศพของอูถั่น เลขาธิการสหประชาชาติ ผู้ร่วมชุมนุมหลายคนถูกยิง ถูกแทงด้วยดาบปลายปืนและถูกจับกุม

 

3 พฤศจิกายน 1985       ธนบัตรใบละ 100 จ๊าตถูกยกเลิก

           

5 กันยายน 1987           ธนบัตรใบละ 25 จ๊าต 35 จ๊าต 75 จ๊าต ถูกยกเลิกโดยไม่มีการชดเชยใดๆ ซึ่งทำให้เงินตราของประเทศถึงร้อยละ 75 ที่หมุนเวียนอยู่ในประเทศไร้ค่าทันที

 

            เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตลอด สร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนและนักศึกษา สิทธิเสรีภาพทางการเมืองถูกปิดกั้น ความมั่นคงทางเศรษฐกิจแทบมองไม่เห็น สิ่งเหล่านี้เองได้ทับถมลงบนจิตใจของประชาชนมาตลอด จนนำมาสู่การออกมาชุมนุมประท้วงในกรุงย่างกุ้งและขยายไปยังเมืองใหญ่ๆ ในพม่าเป็นระยะๆ

 

สัปดาห์แรกของเดือนมีนาคม 1988                     

ขณะที่นักศึกษากำลังขะมักเขม้นต่อการสอบภาคสุดท้ายก็เกิดเหตุแห่งความไม่สงบขึ้น เมื่อมีการทะเลาะเบาะแว้งของนักศึกษาสถาบันเทคโนโลยีแห่งย่างกุ้ง กับชาวบ้านที่ร้านน้ำชาแห่งหนึ่ง โดยมีนักศึกษาผู้หนึ่งถูกทำร้าย นักศึกษาจึงยกขบวนกันออกไปประท้วงชาวบ้าน และหาทางเอาตัวชาวบ้านที่ก่อเหตุทำร้ายร่างกายของนักศึกษาคนนั้น เมื่อฝ่ายเจ้าหน้าที่รักษาความมั่นคงเข้าไประงับเหตุการณ์ ปรากฏว่ามีนักศึกษาผู้หนึ่งชื่อ หม่อง โพน มอ ถูกกระสุนปืนยิงเสียชีวิต

 

เมื่อรัฐบาลทราบเรื่องก็ได้ปัดความรับผิดชอบที่เกิดขึ้นและป้ายความผิดไปยังนักศึกษาเพื่อหาข้อยุติในเรื่องการเสียชีวิต จากเหตุการณ์นี้เองได้ลุกลามบานปลาย และจุดชนวนให้นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยย่างกุ้งออกมาประท้วงเป็นจำนวนมาก การประท้วงได้ขยายตัวขึ้นไปเรื่อยๆ จากการทะเลาะเบาะแว้งระหว่างนักศึกษากับกลุ่มชนบางกลุ่มและรัฐบาล กลายเป็นเรื่องของการร่วมขบวนการของประชาชนกับนักศึกษาในการเรียกร้องให้รัฐบาลชดใช้เงินที่รัฐบาลประกาศยกเลิกอย่างพลการ เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว

 

ความไม่พอใจของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลทวีมากขึ้นทุกที ถึงขั้นมีจดหมายเปิดผนึกจาก นายพลอองยีถึงนายพลเนวิน 2 ฉบับ และได้ส่งถึงคณาจารย์ ผู้พิพากษา นักกฎหมายและทนายความหลายคน โดยเฉพาะฉบับสุดท้ายได้กล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลอย่างรุนแรงต่อการกระทำทารุณกรรมต่อนักศึกษาที่ถูกจับกุมไปคุมขังไว้ว่า มีการฆาตกรรมนักศึกษาจำนวนมากในระหว่างการคุมขัง และการข่มขืนนักศึกษาหญิงจำนวนหลายคนจนตั้งท้องเมื่อปล่อยตัวออกมา

 

เมื่อประชาชนหลายๆ คนได้รับรู้เนื้อหาของจดหมายก็เกิดความไม่พอใจและโกรธแค้นรัฐบาล ความโกรธแค้นเหล่านี้ได้แพร่กระจายออกไปอย่างกว้างขวาง จนมีการชุมนุมกันของนักศึกษาและมีข้อเรียกร้องให้มีการเปิดให้ตั้งสหภาพนักศึกษา ให้มีการสอบสวนต่อกรณีที่เกิดขึ้นกับนักศึกษาในเหตุการณ์เดือนมีนาคม ให้ปล่อยตัวนักศึกษาที่ถูกจับกุม และลงโทษ เส่ง ลวิน ที่ออกคำสั่งให้ปราบปรามนักศึกษาและขอให้อธิบายว่าถึงความโหดร้ายของรัฐบาลและภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำแต่ผู้นำประเทศกลับร่ำรวย แต่เมื่อไม่มีคำตอบจากรัฐบาล จนมีการชุมนุมของนักศึกษาอีกครั้งโดยครั้งนี้มีพระสงฆ์และประชาชนเข้าร่วมจำนวนมาก

 

15 มิถุนายน 1988

รัฐบาลได้ส่งกองกำลังตำรวจทหารเข้าสลายการชุมนุมในเขตมหาวิทยาลัยย่างกุ้งทำให้การประท้วงรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และการปราบปรามของรัฐบาลได้ใช้วิธีการให้รถบรรทุกวิ่งด้วยความเร็วเข้าไปในกลุ่มนักศึกษาที่ประท้วง และใช้อาวุธปืนยิงกลุ่มนักศึกษาทำให้นักศึกษาเสียชีวิตไปจำนวนมาก เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสร้างความไม่พอใจต่อประชาชนทั่วไปมากขึ้นเรื่อยๆ จนนำไปสู่การออกมาร่วมกับนักศึกษาต่อต้านรัฐบาล จนถึงขั้นประกาศไม่ให้เจ้าหน้าที่เข้ามาในเขตพื้นที่ตน และรุมประชาทัณฑ์จนเจ้าหน้าที่เสียชีวิตไปหลายคน จนรัฐบาลต้องประกาศปิดมหาวิทยาลัยย่างกุ้งและสถาบันเศรษฐศาสตร์แห่งย่างกุ้งเพื่อให้เหตุการณ์ยุติลง

 

20 มิถุนายน 1988

แต่แล้วเหตุการณ์ที่ดูเหมือนว่าจะสงบลง กลับลุกลามไปยังสถาบันการศึกษาอื่นๆ จนต้องมีคำสั่งปิดการเรียนการสอนอย่างไม่มีกำหนด และประกาศห้ามไม่ให้ประชาชนออกจากบ้านตั้งแต่เวลา 18.00 .-06.00 . ห้ามไม่ให้มีการชุมนุมประท้วง การปราศรัย ซึ่งประกาศนี้ครอบคลุมพื้นที่กรุงย่างกุ้งทั้งหมด แต่การประกาศตั้งกล่าวไม่สามารถยับยั้งการชุมนุมของนักศึกษาได้ และได้ขยายไปสู่เมืองอื่นๆ ในพม่า

 

การประกาศนี้ได้ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างรุนแรง เพราะการขนส่งสินค้าสดสู่ตลาดไม่สามารถทำได้ ทำให้ขาดสินค้าอุปโภคบริโภค และมีราคาสูงขึ้น หน่วยงานราชการต้องปิดตั้งแต่บ่ายสองเพื่อให้ข้าราชการกลับบ้านได้ทัน ซึ่งสภาพการณ์เช่นนี้ได้สร้างความหวั่นวิตกต่อประชาชน และส่งผลกระทบต่อการทำงานของรัฐบาลเอง ทำให้รัฐบาลต้องออกประกาศใหม่ให้เปลี่ยนเวลาห้ามออกจากบ้านตั้งแต่เวลา 20.00. - 04.00 . และพยายามผ่อนคลายมาตรการต่างๆ มีการปล่อยตัวผู้ประท้วงที่ถูกจับกุม

 

8 กรกฎาคม 1988

รัฐบาลประกาศให้นักศึกษามาลงทะเบียนใหม่โดยให้ผู้ปกครองมารับรองด้วย และมีการตรวจสอบเอกสารต่างๆ อย่างละเอียด

 

9 กรกฎาคม 1988

รัฐบาลยกเลิกการห้ามออกนอกบ้านและถอนทหารออกจากกรุงย่างกุ้ง แต่ก็เกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งทางศาสนาระหว่างชาวพุทธกับชาวมุสลิมขึ้นที่เมืองตองยี จนเกิดการปะทะกันขึ้น ทำให้เจ้าหน้าที่เข้าไประงับเหตุการณ์อย่างเฉียบขาด ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นติดกันนานถึง 4 วัน มีผู้เสียชีวิต 3 คน

 

18 กรกฎาคม 1988

เหตุการณ์ได้ขยายไปสู่เมืองเปรมทำให้มีผู้เสียชีวิตอีกหนึ่งคน ซึ่งทำให้เกิดแรงกดดันต่อรัฐบาลเป็นอย่างมาก จนรัฐบาลต้องออกมายอมรับและสอบสวนต่อกรณีเหตุการณ์เดือนมีนาคม และยอมรับเพิ่มเติมว่ามีนักศึกษาเสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจเพราะถูกยัดเข้าไปในรถกักขังอีก 41 คน โดยให้เหตุผลของการไม่ประกาศก่อนหน้านี้ว่าไม่ต้องการให้สถานการณ์ลุกลามขึ้นไปอีก ซึ่งการประกาศดังกล่าวส่งผลให้รัฐมนตรีว่าการกิจการภายในและกิจการศาสนาต้องลาออก และส่งผลกระทบสำคัญถึงขั้นที่เนวินประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานโครงการสังคมนิยมของพม่า และเสนอให้ลงประชามติของประชาชนทั่วประเทศว่า จะยอมรับระบบการเมืองแบบพรรคเดียวหรือจะเปลี่ยนให้เป็นแบบหลายพรรค แต่การประชุมคองเกรสของพรรคปฏิเสธเรื่องการลงมตินี้ และได้ลงมติให้เส่ง ลวิน ขึ้นเป็นผู้นำพรรคและเป็นประธานาธิบดี

 

การก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งของเส่ง ลวิน นี้เองได้กลายเป็นชนวนแห่งความขัดแย้งขึ้น เนื่องจากเส่ง ลวิน ไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชน และที่สำคัญเส่ง ลวินเป็นคนออกคำสั่งให้ยิงนักศึกษาที่ประท้วงเนวินเมื่อปี 1962 สั่งยิงตัวอาคารสหภาพนักศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยย่างกุ้งอันเป็นสถานที่ประวัติศาสตร์สำคัญของขบวนการชาตินิยมพม่า เป็นศูนย์รวมผู้นำพม่าในการต่อสู้และเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ และเส่ง ลวิน คนนี้ คือ คนที่สั่งบุกมหาวิทยาลัยย่างกุ้งในปี 1974 ในกรณีพิธีศพของอูถั่น ด้วยการที่สภาคองเกรสไม่ยอมรับในเรื่องการเมืองแบบหลายพรรคและตั้งเส่ง ลวิน เป็นผู้นำประเทศนี้เอง ทำให้เกิดการชุมนุมของประชาชนขึ้นในกรุงย่างกุ้ง และขยายตัวสู่เมืองต่างๆ ทั่วพม่า

 

3 สิงหาคม 1988

เส่ง ลวิน ประกาศกฎอัยการศึกเพื่อยุติการประท้วง แต่กลับทำให้การชุมนุมของนักศึกษาประชาชนและพระสงฆ์ลุกฮือขึ้น โดยกลุ่มผู้ชุมนุมได้เรียกร้องให้ขับไล่เส่ง ลวิน ให้พ้นจากตำแหน่ง ให้มีการปล่อยตัวนักโทษทางการเมือง ให้ดำเนินการทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ยุติการกดขี่สิทธิเสรีชน และคืนเสรีภาพแก่ประชาชน และประกาศวันดีเดย์ในการประท้วงทั่วประเทศคือวันที่ 8 สิงหาคม ซึ่งประชาชนต่างขานรับและออกมาชุมนุมพร้อมกันในวันที่ 8 สิงหาคม ซึ่งเส่ง ลวินเองก็ตอบโต้โดยการส่งทหารเข้าทำการปราบปรามประชาชนอย่างรุนแรง

 

ประชาชนที่ออกมาชุมนุมกันอย่างสันติตลอดทั้งวันซึ่งประกอบไปด้วยนักศึกษา ประชาชนและพระสงฆ์ โดยมีทหารเฝ้าอยู่ตามท้องถนนในสภาพที่ข่มขวัญ เสียงเพลงจากนักศึกษาประชาชนดังขึ้น "เรารักพวกท่าน ท่านเป็นพี่น้องเรา เราต้องการอิสรภาพ พวกท่านเป็นทหารของประชาชน โปรดมาอยู่ข้างเราเถิด เราเพียงต้องการอิสรภาพเท่านั้น" จนเมื่อเวลา 23.45 . กองทหารติดอาวุธครบมือเริ่มปฏิบัติการณ์สังหารโหดอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานถึง 4 วัน โดยระดมยิงข้าไปในฝูงชนทั้งชาย หญิง และเด็ก

 

ทางการออกมาให้ข่าวว่ามีผู้เสียชีวิตประมาณ 500 คน แต่เจ้าหน้าที่ทางการทูตและผู้อยู่ในเหตุการณ์กล่าวว่าตัวเลขที่แท้จริงอยู่ราวๆ เกือบหมื่นคน ทหารที่ยิงประชาชนต่างถูกผู้บัญชาการกล่อมให้เชื่อว่านักศึกษาเป็น "กบฏคอมมิวนิสต์" ทหารได้รับคำสั่งให้ดื่มเหล้าดีกรีแรงในตอนเช้าและตอนเย็น เพื่อลบล้างมโนธรรมใดๆ ที่จะหลงเหลืออยู่สำหรับการเข่นฆ่าเพื่อนร่วมชาติ

 

12 สิงหาคม 1988

 เส่ง ลวิน ลาออกจากการเป็นผู้นำรัฐบาล และ ดร.หม่อง หม่อง พลเรือนผู้ใกล้ชิดเนวินขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทน หม่อง หม่อง ได้พยายามลดความร้อนแรงของสถานการณ์โดยการตั้งคณะกรรมการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนว่า ต้องการวิถีทางการเมืองอย่างไร หลังจากประกาศตั้งคณะกรรมการได้สามวัน คณะกรรมการก็ประกาศให้ความสนใจเรื่องการเมืองแบบหลายพรรค แต่ไม่ได้ระบุเวลาที่แน่นอนในเรื่องการจัดการเลือกตั้งขึ้น สร้างความไม่พอใจแก่ประชาชนจนเกิดการชุมนุมประท้วงขึ้นอีกครั้ง เรียกร้องให้มีการทำประชามติเรื่องการเมืองแบบหลายพรรคขึ้น และสถานการณ์ก็ได้ลุกลามไปเรื่อยๆ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความอัดอั้น ความไม่พอใจต่อระบอบการปกครองแบบทหารของเนวิน

 

18 สิงหาคม 1988

นายพลซอหม่องได้ประกาศว่า สภาฟื้นฟูกฎและระเบียบแห่งรัฐ หรือ SLORC ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นทหารผู้ใกล้ชิดกับเนวิน ได้เข้ายึดอำนาจรัฐบาลและประกาศยุบองค์กรทางการเมืองทั้งหมด และประกาศจัดตั้งรัฐบาลใหม่ พร้อมกับเข้าปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วง จับกุมผู้นำการต่อต้านรัฐบาล จนทำให้นักศึกษาและประชาชนหลายๆ คนได้หลบหนีการปราบปรามไปยังชายแดนในเขตของชนกลุ่มน้อยหรือหนีออกนอกประเทศ ทหารได้ใช้สื่อของรัฐโฆษณาชวนเชื่อให้แก่รัฐ และสัญญาว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งจากพรรคการเมืองหลายพรรคขึ้น และเปลี่ยนแปลงนโยบายทางเศรษฐกิจที่เปิดกว้างให้กับการลงทุนจากต่างชาติมากขึ้น และได้มีการตั้งพรรคการเมืองที่ชื่อพรรคเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Party) หรือ NUP ขึ้นและเปิดโอกาสให้มีการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้น ซึ่งมีผู้มาขอจดทะเบียนตั้งพรรคมากถึง 230 พรรคและประกาศให้มีการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นในเดือนพฤษภาคม 1990

 
5 พฤศจิกายน 1988

นักศึกษาพม่าที่หลบหนีจากการปราบปรามเมื่อเดือนสิงหาคมที่มาลี้ภัยพักพิงอยู่แถบชายแดนไทย ได้จัดตั้งแนวร่วมนักศึกษาพม่าประชาธิปไตยทั้งมวล (All Burma Student Democratic Front -ABSDF) ขึ้น โดยรวมกลุ่มกันที่ค่ายอันเป็นฐานสำคัญของสหภาพกะเหรี่ยงแห่งชาติ นำโดย ตุน อ่อง จอ และประกาศจับอาวุธต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า

 
พฤษภาคม 1990

พรรค NLD ที่มีนายพลติน อู เป็นประธานและมี นางออง ซาน ซูจี เป็นเลขาธิการพรรคได้รับการเลือกตั้งมากที่สุด แต่ SLORC ก็ปฏิเสธที่จะถ่ายโอนอำนาจให้ และตัดสินให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ และนำประเทศเข้าสู่การปกครองแบบเผด็จการทหารที่กดขี่และปราบปรามประชาชนอีกครั้งหนึ่งดั่งที่เคยเป็นมา

 

 

ภาค 2   มุ่งสู่แสงตะวัน

20 ปีผ่านไปนับแต่ครั้งที่ประชาชนแห่งประเทศพม่าลุกฮือขึ้นทั้งแผ่นดินขึ้นมาทวงถามถึงประชาธิปไตยและสิทธิแห่งความเป็นมนุษย์ของตนจากเผด็จการทหารที่ครองอำนาจมานานถึง 26 ปี จากวันที่เลือดนองท่วมแผ่นดินในปี 2531 ที่ตามมาด้วยการยึดอำนาจของ SLORC ซึ่งได้ขยับชื่อตนให้นุ่มนวลขึ้นเป็นสภาเพื่อการพัฒนาและสันติภาพแห่งรัฐ (SPDC) นั้น พม่าก็ได้ก้าวเข้าสู่กลียุคในความรู้สึกของประชาชนรากหญ้าทุกเชื้อชาติ

 

            ตรงกันข้ามกับชื่อของกลุ่มที่ผู้นำตั้งไว้สวยหรู ไฟสงครามและความยากแค้นหิวโหยได้รุมเร้าพม่ามากกว่าครั้งใดๆ ในอดีต ไม่ว่ารัฐบาลทหารจะปฏิเสธอย่างหยิ่งทระนงต่อข้อกล่าวหาของสังคมโลกอย่างไร  หลักฐานสำคัญที่ฉายภาพของประเทศพม่าทุกวันนี้ ก็คือเหล่าประชาชนรากหญ้าของพม่าที่ได้เคลื่อนขบวนอพยพออกสู่ประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทย เหยื่อของความทุกข์ยากเหล่านี้มิเพียงแต่จะมีจุดหมายปลายทางอยู่ในค่ายพักพิงตามแนวชายแดนเท่านั้น หากยังได้กระจายตัวทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทยในรูปแบบของแรงงานข้ามชาติร่วมล้านคน

           

ด้วยความหิวโหย ยากแค้น และไฟสงครามที่ผลาญสิ้นในเขตแดนชนกลุ่มน้อย ประชาชนรากหญ้าจากประเทศพม่าต่างพากันระหกระเหินเข้าสู่ประเทศไทย แม้นจะมีคำร่ำลือถึงอนาคตที่หวาดหวั่นควบคู่ไปกับคำชักชวนที่งดงามเกินจริงของเหล่านายหน้า ต่างก็ตัดสินใจดั้นด้นมาเพื่อที่จะใช้ชีวิตหลบๆ ซ่อนๆ ภายใต้ความหวาดกลัวทั้งยามหลับและลืมตาตื่น เพราะอย่างไรก็อาจจะยังดีกว่าชีวิตที่หิวโหยและสิ้นหวัง ชีวิตที่ดิ้นรนต่อลมหายใจไปแต่ละวันโดยมองไม่เห็นอนาคต ประเทศไทย คือ ดินแดนแห่งความหวังที่จะได้มาซึ่งเงินออมอันจะสามารถแปรเป็นเงินจ๊าตก้อนโต เผื่อไว้ซื้อสถานภาพตนเองให้รอดพ้นจากความเป็นทาสแห่งประเทศพม่าได้บ้าง

 

            "มันอยู่ไม่ไหวครับ มันไม่ค่อยพอกิน" คำตอบของหนุ่มชาวใหญ่ชาวทวายตอบคำถามเรา เมื่อถามถึงสาเหตุการเข้ามาทำงานในประเทศไทย ทั้งที่ในช่วงนั้นมีความเสี่ยงที่จะไม่มีงานทำสูงมาก

 

            "ไม่พอกินอย่างไรเหรอ นี่ได้ข่าวว่าเข้ามากันเยอะมาก" เราถามต่อ เนื่องจากกำลังสงสัยในการไหลเข้ามาของคนอีกฟากฝั่งหนึ่งมากจนผิดสังเกต

 

"ก็ทำนาไม่ได้ เพราะว่าปีนี้ทหารเขาเก็บแพงมาก ปีก่อนโน้นเขาเก็บเราแค่ 6 กระบุงต่อไร่ แต่ปีนี้เก็บ 12 กระบุงต่อไร่ ฝนก็ไม่ค่อยตก แถวบ้านผมบางคนเขาขายนาไปแล้ว เพราะมันไม่ไหวจริงๆ นี่ยังต้องขายข้าวให้กับเจ้าหน้าที่เขาอีก ถูกกว่าราคาที่ขายกันตั้งเยอะ ไม่ขายก็ถูกจับ ผมไม่รู้จะทำยังไงเลยต้องกลับเข้ามาอีกรอบ"  ชายหนุ่มตอบพร้อมยิ้มแบบแห้งๆ

 

            หลังจากรัฐบาลทหารพม่าเข้าปกครองประเทศเมื่อปี 1988 การพัฒนาประเทศพม่าเป็นไปอย่างลุ่มๆ ดอนๆ และออกจะย่ำแย่เอามากๆ สำหรับกลุ่มคนจนทั่วประเทศ การพัฒนาเศรษฐกิจประเทศแบบไร้ทิศทาง ไม่สนใจประชาชน มีการเก็บภาษีการเกษตรที่แพง การบังคับชื้อข้าวในราคาถูก การบังคับให้ชาวนาปลูกพืชเศรษฐกิจ โดยมุ่งเน้นการส่งออกสินค้าเกษตรของภาครัฐทำให้เกษตรกรส่วนหนึ่งกลายเป็นเกษตรกรที่หลุดจากที่ดิน หรือหมดหวังกับการทำการเกษตร ประกอบกับการที่รัฐบาลทหารพม่าเองหวาดระแวงกับพลังของนักศึกษาจนต้องทำการปิดๆ เปิดๆ มหาวิทยาลัยมาโดยตลอดสิบกว่าปี ทำให้คนหนุ่มสาวที่จบจากระดับมัธยมไม่สามารถทำการศึกษาต่อได้ และนักศึกษายังเรียนไม่จบอีกหลายคน อย่างอยู่ในภาวะที่เป็นผู้ไร้อนาคต ทางเลือกของพวกเขามีสามทาง คือ เข้าไปหางานทำในเมืองหลวงหรือเมืองใหญ่ๆ ที่รายได้แสนจะถูกเมื่อเทียบกับค่าครองชีพที่แพงลิ่ว หรือเข้าไปเป็นทหารอาชีพเดียวที่ดูจะมีอภิสิทธิ์มากกว่าอาชีพอื่นๆ แต่ก็ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันว่า การเป็นทหารจะสามารถเอาชีวิตรอดได้ และทางเลือกสุดท้ายคือข้ามแดนมาหางานทำยังประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทย

           

นอกจากกลุ่มคนจนที่เจอพิษเศรษฐกิจแบบกดขี่ขูดรีดจากผู้ปกครองประเทศ และคนหนุ่มสาวที่ไม่สามารถเรียนต่อได้แล้ว คนอีกกลุ่มหนึ่งที่ประสบปัญหาอย่างหนักคือกลุ่มชาวบ้านชนกลุ่มน้อย ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยในพม่า ถูกรัฐบาลทหารหวาดระแวงว่าจะให้ความช่วยเหลือต่อกองกำลังของชนกลุ่มน้อย และหาประโยชน์จากการเก็บภาษี บังคับใช้แรงงาน ทำให้ต้องหนีเอาตัวรอดเข้ามาเป็นแรงงานในประเทศไทยเช่นเดียวกับสองกลุ่มแรก

 

หากมองปัญหาของพวกเขาเหล่านี้แล้วพวกเขามีปัญหาที่เกิดจากปัจจัยหนึ่งที่คล้ายกัน คือ ถูกกดขี่ข่มเหงจากรัฐบาลทหารที่ไม่ใส่ใจใยดีต่อประชาชน มองประชาชนเป็นเพียงสิ่งที่สร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และการเมือง ที่ต้องควบคุมไว้การหลบหนีเข้ามาเป็นแรงงานในประเทศไทย จึงไม่ใช่การหลบหนีจากความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่หลบหนีจากสงครามเท่านั้น แต่พวกเขาหลบหนีต่ออำนาจที่ชี้เป็นชี้ตายในชีวิตของพวกเขาได้ หนีความบ้าคลั่งในอำนาจของคนกลุ่มหนึ่ง

 

หากจะมองให้ดีแล้วพวกเขาไม่ใช่เพียงแรงงานราคาถูก ทำงานหนัก ที่ให้นายจ้างคนไทย เจ้าหน้าที่รัฐ และคนไทยบางส่วนดูถูกย่ำยีเท่านั้น แต่เขายังเป็นผู้ลี้ภัยอีกกลุ่มหนึ่งที่เราไม่ยอมรับว่าเขาเป็น หรือเพราะเรามองไม่เห็นผู้ลี้ภัยอย่างพวกเขา

 

เมื่อ 20 ปีที่แล้วพวกเขาอาจจะส่วนหนึ่งที่ออกมาเดินถือธงตะโกนขับไล่และต่อสู้กับเผด็จการทหาร แต่ 20 ปีที่ผ่านมา พวกเขากำลังต่อสู้กับความอยู่รอดของชีวิต เพื่อดำรงอยู่และประจานให้สังคมโลกได้เห็นถึงความเลวร้ายของระบอบเผด็จการทหาร พวกเขาต่อสู้เพื่อดำรงอยู่เพื่อจะชี้ให้พวกเราได้เห็นความอยุติธรรมยังดำรงอยู่ในพม่า เพื่อเป็นหลักฐานที่ชี้ให้โลกเห็นว่า "ผู้มีอำนาจยังกดขี่และย่ำยีผู้ด้อยอำนาจกว่าอยู่เสมอ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง" ยังดำรงอยู่เพื่อที่จะฝันเห็นประเทศพม่าที่สงบสุข

 

 

ภาค 3   วานวันแห่งความมืดมิด

            เมื่อแผ่นดินพม่าตกอยู่ในความมืดประชาชนทุกรากหญ้าทุกเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ต่างก็มุ่งหน้าเอาชีวิตรอดสู่หนทางที่สว่างรำไร ณ ดินแดนไทยและประเทศรายรอบ นอกเหนือจากบางส่วนที่กลายมาเป็นแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายในรัฐไทยแล้ว บางส่วนต้องพลัดพรากจากบ้านเกิดเมืองนอนมาพักพิงตามริมขอบตะวันตก ในนามของผู้ลี้ภัย ที่ต่างเฝ้ารอด้วยความหวังว่าวันใดแสงตะวันจะทอทาบผ่านม่านฟ้าพม่า วันนั้นเท้าที่อ่อนล้า หัวใจที่ร่ำร้อง จะได้มุ่งสู่บ้านเกิดเสียที

 

            ฆู โบ เร เยาวชนกะเรนนี จากค่ายผู้ลี้ภัยจังหวัดแม่ฮ่องสอน เล่าว่า

".....ชีวิตของผู้ลี้ภัยนั้นเหมือนกับชีวิตของนักโทษ เราไม่มีสิทธิที่จะก้าวออกนอกค่ายผู้ลี้ภัย เพียงเพื่อที่จะได้เห็นว่าคนอื่นเขาทำอะไรกัน เราไม่มีโอกาสที่จะได้เห็น ได้ยินเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลก ผมเห็นเยาวชนจากประเทศที่มีเสรีภาพมาเที่ยวที่หมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาวอยู่บ่อยๆ บางครั้งเขาก็เดินมาที่ค่ายที่พวกเราอยู่ พวกเขาดูตื่นเต้นด้วยอารมณ์แห่งความสุขสดชื่นที่ฉายออกมาทางใบหน้า แต่ละคนมีอิสระที่จะไปไหนมาไหนก็ได้ในวันหยุดเทอม เรียนรู้จากผู้คนหลากหลายและสิ่งต่างๆ ที่ได้พบเห็น ผมอยากที่จะมีสิทธิเท่าเทียมกับพวกเขาบ้าง บางครั้งผมก็รู้สึกเดียวดายราวกับลอยคว้างอยู่กลางทะเล

 

ผมไม่ต้องการเป็นผู้ลี้ภัย แม้ว่าพวกเราจะได้รับความช่วยเหลือต่างๆ จากองค์กรเอกชนเป็นอย่างดีก็ตาม ผมอยากอยู่ในแผ่นดินเกิดของผม และสร้างสรรค์อนาคตของตนอย่างอิสระ สำหรับผมแล้ว เสรีภาพเป็นสิ่งสูงสุดในฝัน เราต่างเป็นมนุษย์แต่เหตุใดเราจึงต้องไร้บ้านและถูกกำหนดให้อยู่ในค่ายแบบนี้ มีใครในโลกนี้ที่อยากถูกกักอยู่ในค่ายบ้างไหม? ผมเป็นมนุษย์ เหตุใดผมจึงไม่มีโอกาสบินหาและสร้างชีวิตที่สวยงามให้ตนเอง เหตุใดมนุษย์ถึงกดขี่ข่มเหงกัน?

 

ในพม่า พวกเรามองไม่เห็นภาพของ "เสรีภาพ" เราไม่เข้าใจความหมายของคำว่า "สิทธิ" และ "ความยุติธรรม" ก็ไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนตั้งคำถามถึง อาจมีบางคนเท่านั้นที่เฝ้าถามกับตัวเองเงียบๆ ว่า ความยุติธรรมอยู่ที่ไหนสำหรับคนที่ทนความ"อยุติธรรม"รูปแบบต่างๆ ไม่ไหวแล้ว ก็มีสองทางเลือกเท่านั้น เดินเข้าคุกไป เพื่อความเชื่อและความมุ่งมั่นของตน หรือหนีจากปัญหาต่างๆ เหล่านั้นไป ซึ่งก็หมายถึงการหนีออกนอกประเทศ ......."

 

ซึ่งไม่ต่างเสียงของ จาย จาย ที่ส่งผ่านมายังผู้ที่อยู่ในรัฐไทยอย่างปลอดภัยและมีความสุขว่า

".....ผมรู้ดีว่าเราเป็นแขกที่ไม่ได้รับเชิญของประเทศนี้ และบางครั้งในฐานะที่เป็นมนุษย์คนหนึ่ง ผมก็เฝ้าฝันถึงอะไรหลายๆ อย่าง ผมอยากเห็นวันที่ผู้คนในแผ่นดินเกิดได้อยู่ในหมู่บ้านของตนอย่างสงบสุข ไม่มีทหาร ไม่มีสงคราม ไม่มีการบังคับอพยพหมู่บ้าน ไม่มีการฆ่าฟันกันตามอำเภอใจ ไม่มีลูกหาบ ไม่มีการข่มขืน ผมอยากเห็นน้องๆ ไปโรงเรียนอย่างมีความสุข เหมือนเด็กๆ ในเมืองไทย ผมอยากให้เพื่อนๆ และตัวผมเอง ได้เข้าเรียนมหาวิทยาลัยอย่างปราศจากทุกข์และความกังวลเหมือนนักศึกษาไทย ผมอยากให้ปู่กับย่าได้ไปวัดและทำบุญอย่างสงบตามที่ท่านปรารถนาแต่ไม่เคยได้มีโอกาส....."

 

 

ภาค 4   อุดมคติที่เลือนหาย

            20 ปี เหตุการณ์ 8888 รูปกายและตัวตนของนักศึกษาพม่าและผองชนดูสลัวมัวมนกระทั่งเลือนหายไปในความทรงจำและม่านหมอกของกาลเวลา ไม่ช้าไม่นาน 20 ปี 30 ปี หรือ 40 ปีข้างหน้า บางทีอาจถูกกัดกร่อนโดยกาลเวลาจนไม่เหลือแม้รูปรอย ในขณะที่การถกเถียงเพื่อแสวงหารูปแบบการปกครองที่ดีที่สุดของมนุษย์ยังดำเนินต่อไป

 

            เสรีนิยม ทุนนิยม สังคมนิยม คอมมิวนิสต์ ประชาธิปไตย อนาธิปไตย ?

 

            แต่สำหรับมวลหนุ่มสาววันที่ 8 สิงหาคม ไม่ว่าวันนี้จะมีใครประเมิน ประณาม ตำหนิ หยามเหยียด กระทั่งเชิดชูสรรเสริญพวกเขาในโศกนาฏกรรม ปี ค.. 1988 อย่างไรก็ตาม

 

            ทว่าสิ่งที่ดำรงอยู่จริงอย่างยั่งยืนดั่งผนึกแห่งกาลเวลา หากคืออุดมคติของพวกเขาที่ใฝ่ฝันและแสวงหาสังคมที่ดีงาม บ้านเมืองที่เป็นธรรม อันยากจะมีสิ่งใดมาลบเลือน เฉกเดียวกับความภาคภูมิใจที่จะยืนยันกับแผ่นดินไทย "แผ่นดินที่พวกเขามาขอพักพิงยามอ่อนล้าผืนนี้ว่า ….เราเป็นคนดี"

 

ด้วยคารวะและอาลัยยิ่ง

แด่ผู้สูญเสียชีวิตในเหตุการณ์วันที่ 8 สิงหาคม 1988

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net