นักวิชาการ-เอ็นจีโอ ฉะร่าง กม.ใหม่ 2 ฉบับ อนุรักษ์ป่า-สัตว์ป่า หรือเพื่อแปลงเป็นทุน?

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร จัดสัมมนาเรื่อง "ร่าง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ... และร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและอนุรักษ์สัตว์ป่า พ.ศ. ... : รักษาหรือแปลงป่าเป็นทุน" เมื่อวันที่ 29 ก.ค.ที่ผ่านมา จากการที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้จัดทำร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับเพื่อใช้บังคับแทน พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 โดยมอบหมายให้คณะอาจารย์จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ร่างตั้งแต่ปี 2548 ซึ่งจะแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม และมีกำหนดจะเสนอร่างนี้ต่อคณะรัฐมนตรี ภายในเดือนกันยายนนี้

 

ทั้งนี้ การปรับปรุงร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ มีหลายมาตราที่ยังมีปัญหา โดยเฉพาะมาตรา 28 และมาตรา 40 ที่จะแบ่งพื้นที่อุทยานออกเป็นเขตบริการ เขตหวงห้าม เขตผ่อนปรน ที่จะเอื้อประโยชน์ต่อการเปิดป่าและเปิดช่องให้มีการค้าสัตว์ป่ามากขึ้น รวมทั้งเปิดโอกาสให้เอกชนเข้าไปใช้พื้นที่สร้างโรงแรมที่พักได้

 

นางรัตยา จันทรเทียร ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวว่า พ.ร.บ.ใหม่นี้ถูกหยิบยกขึ้นมาปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในสมัยของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยมีเนื้อหาเน้นการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้พวกฉกฉวยโอกาสเข้าไปใช้พื้นที่ป่าแปลงสินทรัพย์ให้เป็นทุน ซึ่งหากเสนอร่างนี้ผ่าน เชื่อว่าผืนป่าจะถูกทำลายมากขึ้น เพราะเป็นร่างฯ ที่สนองนโยบายเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว ไม่ได้รักษาสัตว์ป่า และผืนป่า

 

โดยนางรัตยาเสนอให้ยื่นความเห็นไปที่กรมอุทยานฯ เพื่อชะลอร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับไว้ก่อน เพื่อดูรายละเอียดก่อนที่จะเสนอต่อไป เพราะกฎหมายดังกล่าวมีผลกระทบต่อความยั่งยืนของทรัพยากรที่มีอยู่ นอกจากนี้การที่ร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ ซึ่งรวมแล้วมีมากกว่าร้อยมาตราทำให้ไม่สามารถตามอ่านและแก้ไขทั้งหมดได้ในระยะเวลาอันสั้น และในส่วนข้อเสนอแก้ไขที่มีต่อคณะทำงานร่างกฎหมายก็ไม่สามารถรู้ได้ว่าจะได้รับการตอบสนองมากน้อยแค่ไหนอย่างไร ดังนั้นจึงขอเสนอเป็นหลักการให้ตั้งท้องไว้ก่อน อย่าเพิ่งคลอดกฎหมายออกมา

 

"ทางเรา หลังจากที่ฟังแล้วก็คงมีความเห็นต้องกันว่า หากร่าง พ.ร.บ.นี้ผ่านไปแล้วก็คงไม่เป็นผลดีต่ออนาคตของลูกหลานเรา ฉะนั้นเราก็คงต้องเสนอต่อไปว่าเรายังไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.นี้" นางรัตนากล่าว

 

ด้านนายมนู ทองศรี ผู้อำนวยการกองนิติการ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวยืนยันว่าการปรับแก้ พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับ ยังคงยึดหลักการเดิมที่จะรักษาสภาพแวดล้อมและสัตว์ป่าไว้ให้มากที่สุด และขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการปรับแก้ร่างให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจ กฎหมายรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการมีสิทธิชุมชน ซึ่งยอมรับว่ากรมอุทยานฯ ก็ค่อนข้างอึดอัดมาก แต่อย่างไรก็ต้องแก้ให้เสร็จในเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อจะส่งต่อให้กับทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และให้ทันกำหนดจะเสนอร่างนี้ต่อคณะรัฐมนตรี ภายในเดือนกันยายนนี้ ตามสภาพบังคับของมติคณะรัฐมนตรี

 

ส่วนนายเชลง รอบคอบ กองนิติการ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่าการจะผ่านร่างกฎหมายทั้งสองฉบับเพื่อบังคับใช้ยังต้องผ่านขั้นตอนต่างๆ รวมทั้งใช้ระยะเวลาอีกมากในการปรับปรุงแก้ไข ดังนั้นนอกจากข้อเสนอต่างๆ เพื่อแก้ไขในส่วนเนื้อหาที่ทางผู้จัดเสวนาจะมีสรุปให้กองนิติการ กรมอุทยานแห่งชาติแล้ว ยังสามารถยื่นขอแก้ไขหรือแย้งในกระบวนการต่างๆ ได้อีก ส่วนข้อเสนอที่จะให้ชะลอ หรือให้นำร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ กลับไปทำใหม่ทั้งหมดคงไม่สามารถทำได้ แต่คงจะปรับปรุงพัฒนาไปเรื่อยๆ

 

อย่างไรก็ตาม ในการเสวนามีการพูดคุยถึงข้อสงสัยเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ... และร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและอนุรักษ์สัตว์ป่า พ.ศ. ... โดยนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ตัวแทนจากองค์กรพัฒนาเอกชน และหน่วยงานรัฐร่วมแลกเปลี่ยน ใน 3 ประเด็นใหญ่ๆ ภายใต้กฎหมายทั้ง 2 ฉบับ คือ การจัดการพื้นที่อนุรักษ์ การอนุรักษ์สัตว์ป่า และการจัดการชุมชน

 

00000

 

รอยเท้าบนพื้นที่อนุรักษ์ ปัญหาการจัดการของร่างพ.ร.บ. ใหม่

นายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวถึงการจัดโซนนิ่งพื้นที่ป่าในเขตอุทยานฯ ที่เดิมแบ่งได้เป็น เขตบริการ เขตการท่องเที่ยวและนันทนาการ เขตการใช้ประโยชน์เพื่อวัตถุประสงพิเศษ เขตหวงห้าม เขตฟื้นฟูสภาพ เขตป่าเปลี่ยว (ไม่มีคนเข้าไปเที่ยว) และเขตแนวกันชน ซึ่งมีการเปิดพื้นที่ให้การท่องเที่ยวและการบริหารจัดการโดยเอกชนน้อยมาก

 

แต่ ร่าง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ... ได้แบ่งโซนนิ่งออกเป็น 3 เขต คือ เขตหวงห้าม เขตบริการ และเขตผ่อนปรน โดยนายศศินมองว่าขัดกับการจัดการอุทยานฯ เดิม นอกจากนี้การวางรูปแบบรวมทั้งการจัดการในเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าก็ไม่ได้แตกต่างกัน โดยมองได้ว่ากฎหมายใหม่นี้เป็นการเปิดป่าเพื่อเข้าใช้ประโยชน์และทำให้กระบวนการใช้ประโยชน์นั้นง่ายขึ้น ซึ่งถือว่าเปลี่ยนเจตนารมณ์ของกฎหมายเดิม

 

"เขตบริการให้เอกชนเช่าพัฒนาพื้นที่ เขตหวงห้ามก็ให้เจ้าหน้าที่พาเที่ยว สรุปว่าทะลุหมด" นายศศินกล่าว

 

นายศศิน กล่าวต่อว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวมีช่องโหว่ที่เอกชนจะเข้าไปดำเนินการแสวงหาผลประโยชน์จากป่านอกเหนือจากที่กฎหมายได้ระบุไว้ ทั้งนี้ แม้จะเชื่อว่าผู้ร่างกฎหมายไม่ได้คิดทำลายสิ่งแวดล้อม แต่การเปิดช่องขนาดนี้ในการจัดการจะทำให้เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการในพื้นที่ต้องทำงานหนัก และปัญหาที่เกิดขึ้นเจตนาดีก็เอาไม่อยู่

 


ภาพจากเอกสารประกอบการเสวนาของนายศศิน

 

 

แนวเขตการจัดการภายในเขตอุทยานแห่งชาติ ตาม ร่าง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ...

ได้บัญญัติไว้ในมาตราที่ 4 กำหนดให้จำแนกออกเป็น 3 เขต ได้แก่

 

เขตหวงห้าม หมายความว่า บริเวณที่ดินในอุทยานแห่งชาติที่อนุรักษ์ไว้เป็นแหล่งต้นน้ำ แหล่งคุ้มครองธรรมชาติและระบบนิเวศป่าไม้ สัตว์ป่า และเป็นแหล่งวิจัยทางวิชาการ เพื่อให้คงสภาพธรรมชาติเดิมไว้ไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลง

เขตบริการ หมายความว่า บริเวณที่ดินในอุทยานแห่งชาติที่จัดไว้ให้เป็นแหล่งศึกษาธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศ แหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ และเป็นแหล่งบริการ อำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในการท่องเที่ยวหรือพักแรมแก่ประชาชนทั่วไป


เขตผ่อนปรน หมายความว่า บริเวณที่ดินในอุทยานแห่งชาติที่ผ่อนผันให้บุคคลหรือชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมอยู่อาศัยได้เป็นการชั่วคราว และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างยั่งยืนตามความจำเป็นและให้รวมถึงบริเวณที่ผ่อนผันให้บุคคลหรือชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่อยู่อาศัยบริเวณติดต่อกับแนวเขตอุทยานแห่งชาติสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติบางชนิดได้อย่างยั่งยืน

 

 

นายศักดิ์อนันต์ ปลาทอง อาจารย์จากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยว่า จากการวิเคราะห์รายละเอียดของร่าง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ...พบว่า ไม่ได้ให้ความสำคัญพื้นที่คุ้มครองทางทะเลตามหลักสากล และยังผิดหลักวิชาการการจัดแบ่งพื้นที่อนุรักษ์ เนื่องจากให้อำนาจแก่หัวหน้าอุทยานฯ และอธิบดีในการกำหนดเขต โดยมีเพียงแค่การรับฟังข้อปรึกษา และความเห็นจากคณะกรรมการที่ปรึกษาประจำอุทยานเท่านั้น

 

ทั้งนี้ ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าการกำหนดเขตการจัดการนั้นจะอยู่บนหลักวิชาการมากพอ เพราะเดิมการจัดแบ่งพื้นที่แต่ละแห่งในอุทยานต่างๆ นั้น มักอ้างอิงข้อมูลทางวิชาการ ทั้งด้านทรัพยากร ปัญหาการใช้ประโยชน์ที่จะผ่านการกลั่นกรองทางวิชาการเป็นหลัก

 

นอกจากนี้ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวได้เปิดโอกาสให้ใช้ประโยชน์จากอุทยานแห่งชาติเพื่อการท่องเที่ยวศึกษาธรรมชาติได้ทุกบริเวณในอุทยานแห่งชาติถ้ามีเจ้าหน้าที่ไปด้วย โดยไม่ระบุเขตหวงห้ามไว้ในอุทยานฯ ทั้งที่ตามหลักสากลในพื้นที่อุทยานฯ ควรมีการกำหนด "พื้นที่ห้ามเข้า" ยกเว้นเพื่อการศึกษาวิจัย เพื่อคงพื้นที่บางส่วนในอุทยานให้รักษาสภาพความเป็นธรรมชาติไว้ให้มากที่สุดโดยไม่มีการรบกวนของมนุษย์

 

นายศักดิ์อนันต์กล่าวต่อว่า สิ่งที่น่าห่วงมากก็คือ ม.38 (3) การให้บริการเพื่อการท่องเที่ยวหรือที่พักอาศัยชั่วคราวแก่นักท่องเที่ยว และ ม.40 ที่อธิบดีฯ มีอำนาจอนุญาตหรือทำการตกลงผูกพันให้บุคคลเข้าไปลงทุนก่อสร้างกิจการท่องเที่ยว ที่พักแรมในเขตบริการละไม่เกิน 10 ไร่คราวละไม่น้อยกว่า 5 ปีแต่ไม่เกิน 30 ปี โดยพิจารณาผลประโยชน์ที่รัฐได้รับ กับความเสียหายของอุทยานฯ ซึ่งเป็นการเปิดกว้างมากเกินไป เพราะไม่จำกัดจำนวนและขอบเขตที่ตั้ง อีกทั้งไม่เพียงแต่จะอนุญาตให้เอกชนรายใหม่เข้ามาดำเนินการเชิงพาณิชย์ง่ายขึ้น แต่ยังเปิดพื้นที่ใหม่ให้เอกชนเข้ามาลงทุนอย่างถูกกฎหมายแบบผูกขาดการหาผลประโยชน์

 

"กฎหมายไม่ได้แก้ปัญหาเดิม แต่กลับเอาปัญหาใหม่เข้ามา เพราะเปิดพื้นที่ใหม่ให้เอกชนรายใหม่เข้ามาในพื้นที่" นายศักดิ์อนันต์ กล่าว พร้อมแสดงความเห็นว่าเรื่องนี้ไม่ได้แก้ปัญหาเก่าที่ชาวบ้านหรือเอกชนรายย่อยเข้ามาทำกิจกรรมขายอาหาร ขายของที่ระลึก จัดทัวร์ในอุทยานเลย

 

อย่างไรก็ตาม ในแง่ผลประโยชน์ การเปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุนแข่งขันกับชาวบ้านที่อยู่โดยรอบอุทยาน รัฐควรคำนึงถึงประโยชน์ที่จะตกสู่ชาวบ้านโดยรอบรวมทั้งความสัมพันธ์ในพื้นที่ ไม่ควรมองแต่ผลประโยชน์ที่กรมอุทยานฯ หรืออุทยานฯ นั้นๆ จะได้รับ เป็นค่าตอบแทนแต่เพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงการจัดสรรการใช้ทรัพยากรในพื้นที่ด้วย

 

ด้าน นางสาวสุกรานต์ โรจนไพรวงศ์ นักวิชาการอิสระด้านสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ตามหลักการแล้ว การเขียนกฎหมายต้องให้เกิดความสมดุล แต่ร่างกฎหมายฉบับนี้สมดุลไม่ได้ เพราะมีเรื่องของผลประโยชน์มากกว่าการอนุรักษ์ อีกทั้งจากการอ่านเนื้อหาของร่างทั้ง 2 ฉบับ ยังสรุปฟันธงได้ว่าเป็นการเปลี่ยนโดยหลักการจากกฎหมายเพื่อคุ้มครองรักษาทรัพยากรทั้งป่าไม้และสัตว์ป่าไปเป็นการใช้ประโยชน์ คือ อยากจะใช้อุทยานฯ และเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าอย่างไร

 

"มันไม่ได้เป็นเรื่องของการอนุรักษ์แล้ว มันเป็นเรื่องที่ว่าเราอยากเปิดหมด เพื่อที่จะใช้ประโยชน์ เพื่อแปลงทรัพย์สินเป็นทุน แปลงทรัพยากรเป็นทุน กติกาแบบนี้ ออกแบบนี้ โซนอย่างนั้นอย่างนี้เอาไหม แล้วพูดคุยกันอีกแนวหนึ่ง อันนี้เป็นข้อเสนอ ที่คิดว่าน่าจะตรงประเด็นกว่าแล้วก็จะไม่งง" น.ส.สุกรานต์กล่าว โดยเสนอชื่อใหม่ให้เป็น พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่อนุรักษ์

 

00000

 


ภาพจากเอกสารประกอบการเสวนาของนายสมโภชน์

 

 

"การอนุรักษ์สัตว์ป่า" หรือ "เปิดตลาดค้าสัตว์เสรี"

น.พ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย กล่าวถึงร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่า พ.ศ. ... ว่า เป็นการเพิ่มช่องโหว่ของการทำธุรกิจที่เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มค้าสัตว์ป่าได้ผลมากขึ้น ทั้งเรื่องของการลักลอบค้าสัตว์ป่า การเพาะพันธุ์สัตว์ป่า การนำสัตว์ป่าเข้าไปเลี้ยงในสวนสัตว์ และการเข้าครอบครองสิทธิสัตว์ป่าโดยภาคเอกชน ซึ่งจะนำไปสู่การทำธุรกิจการค้าสัตว์ป่าให้ขยายวงกว้างขึ้น โดยผ่านทางสวนสัตว์ และฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ทั้งที่การเปิดช่องโหว่กฎหมายให้น้อยที่สุดเป็นเรื่องจำเป็น

 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาปัญหาการลักลอบค้าสัตว์ป่า เกิดจากความไม่ใส่ใจของสังคม และไม่เห็นความสำคัญของการบังคับใช้กฎหมาย ส่วนเจ้าหน้าที่ก็เฉยเมยกับปัญหาและเจ้าหน้าที่บางส่วนก็ขาดความรู้เกี่ยวกับเรื่องสัตว์ นอกจากนี้ในกระบวนการลักลอบเองก็แจ้งเท็จเกี่ยวกับข้อมูลของสัตว์ ซึ่งยากแก่การตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ซึ่งไม่มีความเชี่ยวชาญ

 

ในส่วนของการอนุญาตให้เพาะเลี้ยงสัตว์ป่า น.พ.รังสฤษฎ์มองว่า จะเป็นการเปิดช่องให้เกิดการนำสัตว์ป่ามาสวมรอย เพราะการแยกสัตว์ที่มาจากธรรมชาติและสัตว์เพาะเลี้ยงทำได้ยาก และการที่จะเปิดให้องค์กรพัฒนาเอกชนเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเพื่อคืนสู่ธรรมชาตินั้น ความสำเร็จเป็นไปได้ยากเพราะมีกระบวนการที่ซับซ้อนและใช้ต้นทุนสูง ซึ่งการเปิดช่องนี้อาจถูกนำมาใช้เป็นข้ออ้างในการแสวงหาผลประโยชน์ และในความเป็นจริงการเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าจำนวนมากไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อระบบนิเวศน์ อีกทั้งไม่ได้ทำให้ปริมาณการล่าลดลง หรือทำให้สัตว์ในธรรมชาติเพิ่มขึ้น

 

"ถูกต้องแล้วหรือที่จะให้สัตว์ค้าได้แต่ไม่ให้มีการค้ามนุษย์ โดยส่วนตัวผมคิดว่าเราไม่มีสิทธิค้าชีวิต ไม่มีสิทธิค้าสัตว์เหมือนที่ไม่มีสิทธิค้ามนุษย์ เพราะคนและสัตว์เท่ากัน" น.พ.รังสฤษฎ์กล่าวในมุมมองที่ว่าชีวิตไม่ใช่สินค้า และมองว่ากฎหมายนี้เป็นกฎหมายบาปที่ทำให้สัตว์กลายเป็นผู้ถูกกระทำ

 

ด้าน รศ.ดร.สมโภชน์ ศรีโกสามาตร อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงว่าในปัจจุบันสัตว์ที่ถูกคุกคามและใกล้สูญพันธุ์ในไทยมี 233 ชนิด และจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นภัยคุกคามต่อสัตว์ป่าก็ได้เปลี่ยนแปลงไป แบ่งได้เป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ ส่วนของ "รัฐ" อย่างเช่นจีน ที่หลอมรวมธุรกิจการค้าสัตว์ป่า ผ่านสวนสัตว์ ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ร้านขายผลิตภัณฑ์สัตว์ป่า ธุรกิจยาจีนแผนโบราณ และการท่องเที่ยว ส่วนที่สอง คือ "ธุรกิจสวนสัตว์โลก" ที่กำลังขยายตัว ทำให้มีความต้องการสัตว์เด่นเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวค่อนข้างมาก

 

รศ.ดร.สมโภชน์ กล่าวต่อว่า "จีน" เป็นเครื่องจักรที่สำคัญใน Supply chain (ห่วงโซ่อุปทาน หมายถึง การเชื่อมต่อของหน่วย หรือจุดต่างๆ ในการผลิตสินค้าหรือบริการที่เริ่มต้นจากวัตถุดิบไปยังจุดสุดท้าย-ประชาไท) ของการบริโภคสัตว์ป่าอย่าง เสือ และหมี ซึ่ง "ฟาร์มเสือ" 5 แหล่งใหญ่ ของจีนเชื่อมโยงกับโรงงานทำ "ไวน์เสือ" และในปี 2547-2548 ฟาร์มดังกล่าวมีเสืออยู่ราว 300-1300 ตัว ทั้งนี้การขยายตัวของตลาดตั้งแต่ปี 2548 ทำให้รัฐส่งเสริมให้เพาะเลี้ยงเสือ โดยที่เมืองซานยา บนเกาะไหหลำ มีแผนวางไว้ คือ เสือ 100 ตัว ธ.ค.2545 และ 400 ตัว ธ.ค.2548 ซึ่งเมื่อเพิ่มเป็น 500 ตัว รัฐบาลจีนจะอนุมัติว่าจะทำอะไรต่อไป

 

ส่วน "เครือข่ายสวนสัตว์โลก" ถือเป็นเครื่องจักรที่สำคัญในฐานะ "ผู้บริโภคสัตว์ป่าเด่นที่มีชีวิต" ที่กำลังขยายตัวในทางธุรกิจ และมีความพยายามที่จะเสาะหาช่องทางเพื่อให้ได้สัตว์เด่นและดึงดูด ซึ่งการเพาะเลี้ยงของสวนสัตว์ไม่เพียงพอทำให้พยายามหาทุกช่องทางเพื่อให้ได้สัตว์ทั้งโดยวิธีการที่ถูกและผิดกฎหมาย นอกจากนี้ยังเชื่อมโยงธุรกิจสวนสัตว์กับธุรกิจอื่นๆ และรัฐ

 

ทั้งนี้ ต่อความคิดที่ว่ากฎหมายเป็นเครื่องมือหนึ่งในการแก้ปัญหาการจัดการสัตว์ป่าที่เปลี่ยนไป รศ.ดร.สมโภชน์ ได้ตั้งคำถามถึง พ.ร.บ.ส่งเสริมและอนุรักษ์สัตว์ป่าฉบับใหม่ ไว้ 2 ข้อ คือ 1.ได้นำประเด็นใหม่เรื่องการคุกคามสัตว์ป่า เช่น ประเด็นจีน และสวนสัตว์ในฐานะตัวจักรที่ทำทุกวิถีทางในการใช้ประโยชน์จากสัตว์ป่า มาเป็นตัวตั้งหรือไม่ หรือเอาประเด็นเดิมๆ มาตั้ง และ 2.ได้นำประเด็นใหม่เรื่องความอ่อนแอของระบบการจัดการพื้นที่เพื่อการอนุรักษ์สัตว์ป่ามาศึกษาหรือไม่ หรือคัดลอกระบบบริหารจัดการจากประเทศอื่นซึ่งไม่เข้ากับบริบทของประเทศไทย

 

"สองประเด็นใหญ่นี้เป็นเรื่องท้าทายของนักกฎหมายไทยที่จะสร้างงานชิ้นโบว์แดงเพื่อการอนุรักษ์สัตว์ป่าไทย โดย พ.ร.บ.สัตว์ป่าใหม่ต้องตอบปัญหาดังกล่าวต่อสังคมไทย" รศ.ดร.สมโภชน์ กล่าว

 

นายสุรพล ดวงแข สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวถึงการจัดทำกฎหมายเพื่ออนุรักษ์ป่าและสัตว์ป่าว่าจะต้องมีเจตนารมณ์ที่ชัดเจนในการอนุรักษ์ ซึ่งกว่า 50 ปีที่ผ่านมาของการบังคับใช้ พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ ไม่ได้ทำให้การทำลายสัตว์ลดลง แต่ทำให้กระบวนการซับซ้อนขึ้น ผสมถูกกฎหมายและผิดกฎหมายเอาไว้เหมือนเป็นกระบวนการใต้ดิน อีกทั้งยังกลายเป็นธุรกิจการจัดหาสัตว์ที่เกี่ยวพันธ์กับอำนาจทางการเมือง ทำให้เกิดปัญหากับการบังคับใช้กฎหมาย

 

"ตราบใดที่ผู้บริโภคยังขาดความรู้ ก็ยังคงต้องการในสิ่งที่หยาบๆ ต้องการดูของประหลาดต่อไปไม่ใช่ต้องการที่จะได้ความรู้ เพราะฉะนั้นวงจรมันก็จะเป็นวงจรอุบาทว์ก็คือว่า มีผู้หาของประหลาดมาให้ดู ไอ้คนดูมันก็ดูของประหลาด ไม่มีความรู้อะไร และไม่ได้รู้เรื่องรู้ราวว่ามีเบื้องหน้าเบื้องลึกของการได้มาซึ่งสัตว์เหล่านี้คืออะไร ถ้าเป็นอย่างนี้สังคมก็วิบัติ และในที่สุดแล้วผลประโยชน์ที่ตกทอดไปไม่ได้กับสังคม ไปตกอยู่กับกลุ่มผูกขาด กลุ่มที่อยู่เบื้องหลังกฎหมายของการค้าสัตว์เป็นหลัก" นายสุรพล กล่าว

 

กับข้ออ้างที่ว่าสวนสัตว์ต้องการนำสัตว์มาเพาะเลี้ยงเพื่ออนุรักษ์ ทั้งที่ปัจจุบันสวนสัตว์ต้องการสัตว์สายพันธุ์ใหม่ อีกทั้งมีความต้องการพ่อพันธุ์แม่พันธุ์สัตว์จากธรรมชาติที่แข็งแรงมาเพาะเลี้ยงทดแทนสัตว์ในสวนสัตว์ที่ผสมกันไปมาจนสายพันธุ์อ่อนแอ ดังนั้นสัตว์ที่อยู่ในสวนสัตว์หรือสัตว์ที่เพาะได้ในเชิงธุรกิจไม่ใช่คำตอบว่าสัตว์เหล่านี้จะเป็นตัวแทนเพื่อดำรงเผ่าพันธุ์ต่อไปได้ เพราะฉะนั้นการเพาะเลี้ยง การค้าขายสัตว์เป็นคนละเรื่องกับการอนุรักษ์สัตว์

 

นายสุรพล กล่าวต่อว่า การปล่อยสัตว์คืนสู่ธรรมชาติ ในวันนี้เป็นเหมือนการให้ยาแก้ปวดไม่ได้แก้ปัญหา เพราะต้นเหตุหลักๆ ที่ทำให้สัตว์สูญพันธุ์จากธรรมชาติคือการที่กฎหมายไม่เข้มแข็ง สัตว์ป่าถูกรบกวน ดังนั้นจึงควรแก้ปัญหาในส่วนนี้ก่อน

 

00000

 

"การจัดการชุมชน" บาดแผล "สิทธิชุมชน" ที่กำลังถูกบ่มซ้ำ

นายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวถึงภาพรวมเนื้อหาของกฎหมายใหม่เกี่ยวกับชุมชนว่า มีข้อดีในการที่ให้ความสำคัญกับชุมชน โดยระบุคำว่าชุมชนในกฎหมาย เพื่อตอบสนองต่อรัฐธรรมนูญในเรื่องสิทธิชุมชนแต่การระบุสิทธิของชุมชนในกระบวนการและขั้นตอนในการประกาศเขตอุทยานใหม่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า รวมทั้งวนอุทยานใหม่ กลับไม่ได้ตอบสนองกับปัญหาที่เคยเกิดในพื้นที่

 

นายศศินอธิบายถึงกระบวนการดังกล่าวว่า แม้จะให้ชุมชนแสดงความคิดเห็นในขั้นตอนสำรวจพื้นที่ชุมชน แต่เมื่อตราพระราชกฤษฎีกาแสดงแนวเขตแล้ว ประชาชนต้องยื่นคำร้องพิสูจน์สิทธิภายใน 180 วัน ซึ่งแม้ชุมชนจะมีสิทธิก็ไม่อาจอยู่ต่อได้ โดยหากยกให้อุทยานฯ ก็จะได้ค่าชดเชย ไม่ให้ก็จะเวนคืนหรือผ่อนผันแล้วแต่กรณี ส่วนผู้ไม่มีสิทธิก็ต้องย้ายออกโดยจ่ายค่ารื้อหรือไม่จ่ายก็ได้ และจะจัดที่อยู่หรือไม่จัดที่อยู่ให้ก็ได้ แล้วแต่กรณี

 

ในส่วนนี้ถือเป็นการละเมิดสิทธิ์ชุมชน ในกระบวนการประกาศอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ซึ่งไม่ว่าจะมีเอกสารสิทธิ์ตามกฎหมายที่ดินหรือไม่ก็ตาม กรมอุทยานแห่งชาติก็สามารถใช้กฎหมายเวนคืนที่ดินนั้นได้ อีกทั้งยังเป็นการให้ประกาศเขตอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าไปก่อนแล้วค่อยดำเนินการพิสูจน์สิทธิ์ภายหลัง นอกจากนี้ในส่วนของวนอุทยานก็เปิดช่องให้คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติเสนอรัฐมนตรีประกาศได้ทันที ให้บังคับใช้กฎหมายอุทยานโดยอนุโลม

 

จากประสบการณ์การทำงานของมูลนิธิสืบฯ ที่ผ่านมาพบว่า ป่าสมบูรณ์ที่เหลืออยู่แทบทุกป่ารักษาโดยภาคประชาชน ทั้งป่าเล็กป่าน้อยนอกอุทยานฯ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ซึ่งเป็นป่าชุมชน โดยที่ผ่านมาป่าดังกล่าวถูกจับจ้องที่จะประกาศเป็นวนอุทยานและลดความรู้สึกเป็นเจ้าของผู้ดูแลป่าของชุมชน จนในที่สุดก็มีข้าราชการเข้าไปช่วยดูแล ทั้งนี้ตามแนวคิดการทำงานของสืบฯ ที่ไม่ต้องการใช้ชุมชนลุกล้ำที่ทำกินเข้าไปในป่าโดยการหาข้อตกลงร่วมกันให้ชัดเจน ยังเห็นด้วยกับการรักษาป่าด้วยการควบคุมพื้นที่ แต่ไม่เห็นด้วยกับการพิสูจน์สิทธิ์

 

"วันนี้จะต้องเลิก ลดความขัดแย้งในชุมชน และจะต้องร่วมกันรักษาป่า" นายศศินกล่าว

 

นายศศิน กล่าวต่อมาถึง มาตรการ "เขตผ่อนปรน" ตามมาตรา 4 ร่าง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ... และในมาตรา 53 ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและอนุรักษ์สัตว์ป่า พ.ศ. ... ทำให้ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมอยู่อาศัยได้เป็นการชั่วคราว เกิดปัญหาในการยอมรับการอยู่ร่วมกันระหว่างคนและป่าอย่างยั่งยืนซึ่งกำลังจะหาทางออกได้ เพราะเมื่อกฎหมายนี้บังคับใช้จะมาทำลายสิ่งเหล่านี้ ทำให้หวั่นเกรงถึงการเปิดช่องให้สามารถใช้อำนาจ บีบบังคับ กดดัน อพยพชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมออกจากพื้นที่อนุรักษ์

 

ในส่วนการบังคับให้ชุมชนต้องทำโครงการใน "เขตผ่อนปรน" ในร่างกฎหมายใหม่ทั้ง 2 ฉบับ จะเป็นการเปิดให้กลุ่มทุนเข้ามาดำเนินการจัดการเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ในพื้นที่ นำทุนเข้ามาทำลายชุมชนได้ นอกจากนี้ที่น่าเป็นห่วงอีกส่วนหนึ่งก็คือ "ชุมชนติดป่า" ซึ่งที่ผ่านมาเคยมีปัญหาถกเถียงกันในเรื่องการจัดการป่าชุมชน แต่ในร่างกฎหมายใหม่ได้บังคับให้ชุมชนเหล่านี้ต้องร่วมทำโครงการด้วย ทั้งที่ความเป็นจริง "ชุมชนติดป่า" หลายชุมชนไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับป่า ทำให้หวั่นเกรงว่าชุมชนเหล่านี้จะกลายเป็นช่องสำหรับการแสวงหาประโยชน์ของคนภายนอก อีกทั้งในส่วนนี้ยังเปิดช่องให้เปลี่ยนแปลงพื้นที่อุทยานฯ และจ่ายค่าเสียหายของทรัพยากรเป็นเงินได้

 

"ผมเห็นว่าผู้ร่างใช้เงิน ใช้แนวคิดเรื่องเงินเป็นตัวตั้งในการมองชุมชน ในการมีส่วนร่วมของชุมชนหรือการมองชุมชนก็ดีบนฐานของการเอาเงินไปฟาด... หรือเปล่า ตั้งแต่เรื่องเวนคืนจนถึงการเป็นช่องที่เอาผลประโยชน์ไปล่อว่าชุมชนจะมีรายได้เพิ่มขึ้น" นายศศินกล่าว

 

ส่วนการแก้ปัญหาในระยะยาว นายศศินเสนอให้ยกเลิกการพิสูจน์สิทธิ์ และยอมรับในสิทธิชุมชนในการจัดการพื้นที่ โดยไม่บังคับให้ทำโครงการ หรือให้คนนอกพื้นที่เข้าไปจัดการชุมชน แต่ให้ชุมชนจัดการกันเองอย่างมีส่วนร่วม ซึ่งจะทำให้การบังคับใช้กฎหมายเพื่อเป็นเครื่องมือในการจัดการชุมชน กลายเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น


ด้าน นายพิสิษฐ์ ชาญเสนาะ นายกสมาคมหยาดฝน กล่าวว่าโดยภาพรวมยังไม่เห็นประโยชน์ที่ชาวบ้านจะได้จาก พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ และที่ผ่านมาการลงพื้นที่ได้ทำให้มองเห็นภาพความสัมพันธ์ของชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ที่ไม่ดีนักแต่ก็พยายามไกล่เกลี่ยโดยใช้การอยู่รอดของชุมชนและการอยู่รอดของป่ามาช่วยประนีประนอม อีกทั้งมีคนรุ่นใหม่ในหมู่บ้านที่มีแนวคิดในการอนุรักษ์ก็เป็นตัวเชื่อมประสานเพื่อการอยู่ร่วมกัน แต่ถ้า พ.ร.บ.ใหม่มีข้อบัญญัติที่จะขับไล่ โดยตรวจกรรมสิทธิ์ของชาวบ้าน เรื่องนี้จะยิ่งสร้างความไม่พอใจให้เกิดขึ้นในพื้นที่ อีกทั้งบทเรียนที่ผ่านมาจากการเปิดแหล่งท่องเที่ยว ในพื้นที่ชายหาด ชายทะเล ก็พบว่าผลประโยชน์ตกอยู่กับนักธุรกิจและกลุ่มผู้ประกอบการ แต่ชาวบ้านทีร่วมกันดูแลสิ่งแวดล้อมในพื้นที่กลับได้รับประโยชน์เพียงเล็กน้อย

 

 "ความขัดแย้งในพื้นที่ที่ยังคงอยู่ และ พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่สามารถที่จะชี้ได้ว่าจะลดความขัดแย้งได้อย่างไร ทำให้พี่น้องประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างไร หรือประชาชนจะมีประโยชน์โดยแท้จริงได้อย่างไร ผมคิดว่ากฎหมายร่าง พ.ร.บ.นี้ก็คงจะไม่เป็นที่ยอมรับจากพี่น้องประชาชน และอาจจะเป็นปรปักษ์กันด้วยซ้ำไป" นายพิสิษฐ์กล่าว พร้อมเสริมว่า การที่ประชาชนถูกละเมิดสิทธิโดยเฉพาะตามสิทธิในรัฐธรรมนูญจะต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

 

ทั้งนี้ นายพิสิษฐ์ ได้เสนอให้เปิดมีกระบวนการมีส่วนร่วมในการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า รวมทั้งการกำหนดรูปแบบการอนุรักษ์พื้นที่ ร่วมกันดูแลด้วยความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกัน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท