Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

อรรคพล สาตุ้ม


เจ้าหน้าที่พิเศษโครงการย้อนร้อยอดีตจิตรกรรมวัดอุโมงค์


 


 


* บทความนี้ได้ ปรับปรุง เพิ่มเติม และตัดทอนบางส่วนจากบทความเรื่อง ผลกระทบของการพัฒนา และโลกาภิวัตน์ ต่อภูมิจักรวาล : "การอ่านอนุสาวรีย์ของปลาบึก" ในภาพสะท้อน ที่ วัดหาดไคร้ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย  ซึ่งได้นำเสนอในรวมบทความ ประชุมวิชาการศิลปะและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง: เอกภาพและความหลากหลาย จัดโดยมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี ระหว่างวันที่ 9-10 สิงหาคม 2550                                                                


 


 


 


ความเป็นมาของปรัชญาประวัติศาสตร์ศิลปะแบบชาตินิยม


ย้อนทบทวน ความเป็นมาของอิทธิพลทางศิลปะในรัชกาลที่ 5 เพื่อแสดงออกถึงความศิวิไลซ์ของชาติ โดยสืบต่อภาพลักษณ์มาในยุครัชกาลที่ 6 จากโลกทัศน์เกี่ยวกับศิลปะในช่วงเวลานั้น โบราณคดีสยามถูกจัดให้เป็นระบบมากขึ้นจากทั้งชาวต่างชาติ และชาวไทย เช่น รัชกาลที่ 6, สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และยอร์ช เซเดส์  เพราะตั้งแต่หลังยุคสมัยของรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา ดูเสมือนว่าจะมีการหันมาเน้นศาสตร์ในด้านนี้ในฐานะที่เป็นเครื่องมือแสดงความมีอารยธรรมสูงของไทย เพื่อต่อสู้กับการดูถูกของชาวยุโรป เป็นเครื่องแสดงออกความเป็นไทยที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้ชาติยุโรป ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าเป็นโบราณคดีชาตินิยม และปรัชญาประวัติศาสตร์ศิลปะแบบชาตินิยม [1]


 


โดยในยุคนี้เองได้เกิดทฤษฎีประวัติศาสตร์สามกรุง  คือ ประวัติศาสตร์ไทยทั้งหมดเริ่มต้นที่กรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา และกรุงรัตนโกสินทร์ ในเวลาต่อมา และในสมัยรัชกาลที่ 6 เกิดกรมศิลปากร ก็เริ่มมีบทบาทในการส่งเสริมศิลปะแบบราชการ โดยมีการรับอิทธิพลสืบมาถึงหลวงวิจิตรวาทการ (ดูเพิ่มเติม: ย้อนดูภาพยนตร์ "พระเจ้าช้างเผือก"สงคราม สันติภาพ และชาตินิยม)


 


การอธิบายตามปรัชญาประวัติศาสตร์ศิลปะของรัชกาลที่ 6 ก็เผยแพร่ให้คนทั้งหลายรู้เห็นความรุ่งเรืองของสยาม และเพื่อช่วยกระตุ้นความรู้สึกชาตินิยม  ซึ่งพระองค์ได้ทรงถูกยกย่องว่าทรงมีพระอัจฉริยะภาพ ทั้งด้านการละคร การแสดง และปรากฏผลงานภาพฝีพระหัตถ์ ที่เป็นภาพล้อ หรือการ์ตูน(ดังที่เกิดภาพล้อพระองค์ทรงนำคนสยามชักรอกขึ้นเหนือคนเขมร ญวน ด้วยปรีชา วิริยภาพ ด้านกสิกรรม และหัตถกรรม การศึกษา ทหาร ฯลฯ) นอกจากนั้น พระองค์ทรงพระปรีชา ด้านโบราณคดี-ประวัติศาสตร์ ดังปรากฏผลงาน"เที่ยวเมืองพระร่าง"(ช่วง พ..2450 เป็นเวลาที่เกิดความตกลงของรัชกาลที่ 5 เขาพระวิหารจึงได้ถูกขีดเส้นให้เป็นของฝรั่งเศสซึ่งเป็นเจ้าอาณานิคมของกัมพูชา) รวมถึงทรงมีผลงานอื่นๆ ที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา เช่น  "พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร" และ "เทศนาเสือป่า" เป็นต้น


 


ผลงานของรัชกาลที่ 6 ส่งผลต่อพลังอำนาจ ด้านแนวคิด หรือ อุดมการณ์ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ อันสะท้อนพระพุทธศาสนาประจำชาติออกมา ซึ่งรับอิทธิพลจากสมัยรัชกาลที่ 5 ในส่วนด้านอื่นๆ ก็มีความสำคัญ ท่ามกลางความขัดแย้งของอุดมการณ์ทางการค้า แนวทางทุนนิยมในสมัยรัชกาลที่ 6 และด้านการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง สงครามโลกครั้งที่ 1 ทรงส่งทหารเข้าร่วมการรบในสงคราม เป็นส่วนสำคัญ และการเปลี่ยนแปลงของรัฐราชสมบัติสยามขณะนั้น ทำให้เกิดการเผชิญกับความเปลี่ยนแปลง และการท้าทายอย่างใหม่


 


โดยกระแสความคิดทางการเมืองการปกครอง และลัทธิสังคมเศรษฐกิจ เช่น คอนสติติวชั่น ปาลิเมนต์ เก๊กเหม็ง รีปับลิก อานาคิช โสเชียลิสต์ ฯลฯ สะพัดอยู่ในหมู่ชนชั้นกลางทั้งในและนอกราชการ อันเป็นชนชั้นนักอ่าน นักเขียน นักแปลในสยาม สุดที่พระราชอำนาจสมบูรณ์ทางทฤษฎี ทว่าถูกจำกัดในทางปฏิบัติจากสิทธิสภาพนอกเขตของฝรั่ง และระบบราชการสมัยใหม่ ซึ่งเติบโตพร้อมกับทุนจีนเสรี ต่างๆ ในสถานการณ์นั้น รัชกาลที่ 6 ทรงพระนิพนธ์ อุตตรกุรุ : ดินแดนอัศจรรย์ของเอเชีย  คือ รัชกาลที่ 6 ทรงเปรียบเทียบแนวคิด ยูโทเปีย และลัทธิโสเชียลิสต์สมัยใหม่ โดยเปรียบว่า สิ่งนั้นมีอยู่ในไตรภูมิ-อุตรกุรุทวีป-ยุคพระศรีอาริย์ แม้ว่าในรัชกาลที่ 6 ทรงพระนิพนธ์บทความดังกล่าวเพื่อยับยั้งกระแสลัทธิโสเชียลิสต์สมัยใหม่ ที่จะมีผลต่อการเมืองสยาม ก็สะท้อนคติไตรภูมิ- พุทธศาสนา  มีอิทธิพลต่อความคิดของคนในสมัยนั้น(และสืบต่อมา ที่ประกาศคณะราษฎร์เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองเพื่อยุคพระศรีอาริย์)


 


ส่วนกรณีผลพวงจากการเสียดินแดนฝั่งซ้าย และฝั่งขวาแม่น้ำโขง ทำให้เชียงของส่วนหนึ่งตกเป็นของฝรั่งเศส หรือกบฏเงี้ยว ฯลฯ แม้แต่ในเชียงของก็ตาม ทำให้มีการปฏิรูปต่อจากรัชกาลที่ 5 ทรงยกเมืองขึ้นเป็นจังหวัดนั้น กระบวนการการสร้างสำนึกของชาติยังไม่สิ้นสุด เพราะการยกเมืองเชียงราย ให้อยู่ในมณฑลพายัพ พ..2453 ถึงรัชกาลที่ 6 เกิดปัญหาปี พ.. 2455 คือ กบฏ ร.. 130  และในปี พ..2458(ห่างกัน 5 ปี) โปรดทรงให้รวบรวมมณฑลต่างๆ ออกรวมเป็น 4 ภาค ปักษ์ใต้ พายัพ อีสานและอยุธยา ส่วนกรุงเทพมหานาครนั้นเป็นอีกมณฑลหนึ่งต่างหาก ต่อมาก็เลิกตำแหน่งเจ้าเมือง โดยเจ้าเมืองคนสุดท้ายของเชียงของ คือพระยาจิตวงษ์วรยศรังษี โดยยกเลิกตั้งแต่ปี พ.ศ.2453 ต่อมาเชียงของ ซึ่งเคยขึ้นอยู่กับน่าน กลายเป็นขึ้นอยู่กับจังหวัดเชียงราย


 


กล่าวโดยย่อ จากอิทธิพลจากรัชกาลที่ 5 ก็คือ ภาพสะท้อนของการทำให้เกิดการรับช่วงต่อของความคิดสร้างอาณานิคมภายในที่มีแผนที่สมัยใหม่เกิดขึ้นแล้ว ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นประชาธิปไตย ที่มีการฝังหมุดคณะราษฎร ณ อนุสาวรีย์พระบรมรูปทรงม้า ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ 6 ทรงก่อตั้งกรมรักษาสัตว์น้ำ คือ กรมประมงในปัจจุบัน เพื่อการรักษาอนุรักษ์สัตว์น้ำ และก็มีปรากฏการณ์ของป้ายจารึก กับอนุสาวรีย์ ที่สำคัญเกี่ยวกับสุนัข คือ อนุสาวรีย์สุนัขย่าเหล โดยมีคำจารึกเป็นส่วนหนึ่งของอนุสาวรีย์ ทำให้ทราบเหตุผลในการก่อสร้างไว้ หมายถึงเพื่อเป็นพยานรัก ที่แสดงความซื่อสัตย์ระหว่างสุนัขตัวนี้ กับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ฉะนั้น อนุสาวรีย์เป็นเครื่องหมายสำคัญทางสัญลักษณ์ของรัฐไทยเป็นต้นมา ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในสมัยรัชกาลที่ 7


 


 


"ชาตินิยม" ในนามประเทศสยาม  สู่การเปลี่ยนนามประเทศไทย และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย


คณะราษฎร ประกาศให้วันที่ 24 มิถุนายน เป็นวันชาติ ตั้งแต่เดือนกรกฏาคม 2481 และมีการก่อตั้งสวนสัตว์ดุสิตในปี พ..2481 และต่อมาก็เปลี่ยมนามประเทศ ในวันที่ 24 มิถุนายน 2482 รัฐบาลเปลี่ยนนามประเทศจาก "สยาม" เป็น "ไทย" (ดูเพิ่มเติม: ย้อนดูภาพยนตร์ "พระเจ้าช้างเผือก"สงคราม สันติภาพ และชาตินิยม) หลังจากนั้น มีการวางศิลาฤกษ์ของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยนั้น ก็ตั้งแต่ในวันเปลี่ยนนามสยามเป็นไทย" โดยอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีเกี่ยวกับหลัก 6 ประการ คือ เอกราช และความสงบภายใน สิทธิ เสรีภาพ ฯลฯ เป็นต้น  มีพิธีเปิด   เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2483) ฉะนั้น อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เป็นเครื่องหมาย เพื่อสะท้อนอุดมการณ์ประชาธิปไตย


 


 เมื่อรัฐบาลปลุกระดมเรียกร้องดินแดนจากฝรั่งเศส (คือดินแดนที่ได้ตกลงแลกเปลี่ยนกันไปแล้วในสมัยรัชกาลที่ 5) ในเดือนตุลาคม 2483 ผลักดันให้นิสิตนักศึกษาทั้งจุฬาฯ และ มธก. เดินขบวนเรียกร้องดินแดน "มณฑลบูรพา" และ "ฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง"


 


จนในที่สุด ก็เกิดสงครามชายแดน รัฐบาลส่ง "กองกำลังบูรพา" ไปรบกับฝรั่งเศส ซึ่งก็เปิดโอกาสให้ญี่ปุ่น "มหามิตรใหม่" เข้ามาไกล่เกลี่ยบีบให้ฝรั่งเศส (ซึ่งตอนนั้นเมืองแม่หรือปารีสในยุโรปอ่อนเปลี้ยถูกเยอรมนียึดครองไปเรียบร้อยแล้ว) จำต้องยอมยกดินแดนให้ "ไทย" สมัยพิบูลสงคราม (ทำให้นายพลตรีหลวงพิบูลสงคราม กระโดดข้ามยศพลโท-พลเอก กลายเป็นจอมพลคนแรกในยุคหลัง 2475)


 


แผนที่ดินแดนในอินโดจีนของฝรั่งเศส ที่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามยึดได้มาเมื่อปี พุทธศักราช 2484 คือ จังหวัดพระตะบอง จังหวัดพิบูลสงคราม และจังหวัดนครจำปาศักดิ์ ในกรณีของจังหวัดพิบูลสงครามนั้น คือจังหวัดเสียมเรียบของกัมพูชาเดิมนั่นเอง แต่ถูกเปลี่ยนชื่อใหม่ให้เป็นของไทย ในกรณีของจังหวัดจำปาศักดิ์นั้น รวมอาณาบริเวณทางตอนใต้ของเทือกพนมดงรัก เช่น ปราสาทเขาพระวิหารและเมืองจอมกระสาน ฯลฯ


 


เมื่อนั้นเอง ที่ทั้งปราสาทและเขาพระวิหาร กลับมาสู่ความสนใจและความรับรู้ของคนไทย รัฐบาลพิบูลสงคราม ดำเนินการให้กรมศิลปากร (ซึ่งในสมัยหลังการปฏิวัติ 2475 ได้หลวงวิจิตรวาทการ นักอำมาตยาเสนาชาตินิยม มือขวาของจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นอธิบดี หลวงวิจิตรวาทการ (กิมเหลียง วัฒนปฤดา) ทั้งพูด ทั้งเขียน ทั้งแต่งเพลงแต่งละคร ปลุกใจให้รักชาติ) ได้จัดการขึ้นทะเบียนให้ปราสาทเขาพระวิหารเป็นโบราณสถานของไทย โดยประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ.2483


 


ช่วงสมัยดังกล่าว ที่รัฐบาลพิบูลสงคราม ชี้แจงต่อประชาชนว่า "ได้ปราสาทเขาพระวิหาร" มา ดังหลักฐานในหนังสือ "ประเทศไทยเรื่องการได้ดินแดนคืน" ของกองโฆษณาการงานฉลองรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2484 สมัยนั้น มีรูปปราสาทเขาพระวิหารพิมพ์อยู่ด้วย พร้อมด้วยคำอธิบายภาพว่า "ปราสาทหินเขาพระวิหาร ซึ่งไทยได้คืนมาคราวปรับปรุงเส้นเขตแดนด้านอินโดจีนฝรั่งเศส และทางการกำลังจัดการบูรณะให้สง่างามสมกับที่เป็นโบราณสถานสำคัญ" (ที่มา: ชาญวิทย์ เกษตรศิริ : "ปราสาทเขาพระวิหาร" กรณีศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองกับลัทธิชาตินิยม)


 


กรณีปราสาทเขาพระวิหาร-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ จงเปลี่ยนความหมาย "ชาตินิยม"เพื่อชัยชนะร่วมกัน


ด้วยเหตุพิพาทอินโดจีนดังกล่าว จึงเกิดอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2484 เพื่อแสดงวีรกรรม ทหาร ตำรวจ พลเรือน ที่เสียชีวิต ซึ่งรูปแบบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเปรียบเทียบแตกต่างจากอนุสาวรีย์ทหารอาสาสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่มีลักษณะสถูปเจดีย์ (ดูเพิ่มเติม: ย้อนดูภาพยนตร์ "พระเจ้าช้างเผือก"สงคราม สันติภาพ และชาตินิยม) ดังนั้น อนุสาวรีย์สะท้อนรูปแบบชาติไทยไปในตัวเอง คือรูปแบบศิลปะสมัยใหม่ และร่างกายของทหาร มีกล้ามเนื้อมากกว่าจะเป็นรูปแบบร่างกายในงานจิตรกรรมภายในวัด ซึ่งแตกต่างจากรูปแบบเจดีย์ดังกล่าวไปแล้ว แต่ว่าสิ่งที่สะท้อนชี้ให้เห็นถึงการผสมผสานแนวคิดปรัชญาประวัติศาสตร์ศิลปะแบบชาตินิยม กับการเรียกร้องพรมแดน คือ สงครามอินโดจีน มีกรณีเขาพระวิหาร เป็นตัวอย่าง ซึ่งทำให้เห็นว่า "ปรัชญาประวัติศาสตร์แบบชาตินิยม" ก็ยังอยู่ในความทรงจำ แม้ว่าจะมีอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ (Victory Monument) ก็เป็นอนุสาวรีย์ในกรุงเทพมหานคร โดยรอบเป็นวงเวียน อยู่กึ่งกลางระหว่างถนนพหลโยธิน ถนนราชวิถี และถนนพญาไท ตั้งอยู่ที่ กิโลเมตรที่ 0.0 ของถนนพหลโยธิน (แต่เดิมชื่อถนนประชาธิปัตย์ แล้วเปลี่ยนเป็นถนนพหลโยธิน)


 


ดังนั้น ความสำคัญของอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ นอกจากเป็นอนุสรณ์สถานที่สำคัญและเป็นที่จารึกรายนามทหารที่เสียชีวิตใน กรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส (สงครามอินโดจีน) สงครามโลกครั้งที่ 2 และสงครามเกาหลีอีกด้วย โดยการออกแบบอนุสาวรีย์ของหม่อมหลวงปุ่ม มาลากุล มีแรงบันดาลใจ 5 ประการ คือ


 


-ปฏิบัติการของกองทัพทั้ง 4


-ปฏิบัติการอย่างกล้าหาญของกำลังพลโดยเฉพาะ


-อาวุธที่ทหารใช้สู้รบ


-เหตุการณ์ที่สำคัญที่ต้องเปิดการสู้รบ


-ความสนใจของประชาชน


 


หม่อมหลวงปุ่มใช้ดาบปลายปืน ซึ่งเป็นอาวุธประจำกายทหาร โดยใช้ดาบปลายปืนห้าเล่มรวมกัน จัดตั้งเป็นกลีบแบบลูกมะเฟือง ปลายดาบชี้ขึ้นบน ส่วนคมของดาบหันออก ก่อสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กประดับหินอ่อน มีความสูงประมาณ 50 เมตร ดาบปลายปืนส่วนด้ามตั้งเหนือเพดานห้องโถงใหญ่ ซึ่งใช้เก็บกระสุนปืนใหญ่บรรจุอัฐิทหารที่เสียชีวิตในกรณีพิพาทไทย-ฝรั่งเศส


 


ด้านนอกตอนโคนดาบปลายปืน มีรูปปั้นหล่อทองแดง ขนาดสองเท่าคนธรรมดา ของนักรบ 5 เหล่า คือ ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ และพลเรือน ศิลปินผู้ปั้นรูปเหล่านี้เป็นลูกศิษย์ของ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เช่น สิทธิเดช แสงหิรัญ, อนุจิตร แสงเดือน, พิมาน มูลประสุข, แช่ม ขาวมีชื่อ ภายใต้การควบคุมของ ศ.ศิลป พีระศรี (ซึ่งก็มีการกล่าวว่าอนุสาวรีย์เป็นแบบนีโอ-ฟาสซิสม์ ฯลฯ เป็นต้น)


 


กรณีทางการเมือง ก็พลิกผันกลับมาอีกครั้งของรัฐบาลอำมาตยาเสนาธิปไตยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม (ซึ่งคืนชีพมาด้วยการรัฐประหาร พ.ศ. 2490 ภายใต้การนำของพลโทผิน ชุณหะวัณ ร่วมด้วยช่วยกันจากหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คือ นายควง อภัยวงศ์) ได้ส่งกองทหารไทยให้กลับขึ้นไปตั้งมั่นและชักธงไตรรงค์อยู่บนนั้นอีกครั้งในปี พ.ศ. 2497  และอิทธิพลทางศิลปะสมัยใหม่ ก็ถึงจุดเปลี่ยนไป คือรูปแบบศิลปะคณะราษฎร์ หายไป


 


ตั้งแต่ พ..2490 เป็นต้นมา ทุกอย่างก็กลับคืนสู่ช่วงก่อนเวลา พ.ศ. 2475 หมด และผลงานศิลปะจึงกลายป็นแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาก มีการสร้างอนุสาวรีย์พระบิดาด้านต่างๆ โดยใช้คนกลุ่มเดิมซึ่งก็คือ ศิลป์ พีระศรี และหลวงวิจิตรวาทการ เป็นผู้สืบสร้างงานศิลปะและสัญลักษณ์ นั่นเอง (ที่มา: ชาตรี ประกิตนนทการ : สถาปัตย์คณะราษฎร บนพื้นที่ศักดิ์สิทธิแห่งสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ) จากความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวแล้ว อิทธิพลทางศิลปะของคณะราษฎร์จะสร้างชาติผ่านทางปรัชญาประวัติศาสตร์ศิลปะ จึงหายไปด้วย เพราะการผสมกลมกลืนกับประวัติศาสตร์ชาติแบบเดิม


 


กล่าวได้ว่า ความห่างไกลและความกันดารของทั้งตัวภูเขาและตัวปราสาทในสมัยนั้น และเพราะการที่เจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส ต้องพะวงกับสู้รบปราบปรามขบวนการกู้ชาติของเวียดนาม กัมพูชา และลาว ก็ไม่ทำให้เรื่องของปราสาทเขาพระวิหารเป็นข่าว หรืออยู่ในความรับรู้ของผู้คนโดยทั่วๆ ไป


 


ระเบิดเวลาลูกนี้ระเบิดขึ้น เมื่อกัมพูชาได้เอกราชในปี พ.ศ. 2496 (1953) อีก 6 ปีต่อมา พระเจ้านโรดมสีหนุซึ่งทรงเป็นทั้ง "กษัตริย์และพระบิดาแห่งเอกราช" และ "นักราชาชาตินิยม" ของกัมพูชา ก็ยื่นเรื่องฟ้องต่อศาลโลก (International Court of Justice) เมื่อ 6 ตุลาคม 2502


 


รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (ที่ทำปฏิวัติรัฐประหารยึดอำนาจจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม) แต่งตั้ง ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช (อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์) เป็นทนายสู้ความ รัฐบาลสฤษดิ์ ปลุกระดมให้ประชาชน "รักชาติ" และพ่ายแพ้ตามคำตัดสินของศาลโลก (ที่มา: ชาญวิทย์ เกษตรศิริ : "ปราสาทเขาพระวิหาร" กรณีศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองกับลัทธิชาตินิยม)


 


เมื่อผู้คนสนใจเขาพระวิหาร มากขึ้น และกระแสทางการเมือง ช่วยหนุนนำไป ทำให้ปรัชญาประวัติศาสตร์ศิลปะ ที่พยายามสร้างอาณานิคมดินแดนของเรา มีแหล่งที่มาของศิลปะ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 และในรัชกาลที่ 6 กระแสศิลปะแบบชาตินิยมเดิม จึงกลับมายังในนามประเทศไทย รวมทั้งยุครัฐบาลสฤษดิ์ แม้ว่าจะเดินตามกระแสการพัฒนาแบบอเมริกัน และเข้าสู่สงครามเย็นก็ตาม


 


อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา หลังจากการพัฒนาประเทศไทย มาสร้างความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยนโยบาย "เปลี่ยนจากสนามรบเป็นสนามการค้า" [2] (ยุครัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณ ที่เคยไปรบศึกอินโดจีน) จนถึงกรณีกบ สุวนันท์ กับนครวัด ทำให้เกิดการประท้วง และเผาสถานทูต ผลพวงเหล่านี้ มาถึงในยุคปัจจุบัน เกิดกระแสชาตินิยม ต่อกรณีปราสาทเขาพระวิหาร โดยในท้ายที่สุดประเทศไทย น่าจะมีเป้าหมายของประเทศ ที่จะเปลี่ยนความสัมพันธ์กับกัมพูชา เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความหมายปรัชญาประวัติศาสตร์ศิลปะแบบชาตินิยมของอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ยังผลให้มีความหมายชัยชนะร่วมกัน(Win-Win) โดยสร้างความร่วมมือ และเรียนรู้ ทางปรัชญาประวัติศาสตร์ศิลปะ เพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเริ่มต้นจากกรณีปราสาทเขาพระวิหาร น่าจะช่วยก่อให้เกิดมรดกโลกที่แท้จริง


 


 


………..


เชิงอรรถ


 


[1] ชาตรี ประกิตนนทการ พระพุทธชินราชในประวัติศาสตร์การสร้างความเป็นไทย วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 32 ฉบับที่ 3 (กรกฏาคม-กันยายน) 2549 : 80 และมาอูริซิโอ เปเลจจี "ยี อี เยรินี กับกำเนิดโบราณคดีสยาม"แปลโดย กนกวรรณ ฤทธิไพโจน์ วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 31 ฉบับที่ 3 (กรกฏาคม-กันยายน) 2548 :57 และดูเพิ่มเติม  พิริยะ ไกรฤกษ์ อารยธรรมไทย พื้นฐานทางประวัติศาสตร์ศิลปะ เล่ม ๑  กล่าวว่าปรัชญาประวัติศาสตร์ศิลปะ คือ การอธิบายตามปรัชญาประวัติศาสตร์ศิลปะของรัชกาลที่ 6 ก็เผยแพร่ให้คนทั้งหลายรู้เห็นความรุ่งเรืองของสยาม และเพื่อช่วยกระตุ้นความรู้สึกชาตินิยม  และพิริยะไกรฤกษ์ พรมแดนแห่งความรู้ : รวมบทความของศิษยานุศิษย์ของพระยาอนุมานราชธน โดยพิริยะไกรฤกษ์ กล่าวถึงกรอบของการเขียนเรื่องประวัติศาสตร์ศิลปะ ก็ปรากฏว่า  วิเคราะห์ประวัติการศึกษาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศไทย ตั้งแต่ รัชกาลที่ 4-2527 และกล่าวว่าช่วง 2483-2492(กระแสชาตินิยมเช่นกัน) มีความนิยมอารยธรรมตะวันตกนั้น มากกกว่าค้นคว้าเรื่องในอดีต เป็นต้น  


 


[2] อรรคพล สาตุ้ม ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา อำนาจรัฐ ธุรกิจ และสื่อ ยุคโลกาภิวัตน์  พลเมืองเหนือ ปีที่ 2 ฉบับที่ 68  17-23 กุมภาพันธ์ 2546 : 6


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net