ชัยวัฒน์ สถาอานันท์: สื่อมวลชนกับความรุนแรงในสถานการณ์ความขัดแย้ง...เราจะไปทางไหน?

ชัยวัฒน์ สถาอานันท์

อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

หมายเหตุ - ถอดความจากการนำเสนอในวงราชดำเนินเสวนา เรื่อง "ส่องกระจกบทบาทสื่อในสถานการณ์ความขัดแย้ง" เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2551 จัดโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

 

000

 

 

ขอความสันติสุขจงมีแด่ทุกท่าน

 

ผมอยากพูด 3 เรื่อง 7 คำเท่านั้น 1. สถานการณ์ตอนนี้ 2.ความรู้เกี่ยวกับสื่อและความรุนแรง 3. ทางออก และขออนุญาตพูดรอบเดียว

 

1. สถานการณ์

ถ้าฟังจากที่อาจารย์นิธิ คุณประสงค์พูด และเมื่อวานฟังสิ่งที่บรรณาธิการของประชาไทพูดทางทีพีบีเอส ผมคิดว่าน่าสนใจมาก ผมแยกเป็น 3 เรื่อง 1. โครงสร้าง 2.บริบท 3. ตัวนักข่าวหรือตัวบุคคล

 

1.1 สถานการณ์ในส่วนของโครงสร้างของสื่อ

ผมคิดว่าเป็นอย่างที่คุณประสงค์อธิบาย ใครก็ตามที่พูดถึงสื่อไทยก็ต้องพูดถึงเศรษฐศาสตร์การเมืองของสื่อว่า สื่ออยู่ตรงไหน เป็นอย่างไร เวลานี้ทุกคนก็เข้าใจดีว่าสื่อเป็นธุรกิจ สื่อบางอันก็อยู่ใต้กำกับของรัฐบาล สื่อบางอันก็พยายามจะเป็นอิสระ ของทั้งหมดนี้เป็นประเด็นทางโครงสร้างเศรษฐกิจการเมือง ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ ฉะนั้น คนที่เป็นนักข่าวของกรมประชาสัมพันธ์ก็ถูกกำกับด้วยกฎหมายของกรมประชาสัมพันธ์ซึ่งไม่เหมือนกับนักข่าวมติชน มติชนเมื่ออยู่นอกตลาดหุ้นกับในตลาดหุ้นก็มีสภาพไม่เหมือนกัน ทั้งหมดนี้คือโครงสร้างเพื่อจะบอกว่าแต่ละคนที่อยู่ในแวดวงของสื่อไม่เหมือนกัน ถือว่านี่เป็น event หรือสิ่งที่เป็นอยู่แล้ว ในแง่ข้อเรียกร้องก็ไม่ได้ไปเรียกร้องให้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างอะไร เพราะรู้ดีว่าระบบตลาดเป็นแบบนี้ มันคนละอันกัน

 

1.2 บริบท

อาจารย์นิธิอธิบายสิ่งสำคัญมาก คือ ณ วันนี้สิ่งที่ปรากฏในสื่อถูกประเมินบนพื้นฐานของคำถามว่า คุณเป็นพวกใคร ยิ่งกว่า คุณพูดอะไร ตรงนี้น่าสนใจ เพราะว่านี่คือสภาพความขัดแย้งในสังคมไทย ซึ่งผมคิดว่าเป็นสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่แหลมคม เวลาบอกว่าแหลมคมแปลว่ามันไปปัดเอาส่วนอื่นทิ้งหมดเลย เหลือแค่ว่าอยู่ข้างไหน เวลาบอกว่าแหลมคมแปลว่าถึงที่สุดแล้วมันเหลือแค่พวกเรากับพวกเขา  เวลาบอกว่าแหลมคม นักทฤษฎี คนที่คิดเรื่องการเมืองอธิบายชัดเจน เวลาบอกว่าเป็นพวกไม่ได้แค่แปลว่าเป็นพวก แต่หมายความว่า คุณถ้าไม่ใช่พวกผม คุณเป็นศัตรูของผม นี่คือความเป็นการเมืองที่เวลานี้มันครอบงำสภาพสังคมไทย สื่อก็หลบไม่พ้นเพราะก็อยู่ในนั้น สื่อมวลชนไม่ได้เป็นอะไรบางอย่างที่อยู่นอกสังคมการเมืองไทย ถ้านี่จริง ผมคิดว่ามันเป็นปัญหาใหญ่ของความเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่ประเด็นแค่บอกว่าจะบอกความจริงหรือไม่บอกความจริง สมัยพฤษภา 35 โจทย์มันอยู่ที่ว่าสื่อบอกหรือเปล่าว่ามีคนอยู่บนถนนกี่คน มีมากมีน้อยแค่ไหน แต่วันนี้มันกลายเป็นอาวุธไปทิ่มแทงคน พอเป็นอย่างนั้นมันเปลี่ยนสถานะของสื่อ เดี๋ยวผมจะกลับมาเรื่องนี้อีกครั้ง

 

1.3 นักข่าว

เมื่อสักครู่นั่งคุยกับบางคนอยู่ข้างล่าง ก็พูดกันเล่นๆ ว่าคนไทยเวลานี้อ่านหนังสือพิมพ์ ฟังข่าวแล้วก็เครียด อาจารย์วีระพงษ์ รามางกูร ให้สัมภาษณ์แล้วบอกไว้ว่าไม่ฟังวิทยุ ไม่อ่านหนังสือพิมพ์เพื่อหลีกเลี่ยงความเครียด ผมก็นึกในใจว่าสงสัยจะจริง ปัญหาที่น่าสนใจก็คือ ถ้าเป็นอย่างนี้จริง คนทำสื่อก็คงจะเครียดเหมือนกันในสถานการณ์ความขัดแย้ง คนที่ทำสื่อเอง พูดในภาษาของผม ในฐานะเป็น Human Agency ก็อยู่ภายใต้ความเครียดนี้ด้วยในทางการเมือง นี่คืออธิพลของบริบททางการเมือง อิทธิพลของความแหลมคมที่ผมว่า ณ วันนี้มันไม่ใช่หน้าที่แค่ความจริงในสังคมไทยเป็นยังไง ข้อเท็จจริงเป็นยังไง หรือบอกว่าข้อเท็จจริงมันมีหลายด้านนะ ทำให้เห็น ไม่สามารถทำได้ มันคล้ายๆ ต้องถูกบังคับให้เลือก ซึ่งมันสั่นคลอนความเป็นสื่อมวลชนเอง นำมาสู่เรื่องที่สอง

 

000

 

 

2. ความรู้เรื่องสื่อมวลชนกับความรุนแรง

 

ผมไม่ได้มีความรู้เรื่องสื่อมวลชน วิชาที่สอนก็เป็นวิชาเรื่องความขัดแย้ง ความรุนแรง สังคมการเมือง ในระยะหลังวิชาเกี่ยวกับความขัดแย้งความรุนแรง ตอนนี้เขาสนใจตัวคนทำ เดิมยุคหนึ่งเขาสนใจว่าเหยื่อของความรุนแรงเป็นยังไงแล้วหาทางให้เขาได้พูด แต่ตอนนี้วงวิชาการสนใจตัวผู้กระทำ คำถามที่เขาสงสัยกันอันหนึ่งคือ เพราะเหตุใดคนที่เคยเห็นๆ หน้ากันอยู่ดีๆ กลายเป็นเกลียดชังกันถึงขั้นฆ่าแกงกันได้ ไม่ว่าจะเป็น ปากีสถาน อินเดีย รวันดา เป็นต้น สิ่งที่น่าสนใจคือ คนที่ฆ่าไม่ใช่นักฆ่า ทหารหรืออะไร แต่เป็นชาวบ้าน ในรวันดา ปี 2537 หรือ 2 ปีหลังเหตุการณ์พฤษภาคม คนตายไป 500,000 คนภายใน 2 เดือน ผมสนใจวิธีที่คนตาย อาวุธที่ใช้ในการฆ่าไม่ใช่ปืน ระเบิด อาวุธนิวเคลียร์ แต่เป็นมีด พร้า กระท้า ขวาน มันฆ่าคน 500,000 คนได้ภายใน 2 เดือนแปลว่าอะไร ภาษาของผมก็คือ การมีส่วนร่วมต้องสูงมาก ไม่อย่างนั้นทำไม่ได้ ฉะนั้น ถ้าเป็นอย่างนี้จริง เกิดอะไรขึ้นในเวลานั้น มีนักวิชาการศึกษาผู้กระทำ มีข้อมูลจำนวนหนึ่ง เข้าไปคุก 15 แห่งที่มีคนเหล่านี้ขังอยู่ พวกเขาจำนวนหนึ่งบอกว่า เหตุที่เขาไปทำเพราะได้รับการบอกเล่าโดยสื่อมวลชน มี 15% ของคนที่ไปสัมภาษณ์ ข้อสรุปคือ สื่อทำให้เกิดความรุนแรงหรือ เปล่า ความรุนแรงเกิดขึ้นจากปัจจัยหลายประการ แต่สื่อมีส่วนแน่ๆ

 

ปี 2547 หรือ 2548 ศาลนานาชาติเกี่ยวกับคดีความระหว่างประเทศได้ตัดสินคดีในรวันดา ซึ่งผมได้พูดไปแล้วในหลายที่ คนที่ถูกตัดสินลงโทษมี 3 คนที่น่าสนใจสำหรับเวทีนี้ 2 คนเป็นผู้อ่านข่าวสถานีวิทยุ RPLC อีกคนหนึ่งเป็นคอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์ ในข้อหาเกี่ยวพันกับการทำให้เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่ทำให้ชาวตุ๊ดซี่ตายไป 500,000 คน จริงๆ มีคนโดนลงโทษมากกว่านี้ แต่ที่เกี่ยวข้องกับเรามี 3 คน

 

แปลว่าเวลานี้ต้องมองต่อไปหรือเปล่าว่า สื่อมวลชนเป็นอาวุธทางการเมือง อาวุธแบบนี้ในสายตาของผมอันตรายยิ่งกว่าลูกปืน ลูกปืนยิงได้ทีละคนสองคน ระเบิดก็ฆ่าได้จำนวนหนึ่ง แต่สื่อนั้นสามารถทำให้คนไปทำอย่างอื่น

 

ดังนั้น โจทย์เรื่องสื่อมวลชนกับความรุนแรง องค์ความรู้ที่สรุปได้คือ 1.สื่อมวลชนในฐานะเป็นอาวุธ ทำหน้าที่ผลิตความเกลียดชังและความกลัว เกลียดอีกฝ่ายหนึ่ง กลัวว่าสิ่งที่ตัวเองเป็นอยู่จะถูกทำลายทั้งหมด สถานีวิทยุในรวันดาเรียกชาวตุ๊ดซี่คนส่วนน้อยประมาณ 15% ว่าเป็น "แมลงสาป" และบอกกับชาวฮูตูซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ว่าพวกตุ๊ดซี่จะทำลายสถาบันการเมืองที่มีอยู่ จะทำลายทุกอย่าง ประชาชนก็ถูกบ่มเพาะความรู้สึกนี้ 2.สื่อเปลี่ยนหน้าที่ไปจากการเป็นตัวถ่ายทอดเรื่องกลายเป็นศูนย์บัญชาการ อันนี้เกิดขึ้นในสถานการณ์ความรุนแรง ศูนย์บัญชาการแปลว่าเป็นตัวเชื่อมระหว่างนักการเมืองท้องถิ่นกับเครือข่ายท้องถิ่นทั้งหลาย คอยบอกว่าคนนั้นจะไปตรงนั้นเวลานี้ 3. สื่อทำให้สังคมนี้รู้สึกว่ามันไม่มีทางออกต้องฆ่ากันอย่างเดียว ต้องใช้ความรุนแรงอย่างเดียว

 

ถามว่าทำไมต้องมานั่งพูดเรื่องรวันดา เพราะผมไม่ได้คิดว่าสังคมไทยแตกต่างจากสังคมอื่นๆ ในโลกนี้มากมายนัก เราเองก็เคยมีประวัติศาสตร์คล้ายแบบนั้นมาแล้ว แม้ไม่อยากพูดถึงมัน แต่มันเคยเกิด ในช่วงอายุของผมก็เห็นมาแล้วหลายครั้ง ไม่ร้ายแรงเท่า ไม่เหมือนกัน แต่มีโอกาสอีกไหม ไม่ทราบ รู้แต่ว่าสื่อมวลชนกับความรุนแรงมันทำงานแบบนี้ และความขัดแย้งเวลานี้แหลมคม

 

000

 

3. ทางออก

 

ผมพูดง่ายๆ ว่า "ความเป็นมืออาชีพ" ผมคิดว่าข้อที่สังคมไทยอาจอยากได้ คือความเป็นมืออาชีพ คำนี้มันพูดง่ายแต่ทำได้ยาก ทำได้ยากทั้งเพราะโครงสร้างที่เอ่ยถึง และทั้งเพราะสถานการณ์ที่อาจารย์นิธิเล่าให้ฟัง ภายใต้โครงสร้างของสื่อมวลชนที่อยู่ภายใต้บริษัท หรือระบบราชการ จะเป็นมืออาชีพได้ยังไง คล้ายๆ คำถามต้องเปลี่ยนไปว่า ถ้าอยู่ในข้อจำกัดเหล่านั้น ความเป็นมืออาชีพมันเป็นยังไง องค์กรสื่อหน้าจะคุยกันภายในว่า ความเป็นมืออาชีพภายใต้โครงสร้างของตัวเองและสถานการณ์แบบนี้มันคืออะไร เพื่อจะบอกกับเราว่า เราเป็นใครแล้วจะทำงานของเราแบบไหน อย่างที่จดหมายเปิดผนึกที่เอ่ยถึงก็ไม่ได้เรียกร้องให้รัฐมาคุมอะไร และไม่รู้ว่าจริยธรรมวิชาชีพคืออะไร แต่คุณสมบัติอย่างหนึ่งของวงวิชาการคือ การวิพากษ์วิจารณ์ อย่างน้อยการวิพากษ์วิจารณ์กันเองภายในก็ช่วยได้ สื่ออาจจะมีวิธีอื่นๆ อีก แต่ professional ของนักวิชาการคือ เอางานให้คนอื่นอ่านแล้วก็เถียงกัน แต่มันต้องกำกับด้วยประเด็นที่สอง ซึ่งแม้วงวิชาการเองก็ยังอับจนอยู่พอสมควร อันที่สองไม่รู้จะเรียกอะไร แต่ขอใช้คำที่ผมชอบคือ ความมีอารยะ สิ่งที่เรียกร้องหรืออยากเห็นก็คือ สื่ออารยะ civil media ถามว่าสื่ออารยะเป็นยังไง พูดอย่างโบราณหน่อยก็คือ สื่อที่มีมารยาท แต่วันนี้หนังสือสมบัติผู้ดีคงใช้ไม่ได้แล้ว มันเลยมานานแล้ว อะไรคือมารยาทของสื่อในศตวรรษที่ 21 น่าสนใจ อะไรคือมารยาทในยุคสมัยซึ่งมีอินเตอร์เน็ต ผมคิดว่าอันนี้น่าจะลองคิดอย่างจริงจัง ผมมีคำตอบของผมอยู่ว่า ส่วนที่เป็นสื่ออารยะต้องอาศัยอะไร แต่คำตอบของผม เกรงใจอาจารย์นิธิอยู่พอสมควร ผมสอนเรื่องความรุนแรงด้วย สอนเรื่องปรัชญาการเมืองด้วย ผมก็ไปขุดคำตอบของผมแบบโบราณที่สุดเพื่อจะพูดเรื่องสมัยใหม่ โบราณที่ว่ามาจากนักปรัชญาที่ผมชอบชื่อ อีเลมัส เป็นดัตช์ เขียนหนังสือเล่มหนึ่งเมื่อปี 1930 ว่าด้วย ความมีอารยะของเด็ก แล้วก็พูดถึงความมีอารยะไว้ 3-4 อย่าง 1. ดูว่าเด็กๆ เหล่านี้อแสดงตนในลักษณะไหน 2. ดูหน้าตาท่าทาง 3.ดูการแต่งกาย 4.ดูท่าทีที่แสดงออก มาถึงปี 2551

 

ถ้าเราประยุกต์มาสู่เรื่องของสื่อ เราถามอย่างนี้ได้ไหมว่า อะไรคือ อะไรคือชนิดของพาดหัวที่ civil 2.อะไรคือการนำเสนอข่าวที่บอกว่าสื่อแสดงตนอย่างไร 3. อะไรคือวิธีที่เราติดต่อ สัมพันธ์กับคนอื่น เวลาพูดถึง media เรามคิดว่ามันคือสื่อกลาง สื่อกลางก็คือต้องเป็นฝ่ายที่สาม แต่สภาพการเมืองเวลานี้มันผลักให้พื้นที่ของฝ่ายที่สามหายไป

 

คำถามของผม ผมไม่มีคำตอบ แต่ถามว่าเวลามันผลักให้พื้นที่ของฝ่ายที่สามหายไป มันหมายความว่าตัวตนของสื่อกำลังถูกทำให้หายไป แล้วในที่สุดจะไม่เหลือความเป็นสื่อหรือเปล่า เพราะ media คืออยู่ตรงกลาง แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่ตัดสินว่าอะไรถูกอะไรผิดนะ แต่ตัดสินยังไงถึงจะมีมารยาท ตัดสินยังไงถึงไม่ทำให้คนเกลียดกัน ตัดสิน แสดงท่าทียังไงถึงจะไม่ทำให้คนจับอาวุธไปฆ่ากัน ตรงไหนถึงจะบอกว่าพอ อย่างนี้ไม่ได้มันผิดมารยาทในสังคมการเมือง ประเด็นอย่างนี้น่าจะลองคุยกันดู ทั้งหมดนี้คือ 7 คำที่จะพูด

 

ข่าวประกอบ

นิธิ-ชัยวัฒน์-อุบลรัตน์: ชำแหละสื่อไทย...อาวุธ (มีชีวิต) ทางการเมืองในสถานการณ์ "แหลมคม", ประชาไท, 19 พ.ค. 51 http://www.prachatai.com/05web/th/home/12194

 

 

ดาวน์โหลดไฟล์เสียงได้ที่นี่

http://www.yousendit.com/transfer.php?action=download&ufid=8B48EF9751B36062

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท