Skip to main content
sharethis

"รัฐธรรมนูญเขียนว่าหนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย ศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้โดยใช้เทคนิคหรือกลไกการตีความ ก็เพิ่มถ้อยคำว่าอาจมีผลเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย แปลว่าศาลรัฐธรรมนูญเขียนมาตรา   190   ขึ้นใหม่ ว่าหนังสือสัญญาที่อาจจะเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรืออาจมีผลเปลี่ยนแปลงสิทธินอกอาณาเขต ซึ่งเป็นคำที่ไม่มีในรัฐธรรมนูญ"

 

พลันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า แถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาให้ความเห็นชอบการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก เป็นหนังสือสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190

 

ก็มีเสียงไถ่ถามขึ้นทันทีว่า อาจารย์วรเจตน์มีความเห็นอย่างไร มีคนโพสต์ข้อความในอินเตอร์เน็ตว่าขอรอฟังวรเจตน์ก่อน 5 อาจารย์นิติศาสตร์จะออกแถลงการณ์ไหม

 

ดูเหมือนวรเจตน์และเพื่อนๆ จะกลายเป็นสถาบันไปแล้ว สถาบันกฎหมายมหาชนที่ให้เหตุผลโต้แย้ง "ตุลาการภิวัตน์" ได้อย่างมีน้ำหนัก น่าเชื่อถือ และน่ากลัวเกรงสำหรับผู้ที่พยายามลากถูชูกระแส

 

อย่างไรก็ดี วรเจตน์ไม่ออกแถลงการณ์ เขาเลือกสนทนากับไทยโพสต์แทบลอยด์แทน ด้วยเหตุผลที่ว่ามันเป็นภารกิจที่หนักเกินไปสำหรับอาจารย์หนุ่ม 5 คนที่จะต้องมาแบกรับความคาดหวัง  แบกรับการรุมถล่มโจมตีจากเหล่าผู้มีคุณธรรมแต่ไม่มีหลักการ

 

ที่น่าใจหายคือ วรเจตน์บอกว่านับแต่นี้คงออกมาให้ความเห็นน้อยลง เพราะเขาเห็นว่าสังคมไทยไม่ได้ฟังเหตุฟังผลกันอีกแล้ว แต่กำลังจะเอาชนะกันด้วยกำลังอำนาจ

   

 "ผมอาจจะไม่ออกมาพูดอีกนานเลยทีเดียว"

   

ฉะนั้นวันนี้เราจึงซักถามกันให้ครบ ตั้งแต่ประเด็นแถลงการณ์ร่วม ประเด็น คตส.ซึ่งออกมากระชั้นชิดกับช่วงที่เขาวิจารณ์เรื่องเขตอำนาจศาลปกครอง จนไม่ทันได้วิจารณ์ และย้อนกลับไปที่คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองอีกครั้ง รวมทั้งความในใจที่เหนื่อยหน่าย

 

ooo

 

1.พระวิหาร

   

"เรื่องอาณาเขตของประเทศนั้น  ถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในบริเวณที่ยังมีข้อขัดแย้งกันอยู่ระหว่างประเทศไทยกับต่างประเทศ การดำเนินการและการพิจารณาวินิจฉัยในเรื่องนี้จึงต้องกระทำอย่างรอบคอบ หากเป็นกรณีที่อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของประเทศแล้วย่อมจะต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 วรรคสองด้วย....."

 

"อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คำแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา หรือ Joint Communique ฉบับลงวันที่ 18 มิถุนายน 2551 เป็นหนังสือสัญญาที่อาจมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของประเทศ ทั้งยังมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางสังคมของประเทศอย่างกว้างขวางอีกด้วย ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 วรรคสอง"

 

(คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 6-7/2551)

 

บัญญัติคำว่า"อาจ"

 

"ศาลวินิจฉัยว่า joint communiqué เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 ซึ่งต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา ก็ส่งผลในทางการเมืองตามมารัฐมนตรีต่างประเทศลาออกไปแล้ว ประเด็นที่ผมสนใจมากคือเหตุผลของศาลเป็นอย่างไร มันทำเราเสียดินแดนหรือไม่"

 

"พอไปอ่านตัวคำวินิจฉัยแล้วผมกลับเห็นในทางตรงกันข้ามเลย สำหรับผม คำวินิจฉัยนี้ยืนยันในทางกลับกันว่าหนังสือสัญญาที่ทำไปไม่ทำให้เราเสียดินแดน นี่อ่านจากคำวินิจฉัยนะ เพราะอะไร"

   

"เพราะเหตุผลที่ศาลวินิจฉัย ท่านไปเปลี่ยนถ้อยคำในรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญพูดถึงหนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย แต่ศาลรัฐธรรมนูญไปตีความว่าหมายถึงหนังสือสัญญาที่อาจจะมีบทเปลี่ยน

แปลงอาณาเขตไทย ศาลไม่ได้ยืนยันว่าเปลี่ยนแปลงอาณาเขตนะครับ ท่านใช้คำว่า..

   

ซึ่งแม้ว่าถ้อยคำที่ใช้กับหนังสือสัญญาทั้งสองประเภทนี้จะบัญญัติว่าหากเป็นหนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลง

 

อันดูเหมือนว่าจะต้องปรากฏชัดในข้อบทหนังสือสัญญาว่ามีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจ จึงต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา แต่หากแปลความเช่นว่านั้น ก็จะไม่เกิดผลตามความมุ่งหมายที่รัฐธรรมนูญที่มุ่งจะตรวจสอบควบคุมการทำหนังสือสัญญาก่อนที่ฝ่ายบริหารจะไปลงนามผูกพันประเทศ ซึ่งจะเกิดปัญหาตามมาภายหลังได้ จึงต้องแปลความว่าหากหนังสือสัญญาใด   

 

ที่คณะรัฐมนตรีจะไปดำเนินการทำกับประเทศอื่นหรือกับองค์การระหว่างประเทศ มีลักษณะของหนังสือสัญญาที่อาจมีผลเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรืออาจมีผลเปลี่ยนแปลงเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย หรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ ก็ต้องนำหนังสือสัญญานั้นขอความเห็นชอบของรัฐสภาก่อนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 วรรคสองและวรรคสาม

   

อาจมีผลเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย-ท่านใช้คำนี้ ซึ่งคำนี้ไม่มีในรัฐธรรมนูญครับ รัฐธรรมนูญพูดถึงการที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย แปลว่าถ้ามันมีบทเปลี่ยนแปลงคุณเข้า 190 นะ ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา ถ้าไม่มีมันก็ไม่เข้า เมื่อไม่เข้าก็ไม่ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา เขาจะไปถูกตรวจสอบในทางการเมืองโดยสภาผู้แทนราษฎรก็ตรวจสอบไป และไม่ใช่อำนาจศาลรัฐธรรมนูญที่จะไปชี้"

   

"กรณีนี้ผมคิดว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ทำหน้าที่เพียงตีความรัฐธรรมนูญแล้ว แต่ทำหน้าที่เป็นผู้บัญญัติรัฐธรรมนูญขึ้นเอง โดยเพิ่มถ้อยคำลงไปในรัฐธรรมนูญ"

   

"รัฐธรรมนูญเขียนว่าหนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย ศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้โดยใช้เทคนิคหรือกลไกการตีความ ก็เพิ่มถ้อยคำว่าอาจมีผลเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย แปลว่าศาลรัฐธรรมนูญเขียนมาตรา 190 ขึ้นใหม่ ว่าหนังสือสัญญาที่อาจจะเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรืออาจมีผลเปลี่ยนแปลงสิทธินอกอาณาเขต ซึ่งเป็นคำที่ไม่มีในรัฐธรรมนูญ ผมถามว่าอย่างนี้ฝ่ายบริหารจะไปรู้ได้หรือครับ เขาก็ต้องดูตามรัฐธรรมนูญเพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ศาลไปตีความตรงนี้โดยเพิ่มถ้อยคำในรัฐธรรมนูญได้อย่างไร นี่คือปัญหา"

   

ศาลรัฐธรรมนูญต้องวินิจฉัยลงไปใช่ไหมว่าหนังสือสัญญานี้มีผลหรือไม่มีผลเปลี่ยนแปลงอาณาเขต

   

"ต้องวินิจฉัยว่าหนังสือสัญญานี้มีผลเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือไม่มี ซึ่งวินิจฉัยแล้วว่ามันไม่มี แต่โดยนัยมันอาจจะมี ซึ่งไม่รู้ว่ามีหรือไม่มี แต่ในรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนว่าอาจจะ รัฐธรรมนูญเขียนว่ามีผลเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย"

   

"การตีความอย่างนี้ก็เท่ากับศาลรัฐธรรมนูญได้ทำรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ คือในทางวิชาการมันเป็นไปได้ว่าการตีความเป็นการให้ความหมายรัฐธรรมนูญ โดยศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ให้ความหมายว่ามาตรานี้มีความหมายอย่างไร แต่การให้ความหมายต้องผูกพันอยู่กับกฏเกณฑ์ในการตีความ ในเบื้องต้นต้องผูกพันกับถ้อยคำที่รัฐธรรมนูญเขียนไว้ก่อน เพราะมันเป็นกติกา รัฐธรรมนูญเขียนว่าถ้าเป็นหนังสือที่มีผลเปลี่ยนแปลงอาณาเขต

 

ฝ่ายบริหารต้องไปความเห็นชอบจากรัฐสภานะ ถ้าไม่มีก็ไม่ต้อง เมื่อฝ่ายบริหารเขาวิเคราะห์แล้วว่ามันไม่มีผลเปลี่ยนแปลงอาณาเขต ไม่ได้เกิดการเสียดินแดน เขาก็ไม่เอาเข้ารัฐสภา ถ้าศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่ามีผลเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย ศาลรัฐธรรมนูญก็ต้องยืนยันในคำวินิจฉัยว่า joint communiqué มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย แต่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ยืนยัน ในคำวินิจฉัยนี้ไม่มีที่ไหนบอกเลยแม้แต่น้อยว่ามันมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย เพียงแต่บอกว่าอาจจะ"

   

 แล้วใครจะไปรู้ว่าอาจจะหรือไม่อาจจะ

   

"ในอนาคตข้างหน้าถามว่าเวลารัฐบาลจะไปทำ joint communiqué เขาจะทำได้อย่างไร ถ้าเขารู้ว่าไม่เปลี่ยนแปลงอาณาเขตแน่ๆ แต่คำว่าอาจจะ-จะรู้หรือครับ"

   

"ปัญหาพรมแดนไทย-กัมพูชา มันไม่ลงตัวมาตั้งแต่คดีเขาพระวิหารปี 2505 แต่คำวินิจฉัยของศาลโลกชัดเจนว่าตัวปราสาทตั้งอยู่ในเขตแดนซึ่งอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของกัมพูชา เลิกเถียงเสียทีว่าพื้นดินใต้ปราสาทเป็นของใคร มันต้องยอมรับกันว่านี่คือข้อยุติโดยคำวินิจฉัยของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เราก็บอกว่ารัฐบาลสมัยนั้นตั้งข้อสงวนที่จะขอพิจารณาคดีใหม่ ซึ่งระยะเวลาคือ 10 ปี มันจบไปแล้วครับ มันไม่มีใครทำเลยในช่วงเวลาที่ผ่านมา เราก็ยังคิดอยู่นั่นแหละว่าเราจะสงวนเอาไว้ชั่วกัลปาวสาน จะสงวนไว้จนกระทั่งเขาพระสุเมรุหายไป มันไม่ตลกไปหน่อยหรือครับ"

   

"ที่มันไม่ชัดและเราเถียงกันได้คือพรมแดน อันนี้ผมรับได้นะ ที่เป็นพื้นที่ทับซ้อนที่ต้องมีการปักปันเขตแดน

ต่างฝ่ายต่างเคลมพื้นที่ตรงนั้น มันอาจเป็นกรณีพิพาทอีกทีก็ได้ในวันข้างหน้า เราอย่าหวังให้เขตแดนรัฐสมัยใหม่เป็นเส้นเหมือนกับรั้วบ้าน บางทีพรมแดนระหว่างประเทศมันไม่ชัดเจน มันจึงต้องทำความเข้าใจกัน คนที่เขาอยู่ในเขตพรมแดนเขาไปมาหาสู่กันมีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกัน ไม่อย่างนั้นก็จะเกิดการรบชิงแดน โดยปลุกระดมชาตินิยมรุนแรงขึ้นมาอย่างนี้"

   

วรเจตน์ย้ำว่าคำวินิจฉัยนี้แปลได้ว่าไทยไม่เสียดินแดน

   

"เมื่ออ่านตรงนี้ปุ๊บยืนยันอะไรได้ครับ ยืนยันได้ว่าหนังสือสัญญานี้ และโดยจากศาลรัฐธรรมนูญเอง ยืนยันว่าไม่ได้เป็นสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตตามรัฐธรรมนูญ เพราะศาลก็ไม่ได้กล้ายืนยัน นี่จากคำวินิจฉัยนะ

 

คำวินิจฉัยบอกว่าอาจจะมีผลเปลี่ยนแปลง เมื่อตีความกลับกันคือคุณก็ไม่ได้ยืนยันว่าจะมีผลเปลี่ยนแปลง"

 

การตีความข้อยกเว้น

   

"ยังมีอีกเหตุผลหนึ่งที่ศาลไม่ได้เอามาใช้แต่เขียนไว้อ้อมๆ ซึ่งเป็นปัญหาของมาตรา 190 ที่เขียนขึ้นอย่างเป็นทะเลเลย คือบอกว่าเป็นหนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างว้างขวาง

 

มันคืออะไรล่ะ"

 

"การเขียนมาตรา 190 ไม่ได้เขียนจากฐานหลักคิดที่แน่นในทางทฤษฎี คุณไม่ได้เริ่มต้นจากหลักก่อนว่าอำนาจในการทำสนธิสัญญาอยู่ที่ใคร นิติบัญญัติ  ตุลาการ หรือฝ่ายบริหาร ที่มีอำนาจทำสนธิสัญญาผูกพันระหว่างประเทศ

 

เมื่อรู้ว่าอำนาจเป็นของฝ่ายไหน เราก็ดูต่อไปว่าข้อยกเว้นควรจะเป็นอย่างไร"

   

"ในนานาอารยประเทศเรารับกันว่าอำนาจในการทำสนธิสัญญาเป็นของฝ่ายบริหารชัดเจน เว้นแต่เรื่องบางเรื่องที่สำคัญ เช่นไปทำสนธิสัญญาระหว่างประเทศแล้วความผูกพันตามกฎหมายระหว่างประเทศมันมีผลเข้ามาภายในประเทศว่าต้องออกกฎหมายเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง คุณจะต้องให้สภารับรู้"

 

เขาย้ำว่ามาตรา 190 อยู่ในหมวดคณะรัฐมนตรี หมายถึงเป็นอำนาจของรัฐบาลที่จะไปทำสนธิสัญญา แต่กำหนดข้อยกเว้นไว้ว่าอันไหนต้องขอความเห็นชอบรัฐสภา

 

"เวลาเขียนข้อยกเว้น ต้องเป็นข้อยกเว้นที่มีลักษณะเนื้อหาจำกัด รัฐธรรมนูญของเรากลับเขียนข้อยกเว้นกว้างเป็นทะเล ถามว่าใครเป็นรัฐมนตรีจะรู้ได้อย่างไรว่าสัญญานี้มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง แล้วมันจะทำสัญญากันได้หรือครับต่อไปข้างหน้า รัฐมนตรีต่างประเทศเราเดินทางไปที่อื่น ชาติอื่นเขาทำสัญญากันได้ เราบอกไม่ได้นะ ผมต้องกลับไปที่สภาก่อน ขอความเห็นชอบจากสภาก่อน สัก 3 เดือนค่อยมาว่ากันใหม่ อย่างนั้นหรือครับ"

   

"เพราะฉะนั้นปัญหาอยู่ตรงมาตรา  190  ด้วย คุณจะยกเว้นอะไร เอาให้ชัด เมื่อเป็นข้อยกเว้นแล้วคุณต้องตีความโดยจำกัดครัดเคร่งนะครับ ไม่ใช่ขยาย นี่คือหลักการตีความกฎหมายในชั้นต้นเลย"

   

"มันต้องดูก่อนว่าอำนาจอยู่ที่ใคร เมื่อเขาเขียนว่าหนังสือสนธิสัญญาแบบนี้ต้องขอความเห็นชอบจากสภาฯ ก็หมายความว่าหนังสือสัญญาอื่นๆ ไม่ต้องขอความเห็นชอบใช่ไหม หลักทั่วไปคือไม่ต้องขอความเห็นชอบ ข้อยกเว้นคือต้องมาขอความเห็นชอบตามที่กำหนดในมาตรา 190 เมื่อเราได้หลักแบบนี้ก็ต้องเขียนข้อยกเว้นที่มันจำกัดครัดเคร่ง บังเอิญเรามีปัญหาว่ามาตรา 190 เขียนไว้เป็นทะเล เมื่อกฎหมายมันกว้างอยู่แล้ว ศาลยังจะตีความขยายออกไปได้อีกหรือครับ เขาบอกว่ามีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย แล้วไปตีความว่าอาจจะมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย  มันเป็นข้อยกเว้น คุณตีความขยายข้อยกเว้นออกไปอีก ก็เท่ากับว่าต่อไปหลักก็คือ  ณ บัดนี้ประเทศไทยอำนาจในการทำสนธิสัญญาโดยแท้จริงอยู่ที่ศาลบัญญัติ อย่างนั้นหรือครับ"

   

วรเจตน์บอกว่าหลักการตีความกฎหมายบางเรื่องสามารถตีความขยายได้ แต่กฎหมายที่เป็นข้อยกเว้นต้องตีความจำกัด

   

"ผมเรียนมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้วว่าการตีความกฎเกณฑ์ที่เป็นข้อยกเว้นต้องตีความโดยเคร่งครัด คุณเทียบเคียงไม่ได้ ถ้าเป็นข้อยกเว้น เพราะมันจะสร้างความแน่นอนในทางกฎหมายว่าทุกฝ่ายจะรู้ และเรื่องนี้กระทรวงการต่างประเทศเขาก็ดูแล้วว่ามันไม่เข้า ผมคิดว่ากรมสนธิสัญญาเขาถูก ตอนแรกผมก็สงสัยว่า เอ๊ะมันเข้าไม่เข้า แต่พอมาอ่านคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ผมเชื่อเลยว่ามันไม่ใช่สัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขต เพราะขนาดศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ยืนยัน เขาจึงไปตีความว่าอาจจะ แล้วจึงเข้ามาตรา 190"

 

"joint communiqué ข้อ 5 ชัดอยู่แล้ว เขาบอกไม่กระทบเขตแดน ข้อสงวนที่เคยมีมาในเรื่องพรมแดนพิพาทไม่กระทบ คุณก็ต้องไปปักปันเขตแดนในวันข้างหน้า ด้วยข้อ  5  นี่แหละศาลรัฐธรรมนูญจึงยืนยันไม่ได้ว่ามีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขต แต่ถ้าคุณบอกว่าอาจจะ-ใครๆ ก็ต้องคิด มันกว้างจะตาย ถ้าอย่างนั้นต่อไปนี้ก็บอกไปเลยว่าทุกอย่างต้องขอสภาฯ ต่อไปนี้ใครเป็นรัฐบาลก็ปวดหัวหมด"

   

"ผมจึงวิจารณ์เรื่องนี้ด้วยความเคารพศาลรัฐธรรมนูญ ว่าผมไม่เห็นด้วยกับการตีความ คือท่านจะวินิจฉัยอย่างไรก็วินิจฉัย แต่ท่านต้องกล้าฟันธง ข้อยกเว้นต้องไม่ขยายออกไป แต่นี่ไปสร้างบทบัญญัติขึ้นมาใหม่ ต่อไปอาจจะออกพระราชบัญญัติ เติมคำว่าอาจจะ  ได้ทุกวรรคเลย เพราะใส่คำว่าอาจจะไปแล้วในวรรค 1"

   

วรเจตน์เห็นว่าปัญหามาตรา 190 จะต้องทำให้ชัดเจนด้วย

 

"เรื่องนี้ตามหลักนิติศาสตร์ไม่ควรจำกัดอยู่แค่นี้ในแง่การมองประเด็น เราควรเปิดมุมมองกว้างไปกว่านี้อีก คือดูที่ 190 ว่าหลักการเหตุผลควรจะเป็นอย่างไร ถามว่ากระบวนการในการตรวจสอบควรจะทำอย่างไร  ต้องทำก่อนที่เขาจะไปดำเนินการหรือเปล่า ถ้าต้องทำก่อน 190 ก็ต้องมีกลไก ถ้าสภาไม่เห็นด้วยเมื่อยื่นเรื่องไป ต้องมีระบบระงับหรือระบบอะไรขึ้นมา เพราะนี่เป็นเรื่องการตีความ รัฐบาลเขาเป็นคนใช้กฎหมายเหมือนกัน รัฐธรรมนูญไม่ใช่ศาลรัฐธรรมนูญใช้คนเดียวนะครับ รัฐบาลก็ใช้ รัฐสภาก็ใช้ เขาก็ทำของเขาไป ศาลรัฐธรรมนูญเป็นคนชี้ทีหลัง ซึ่งก็เป็นบรรทัดฐานในวันข้างหน้า ต่อไปรัฐบาลก็ต้องมาทำแบบที่คุณชี้ แต่พอมาชี้อย่างนี้กรมสนธิสัญญาก็ปวดหัว ทำไมเราไม่ทำเรื่องนี้ให้เป็นกลางๆ ทำไมเราไม่ดูเรื่องของหลักการที่ถูกต้องจริงๆ ว่าควรจะเป็นอย่างไร

 

กลับไปเอาประเด็นที่เป็นเรื่องการเมืองที่พัวพันมาจนมั่วกันไปหมด"

 

มาตรา 190 เริ่มมาจากการต่อต้าน FTA

 

"ใช่ แต่ไปเขียนจนในทางปฏิบัติจะเป็นปัญหามาก ผมไม่เคยเห็นบทบัญญัติแบบนี้ในรัฐธรรมนูญประเทศไหน

 

ผมก็เห็นด้วยกับฝ่ายที่ต่อต้าน FTA ว่าเวลารัฐบาลไปลงนามมันมีผลกระทบ แต่ก็ต้องเขียนให้จำกัด อยากได้อะไรคุณต้องเขียนให้เคร่งครัด แต่อย่าไปทำลายหลัก เว้นแต่คุณจะบอกว่า ณ บัดนี้ผมไม่ให้คณะรัฐมนตรีบริหาร"

   

"คือวันนี้ร่างกฎหมายกันไปกันมา ผมก็สงสัยว่าเราจะมีคณะรัฐมนตรีไว้ทำไม คุณจะให้เขาบริหารประเทศหรือเปล่า ประเด็นเรื่องเลือกตั้งซื้อเสียง นักการเมืองเลว มันส่งผลกระทบอย่างมากกับการบริหารและในทางหลักการ

 

เมื่อคุณบอกคุณไม่อยากให้คณะรัฐมนตรีบริหาร ตกลงประเทศนี้ใครจะบริหาร ผมก็สงสัยอยู่ เราให้เขาบริหารเราถึงอภิปรายไม่ไว้วางใจเขาเต็มที่ ถ้าทำอย่างนี้ต่อไปประเทศมันไปไม่ได้ คุณก็มาโทษไม่ได้นะเพราะกลไกกฎหมายเป็นแบบนี้ การปกป้องสิทธิประโยชน์ของประเทศเป็นสิ่งที่ดี ทุกคนก็รักชาติรักบ้านเมือง แต่มันจะต้องให้ได้น้ำหนักกัน อย่าไปมองอะไรสุดโต่งข้างเดียวเหมือนที่เป็นกันอยู่ พูดง่ายๆ คือปัญหาของคุณทักษิณนั่นแหละ

มันปนกันไปทุกเรื่องตอนนี้"

 

เราล้อเล่นว่าต่อไปฝึกคอบบร้าโกลด์อาจต้องผ่านสภาฯ เพราะมีสิงคโปร์มาร่วมด้วย

 

"อาจจะเป็นอย่างนั้น เพราะอาจจะมีคนเดินขบวนประท้วงว่าไม่เห็นด้วย เราก็จะเป็นประเทศที่มีมาตรฐานทางกฎหมายประหลาดที่สุด มีคนต่างประเทศคนหนึ่งเขาบอกว่าไม่เข้าใจประเทศไทยในเวลานี้ คุณรื้อ legal culture ของคุณอย่างสิ้นเชิงเลยนะ ที่ทำๆ กันมา มาถูกรื้อหมดเลยในช่วง 2-3  ปีมานี้ แล้วผมกลายเป็นคนที่พูดอะไรไม่เหมือนกับคนอื่นเขา ก็มันเป็นอย่างนี้ เพราะผมไม่ต้องการรื้อหลักรื้อเกณฑ์ที่ทำกันมาอย่างถูกต้อง เพราะผมเชื่อว่าในที่สุดมันจะวุ่นวายมากจนไม่รู้ว่าจะไปอย่างไร"

   

ย้อนไปที่กลไกประกอบมาตรา 190 อาจารย์เห็นว่าต้องกำหนดอย่างไร

 

"คุณต้องออกแบบกลไกว่าถ้าจะทำอย่างนี้ คุณจะให้เขายื่นเรื่องหรือถามศาลรัฐธรรมนูญตอนไหน ยื่นเรื่องแล้วเบรกยังไง ระงับกระบวนนี้นี้ยังไง เช่นถ้าส.ส.ยื่นเรื่องปุ๊บรัฐบาลต้องระงับ"

   

"แต่ประเด็นแรกต้องเขียนให้ชัดก่อน ไม่ใช่กว้างเป็นทะเลแบบนี้ กำหนดข้อยกเว้นก่อน ถ้าไม่เข้าข้อยกเว้นก็ทำไปเลย อันไหนที่จะเข้าข้อยกเว้นที่เขียนไว้ก็ยื่นไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย มันต้องเริ่มจากข้อยกเว้นที่จำกัดก่อน ถ้าต้องไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญทุกเรื่องก็ตายสิครับ มันจะต้องเริ่มต้นจากตัวบทรัฐธรรมนูญที่มีความชัดเจนระดับหนึ่ง แต่  190 ยังไปเขียนเรื่องความรับผิดของรัฐ ซึ่งวุ่นวายมาก เพื่อนผมที่เรียนกฎหมายระหว่างประเทศปวดหัวกับมาตรานี้ ในทางปฏิบัติจะงง คนปฏิบัติเขาบอกว่าแล้วจะทำอย่างไรล่ะ ต้องไม่ลืมนะว่าในตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีหนึ่งท่านที่เชี่ยวชาญกฎหมายระหว่างประเทศ ที่บอกว่าไม่เข้า 190"

   

"ความจริงประเด็นเป็นหนังสือสัญญาหรือไม่ยังเป็นปัญหาเลย  เพราะประเด็นที่กระทรวงการต่างประเทศสู้ เขาสู้ว่ามันไม่ใช่หนังสือสัญญา เขาไม่พูดถึง  190  เลย ในความเข้าใจของเขา joint communiqué ไม่ใช่หนังสือสัญญาเลยด้วยซ้ำ"

   

อาจารย์เห็นว่าเป็นสนธิสัญญาไหม

   

"โดยนัยของตัวความผูกพันมันก็เข้าได้  มันมีการแสดงเหตุการณ์ที่มีผลผูกพันในทางกฎหมายระดับหนึ่ง แต่ผมไม่ยืน100 เปอร์เซ็นต์เพราะผมไม่ได้เชี่ยวชาญกฎหมายระหว่างประเทศ เพื่อนผมที่เรียนกฎหมายระหว่างประเทศเขาก็บอกว่าไม่เข้า แต่ที่ผมยืนยันได้อย่างหนึ่งชัดๆ เลยคือต่อให้เป็นหนังสือสัญญามันก็ไม่ได้เข้ามาตรา 190"

 

ไม่ได้ทำให้เสียดินแดน

   

"ศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่กล้าชี้ ก็ทำไมไม่ชี้ไปล่ะครับว่า joint communiqué มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย คือท่านชี้ไม่ได้"

 

ถ้าทำอย่างนั้น ศาลรัฐธรรมนูญต้องเรียกทุกฝ่ายมาไต่สวนให้ชัดเจน กรมแผนที่ทหาร เจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศ หรืออาจจะต้องลงไปดูพื้นที่จริงให้ชี้แนวเขตกัน

 

"ถูกต้อง ประเด็นคือเป็นสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือเปล่า หรือเป็นสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือไม่ นี่คือประเด็นใช่ไหมครับ"

   

"มันจึงเป็นหนังสือที่อาจจะ อาจจะมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย มันไม่ได้เป็นคำในรัฐธรรมนูญ ท่านเติมถ้อยคำในรัฐธรรมนูญ น่าสงสัยอย่างยิ่งว่าเกินไปกว่าอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญยังเป็นคนที่ตีความรัฐธรรมนูญ ให้ความหมายรัฐธรรมนูญในกรอบอำนาจของตัว หรือได้กลายเป็นคนจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นมาเสียเองแล้ว โดยผลของการเพิ่มถ้อยคำตรงนี้ลงไป มันอยู่ในกรอบของการตีความหรือว่ามันเกินไปกว่านั้น"

   

"ผมก็สอนการตีความในทางกฎหมาย การตีความในทางแย้งถ้อยคำเป็นไปได้เหมือนกัน โดยดูจากเจตนาของตัวบทกฎหมายเป็นใหญ่ แต่ในที่นี้ศาลรัฐธรรมนูญอ้างลอยๆ อ้างเจตนา แต่ไม่ได้ดูหลักเลย ไม่ได้เริ่มต้นว่า 5 ประการนี้เป็นหลักทั่วไปหรือเป็นข้อยกเว้น ซึ่งผมเห็นว่าเป็นข้อยกเว้น มันไม่ใช่เป็นเรื่องหลัก เพราะถ้ามันเป็นหลักคุณก็ไม่ต้องเขียน  1 2 3 4 5 คุณต้องเขียนว่า ณ บัดนี้หนังสือสัญญาอะไรก็ตามที่มีลักษณะอย่างนี้ หนังสือสัญญาทุกประเภทที่ไทยไปทำผูกพันระหว่างประเทศ ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา มันควรจะเป็นอย่างนั้นใช่ไหม"

 

คำว่าอาจจะ ไม่ควรมีในบทบัญญัติหรือการตีความกฎหมายใช่ไหม

   

"อาจจะเป็นได้เหมือนกันในบางกรณี  คือเปิด แต่เขียนกฎหมายอย่างนี้ต้องระวัง เพราะเท่ากับเปิดให้คนตีความกฎหมายมีดุลยพินิจสูงมาก และเรื่องที่เป็นเรื่องทางการเมืองจะไม่เขียนหรอกครับ เพราะทำให้ยากแก่คนที่เป็นผู้ปฏิบัติ และเรื่องนี้จะส่งผลในทางกฎหมายอย่างที่พูดกันอยู่"

   

"มันเป็นการตีความกฎหมายต่างกัน กระทรวงการต่างประเทศเขาตีว่าไม่เข้า ศาลล่างยังตีความกฎหมายฉบับเดียวกันต่างกับศาลสูงสุดได้เลย ฉะนั้นต่อไปถ้าตีความกฎหมายผิดพลาดคลาดเคลื่อน คุณก็เอาไปเข้าคุกกันหมด

 

ประหารชีวิตกันหมดเลยอย่างนั้นหรือ ผมไม่เข้าใจว่าทำไมผิดเพี้ยนกันไปได้ขนาดนี้ เขายังเถียงกันเรื่องตีความเลย  แล้วไปดูศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้ยืนยันเลยว่ามันมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขต"

   

ผลในทางการเมืองคือรัฐบาลทำผิดขั้นตอนของรัฐธรรมนูญ แต่ไม่บอกว่าผิดหรือไม่ผิดในแง่ของการเสียดินแดน

   

"ธงคือบอกว่ารัฐบาลทำผิด ทำขัดกับขั้นตอนรัฐธรรมนูญ  คือไม่เอาเข้าสภาฯ แต่พอหันมาดูเหตุผลว่าท่านให้เหตุผลอย่างไรมันไม่รับกันกับตัวผลคำวินิจฉัย เพราะว่าท่านไม่ได้ยืนยัน"

   

"อีกข้อหนึ่งท่านพูดอ้อมๆ ว่ามีผลกระทบต่อสังคมของประเทศ ผมเข้าใจว่าศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่กล้ายืนยัน

 เพราะตระหนักอยู่ว่าถ้าชี้ตรงนี้มันจะหาความแน่นอนไม่ได้เลยต่อไปข้างหน้า คนปฏิบัติเขาจะทำอย่างไร 

ก็เลยไม่ได้เอาตรงนั้นมาใช้ ความปรารถนาดีคือท่านไม่ไปตีความเรื่องสังคม ไม่เอาเรื่องว่าอาจกระทบกับสังคมเข้ามาเป็นเหตุผล หรืออันนั้นอาจจะเบาไปก็ได้ในความรู้สึกของคน เลยต้องมาเอาเรื่องเขตแดน แต่มันก็ไม่ชัดอีก

 

ก็เลยใช้ว่าอาจจะ ไม่รู้เจตนาของท่านเหมือนกัน"

   

สมมติศาลรัฐธรรมนูญฟันธงว่าเสียดินแดน เขมรก็คงโต้ว่าไม่จริง

 

"ใช่ แต่การตีความอย่างนี้มันมีปัญหาระหว่างประเทศนะ เราบอกว่าเป็นหนังสือสัญญาไปแล้ว วันหน้าถ้าเขมรจะได้ประโยชน์ เขาก็เอามาอ้างอิงได้ว่าในทางกฎหมายเราถือเป็นหนังสือสัญญา ระบบกฎหมายของเรารับแล้วว่าเป็นหนังสือสัญญา"

 

"มันมีทุกมุม  ที่น่าเศร้าคือเราอาจจะพูดถึงเหตุผลหรือคำวินิจฉัยน้อยไปในเวลานี้ สื่อก็ดูแต่ธง พอธงบอกผิด รัฐบาลทำผิด ก็ไปกันเลย ไปอ้างว่าเสียดินแดนโดยที่ยังไม่ได้ดูในคำวินิจฉัยเลย คำวินิจฉัยยังบอกว่าอาจจะ ถ้าตีความตามตัวอักษรคือไม่ได้เสียดินแดน"

 

2.คตส.-309

   

คำวินิจฉัยเรื่องประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 แต่งตั้ง คตส.และพระราชบัญญัติต่ออายุ คตส.ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ ออกมาในช่วงกระชั้นชิด วรเจตน์ไม่ทันออกแถลงการณ์ค้าน จึงย้อนถามรวมกันไป

 

ในอันดับแรก วรเจตน์เห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญควรตีความว่าประกาศ คปค.ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพียงเท่านั้น โดยไม่ต้องอ้างมาตรา 309

 

นั่นคือศาลควรวินิจฉัยเพียงว่า ประกาศ คปค. ให้ คตส.ใช้อำนาจตรวจสอบ ไต่สวน สอบสวน โดยไม่ได้มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดตัดสินคดีอันเป็นอำนาจทางตุลาการ และบังคับใช้เป็นการทั่วไป ไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง

 

แต่ตอนท้ายนอกจากอ้างมาตรา 36 ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวแล้ว ศาลยังอ้างมาตรา 309 รับรองการกระทำด้วย

 

"ผมไม่เข้าใจว่าศาลรัฐธรรมนูญอ้าง 309 เพื่ออะไร เพราะ 309 เป็นมาตราอัปยศในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ วิจารณ์กันมาตั้งแต่ตอน debate รัฐธรรมนูญ คนร่างรัฐธรรมนูญก็บอกว่า 309 เอาไว้รับรองการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย  ผมยังถามว่าถ้าชอบด้วยกฎหมายคุณต้องไปรับรองทำไม ก็มันชอบอยู่แล้ว จะไปเขียนรับรองอีกทำไม

เว้นแต่คุณกลัวว่าการทำอะไรที่ผ่านมาจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย คุณเลยต้องเขียนให้มันชอบ"

 

"คุณเขียนใหม่ก็ได้ แต่ทำไมเขียนรับรองไปในอนาคตล่ะ และทำไมศาลรัฐธรรมนูญต้องเอามาอ้างอย่างนี้ หรือคุณกำลังบอกว่าประกาศ คปค.จริงๆ มันไม่ชอบด้วยกฎหมาย เลยต้องเอา 309 มาปิด"

 

"เอามาทำไม ไม่เข้าใจ เพราะถ้าอ้าง 309 คุณก็ไม่ต้องอ้างเหตุผลอย่างอื่น ถ้าตีความว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญก็ไม่ต้องอ้าง 309 แล้ว แต่นี่เอามาทั้ง 2 อันก็ขัดกันอยู่ในตัว เพราะ 309 ไม่ได้พูดเรื่องเหตุผล มาตรานี้เป็นเรื่องอำนาจล้วนๆ ให้ถือว่าชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญ"

 

"มาตรา 309 ไม่ควรนำมาใช้ มันทำลายระบบกฎหมาย ทำลายหลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ การอ้าง 309 เท่ากับศาลรัฐธรรมนูญไม่ต้องวินิจฉัยอะไรเลยก็ได้ เพราะชอบด้วยกฎหมายไปทั้งหมดแล้วนี่ครับ ศาลรัฐธรรมนูญควรจะปฏิเสธหรือไม่อ้าง 309 เลยในเชิงการวินิจฉัย ignore มันไปเสียในระบบกฎหมาย"

 

คำวินิจฉัยประเด็นแรกที่เขาติงยังไม่เพียงแค่การอ้าง 309 แต่ยังมีการรับรองสถานะ คปค.ด้วย

 

"ที่สำคัญคือในทางนิติปรัชญา คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยืนยันรับรองสถานะของคปค.100 เปอร์เซ็นต์เพราะอ้างคำปรารภในพระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครอง วันที่  20  ก.ย.2549  คำวินิจฉัยไม่ได้รับรองแต่เพียงตัวประกาศของคปค. แต่เอาคำปรารภในพระบรมราชโองการประกาศการแต่งตั้งหัวหน้า คปค.มาใช้เป็นฐานอีกด้วย"

   

วรเจตน์ชี้ให้ดูว่าศาลอ้างคำปรารภที่สรุปได้ว่า การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลทักษิณก่อให้เกิดความขัดแย้งมีเหตุผลในการยึดอำนาจ 4 ข้อเอามาใช้เป็นฐานว่าทำไมจึงต้องมี คตส.ขึ้นมา

 

"มันเป็นการรัฐประหารที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่ protect หลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ ควรวินิจฉัยเฉพาะตัวประกาศ วัดกับรัฐธรรมนูญ 2550 ว่าชอบหรือไม่ชอบอย่างไร แต่วินิจฉัยอย่างนี้เท่ากับรับรองความชอบธรรมของการรัฐประหารอีกชั้นหนึ่ง รับรองโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญด้วย เพราะเอาคำปรารภมาอ้าง ศาลอาจจะมองว่าช่วยทำให้เห็นวัตถุประสงค์ แต่อีกมุมหนึ่งเท่ากับยอมรับความชอบธรรมของการแก้ปัญหาในทางการเมืองโดยกำลังทหาร"

 

"เวลาที่ศาลให้เหตุผลว่าประกาศ คปค.สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ อย่างนี้เป็นเหตุผลที่พึงอ้าง แต่ไม่ควรไปนำเอาคำปรารภมาใช้เป็นฐาน แม้จะมีที่มาจากอันนั้นก็ตาม เพราะเท่ากับเราไปรับรองความชอบธรรมของการทำรัฐประหาร"

 

แล้วก็ไม่ควรอ้าง 309

   

"ถ้าลงความเห็นว่าประกาศตั้ง คตส.สอดคล้องรัฐธรรมนูญก็จบ ทำไมต้องเอา 309 มา backup อีกชั้นหนึ่งล่ะ

 

กลัวว่า 309 ไม่มีที่ใช้หรือ"

 

"ผมไม่แน่ใจว่าการอ้าง 309 ของศาลรัฐธรรมนูญจะมีนัยอะไรต่อไปในคดีที่ศาลฎีกาหรือเปล่า เพราะต่อไปก็จะมีการสู้คดีกัน มีการฟ้องเรื่องการกระทำของคตส.-ตัวการกระทำ ไม่ใช่ตัวประกาศ เป็นเรื่องกระบวนการสอบสวนวว่า   คตส.ทำถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง มันจะมีปัญหาบทบาทของมาตรา 309 เข้ามา ว่าจะรับรองตัวการกระทำด้วยไหม อันนี้ยังไม่ปรากฏในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ แต่ถ้ารับรองอันนี้ด้วยคุณก็ไม่ต้องสู้คดีหรอก"

 

"การกระทำของ คตส.คุ้มครองด้วยหรือเปล่า ตัว act ตาม 309 เรารู้หรือว่าที่ผ่านมา คตส.ทำอะไรไม่ชอบด้วยกฎหมายบ้าง มันยังไม่เห็น แต่วันข้างหน้ามันจะเป็นคดี สมมติงบประมาณใช้จ่ายกันอย่างไร การใช้อำนาจสอบสวนเป็นอย่างไร"

   

"309 ส่วนหนึ่งเขียนให้คมช.ด้วยหรือเปล่า ระหว่างที่คมช.ไปทำอะไรในเวลานั้น งบประมาณที่ใช้จ่ายในเวลานั้น ที่ชัดเจนที่สุดครั้งแรกคือตอนที่ กกต.ยกมาอ้าง พอเหตุผลในทางหลักกฎหมายมันไปไม่ได้ เอา 309 ขึ้นมา เป็นยันต์วิเศษ มาตรานี้เป็นยันต์วิเศษ อย่ามายุ่งกับผมนะผมมี 309"

 

ตอนดีเบทรัฐธรรมนูญ ไม่มีใครพูดเลยว่ามาตรา 309 เกี่ยวกับ คตส.

 

"ไม่มีเลย คน debate รัฐธรรมนูญไม่ได้พูด เรื่องนี้ ไม่มีใครปะทะตรงๆ เพราะเหตุผลทางหลักนิติศาสตร์แพ้กันชัดๆ เมื่อรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดแล้ว จะมีหลักเกณฑ์ซึ่งมาใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้ ยอมให้ act อันหนึ่งใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ บังคับให้รัฐธรรมนูญต้องไปรับรองความชอบไว้ล่วงหน้า ปิดปากคนที่ตีความรัฐธรรมนูญไปเลย"

 

"แต่เวลานั้นไม่มีใครพูดเรื่องนี้ ผมก็ถามตรงๆ ว่าเขียนอย่างนี้หมายถึงรับรองการกระทำที่ไม่ชอบใช่ไหม ก็ไม่กล้าตอบกันมาตรงๆ ก็ไพล่กันไปตอบเรื่องอื่น ก็ตอบมาตรงๆ สิว่า 309 มีเอาไว้เพื่อ คตส.  เพราะเคยมีปัญหาตอนรสช. ก็ตอบมาสิ คิดอย่างไรก็พูดอย่างนั้นไม่ได้หรือ ยังมีคนมาว่าผมอีกว่า อ.วรเจตน์ไปชี้ช่อง มาโทษผมอีก (หัวเราะ)"

 

คตส.ซ้อน ปปช.

 

วรเจตน์บอกว่าเขาพอจะยอมรับได้กับประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 ตั้ง คตส. แต่ต้องเป็นช่วงก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2550 หรืออย่างน้อย คตส.ต้องไม่ต่ออายุ

 

"ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ชี้ประเด็นหนึ่งที่สำคัญมากๆ คือในช่วงที่รัฐธรรมนูญใช้บังคับแล้ว และมี ป.ป.ช.เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ทำไมจึงต้องมีอีกองค์กรหนึ่งมาคู่ขนานกับ ป.ป.ช.ใช้อำนาจซ้อน อันนี้ไม่ได้ตอบชัดๆ  ถ้ามีองค์กรหนึ่งที่ทำในเรื่องทั่วไปอยู่แล้ว ยังมีองค์กรหนึ่งขึ้นมา มันหมายความว่าองค์กรนี้ทำเฉพาะเรื่อง"

 

ซึ่งขัดหลักกฎหมาย?

 

"ถูกต้อง ผมรับองค์กรพวกนี้ไม่ค่อยได้หรอกนะ แต่เอาละเมื่อทำแล้วก็ทำกันไป ตามที่คุณประกาศ 1  ปี  แล้วเลิก ส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. ทำไมต้องต่ออายุ ซ้อนเข้ามากลายเป็นองค์กรแปลกปลอมในรัฐธรรมนูญ ความจริงต้องเลิกไปตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ประกาศใช้ด้วยซ้ำ แต่ถ้าอนุโลมกัน คุณก็ใช้ต่อมาตามประกาศ  อีก  1-2  เดือนคุณต้องเลิก"

 

"23 ส.ค.ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ วันนั้น คตส.ควรต้องหยุด แล้วส่งเรื่องให้  ป.ป.ช. แต่เมื่อประกาศ คปค.เลยมาถึง ต.ค. เอาละถึง ต.ค.ก็ได้ ถามว่าทำไมต้องต่ออายุอีก แล้วก็จะเป็นจะตายกันตอนที่จะแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 309 จะกระทบกับคตส. ก็เขาเขียนไว้ชัดว่าให้ส่งเรื่องให้ป.ป.ช.  ต่ออายุแล้วทำไม่เสร็จก็ต้องส่งให้ป.ป.ช.อยู่ดี ยังจะมีคนดิ้นต่ออายุให้อีกในตอนท้าย มันเป็นไปไม่ได้ ฉะนั้นหลังจาก ส.ค.มามันซ้อนกันอยู่ครับ"

 

อาจารย์เห็นว่า คตส.ตอนรัฐประหารก็โอเค

 

"จริงๆ ไม่โอเค แต่ว่ายังไม่มีรัฐธรรมนูญถาวร มันก็พอหยวนๆ ตอนนั้นระบบยังไม่มีคนใช้อำนาจนี้ แต่พอระบบจริงๆ เกิดขึ้น วันที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2550 วันนั้น คตส.กลายเป็นองค์กรนอกรัฐธรรมนูญ แล้วซ้อนกับ ป.ป.ช.ซึ่งเป็นองค์กรที่รัฐธรรมนูญรับรอง คตส.เป็นผลพวงจากประกาศ คปค. การตั้งก็ตั้งโดย fix ตัวคน ไม่มีกระบวนการได้มาซึ่งตัวคนโดยกระบวนการสรรหา"

 

"แต่เรื่องนี้คนสู้เขาไม่ได้สู้ประเด็นที่ผมพูด เขาสู้เรื่องการออก พ.ร.บ.ต่ออายุ เป็นการตั้งองค์กรตรวจสอบขึ้นใหม่ แต่ศาลวินิจฉัยว่าการขยายเวลาให้ดำเนินการต่อได้เพราะตรวจสอบเรื่องที่ดำเนินการอยู่แล้ว จะรับเรื่องใหม่มาเพื่อสอบสวนเพิ่มอีกไม่ได้ การขยายเวลาให้ คตส.ก็จำกัดเพียง 9 เดือน ไม่ได้เนิ่นนานเกินสมควรแต่อย่างใด การตรา พ.ร.บ.นี้เป็นที่ประจักษ์แก่สุจริตชนทั่วไป ไม่มีเจตนาซ่อนเร้นในทางที่มิชอบ พอเหมาะพอควรแก่กรณี จึงไม่มีส่วนใดไปขัดต่อกระบวนการยุติธรรม"

 

"เขาออกไปประเด็นนั้น แต่ปัญหาที่ผมบอกคือมันเป็นองค์กรที่ซ้อน มันทำได้ไหม"

 

วรเจตน์ชี้ว่า การดำรงอยู่ของ คตส.จึงขัดต่อรัฐธรรมนูญตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญตั้งแต่ประกาศใช้ ในประเด็นนี้ศาลจึงไปอ้างมาตรา 309 อย่างไรก็ดีในความเห็นของเขาไม่ได้แปลว่ายกเลิกมาตรา 309 แล้วคดีจะเป็นโมฆะหมด

 

"การกระทำอาจไม่เป็นโมฆะหมด แต่คุณต้องส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.  เพราะมันซ้อนกันตั้งแต่ ส.ค.เรื่อยมา คตส.จะต้องหมดไปเมื่อรัฐธรรมนูญ 2550 ประกาศใช้"

 

"ถ้าวินิจฉัยตามนี้ เป็นไปได้ว่าเสร็จจากช่วงแรกแล้ว การสอบสวนถัดจากนั้นอาจจะใช้ไม่ได้ แต่ก็ส่งให้

 ป.ป.ช.ทำต่อได้ มันไม่ถึงกับเสียไปหมด แต่มันเข้าสู่ระบบรัฐธรรมนูญใหม่แล้ว ผมยกตัวอย่างง่ายๆ  วันนี้ถ้าสภาฯออกกฎหมายตั้งองค์กรตรวจสอบ ทั้งที่มี ป.ป.ช.อยู่ จะมีใครบอกไหมว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ใครๆ ก็ต้องบอกว่าขัด"

 

ประเด็นนี้อาจารย์มองต่างกับทั้งพันธมิตรและรัฐบาลที่คิดว่ายกเลิก 309 แล้วทักษิณหลุดหมด

 

"ไม่เกี่ยวครับ มันอาจจะมีปัญหานิดเดียว มากสุดคือให้ส่ง ป.ป.ช แล้วดำเนินการต่อ"

 

"การกระทำของ คตส.ถูกรับรองไปทีหนึ่งแล้ว โดยมาตรา 36 รัฐธรรมนูญชั่วคราว แต่พอรัฐธรรมนูญใหม่ประกาศ คตส. หมดอำนาจ มันมีปัญหาตรงนี้ ที่จะต้องไป review ดูว่าช่วงเวลานั้นต้องส่งต่อให้ ป.ป.ช.

 คุณไม่มีอำนาจทำตรงนี้เพราะเป็นองค์กรซ้อนกันตั้งแต่ ส.ค.แต่ไม่ใช่โมฆะทั้งหมด ช่วงแรกได้ทำมาแล้วสิ่งที่ทำหลังจากนั้น ให้ป.ป.ช.รับรองใหม่หรือทำใหม่ก็ตาม เพื่อให้เป็นการกระทำของ ป.ป.ช. ที่รับช่วงต่อมา"

 

"ยกเลิก 309 วันนี้ก็ไม่มีปัญหาเว้นแต่จะกระทบ คมช.หรือเปล่า คือถ้าทำอะไรชอบก็ไม่เป็นปัญหา เหลือแต่การกระทำโดยไม่ชอบ ซึ่งไม่ควรบอกว่าชอบเพราะยก 309 มา มันทำให้ตรวจสอบไม่ได้"

 

เราบอกว่าเซอร์ไพรส์ที่เขาไม่คิดว่ายกเลิก 309 แล้วคดีจะหลุดหมด

 

"คิดอย่างนี้พอไปกันได้ ประนีประนอม เพราะถ้าคิดแบบล้างหมด ต้องย้อนไปก่อน 19 ก.ย. ไม่รับรัฐประหารเลยแม้แต่น้อย มันทำไม่ได้เพระมันเกิดการกระทำบางอย่างตามมา มันย้อนกลับไปตรงจุดนั้นยาก ก็ต้องทำยังไงให้

 

ระบบมันเดิน เมื่อเดินมาถึงประชมติรัฐธรรมนูญผ่านคุณต้องหยุด แล้วให้ทุกอย่างเข้าสู่ระบบให้หมด อย่างนี้พอจะสอนกฎหมายกันต่อไปได้โดยไม่รู้สึกผิดในใจมากนัก เรื่องการตรวจสอบทรัพย์สินเราก็ยอมรับ ก็ว่ากันตามระบบ ถ้าว่าในเชิงของ fact มันต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร คุณต้องเดินไปสู่การเลือกตั้ง  เพราะมีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้มีการเลือกตั้งแล้ว แต่มันย้อนไปไม่ได้ในทางความเป็นจริง เราก็ต้องตีความกฎหมายให้ไม่ขัดกับหลักนิติรัฐให้มากที่สุด และไม่เอา 309 มาเป็นยันต์สำหรับทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะเราจะสอนกฎหมายกันไม่ได้ โดยตัวเนื้อมันขัดกับสปิริตของรัฐธรรมนูญ ต้องตีความกันแบบนี้"

 

 

"ผมอาจจะไม่พูดอีกนาน"

 

...........................................

"เวลานี้มันถูกปลุกเร้าด้วยอารมณ์และความรู้สึกมาก พลังเหตุผลมันไม่มีในสังคม ที่ใดก็ตามที่อารมณ์สูงมากเอาเหตุผลไปพูด  มันไม่มีทางชนะ"

...........................................

 

เราบอกว่าทันทีที่มีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ หลายๆคนก็รอฟังคำวินิจฉัยของวรเจตน์กับเพื่อนๆ

 

"วันอังคารที่เขาตัดสิน ช่วงบ่ายโทรศัพท์เยอะมาก หลายสิบสาย ผมไม่รับเลย หนึ่งคือผมยังไม่เห็นตัวคำวินิจฉัย มันก็ลำบากที่จะไปวิจารณ์  พอเห็นตัวคำวินิจฉัยผมก็พูดได้ อย่างตอนที่ผมวิจารณ์คำสั่งศาลปกครองวันอาทิตย์ บางคนบอกผมวิจารณ์เร็ว เพราะผมเห็นตัวคำวินิจฉัย ศาลตัดสินประมาณตีสองวันศุกร์  เช้าวันเสาร์คำสั่งออก วันอาทิตย์ก็อยู่วิสัยที่ผมจะได้อ่านคำสั่งศาลปกครองแล้ว"

 

การต้องออกมาถี่อย่างนี้อาจารย์รู้สึกกดดันไหม

 

"ไม่หรอก ผมกับเพื่อนๆ 4 คนที่อยู่ในกลุ่มก็มีคนถามอยู่เรื่อยๆ ว่าทำไมคณะนิติศาสตร์มีแต่กลุ่มนี้ที่ออกแถลงการณ์ ทำไมอาจารย์คนอื่นเขาไม่เห็นทำอะไรเลย คำตอบคือผม อาจารย์ปิยบุตร อาจารย์ธีระ เป็นอาจารย์ในภาควิชากฎหมายมหาชน เมื่อเราเห็นว่ามีประเด็นสำคัญที่เป็นประเด็นทางหลักการเราต้องบอกสาธารณะ แน่นอนความเห็นเราส่วนหนึ่งอาจจะไม่ตรงกับนักวิชาการที่เป็นกระแสหลัก ซึ่งเราไม่เคยสนใจ เราสนใจเพียงว่าหลักวิชาเรื่องนี้เป็นอย่างไร เรากำลังจะบอกสังคมถึงหลักวิชาการทางนิติศาสตร์ ที่เราศึกษาเล่าเรียนมา ที่บูรพาจารย์สอนมาเป็นอย่างนี้"

 

"ในส่วนที่ว่าทำไมมีแค่นี้ที่ออกแถลงการณ์ คำตอบคือเวลาออกแถลงการณ์เราไม่เคยนึกถึงจำนวนคนมาลงชื่อว่าจะมีกี่คน น้ำหนักของตัวแถลงการณ์ไม่ใช่อยู่ที่จำนวนคนลงชื่อ เพราะนี่ไม่ใช่แถลงการณ์ทางการเมือง แต่เป็นแถลงการณ์ในข้อกฎหมาย ซึ่งคนจะลงนามก็ต้องเข้าใจกัน ถกเถียงกัน มีการยกร่างกัน บางครั้งอาจารย์ธีระก็ยกร่าง บางทีอาจารย์ปิยบุตร หรือบางทีผมก็ทำเอง แต่ผมจะเป็นคนดูคนสุดท้ายก่อนแถลงการณ์ออกไป ดูแล้วผมก็จะเติมประเด็นที่มีการยกร่าง เพื่อนๆ ก็ค่อนข้างไว้ใจให้ผมดูขั้นสุดท้าย แต่ผมก็จะเวียนถามเพื่อนอีกทีว่าจะแก้อีกไหม รวมทั้งเรื่อง  timing  ของการออกแถลงการณ์ด้วย"

 

"หลังจากเราทำแถลงการณ์ไปหลายครั้งมันอาจจะเกิดความคาดหวังของคนที่ติดตามบทบาทของพวกเราว่าเรื่องนี้มีความเห็นอย่างไร ซึ่งก็ไม่ทุกครั้งที่เราทำเป็นแถลงการณ์ เพราะมีเหตุผลอยู่เหมือนกัน หนึ่งเราไม่ได้อยู่ในที่เดียวกัน  มันต้องโทรคุยกันเมล์คุยกัน และเรามีงานสอนที่ต้องทำ เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่เราปรารถนาดีต่อสังคม เราอยากบอกสังคมว่ามันเป็นอย่างไร  เราก็ทำเท่าที่ทำได้ บางเรื่องก็เป็นประเด็นที่เราอาจจะเห็นต่าง แต่ไม่เป็นประเด็นในเชิงหลักการสำคัญมากนัก  ประเด็นที่เป็นหลักการสำคัญมากๆ  เราจะทำ เราไม่ได้สนใจกระแสสังคมหรือไม่สนใจนักวิชาการกระแสหลัก เขาจะคิดอย่างไรก็เป็นสิทธิของเขา เมื่อเราคิดอย่างนี้เราก็แสดงตัวต่อสาธารณชน และเราก็ไม่เคยบอกว่าเป็นตัวแทนของคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ทั้งหมด เป็นอาจารย์นิติศาสตร์ 5 คนเท่านั้น จะตำหนิไม่เห็นด้วยกับเราจะโจมตีคัดค้าน ก็มีแค่ 5 คน แต่เราก็พร้อมที่จะแสดงเหตุผล มันมีเหตุผลทั้งนั้น ผมเคยกลับไปเอาแถลงการณ์เก่าๆ มารวบรวมดู ในช่วง 3-4 ปี มันอาจจะเป็นบันทึกในทางความเห็นทางกฎหมายที่สำคัญก็ได้ในอนาคต เราคุยกันว่าอยากให้เรื่องนี้เป็นบันทึกไว้เหมือนกันว่าเอาละด้านหนึ่งองค์กรของรัฐที่เป็นองค์กรหลักอย่างศาล คณะกรรมการ วินิจฉัยเรื่องนี้ไว้อย่างไร และเราไม่เห็นด้วยเพราะอะไร และเราเอาเหตุผลตรงนี้มาคัดง้างกัน อนาคตที่คนมาศึกษาเรื่องนี้จะได้รู้ว่าไม่ใช่ตัดสินไปแล้วทุกคนยอมรับกันหมด มันมีความเห็นอีกด้านหนึ่งซึ่งเป็นความเห็นที่แตกต่างและมีเหตุผลทางนิติศาสตร์ยืนยัน โดยส่วนตัวผมเชื่อว่าเหตุผลทางนิติศาสตร์ที่ผมได้ให้ไปโดยที่ไม่ได้คำนึงถึงหน้าของใคร มันจะเป็นเหตุผลที่คงทนและท้าทายการพิสูจน์  5 ปี 10 ปีเมื่อฝุ่นควันทางการเมืองจางหายไป แล้วก็จะเห็นเหตุผลเราโดดเด่นขึ้นมาในที่สุด ผมเชื่ออย่างนั้น"

 

พอวิจารณ์คำสั่งศาลปกครอง สมัครเอาไปพูด อาจารย์ก็โดนอีก

 

"มีอาจารย์ในคณะบางคนมาคุยกับผม นี่ เห็นไหมนายกฯ เขาเอาที่คุณทำไปพูดแล้วนะ ผมก็บอกว่ามันไม่ได้เกี่ยวอะไรกับผม ถ้าผมคอยกังวลว่าเรื่องนี้ทำไปแล้วใครจะเอาไปพูด ก็ไม่ต้องทำอะไร ทำไมเมื่อก่อนเวลาผมพูดเรื่องตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน คนก็เอาไปอ้างกัน สื่อกระแสหลัก รวมทั้งสื่อที่โจมตีผมในวันนี้ เมื่อวันนั้นก็เอาความเห็นผมไปอ้างกันยกใหญ่ วันนั้นอ้างได้แล้วทำไมวันนี้พอเป็นอีกกลุ่มหนึ่งเอาความเห็นผมไปอ้างบ้าง

 

ทำไมต้องมาว่าผมล่ะ ผมว่ามันไม่แฟร์ มีคอลัมนิสต์เขียนว่าผมหาทางลงให้รัฐบาล ผมไม่เกี่ยวอะไรกับรัฐบาล

 

ผมไม่เคยสนใจด้วย แต่เมื่อผมให้ความเห็นอันนี้ไปแล้ว เขาเห็นด้วย เขาเอาไปพูดมันก็เป็นความรับผิดชอบของเขาเอง ถ้าคนเชื่อเขาก็เชื่อในเหตุผลที่ผมให้ไป อันนี้มันไม่ใช่เรื่องของผม มันพ้นไปจากความรับผิดชอบของผม เมื่อกลุ่มเราแสดงความเห็นไปแล้วความเห็นเราก็เป็นของสาธารณะ ใครจะเอาไปอ้างอิงอะไร ขอให้อ้างอิงให้ถูกต้องเถอะ อ้างได้ทั้งนั้น ความคิดเห็นบริสุทธิ์ของเรามันจะไม่แปดเปื้อนไปเพราะใครเอาไปอ้าง"

 

"จะบอกว่านายกฯเอาไปอ้างก็ย้อนกลับไปในอดีตหน่อย คนที่ตำหนิผมในวันนี้เมื่อก่อนก็เอาความเห็นผมไปอ้าง  

 

และความเห็นของผมก็ยืนในหลักของกฎหมายไม่เคยเป็นเรื่องบุคคล ช่วงหนึ่งมีใบปลิวโจมตีผมด้วยนะ แต่ผมไม่เคยเป็นพวกใคร ผมไม่เคยรับรองตัวบุคคลว่าคนนี้เป็นคนดี ถ้าวันหนึ่งเขาทำอะไรไม่ถูกต้องก็ต้องตำหนิเขา มันคนละเรื่องกัน"

 

เพราะระยะหลังอาจารย์สวนกระแสพันธมิตร สื่อ หรือนักวิชาการกระแสหลักอยู่บ่อยๆ

 

"เขาไปในสิ่งที่ไม่ใช่หลักการ ทำไมคนไม่มองอย่างนี้ ทำไมคนมองว่าความเห็นของผมที่ออกมา 5-6 ครั้งหลังไปเข้าทางข้างหนึ่ง แต่ทำไมจึงไม่มองว่าจุดเริ่มอยู่ตรงไหน จุดเริ่มมันเริ่มจากนายกพระราชทาน มาตรา 7 เมื่อคุณเริ่มจากนายกพระราชทานมาตรา 7 แปลว่าคุณเบี่ยงเบนไปจากหลักกฎหมาย วันนั้นผมแทบจะเป็นนักกฎหมายคนเดียวเลยมั้งที่บอกว่าใช้ไม่ได้ ผมโดนหลายคนบอกว่ามองกฎหมายไม่ทะลุบ้าง แต่ผมก็อยู่ในหลักกฎหมายของผม จนตอนหลังคนมาบอกว่าที่ผมพูดไปก็ถูก แต่ว่านั่นคือจุดแยก"

 

"ผมก็ยืนอยู่ของผมจุดนี้ แต่เมื่ออีกด้านหนึ่งคุณแยกไปเอง และความเห็นทางกฎหมายที่ตามมาเกิดจากต้นตอตรงนั้น มันช่วยไม่ได้ครับ ผมยืนที่หลักนิติรัฐ ยืนที่หลักการปกครองโดยกฎหมายเป็นใหญ่ ความเห็นผมเป็นแบบนี้ มีคนบอกผมว่าระวังอาจารย์เดี๋ยวมันจะไปเข้าทางอีกฝ่ายหนึ่ง ผมบอกว่าช่วยไม่ได้ถ้าเหตุผลทางกฎหมายเป็นอย่างนี้ก็คือเป็นอย่างนี้ ผมไม่สามารถไปบังคับประเด็นในสังคมได้ ผมไม่ได้เป็นคนจุดประเด็นขึ้นมา ผมตอบจากหลักกฎหมายที่ได้ศึกษาเล่าเรียน สมมติว่าผมจะต้องพูดอีกอย่างบ้างเพื่อให้มันคานกัน ก็แปลว่าผมไม่ซื่อตรงกับหลักวิชาของผม ซึ่งผมไม่ทำ ฉะนั้นวันนี้ผมไม่สนใจเลยว่าใครจะมองว่าผมเป็นพวกไหน วันเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์เอง ผมไม่เคยได้รับผลประโยชน์ใดๆ  ทั้งสิ้น แม้ว่ารัฐบาลนี้เข้ามาครองอำนาจ มีคนมาให้ผมรับตำแหน่ง ผมก็ไม่เคยรับ"

 

"แต่ผมอยากให้ไปดูนักวิชาการซึ่งบางคนก็เป็นนักวิชาการในกระแสหลัก รับตำแหน่งอะไรกันบ้าง ช่วยตรวจสอบบ้าง อย่าเอาแต่บอกว่าพวกคุณทำนี่คือพวกคุณมีคุณธรรม ที่คุณทำไปมันถูกต้อง อย่างนี้ผมก็อ้างได้ว่าผมมีคุณธรรมของผม ซื่อตรงกับหลักการไม่เป็นคุณธรรมตรงไหน ผมไม่เคยเอาตรงนี้มาพูด ไม่อยากจะอ้างคุณธรรม  มันเสียเวลา เราดูที่ตัวเหตุผลทางข้อกฎหมายดีกว่า เวลาที่คนมาโจมตีเขาสู้ประเด็นในทางเหตุผลไม่ได้ 

 

เหตุผลที่ผมให้ไปมันมีน้ำหนักในทางกฎหมาย มันหลักวิชาอ้างอิง เพียงแต่มันไม่ถูกใจคนที่อาจจะเป็นสื่อมวลชนกระแสหลักหรือคนจำนวนหนึ่งในสังคม เมื่อไม่ถูกใจก็ต้องทำลายผม ก็ต้องดิสเครดิตผม ปล่อยข่าว

 

แต่คนที่ทำก็รู้อยู่แก่ใจว่ามันไม่จริง ในเมื่อของมันไม่จริงก็ไม่จริงอยู่วันยังค่ำ"

 

อาจารย์ก็เกร็งนะในช่วงหลังเลือกตั้งออกคำแถลงแค่ 2 ครั้ง

 

"ทั้งที่ความจริงมันอาจจะมีเรื่องอื่นๆ อีก แต่ถามว่าทำไมเราไม่ทำ เราก็บอกว่าบางทีเราก็ต้องระมัดระวังตรงนี้อยู่เหมือนกัน แถลงการณ์ที่ออกไปจึงสังเกตเห็นว่าเป็นเรื่องหลักการจริงๆ ตั้งแต่เรื่องทำผิดคนเดียวยุบทั้งพรรคในรัฐธรรมนูญ ถามว่าทำไมผมสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ไปดูสิตอน debate รัฐธรรมนูญ ผมไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และผมก็พูดไว้ว่ารัฐธรรมนูญ 2550 จะนำประเทศไปสู่หนทางตีบตัน ถ้าไม่มีการแก้ไข  ผมก็ยืนยันคำพูดของผม ดังนั้นเมื่อมีการจะแก้รัฐธรรมนูญก็เป็นปกติที่ผมจะบอกว่าผมสนับสนุน แต่กลายเป็นผมสนับสนุนรัฐบาล มันไม่เกี่ยว เพราะรัฐบาลเขาอยากแก้อยู่แล้ว บังเอิญว่าประเด็นมันมาตรงกันในทางกฎหมาย ผมถึงไม่ไปเป็นกรรมาธิการศึกษารัฐธรรมนูญ เพราะผมก็รู้ว่าโดยโทนในทางความเห็นมันทำให้เป็นกลุ่มเดียวกัน ผมไม่อยากเป็นอย่างนั้น ผมอยู่ข้างนอกให้ความเห็นโดยอิสระมันช่วยสังคมได้มากกว่า"

 

"ถามว่ามีไหมบางช่วงที่เรารู้สึกไม่อยากพูด  มี เราก็เป็นมนุษย์ มันมีความรู้สึกเหมือนกัน คนรอบๆ ข้างเรา แม่บ้าง แฟนผมก็บอกบางเรื่องไม่ต้องพูดหรอก มันไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง คนรอบข้างบอกเราก็ฟัง เขาก็ปรารถนาดีกับเรา ผมก็ได้แต่บอกเอาละถ้าไม่ใช่เรื่องสำคัญจริงๆ ผมจะไม่พูด แต่บางเรื่องโดยวิสัยของเรามันอดไม่ได้ เราสอนหนังสือเรื่องนี้อยู่ และไม่ใช่เราสอนเป็นคนแรก เขาสอนกันมาเป็นสิบๆ ปี หลักตรงนี้ อยู่มาวันหนึ่งมันเพี้ยนไปจากหลัก ถ้าผมไม่พูดอะไรผมจะไปสอนนักศึกษายังไง แล้วนักศึกษาถามว่าเรื่องนั้นอาจารย์ไม่เห็นออกมาพูดอะไรเลย ทั้งที่เป็นเรื่องที่อาจารย์สอนผม เป็นหลักพื้นฐานทางกฎหมายปกครอง บางทีมันก็ต้องทำ ถ้ามันไปกันมากๆ เข้าก็มีความจำเป็นเหมือนกันที่ต้องทำ"

 

บรรทัดฐานบุรพาจารย์

 

นั่นพูดเรื่องเขตอำนาจศาลปกครองที่ยึดหลักแยกกันระหว่างการกระทำทางรัฐบาลกับการกระทำทางปกครอง

 

"เป็นเรื่องที่รับรู้กันมาในวงวิชาการตั้งเนิ่นนานครับ ไม่ใช่ผมเป็นคนแรกที่คิดเรื่องนี้ขึ้นมา และไม่ใช่ผมคิดขึ้นมาเพื่อจะ support รัฐบาล นักการเมืองอาจจะไม่รู้ คนทั่วไปก็อาจจะไม่รู้ แต่คนทั่วไปจะรู้สึกถึงอะไรบางอย่างว่าถ้าเกิดเป็นอย่างนี้ เอ๊ะศาลปกครองจะกลายเป็นผู้บังคับบัญชาของคณะรัฐมนตรีหรือเปล่า เขาอาจจะตั้งคำถามแบบนี้ได้ แต่ในฐานะที่ผมสอนกฎหมายปกครอง ผมรู้ และที่สำคัญมันเคยมีคดีตัวอย่าง คือ J-TEPPA ที่ศาลปกครองท่านได้วางหลักเอาไว้ และหลักที่ท่านวางเอาไว้ก็ถูกต้อง ควรจะถือเป็นบรรทัดฐาน"

 

"เรื่องนี้อธิบายได้แบบนี้ว่าการกระทำของคณะรัฐมนตรีมีอยู่ 2 แบบคือการกระทำทางรัฐบาลกับการกระทำทางปกครอง ถ้าเป็นการกระทำทางปกครองไม่มีปัญหา ศาลปกครองตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำได้อยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นการกระทำทางรัฐบาล ถ้าในระดับทางการเมือง เป็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศโดยธรรมชาติของการกระทำ มันตรวจสอบโดยศาลปกครองไม่ได้ เพราะมันมีความสลับซับซ้อนเป็นปัญหาในทางการเมือง เพราะฉะนั้นเวลาตรวจสอบแบบนี้เขาจึงวางกลไกตรวจสอบเป็นพิเศษ เช่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบ หรือให้สภาฯตรวจสอบโดยกลไกทางการเมือง"

 

"และที่สำคัญไปกว่านั้นคือการกระทำในทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือที่เป็นเรื่องการเมืองแท้ๆ เมื่อวิเคราะห์ทางกฎหมาย มันจะไม่มีคนที่ถูกกระทบสิทธิ์หรือคนที่เดือดร้อนเสียหายโดยตรง ที่จะเป็นคนมีอำนาจฟ้อง"

 

วรเจตน์บอกว่าเรื่องนี้เขาไม่ได้พูดในแถลงการณ์ เพราะแถลงการณ์มุ่งไปที่เขตอำนาจศาล ซึ่งเป็นประเด็นแรก ถ้าอยู่ในเขตอำนาจแล้วศาลจึงพิจารณาว่าผู้ฟ้องมีอำนาจหรือไม่

 

"ผู้ฟ้องคดีทั้ง 9 คน อ้างว่ามีอำนาจฟ้องคือเขาเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ผู้ฟ้องคดี 1 คนเป็นคนศรีสะเกษ มีความผูกพันยึดมั่นกับเขาพระวิหาร ผมถามว่าแค่นี้ในทางกฎหมายเพียงพอหรือครับที่จะก่อให้เกิดอำนาจฟ้องคดีปกครอง ถ้าอย่างนั้นใครๆ ก็อ้างว่าเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยได้ใช่ไหม  ผมก็อ้างได้ ทุกคนก็อ้างได้หมดที่เป็นประชาชนคนไทย"

 

"เวลาจะมีการฟ้องคดีมันต้องมีการตรวจสอบเขตอำนาจของศาล ตรวจสอบอำนาจฟ้องของคนฟ้องคดี เพราะศาลปกครองไม่ได้ให้ใครก็ได้เป็นผู้ฟ้องคดี การที่มีความเสียหายในทางการเมือง ในทางนโยบาย เขาจึงใช้กลไกทางการเมืองตรวจสอบผ่านผู้แทนราษฎร เพราะมันไม่ใช่เป็นเรื่องของการกระทบสิทธิ์หรือได้รับความเดือดร้อนเสียหายในทางกฎหมาย แต่เป็นทางการเมือง มันไม่ได้กระทบสิทธิ์คุณโดยตรง"

 

"เพราะไม่อย่างนั้นต่อไปคนที่ไม่เกี่ยวข้องแค่เห็นว่าทำอะไรไม่ถูกต้องก็ฟ้องศาลได้หมดสิครับ ถ้าเอาคนที่ไม่มีอำนาจฟ้องไปฟ้อง นอกจากทำให้เกิดการขัดแย้งระหว่างประชาชนด้วยกันเองแล้ว เมื่อศาลตัดสินคดียุติ มันมีผลทางกฎหมายที่ผูกพันคู่ความในคดี ปัญหาคือใครคือคู่ความในคดีถ้าเขาอ้างว่าเป็นตัวแทนของประชาชนชาวไทย

 

ปวงชนชาวไทยเป็นคู่ความในคดีเหรอครับ แล้วใครอนุญาตให้บุคคลทั้ง  9 อ้างความเป็นเจ้าของอธิปไตยมีอำนาจฟ้องคดีปกครอง คนอื่นอนุญาตเหรอครับ"

 

"ตอนนี้ก็มีคนในวงการพยายามอธิบายว่ามันเป็นการกระทำทางปกครอง ผมบอกแล้วอำนาจฟ้องล่ะ คุณช่วยอธิบายอำนาจฟ้องให้หน่อย มันก็ติดอยู่ดี"

 

เขาอธิบายอย่างไร

 

"คือเขาอธิบายว่า joint communiqué เป็นการกระทำทางรัฐบาล แต่ขั้นตอนก่อนเกิดแถลงการณ์ร่วม มีคนพยายามอธิบายว่าเป็นขั้นตอนที่ตรวจสอบได้โดยศาลปกครอง ซึ่งผมว่ามันไม่ใช่ ถ้าพูดว่าการฟ้องคดีคือฟ้องให้เพิกถอนการกระทำคือการเสนอเรื่องเข้า ครม.  ผมถามว่าเพิกถอนได้เหรอครับ มันเสนอไปแล้ว มันเกิดขึ้นในโลกของความเป็นจริงแล้วมันเพิกถอนไม่ได้ มันเป็นการกระทำในทางความเป็นจริง เป็นปฏิบัติการ มันเพิกถอนไม่ได้ ถ้าพูดถึงเรื่องเพิกถอนมันต้องเป็นการกระทำซึ่งก่อผลทางกฎหมาย เช่น เพิกถอนคำสั่งทางปกครอง  เพิกถอนกฎระเบียบ แต่ตัวการกระทำทางกายภาพมันเพิกถอนไม่ได้หรอกครับ ขับรถชนคนจะเพิกถอนการขับรถชนคนได้ยังไง วัตถุที่ฟ้องโดยสภาพมันเพิกถอนไม่ได้"

 

"จริงๆ คือเขาต้องการเพิกถอนตัวแถลงการณ์ร่วมนั่นแหละ แต่ตัวแถลงการณ์ร่วมเห็นชัดเจนว่าไม่ได้อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง เขาเลยไปฟ้องในขั้นตอนก่อนเกิดแถลงการณ์ร่วม เป็นเทคนิคของเขา แต่ในแง่หนึ่งมันต้องวิเคราะห์ทั้งกระบวนการ"

 

"ที่ผมวิพากษ์วิจารณ์ศาลปกครองกลางคือผมเห็นต่างกับท่าน เพราะผมเห็นว่าเรื่องนี้เป้าหมายคืออะไร ในคดี  J-TEPPA ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยไว้ดีมาก เขาบอกว่าถึงคุณจะมาฟ้องคัดค้านการไปลงนาม ที่จริงก็คือคุณคัดค้านตัวแถลงการณ์ความตกลงนั่นแหละ ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง เพราะไม่ใช่การกระทำที่เกิดจากอำนาจปกครอง ศาลวินิจฉัยไว้แล้วว่าถึงค้านขั้นตอนก็ไม่ได้ ศาลปกครองพูดไปถึงเจตนาที่แท้จริง เขามองมุ่งหมายเจตนาที่แท้จริงของคนฟ้องคดี อันนี้ถูกต้อง ผมจึงเห็นพ้องด้วย"

 

"ที่ใครว่าผมไม่เห็นด้วยกับศาลปกครองไม่ใช่ทั้งหมด ผมเห็นด้วยกับศาลปกครองสูงสุดในคดี J-TEPPA แต่ผมไม่เห็นด้วยกับศาลปกครองกลางในคดีปราสาทพระวิหาร"

 

"บางคนบอกทำไมอาจารย์กลุ่มนี้เห็นค้านตลอด บางเรื่องเห็นด้วยก็มี แต่เรื่องที่เราเห็นด้วยเราต้องไปออกแถลงการณ์หรือครับว่าเห็นด้วย เรื่องที่เราเห็นด้วยมันก็อยู่ในเหตุผลในนั้นอยู่แล้ว แต่ถ้าไม่เห็นด้วยสิครับต้องทำ ต้องบอกว่าเหตุผลเป็นยังไง"

 

"ศาลปกครองกลางก็เขียนเหตุผลในคำสั่งของท่าน แถลงการณ์ผมก็มีเหตุผลของผม อ่านสิครับ แล้วก็มาเทียบดูสิครับ คิดตรึกตรองด้วยเหตุด้วยผล ถ้าไม่มีความรู้ก็ศึกษาหาความรู้กันก่อน แล้วค่อยวิเคราะห์กันด้วยเหตุด้วยผลก็จะได้คำตอบเอง เราต้องการให้สังคมนี้อุดมปัญญาไม่ใช่เหรอ บรรดาท่านผู้ทรงคุณธรรมอยากให้สังคมนี้เป็นสังคมอุดมปัญญา ก็นี่ไงผมก็กำลังหว่านเมล็ดพันธ์ทางปัญญาให้กับสังคม แล้วจะมาว่าผมว่าวิจารณ์ศาล"

 

ประเด็นนี้อ.บวรศักดิ์ อ.นันทวัฒน์ ก็เห็นด้วยกับอาจารย์

   

"ในทางกฎหมายมหาชนมันเป็นหลักที่เป็นพื้นฐาน ผมถึงไม่แปลกใจเลยที่ท่านเห็นพ้องไปในแนวทางเดียวกัน เพราะมันเป็นหลักพื้นฐาน และผมเข้าใจว่าท่านก็สอนอย่างนี้เหมือนกัน"

 

เรื่องนี้คงจะตกไปโดยรัฐบาลคงไม่ได้อุทธรณ์ให้ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัย มันเลยกลายเป็นปัญหาว่าอะไรคือบรรทัดฐาน

 

"เรื่องนี้ยังไม่จบ คดียังอยู่ที่ศาลปกครองกลางอยู่นะ เราต้องเข้าใจว่าศาลปกครองกลางเขารับเรื่องนี้พร้อมกับสั่งคุ้มครองชั่วคราว ดังนั้นเขาต้องตัดสินในเนื้อของคดี ถ้ากระทรวงต่างประเทศไม่ได้อุทธรณ์คำสั่งคุ้มครองชั่วคราว มันก็มีผลอยู่โดยคำสั่งของศาลปกครอง  แต่เขาต้องวินิจฉัยในเนื้อคดีนะ แล้วจะวินิจฉัยกันยังไงต่อก็น่าสนใจอยู่"

 

"ความประหลาดของเรื่องก็คือคดีแบบเดียวกันไป 2 ศาล ถึงแม้คนจะบอกว่าคนละประเด็นกันก็ตาม แต่โดยผลสุดท้ายของคดีมันเป็นเรื่องเดียวกัน"

 

เรื่องทำนองนี้มีตอนเลือกตั้งโมฆะด้วย

 

"ก็คล้ายๆ กัน ศาลรัฐธรรมนูญท่านตัดสินแล้วว่าการเลือกตั้งมันใช้ไม่ได้ ต่อมาศาลปกครองก็ตัดสินทับลงไปอีกครั้งหนึ่ง พูดง่ายๆ คือศาลรัฐธรรมนูญได้ฆ่าการเลือกตั้งนั้นไปแล้ว การเลือกตั้งนั้นถูกฆ่าอีกทีโดยศาลปกครองกลาง เรื่องพวกนี้วันข้างหน้าคนรุ่นหลังจะเอามาค้นคว้า ผมเชื่อว่าในช่วงก่อนรัฐประหารเรื่อยมาจนถึงวันนี้ มีเรื่องอะไรให้ศึกษาเยอะเลยในวงการนิติศาสตร์ไทย ตั้งแต่หลังนายกพระราชทานเรื่อยมา จนถึงการเลือกตั้งโมฆะ การรัฐประหาร จนถึงการออกประกาศ คปค.เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง การใช้กฎหมายย้อนหลัง การทำรัฐธรรมนูญ  จนกระทั่งคดีหลังๆ มีคนบอกว่าทำไมผมมีความเห็นในทิศทางแบบนี้หมดเลย  ก็ไปดู logic สิครับ มันไม่มีทางคิดเป็นอย่างอื่นได้เลย ถ้าผมคิดเป็นอย่างอื่นแม้แต่นิดเดียว แสดงว่าผมไม่สม่ำเสมอในการให้เหตุผลของผม"

 

ย้อนไปตอนสั่งเลือกตั้งโมฆะ ความจริงมันเป็นเขตอำนาจของใคร

 

"รัฐธรรมนูญที่เราออกแบบไว้ มันไม่ได้วางกลไกให้ศาลใดมีอำนาจทำลายการเลือกตั้งของประชาชน การทำลายการเลือกตั้งช่องทางคือต้องไปทำเป็นหน่วยเลือกตั้ง แต่ว่าการทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะทั้งประเทศ เท่าที่ผมดูไม่มี กระบวนการยื่นเรื่องเข้าสู่ศาลรัฐธรรมนูญในเวลานั้นที่ผ่านผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภาก็ไม่ถูกต้อง ลองไปดูในแง่ของวัตถุแห่งคดี และผู้มีอำนาจยื่นเรื่อง ไม่ถูกต้อง มันไม่ได้เปิดช่องให้มีการยื่นเรื่อง อาจารย์ในคณะผมท่านเป็นผู้ยื่นเรื่องเข้าไป  แต่จริงๆ ไม่ใช่ มันยื่นไปตามนั้นไม่ได้  แต่ตอนนั้นถามว่าทำไม เราพูดในทางการเมืองกัน"

 

"ถ้าพูดในทางกฎหมายคำถามง่ายๆ คือเมื่ออำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน อำนาจตุลาการอยู่ต่ำกว่าอำนาจอธิปไตยนะครับ อำนาจศาลรัฐธรรมนูญไปทำลายการเลือกตั้งทั้งหมดของปวงชนได้อย่างไร ไม่เคยมีใครตั้งคำถามนี้ นั่นไม่ได้หมายความว่าการตรวจสอบการเลือกตั้งทำไม่ได้นะครับ ทำได้ แต่ว่ามันมีระบบที่ต้องคำนึงถึงอำนาจของปวงชน"

 

"คดีนั้นที่ออกมา เอาละผมก็เห็นว่ามันออกมาเพื่อแก้ปัญหาในทางการเมืองที่เกิดขึ้นในเวลานั้น แต่ในทางหลักกฎหมายมันไม่ถูกต้อง ผมก็ยังยืนยัน ตั้งแต่เรื่องการรับคดีเข้าสู่ระบบศาลรัฐธรรมนูญในเวลานั้น และในที่สุดเห็นไหมครับว่าความพยายามแก้ปัญหาแบบนั้น ทุ่มเททิ้งหลักกฎหมายกันลงไปเท่าไหร่มันก็ไม่ช่วยอะไร เพราะในที่สุดก็ไปสู่การรัฐประหาร19 ก.ย. และผมก็พูดไว้ว่าการรัฐประหาร 19 ก.ย.ก็จะไม่ช่วยอะไรอีก วันนี้น่าสนใจมากเลยว่ากลไกทางตุลาการที่กำลังเดินๆ อยู่จะช่วยอะไรไหม"

 

"ตอนนั้นเขาไปยื่นทั้ง 2 ศาล ทั้ง 2 ศาลก็รับ บอกว่าตัวเองมีอำนาจ มันเริ่มแบบนี้เลย ศาลปกครองเบรกก่อน คุ้มครองชั่วคราวไม่มีการเลือกตั้งที่ทางใต้ ซึ่งเป็นปัญหาความทับซ้อนระหว่างตัวศาลอยู่ ความเห็นผมสั่งคุ้มครองเฉพาะส่วนทำได้ แต่ก็มีปัญหาข้อกฎหมายถกเถียงกันมากว่าการเลือกตั้งระดับชาติควรจะเป็นเรื่องของศาลปกครองหรือเปล่า แน่นอนถ้าเป็นเรื่องสิทธิบุคคลโอเค เวลานั้นเราไม่ได้วางระบบไว้ในตัวกฎหมายให้ดี ที่มีการตรวจสอบการเลือกตั้ง ตอนนั้นมันเป็นทางตัน ต้องหาทางล้มการเลือกตั้งไปก่อน ก็คล้ายๆ อย่างนั้น"

 

อาจารย์เลยไม่ออกมาค้าน

   

"ผมถึงไม่พูดอะไรในเวลานั้น แม้ในทางหลักนิติศาสตร์ผมเห็นว่ามันไม่ถูกต้องก็ตาม หวังลึกๆ ว่าเอาละทำกันถึงขนาดนี้ก็เชื่อว่าจะประคับประคองให้ระบบมันเดินไป มีการเลือกตั้งใหม่และก็ว่ากันในเชิงระบบต่อไป ผมไม่อยากเห็นการใช้กำลังทหารเข้ามาทำลายตัวรัฐธรรมนูญ แต่ในที่สุดมันก็ล้มเหลว ไม่ช่วยอะไร เพราะเป็นไปได้ว่าเลือกตั้งใหม่พรรคไทยรักไทยก็จะชนะการเลือกตั้งอีก รวมทั้งวันนี้ด้วยนะ ยุบสภาขึ้นมาคิดยังไงว่าพลังประชาชนจะไม่ชนะการเลือกตั้ง นี่คือประเด็นการเคลื่อนไหวของพันธมิตรที่พยายามจะลดความสำคัญของการเลือกตั้งจนกลายเป็นศูนย์ ถึงเสนอระบบการเมืองแบบใหม่ของเขาขึ้นมา  พูดง่ายๆ  คือโดยระบบการเมืองแบบนี้สู้กันไม่ได้ แต่ผมเชื่อว่าการเลือกตั้งไปเรื่อยๆ การเมืองจะค่อยๆ   ดีขึ้น  แน่นอนกลุ่มที่เคยกุมอำนาจที่เป็นชนชั้นนำจะค่อยๆ  สูญเสียอำนาจไป  อำนาจจะไปอยู่ที่พรรคการเมืองในที่สุดพรรคการเมืองจะถูกจำกัดเองโดยธรรมชาติของการเลือกตั้ง แต่มันใช้เวลา เราเคยให้เวลาประชาธิปไตยเหรอครับประเทศนี้ เราเคยให้เวลาประชาธิปไตยเจริญเติบโตแบบต่อเนื่องไหม เมื่อเขาเริ่มเดินได้เราก็เตะตัดขามัน คือเรากลัวว่ามันเดินออกนอกทาง ซึ่งมันเป็นธรรมดา เดินมันก็ต้องเป๋บ้างอะไรบ้าง"

 

ที่ผ่านมาความเห็นของกลุ่มอาจารย์จะไม่โดนวิจารณ์เรื่องเหตุผล 

   

"ไม่มี ไม่เห็นมาใครเถียงเรื่องเหตุผลเลย แถลงการณ์ล่าสุดเท่าที่ผมจับเสียงอาจารย์ในคณะ ส่วนใหญ่เห็นด้วยในเนื้อนะ แต่มีบางคนเขาติงว่าทำไมทำในรูปแถลงการณ์ ทำไมไม่เป็นบทความทางวิชาการ ผมบอกถ้าให้ผมเขียนบทความทางวิชาการลงวารสารนิติศาสตร์คงอีกประมาณ 1 ปี อย่างเร็วก็ 3 เดือน 6 เดือน ใครจะมาสนใจครับ

 

และเรื่องนี้เป็นความตั้งใจของผมและเพื่อนในกลุ่มเลยว่าเราต้องการทำให้เป็นประเด็นสาธารณะ  นี่คือความตั้งใจ เราต้องการบอกกับสังคม บอกกับศาลปกครองด้วยความเคารพว่าเราคิดยังไง อย่าคิดว่ามีแค่กลุ่มผมแค่  5  คน คนที่เขาไม่แสดงตัวมีอีกนะครับ ที่เขาเห็นด้วย โทรมาให้กำลังใจ เพียงแต่เวลาเราทำแถลงการณ์เราไม่ได้ไปล่ารายชื่อมา เราถือว่าน้ำหนักอยู่ที่เหตุผล ซึ่งบางคนอาจจะมองว่าทำไมคนน้อย มาตรา 237 คนก็ไม่ค่อยแย้งนะ แม้แต่แถลงการณ์อาจารย์อีกกลุ่มซึ่งรวมแล้วเขาเยอะกว่าผม เขาก็ไม่ได้แย้งในเหตุผล แต่เขาพูดว่ามันเป็นลักษณะเฉพาะของประเทศไทย บ้านเรามีการซื้อเสียงต้องใช้ยาแรง แต่เหตุผลในทางหลักการมันแย้งไม่ตก  โดยหลักการยุบพรรคเขายุบกันที่อุดมการณ์ของพรรค  คุณจะตั้งพรรคชื่อไหนก็ตามคุณจะตั้งพรรคใหม่ไม่ได้  แต่ว่าเราไม่ได้เป็นการยุบที่ตัวอุดมการณ์ของพรรค มันทำลายประชาธิปไตยยังไงถึงยุบ แต่ของเรายุบเพื่อตัดสิทธิ์คน แล้วก็ให้เขาไปตั้งพรรคใหม่ ที่สุดมันอยู่ที่ประชาชนจะเลือกเขาไหม แล้วประชาชนไม่ได้สนใจว่าเขาเป็นพรรคไหนนะ  เลือกเขาก็เลือก วาทกรรมเรื่องซื้อเสียงมันจึงใช้ไม่ได้ทั้งหมดหรอกครับ เพราะคนที่ไปเลือกโดยไม่ได้ถูกซื้อเสียงก็มี"

 

เรื่องศาลปกครองมีคนท้วงว่าทำไมอาจารย์ไม่วิจารณ์ก่อน

   

"มีคอลัมน์หนึ่งเขียนถึงผมเรื่องนี้  ว่าเขายื่นฟ้องคดีตั้งหลายวันแล้วทำไมวรเจตน์ไม่ออกมาพูด รอจนศาลปกครองมีคำสั่งแล้วถึงออกมาพูด ถูกต้องตามกาลเทศะหรือเปล่า อันนี้มันจะเป็นการโต้แย้งแบบแพทเทิร์นเลยนะ คือโต้แย้งเชิงเหตุผลไม่ได้ก็มาโต้แย้งเรื่อง timing คือตั้งคำถามให้คนสงสัยว่าเฮ้ยมีอะไรหรือเปล่าวะ  ซึ่งถ้าคนอ่านแล้วไม่คิดตามก็จะเชื่อไปตามนั้น กลุ่ม 5 คนนี้มีนอกมีในอะไรไหม ตอบแบบนี้ครับว่าเรื่องนี้ตอนที่ทั้ง 9 คนไปฟ้องศาลปกครอง ด้วยความเคารพผมไม่เคยคิดว่าศาลปกครองท่านจะรับเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณา  โดยเหตุผลที่ว่ามันมีคดี  J-TEPPA เป็นบรรทัดฐานอยู่ และในเชิงมารยาท ศาลท่านยังไม่ได้วินิจฉัยเราก็ไม่ควรพูดในตอนนั้น เว้นแต่ว่ามันไม่มีบรรทัดฐานอะไรวางไว้เลย เมื่อศาลท่านรับและสั่งคุ้มครองชั่วคราวผมจึงตกใจในแง่ที่ว่าหนึ่งมันไม่ตรงกับบรรทัดฐาน J-TEPPA ที่ศาลปกครองสูงสุดวางเอาไว้ กับสองคือในความเห็นของผมมันไม่สอดคล้องกับหลักเรื่องการกระทำทางรัฐบาล  ซึ่งเป็นหลักที่สอนกันอยู่ในทางกฎหมายมหาชน"

 

"แล้วประจวบเหมาะ ผมได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรอบรมนักข่าวใหม่ที่เขาใหญ่ ในวันอาทิตย์ คำวินิจฉัยออกมาคืนวันศุกร์ วันอาทิตย์ผมก็ไปพูดเรื่องนี้ในความเห็นผมว่ามันไม่ใช่   มันก็เลยเป็นข่าวขึ้นมา   นักข่าวอาจจะเป็นนักข่าวใหม่และเป็นประเด็นทางกฎหมายที่ซับซ้อน การเขียนข่าวอาจจะคลาดเคลื่อนไปบ้าง ผมใช้คำว่า  act of state ซึ่งมันหมายถึงการกระทำทางรัฐบาล นักข่าวก็ไปเขียนว่าเป็นคำสั่งเชิงการเมือง เลยเป็นเหตุให้ฝ่ายพันธมิตรไปฟ้อง ความจริงถ้าตรวจสอบสักนิด ไม่ใจเร็ว คนอย่างผมเหรอจะไปพูดแบบนั้นได้ ผมเป็นนักวิชาการพูดอะไรก็พูดจากหลักวิชา  ถ้าไปเอาเทปมาฟังสักหน่อยหรือถามนักข่าวก่อนไปยื่นเรื่อง ถ้าเขาฟังเขาก็คงไม่ไปยื่นหรอก ซึ่งผมไม่ได้กังวล ผมเชื่อว่าศาลปกครองท่านทราบอยู่ว่าผมพูดไปมันเป็นยังไง และเชื่อว่าในศาลก็คงเป็นที่ถกเถียงประเด็นนี้กันว่ารับได้ไหม เมื่อออกมาแล้วก็มีผลในทางกฎหมาย ก็เป็นเรื่องปกติที่จะมีคนวิพากษ์วิจารณ์  ผมอาจจะวิพากษ์วิจารณ์ตรงไปตรงมาสักนิดหนึ่ง แต่ก็โดยสุจริต โดยวิธีการทางวิชาการ  ซึ่งพรบ.จัดตั้งศาลปกครอง มาตรา 65 ก็บอกว่าทำได้ ในทางรัฐธรรมนูญก็มีเสรีภาพทางวิชาการให้ไว้ ศาลท่านตัดสินอย่างนี้ก็ด้วยความเคารพท่านแต่ว่าผมบอกในสิ่งที่เราเห็นว่าไม่ใช่ตามหลักวิชาเพราะฉะนั้นการไปยื่นเรื่องว่าผมละเมิดอำนาจศาลจึงไม่สามารถสกัดกั้นการออกแถลงการณ์ได้  ในวันอังคารถึงได้มีการออกแถลงการณ์มา"

 

หมดเวลาของเหตุผล

 

เมื่อมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ก็จะมีการถอดถอนรัฐมนตรี  โดยจะยื่นทั้งคณะด้วย รวมทั้งการตีความคุณสมบัติรัฐมนตรี คุณสมบัตินายกรัฐมนตรี จะมีการตีความกฎหมายกันมาก เช่น  สมมติยื่นถอดถอน ครม.แล้ว ป.ป.ชรับเรื่อง ครม.หยุดปฏิบัติหน้าที่ทั้งคณะแล้วจะเกิดอะไร

   

"ปัญหาทางกฎหมายเชื่อมโยงกับรัฐบาลจะมีเยอะมากจากนี้ไป คดีความของนายกฯที่ยังค้างในศาล  การวินิจฉัยเรื่องกรณีการรับคำฟ้องเรื่องหวยก็จะมีการตีความคุณสมบัติรัฐมนตรีบางท่าน รัฐบาลจะฝ่ามรสุมอีกหลายลูก ใหญ่ๆ ทั้งนั้น บังเอิญว่ารัฐธรรมนูญก็บัญญัติเรื่องนี้ไว้หยุมหยิมไปหมด มันก็จะมีช่องจนได้ อันนี้คือสภาพการณ์ที่จะเกิดขึ้น ผมเชื่อว่าในที่สุดแล้วมันจะไม่ได้มีหลักกฎหมายอะไรที่จะมาช่วยสร้างบรรทัดฐานที่ดี ก็จะว่ากันไป เป็นเรื่องถ้อยคำ แล้วจะไปพัวพันกับบริบทในทางการเมือง  ความรู้สึกของผู้คนจะเป็นยังไง  factor ทางเศรษฐกิจ การเคลื่อนไหวของกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองจะเป็นยังไงยังไม่รู้"

 

"ในเชิงหลักวิชาก็จะพูดอะไรไม่ได้แล้ว ผมก็คุยกับเพื่อนในกลุ่มเราว่าเมื่อเราเห็นว่าสถานการณ์ทางการเมืองเป็นอย่างนี้ ความปรารถนาดีของเราที่มีต่อสังคมในเรื่องการเสนอความเห็นทางกฎหมายโดยอาศัยเหตุผลทางนิติศาสตร์ มันอาจจะไม่มีน้ำหนักพอที่เหนี่ยวรั้งสังคมไว้ได้   หนำซ้ำพวกเรายังถูกดึงไปเป็นขั้วความขัดแย้งอีก เราก็คิดว่าเราอาจจะต้องลดบทบาทลง อาจจะไม่มีเขียนแถลงการณ์อะไรอีก ถ้าเป็นประเด็นที่สำคัญจริงๆ  เราคงจะพูด  แต่เราคงไม่แสดงทรรศนะทางกฎหมายทั้งหมด  เพราะเวลานี้มันถูกปลุกเร้าด้วยอารมณ์และความรู้สึกมาก พลังเหตุผลมันไม่มีในสังคม"

 

"ที่ใดก็ตามที่อารมณ์สูงมากเอาเหตุผลไปพูด  มันไม่มีทางชนะ  แล้วมันไม่มีประโยชน์ เรามองไปข้างหน้าคือเราพยายามคิดถึง  model ของรัฐธรรมนูญเท่าที่สติปัญญาเรามีอยู่ ว่าถ้าพ้นจากความขัดแย้งอันนี้กติกาที่ควรจะเป็นในบ้านเมืองเราควรจะเป็นอย่างไร

 

วรเจตน์บอกว่าเขาจะไม่พูดเรื่องคุณสมบัติต่างๆ เพราะเป็นเรื่องเฉพาะตัว

 

"รัฐธรรมนูญฉบับนี้มันมีหลายเรื่องที่มันไม่ได้ไปตามหลักการที่มันควรจะเป็น มันเป็นความพยายาม  ผมไม่แน่ใจว่าครั้งสุดท้ายหรือไม่ ที่จะรักษาอำนาจนำ อำนาจของฝ่ายที่เป็นข้าราชการระดับสูง  ของกลุ่มคนชั้นนำในสังคมเอาไว้ โดยจำกัดพื้นที่ของพวกนักการเมือง มันก็ขาดดุลกันตรงนี้ และในทางหลักการก็มีปัญหาหลายเรื่องด้วยซ้ำ เช่นเรื่องไชยา วิรุฬ ก็จะมีข้อกฎหมายอย่างนี้เกิดขึ้นเรื่อยๆ"

 

แต่ข้าราชการระดับสูงไม่ถูกจำกัดเลย

 

"ใช่  ก็จะไปโฟกัสที่นักการเมืองเป็นหลัก คือมาตรฐานตรงนี้มันจะไม่เท่ากัน เราลองดูเรื่องการตรวจสอบองค์กรตุลาการหรือองค์กรอิสระก็ไม่ได้มีการพูดกัน  คำถามคือกลุ่มผลประโยชน์ในทางการเมืองมันไม่ได้มีแต่นักการเมือง  ผมไม่ปฏิเสธหรอกถ้าเราต้องคุมนักการเมือง แต่การที่เราพยายามไปโฟกัสจัดการกับนักการเมืองมากจนไปละเลยกลุ่มผลประโยชน์อื่นๆ เป็นเรื่องที่ผิด เพราะเท่ากับว่าเราปล่อยให้คนกลุ่มหนึ่งซึ่งสามารถเอื้อประโยชน์กันได้ในทางตำแหน่งหน้าที่  ไม่ได้ถูกตรวจสอบ  และนักการเมืองก็ไม่สามรถตรวจสอบกลุ่มนี้กลับได้ด้วย"

 

"แน่นอนบางองค์กรอย่างเช่นศาลอาจมีการคุ้มครองบ้างเพื่อความอิสระ แต่ถ้าจะเอาความอิสระของศาลมาทำให้ไม่ต้องถูกตรวจสอบเลยเป็นไปไม่ได้   ผมถึงพูดว่าการที่ผมวิพากษ์วิจารณ์ศาลในเชิงวิชาการมันเป็นการตรวจสอบชั้นต่ำที่สุดแล้วที่เราสามารถทำกับองค์กรตุลาการได้  มันควรจะมีกลไกในการตรวจสอบมากกว่านี้ แต่ผมเชื่อว่าในอนาคตจะต้องมีการตั้งคำถามแน่นอน และมันจะดังขึ้นเรื่อยๆ   ว่าจะตรวจสอบการทำงานขององค์กรเหล่านี้ได้อย่างไร องค์กรอิสระพวกนี้ที่เข้าสู่ตำแหน่งจะตรวจสอบกันอย่างไร ทำไมในรัฐธรรมนูญจึงเป็นระบบผลัดกันไปผลัดกันมา  ทำไม สว.มาเลือกคนในองค์กรอิสระหรือย่างน้อยก็มาแต่งตั้งคนในองค์กรอิสระ แล้วคนในองค์กรอิสระนั้นก็กลับไปสรรหาสว.จำนวนหนึ่ง ทำไมคนที่เป็นสว.บางคนทำไมไปนั่งเป็นกรรมการของโทรทัศน์บางแห่งได้  ทำไมคนที่เคยเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญ  วันหนึ่งสามารถกลับมาเป็นตุลาการ

ศาลรัฐธรรมนูญได้   และก็วินิจฉัยรัฐธรรมนูญที่ตัวเองร่างขึ้นมา ถามว่าทำไมคำถามพวกนี้ไม่ดังขึ้น ถ้าเราจะอ้างการตรวจสอบทั้งหมดเราจะต้องทำอย่างเท่ากัน ในระนาบเดียวกัน มันถึงจะยุติธรรม"

 

"ยกตัวอย่างเรื่องหนึ่งที่ผมเห็นความไม่เป็นระบบมากๆ คือ คปค.ออกประกาศปลด คตง. ตั้งให้ผู้ว่าสตง.ใช้อำนาจของคตง. และใช้มาเป็นปีแล้ว มันเป็นไปได้ยังไง ผู้ว่าสตง.คนเดียวใช้อำนาจของคณะกรรมการทั้งคณะ ผิดหลักนะครับ ชั่วคราวได้ แต่นี่มันเลยมาเป็นปีๆ มันเป็นไม่ได้ในเชิงระบบกฎหมาย ผู้ว่าคนเดียวเป็นคณะกรรมการ กุมอำนาจในเชิงการตรวจสอบแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด  ตรงนี้ก็ไม่มีใครพูด  แต่ในเชิงหลักการมันไม่ถูกนะ กี่ปีแล้ว และไม่เห็นพูดอะไรกันเลย"

 

"นักวิชาการที่เข้าไปมีบทบาทผมสงสัยมากว่าทำไมสื่อถึงไม่เคยบอกว่าอันนี้ใกล้ชิดกับกลุ่มนี้ ขณะที่กลุ่มนักวิชาการเล็กๆ  อย่างพวกผม  ซึ่งไม่ได้เคยมีความผูกพันอะไรกับใครเลย  ออกความเห็นทางกฎหมายมากลับถูกป้ายว่าเป็นกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ มันเกิดอะไรขึ้นกับสื่อมวลชนกระแสหลักของเรา ทำไมถึงขาดความเป็นมืออาชีพ ผมอยากจะมองเลยไปกว่าประเด็นทางกฎหมายว่าความเป็นมืออาชีพของพวกเราหายไปไหนกันหมด  ทั้งคนที่เป็นนักวิชาการด้วย ทำไมถึงคิดว่าตัวเองกุมความถูกต้อง กุมคุณธรรมไว้คนเดียว ทำไมถึงคิดว่าตัวเองเท่านั้นที่เป็นคนดี คนอื่นเขาดีด้วยไม่ได้เหรอ บางสื่อทำไมต้องคิดว่าตัวเองต้องเป็นตะเกียง มีความสามารถแบบไหน  เก่งกว่าคนอื่นยังไงถึงคิดว่าตัวเองเป็นตะเกียง  ทำไมสื่อไม่เป็นกระจก กระจกที่ใสแล้วสะท้อนทั้ง 2 ด้าน  คอลัมนิสต์จะเขียนอะไรก็เขียนไปเถอะแต่ว่าตัวข่าวทำไมจะต้องใส่อะไรลงไป  พาดหัวบางเรื่องทำไมจึงไม่มีความเป็นธรรม ผมไปออกทีวีพูดถึงหลักมาตรา 237 สื่อบางฉบับพาดหัวว่าผมรับใช้ระบอบแม้ว นี่คืออะไร แล้ววงการสื่อมวลชนตรวจสอบกันเองแค่ไหน สื่อมวลชนจำนวนหนึ่งไปนั่งรับตำแหน่งตอนเป็นสนช.  ทำไมถึงทำได้  และนักวิชาการจำนวนหนึ่งเมื่อได้เข้าไปสู่ตำแหน่งแบบนั้นก็ติดใจ เป็นสนช.แล้วก็ติดใจขอเป็นสว.ผ่านกระบวนการสรรหากันไปอีก ถามว่านี่ไม่ได้เป็นการสืบทอดอำนาจเหรอครับ"

 

"ผมไม่ได้บอกว่านักการเมืองดีทั้งหมด แต่ทำไมเราไม่เปิดตามองทั้ง 2 ข้าง ทำไมเราปิดตาด้านหนึ่งแล้วมองอีกด้านหนึ่ง อ่านคำวินิจฉัยรัฐศาลรัฐธรรมนูญก่อน แล้วฟังคนที่เขาให้เหตุผล อย่าดูแต่โครง คอลัมนิสต์จำนวนหนึ่งขาดความรู้อย่างมากเลยในการเขียนบทความ ผมอ่านหนังสือต่างประเทศเขาจะเขียนอะไรเขามีฐานของความรู้รองรับ เขาถือว่าเป็นคนให้ความรู้กับสังคม แต่ของเรานึกอะไรได้ก็เขียน จินตนาการเอาซะเยอะ"

 

คนร่างรัฐธรรมนูญไม่ควรเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใช่ไหม

 

"โดยหลักแล้วก็ไม่ควรทำ  อย่างน้อยคุณควรจะเว้นระยะเวลาไว้สักช่วงหนึ่ง ผมเคยเสนอว่าใครก็ตามที่มาทำรัฐธรรมนูญ  เพื่อประกันว่าการทำรัฐธรรมนูญไม่ใช่เพื่อตัวเองจึงควรจะมีบทบัญญัติว่าไม่ควรไปดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญ อย่างน้อยเว้นไว้ในช่วงเวลาหนึ่ง 5 ปีก็ได้ ให้มันผ่านไปสักช่วงหนึ่ง ไม่ใช่ว่าทำรัฐธรรมนูญเสร็จปุ๊บคุณเข้าสู่ตำแหน่งในองค์กนตามรัฐธรรมนูญเลย ของเราหนักไปกว่านั้นอีก คุณร่างรัฐธรรมนูญอยู่ด้วยแล้วคุณก็เป็นองค์กรในรัฐธรรมนูญอยู่ด้วยในเวลาเดียวกัน ทำไมเราไม่เคยพูดถึงประเด็นพวกนี้เลย  เวลาพูดถึงก็บอกว่าคนเหล่านี้เป็นคนดีมีคุณธรรมมาช่วยชาติ มันไม่ใช่เรื่องการตรวจสอบกันในทางระบบ  คุณห้ามนักการเมืองมาร่างเพราะบอกว่าเดี๋ยวเขาร่างเพื่อผลประโยชน์เขาเอง ก็ logic แบบเดียวกัน นี่เราพูดตามหลักการเลยไม่ใช่ตัวคน ถ้ากระทบความรู้สึกของท่านใดท่านหนึ่งผมก็ต้องขออภัยด้วย  แต่เรากำลังอยู่กันในสังคมที่เราพูดกันเรื่องกฏเกณฑ์ซึ่งควรจะเสมอกัน  เราต้องมีใจยุติธรรมเพียงพอสิครับในการจะวินิจฉัยเรื่องนี้ ว่าถ้าเป็นคนอื่นทำมันแย่หมดเลย ถ้าเป็นเราทำมันดีหมด มันใช้ได้เหรอครับอย่างนี้"

 

ตุลาการเสียงข้างน้อยท่านหนึ่งในคดียุบพรรคเคยคุยกับเรา บอกว่าจะไม่เป็นตุลาการในคดีที่เกี่ยวกับคุณทักษิณอีก เพราะจะเกิดอคติ

 

"ใช่ ตุลาการเขาก็สอนกันมาอย่างนี้ทั้งนั้น หลักมันก็เป็นอย่างนี้ ต้องเข้าใจว่าอำนาจตุลาการส่วนหนึ่งค้ำจุนโดยพลังในทางกฎหมาย แต่พลังทางกฎหมายอย่างเดียวบางทีไม่พอ ความเชื่อถือก็สำคัญเหมือนกัน แน่นอนบางเรื่องเหตุผลก้ำกึ่งก็ต้องมีพลังทางกฎหมายมาตัดสิน มาทำให้มันยุติ แต่ไม่ใช่ใช้อำนาจอย่างเดียว มันต้องเป็นอำนาจที่อยู่บนฐานของเหตุผลด้วย คนเห็นและเชื่อในตัวผู้ใช้อำนาจนั้นด้วย ไม่ควรจะมีข้อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ได้ มันเป็นรอยด่างพร้อย คนคนเดียวที่ทำหน้าที่ซ้ำๆ แล้วคุณจะคาดหมายการกระทำอย่างอื่นจากคนคนนั้นได้เหรอครับ"

 

"พูดง่ายๆ คุณเป็นผู้พิพากษาอยู่แล้วคุณมานั่งเป็นกรรมการสอบสวนในเรื่องหนึ่งมันใช้ได้เหรอครับ คุณอาจจะไม่ได้ตัดสินแต่อยู่ในองค์กรซึ่งจะเป็นคนตัดสินเรื่องนี้"

 

เหมือนเป็นคนที่มีส่วนร่วมในการรัฐประหาร มากุมอำนาจบริหาร มาร่างรัฐธรรมนูญ แล้วกลับไปเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จะเกิดอะไร

 

"ความน่าเชื่อถือไงครับ ใครจะเชื่อ รู้อยู่แล้วว่าคุณจะตัดสินออกมายังไง เสียความเชือถือในแง่ที่สังคมจะไม่ฟัง  ใครเขาจะไปฟัง  ต่อให้ตัดสินไปโดยสุจริตก็อาจจะไม่ฟัง"

 

"คนที่ใช้กฎหมายต้องมีความซื่อสัตย์ต่อหลักวิชาเป็นพิเศษ  เราพูดเรื่องคุณธรรมมาตั้งแต่สมัยผมเรียนหนังสือ เดี๋ยวนี้ก็พูดกันทุกวัน  มีการให้โอวาทนักศึกษากันทุกวัน แต่อันหนึ่งที่อาจจะไม่ได้สอนคือว่าเรื่องหลักการในทางกฎหมาย  ผมว่าอันนี้สำคัญ การปลูกฝังคุณธรรมก็ปลูกฝังไป แต่ว่าถ้าจะอ้างคุณธรรมแล้วมาทำลายหลัก เพราะคุณคิดว่าคุณกุมความดีอยู่ ผมรับไม่ได้ มันผิด เพราะหลักการเป็นสิ่งเดียวที่จะเป็นเกราะป้องกันตัวเรา  หลักที่เรามั่นอยู่กับตรงนี้  เราตอบไปอย่างนี้ก็มีเหตุผลอธิบาย แต่ถ้าเอาแต่คุณธรรมอย่างเดียว เป็นคนดีวันๆ คุณก็คิดแต่ตัวคุณเป็นคนดี เป็นคนดีมากเข้าๆ ก็คิดว่าความดีก็คือความถูกต้อง กลายเป็นว่าตัวคุณถูกต้อง ตัวคุณคิดว่าตัวเองกลายเป็นหลักของความถูกต้อง   และในทางการเมืองมันทับซ้อนกันมาก การตัดสินดีชั่วทางการเมืองมันไม่ง่ายเหมือนที่เราเห็นด้วยตาหรอก มันมีเรื่องผลประโยชน์พัวพันเยอะแยะไปหมด  เขาถึงออกแบบระบบขึ้นมา แต่วันนี้เราทำลายระบบหมดเพราะเราคิดว่าระบบมันแก้ปัญหาไม่ได้ เราก็เลยทำอะไรก็ได้ แต่ยังอ้างระบบกันอยู่นะ ที่ผมเศร้าใจคือยังอ้างหลักวิชาการอยู่นี่แหละ"

 

วรเจตน์ย้ำในตอนท้ายว่าเขาจะไม่พูดอีกนาน เว้นแต่จะมีเรื่องหลักการที่สำคัญ

 

"ตอนนี้สังคมไม่ฟังเหตุผลเรื่องกฎหมายแล้ว มันไม่มีประโยชน์ที่จะพูด ให้สังคมดูกันเอาเองบ้าง นอกจากจะเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ การที่เราไม่พูดไม่ได้แปลว่าเราเห็นด้วย อย่ามาเดาว่ากลุ่มผมไม่ออกมาพูดแปลว่าเห็นด้วย  อย่าไปตีความอย่างนั้น  เพราะผมเป็นมนุษย์มีความเหนื่อยหน่ายได้ บางทีเราแค่เหนื่อย แต่บางครั้งบางคราวที่รู้สึกว่ามันต้องพูดแล้วนะเรื่องนี้ เราก็ต้องทำ แต่อย่าไปคาดหมายว่าจะทำบ่อย ผมอาจจะไม่พูดเลยอีกนานทีเดียว"

 

"วันนี้สังคมของเราสร้างขั้วขึ้นมา และมันไม่มีที่ยืน ไม่เปิดให้พลังเหตุผลได้ทำงาน ผมก็เศร้าใจที่สังคมเราเดินมาถึงจุดนี้ แต่ผมคุยกับเพื่อนว่าเราควรจะเก็บพลังของเราเอาไว้ทำอย่างอื่น คิดเรื่องโครงสร้างรัฐธรรมนูญที่ควรจะเป็นดีกว่า และเมื่อถึงเวลาเราก็บอกกับสังคมว่าเราคิดมาอย่างไร ซึ่งเราก็ไม่ได้บีบคั้นตัวเอง เราก็ทำไปตามอารมณ์ของเรา ตามความสบายใจของเรา"

 

ถ้ามีคนถามบางเรื่องก็ยัง comment สั้นๆได้

 

"ก็อาจจะมี คงต้องดูเรื่อง บางทีลูกศิษย์ลูกหาเขาก็อยากฟัง คนเรียนหนังสือกับผมเขาไปอยู่ต่างจังหวัดเขาก็ตามความเห็นผมอยู่  อยากฟังว่าเรื่องนี้ผมคิดยังไง ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเขาเห็นด้วยกับผม"

 

ไหนๆ จะไม่พูดแล้ว อาจารย์มองว่าตุลาการภิวัตน์จะไปลงที่ตรงไหน

 

"2  ทาง อันแรกคือถ้าสำเร็จมันก็จะจบ แต่ผมเชื่อว่าจบในระยะสั้น ในระยะยาววงการตุลาการจะได้รับผลกระทบสูงมาก จาก  action ที่ออกมาในช่วงเวลาที่ผ่านมา มันจะมีคนตั้งคำถามกับองค์กรตุลาการ ซึ่งไม่เคยถูกถามเลยในหลายเรื่อง วันหนึ่งจะมีคนถามว่าองค์กรท่านเป็นยังไง งบประมาณท่านได้แต่ละปีเท่าไหร่ ทำอะไรกันบ้าง  มีระบบการควบคุมตรวจสอบเป็นอย่างไร คนในองค์กรของท่านดำรงตำแหน่งอะไรกันบ้าง"

 

"แต่ถ้าเกิดว่าไปไม่ได้ มันก็จะวุ่นวายใหญ่ ในทางการเมือง ถ้าองค์กรตุลาการเอาไม่อยู่ มันก็เป็นการประเมินทางการเมือง ซึ่งผมไม่มี fact ในทางการเมือง ไม่สามารถคาดการณ์ได้อย่างชัดเจน อำนาจทางกฎหมายเอาไว้อยู่มันก็จะอยู่ในระดับหนึ่ง ผมเชื่อว่ามันไม่จบโดยบริบูรณ์ เพียงแต่จะสั้นหรือยาวแค่ไหน เพราะวันนี้มันมาถึงความคิดเห็นทางสังคมซึ่งมันสุดขั้วไปแล้ว ขั้ว 70:30 กับขั้วที่สนับสนุนประชาธิปไตยมัน crack กันแล้ว และไม่มีทางประนีประนอมกันได้อีกแล้ว"

 

ถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไปคือรบรากันด้วยกำลังแน่นอน

 

"แนวโน้มสูงมาก เบื้องต้นมันก็รุกไล่ไปอย่างนี้ แล้วก็ใช้กฎหมายดำเนินการไปอย่างนี้จนมันจะค่อยๆ สึกกร่อนเสื่อมลงไปด้วย แล้วคนก็จะเชื่อต่างกัน ปัญหาที่น่ากลัวในสังคมในเวลานี้กลายเป็นปัญหาเรื่องความเชื่อ ความคิด ที่เชื่อกันคนละอย่าง แล้วฟังเหตุผลกันไม่ได้ ก็พร้อมที่จะเห็นอีกฝ่ายที่ไม่เคยรู้จักมาก่อนเป็นศัตรู ทำร้ายกันได้"

 

 

 

ที่มา : Tabloid ไทยโพสต์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net