สัมภาษณ์ "สายชล สัตยานุรักษ์" : ขอให้รัก "ชาติ" ที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริง


 





 

 

"กระแสชาตินิยมในปัจจุบัน กลับทำให้ความขัดแย้งภายในชาติขยายตัว

และเข้าใกล้จุดแตกหักมากขึ้น"

 

 

"ความซับซ้อนของชาตินิยมเช่นนี้ เป็นเรื่องที่เราไม่ค่อยตระหนักกัน

และเมื่อสังคมไทยยุคโลกาภิวัตน์ได้เปลี่ยนไปจากเดิมอย่างมากแล้ว เราก็ยังไม่รู้สึกเท่าใดนักว่า

มรดกทางประวัติศาสตร์จากยุคจอมพลสฤษดิ์นี้

เป็นรากฐานของความไม่เสมอภาคและความขัดแย้งมากมายในสังคมไทยปัจจุบัน

รวมทั้งเป็นปัญหาในระดับรากฐานของการพัฒนาประชาธิปไตย

(ที่ต้องการวัฒนธรรมอีกแบบหนึ่ง)ด้วย"

 

 

"ถ้าพูดในประเด็นชาตินิยม คนรวยที่เป็นนายทุนสามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องมีชาติ

เพราะสามารถผันเอาทรัพย์สินไปลงทุนในตลาดทั่วโลก

คนเหล่านี้จึงน่าเป็นห่วงน้อยกว่าคนจน

ซึ่งยังต้องอาศัยชาติในการต่อสู้กับการแย่งชิงทรัพยากร"

 

 

"จึงอยากเสนอให้เราหาทางปรับเปลี่ยนชาตินิยม

ให้คนรักชาติและทำประโยชน์เพื่อชาติในความหมายใหม่

คือ "ประชาชาติ" หรือชาติที่เป็นของประชาชน

ที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริง"

 

 

 

 

 

"รศ.สายชล สัตยานุรักษ์" อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ให้สัมภาษณ์ "ประชาไท" ต่อกรณีกระแสชาตินิยม กรณีปราสาทเขาพระวิหาร ภายหลังที่กลุ่มพันธมิตรฯ การเดินขบวนของธรรมยาตราว่า ไม่เห็นด้วยกับการกระทำทุกอย่างที่จะนำไปสู่ความรุนแรง การแก้ปัญหาควรตั้งอยู่บนฐานของความรู้และความยุติธรรม

                                    

อาจารย์มีความคิดเห็นอย่างไร ต่อกรณีการจดทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารฯเป็นมรดกโลก จนนำไปสู่กระแสชาตินิยมที่เกิดขึ้นในขณะนี้?

เป็นกระแสชาตินิยมที่น่ากังวลว่าจะนำไปสู่ความรุนแรงได้ง่ายมาก ทั้งระหว่างคนในชาติด้วยกัน และระหว่างคนไทยกับคนเขมร

 

ในระหว่างคนไทยด้วยกันนั้น มีความขัดแย้งที่มีรากฐานมาจากผลประโยชน์ทางชนชั้นที่ทวีรุนแรงมากขึ้นอยู่ก่อนแล้ว โดยที่กระแสชาตินิยมที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ไม่ได้สร้างเอกภาพของคนในชาติขึ้นมาเลย (ทั้ง ๆ ที่ชาตินิยมโดยทั่วไปมักจะทำให้เกิดเอกภาพขึ้นมาได้ค่อนข้างมาก) กระแสชาตินิยมในปัจจุบันกลับทำให้ความขัดแย้งภายในชาติขยายตัวและเข้าใกล้จุดแตกหักมากขึ้น ที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะฝ่ายรัฐบาลซึ่งกุมอำนาจและสื่อส่วนใหญ่เอาไว้ในมือนั้นเป็นฝ่ายที่เสียประโยชน์จากกระแสชาตินิยมที่เกิดขึ้น จึงเป็นฝ่ายที่ต่อต้านชาตินิยม ส่วนฝ่ายที่จุดกระแสชาตินิยมขึ้นมา คือฝ่ายพันธมิตรฯ ก็ยังไม่สามารถจะขายสื่อในมือของตนออกไปสู่คนในชนบทได้มากนัก และคนในเขตชนบทก็นิยมนโยบายของรัฐบาลทักษิณรวมทั้งนโยบายของรัฐบาลปัจจุบันอยู่แล้ว ซึ่งมาตรการ 6 ข้อ ช่วยต่ออายุให้แก่ความนิยมในพรรคพลังประชาชนอย่างทันการณ์

 

ดังนั้น ชาตินิยมที่ฝ่ายพันธมิตรฯ จุดกระแส จึงเข้าไปถึงคนชนบทได้น้อย สังคมไทยจึงมีคนสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายรัฐบาล อีกฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายพันธมิตรฯ ที่เผชิญหน้ากันอยู่ ประชาชนฝ่ายที่อยู่ข้างพันธมิตรฯ นี้ เมื่อได้รับเอาพลังชาตินิยมเอาไว้อย่างเต็มที่ก็จะมีอารมณ์รุนแรงขึ้น จนอาจลืมนึกไปชั่วขณะว่าคนที่สนับสนุนรัฐบาลก็เป็นคนชาติเดียวกัน

 

ในด้านความขัดแย้งระหว่างคนไทยกับคนเขมร จะเห็นว่าทั้งฝ่ายไทยหรือฝ่ายเขมร ต่างมีการปลุกเร้ากระแสชาตินิยมเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของผู้ปลุกเร้า ความรู้สึกชาตินิยมจึงมีพลังขึ้นในหมู่ประชาชนทั้งสองฝ่าย ทำให้เสี่ยงต่อการปะทะกัน มรดกจากการรับรู้ประวัติศาสตร์ที่ประชาชนทั้งสองชาติต่างเห็นอีกชาติหนึ่งเป็นศัตรูสำคัญของชาติ ทำให้โอกาสที่จะใช้ความรุนแรงต่อกันมีได้สูงขึ้น และทำให้ยากขึ้นที่จะแก้ปัญหาผลประโยชน์ขัดกันด้วยการประนีประนอมกันหรือด้วยสันติวิธี

 

แต่หากมองเห็นผลเสียของการมีความขัดแย้งหรือการเผชิญหน้ากันระหว่างประชาชนสองประเทศ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องหาทางลดกระแสชาตินิยมและหาทางแก้ปัญหาด้วยสันติวิธีให้ได้ เพราะไม่ว่าเส้นพรมแดนจะอยู่ตรงไหน คนไทยและคนเขมรก็จะต้องอยู่ร่วมกันในอุษาคเนย์ตลอดไป และแท้ที่จริงแล้ว สิ่งที่คนไทยและคนเขมรพึงระวังร่วมกัน ก็คือ กลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจที่จะแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากรของส่วนรวมอย่างไม่เป็นธรรม โดยจะต้องร่วมกันหาทางเพิ่มอำนาจของท้องถิ่นในทั้งสองประเทศที่จะทำให้ประชาชนได้มีสิทธิในการจัดการทรัพยากรเพิ่มขึ้น แทนที่จะขัดแย้งกันเองเช่นนี้โดยไม่เกิดผลดีอะไรขึ้นมาแก่ภาคประชาชนในทั้งสองประเทศ
 
ถ้าย้อนมองในเชิงประวัติศาสตร์ กระแสชาตินิยมในตอนนี้ เราสามารถเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ในอดีตได้บ้างไหม?

ถ้ามองในแง่ของการปลุกกระแสชาตินิยมเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของผู้ทำการปลุกกระแสนี้ขึ้นมาในช่วงเวลาต่าง ๆ ก็อาจเห็นได้ชัดว่า ชาตินิยมในเวลานี้ มีความคล้ายคลึงกับชาตินิยมสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม และจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แต่ความจริงแล้ว ชาตินิยมในแต่ละยุค มีความแตกต่างกันมากทีเดียว

 

ดังนั้น ถ้าจะเปรียบเทียบจริงๆ ก็จะต้องตระหนักว่า กระแสชาตินิยมในแต่ละยุคมีบริบททางการเมืองและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน มีจุดเน้น องค์ประกอบทางความคิด และวัตถุประสงค์ในระดับลึกที่แตกต่างกัน และผลกระทบก็แตกต่างกัน พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ หากจะเปรียบเทียบจริง ๆ ก็ต้องพิจารณาชาตินิยมทุกกระแสหรือทุกสมัยที่เอามาเปรียบเทียบกันนั้นอย่างละเอียดอ่อนที่สุด เพื่อจะเข้าใจความซับซ้อนของปัญหาและผลกระทบที่ตามมา

 

ในปัจจุบัน เรามักได้ยินการเปรียบเทียบชาตินิยมกรณีเขาพระวิหารในปัจจุบัน กับกระแสชาตินิยมสมัยจอมพล ป.และสมัยจอมพลสฤษดิ์ ว่าชาตินิยมทั้งสามยุค ล้วนถูกนำมาใช้เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง ซึ่งถ้ามองอย่างกว้าง ๆ ก็ไม่ผิด แต่ถ้ามองอย่างละเอียดอ่อนก็จะเห็นว่าแตกต่างกันมาก และถ้าทุกคนเข้าใจชาตินิยมในบริบทที่ต่างกันอย่างละเอียดอ่อนขึ้น ก็จะไม่ถูกปลุกเร้าให้เข้าไปอยู่ในกระแสชาตินิยมอย่างง่าย ๆ

 

สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ในทศวรรษ 2480 เป็นชาตินิยมตามคติเชื้อชาตินิยม เพราะต้องการรวมดินแดนและประชาชน "เชื้อชาติไทย" ได้แก่ ไทใหญ่ทางตอนเหนือของพม่า ไทหลายกลุ่มในยูนนาน ลาวทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง และยังอ้างด้วยว่าคนมอญ เขมร ญวน นั้น แท้ที่จริงแล้วก็เป็นคนเชื้อชาติไทยด้วยกัน ควรจะรวมเข้าเป็นประเทศเดียวกันเพื่อจะเป็น "มหาประเทศ" และเป็น "มหาอำนาจในแหลมทอง"

 

นโยบายเช่นนี้ ด้านหนึ่งเกี่ยวข้องกับการสร้างความชอบธรรมและการเพิ่มพูนอำนาจให้แก่จอมพล ป. ซึ่งเป็นผู้นำในระบอบใหม่ภายหลังเกิดการปฏิวัติ พ.ศ.2475 เพียงไม่กี่ปี ในเวลานั้นความนิยมในระบอบเก่าก็ยังมีอยู่มาก จอมพล ป.จึงต้องอาศัยนโยบายสร้างชาติไทยให้เป็นมหาอำนาจ เพื่อดึงความสนับสนุนจากข้าราชการและประชาชน แต่หากพิจารณาบริบททางประวัติศาสตร์ของอุษาคเนย์ในเวลานั้น ก็จะเห็นได้ว่า นโยบายของจอมพล ป. ซึ่งมีปัญญาชนจำนวนมากในสมัยนั้นสนับสนุน เป็นส่วนหนึ่งของการร่วมมือกับจักรวรรดินิยมญี่ปุ่นในการต่อสู้กับจักรวรรดินิยมตะวันตก โดยที่ไทยเองก็เป็นจักรวรรดินิยมใหม่ที่พยายามจะขยายอำนาจออกไปให้มากที่สุด

 

เวลานั้นประชาชนส่วนใหญ่ในอุษาคเนย์ยังไม่มีความสำนึกเรื่องชาติ หลายประเทศยังไม่เป็นรัฐชาติ ในประเทศไทยเวลานั้นประชาชนส่วนใหญ่ก็ยังคงผูกพันกับชุมชนและท้องถิ่นมากกว่าชาติ หรือบางส่วนยังไม่ผูกพันกับชาติเลยแม้แต่น้อย รัฐบาลจึงปลุกเร้าความรู้สึกชาตินิยมตามคติเชื้อชาตินิยมอย่างเข้มข้น รวมทั้งปลุกเร้าให้เกิดการเดินขบวนเรียกร้องดินแดนคืนจากฝรั่งเศส ขณะเดียวกันก็สร้าง "วัฒนธรรมแห่งชาติ" ขึ้นมาใหม่หลายอย่าง ส่วนในทางเศรษฐกิจก็เน้นเศรษฐกิจชาตินิยม

 

จะเห็นได้ว่า ชาตินิยมสมัยจอมพล ป. มีความซับซ้อนหลายมิติ และจะเห็นได้ว่า ถึงแม้นโยบายสร้างชาติไทยให้เป็นมหาอำนาจจะล้มเหลว แต่ก็ทิ้งมรดกไว้หลายอย่าง รวมทั้งสามารถกีดกันคนต่างด้าวโดยเฉพาะคนจีนมิให้เป็นคู่แข่งทางการเมือง อันเป็นอีกจุดประสงค์หนึ่งของการจุดกระแสชาตินิยมตามคติเชื้อชาตินิยม ได้นานพอสมควร

 

สำหรับชาตินิยมสมัยจอมพลสฤษดิ์ ในช่วงที่เรื่องเขาพระวิหารถูกนำขึ้นสู่การพิจารณาของศาลโลกนั้น กระแสชาตินิยมเป็นแรงผลักดันให้เกิดการเดินขบวนเรียกร้องเขาพระวิหารมาเป็นของไทย คล้าย ๆ กับในปัจจุบัน แต่เราก็ควรจะเข้าใจชาตินิยมสมัยจอมพลสฤษดิ์ให้กว้างกว่าเรื่องเขาพระวิหาร

 

สมัยจอมพลสฤษดิ์นี้มีการฟื้นฟู "ความเป็นไทย" หรือวัฒนธรรมไทยแบบจารีตประเพณีอย่างมาก เน้นให้คนรัก "ความเป็นไทย" เห็นคุณค่าของ "ความเป็นไทย" แบบจารีตประเพณี เพื่อให้คนยอมรับการปกครองแบบไทยที่มีจอมพลสฤษดิ์เป็นผู้นำ โดยมีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นที่พึ่งสูงสุด นับเป็นชาตินิยมทางวัฒนธรรมที่ผูกพันอย่างมากกับอุดมการณ์ราชาชาตินิยม ที่มีผลอย่างลึกซึ้งต่อการจัดความสัมพันธ์ทางสังคมแบบแบ่งคนออกเป็นลำดับชั้น ซึ่งเปิดโอกาสให้คนเลื่อนชั้นได้ตามนโยบายพัฒนาประเทศแบบทุนนิยม แต่ทำให้คนแต่ละชั้นมีสิทธิและอำนาจแตกต่างกันไป รวมทั้งทำให้คนไทยนิยมการปกครองแบบไทยที่ "ไม่มีการเมือง"ด้วย

 

ความซับซ้อนของชาตินิยมเช่นนี้ เป็นเรื่องที่เราไม่ค่อยตระหนักกัน และเมื่อสังคมไทยยุคโลกาภิวัตน์ได้เปลี่ยนไปจากเดิมอย่างมากแล้ว เราก็ยังไม่รู้สึกเท่าใดนักว่ามรดกทางประวัติศาสตร์จากยุคจอมพลสฤษดิ์นี้ เป็นรากฐานของความไม่เสมอภาคและความขัดแย้งมากมายในสังคมไทยปัจจุบัน รวมทั้งเป็นปัญหาในระดับรากฐานของการพัฒนาประชาธิปไตย ที่ต้องการวัฒนธรรมอีกแบบหนึ่งด้วย

หากมองในเชิงรัฐศาสตร์ อาจารย์คิดว่ากระแสชาตินิยมในตอนนี้มีผลกระทบอย่างไรกับสังคม เช่น ในส่วนของรัฐบาล พันธมิตรฯ หรือประชาชน ? 

ผลกระทบโดยตรงของกระแสชาตินิยมในเวลานี้ ก็ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว แต่ถ้าจะแยกแยะดูว่ามีผลกระทบต่อฝ่ายต่าง ๆ แต่ละฝ่ายอย่างไรบ้าง ก็อาจเห็นได้ชัดพอสมควรว่ากระแสชาตินิยมทำให้ฝ่ายรัฐบาลเดือดร้อนมาก เพราะเป็นฝ่ายที่ไปออกแถลงการณ์ร่วมกับทางกัมพูชา แม้ว่ารัฐมนตรีต่างประเทศจะลาออกไปแล้ว รัฐบาลก็ยังเป็นเป้าโจมตีของฝ่ายพันธมิตรฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อถูกมองว่าที่รัฐบาลทำไปทั้งหมดนั้นก็เพื่อผลประโยชน์ของ "นายใหญ่" โดยที่รัฐบาลไม่ได้คำนึงถึงการเสียดินแดนหรือผลประโยชน์ของชาติ

 

ส่วนฝ่ายพันธมิตรฯ ได้ผลประโยชน์แน่นอน เพราะทำให้คนที่รักชาติ หรือคิดว่าตัวเองรักชาติ พากันสนับสนุนการชุมนุมขับไล่รัฐบาลอย่างเต็มที่ มีการบริจาคเงินให้เป็นจำนวนมากด้วย นอกจากนี้ กระแสชาตินิยมน่าจะทำให้จำนวนคนที่ต้องการซื้อบริการเอเอสทีวีเพื่อฟังการปราศรัยของฝ่ายพันธมิตรฯ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วด้วย

 

ส่วนประชาชน นอกจากเสี่ยงต่อการปะทะกันจนเลือดตกยางออกโดยไม่ได้อะไรขึ้นมาแล้ว ยังต้องประสบกับปัญหาเสถียรภาพทางการเมืองที่มีผลกระทบต่อการลงทุน และต้องอยู่ภายใต้รัฐบาลที่ต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ไปในการต่อสู้กับฝ่ายที่จะโค่นล้มตนโดยยอมทำทุกอย่างเพื่อหาเสียงสนับสนุนจากประชาชนอย่างชนิดที่ไม่คำนึงถึงผลกระทบระยะยาวต่อประเทศ ในสภาวการณ์เช่นปัจจุบัน แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่รัฐบาลจะเอาเวลามาทำงานการเมืองในเชิงของการหาทางให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรอย่างเป็นธรรม และหาทางทำให้การจัดการทรัพยากรของประเทศมีประสิทธิภาพสูงสุดและเป็นประโยชน์ที่ยั่งยืนอย่างที่ควรจะเป็น  

อาจารย์มีความคิดเห็นอย่างไรกับ กลุ่มพันธมิตรฯ การเดินขบวนของธรรมยาตรา ที่มีการนำเสนอที่จูงใจให้เกิดกระแสชาตินิยมขึ้นในกรณี ปราสาทเขาพระวิหารฯ ?

โดยส่วนตัวแล้ว ไม่เห็นด้วยกับการกระทำทุกอย่างที่จะนำไปสู่ความรุนแรง การแก้ปัญหาควรตั้งอยู่บนฐานของความรู้และความยุติธรรม แต่ปัญหาอย่างหนึ่งที่ทำให้การปลุกเร้าชาตินิยมได้ผลก็คือการที่คนไทยขาดความเข้าใจประวัติศาสตร์สังคมวัฒนธรรม เราจึงไปโทษแต่ฝ่ายที่กำลังใช้ชาตินิยมเป็นเครื่องมืออยู่ในปัจจุบันไม่ได้ อย่างน้อยที่สุดก็จะต้องโทษคุณภาพของระบบการศึกษาทุกระดับที่เชื่อมโยงอยู่กับระบบการเมืองแบบรวมศูนย์อำนาจอย่างแนบแน่นด้วย

 

ถ้าหากระบบการศึกษาของเราทำให้คนเข้าใจสังคมและวัฒนธรรมของอุษาคเนย์ก่อนเกิดรัฐชาติ ก็จะเห็นได้ว่า ประชาชนในแถบเขาพระวิหาร ทั้งที่ขึ้นกับรัฐชาติไทยและรัฐชาติกัมพูชาในปัจจุบัน ล้วนมีความสัมพันธ์กันในแบบที่คุณสุจิตต์ วงษ์เทศเรียกว่าเป็น "เครือญาติกัน" ทั้งทางสายเลือดที่แต่งงานผสมปนเปกัน และการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกัน จนมีรูปแบบศิลปะ สถาปัตยกรรม ภาษา โลกทัศน์ ฯลฯ ที่ไม่มีเส้นแบ่งเขตแดนตายตัว เช่น คนที่พูดภาษาไทยและกลายเป็น "คนไทย" ในสมัยอยุธยาหรือก่อนอยุธยา อาจเป็นคนมอญ เขมร ลาว ลัวะ ฯลฯ เพราะภาษาไทยกลายเป็นภาษากลางทางการค้าและการเผยแผ่พุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ ส่วนราชสำนักไทยก็ใช้ภาษาเขมรเป็นส่วนใหญ่สืบมาจนถึงปัจจุบัน ในขณะที่ขุนนางอยุธยาล้วนต้องเรียนภาษาโปรตุเกสเพื่อติดต่อกับฝรั่งทุก ๆ ชาติที่ล้วนแต่ใช้ภาษาโปรตุเกสในการสื่อสารกับขุนนางไทย ทำนองเดียวกันกับที่เราใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางอยู่ในปัจจุบัน ปัญหาที่กระแสชาตินิยมถูกปลุกเร้าอย่างงายดายก็เพราะเราไม่เคยถูกสอนให้มองว่าคนหลากหลายชาติพันธุ์ในอุษาคเนย์เคยสัมพันธ์กันมาอย่างใกล้ชิด และ "คนไทย" กับ "วัฒนธรรมไทย" ก็คือผลผลิตของความสัมพันธ์ดังกล่าวนี้

 

ภายใต้บริบทของสังคมการเมืองไทยและการรับรู้อดีตดังที่กล่าวมา จึงน่าเห็นใจที่ชาตินิยมครอบงำคนจำนวนมาก รวมทั้งปัญหาที่จักรวรรดินิยมหรือมหาอำนาจในอดีตสร้างขึ้นก็ทำให้มีคำถามได้หลายอย่างเกี่ยวกับเขาพระวิหาร โดยอาจจะไม่เกี่ยวอะไรกับกระแสชาตินิยมรุนแรงที่ฝ่ายพันธมิตรฯ ปลุกเร้าขึ้นมา เช่น ถ้าหากรัฐชาติและพรมแดนรัฐชาติเพิ่งเกิดขึ้น ทำไมจึงตัดสินให้เขาพระวิหารเป็นของรัฐชาติเขมร โดยใช้แผนที่ที่จักรวรรดินิยมฝรั่งเศสทำขึ้นโดยจงใจละเลยข้อตกลงเรื่องสันปันน้ำ หรือทำไมจึงอ้างประวัติศาสตร์ว่าเขาพระวิหารสร้างโดยฝ่ายเขมร ทั้ง ๆ ที่แรงงานที่สร้างน่าจะมาจากคนในท้องถิ่นรอบ ๆ เขาพระวิหาร และปราสาทพระวิหารก็เป็นที่สักการระของคนในท้องถิ่นรอบ ๆ จะดีกว่าหรือไม่ที่จะให้ประชาชนในท้องถิ่นที่ถูกแบ่งแยกให้ขึ้นกับรัฐชาติไทยและรัฐชาติกัมพูชาได้จัดการศิลปวัฒนธรรมและทรัพยากรในแถบนั้นร่วมกัน โดยสร้างองค์กรร่วมในบางลักษณะขึ้นมา ฯลฯ
 
ท่ามกลางความขัดแย้งที่นับวันยิ่งจะรุนแรงขึ้นทุกที อาจารย์อยากเตือนอะไรกับสังคมในขณะนี้บ้าง ?

ไม่อยากใช้คำว่าเตือน เป็นความคิดเห็นที่อยากเสนอเพื่อพิจารณามากกว่า คือสังคมไทยในขณะนี้เผชิญวิกฤตหลายด้าน บางอย่างก็เกิดจากเงื่อนไขปัจจัยภายใน บางอย่างก็มาจากปัจจัยภายนอก ในบริบทเช่นนี้หากเราปรับตัวไม่ทันหรือปรับตัวไม่ได้ หรือเราไม่หาทางต่อสู้ เราจะเอาตัวไม่รอด โดยเฉพาะคนส่วนใหญ่ของประเทศ

 

ถ้าพูดในประเด็นชาตินิยม คนรวยที่เป็นนายทุนสามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องมีชาติ เพราะสามารถผันเอาทรัพย์สินไปลงทุนในตลาดทั่วโลก คนเหล่านี้จึงน่าเป็นห่วงน้อยกว่าคนจน ซึ่งยังต้องอาศัยชาติในการต่อสู้กับการแย่งชิงทรัพยากร

 

ส่วนสถาบันตามประเพณีทั้งหลาย เช่น พุทธศาสนา และสถาบันอื่น ๆ ซึ่งถูกทำให้ผูกติดอยู่กับ "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทยทางวัฒนธรรม" มานาน หากยังยึดติดอยู่กับความหมายของ "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" แบบเดิม แทนที่จะปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยและกระแสโลกาภิวัตน์อย่างทันการณ์ ก็อาจต้องประสบกับภาวะวิกฤตในอนาคตจนหมดโอกาสที่จะปรับตัวอีกต่อไปก็เป็นได้

 

หากให้กล่าวอย่างรวบรัด ความสำนึกในเอกภาพของชาติยังคงมีความสำคัญมาก เพราะเรายังอยู่ภายใต้ระบบรัฐบาล ระบบสภานิติบัญญัติ และระบบศาลยุติธรรมเดียวกัน รวมทั้งอยู่ภายใต้ระบบภาษีและระบบการบริหารงบประมาณเดียวกัน เราจึงต้องรักชาติของเรา ต้องร่วมมือกัน ต่อรองกัน ประสานประโยชน์กัน ฯลฯ ภายในชาติของเราต่อไป อย่างไรก็ตาม เราไม่อาจปฏิเสธอำนาจจากภายนอก เช่น อำนาจตลาด อำนาจองค์กรโลกบาลระดับต่าง ๆ ซึ่งมีอิทธิพลและอำนาจเหนือเรามากขึ้น

 

ดังนั้น เราจึงต้องส่งเสริมและเปิดโอกาสให้คนทุกกลุ่มในสังคมไทยมีศักยภาพและอิสรเสรีภาพในการปรับตัวอย่างเต็มที่ ลดความได้เปรียบเสียเปรียบลง  รวมทั้งลดความแตกต่างและความแตกแยกของคนในชาติ และหาทางป้องกันมิให้กลุ่มทุนใหญ่ ๆ ได้ประโยชน์จากการปลุกระดมคนในชาติออกมาปะทะกันเพื่อปกป้องหรือเพื่อขยายผลประโยชน์ส่วนตัวของตน ไม่ว่าจะเป็นทุนเก่า ทุนใหม่ ทุนชาติ ทุนข้ามชาติก็ตาม พร้อมกันนั้นก็ต้องทำให้คนในชาติมีทัศนคติที่พร้อมจะเป็นมิตรกับประชาชนในชาติอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนในอาเซียนด้วยกัน เพื่อจะสามารถร่วมมือกันและประสานประโยชน์กันได้มากขึ้น และวางรากฐานให้แก่การร่วมมือกันในระดับอาเซียนอย่างมีเอกภาพมากขึ้นในอนาคต
          

จึงอยากเสนอให้เราหาทางปรับเปลี่ยนชาตินิยม ให้คนรักชาติและทำประโยชน์เพื่อชาติในความหมายใหม่ คือ "ประชาชาติ" หรือชาติที่เป็นของประชาชน ที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริง โดยคนใน "ประชาชาติไทย" มองประชาชนในชาติอื่นเป็นมิตรมิใช่เป็น "คนอื่น" หรือเป็นศัตรู และจะต้องปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมแห่งชาติให้วัฒนธรรมที่หลากหลายของคนทุกกลุ่มทุกชาติพันธุ์มีพื้นที่อยู่ใน "ชาติไทย" อย่างเท่าเทียมกัน และพร้อมกันนั้นก็ปรับเปลี่ยนความหมายของสถาบันสำคัญ ๆ ทุกสถาบัน เช่น สถาบันทหาร ก็ต้องเป็นทหารอาชีพอย่างแท้จริง เป็นต้น ซึ่งหากเราทำได้ โดยที่คนไทยทั้งหลายรู้เท่าทันปัญหาที่เกิดจากการเข้าใจชาตินิยมอย่างคับแคบเช่นในอดีตที่ผ่านมา  เราก็จะแก้ปัญหาได้มากและลดความรุนแรงได้มาก

    

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท