เสวนา "ปราสาทเขาพระวิหาร ปราสาทเขาพนมรุ้ง กรณีศึกษา ไสยศาสตร์-มนตร์ดำ-การเมือง และชาตินิยม"

เมื่อวันศุกร์ที่ 20 มิถุนายน 2551 ได้มีการจัดเวทีเสวนาเรื่อง "ปราสาทเขาพระวิหาร ปราสาทเขาพนมรุ้ง กรณีศึกษา ไสยศาสตร์-มนตร์ดำ-การเมือง และชาตินิยม" (Animism, Politics, and Nationalism: Case Studies on Prasats Phnom Rung and Preah Vihear) ที่ห้อง 214 คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดย มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, กองทุนจิตร ภูมิศักดิ์, สถาบันไทยคดีศึกษา, คณะศิลปศาสตร์, และคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.)

 

วิทยากรประกอบไปด้วย พิษณุ สุวรรณชฏ รองอธิบดีกรมเอเชียตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศ, ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ คณบดีคณะศิลปศาสตร์ มธ., สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี หนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น, พิเชฐ สายพันธ์ อาจารประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มธ. และ สมฤทธิ์ ลือชัย เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย

 

โดยประชาไทเก็บความแล้วนำมาเสนอดังนี้..

 

000

 

ปราสาทพระวิหารกับสามเส้าของปัญหา - เสี้ยนหนาม หรือ ความสัมพันธ์ที่ยั่งยืน

พิษณุ สุวรรณชฏ รองอธิบดีกรมเอเชียตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ปัญหาของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านไม่ว่าจะประเทศใดก็ตาม ล้วนวนเวียนเกี่ยวพันอยู่กับเรื่อง 3 เรื่อง อันประกอบไปด้วย เรื่องเขตแดน, เรื่องประวัติศาสตร์ และ เรื่องชาตินิยม และเมื่อมาลองพิจารณาปัญหา "ปราสาทพระวิหาร" [1] จึงพบว่ากรณีนี้เกี่ยวพันกับปัญหาทั้งสามมิติรวมอยู่ในเรื่องเดียวกัน ปัญหานี้จึงเป็นปัญหาที่ร้อนแรงอยู่เสมอ และเป็นเสี้ยนหนามในความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชามาเป็นเวลานาน

 

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้กรณีปราสาทพระวิหารจะเป็นดังเสี้ยนหนามที่ทิ่มแทงความสัมพันธ์ แต่รัฐบาลของทั้งไทยและกัมพูชาก็พยายามที่จะเจรจากันในประเด็นดังกล่าว พยายามจะหาทางพัฒนาพื้นที่บริเวณดังกล่าวเพื่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วมกัน ดังเช่น ในการประชุมครม.ร่วมไทย-กัมพูชา เมื่อเดือนพฤษภาคม 2546 ก็ได้มีมติจัดตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อพัฒนาเขาพระวิหาร

 

การขึ้นทะเบียนมรดกโลกกับความขัดแย้งเรื่องแผนที่

พิษณุ กล่าวต่อมาว่า ปี 2546 เป็นปีแรกที่ทางกัมพูชาแจ้งฝ่ายไทยว่าจะจดทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ซึ่งในทิศทางที่ความร่วมมือกำลังเกิดขึ้น ฝ่ายไทยก็คิดว่าจะมีการปรึกษาหารือในการพัฒนาร่วมกัน แต่ในขณะนั้นการเมืองในประเทศกัมพูชาที่กำลังร้อนแรง รัฐบาลกัมพูชาถูกกดดันไม่ให้ร่วมมือกับประเทศไทย กัมพูชาจึงดำเนินการไปโดยไม่ได้หารือกับไทย และในกระบวนการขึ้นทะเบียนมรดกโลกนี้เองที่เป็นต้นเหตุของปัญหาในกาลต่อมา

 

รองอธิบดีกรมเอเชียตะวันออก ให้ความรู้เพิ่มเติมว่า ในกระบวนการขึ้นทะเบียนมรดกโลก จะต้องมีคณะกรรมการ—ICOMOS (International Council on Monuments and Sites) มาประเมินค่าโบราณสถานว่ามีคุณค่าที่เป็นสากล (universal outstanding value) เพียงพอที่จะเป็นมรดกโลกหรือไม่ ซึ่ง ICOMOS ก็ประเมินว่าปราสาทพระวิหารสามารถเป็นมรดกโลกได้ แต่ปัญหาระหว่างไทย-กัมพูชาที่เกิดขึ้นตามมานั้นเกิดจากเรื่องเขตแดน กล่าวคือ ในแผนที่ที่กัมพูชาแนบไปเป็น nomination file มีความต่างกับแผนที่ฉบับคำพิพากษาในปี 2505 โดยฝ่ายไทยกล่าวว่าแผนที่ที่กัมพูชาแนบไปในการยื่นขึ้นทะเบียนนั้นล้ำเข้ามาในเขตอธิปไตยของไทย ฝ่ายไทยจึงทักท้วงเพราะเห็นว่าจะทำให้เกิดปัญหาระหว่างกันในอนาคต

 

จากแผนที่เขตแดนสู่แผนผังปราสาท จากเสี้ยนหนามสู่ความสัมพันธ์อันยั่งยืน

พิษณุ กล่าวต่อมาว่า ภายใต้ความคิดที่ต่างก็ต้องการรักษาเขตแดนของตน ประกอบกับกระบวนการเจรจาที่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ในท้ายที่สุด กัมพูชาจะขึ้นทะเบียนเฉพาะปราสาท (บันไดซึ่งถือเป็นโครงสร้างส่วนประกอบของปราสาทก็นับรวมเข้าไปด้วย) ไม่ได้อิงอยู่กับเขตแดนระหว่างสองประเทศอีกต่อไป และเมื่อพิจารณาแผนที่อันใหม่จะพบว่าไม่ปรากฏการแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชา แต่เป็นภาพวาดแผนผังเฉพาะส่วนรอบปราสาทเท่านั้น ต่อประเด็นนี้ พิษณุ กล่าวว่า การที่ในท้ายที่สุดการเจรจาเป็นไปอย่างสำเร็จลุล่วงเป็นเพราะทั้งสองประเทศมองเห็นว่าความสัมพันธ์ภาพใหญ่สำคัญกว่าความสัมพันธ์เล็กๆ

 

รองอธิบดีกรมเอเชียตะวันออก กล่าวต่ออีกว่า กรณีปราสาทพระวิหารถือเป็นเรื่องยากเย็นที่สุดในบริบทของไทยและกัมพูชา ถ้าหากมีปัญหาที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตก็คงไม่มีปัญหาใดยากเย็นกว่านี้อีกแล้ว และในตอนท้าย พิษณุ กล่าวเสนอว่า หากต้องการจะสร้างความสมานฉันท์ที่แท้จริง ควรจะคิดกันว่าจะพัฒนาพื้นที่อื่นๆที่ใกล้เคียงกับปราสาทพระวิหารที่อยู่ในดินแดนไทยให้เป็นมรดกโลกได้อย่างไร เพื่อที่จะได้พัฒนาอาณาบริเวณมรดกโลกไปด้วยกัน

 

ชาตินิยม ประวัติศาสตร์ และการเมือง

ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ กล่าวว่า ปราสาทเขาพระวิหารเป็นส่วนหนึ่งของ "ประวัติศาสตร์แผลเก่า" ระหว่าง "ชาติไทย" กับ "ชาติกัมพูชา" ระหว่าง "ลัทธิชาตินิยมไทย" กับ "ลัทธิชาตินิยมกัมพูชา" และเมื่อสังเกตเพลงชาติกัมพูชาจะพบความสำคัญของปราสาทต่อลัทธิชาตินิยมกัมพูชา กล่าวคือ เพลงชาติกัมพูชาตอนขึ้นต้นมีเนื้อหาว่า "ประเทศเราเก่าแก่โบราณสร้างปราสาทมา" ดังนั้นกรณีนี้จึงกระทบความเป็นชาตินิยมกัมพูชา ไม่ต่างกับที่กระทบชาตินิยมไทย

 

ดร.ชาญวิทย์ กล่าวต่อมาว่า ปราสาทเขาพระวิหารเป็นสถาปัตยกรรมที่เป็นมรดกของชาว "ขะแมร์กัมพูชา" หรือที่มักรู้จักกันในนาม "ขอม" ซึ่งเป็นชนชาติที่มีความสามารถยิ่งในการสร้างปราสาทด้วยหินทรายและศิลาแลง ต่างกับชนชาติไทย, ลาว, มอญ, พม่า ที่สร้างปราสาทด้วยอิฐและไม้ เมื่อมองในแง่ของความสามารถและความยิ่งใหญ่ จะเห็นว่าอารยธรรมขะแมร์กัมพูชานั้นเทียบได้กับชมพูทวีป, กรีก และอียิปต์ เลยทีเดียว

 

การก่อสร้างปราสาทเขาพระวิหารใช้เวลายาวนานกว่า 300 ปี จากปลายคริสต์ศตวรรษที่ 9-12 (พุทธศตวรรษที่ 15-18) จนมาถึงเหตุการณ์ที่กรุงศรียโสธรปุระของกัมพูชา "เสียกรุง" ให้แก่กองทัพของกรุงศรีอยุธยา(ประมาณ พ.ศ.1974 หรือ ค.ศ.1431) ชาวขะแมร์กัมพูชาต้องหนีย้ายเมืองหลวงไปละแวก อุดงมีชัย และพนมเปญ ตามลำดับ

 

ดร.ชาญวิทย์ กล่าวต่อมาว่า ปราสาทเขาพระวิหารถูกทิ้งร้างไป(ทั้งจากไทยและกัมพูชา)ประมาณเกือบ 500 ปี จนกระทั่งเมื่อฝรั่งเศสเข้ามาล่าอาณานิคมในดินแดนแถบนี้ มายึดเวียดนาม, ลาว, กัมพูชา ซึ่งรวมไปถึง จันทบุรี, ตราด และด่านซ้าย ดังนี้แล้ว เมื่อ รัชกาลที่ 5 เสด็จยุโรปใน พ.ศ.2450 (ค.ศ.1907) จึงได้ทรงลงนามสัตยาบันกับประธานาธิบดีฝรั่งเศส เพื่อแลกเปลี่ยน เสียมเรียบ, พระตะบอง, ศรีโสภณ กับ จันทบุรี, ตราด และด่านซ้าย ดังนี้แล้ว ตามความตกลงของรัชกาลที่ 5 เขาพระวิหารจึงได้ถูกขีดเส้นให้เป็นของฝรั่งเศสซึ่งเป็นเจ้าอาณานิคมของกัมพูชา และดังนั้น ในปี พ.ศ.2472 (ค.ศ.1929) เมื่อสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จไปทอดพระเนตรปราสาทเขาพระวิหาร จึงทรงขออนุญาตฝรั่งเศสก่อนที่จะขึ้นไปทอดพระเนตรปราสาทเขาพระวิหารที่อยู่ภายใต้ธงไตรรงค์ของฝรั่งเศส

 

ปราสาทเขาพระวิหารเป็นของกัมพูชา

ดร.ชาญวิทย์ กล่าวว่า รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ และทนาย ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช แพ้คดีนี้อย่างราบคาบ เพราะคำพิพากษาของศาลโลกนั้นยึดจากสนธิสัญญาและแผนที่ที่ทำขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งขีดให้ตัวปราสาทเขาพระวิหารอยู่ในอินโดจีนของฝรั่งเศส มิได้ยึดสันปันน้ำ มิได้ยึดทางขึ้น หรือกล่าวโดยสรุปว่า ปราสาทเขาพระวิหารตกเป็นของกัมพูชาด้วยเหตุผลทางประวัติศาสตร์ และด้วยเหตุผลทางนิติศาสตร์ ขณะที่ไทยซึ่งอ้างเหตุผลทางด้านภูมิศาสตร์นั้นไม่ได้รับการรับรองจากศาลโลก

 

ส่วนเรื่องที่มักพูดกันว่าไทยเสียดินแดนนั้น ดร.ชาญวิทย์ กล่าวว่า "เวลาต่อสู้กับฝรั่งเศส มันไม่ใช่ว่าเราเสียดินแดน แต่เราไม่ได้ดินแดน ผมคิดว่าต้องเปลี่ยนวิธีคิด เราไม่ได้ดินแดนในลาว เพราะดินแดนในลาวคือของลาว ดินแดนเสียมราฐ พระตะบอง คือดินแดนของกัมพูชา .... การที่เราเรียกว่าเสียดินแดนมันมีผลกระทบต่อจิตวิทยาของคนไทยมากมหาศาล ..... เพราะมันฝังอยู่ในมโนสำนึกของเรา มันปลูกฝังมาตั้งแต่รุ่นแม่ผม หรือรุ่นย่ายายของเด็กรุ่นนี้ มันฝังกันมากว่า 4 รุ่น(generation) ซึ่งแก้ยากมากๆ"

 

รัฐประชาชาติกับลัทธิชาตินิยม

รศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ คณะบดีคณะศิลปศาสตร์ มธ. กล่าวว่า ลัทธิชาตินิยมไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆ แต่มันมีบริบทมีโครงสร้างรองรับ โดยเฉพาะสิ่งสำคัญที่เรียกว่า "รัฐประชาชาติ" (Nation-State) ที่ถึงแม้ว่าจะประกอบไปด้วยผู้คนอันแตกต่างหลากหลาย แต่ก็มักจะมีเชื้อชาติใหญ่เชื้อชาติหนึ่งที่จะครอบงำกดทับปกครองชนชาติอื่นเสมอ "รัฐชาติ" หรือ "รัฐประชาชาติ" สมัยใหม่นี้เองที่สร้างเรื่องราวต่างๆที่ฝังตัวและแช่แข็งอยู่ในความทรงจำหรือความรับรู้ของคนในรัฐนั้นๆอย่างแพร่หลาย

 

รศ.ดร.ธเนศ ยังให้ข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า ถึงแม้รัฐชาติจะเป็นประดิษฐกรรมของโลกสมัยใหม่ กลับทำสิ่งที่ตรงกันข้าม ก็คือ แต่ละรัฐชาติมักจะสร้างเรื่องราวที่ว่าประเทศของตนนั้นมีอายุเก่าแก่โบราณมากเพียงใด มักไม่มีใครบอกว่าประเทศของตนพึ่งสร้างขึ้น และทุกคนก็พร้อมใจกันยอมรับคำโกหกของกำเนิดของชาติตัวเอง

 

รศ.ดร.ธเนศ เห็นว่าต้องศึกษาเพื่อที่จะรู้ทันความคิดแบบชาตินิยม ไม่ตกเป็นเหยื่อของอุดมการณ์ชาตินิยม และให้ข้อคิดเห็นที่สำคัญอีกว่า "เรายังคิดไม่พ้น "ชาติ" และ "ชาตินิยม" เรารักชาติได้แต่ขณะเดียวกันเราต้องรัก "ความเป็นมนุษย์" ด้วย รัก "คนอื่น" ด้วย"

 

ได้ดินแดน-เสียดินแดน?

รศ.ดร.ธเนศ  กล่าวถึง หนังสือ Siam mapped ของ ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล ที่พูดถึงกระบวนการที่แผนที่กลายมาเป็นตัวสร้างความเป็นรัฐขึ้น กล่าวคือ แต่เดิมมันไม่เคยมีเส้นแบ่ง แต่จะใช้ลักษณะความคิดอำนาจของผู้ปกครองที่ส่งไปถึง เป็นความสัมพันธ์แบบรัฐบรรณาการ ขึ้นอยู่กับความสวามิภักดิ์ เมืองแต่ละเมืองมีอำนาจปกครองตนเอง เป็นเจ้าของตัวเอง ไทยไม่ได้เป็นเจ้าของ ดังนี้แล้ว ไทยจึงไม่ได้เสียดินแดนเพราะไทยไม่เคยเป็นเจ้าของ ยิ่งกว่านั้น ดินแดนบางส่วนไทยได้มาด้วยซ้ำ อย่างในกรณีของอาณาจักรปัตตานี ซึ่งเป็นประเทศเอกราชมาก่อน แต่หลังจากทำสนธิสัญญากับอังกฤษ ไทยจึงได้ดินแดนปัตตานีมา อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.ธเนศ เห็นว่า ความคิดแบบนี้หากจะไปพูดกับใครนั้นคงไม่ค่อยมีใครอยากฟังสักเท่าไร

 

"จักรวาลวิทยา" กับการสร้างศาสนสถาน

พิเชฐ สายพันธ์ อาจารประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มธ. กล่าวว่า ในกระบวนการสร้างศาสนสถานขึ้น ผู้สร้างจะคิดถึงชุดความคิดที่เรียกว่า "จักรวาลวิทยา" กล่าวคือ คิดว่าสถานที่ที่จะสร้างขึ้นถือเป็นส่วนหนึ่งของจักรวาล ซึ่งต่างจากแนวคิดปัจจุบันที่จะจัดการภายใต้ความคิดเรื่องพิกัดดินแดน, กฎหมาย, ผลประโยชน์ ฯลฯ เมื่อมองย้อนกลับไปในอดีตจะพบว่าระบบความเชื่อแบบนี้ถูกใช้เพื่อรองรับอำนาจของผู้ปกครอง ผู้ปกครองถือเป็นตัวแทนของเทพเจ้า และเมืองแต่ละแห่งที่ปกครองก็เปรียบเสมือนจักรวาลที่ตัวแทนของเทพเจ้ามาดูแล

 

สำหรับปราสาทเขาพระวิหาร พิเชฐ กล่าวว่า ในการเคารพสักการะไม่ได้เคารพเพียงเทพเจ้าที่ถูกสร้างขึ้นมาเป็นสัญลักษณ์ แต่ในการเคารพต้องหันหน้าไปทางอาณาจักรกัมพูชาที่อยู่เบื้องล่าง กล่าวคือ มองว่าส่วนทั้งหมดเป็นจักรวาลของผู้เป็นใหญ่ ไม่เพียงเคารพพระเจ้าผู้สถิตอยู่บนยอดเขา ทว่าเคารพไปถึงผู้ปกครองที่อยู่เบื้องล่างที่เป็นตัวแทนที่พระเจ้าหรือจักรวาลส่งลงมาปกครอง

 

จาก "ศาสนสถาน" สู่ "สถานที่ท่องเที่ยว"

พิเชฐ กล่าวว่า สำหรับ Concept ทางการเมืองในสมัยก่อนโดยเฉพาะในบริเวณที่เรียกว่าอุษาคเนย์นั้นมีกรอบคิดว่าแผนที่หรือดินแดนไม่ได้มีความสำคัญเท่ากับบุคคล (people rather than land) อย่างที่ในการขยายอิทธิพลทางการเมืองนั้น เมื่อรบชนะก็จะเกณฑ์คนเข้ามาและเผาเมืองทิ้ง ขณะที่ในปัจจุบันคิดบนฐานความคิดแบบอาณานิคม ที่สถาปนารัฐชาติด้วยการกำหนดขอบเขตที่ชัดเจนด้วยแผนที่เพื่อให้รัฐมีรูปธรรมที่ชัดเจน (land rather than people) จึงมักจะมองเห็นว่ารัฐชาติปัจจุบันมองไม่ค่อยเห็นคน แต่ให้ความสำคัญกับพรมแดนมากกว่า

 

และดังนั้น ด้วยระบบความเชื่อแบบนี้ ความสำคัญความศักดิ์สิทธิ์ของปราสาทเขาพระวิหารหรือเขาพนมรุ้งก็สูญสลายหายไป ไม่ได้เป็นสถานที่ที่จะขึ้นไปเพื่อบูชาสักการะเทพเจ้าอีกต่อไป ปัจจุบันกลายเป็นการไปเที่ยว, ไปถ่ายรูป, ไปพิชิต(discovery), ไปเดินแฟชั่น ฯลฯ ไม่ได้คิดว่าเป็นศาสนสถานแต่คิดเพียงแค่ว่าเป็นโบราณสถาน

 

พิเชฐ กล่าวต่อมาว่า ปัจจุบันเราไม่ได้อยู่ภายใต้อิทธิพลของความเชื่อทางศาสนา(-ism ทางศาสนา) หรือแบบอดีต เปลี่ยนไปสู่ tourism เป็นอีก -ism หนึ่งที่ส่งผลต่อวิถีปฏิบัติที่ต้องยอมรับ เช่น เวลาไปท่องเที่ยวเราก็ต้องยอมรับว่าเราต้องปฏิบัติอย่างไร ไม่เพียงแต่ tourism แต่ยังอยู่ในกระบวนการของ consumerism ด้วย คือต้องไปเสพ, ไปผ่านชีวิต, ไปบริโภค lifestyle ซึ่งในที่สุดแล้วเราปฏิเสธไม่ได้ว่าสำหรับการปฏิบัติที่สมบูรณ์แบบของ tourism และ consumerism ถ้าไม่มีเงินก็ทำไม่ได้

 

"ก้าวข้าม" เรื่อง "ดินแดน"

พิเชฐ กล่าวว่า รัฐปัจจุบันเป็นรัฐที่ระบบความสัมพันธ์ "ข้าม"(trans) รัฐไปหมดแล้ว ดังนั้นสำหรับกรณีปราสาทเขาพระวิหาร การถกเถียงจึงต้องก้าวข้ามหรือคิดไปไกลกว่าความคิดเรื่องดินแดน ต้องคิดไปถึงสิ่งที่เรียกว่าสิทธิที่รัฐพึงจะได้ ผลประโยชน์ที่พึงจะได้ และสิ่งสำคัญประการต่อมาคือ ผลประโยชน์ที่ได้นั้นจะตกอยู่ที่ใคร ประชาชนหรือชาวบ้านบริเวณนั้นจะได้อะไร กล่าวคือ การเรียกร้องเรื่องดินแดนจะมีความสำคัญก็ต่อเมื่อถ้านำความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนในพื้นที่มาร่วมพิจารณา มิฉะนั้นการเรียกร้องดินแดนจะไม่มีความหมายใดๆเลย

 

กรณีปราสาทเขาพนมรุ้งกับปฏิกิริยาลูกโซ่ในสังคมไทย

พิเชฐ กล่าวถึงกรณีการทำลายรูปวัตถุรูปเคารพในปราสาทเขาพนมรุ้ง ว่าควรตั้งคำถามว่า "มันเกิดอะไรขึ้นถึงต้องขึ้นไปทำลาย" ซึ่งก็ไม่เพียงเหตุการณ์เดียวยังมีเหตุการณ์ที่เป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ที่มีลักษณะร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น กรณีปี่พระอภัยมณี, ดาบพระนารายณ์, ป้ายทองเหลืองของกรมหลวงลพบุรีฯ รวมไปถึงการขโมยพระพุทธรูปในหลายๆแห่ง ซึ่ง พิเชฐ เห็นว่า ปรากฏการณ์เหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าความเชื่อทางศาสนาไม่ได้มีความหมาย สำหรับคนที่กระทำ หรือมองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเพียง "สิ่ง"(thing) ธรรมดาสามัญเท่านั้น

 

พิเชฐ อธิบายปรากฏการณ์เหล่านี้ในทางมานุษยวิทยาว่า การทำลายสิ่งของหรือการทำลายคนอื่น ชี้ให้เห็นถึงความพยายามประกาศตัวตนของผู้กระทำ จึงกล่าวได้ว่าปรากฏการณ์เหล่านี้สะท้อนเรื่องความขัดแย้งในสังคม ปัญหาที่ตามมาคือ "ทำไมคนเหล่านี้ไม่แก้ไขความขัดแย้งในระบบหรือกลไกที่มี แต่ไปแก้ปัญหาที่อยู่กับชุดความเชื่อในอดีต" ต่อคำถามดังกล่าว พิเชฐ เห็นว่าเป็นเพราะการแก้ปัญหาในระบบเกือบจะไม่ใช่ทางออก จึงทำให้คนไปแก้ปัญหานอกระบบ ไม่เพียงเท่านี้ พิเชฐ เห็นว่าปรากฏการณ์เหล่านั้นยังสะท้อนระดับ "จริยธรรม" ในสังคมด้วย กล่าวคือ ไม่มีการเคารพสิ่งที่เรียกว่า "สาธารณะ" แล้ว จะมีก็แต่การทำเพื่อตัวเองหรือกลุ่มสังคมของตน ดังนั้นการแก้ปัญหาต้องแก้ในระดับ "จริยธรรม" ทางสังคม

 

เรื่องที่ถามยาก/เรื่องที่มักไม่ถูกตั้งคำถาม

สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี กล่าวว่าในฐานะที่เป็นสื่อมวลชน หน้าที่ของเขาจึงอยู่ที่การตั้งคำถามเพื่อหาคำตอบ แต่สำหรับความคิดเรื่อง "ชาตินิยม" นั้นดูจะเป็นสิ่งที่ "ถามยาก" ซึ่งก็คล้ายๆกับ "ไสยศาสตร์" ด้วย เพราะทั้งไสยศาสตร์และชาตินิยมมีลักษณะที่เหมือนกันอยู่คือ การพูดความจริงเพียงครึ่งหนึ่งหรือไม่พูดความจริงเลย หรือไม่ก็พูดเรื่องที่ดูเหมือนจะสมจริง ที่อาจเป็นเรื่องที่มีมูลอยู่บ้างแต่ก็มักมีการแต่งเติมเสริมเข้าไป และไม่ว่าจะมีเหตุผลหรือไม่ก็ตาม ทั้งไสยศาสตร์และชาตินิยมก็กลายเป็นสิ่งที่คนในสังคมมักจะไม่ตั้งคำถาม

 

ความสับสนปนเปของเรื่องราว

สุภลักษณ์ กล่าวว่า ในการกล่าวถึงเรื่องปราสาทเขาพระวิหารในช่วงเวลานี้มีความสับสนปนเปกันอยู่ ในสี่ประเด็น อันประกอบด้วย ประเด็นแรก การขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก ประเด็นที่สอง พื้นที่ทับซ้อนของรัฐ ประเด็นที่สาม พื้นที่ทับซ้อนในทะเล และประเด็นที่สี่การลงทุนของทักษิณ ชินวัตร ซึ่งทั้งสี่ประเด็นนี้มารวมอยู่ในเรื่องเล่าที่ว่า "คุณนพดล ปัทมะ ผู้ซึ่งเคยเป็นทนายของคุณทักษิณ ชินวัตร เอาเขาพระวิหารไปแลกกับพื้นที่ทับซ้อนในทะเล เพราะผลประโยชน์ของทักษิณเป็นแรงจูงใจ"

 

สุภลักษณ์ เห็นว่าเกิดคำถามตามมาว่า "ในปัญหานี้มีอะไรบ้างที่เกี่ยวพันและทำให้การสื่อสารเป็นไปได้อย่างยากลำบาก และทำให้สังคมไทยสามารถเข้าใจเรื่องราวไปได้ไกลถึงเพียงนี้" ซึ่ง สุภลักษณ์ เห็นว่ามีสองประเด็นเป็นอย่างน้อยที่จะตอบเรื่องนี้ ประเด็นแรก คือการสื่อสารของกระทรวงการต่างประเทศยังไม่ชัดเจน ยังไม่สามารถอธิบายต่อสาธารณะได้ว่าเรื่องราวหรือสถานการณ์เป็นอย่างไร และ ประเด็นที่สอง คือ ปัจจัยทางการเมืองภายในประเทศไทยเอง ซึ่งหมายถึงสภาวะที่มีคู่ขัดแย้งระหว่างคนสนับสนุนทักษิณและคนเกลียดชังทักษิณ ซึ่งในประการหลังนี้ สุภลักษณ์ ลองตั้งคำถามให้ขบคิดว่า ถ้าหากเป็นรัฐบาลอื่นประเด็นเดียวกันนี้จะถูกพูดถึงขนาดนี้หรือไม่

 

สุภลักษณ์ กล่าวเสริมว่า จริงๆประเด็นมันอาจจะง่ายๆ แต่เมื่อคนเอาเรื่องต่างๆมารวมกัน เรื่องราวมันจึงสับสนยุ่งเหยิง และสถานการณ์มันจึงเข้มข้นรุนแรง ไม่เพียงเท่านี้ สุภลักษณ์ เสนอว่าปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ เมื่อเรื่องต่างๆมาปนกันอย่างนี้แล้ว ปัญญาชนในสังคมไม่มาช่วยอธิบายให้สังคมเข้าใจ

 

"สิ่งที่จะต้องทำในอนาคตอันสั้น ก็คืออธิบาย ต้องแยกแยะเรื่องบางเรื่องออกจากกันให้ได้ ถ้าเราไม่สามารถแยกความเข้าใจที่ชัดเจนเกี่ยวกับก้อนอิฐก้อนหินนั้นได้ เราไม่สามารถแยกความรู้สึกความเป็นชาติกับก้อนอิฐก้อนหินนั้นได้ และเราไม่สามารถแยกผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและผลประโยชน์ทางการเมืองออกจากกันได้อย่างชัดเจน การวิเคราะห์แยกแยะของสังคมเราคงมีปัญหา การสื่อสารกับสังคมก็มีปัญหา" สุภลักษณ์กล่าว

 

สุดท้าย สุภลักษณ์ ทิ้งท้ายให้คิดอย่างน่าสนใจว่า "บางเรื่องก็สู้ไม่ทำดีกว่า ถ้าหากว่าข้อมูลนั้นดูเหมือนว่าไปไกลกว่าข้อเท็จจริงมากเกินไปทำให้เรื่องมันสับสนปนเป สู้ไม่สื่อสารกันเสียดีกว่า ถ้าหากว่าการสื่อสารนั้นทำให้สังคมสับสนได้ขนาดนั้น"

 

 

………….

เชิงอรรถ

 

[1]  พิษณุ สุวรรณชฏ กล่าวว่า ถ้าจะเรียกให้ถูกต้องตามชื่อที่ปรากฏที่ปราสาทจริงๆต้องเรียกว่า "ปราสาทพระวิหาร" ไม่ใช่ "ปราสาทเขาพระวิหาร" อย่างที่มักเรียกกัน อย่างไรก็ตาม ในที่นี้ ผู้เรียบเรียงจะขอใช้ทั้งสองชื่ออย่างทดแทนกันได้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท