Skip to main content
sharethis

วรเจตน์ ภาคีรัตน์ หัวหน้าภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า ประเด็นดังกล่าวเป็นการแสดงความคิดเห็นในทางวิชาการซึ่งถือเป็นกระบวนการตรวจสอบอำนาจศาลที่พึงมี และเป็นเรื่องที่สังคมสามารถถกเถียงได้ว่าความคิดเห็นดังกล่าวถูกต้องตามหลักวิชาหรือไม่

 

วันที่ 30 มิ.ย.51    นาย

วรเจตน์ ภาคีรัตน์ หัวหน้าภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ให้สัมภาษณ์ในรายการทีวีออนไลน์ประชาไท "บ้านเมืองไม่ใช่ของเรา" (ออนไลน์ในวันที่ 2 ก.ค.นี้) กรณีที่นายสุวัตร อภัยภักดิ์ มอบอำนาจให้นางอัจฉรา แสงขาว ทนายความยื่นคำร้องขอให้ศาลปกครองกลางออกหมายเรียก รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์, น.ส.จีรนุช เปรมชัยพร ผู้จัดการเว็บไซต์ประชาไท และนายชูวัส ฤกษ์ศิริสุข บรรณาธิการเว็บไซต์ประชาไท มาสอบถามเพื่อดำเนินการลงโทษในข้อหาละเมิดอำนาจศาล กรณีที่นายวรเจตน์ได้ให้ความเห็นต่อคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครอง

ทั้งนี้ นายสุวัตร เป็นหนึ่งใน 9 ผู้ฟ้องนายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ และคณะรัฐมนตรีกระทำการมิชอบด้วยกฎหมายโดยไปลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาขอขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหาร และต่อมาศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว

วรเจตน์กล่าวว่า ประเด็นดังกล่าวเป็นการแสดงความคิดเห็นในทางวิชาการซึ่งถือเป็นกระบวนการตรวจสอบอำนาจศาลที่พึงมี และเป็นเรื่องที่สังคมสามารถถกเถียงได้ว่าความคิดเห็นของเขาถูกต้องตามหลักวิชาหรือไม่ นอกจากนี้ใน พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาทางปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 65 ยังระบุชัดว่า ผู้ใดวิพากษ์วิจารณ์การพิจารณาของศาลโดยสุจริตด้วยวิธีการทางวิชาการ ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล

วรเจตน์ กล่าวว่า กรณีของการละเมิดอำนาจศาลนั้นเป็นข้อยกเว้นที่ไม่ต้องมีผู้ฟ้องร้อง แต่เป็นเรื่องที่ศาลพิจารณาและดำเนินการเอง การมีคนอื่นไปจัดการแทนทั้งที่ศาลยังไม่ได้ทำอะไรดังที่เกิดขึ้นจึงนับเป็นเรื่องประหลาดมาก

"ถ้าการพูดของผมทำให้ทางพันธมิตรฯ ไม่พอใจหรือไม่ชอบ ผมก็ช่วยไม่ได้เพราะผมแสดงความเห็นโดยสุจริตในทางวิชาการ เรื่องแบบนี้จะต้องใจกว้างและดูเหตุดูผลประกอบกัน ไม่ใช่ใช้วิธีการในลักษณะแบบนี้มาปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นของบุคคล ซึ่งผมเห็นว่าไม่ถูกต้อง ผมไม่ได้พูดถึงตัวเองแต่กำลังพูดถึงคนอื่นๆ ซึ่งหลายคนในวันนี้ไม่กล้าพูด เพราะกลัวว่าพูดแล้วจะโดนด่า ถูกประณามอย่างสาดเสียเทเสีย ทุกคนกลัวหมด ก็ปล่อยให้คนกลุ่มหนึ่งมีความถูกต้องอยู่ในมือ" วรเจตน์กล่าว

อย่างไรก็ตาม หัวหน้าภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มธ.ยังคงยืนยันว่าศาลปกครองไม่มีเขตอำนาจเหนือคดีที่รัฐบาลไทยจะไปลงนามในแถลงการณ์ร่วมกับรัฐบาลกัมพูชา ด้วยเหตุที่ว่าศาลปกครองมีหน้าที่ตรวจสอบการกระทำหรือคำสั่งในทางปกครอง แต่กรณีที่รัฐบาลไทยไปตกลงในแถลงการณ์ร่วมกับกัมพูชานั้นไม่ถือเป็นการกระทำในทางปกครอง แต่เป็นการกระทำในทางรัฐบาล ซึ่งมีกลไกการตรวจสอบผ่านระบบรัฐสภาอยู่แล้ว หากศาลเข้ามาตรวจสอบในการกระทำทางรัฐบาลจะกลายเป็นว่าศาลเข้ามาบังคับบัญชาฝ่ายบริหาร ซึ่งขัดกับหลักการแบ่งแยกอำนาจ

"เวลาพูดถึงฝ่ายบริหารมี 2 ส่วนใหญ่ คือ ฝ่ายการเมือง เช่น คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี กับฝ่ายประจำ เช่น ปลัด ข้าราชการประจำ คดีที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายประจำอยู่ในขอบเขตของศาลปกครองทั้งหมด แต่พวกที่เป็นคณะรัฐมนตรี รัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี กระทำการได้ 2 ลักษณะ คือ การกระทำในทางรัฐบาล เป็นการบริหารโดยแท้ เช่น การวางนโยบายต่างๆ กับอีกลักษณะหนึ่งคือการกระทำทางปกครองคือ ใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติออกคำสั่งหรือสั่งการ ถ้าเป็นการกระทำทางปกครองสามารถฟ้องศาลปกครองให้มาตรวจสอบว่าการใช้อำนาจนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แต่การกระทำทางรัฐบาล ถ้าศาลเข้ามาควบคุมตรวจสอบในด้านนโยบายก็จะกลายเป็นศาลเข้ามาบังคับบัญชาฝ่ายบริหารในทางนโยบาย" วรเจตน์กล่าว

วรเจตน์ขยายความเรื่องนี้ว่า กฎหมายมีความจำกัดในตัวเอง ไม่สามารถนำไปตัดสินทุกเรื่องในสังคมได้ ดังนั้นในทางกฎหมายจึงต้องทำให้ชัดเจนที่สุด เรื่องในระดับนโยบาย ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือการประกาศสงครามเป็นเรื่องในทางการเมือง เป็นการกระทำในทางรัฐบาล โดยหลักวิชาแล้วการกระทำแบบนี้ปลอดจากการตรวจสอบโดยตุลาการ เพราะการกระทำเหล่านี้ไม่ได้ก่อให้เกิดการกระทบสิทธิของบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยตรง แต่เป็นเรื่องของส่วนร่วม การกระทำทางรัฐบาลโดยปกติจะตรวจสอบกันทางรัฐสภา ถือเป็นการตรวจสอบกันทางการเมือง แต่อาจมีบางเรื่องที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบ

นอกจากนี้เขายังยกตัวอย่างที่คล้ายคลึงกัน เมื่อปี 2550 ภาคประชาชนเคยยื่นคำร้องขอให้ศาลปกครองคุ้มครองชั่วคราวกรณีเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น ให้รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ระงับการลงนาม แต่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งที่ 178/2550 ไม่รับคำร้องโดยให้เหตุผลว่าการฟ้องคดีนี้ผู้ฟ้องคดีต้องการให้มีการระงับการลงนาม ซึ่งเป็นการกระทำที่คณะรัฐมนตรีใช้อำนาจในทางรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เรื่องในทางปกครอง ศาลจึงไม่รับพิจารณา

วรเจตน์กล่าวต่อว่า สภาพการณ์ของกรณีปราสาทเขาพระวิหารก็มีลักษณะแบบเดียวกันกับกรณี JTEPA คือ เป็นเรื่องในทางระหว่างประเทศ แต่คราวนี้ตัวผู้ฟ้องใช้เทคนิคในการฟ้อง ไม่ได้ฟ้องตัวแถลงการณ์ แต่เลี่ยงไปฟ้องขั้นตอนก่อนเกิดแถลงการณ์ อาจเพราะคนฟ้องรู้ว่าตัวแถลงการณ์ร่วมนั้นฟ้องไม่ได้เพราะยังมีปัญหาว่านับเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ อย่างไรก็ตาม วรเจตน์เห็นว่ามันเป็นกระบวนการอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่สามารถจะไปตัดแบ่งฟ้องกระบวนการก่อนหน้านั้นได้ แต่ศาลปกครองก็อธิบายว่าอันนี้เป็นกรณีที่คณะรัฐมนตรีใช้อำนาจตามกฎหมายระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งหากอธิบายเช่นนี้ครม.ก็ใช้อำนาจตามพ.ร.บ.การบริหารราชการแผ่นดินทั้งสิ้น ทำให้สามารถฟ้องศาลปกครองได้ทุกเรื่อง ซึ่งจะส่งผลให้ศาลปกครองเข้ามาคุมฝ่ายบริหาร ทั้งๆ ที่ในเชิงความรับผิดชอบในระบบประชาธิปไตย ฝ่ายบริหารรับผิดชอบต่อสภาผู้แทนราษฎร

"ที่แย้งเรื่องนี้ก็แย้งตามหลักที่ศาลปกครองสูงสุดเคยตัดสินไว้และคิดว่าถูกต้องตามหลักเกณฑ์แล้ว ทำไมวันนี้ศาลปกครองกลางจึงพิจารณาอีกอย่างหนึ่ง เรื่องนี้คงต้องขึ้นถึงศาลปกครองสูงสุด และเป็นที่น่าจับตาดูว่าศาลสูงจะตัดสินอย่างที่ตนเองเคยตัดสินไว้ไหมในปี 2550 เพราะเป็นเรื่องแบบเดียวกัน" วรเจตน์กล่าว  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net